พฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตปี 2564 บ่งชี้ธุรกิจ OTT TV โตต่อเนื่อง
- มกราคม 20, 2565
- ภูมิทัศน์สื่อไทย 2564-2565
สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยได้ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้บริโภค และยังส่งผลต่อพฤติกรรมผู้บริโภคที่ต้องหันมาทำกิจกรรมและหาความบันเทิงภายในที่พักอาศัย ทำให้รูปแบบของความบันเทิงที่สามารถเข้าถึงได้ผ่านทางอินเทอร์เน็ตอย่างแพลตฟอร์ม Over-the-top TV หรือ OTT TV กลายเป็นหนึ่งในทางเลือกที่ได้รับความนิยมและตอบโจทย์ ทั้งในแง่ของการผ่อนคลายความตึงเครียด ความสะดวกสบาย และความปลอดภัย
ผลการสำรวจของ We Are Social เกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลกในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ชี้ให้เห็นว่าจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลกในเดือนกรกฎาคม 2564 เพิ่มขึ้น 257 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 5.7% เมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2563 ขณะที่จำนวนผู้ใช้มือถือเพิ่มขึ้น 117 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 2.3% ในช่วงเวลาเดียวกัน โดยเหตุผลหลัก ๆ ในการใช้อินเทอร์เน็ต ได้แก่ การหาข้อมูล, การติดต่อกับครอบครัวและคนใกล้ชิด และการอัพเดทข่าวสาร…
และยังเผยให้เห็นแนวโน้มที่น่าสนใจที่ว่า ผู้ตอบแบบสำรวจราวครึ่งหนึ่ง (51.6%) ใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อรับชมวิดีโอ ซีรีส์โทรทัศน์ และภาพยนตร์
นอกจากนี้ ผลสำรวจยังชี้ให้เห็นพฤติกรรมการใช้จ่ายเพื่อเข้าถึงเนื้อหาดิจิทัล โดยผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลก 30.7% ระบุว่าได้จ่ายเงินให้กับบริการสตรีมภาพยนต์หรือซีรีส์ในลักษณะเดียวกันกับ Netflix ขณะที่อีก 17.1% จ่ายค่าบริการ เพื่อดาวน์โหลดสื่อบันเทิงเหล่านี้
รายงานระบุว่า ผู้ตอบแบบสำรวจโดยรวม รับชมเนื้อหาวิดีโอออนดีมานด์จาก YouTube มากที่สุด ตามมาด้วย Netflix, Line TV, 3+ และ Viu โดยผู้ตอบแบบสำรวจเกินครึ่ง (55.3%) รับชมวิดีโอออนดีมานด์ทุกวันหรือเกือบทุกวัน (5-6 ครั้งต่อสัปดาห์) และผู้ตอบแบบสำรวจมากถึง 65.6% ใช้โทรศัพท์มือถือในการรับชม
ในด้านพฤติกรรมการรับชมนั้น ผู้ตอบแบบสำรวจ 54.8% ใช้เวลาไปกับรับชมวิดีโอออนดีมานด์บนแพลตฟอร์มออนไลน์ 1-3 ชั่วโมงต่อวัน และเกือบ 1 ใน 3 (29.7%) ใช้เวลารับชมมากกว่า 3 ชั่วโมงต่อวัน สำหรับเนื้อหาของวิดีโอ พบว่า เนื้อหาที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือเนื้อหาที่เคยออกอากาศทางโทรทัศน์แล้วนำมาฉายซ้ำ (Rerun) ตามมาด้วยเนื้อหาที่มีการผลิตเป็นครั้งแรก (Original) สำหรับแพลตฟอร์มนั้น ๆ
