ภาพรวมแพลตฟอร์มติ๊กต็อก (TikTok) ตลอดปี 64
- ธันวาคม 23, 2564
- ภูมิทัศน์สื่อไทย 2564-2565
สำหรับภาพรวมในปี 2564 ของแพลตฟอร์มวิดีโอสั้นอย่าง ติ๊กต็อก (TikTok)นั้น นับเป็นปีที่ 3 แล้วที่ติ๊กต็อกได้เข้ามาให้บริการและทำการตลาดในประเทศไทย โดยกระแสความนิยมในการใช้งานแพลตฟอร์มยังคงมีมาอย่างต่อเนื่อง ครีเอเตอร์หน้าใหม่สามารถแจ้งเกิดได้เป็นจำนวนมาก และยังจุดกระแสไวรัลต่าง ๆ มาโดยตลอด อาทิ ไวรัลเพลง #สิบสอง ที่เป็นเพลงเก่าให้กลับมาเป็นที่รู้จักอีกครั้ง หลังจากที่เคยสร้างปรากฏการณ์ไวรัลเพลงดังอย่าง “เจน นุ่น โบว์” มาแล้วเมื่อปี 2563 หรือแม้กระทั่งกระแสชาเลนจ์ #prompterchallenge ที่ให้ผู้ใช้งานได้สวมบทบาทเป็นผู้ประกาศข่าวและอ่านข่าวผ่านเครื่อง Prompter หรือตัวช่วยอ่านสคริปต์ของผู้ประกาศข่าวให้ทัน ซึ่งก็มีผู้ใช้งานในไทยร่วมเล่นชาเลนจ์นี้กันเป็นจำนวนมาก
ในส่วนของจำนวนผู้ใช้งานแพลตฟอร์มนั้น คุณสุรยศ เอี่ยมละออ Head of Consumer Marketing ของติ๊กต็อก เปิดเผยว่า ในปี 2564 ถือเป็นช่วงเวลาที่ผู้ใช้และครีเอเตอร์บนติ๊กต็อก ซึ่งเป็นส่วนสำคัญใน Ecosystem มีการเติบโตและแข็งแกร่งขึ้นในทุกมิติ โดยมีการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ใช้โดยเฉพาะในกลุ่มอายุ 18-34 ปี ที่ปัจจุบันมีสัดส่วนมากกว่า 50% ของจำนวนผู้ใช้ทั้งหมดในประเทศไทย ขณะที่ฐานผู้ใช้ติ๊กต็อก ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ณ เดือนมิถุนายน 2564 มีจำนวนมากกว่า 240 ล้านคน เพิ่มขึ้น 85% จากปี 2563 ตามการรายงานของติ๊กต็อก อีกทั้งความหลากหลายของคอนเทนต์บนติ๊กต็อก ทั้งคอนเทนต์ความบันเทิงและสาระความรู้ก็ขยายตัวและได้รับความนิยมมากขึ้น สร้างกระแสให้เกิดเป็นไวรัลได้อย่างต่อเนื่อง
จับมือพันธมิตรขยายความหลากหลายของคอนเทนต์
หนึ่งในกลยุทธ์ที่ทางติ๊กต็อกนำมาใช้เพิ่มความหลากหลายของคอนเทนต์ให้ครอบคลุมทั้งความบันเทิงและสาระความรู้รองรับผู้ใช้หลายช่วงวัย คือ การส่งเสริมให้เกิดการสร้างสรรค์คอนเทนต์ประเภท PGC (Professionally Generated Content) จากผู้ผลิตคอนเทนต์มืออาชีพ อาทิ สำนักข่าว, ค่ายเพลง, ค่ายละคร และผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ โดยทางติ๊กต็อก จะเข้าไปสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือผู้ผลิตคอนเทนต์ในการใช้แพลตฟอร์มสำหรับการผลิตคอนเทนต์ให้สะดวกยิ่งขึ้น
สำหรับสำนักข่าวที่มาร่วมมือกับติ๊กต็อกนั้น มีทั้งโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ และออนไลน์ สื่อเหล่านี้ได้เปิดแอคเคาท์ผลิตคลิปข่าวสั้นลงบนแพลตฟอร์ม กันอย่างคึกคัก
โดยเน้นการนำเสนอข่าวให้มีความน่าสนใจและเข้าใจง่ายในเวลาที่จำกัด ด้วยการใส่เสียงหรือเอฟเฟกต์ประกอบ ซึ่งการเข้ามาทำคอนเทนต์บนติ๊กต็อกทางสำนักข่าวเองก็คาดหวังที่จะเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เป็นผู้ใช้หลักของแพลตฟอร์ม
