สื่อจริงจังกับการทำคอนเทนต์ขึ้นแต่ละแพลตฟอร์มมากขึ้นท่ามกลางศึกชิงยอดไลก์ แชร์ คอมเมนต์

สื่อจริงจังกับการทำคอนเทนต์ขึ้นแต่ละแพลตฟอร์มมากขึ้น

พรพรรณ ฉวีวรรณ

ในยุคที่สื่อต่างแข่งขันกันเพื่อให้ได้มาซึ่ง “กลุ่มเป้าหมาย” และกลุ่มเป้าหมายหรือผู้บริโภคมี “พลวัต” หรือ Dynamic สูงนั้น สื่อจึงให้ความสำคัญกับการลงทุนและการทำคอนเทนต์เพื่อให้ตอบสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมายอย่างจริงจังมากยิ่งขึ้น นี่คือมุมมองที่มีต่อสื่อมวลชนของคุณแก้ว-พรพรรณ ฉวีวรรณ Managing Director จาก CHOM PR ผู้ซึ่งมีประสบการณ์และคลุกคลีกับงานด้านประชาสัมพันธ์และสื่อมากว่า 20 ปี

ด้วยความที่กลุ่มเป้าหมายหรือผู้บริโภคใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับสื่อออนไลน์บนอุปกรณ์โมบายล์ การนำเสนอคอนเทนต์ของสื่อจึงต้องใส่ใจทำให้เหมาะสมกับแต่ละแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็นสื่อออนไลน์หรือโซเชียลมีเดีย

เราก็จะเห็นว่ามีหลาย ๆ สื่อที่ลงทุนในพาร์ทออนไลน์ ทั้งลงทุนในงบประมาณ เราก็จะเห็นคุณภาพคอนเทนต์ที่ดีขึ้น หรือคุณภาพของอาร์ตเวิร์คที่ทำ ไม่ใช่แค่การใส่รูปประกอบลงไป แต่จะเห็นถึงการทำอินโฟกราฟิก การทำคลิปวิดีโอสั้น หรือทำข้อมูลให้สั้นขึ้น เพื่อให้คอนเทนต์เป็นแบบ Mobile Ready เพราะผู้คนสมัยนี้ จะมีเฉพาะพวกเราคนทำงานที่ยังใช้แล็บท็อป คอมพิวเตอร์ แต่คนไทยส่วนใหญ่แล้ว ใช้เวลาอยู่บนโมบายล์หลายชั่วโมงต่อวัน

ดังนั้น การเปลี่ยนรูปแบบคอนเทนต์ให้สามารถสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้อ่านเห็นมากที่สุด จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะทุกวันนี้ทุกคนต่างช่วงชิงกันทั้งยอดไลก์ คอมเมนต์ แชร์ หากความประทับใจครั้งแรกหรือ First Impression ของคอนเทนต์ อ่านยาก หรือต้องใช้เวลามากกว่า 5 นาทีในการอ่าน หรือดูรูปแล้วก็ยังไม่เข้าใจ จะเป็นอุปสรรคที่สกัดทำให้คนไม่สนใจในคอนเทนต์หรือข่าวสารที่เรานำเสนอ

“ถ้าถามว่าสิ่งที่เห็นชัด ๆ ในพาร์ทของสื่อก็คือ การปรับตัวของสื่อเองที่หันมาโฟกัสในแพลตฟอร์มที่เป็นออนไลน์มากขึ้น และหลายสื่อที่ปิดตัวส่วนที่เป็นสิ่งพิมพ์ก็หันมาโฟกัสออนไลน์อย่างจริงจัง

หรือสื่อที่เป็นทีวี วิทยุ หรือสิ่งพิมพ์ ก็มีการขยับขยายสร้างทีมออนไลน์อย่างจริงจัง เพราะนอกจากเป็นช่องทางที่คนอยู่ส่วนใหญ่อยู่ที่นี่แล้ว ยังเป็นช่องทางที่สามารถหารายได้ได้จริง

รวมถึงการใช้แพลตฟอร์มที่หลากหลายมากขึ้น ไม่ใช่เฉพาะแค่เว็บไซต์ที่ทุกคนมีอยู่แล้ว ส่วนโซเชียลมีเดียก็เห็นหลาย ๆ สื่อจริงจังกันมากขึ้น ในการที่จะนำเสนอข่าวสารลงบนโซเชียลมีเดียแล้วก็มีการปรับเนื้อหาให้เหมาะกับโซเชียลมีเดียแบบจริง ๆ จัง ๆ เช่น การทำคอนเทนต์ข่าวในรูปแบบคลิปวิดีโอสั้นบน TikTok”

