เฟซบุ๊ก (Facebook)
- มกราคม 6, 2565
- ภูมิทัศน์สื่อไทย 2564-2565
ปี 2564 มีโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่ถูกกล่าวถึงมากมาย ไม่ว่าจะเป็นติ๊กต็อก คลับเฮาส์ หรือทวิตเตอร์ แต่เฟซบุ๊กก็ยังคงเป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มยอดนิยมของคนไทย และยังเป็นแพลตฟอร์มที่มีจำนวนผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นอีกด้วย เนื่องจากเฟซบุ๊กยังเป็นสื่อที่สามารถใช้สื่อสารพูดคุยตอบโต้กันได้ในวงกว้าง อีกทั้งยังสามารถใช้งานได้ทั้งในรูปแบบส่วนบุคคลและธุรกิจ ดังที่ รองศาสตราจารย์พรทิพย์ สัมปัตตะวนิช อาจารย์ประจำคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวไว้ว่า เฟซบุ๊กยังถือเป็นสื่อที่ยังคงมีผู้ใช้งานเเป็นจำนวนมาก เนื่องจากสามารถตอบสนองความต้องการได้ทั้งในเชิงส่วนบุคคลและเชิงธุรกิจ นอกจากบัญชีผู้ใช้ส่วนตัวแล้วองค์กรทางธุรกิจต่างๆ ก็นิยมใช้เฟซบุ๊กเพื่อทำการตลาดอย่างแพร่หลาย
รายงานจาก We Are Social และ Hootsuite ที่เผยแพร่ในปี 2564 ระบุว่า ไทยมีผู้ใช้งานเฟซบุ๊กประมาณ 51 ล้านคน เพิ่มขึ้นกว่า 8.5% ในปี 2564 จากสถิติปี 2563 ซึ่งมียอดผู้ใช้งานประมาณ 47 ล้านคน
ขณะเดียวกัน สัดส่วนผู้ใช้งานเฟซบุ๊กผ่านมือถืออย่างเดียวนั้นก็เพิ่มขึ้นจากเดิม 80.7% เป็น 81.4% ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าคนไทยมีพฤติกรรมการใช้สื่อแบบโมบายล์มากขึ้น
นอกจากนี้ การที่ประเทศไทยยังคงได้รับผลกระทบจากการระบาดครั้งใหญ่ของโรคโควิด-19 ในปี 2564 และรัฐบาลได้ใช้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาด พร้อมขอความร่วมมือภาครัฐและเอกชนให้ทำงานที่บ้าน และได้มีการประกาศใช้เคอร์ฟิวอีกครั้งนั้น ทำให้คนไทยใช้เวลาอยู่กับบ้านมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้มีการใช้โซเชียลมีเดียเพิ่มขึ้น ซึ่งรวมถึงเฟซบุ๊กด้วยเช่นกัน
ความนิยม Facebook Group ยังไม่แผ่ว
เฟซบุ๊ก กรุ๊ป (Facebook Group) เป็นฟีเจอร์หนึ่งของเฟซบุ๊กที่ได้รับความนิยมตั้งแต่เมื่อครั้งล็อกดาวน์ปี 2563 มาจนถึงปี 2564 ว่ากันโดยทั่วไปแล้ว เฟซบุ๊ก กรุ๊ป เป็นแหล่งรวมผู้คนที่มีความสนใจในสิ่งเดียวกัน โดยเป็นพื้นที่ให้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้ใช้เฟซบุ๊กกันเอง
แต่สำหรับประเทศไทยนั้น เฟซบุ๊ก กรุ๊ป กลายเป็นพื้นที่ที่ได้มีการพูดคุยกันในวงกว้างเมื่อเกิดสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่งขึ้นมา และหัวข้อในกลุ่มยังเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นสถานการณ์บ้านเมือง ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งได้ด้วยเช่นกัน หนึ่งใน เฟซบุ๊ก กรุ๊ป ที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดในปี 2564 คงหนีไม่พ้น กลุ่ม “โยกย้าย มาส่ายสะโพกโยกย้าย” ซึ่งตอนแรกมีชื่อว่า “ย้ายประเทศกันเถอะ” โดยมีสมาชิกกว่าครึ่งล้านหลังเปิดได้ไม่กี่วัน ปัจจุบันมีสมาชิก 1.1 ล้านราย