อีกทั้งติ๊กต็อกยังเป็นแพลตฟอร์มที่อยู่ในกระแสทำให้ยอดวิว (View) คอนเทนต์เกิดขึ้นตามมาด้วยเช่นกัน เห็นได้จากยอดวิวที่มีตั้งแต่หลักหมื่นไปจนถึงหลักแสน เช่นเดียวกับจำนวนผู้ติดตามที่มีตั้งแต่ระดับหลักแสนไปจนถึงหลักล้านเลยก็ว่าได้
ในส่วนของค่ายผู้ผลิตคอนเทนต์เพื่อความบันเทิงต่าง ๆ ทางติ๊กต็อกก็เข้ามาสนับสนุนให้เกิดการผลิตคอนเทนต์ที่เป็นคอนเทนต์เฉพาะของแพลตฟอร์มเอง เช่น Star Hunter Entertainment บริษัทบันเทิงครบวงจรและผู้ผลิตซีรีส์ เปิดตัว TikTok Original Series ซีรีส์แนวตั้งแบบสั้นที่ได้จับมือกับติ๊กต็อกผลิตขึ้นเป็นครั้งแรกในไทย โดยความยาวของซีรีส์แต่ละตอนจะอยู่ที่ 1 – 3 นาที หรือการจับมือกับ White Fox (ค่ายเพลงใน GMM Grammy) เพื่อเฟ้นหาศิลปินชายหน้าใหม่ Boy Idol ด้วยการออดิชันบนติ๊กต็อกผ่านแฮชแท็ก #WhiteFoxHunting
คอนเทนต์ที่มียอดวิวสูงสุดบน TikTok
ทั้งนี้จากข้อมูลรายงานของติ๊กต็อก พบว่า คอนเทนต์ประเภทความบันเทิง (Entertainment) อย่างรายการทีวี, เบื้องหลัง, คอนเสิร์ต หรือภาพยนตร์ต่าง ๆ เป็นคอนเทนต์ที่ได้รับความนิยมและมียอดวิวสูงสุดเป็นอันดับ 1 ของแพลตฟอร์ม รองลงมาอันดับที่ 2 ได้แก่ Daily life อันดับที่ 3 Food & Drink อันดับที่ 4 Game และอันดับที่ 5 Comedy
นอกจากการจับมือกับผู้ผลิตคอนเทนต์มืออาชีพแล้ว ติ๊กต็อกยังได้ผลิตภาพยนตร์ “Songkran Stranger #รักไม่ซ้ำหน้า” ซึ่งเป็นคอนเทนต์ออริจินัลที่รับชมได้เฉพาะบนติ๊กต็อกเท่านั้น ในรูปแบบ Interactive Movie หรือการสร้างประสบการณ์การรับชมภาพยนตร์ที่ผู้ชมสามารถร่วมแสดงเป็นส่วนหนึ่งของภาพยนตร์ด้วยการใช้ฟีเจอร์ Duet ซึ่งเป็นฟีเจอร์ที่สามารถถ่ายวิดีโอ 2 ฝั่งซ้ายขวากับดารา หรือผู้ที่เราชื่นชอบ เพื่อที่ผู้ใช้งานจะได้ร้อง เล่น เต้น และชาเลนจ์กับผู้ใช้งานคนอื่น ๆ บนติ๊กต็อกได้ รวมทั้ง Stitch หรือฟีเจอร์ที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถตัดแต่งและแก้ไขวิดีโอของผู้อื่นและรวมไว้ในเนื้อหาของตนเองได้ โดยภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวได้แบ่งการนำเสนอออกเป็นตอน ๆ ให้ได้ติดตามด้วยเช่นกัน
จากความร่วมมือทั้งหมด จะเห็นได้ว่า ในปี 2564 ติ๊กต็อกเดินหน้าขยายพันธมิตรหลากหลายกลุ่มอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้คอนเทนต์บนแพลตฟอร์มมีความหลากหลายอย่างแท้จริง นอกจากจะช่วยเพิ่มความน่าสนใจให้กับคอนเทนต์แก่กลุ่มผู้ใช้งานเดิมแล้ว ติ๊กต็อกยังต้องการที่จะดึงกลุ่มผู้ใช้รายใหม่ ๆ เข้ามาใช้งานแพลตฟอร์มมากขึ้นด้วย โดยการทำงานร่วมกันในลักษณะนี้ยังก่อให้เกิดประโยชน์ด้วยกันทั้ง 3 ฝ่าย ได้แก่ แพลตฟอร์ม ผู้ผลิตคอนเทนต์ และผู้ใช้งานแพลตฟอร์ม
TikTok Live เพิ่มฟีเจอร์ใหม่สู้ศึกไลฟ์คอนเทนต์