คุณแก้วกล่าว

กลยุทธ์การทำคอนเทนต์ให้หลากหลายและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายเป็นสิ่งสำคัญ

ด้วยประสบการณ์การทำงานกับสื่อมาอย่างยาวนาน คุณแก้วมองว่า การทำงานของสื่อในปัจจุบันเริ่มมีการทำคอนเทนต์และวางแผนเรื่องคอนเทนต์อย่างชัดเจนและเป็นระบบ ถ้าตามดูการรายงานข่าวของสื่อ จะเห็นได้ว่า สื่อหลายแห่งลงคอนเทนต์ทุก ๆ สิบนาที เรียกได้ว่า จะมีการป้อนคอนเทนต์ใหม่ ๆ ในทุก ๆ ช่วงเวลาที่สื่อได้กำหนดไว้ หากจับทางให้ดี ก็จะอ่านสื่อแต่ละเจ้าออกว่า สื่อมักจะเฉลี่ยปริมาณและจัดทำคอนเทนต์ให้มีความหลากหลาย อย่างการเผยแพร่คอนเทนต์ในทุก ๆ สิบนาที ในหนึ่งวันจำนวนคอนเทนต์ที่เผยแพร่ก็เกือบร้อยชิ้นทีเดียว ซึ่งจากคอนเซ็ปต์เหล่านั้นเราจะเห็นว่า สื่อมีการทำ Content Diversification คือ การทำคอนเทนต์ให้หลากหลายตามโจทย์ของกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งตรงนี้ก็จะเห็นอีกว่าสื่อมีการทำการบ้านเยอะขึ้นว่า กลุ่มเป้าหมายเค้าคือใครแล้วต้องการคอนเทนต์แบบใด

ตรงนี้เป็นความจริงของยุคสมัยนี้ที่เราจะต้องทำความเข้าใจ Target มันเป็นยุคที่ว่าโลกของพีอาร์และการสื่อสารมันหมดยุคของ Mass Communication แล้ว แต่เป็นยุคที่เราต้องชัดเจนว่า Target คือใคร

“เช่นเดียวกันสื่อก็ต้องกลับไปคุยว่า Target ของเขาคือใคร เค้าจะนำเสนอเรื่องอะไร รูปแบบไหน เพื่อให้ถึงกลุ่มเป้าหมายของเค้า เพราะทุกวันนี้อุตสาหกรรมคอนเทนต์ คือ หนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันสูงมาก ทำให้คนที่ทำงานตรงนี้ต้องวางกลยุทธ์และวางแผนให้ดี

บวกกับบนแพลตฟอร์มออนไลน์จะมี data และ insight ที่ทำให้คนทำงานมองเห็นว่าแท้จริงแล้วกลุ่มผู้อ่านชอบและไม่ชอบอะไร ตรงนี้ก็เป็นข้อมูลสำคัญที่ทำให้อยู่นิ่งไม่ได้ ต้องปรับและทดลองสิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา”

คุณแก้วกล่าว

เมื่อสื่อเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานและการนำเสนอข้อมูลข่าวสารโดยพุ่งมาที่สื่อออนไลน์และโซเชียลมีเดียอย่างเต็มที่ แล้วพีอาร์ปรับรูปแบบการนำเสนอคอนเทนต์ให้สื่อและลูกค้าอย่างไร?

พรพรรณ ฉวีวรรณ

MD ของ CHOM PR กล่าวว่า เริ่มตั้งแต่ที่ได้รับโจทย์จากลูกค้ามาคำถามแรกที่ต้องกลับมาคุยกันในทีมเสมอ คือกลุ่มเป้าหมายของงานนี้คือใคร และลูกค้าคาดหวังสิ่งใดจากแคมเปญหรือโปรเจ็คค์นี้ เพราะกลุ่มเป้าหมายจะเป็นกระดุมเม็ดแรกในการตั้งต้นของทุกเรื่องในงานพีอาร์

