อินสตาแกรม (Instagram)
- มกราคม 5, 2565
- ภูมิทัศน์สื่อไทย 2564-2565
ในส่วนของอินสตาแกรมซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่ผู้ใช้งานนิยมใช้ เพื่อแสดงไลฟ์สไตล์และตัวตนของตนเองผ่านรูปภาพที่สวยงามนั้น ในปี 2564 ผู้บริหารสูงสุดของอินสตาแกรมได้ประกาศทิศทางใหม่ว่า อินสตาแกรมจะไม่ใช่แค่แอปพลิเคชันแชร์ภาพเหมือนในยุคแรก แต่จะมีการยกระดับให้เป็นแอปพลิเคชันเพื่อความบันเทิงอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งภาพ เสียง และคลิปวิดีโอสนุก ๆ ดังจะเห็นได้จากการออกฟีเจอร์ใหม่ ๆ เช่น Reels และอัปเกรดฟีเจอร์ Stories และ Reels ให้สามารถใส่เพลงประกอบได้
เปิดตัว Reels รุกแข่งตลาดวิดีโอสั้นที่มาแรง
ทั้งนี้ Reels ถือเป็นฟีเจอร์ที่สะท้อนให้เห็นถึงหมุดหมายใหม่ของอินสตาแกรมได้เป็นอย่างดี หลังจากที่ประกาศตัวว่าจะผลักดันแพลตฟอร์มจากการแชร์รูปไปสู่การเป็นแอปพลิเคชันเพื่อความบันเทิงเต็มระดับ
ด้วยความที่หน้าตาและการใช้งานที่แทบไม่แตกต่างจากติ๊กต็อก จึงมองออกได้ไม่ยากว่าอินสตาแกรมหวังปั้นฟีเจอร์ใหม่ขึ้นมาเพื่อชิงส่วนแบ่งการตลาดคลิปวิดิโอสั้นที่กำลังมาแรง โดย Reels จะเป็นคลิปสั้นความยาวระหว่าง 15-60 วินาทีซึ่งจะแสดงผลในแนวตั้ง โดยสามารถใส่เสียง เอฟเฟกซ์ การตัดต่อ และปรับความเร็วได้ครบจบในฟีเจอร์เดียวการเผยแพร่ Reels จะมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับการตั้งค่าบัญชี โดยหากตั้งค่าบัญชีอิสตาแกรมเป็นส่วนตัว Reels จะแสดงผลเฉพาะกับกลุ่มผู้ติดตามของผู้ใช้งานเท่านั้น แต่หากบัญชีเป็นสาธารณะ อินสตาแกรมจะปรับค่าให้ Reels กระจายตัวออกไปในฟีดของผู้ใช้งานรายอื่น ๆ ได้โดยไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ติดตาม ซึ่งถือเป็นจุดเด่นสำหรับการทำการตลาด ทั้งในแง่ของการโปรโมตสินค้าให้กว้างขึ้น หรือเพิ่มยอดผู้ติดตามด้วยการสร้างคลิปที่ดึงดูดให้คนเข้ามาดูข้อมูลเพิ่มเติมที่บัญชีของครีเอเตอร์ โดยไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินค่าโฆษณาเพื่อบูสต์โพสต์
ทั้งนี้ ผลสำรวจของอินสตาแกรมซึ่งรวบรวมความคิดเห็นของผู้ใช้งานในหลายประเทศทั่วโลกระบุว่า ผู้ใช้งานอินสตาแกรมชื่นชอบคอนเทนต์โปรโมตสินค้าที่มีความสร้างสรรค์ เบาสมอง และที่สำคัญคือต้องมีความจริงใจ ไม่ปรุงแต่งมากจนเกินไป ฉะนั้น การทำภาพหรือคลิปเพื่อโปรโมตสินค้าหรือบริการจึงไม่จำเป็นที่จะต้องใช้อุปกรณ์บันทึกภาพที่มีราคาแพง หรือโปรดักชันยิ่งใหญ่เสมอไป เพราะโพสต์ที่จริงใจและตรงไปตรงมาก็สามารถสร้างความนิยมได้เช่นกัน
อินสตาแกรมร่วมมือกับอุตสาหกรรมดนตรีในไทย ปล่อยฟีเจอร์ใส่เพลงบน Stories-Reels
เพื่อตอกย้ำถึงวิสัยทัศน์ที่ต้องการเป็นแพลตฟอร์มบันเทิงอย่างเต็มรูปแบบ อินสตาแกรมยังได้อัปเกรดฟีเจอร์ Stories และ Reels ให้สามารถใส่เพลงได้ ซึ่งในปี 2564 นับเป็นครั้งแรกที่ผู้ใช้งานในประเทศไทยสามารถใส่เพลงของศิลปินไทยได้โดยไม่ติดปัญหาด้านลิขสิทธิ์อีกต่อไป
ธารินาถ ภัทรเรืองรอง ผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์พันธมิตรด้านความบันเทิงของเฟซบุ๊ก ประเทศไทย ซึ่งดูแลครอบคลุมผลิตภัณฑ์ในส่วนของอินสตาแกรมด้วย ระบุว่า เป้าหมายของแพลตฟอร์มคือการเชื่อมต่อผู้คนเข้าถึงกัน และประสบการณ์ดนตรีจะยิ่งทำให้ผู้คนได้แสดงออกถึงเอกลักษณ์ของตัวเอง และฟีเจอร์ดังกล่าวยังเปิดโอกาสให้ศิลปินสามารถเข้าถึงผู้ฟังได้มากขึ้นอีกด้วย โดยคุณธารินาถ กล่าวว่า