ปัจจุบันฟีเจอร์ Live Streaming แทบจะเป็นฟีเจอร์หลักที่เสริมเข้ามาในทุกแพลตฟอร์มของโซเชียลมีเดียเลยก็ว่าได้ ดังนั้น แต่ละแพลตฟอร์มจึงพยายามเพิ่มลูกเล่นและประสบการณ์ที่ดีในการไลฟ์ให้น่าสนใจและดึงดูดผู้ใช้งานให้ได้มากที่สุด ติ๊กต็อกเองก็เช่นกัน หลังจากเปิดให้ผู้ใช้งานไลฟ์ผ่านแพลตฟอร์มมาตั้งแต่ปี 2563 ในปี 2564 จำนวนไลฟ์คอนเทนต์บนติ๊กต็อกในไทยเพิ่มสูงขึ้นถึง 131 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2563 (ข้อมูลเปรียบเทียบระหว่างเดือนพฤษภาคม 2563 และพฤษภาคม 2564) ดังนั้นเพื่อประสบการณ์ไลฟ์ที่ดียิ่งขึ้น และตอบรับกับการเติบโต ตลอดจนการแข่งขันของ Live Streaming ติ๊กต็อก จึงได้เพิ่มฟีเจอร์สำหรับผู้ใช้งานไลฟ์ให้ครอบคลุมทุกมิติ ดังนี้
● LIVE Event ฟีเจอร์ที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถกำหนดเวลา จัดการและโปรโมทไลฟ์สด ซึ่งเหมาะสำหรับการจัด Live Concert, Live Talk หรือโปรแกรมไลฟ์ที่ต้องการกระตุ้นให้ผู้ชมไม่พลาดการรับชมไลฟ์
● Go LIVE Together ฟีเจอร์ที่ช่วยให้ครีเอเตอร์สามารถเชิญผู้ใช้รายอื่นเข้ามาเป็นผู้จัดร่วม (Co-Host) ได้ ซึ่งจะประกอบไปด้วย 2 ฟังก์ชัน คือ Co-Host หรือการเชิญครีเอเตอร์รายอื่นเข้ามาร่วมไลฟ์ได้ และ Multi-Guest การเชิญผู้ชมเข้ามาร่วมพูดคุยได้สูงสุด 3 คน
● LIVE Q&A ฟีเจอร์ถามตอบ โดยครีเอเตอร์กับผู้ชมสามารถมีส่วนร่วมโดยการถาม-ตอบ ด้วยชุดเครื่องมือถามและตอบแบบเรียลไทม์
● Top LIVEs ฟีเจอร์การแสดงไลฟ์สดในหน้า Feed ซึ่งจะช่วยให้ผู้ใช้คนอื่น ๆ สามารถเห็นและติดตามการไลฟ์สดของครีเอเตอร์ที่ชื่นชอบได้ จากหน้า “For You Page” และ “Following”
● Help for Hosts ฟีเจอร์ความช่วยเหลือครีเอเตอร์ให้สามารถตั้งค่าการไลฟ์ เพื่อป้องกันการรบกวนที่อาจเกิดขึ้นจากผู้ชมขณะไลฟ์
● Keyword Filters ฟีเจอร์คัดกรองการแสดงความคิดเห็นที่จะช่วยป้องกันการแสดงความคิดเห็นที่ไม่เหมาะสม
ทั้งนี้ คุณสุรยศ กล่าวด้วยว่า
ฟีเจอร์ไลฟ์จะช่วยให้เหล่าอินฟลูเอนเซอร์ได้ใกล้ชิดกับแฟนคลับได้ง่ายขึ้น โดยปี 63 เป็นการสร้างการรับรู้ แต่ในปี 64 จะเป็นการสร้างเอนเกจเมนต์มากขึ้น
ซึ่งนอกเหนือจากการแข่งขันในการ Live Streaming แล้ว อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญของการเพิ่มฟีเจอร์ต่าง ๆ สำหรับ TikTok LIVE คือการสร้างการมีส่วนร่วมแบบเรียลไทม์ต่อแพลตฟอร์มให้มากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามการไลฟ์สดบน ติ๊กต็อกยังมีเงื่อนไขที่ต่างจากการไลฟ์ของแพลตฟอร์มอื่นตรงที่ผู้ใช้งานต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป และมีจำนวนผู้ติดตาม 1,000 คนขึ้นไป เท่านั้น
หากมองในส่วนของแบรนด์ที่เข้ามาร่วมทำกิจกรรมทางการตลาดผ่าน TikTok LIVE นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นแบรนด์หรือธุรกิจบันเทิง เช่น บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) จับมือกั ติ๊กต็อก เปิดตัว “TikTok LIVE Cinema by Major Cineplex” เปิดให้ชมภาพยนตร์กันแบบฟรี ๆ 3 เรื่อง ผ่านแอคเคาท์ @majorgroup หรือแม้กระทั่งการจับมือกันระหว่างแพลตฟอร์มอย่าง JOOX ที่จะมาไลฟ์รายงานชาร์ตเพลงที่น่านำมาทำชาเลนจ์ผ่านแอคเคาท์ @jooxth