นอกจากนี้ รายงานของสำนักงานกสทช. ในหัวข้อ “วิเคราะห์พฤติกรรมการแข่งขันในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์” ประจำไตรมาส 2/2564 ยังชี้ให้เห็นว่า เม็ดเงินโฆษณาผ่านอินเทอร์เน็ตในช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2564 ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 9.5 พันล้านบาท จาก 7.915 พันล้านบาทของช่วงเดียวกันในปี 2563 หรือเพิ่มขึ้น 20% จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้ประกอบการทั้งหลายในอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายผู้ผลิตและผู้ให้บริการเนื้อหารายการ (Content provider) หรือผู้ที่หารายได้จากสปอนเซอร์และการให้พื้นที่โฆษณาสินค้าและบริการ จึงให้ความสนใจกับการพัฒนาแพลตฟอร์ม OTTส่องกระแสการแข่งขันเมื่อผู้ให้บริการหน้าใหม่และเก่าอัดคอนเทนต์ขึ้นแพลตฟอร์มต่อเนื่อง
เมื่อตลาด OTT และสตรีมมิงในไทยยังไปต่อได้ และคอนเทนต์ด้านความบันเทิงเป็นที่ต้องการมากยิ่งขึ้นในช่วงโควิด-19 ผู้ให้บริการด้านคอนเทนต์จึงผลิตและสรรหาคอนเทนต์ที่ถูกใจคนดูขึ้นแพลตฟอร์มกันอย่างไม่ลดละ ขณะที่ผู้ให้บริการรายใหม่จากต่างประเทศก็เห็นโอกาสการเติบโตในตลาดไทยและบุกเข้ามาเปิดให้บริการ ดังนั้น การแข่งขันระหว่างผู้ให้บริการสตรีมมิงทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่จึงน่าจับตา เพราะผู้ให้บริการแต่ละรายต่างให้ความสำคัญกับคุณภาพของคอนเทนต์ ค่าบริการ การทำตลาด และความสะดวกในการใช้บริการมากยิ่งขึ้น
Disney+ Hotstar ชูจุดเด่นภาพยนตร์ค่ายดังและสารคดีระดับโลก
Disney+ Hotstar ได้เข้ามาเปิดให้บริการในไทยเมื่อเดือนมิถุนายน 2564 และถูกมองว่าเป็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม OTT ที่มีความโดดเด่นไม่แพ้ผู้ให้บริการรายเดิม เนื่องจากจุดแข็งด้านคอนเทนต์ที่มีรายการภาพยนตร์และแอนิเมชั่นที่มีฐานผู้ชมที่เหนียวแน่นอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์จากค่าย Marvel หรือแอนิเมชันของดิสนีย์ที่สามารถครองใจเด็ก ๆ ได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตาม ดิสนีย์ไม่ได้ส่งแพลตฟอร์มตัวหลักอย่าง Disney+ บุกตลาดอาเซียนโดยตรง แต่พ่วงมาด้วยชื่อ Hotstar ซึ่งเป็นแพลตฟอร์ม ที่เคยเป็นของ Star India ซึ่งอยู่ในภายใต้ 20th Century Fox อีกทอดหนึ่ง จนกระทั่งเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ The Walt Disney Company เมื่อ Disney เข้าซื้อกิจการของ 20th Century Fox ในปี 2562
การให้บริการใต้ชื่อ Disney+ Hotstar จึงมีข้อจำกัดในบางด้าน เช่น คุณภาพเสียงและการใช้เครือข่าย VPN ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากปัจจัยเรื่องราคา โดยอัตราค่าบริการของ Disney+ ในสหรัฐอยู่ที่ 7.99 ดอลลาร์ (ประมาณ 265 บาท) ต่อเดือน หรือ 79.99 ดอลลาร์ (ประมาณ 2,650 บาท) ต่อปี แต่เมื่ออยู่ภายใต้ชื่อ Disney+ Hotstar แล้ว อัตราค่าบริการจะลดลงมาอยู่ที่เพียง 99 บาทต่อเดือน หรือ 799 บาทต่อปี และหากสมัครใช้บริการกับ AIS ซึ่งเป็นพันธมิตรด้านเครือข่ายของ Disney+ Hotstar ก็จะสามารถใช้บริการได้ราคาพิเศษที่ 49 บาทต่อเดือน หรือ 499 บาทต่อปี