เราทำงานร่วมกับพันธมิตรด้านเพลงและดนตรีเพื่อสร้างโอกาสใหม่ๆ ในการเชื่อมต่อบนโซเชียลให้กับเหล่าศิลปิน นักแต่งเพลง คนรักดนตรี และผู้คนผ่านแอปพลิเคชันในเครือ โดยเฉพาะ เฟซบุ๊กและอินสตาแกรม
ทั้งนี้ เฟซบุ๊กได้ร่วมมือกับหลากหลายบริษัทในอุตสาหกรรมดนตรีของประเทศไทยเพื่อการเข้าถึงคลังดนตรีอย่างถูกต้องตามกฎหมาย รวมถึงบริษัท ลิขสิทธิ์ดนตรี (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่ง ณฐพล ศรีจอมขวัญ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ลิขสิทธิ์ดนตรี (ประเทศไทย) จำกัดได้เปิดเผยว่า
ผมมองว่าปัจจุบัน เฟซบุ๊กและอินสตาแกรมได้กลายมาเป็นส่วนสำคัญในการขยายผลงานให้กับศิลปิน นักแต่งเพลงอย่างมาก เราหวังว่าฟีเจอร์เพลงในเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมนี้จะช่วยให้ศิลปินได้แชร์ผลงานของตัวเองกับแฟนๆ Music creators ได้สร้างสรรค์ผลงานให้ Music lovers ฟังอย่างทั่วถึงมากขึ้น
เปิดฟีเจอร์ซ่อนยอดไลก์ แก้ปัญหากระทบจิตใจวัยรุ่น
ทั้งนี้ อินสตาแกรมระบุว่า ฟีเจอร์ซ่อนยอดไลก์มีขึ้นเพราะต้องการให้ผู้คนให้ความสนใจกับภาพหรือคลิปมากกว่าที่จะมุ่งความสนใจไปยังยอดไลก์
เนื่องจากว่า ยอดไลก์นั้นมีผลต่อสภาพจิตใจของผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียบางส่วน เนื่องจากเป็นตัวชี้วัดถึงความนิยม ความชื่นชอบ และการได้รับความสนใจจากสังคม ซึ่งหากผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียได้ยอดไลก์น้อย ก็อาจจะเกิดความรู้สึกเครียด ด้อยค่า และอาจเปรียบเทียบกับคนอื่น ๆ โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นซึ่งมีแนวโน้มที่น่ากังวลต่อปัญหาดังกล่าวอย่างไรก็ตาม ยอดไลก์ยังนับว่ามีความสำคัญ เนื่องจากผู้ใช้งานอีกส่วนหนึ่งก็ยังนิยมดูยอดไลก์เพื่อประเมินว่าโพสต์หรือคอนเทนต์ใดกำลังเป็นที่นิยม รวมถึงพีอาร์หรือแบรนด์ต่าง ๆ ที่ต้องใช้ยอดไลก์และ Engagement เพื่อประเมินประสิทธิภาพของการทำโฆษณา ด้วยเหตุนี้ หลังจากที่ได้ทำการทดลองอยู่หลายปี อินสตาแกรมจึงเลือกเปิดทางให้ผู้ใช้งานแต่ละคนสามารถเลือกการแสดงผลได้ตามความต้องการ ไม่ว่าจะเป็นการซ่อนยอดไลก์เฉพาะของตัวเอง หรือซ่อนการมองเห็นยอดไลก์ทั้งแพลตฟอร์ม ส่วนครีเอเตอร์เองก็หมดกังวลเพราะถึงแม้จะเลือกซ่อนยอดไลก์ แต่ก็ยังสามารถเข้าไปดูสถิติหลังบ้านได้เช่นเดิม ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่ถือว่าได้ประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย
ทลายข่าวลวงข่าวปลอม เพิ่มลิงก์ให้ความรู้เกี่ยวกับโควิด-19
นอกจากอินสตาแกรมจะถูกใช้งาน เพื่อการแสดงตัวตนผ่านทางไลฟ์สไตล์และการโปรโมตแบรนด์ด้วยภาพสวย ๆแล้ว อินสตาแกรมยังเป็นสื่อที่เข้ามามีส่วนร่วมในการให้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับโควิด-19 โดยในปี 2564 เป็นปีที่ประเทศไทยทยอยฉีดวัคซีนให้กับประชาชน ซึ่งถือเป็นก้าวย่างสำคัญในการเอาชนะการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างไรก็ตาม การต่อสู้กับโควิด-19 นั้นต้องเผชิญกับอุปสรรคหลายประการ รวมถึงข่าวปลอมหรือข่าวลวงที่นำไปสู่กระแสการต่อต้านวัคซีน จนทำประชาชนเกิดความหวาดระแวงและอาจได้รับข้อมูลที่ผิดพลาด ซึ่งแน่นอนว่าโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่ระดับโลกก็ไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหาดังกล่าว