แบรนด์ดังกับการทำการตลาดบน TikTok
ในปี 2564 เราจะได้เห็นภาพการทำตลาดหรือแคมเปญบนติ๊กต็อกที่ชัดเจนยิ่งขึ้น เนื่องจากแบรนด์สินค้าให้ความสนใจสร้างสรรค์โฆษณาแนวใหม่บนติ๊กต็อกกันอย่างหลากหลายรับพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบันที่มีการใช้งานอินเทอร์เน็ตบนมือถือสูงถึง 5 ชั่วโมงต่อวัน (ข้อมูลจาก We are Social ณ เดือนมกราคม 2564)
ตัวอย่างแบรนด์ที่ใช้ TikTok For Business ในการสร้างสรรค์โฆษณา ได้แก่ มิรินด้า ที่ทำแคมเปญ #เกินต้านChallenge ที่ชวนคนรุ่นใหม่มาร่วมสนุกไปกับการเปิดตัวเครื่องดื่มมิรินด้ากลิ่นรูทเบียร์ โดยวางกลยุทธ์สื่อสารผ่านโฆษณาแนวตั้งที่นำรูปแบบของ Gamification (Gamified Branded Effect) หรือเอฟเฟกต์ที่ใช้การเล่นเกมมาผสมผสานทำให้โฆษณามีความน่าสนใจและสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้ชมด้วยฟิลเตอร์ใหม่ของมิรินด้า ผ่านแคมเปญ #เกินต้านChallenge
นอกจากนี้ Lazada แอปช็อปปิงชื่อดังก็ยังจับมือกับติ๊กต็อกเปิดตัวแคมเปญ เพื่อขยายลูกค้าใหม่ และเพิ่มจำนวนผู้ค้าปลีกที่ขายสินค้าบนแพลตฟอร์มของ Lazada เอง ด้วยการสร้างสรรค์วิดีโอหลากหลายรูปแบบ ทั้ง In-Feed Ads หรือการสร้างแฮชแท็ก เพื่อสื่อความหมายว่าทุกคนสามารถสร้างรายได้จากการเป็นพ่อค้าและแม่ค้าออนไลน์ได้
ขณะที่บริษัท โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเปิดตัวคอนโดมิเนียมโครงการ Nue Noble Fai Chai – Wang Lang เลือกใช้แคมเปญโฆษณาในรูปแบบ In-Feed Ads บนติ๊กต็อก ซึ่งโฆษณาจะปรากฏขึ้นระหว่างที่คนดูวิดีโอต่าง ๆ ในหน้า Feed ควบคู่ไปกับการใช้กลยุทธ์การขายของแบรนด์เองที่บ่งบอกความเป็นแบรนด์สำหรับคนรุ่นใหม่
ขณะที่ ETUDE แบรนด์เครื่องสำอางจากเกาหลี ซึ่งเปิดตัวคอลเลคชั่นใหม่อย่าง Disney Tsum Tsum และต้องการสร้างการรับรู้ไปยังกลุ่มวัยรุ่น และกระตุ้นยอดขายผ่านช่องทางออนไลน์ให้มากขึ้น จึงเลือกใช้งาน TikTok Ads Manager (การทำโฆษณาแบบครบวงจร) เพื่อช่วยให้แบรนด์สามารถกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยมุ่งเน้นไปที่ผู้ใช้เพศหญิง อายุระหว่าง 13- 34 ปี
จากตัวอย่างแบรนด์สินค้าและธุรกิจที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่า ปัจจัยหลักที่แบรนด์สินค้าเลือกทำการตลาดหรือโฆษณาบนติ๊กต็อกนั้น ส่วนใหญ่แล้วต้องการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนรุ่นใหม่ ด้วยการทำแคมเปญหรือโฆษณาให้มีสีสัน ความสนุกสนานผสมผสานกับเอฟเฟกต์ต่าง ๆ ของแพลตฟอร์ม สะท้อนให้เห็นว่าแบรนด์ต่าง ๆ ยังคงมองว่า ติ๊กต็อกเป็นพื้นที่สำหรับคนรุ่นใหม่
“ติ๊กต็อกเป็นแพลตฟอร์มที่ผู้ใช้ต้องการความเรียล ดังนั้นแบรนด์ที่ต้องการเข้าไปเจาะกลุ่มเป้าหมายใน ติ๊กต็อก ต้องมีความเรียลและความสนุก หากมีลูกค้าบอกกับพีอาร์ว่าต้องการทำแคมเปญสนุก ๆ หรือแคมเปญที่จะรีเฟรชแบรนด์ให้ดูสดใส ติ๊กต็อก จะเป็นแพลตฟอร์มแรก ๆ ที่คนทำพีอาร์จะนึกถึง”