จากนั้นจึงกลับมาดูว่าเราจะสามารถพาคอนเทนต์หรือเรื่องราวนี้ไปถึงกลุ่มเป้าหมายด้วยช่องทางใดบ้าง และกลุ่มเป้าหมายของเราอยู่ที่ไหน ซึ่งคำว่าอยู่ที่ไหนในที่นี้สำหรับคนทำพีอาร์ต้องเปิดใจกว้างมองสื่อให้เป็นภาพใหญ่ ด้วยว่าปัจจุบันสื่อได้หลอมรวมเข้าด้วยกัน งานพีอาร์จึงไม่ใช่แค่การทำหน้าที่เฉพาะการส่งข่าวหรืองาน Media Relations เพียงอย่างเดียว แต่เป็นการคิดและวางแผนเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้จะต้องมีการผสมผสานเครื่องมือ ทั้งสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่อออนไลน์ รวมไปถึงบุคคลที่สามารถมีอิทธิพลต่อความคิดของกลุ่มเป้าหมายได้ เช่น Key Opinion Leader (KOL) หรืออินฟลูเอ็นเซอร์ (Influencer) เข้าด้วยกัน

เพราะการใช้เฉพาะเครื่องมือใดเครื่องมือหนึ่ง ยังไม่เพียงพอที่จะเข้าถึงหรือมีอิทธิพลต่อกลุ่มเป้าหมายที่หากมองลึกลงไปจะไม่ได้หมายถึงแค่กลุ่มอายุ เพศ การศึกษา แต่จะรวมไปถึง Mindset ทัศนคติ และ Pain Point ของแต่ละกลุ่มด้วย

คุณแก้วกล่าว

นอกจากนี้การทำงานพีอาร์แบบเดิมที่มุ่งสร้างเฉพาะ Awareness (การรับรู้) ก็ไม่เพียงพอต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคหรือรับสารที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน แต่ต้องไปถึงขั้นที่ว่า จะทำอย่างไรจึงจะ Influence หรือโน้มน้าวกลุ่มเป้าหมายได้ เช่น การโน้มน้าวใจคน การสร้างปฏิกิริยาในความรู้สึกต่อคอนเทนต์หรือเรื่องราวนี้ เป็นสิ่งที่งานพีอาร์จะต้องต่อยอดให้ได้ และเป็นกลยุทธ์ของงานพีอาร์ที่ถูกยกระดับขึ้นจากเมื่อก่อน คุณแก้วได้ยกตัวอย่างว่า เมื่อพีอาร์ต้องเขียนข่าวขึ้นมา 1 ชิ้น จะไม่ได้แค่มองว่า Key Message คืออะไร แต่ต้องมองไปถึงขั้นที่ว่า ข่าวชิ้นนี้จะเกิดอิมแพคอย่างไรกับผู้อ่าน เช่น อ่านแล้วรู้สึกดี อ่านแล้วรู้สึกอยากซื้อสินค้า หรืออ่านแล้วรู้สึกเปลี่ยนความคิดไป เหล่านี้จึงเป็นหน้าที่ของคอนเทนต์บวกกับหน้าที่ของพีอาร์ในการนำไปให้ถึงกลุ่มเป้าหมายที่ถูกต้อง เพราะในวันนี้ Journey ของการรับรู้ สู่การพิจารณา และตัดสินใจซื้อ สามารถเกิดขึ้นได้ในไม่กี่คลิก คือ อ่านข่าวหรือบทความประชาสัมพันธ์จบ ก็สามารถค้นหารีวิวเพิ่มเติม ส่งไลน์ไปถามเพื่อน ถ้ารู้สึกโอเค ก็สามารถกดสั่งซื้อได้เลย จึงทำให้ในวันนี้คนทำพีอาร์ต้องคิดเผื่อไปถึงจุดนี้ด้วย

ดังนั้นการพาคอนเทนต์ไปสู่กลุ่มเป้าหมายที่ถูกต้องจะช่วยต่อยอดไปสู่ผลลัพธ์ทางธุรกิจให้กับลูกค้าได้

ทั้งนี้ รูปแบบการส่งข่าวให้สื่อก็สำคัญเช่นกัน ซึ่งทุกวันนี้แพ็คเกจที่ทาง CHOM PR จัดทำเพื่อส่งให้กับนักข่าวนั้น ไม่ได้มีเฉพาะข่าวและภาพประกอบเท่านั้น แต่อาจจะมีการทำอินโฟกราฟิกให้เพิ่มเติม หรือทำข่าวเวอร์ชันที่สั้นลงเพื่อให้สื่อสามารถนำไปใช้ได้เลย ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เพื่ออำนวยความสะดวกให้สื่อและทำให้งานของลูกค้าถูกเผยแพร่โดยเร็วที่สุด