รายงานจากเฟซบุ๊กระบุว่า ทางบริษัทได้ไล่ลบโพสต์ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับโควิด-19 ทั้งบนแพลตฟอร์มของเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมรวมกว่า 20 ล้านโพสต์ทั่วโลกตั้งแต่เริ่มมีการระบาดใหญ่ โดยในส่วนของอินสตาแกรมนั้นได้มีการใช้เทคโนโลยีตรวจจับภาพและข้อความบนโพสต์หรือบน Stories ซึ่งหากพบว่าเป็นคอนเทนต์ที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 หรือการฉีดวัคซีน อินสตาแกรมจะปรากฎลิงก์ศูนย์ข้อมูลโควิด-19 ให้ผู้ใช้งานสามารถกดเข้าไปอ่านได้ โดยเป็นข้อมูลเกี่ยวกับสถานะปัจจุบันของโควิด-19 ที่ถูกต้องแม่นยำและมาจากแหล่งที่เชื่อถือได้เท่านั้น รวมถึงลิงก์ไปยังบัญชีอินสตาแกรมขององค์กรสาธารณสุขที่ได้รับการยอมรับ เช่น องค์การอนามัยโลก (WHO) และกระทรวงสาธารณสุข (Thai.moph) ซึ่งมั่นใจได้ว่าผู้ใช้งานจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง
ภาพรวมการใช้งานที่น่าสนใจ
จากการเพิ่มฟีเจอร์ต่าง ๆ เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานในยุคดิจิทัลอินสตาแกรมเป็นโซเชียลมีเดียจึงเป็นสื่อที่ได้รับความนิยมมาเป็นอันดับที่ 5 ในประเทศไทย รองจากยูทูบ เฟซบุ๊ก ไลน์ และเมสเซนเจอร์ สถิติของ We are Social และ Hootsuite ระบุว่า อินสตาแกรมในไทยมีผู้ใช้งานราว 16 ล้านบัญชี ซึ่งสัดส่วนความนิยมของผู้ใช้งานผู้หญิงจะสูงกว่าผู้ชายอย่างเห็นได้ชัด หรือที่ระดับ 61.7% ต่อ 38.3% สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้หญิงที่ชื่นชอบการถ่ายรูปสวย ๆ และแชร์ไลฟ์สไตล์ของตนเองลงโซเชียลมีเดียนั่นเอง
- ดาต้ารีพอร์ต. 2564. DIGITAL 2021: THAILAND [ออนไลน์] จาก https://datareportal.com/reports/digital-2021-thailand
- บิสสิเนส อินสตาแกรม. 2564. Instagram Business Insights: Push Your Brand’s Creativity [ออนไลน์] จาก https://business.instagram.com/blog/instagram-business-insights-creativity/?ref=instagram_for_business
- ไทยรัฐ. 2564. หัวเรือใหญ่ Instagram พูดชัด Instagram ไม่ใช่แอปแชร์ภาพอีกต่อไป [ออนไลน์] จาก https://www.thairath.co.th/news/tech/2129421
- โพซิชั่นนิ่งแมก. 2564. ‘Instagram’ อัปเดต 6 ฟีเจอร์ใหม่ หวังช่วยลดปัญหา ‘สุขภาพจิต’ [ออนไลน์] จาก https://positioningmag.com/1355835
Topics
More Posts
- แนวโน้มสื่อไทย 2568
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2568
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2567
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2566
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2565
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2564
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2563
- Thai Media Trends 2025 (English Version)
- Thailand Media Landscape 2024-2025 (English Version)
- Thailand Media Landscape 2023-2024 (English Version)
- Thailand Media Landscape 2022-2023 (English Version)
- Thailand Media Landscape 2021-2022 (English Version)