แม้ว่าจะมีราคาถูกกว่า แต่ Disney+ Hotstar ก็ยังนำเสนอคอนเทนต์ที่มีความละเอียดระดับ Ultra HD ให้กับสมาชิกเหมือนกับในแพลตฟอร์มตัวหลัก ทำให้เมื่อเทียบกับคู่แข่งจากฝั่งตะวันตกอย่าง Netflix ที่จำกัดความละเอียดสูงสุดไว้สำหรับแพ็คเกจ 419 บาทต่อเดือนเท่านั้น อัตราค่าบริการของ Disney+ Hotstar ก็จัดว่าอยู่ในระดับจับต้องได้กว่ากันมาก
สำหรับคอนเทนต์ที่นำเสนอในแพลตฟอร์มนั้น คงต้องหยิบยกแถลงการณ์จากโรเบิร์ต เอ. ไอเกอร์ ผู้ทำหน้าที่ประธานบริหารและซีอีโอของบริษัท ที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ของดิสนีย์เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2562 ที่ The Walt Disney Company ประกาศเปิดตัวแพลตฟอร์ม Disney+ ครั้งแรกอย่างเป็นทางการในสหรัฐ แคนาดา และเนเธอร์แลนด์ ซึ่งสรุปจุดเด่นของแพลตฟอร์ม Disney+ ไว้อย่างครบถ้วน
การเปิดตัวแพลตฟอร์ม Disney+ ถือเป็นช่วงเวลาครั้งประวัติศาสตร์ของบริษัทเรา เป็นหมุดหมายของการก้าวไปสู่ยุคแห่งนวัตกรรมและการสร้างสรรค์ แพลตฟอร์ม Disney+ จะมอบประสบการณ์ด้านความบันเทิงชั้นยอด พร้อมนำเสนอคลังภาพยนต์, ซีรีส์ และเนื้อหาออริจินัลเรื่องโปรดของผู้ชมจาก Disney, Pixar, Marvel, Star Wars และ National Geographic
จะเห็นได้ว่า Disney+ ไม่ได้ต้องการที่จะวางตัวในฐานะแพลตฟอร์มที่มีคอนเทนต์จำนวนมากที่สุดหรือหลากหลายที่สุด แต่ภาพยนตร์ทุกเรื่อง ซีรีส์ทุกตอนในแพลตฟอร์ม Disney+ ชูจุดเด่นของความเป็น Disney และเอกลักษณ์เฉพาะตัวของค่ายผู้ผลิตภาพยนตร์อื่น ๆ ที่ดิสนีย์เป็นเจ้าของ ไม่ว่าจะเป็นจักรวาล Star Wars ของ Lucasfilm, ภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโร่ยอดนิยมจากค่าย Marvel ไปจนถึงสารคดีระดับโลกของ National Geographic
iQiyi (อ้ายฉีอี้) ชูโรงซีรีส์จีน เสริมทัพด้วยละครไทย
แพลตฟอร์ม OTT จากจีนรายนี้เริ่มให้บริการในไทยมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 และได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ด้วยการนำเสนอแพ็คเกจค่าบริการหลายระดับที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคหลากหลายกลุ่ม เริ่มต้นจากการเปิดให้รับชมฟรีได้ไม่จำกัดตอนแบบมีโฆษณาคั่น ไปจนถึงแพ็คเกจ VIP ในราคา 15 บาทในเดือนแรก ก่อนจะปรับขึ้นเป็น 119 บาท หรือ 199 บาทในเดือนถัดไป
ในแง่ของคอนเทนต์บนแพลตฟอร์ม iQiyi นั้น มีภาพยนตร์และซีรีส์จากจีนเป็นตัวชูโรง เสริมทัพด้วยละครไทยยอดนิยม รวมทั้งซีรีส์ออริจินัลที่ร่วมทุนสร้างกับผู้จัดไทยซึ่งดูได้ทาง iQiyi เท่านั้น และละครรีรันหลังจากที่มีการออกอากาศทางโทรทัศน์แล้ว ไปจนถึงวาไรตี้โชว์ที่ดึงคนดังมาร่วมเป็นสีสัน
เมื่อช่วงกลางปี 2564 ผ่านศึก ธงรบ ผู้อำนวยการฝ่ายเนื้อหา iQiyi Thailand ได้รับเชิญเป็นหนึ่งในวิทยากรของงาน Multimedia Online Virtual Exhibition 2021 (MOVE) จัดโดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ และได้กล่าวถึงธุรกิจของ iQiyi ในไทยว่า มีการเติบโตขึ้นถึง 8 เท่า และเป็นแอปพลิเคชันที่มียอดดาวน์โหลดสูงสุดในปี 2564