เราก็ต้องอำนวยความสะดวกทุกอย่างในการที่จะทำอินโฟกราฟิกแนบเข้าไปให้ หรือแม้กระทั่งภาพเปิดที่จะแปะลงไปในโซเชียลมีเดียได้ เราคิดแม้กระทั่งภาพนี้เหมาะกับแพลตฟอร์มไหน ไซต์นี้ลงเฟสบุ๊ค ไซต์นี้ไอจี ไซต์นี้เป็น Thumbnail ในยูทูบอะไรอย่างนี้ คือเราต้องอาจจะต้องทำถึงขนาดนั้นเหมือนกัน หนึ่งเพื่ออำนวยความสะดวกให้สื่อ สองก็คือเพื่อทำให้งานของเราได้ออกให้เร็วที่สุด ข้อดีในการทำอาร์ตเวิร์คแล้วเตรียมให้สื่อเลย ก็จะได้ภาพแบบที่เราต้องการ สีต่างๆที่เราอยากได้ Mood and Tone ของภาพที่เราต้องการได้ แล้วก็เป็นหน้าที่ของสื่อว่าเขาจะเลือกใช้หรือไม่อย่างไร

อีกประเด็นที่ต้องยอมรับก็คือ ทุกวันนี้มีการเคลื่อนไหวของวงการสื่อจำนวนมาก ทั้งสื่อ, KOL, KOC หรือแม้กระทั่งกระแสที่เกิดขึ้นใหม่มากมายในแต่ละวัน ซึ่งการทำงานกับกระแสก็ยังเป็นอีกหนึ่งโจทย์สำคัญของพีอาร์ สมมติว่าวันนี้ผู้บริโภคชอบ KOL หรือ Influencer คนนี้ แต่วันรุ่งขึ้นอาจเกิดกระแสดราม่าโจมตีขึ้นมาได้

พีอาร์จึงต้องปรับตัวและปรับแผนการทำงานอยู่ตลอด และสิ่งที่น่าจะเป็นคีย์พอยต์สำคัญของการทำงานพีอาร์ในปัจจุบัน คือ ลูกค้าทั้งแบรนด์ใหญ่และแบรนด์เล็กเปลี่ยนไปในแง่ที่ไม่มีการจัดทำแผนงาน 12 เดือนอีกแล้ว เพราะว่าทุกคนทราบดีว่าระยะเวลา 12 เดือนนั้นนานเกินไปสำหรับการวางแผนล่วงหน้า ด้วยธรรมชาติของงานที่เคลื่อนไหวเร็วมากทั้งเครื่องมือที่ใช้และกระแสที่เกิดขึ้น แต่แน่นอนว่ายังต้องมีเป้าหมายใหญ่ ๆ ของปีที่ต้องการทำอยู่

เจาะมุมมองที่มีต่อบทบาทของสื่อประเภทต่าง ๆ

เมื่อพูดถึงรูปแบบการทำงานกับสื่อกันไปแล้ว คุณแก้วยังได้เล่าถึงประสบการณ์ของการใช้สื่อต่าง ๆ ในการทำงานด้านพีอาร์ โดยเริ่มต้นที่ KOL และ KOC ว่า การโพสต์ของ KOL อาจจะสร้างการรับรู้ในวงกว้าง ด้วยจำนวนผู้ติดตามระดับหลักแสนถึงล้าน แต่ KOC อาจจะมีอิทธิพลหรือโน้มน้าวการตัดสินใจของกลุ่มเป้าหมายให้มาซื้อสินค้าได้จริง เนื่องด้วยผู้รับสารรู้สึกถึงความน่าเชื่อถือและความเรียลที่เกิดขึ้น หากมองเป็นกราฟจะพบว่า KOC จะมีจำนวนผู้ติดตามน้อยแต่มีความน่าเชื่อถือสูง สามารถมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของผู้คนได้ แต่ก็จะได้แค่เฉพาะคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น จึงอาจต้องใช้ KOC จำนวนมากเพื่อให้ได้คนหลาย ๆ กลุ่ม