“ย้ายประเทศกันเถอะ” เป็น เฟซบุ๊ก กรุ๊ป ที่ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2564 ซึ่งเป็นช่วงที่ไทยเริ่มกลับมาเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อีกครั้ง หลังจากที่ดูเหมือนจะบรรเทาเบาบางลงในช่วงหลายเดือนก่อนหน้า เฟซบุ๊กกลุ่มดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะวัยรุ่นจำนวนมากไม่พอใจกับวิธีของรัฐบาลในการรับมือกับการแพร่ระบาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องวัคซีน เนื่องจากคนไทยได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารของประเทศอื่น ๆ ตามสื่อโซเชียล และเห็นว่าประเทศต่าง ๆ ฉีดวัคซีนให้กับประชาชนไปได้มากแล้ว ขณะที่การฉีดวัคซีนของไทยยังล่าช้ามาก จนทำให้เกิดความคิดอยากย้ายประเทศ หลังจากนั้นไม่นานทางกลุ่มก็ได้เปลี่ยนชื่อกลุ่มเป็น “โยกย้าย มาส่ายสะโพกโยกย้าย” เพื่อลดทอนความแข็งกร้าวของชื่อกลุ่มลง
เนื้อหาในกลุ่มช่วงแรก ๆ นั้นเป็นการแชร์ประสบการณ์ของคนไทยที่ได้เป็นพลเมืองของประเทศต่าง ๆ โดยบอกเล่าประสบการณ์อย่างเป็นกันเองถึงคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเมื่อได้ไปใช้ชีวิตที่ต่างประเทศ ทำให้กลุ่มนี้เป็นที่พูดถึงในวงกว้าง ทั้งบนสื่อออนไลน์และออฟไลน์ และมีสมาชิกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
เมื่อกลุ่มได้รับความนิยมมากขึ้น เนื้อหาก็เริ่มหลากหลายขึ้นด้วย โดยทางผู้ดูแลกลุ่มได้มีการนำกระแสความนิยมของกลุ่มไปต่อยอดด้วย ทั้งจัดรายการสัมภาษณ์คนไทยในต่างประเทศ เชิญติวเตอร์มาสอนภาษาอังกฤษสำหรับนักเรียนนักศึกษาที่ต้องการไปเรียนต่างประเทศและหางานทำหลังเรียนจบ ไปจนถึงประกาศทุนการศึกษาต่าง ๆ
จากตัวอย่างดังกล่าว จึงเห็นได้ว่า เฟซบุ๊ก กรุ๊ป ยังคงเป็นแพลตฟอร์มสำหรับคอนเทนต์ที่ผู้บริโภคหรือผู้ใช้งานใช้เพื่อพูดคุยและแบ่งปันข้อมูลในเรื่องต่าง ๆ หรือ User Generated Content ได้ดี ซึ่งรูปแบบการใช้งานในรูปดังกล่าวจะเกิดขึ้นมา 2-3 ปีแล้ว แต่ก็ยังไม่แผ่วลง
เพราะยุคนี้ผู้บริโภคส่วนหนึ่งจะระแวงคอนเทนต์ที่มาจากอินฟลูเอนเซอร์กันมากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคหันมาถามความคิดเห็นจากผู้ใช้เฟซบุ๊กด้วยกันตามกลุ่มต่าง ๆ ตามที่ตนเองสนใจ เพราะเชื่อว่าคำตอบที่ได้จะจริงใจกว่าFacebook Video กลายเป็นเครื่องมือสร้างรายได้ให้สำนักข่าว
นอกจาก เฟซบุ๊ก กรุ๊ป แล้ว ในฝั่งของสถานีโทรทัศน์เองก็นิยมใช้ เฟซบุ๊ก ไลฟ์ ออกอากาศรายการของสถานีควบคู่ไปกับทางโทรทัศน์ด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างเด่น ๆ เช่น รายการโหนกระแส ซึ่งเชิญแขกมาไลฟ์ประเด็นร้อน ๆ ในสังคมจนทำยอดวิวหลาายครั้งแตะหลักแสนหลักล้าน หรือจะเป็นช่องอื่น ๆ ที่ ไลฟ์ถี่กว่า เช่น Amarin TV HD, ช่อง One31 และ Workpoint
นอกจากการไลฟ์แล้ว การนำเสนอข่าวผ่านคลิปวิดีโอก็ยังถูกนำมาใช้งานอยู่ โดย Facebook Journalism Project ได้ลงบทความเกี่ยวกับ Facebook Page ของข่าวสด (Khaosod – ข่าวสด) ซึ่งยกให้เป็นตัวอย่างความสำเร็จของการเผยแพร่วิดีโอที่สามารถสร้างการมีส่วนร่วมของผู้ชม