ตัวอย่างแบรนด์ที่ใช้ติ๊กต็อกในการทำแคมเปญเทศกาล Mega Sales ในรูปแบบ Shoppertainment
ได้แก่ ห้างเซ็นทรัลและโรบินสัน ที่ทำแคมเปญในธีม #จังหวะนี้ต้องช้อป และ Konvy จัดแคมเปญกระตุ้นการช้อปในแต่ละเดือนจากความเคลื่อนไหวในรอบปี 2564 จะเห็นได้ว่า ติ๊กต็อก เดินหน้าพัฒนาฟีเจอร์และขยายความหลากหลายของแพลตฟอร์มอยู่ตลอด เพื่อให้คอนเทนต์ตอบสนองความต้องการของกลุ่มผู้ใช้งาน ด้วยความพยายามที่จะนำเสนอให้เห็นว่า ติ๊กต็อก นอกจากจะเป็นแพลตฟอร์มแห่งความบันเทิงแล้ว แต่ยังแฝงไปด้วยสาระและแรงบันดาลใจจากคอนเทนต์หลากหลายประเภท รองรับพฤติกรรมของผู้บริโภคและการแข่งขันของโซเชียลมีเดียในปัจจุบัน สำหรับแบรนด์สินค้าเองก็เช่นกันยังคงให้ความสนใจเข้ามาทำการตลาดบนแพลตฟอร์มกันอย่างคึกคัก ซึ่งส่วนใหญ่ต้องการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนรุ่นใหม่ โดยมองว่าเครื่องมือต่าง ๆ บนแพลตฟอร์มสามารถตอบโจทย์การสร้างสรรค์งานโฆษณาและแคมเปญให้โดนใจ และทำให้กลุ่มเป้าหมายเข้ามามีส่วนร่วมกับแบรนด์ได้
- Workpoint Today. 2564. ‘TikTok’ เผยคอนเทนต์ยอดฮิตต้นปี 64 ‘เอนเตอร์เทนเมนต์’ ติดอันดับ 1 มาแรงที่สุดในไทย [ออนไลน์] จาก https://workpointtoday.com/tiktok-entertainment-content-01.
- ThaiPR.net. 2564. TikTok เปิดปรากฏการณ์พลังแห่งความสุข สู่โอกาสในการเติบโตของแบรนด์และนักการตลาดใน TikTok: The Stage [ออนไลน์] จาก https://www.thaipr.net/it/3104874.
- Brand Inside. 2564. TikTok สู้ศึกไลฟ์สด เพิ่มฟีเจอร์ใน TikTok LIVE หวังดึงครีเอเตอร์-ร้านค้า-ศิลปิน เข้าแพลตฟอร์ม [ออนไลน์] จาก https://brandinside.asia/tiktok-live-platform/.
- Positioning Magazine. 2564. ‘TikTok’ ขอใช้ความ ‘เรียล’ สู้ศึก ‘วิดีโอสั้น’ พร้อมดัน ‘วิดีโอยาว’ สวนกระแส [ออนไลน์] จาก https://positioningmag.com/1324733.
- ThaiPR.net. 2564. สรุปปรากฏการณ์แบรนด์ดังกับ TikTok For Business [ออนไลน์] จาก https://www.thaipr.net/business/3074046.
- TikTok. 2564. เจาะเทคนิคพิชิตยอดขายจาก 2 แบรนด์ดัง และโอกาสบน TikTok ในเทศกาล Mega Sales [ออนไลน์] จาก https://newsroom.tiktok.com/th-th/unlock-business-wins-in-mega-sales-seasons-on-tiktok.
Topics
More Posts
- แนวโน้มสื่อไทย 2568
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2567
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2566
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2565
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2564
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2563
- Thai Media Trends 2025 (English Version)
- Thailand Media Landscape 2023-2024 (English Version)
- Thailand Media Landscape 2022-2023 (English Version)
- Thailand Media Landscape 2021-2022 (English Version)