แต่อย่างไรก็ตามการใช้ KOL ก็ควรจะมีอยู่เช่นกัน เพราะพฤติกรรมของคนที่จะตัดสินใจซื้อสิ่งใดสิ่งหนึ่งย่อมมีขั้นตอนการหาข้อมูลก่อนการตัดสินใจ เมื่อค้นหาแล้วพบว่า KOL ที่เป็นคนที่มีชื่อเสียงจำนวนผู้ติดตามจำนวนมากมีการพูดถึงผลิตภัณฑ์นี้ ก็จะนำซึ่งกระบวนการตัดสินใจในการซื้อได้ อีกประการสำคัญข้อดีของการใช้ KOL คือแบรนด์หรือสินค้าจะได้ภาพลักษณ์จาก KOL มาด้วย แต่ในเชิงของรายละเอียดสินค้าอาจต้องเป็นหน้าที่ของ KOC ในการนำเสนอเพราะมีความเรียล ดังนั้นการทำงานพีอาร์จึงต้องมีการผสมผสานเครื่องมือให้ลงตัวที่สุด

สำหรับแพลตฟอร์มสื่ออื่น ๆ ที่เกิดขึ้นมาตามยุคสมัยอย่างติ๊กต็อก (TikTok) และคลับเฮาส์ (Clubhouse) นั้น คุณแก้ว กล่าวว่า งานพีอาร์ก็ให้ความสนใจเช่นกัน เพราะเครื่องมือแต่ละประเภทมีรูปแบบและกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกันออกไป สำหรับคลับเฮาส์ มองว่าอาจจะไม่ใช่แพลตฟอร์มสำหรับ Thinker อย่างเดียว จะเห็นได้ว่าเป็นพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ที่ใช้เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิด ซึ่งในช่วงที่คลับเฮาส์เป็นกระแสในช่วงแรกนั้น มีลูกค้าหลายแบรนด์เริ่มมาพูดคุยกับเราว่าจะสามารถทำอะไรได้บ้างบนแพลตฟอร์ม เช่น การเปิด account การเปิดห้องชวนคุยในประเด็นต่างๆ การเข้าไปมีส่วนร่วมในห้องสนทนา หรือแม้กระทั่งการเป็นสปอนเซอร์ให้กับ KOL ที่อยู่ในคลับเฮาส์ เรียกได้ว่าเป็นแพลตฟอร์มที่อยู่ในความสนใจของงานพีอาร์ แต่ก็ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของเรื่องราวที่จะนำเสนอมากกว่า ซึ่งตรงจุดนี้สิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึง คือ การเป็นพื้นที่เปิดและการเป็นคอนเทนต์สดที่อาจมีความสุ่มเสี่ยงต่อแบรนด์ได้เช่นกัน

ส่วน TikTok นั้น คุณแก้ว มองว่า เป็นแพลตฟอร์มที่สร้างพฤติกรรมใหม่ให้กับผู้คน คือ การเปลี่ยนจากพฤติกรรมจากการดูมาเป็นการสร้าง ด้วยแพลตฟอร์มที่สนับสนุนให้ทุกคนสามารถเป็นครีเอเตอร์ได้ จะเห็นได้ว่า TikTok สร้างการแจ้งเกิดให้ “Nobody” กลายมาเป็น “Somebody” ได้อยู่ตลอด ซึ่งเป็นสิ่งที่โดดเด่นมากจากแพลตฟอร์มอื่น ๆ และพีอาร์ให้ความสนใจในส่วนนี้ในแง่ของการไม่ได้เป็นอินฟลูเอ็นเซอร์ในกระแสหลักแต่สามารถมีอิทธิพลในการโน้มน้าวใจผู้ใช้ TikTok ได้ รวมถึงการเป็นแพลตฟอร์มที่สร้างการ Engage ระหว่างแบรนด์กับผู้คนได้อย่างน่าสนใจผ่าน Hashtag campaign หรือ Challenge ต่างๆ ที่แบรนด์สามารถชวนผู้คนบน TikTok มาร่วมสนุกไปกับแบรนด์ได้ นอกจากนี้  TikTok ยังเป็นแพลตฟอร์มที่คนต้องการความเรียลสูงมาก ดังนั้นแบรนด์ที่ต้องการเข้าไปเจาะกลุ่มเป้าหมายใน TikTok ต้องมีความเรียลและความสนุก จึงจะสามารถประสบความสำเร็จบนแพลตฟอร์มนี้ได้