ข่าวสดมียอดรับชมวิดีโอรวมทุกคลิปในเฟซบุ๊กได้ 3 พันล้านวิว และมีรายได้เพิ่มขึ้น 165% ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ข่าวสดหันมารายงานข่าวแบบซอฟท์นิวส์ (Soft News) หรือข่าวเบา ๆ สมองมากกว่าข่าวฮาร์ดนิวส์ที่มีเนื้อหาหนัก ๆ (Hard News) เช่น คลิปวิดีโอข่าวการเมือง หรือข่าวด่วนต่าง ๆ เช่น ข่าวน้ำท่วม
โดยข่าวสดเปิดเผยว่า ฮาร์ดนิวส์ ทำเงินได้แค่ช่วงเวลา ณ ขณะใดขณะหนึ่ง แต่เมื่อเวลาผ่านพ้นไปไม่กี่วันกระแสก็จะแผ่วลง ยอดวิวก็จะนิ่ง ๆ จนไม่สามารถทำรายได้ได้แล้ว ส่วน ซอฟท์นิวส์ เช่น ความบันเทิง สัมภาษณ์พิเศษ วิดีโอไลฟ์สไตล์ คลิปสัตว์น่ารัก หรือคลิปแนะนำร้านอาหาร เป็นคอนเทนต์ที่ทำรายได้ได้ตลอดเวลา โดยผลิตคอนเทนต์เพียงครั้งเดียว จะรีโพสต์คอนเทนต์กี่ครั้งก็ได้ จึงทำให้ยอดวิวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
FACEBOOK Bulletin อีกช่องทางสร้างรายได้ให้นักข่าว
ส่วนอีกความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจสำหรับแวดวงนักข่าว คือ การที่เฟซบุ๊กได้เปิดตัวแพลตฟอร์มนักเขียนอิสระชื่อ FACEBOOK Bulletin ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่แยกออกมาจากเฟซบุ๊ก
Bulletin จะมีฟีเจอร์ให้ผู้ใช้งานสมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับข่าวสารอัพเดตจากนักเขียนตามความสนใจของตนเอง และใช้ Facebook Pay เป็นช่องทางชำระเงิน โดย เก็บค่าบริการเพื่อนำมาเป็นรายได้ให้กับนักเขียน ซึ่งนักเขียนหลาย ๆ คนที่ใช้ Facebook Bulletin ก็เป็นนักข่าวด้วยเช่นกัน
FACEBOOK Bulletin เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อปลายมิถุนายน 2564 โดยเริ่มทดลองใช้ในสหรัฐเท่านั้น ปัจจุบัน ทั่วโลกมีนักเขียนและนักข่าวลาออกจากบริษัทสื่อมาทำคอนเทนต์เองเป็นจำนวนมาก ซึ่งในไทยเองก็มีนักข่าวที่ลาออกมาทำข่าวและเผยแพร่บนช่องทางของตนเองมากขึ้นด้วยเช่นกัน ดังนั้น จึงเป็นที่น่าจับตาว่า หากมีการเปิดใช้งาน FACEBOOK Bulletin ในไทย จะได้รับความนิยมหรือไม่
- https://datareportal.com/reports/digital-2021-thailand
- https://datareportal.com/reports/digital-2020-thailand
- https://www.thaipr.net/it/3095131
- https://www.thaipr.net/business/3071212
- https://www.thaipr.net/it/3082558
- https://www.thaipr.net/it/3106520
- https://www.thaipr.net/business/3070847
- https://marketeeronline.co/archives/225859
- https://www.thaipr.net/business/3080640
Topics
More Posts
- แนวโน้มสื่อไทย 2568
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2567
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2566
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2565
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2564
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2563
- Thai Media Trends 2025 (English Version)
- Thailand Media Landscape 2023-2024 (English Version)
- Thailand Media Landscape 2022-2023 (English Version)
- Thailand Media Landscape 2021-2022 (English Version)