แพลตฟอร์มวิดีโอออนไลน์ iQiyi มีคอนเทนต์ในแต่ละประเภทที่โดดเด่น เริ่มจากปี 2020 นอกจากออริจินัลซีรีส์จีนที่ค่อนข้างแข็งแรงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เราได้ Youth with You 2 ที่ได้เมนเทอร์ลิซ่า BLACKPINK มาร่วมในรายการ ซึ่งเป็นรายการวาไรตี้ที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง และทำให้คนไทยเริ่มรู้จัก iQiyi มากขึ้น
คุณผ่านศึกกล่าว
นอกจากนั้น ต้นปี 2564 iQiyi ประสบความสำเร็จอย่างมากกับละครไทยย้อนหลัง เรื่อง ‘วันทอง’ ซึ่งทำให้ยอดการดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน ขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ในช่วงต้นปี 64 และล่าสุดในส่วนของออริจินัลซีรีส์เกาหลีเรื่องแรก ของ iQiyi เรื่อง‘My Roommate is a Gumiho’ ก็เป็นที่พูดถึงในวงกว้างของกลุ่มคนรักซีรีส์เกาหลีด้วยเช่นกัน
ดังนั้น ความโดดเด่นของ iQiyi จึงไม่ใช่แค่คอนเทนต์จีน แต่กำลังสร้างให้เป็นบ้านของความบันเทิงยอดนิยมแห่งเอเชีย (Home of Beloved Asian Entertainment)ดังที่คุณผ่านศึกได้กล่าวไว้
เราจะไม่หยุดอยู่เพียงเท่านี้ เราจะคัดสรรคอนเทนต์ที่มีคุณภาพ และครอบคลุมทั้งซีรีส์ วาไรตี้ ภาพยนตร์ การ์ตูน จากประเทศจีน เกาหลี ญี่ปุ่น และไทย เพื่อผู้ใช้แพลตฟอร์มของเรา
Bilibili เดินหน้าปั้นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ดึงดูคนรุ่นใหม่
Bilibili เป็นแพลตฟอร์ม OTT จากจีนที่โด่งดังในประเทศตัวเองมานาน และเริ่มเข้ามาให้บริการในไทยเมื่อปลายปี 2563 ผู้ใช้ทั่วไปสามารถรับชมการ์ตูนแอนิเมชันบน Bilibili ได้แบบถูกลิขสิทธิ์โดยไม่มีค่าใช้จ่ายและไม่มีโฆษณาคั่น แต่ในขณะเดียวกันก็สามารถเลือกสมัครสมาชิกเป็น VIP ได้ในราคา 129 บาทต่อเดือน หรือ 1,200 บาทต่อปี เพื่อรับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม เช่น ตัวเลือกซีรีส์แอนิเมชั่นมากกว่า 800 เรื่อง, ความคมชัดระดับ 1080p รวมถึงสามารถรับชมซีรีส์ตอนใหม่ล่วงหน้าก่อนใครได้
ฟีเจอร์หนึ่งที่ทำให้ Bilibili โดดเด่นขึ้นมาในบรรดาแพลตฟอร์ม OTT รับชมฟรีก็คือ การชูคอนเทนต์จากครีเอเตอร์ที่เป็นผู้ใช้ในแพลตฟอร์มเอง (User generated videos หรือ UGV) ด้วยเป้าหมายในการดึงดูดคนรุ่นใหม่ที่ต้องการสร้างสรรค์วิดีโอคอนเทนต์เกี่ยวกับซีรีส์แอนิเมชัน เช่น การแต่งชุดคอสเพลย์, การพากย์เสียงภาษาไทย และการวิเคราะห์เนื้อเรื่อง ให้เข้ามามีส่วนร่วมในแพลตฟอร์มจนเกิดเป็นชุมชนครีเอเตอร์ จนทำให้ Bilibili มีความคล้ายคลึงกับ YouTube มากกว่าแพลตฟอร์ม OTT อื่น ๆ
ความพยายามในการผลักดันครีเอเตอร์รุ่นใหม่ของ Bilibili นั้น นอกจากจะออกมาในรูปแบบฟีเจอร์การใช้แพลตฟอร์มของตัวเองแล้ว ทาง Bilibili ยังได้เปิดตัวโครงการประกวดที่มอบเงินรางวัลมากมาย เช่น “Bilibili Anime Star”, “พากย์อนิเมะลุ้นเงินล้าน” และโครงการ “UP NEXT Animator Award 2021” ที่เปิดเวทีให้แอนิเมเตอร์ชาวไทยได้แสดงฝีมือ พร้อมเปิดทางสู่การก้าวไปเป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานระดับโลก
Viu ก้าวสู่ปีที่ 4 ในสังเวียน OTT ยังโตต่อเนื่อง ด้วยกลยุทธ์ปรับเข้าหาผู้บริโภคท้องถิ่น
Viu เปิดตัวในไทยครั้งแรกเมื่อปี 2560 และเติบโตอย่างต่อเนื่อง ด้วยการปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายในท้องถิ่น โดยตลาดที่สำคัญของ Viu คือ ประเทศไทยและอินโดนีเซีย Viu มีสมาชิกรวมกว่า 49.4 ล้านคนในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งในจำนวนนี้เป็นสมาชิกแบบจ่ายค่าบริการ 7 ล้านคน โดยมีจำนวนผู้ชมเติบโตขึ้น 37% และจำนวนสมาชิกที่จ่ายค่าบริการแบบรายเดือนขยายตัวขึ้น 62%
การปรับตัวเพื่อตอบสนองความต้องการในท้องถิ่นให้ได้มากที่สุด คือ กลยุทธ์ของ Viu ประเทศไทย จากบทสัมภาษณ์กับไทยรัฐออนไลน์นั้น ธวัตวงศ์ ศิลมานนท์ กรรมการผู้จัดการ Viu ประเทศไทย มองว่า ในกรณีของประเทศไทย ความท้าทายประการหนึ่งของตลาด OTT คือปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้บริโภค ซึ่ง Viu รับมือด้วยการเปิดให้รับชมได้ฟรี พร้อมกับนำเสนอบริการเพิ่มเติมอย่างรับชมต่อเนื่องแบบไม่มีโฆษณาและได้ภาพความละเอียดสูงในอัตราค่าบริการต่อเดือนที่ไม่สูงนัก (119 บาทต่อเดือน)
สำหรับจุดเด่นของการเข้าถึงกลุ่มผู้ชมในไทยนั้น นอกจากจะนำเสนอตัวเลือกคำบรรยายภาษาไทยและเสียงพากย์ไทยสำหรับซีรีส์ที่อยู่ในแพลตฟอร์มแล้ว Viu ยังชูเอกลักษณ์ด้วยตัวเลือกเสียงพากย์อีสาน พร้อมดึงตัวนักร้องลูกทุ่งชื่อดังอย่างไผ่ พงศธร, ฝน ธนสุนธร และอื่น ๆ อีกมากมาย มารับบทพระเอกนางเอกของซีรีส์ เพื่อตอบสนองความต้องการด้านความบันเทิงของผู้ชมในท้องถิ่นได้อย่างเต็มที่
โปรโมตบริการให้เข้ากับวิถีชีวิต New Normal ในยุคโควิด-19
ด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปใช้จ่ายทางออนไลน์กันมากขึ้นในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ผู้ให้บริการสตรีมมิงรายต่าง ๆ จึงผนวกแคมเปญการตลาดกับภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องและด้วยความที่การทำธุรกรรมเพื่อชำระเงินออนไลน์เป็นหนึ่งในบริการที่เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงโควิด-19 Viu จึงได้จับมือกับผู้ให้บริการด้านการชำระเงิน ไม่ว่าจะเป็นธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ที่ให้บริการทั้งบัตรเครดิตและบัตรเดบิต หรือ ShopeePay ซึ่งเป็นบริการกระเป๋าเงินออนไลน์ ด้วยการมอบส่วนลดพิเศษสำหรับผู้ใช้บริการ
ขณะที่โควิด-19 ยังส่งผลให้ผู้บริโภคเลือกสั่งซื้ออาหารทางบริการดิลิเวอรี่แทนการรับประทานในร้านกันมากขึ้น ทาง Viu จึงหันมาดึงดูดลูกค้ากลุ่มใหม่ด้วยการชูแคมเปญ “Viu พร้อมบวก” ในช่วงเดือนสิงหาคม 2564 โดย Viu จะช่วยประชาสัมพันธ์ร้านอาหารที่สมัครร่วมโครงการผ่านช่องทางโซเชียลของตัวเอง ขณะเดียวกัน Viu ก็จัดทำถุงพลาสติกใส่อาหารที่พิมพ์รหัสทดลองรับชม Viu Premium ฟรี 5 วัน ที่ลูกค้าจะได้รับเมื่อสั่งอาหารกับร้านในโครงการ ทำให้ Viu สามารถทำแคมเปญ CSR ช่วยเหลือสังคม ควบคู่ไปกับการดึงดูดลูกค้าใหม่ได้ไปพร้อม ๆ กัน