การบูสต์โพสต์ เครื่องมือที่ช่วยนำคอนเทนต์ทะลุทะลวงไปถึงกลุ่มเป้าหมาย

นอกจากการผสมผสานการใช้สื่อแพลตฟอร์มต่าง ๆ แล้ว คุณแก้ว ยังสังเกตเห็นว่า การบูสต์คอนเทนต์ในแต่ละแพลตฟอร์มเป็นอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่สำคัญในปัจจุบันของบริษัทหรือแบรนด์ต่าง ๆ ดังจะเห็นได้จากภาพของการลดจำนวนการซื้อสื่อลงแต่เพิ่มงบในส่วนของการบูสต์โพสต์แทน เพราะด้วยรูปแบบแพลตฟอร์มในปัจจุบันที่เอื้อต่อการทำงานมากกว่าเมื่อก่อนตรงที่จากเดิมการลงสื่อนี้ก็เพื่อเข้าถึงเป้าหมายกลุ่มนี้เท่านั้น หากต้องการไปต่อก็จะต้องซื้อสื่อใหม่เข้ามาเพิ่ม แต่ทุกวันนี้แพลตฟอร์มออนไลน์ที่ใช้สามารถบูสต์คอนเทนต์ให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายตามที่เรากำหนดได้อย่างหลากหลาย ถือได้ว่าการบูสต์โพสต์เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะเข้ามาช่วยนำพาคอนเทนต์ให้ทะลุทะลวงไปยังกลุ่มเป้าหมายได้ ดังนั้นเมื่อแพลตฟอร์มออนไลน์สามารถบูสต์หรือโปรโมตได้ จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำในจำนวนมากอีกต่อไป

เพราะฉะนั้นการทำงานพีอาร์ในทุกวันนี้แค่การคิดว่าจะซื้อสื่อหรือใครมาลงคอนเทนต์ไม่เพียงพออีกต่อไป แต่ต้องวางแผนไปถึงการเลี้ยงคอนเทนต์และจะทำอย่างไรให้คอนเทนต์ KOL หรือ KOC ที่เราซื้อสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายให้ได้เร็วและมากที่สุด

ทำให้การทำงานพีอาร์ในปัจจุบันยิ่งเข้มข้นขึ้นทั้งแนวลึกและแนวกว้าง บวกกับความคาดหวังก็สูงขึ้นเช่นกัน เพราะว่าเครื่องมือในปัจจุบันเอื้อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ดีกว่าเดิม

ในภาวะวิกฤตงานพีอาร์ยิ่งต้องสื่อสารให้หนัก

การทำงานท่ามกลางความคาดหวังและความรวดเร็วนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่า เมื่อมีปัจจัยจากสถานการณ์โควิด-19 เพิ่มเข้ามาอีก แรงกดดันยิ่งน่าจะทวีคูณ ในเรื่องนี้ คุณแก้ว เปิดเผยว่า สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างแน่นอนต่องานพีอาร์ โดยงานจะแบ่งเป็น 2 ส่วน

ส่วนที่หนึ่ง คือ งานด้านการให้คำปรึกษาและกิจกรรมประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ  ในแง่ของการสื่อสารไม่ว่าจะเกิดวิกฤตแบบใดงานพีอาร์จะหยุดสื่อสารไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น สถานประกอบการของลูกค้าเราต้องปิดให้บริการให้ช่วงล็อกดาวน์แบบ 100% และมีสมาชิกใช้บริการกว่า 80,000 คนทั่วประเทศ เพราะฉะนั้นพีอาร์ยิ่งต้องสื่อสารออกไปให้หนักกว่าการทำประชาสัมพันธ์ปกติ เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกว่าเรายังพร้อมให้บริการและดูแล ขณะเดียวกันบทบาทของความเป็นผู้นำของลูกค้าต่อธุรกิจนั้น ๆ ก็จะแสดงออกมาให้เห็นจากตรงนี้ว่าสามารถจัดการกับสถานการณ์ได้อย่างไรในช่วงวิกฤต

ส่วนที่สองในแง่ของงานอีเวนท์ที่ไม่สามารถจัดงานในลักษณะรวมพลได้ คุณแก้ว กล่าวว่า มีการปรับเปลี่ยนวิธีการมาเป็นในลักษณะของเวอร์ชวลหรือออนไลน์แทน ซึ่งหากมองในมุมบวก สถานการณ์แบบนี้ถือว่าเป็นตัวเร่งให้ได้เรียนรู้การทำงานอีกรูปแบบ

นอกจากนี้ คุณแก้วยัง ได้แสดงความเห็นถึงเทรนด์ของงานพีอาร์ว่า…

แนวโน้มของงานพีอาร์ในปี 2565 จะมีความเป็นไฮบริดมากขึ้น คือมีความผสมผสานกันทั้ง Online และ On ground

แม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลายแล้วก็ตาม แต่ว่า พฤติกรรมของผู้คนเกิดการเรียนรู้แล้วว่า งานลักษณะนี้สามารถจัดออนไลน์ได้ งานลักษณะนี้จำเป็นที่ต้องเจอกัน หรืองานลักษณะนี้จำเป็นที่สื่อหรือกลุ่มเป้าหมายต้องเข้ามาร่วมสัมผัส สำคัญที่สุดคือพฤติกรรมของคนเกิดการพัฒนาไปเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ คุณแก้วยังมองว่าการ Mix Tool หรือการผสมผสานแพลตฟอร์มสื่อต่าง ๆ ในวงการพีอาร์ยังคงจะเกิดขึ้นต่อไป แต่จะไม่ใช้เครื่องมือในจำนวนมากเหมือนที่ผ่านมา เมื่อมีตัวจริงที่ไปถึงกลุ่มเป้าหมาย พร้อมกับยกตัวอย่างว่า จากเดิมการที่ต้องการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายกลุ่มหนึ่ง และต้องซื้อ Advertorial 10 ชิ้น KOL 20 คน และ KOC อีก 50 คน แต่หลังจากที่มีตัวจริงปรากฏ อาจจะเหลือการซื้อ Advertorial แค่ 5 ชิ้น KOL เหลือแค่ 5-10 คน และ KOC อาจจะต้องใช้เยอะเพราะมีความเรียลอยู่ แต่คอนเทนต์สามารถไปถึงกลุ่มเป้าหมายได้จริง

ผู้รับสารในปัจจุบันเปิดใจให้กับสปอนเซอร์คอนเทนต์มากขึ้น

ทั้งนี้ หากหันกลับมามองที่กลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นผู้รับสารแล้ว คุณแก้วกล่าวว่า ทุกวันนี้ผู้รับสารเปิดใจให้กับสปอนเซอร์คอนเทนต์ หรือ Branded Content มากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเติบโตของ Ecosystem โดยสื่อเองก็เติบโตที่จะเรียนรู้ว่าสปอนเซอร์คอนเทนต์แบบใดที่จะได้ผลประโยชน์ด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย ผู้รับสารและลูกค้า อีกทั้งลูกค้าที่เป็นแบรนด์สินค้าเองก็เปิดใจกว้างมากขึ้นและเข้าใจว่าการพยายามจะยัดเยียดอะไรบางอย่างลงไปในเนื้อหาแบบเกินไปก็จะไม่เกิดผลดีต่อแบรนด์เช่นกัน

ในขณะเดียวกันพฤติกรรมของผู้รับสารส่วนใหญ่ก็เติบโตพอที่จะรู้ว่าตัวเองสามารถพิจารณาและแยกแยะคอนเทนต์ได้ หากระบุว่าเป็นสปอนเซอร์คอนเทนต์และเขียนด้วยความเป็นจริง ไม่พยายามยัดเยียดสินค้าหรือแบรนด์  ผู้รับสารกลับจะรู้สึกดีต่อแบรนด์ไปด้วยที่แบรนด์มีความจริงใจ นอกจากนี้การที่แพลตฟอร์มสามารถวัดผลได้ทั้งจำนวน Reach (การเข้าถึง) และ Engagement (การมีส่วนร่วม) ถือเป็นเรื่องดีที่ทำให้ลูกค้ารู้สึกเปิดใจที่จะทำสปอนเซอร์คอนเทนต์ลักษณะดังกล่าว

ท้ายที่สุดแล้วคีย์เวิร์ดสำคัญของการทำงานพีอาร์ คือ กลุ่มเป้าหมาย หากเข้าใจและยอมรับว่ากลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้รับสารมีการเติบโตและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จะทำให้การทำงานพีอาร์ประสบผลสำเร็จอย่างแน่นอน

Topics

More Posts