นอกจากนี้ ในการทำแคมเปญโปรโมตที่พุ่งเป้าไปยังผู้ใช้บริการส่งอาหาร ก็ยังมีกรณีศึกษาจากการทำแคมเปญของ Viu สำหรับซีรีส์ Viu Original “BITE ME ส่งร้อน เสิร์ฟรัก” ที่สร้างจากนวนิยายของอิสรีย์ ศิริวรรณกุลธร เจ้าของนามปากกา SAMMON ออกอากาศตอนแรกเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2564 ทางช่อง ONE31 และสามารถรับชมย้อนหลังได้ทาง Viu เท่านั้น
ด้วยความที่ตัวละครหลักในเรื่องทำอาชีพเป็นเชฟและไรเดอร์ส่งอาหาร ซีรีส์นี้จึงมีผู้ให้บริการดิลิเวอรี่รายใหญ่อย่าง LINEMAN รวมถึงแบรนด์เครื่องดื่มอย่างโออิชิ และรถจักรยานยนต์อย่างยามาฮ่าเป็นสปอนเซอร์ โดยไม่ได้มีเพียงการนำสินค้ามาประกอบในฉาก (Product placement) เพียงอย่างเดียว ซึ่งจะเป็นวิธีโฆษณาที่พบเห็นได้ทั่วไปสำหรับซีรีส์ที่ปรากฏในแพลตฟอร์ม OTT แต่ยังมีการทำแคมเปญ “BITE ME ซีรีส์กินได้” ที่เปิดโอกาสให้ผู้ชมสามารถสั่งอาหารจากร้าน “อิ่มเอื้อ” ที่ปรากฏในซีรีส์มาลองชิมได้ โดยมี LINEMAN เป็นผู้ให้บริการเสิร์ฟเมนูประทับใจจากซีรีส์ถึงบ้าน
AIS บุกตลาด OTT ต่อยอดจุดแข็งบริการเครือข่ายโทรคมนาคม
ความนิยมที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของแพลตฟอร์ม OTT ทำให้ผู้ให้บริการโทรคมนาคมอย่าง AIS มองเห็นโอกาสทางธุรกิจ และจากสถิติที่คนไทยมีแนวโน้มใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้น ใช้เวลาไปกับมือถือต่อวันนานมากขึ้น ทั้งยังนิยมใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อรับชมวิดีโอต่าง ๆ นั่นหมายความว่าความต้องการด้านความเร็วของอินเทอร์เน็ตย่อมเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ซึ่งนำมาสู่การต่อยอดธุรกิจ
หนึ่งในพันธมิตร OTT รายใหม่ที่โดดเด่นของ AIS ในปี 2564 คงจะหนีไม่พ้น Disney+ Hotstar ในประเด็นนี้ คุณปรัธนา ลีลพนัง หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าทั่วไปของ AIS ได้ระบุถึงสาเหตุที่ Disney+ Hotstar เลือกเป็นพันธมิตรกับ AIS เนื่องจากปัจจัยเรื่องความครอบคลุมของโครงข่ายของ AIS โดยปรัธนาระบุว่า
เพราะเปรียบโครงข่ายเป็นถนนจะเท่ากับว่าเอไอเอสยืนอยู่บนถนนสายหลักเส้นสำคัญ ๆ สอดรับกับนโยบายของดิสนีย์พลัสที่เน้นการจับมือกับธุรกิจโทรคมนาคมในประเทศนั้น ๆ เพื่อสร้างความแข็งแรง ทั้งด้านการทำตลาด และการชำระเงิน
ด้วยความนิยมของคอนเทนต์บนแพลตฟอร์ม Disney+ Hotstar ประกอบกับการมอบโปรโมชั่นพิเศษที่ทำให้ราคาค่าบริการถูกลงมาเกือบครึ่ง การจับมือเป็นพันธมิตรในครั้งนี้น่าจะช่วยจูงใจให้ผู้บริโภคหันมาใช้บริการอินเทอร์เน็ตของ AIS ได้มาก โดยเฉพาะในส่วนของบริการอินเทอร์เน็ตสำหรับมือถือ
ทั้งนี้ กลยุทธ์ดังกล่าวยังสอดคล้องกับแนวทางที่ผ่านมาของ AIS ที่ได้จับมือกับแพลตฟอร์ม OTT เจ้าอื่น ๆ เพื่อนำเสนอค่าบริการและโปรโมชั่นพิเศษ ให้ผู้บริโภคสามารถรับชมซีรีส์และภาพยนตร์ได้แบบไม่มีโฆษณาคั่นด้วยราคาเริ่มต้นต่ำกว่า 10 บาทต่อวัน รวมถึงให้บริการอินเทอร์เน็ตแบบไม่มีจำกัดสำหรับแอปพลิเคชัน OTT บางแอพ พร้อมกับเปิดช่องทางให้สมัครใช้บริการผ่านมือถือได้อย่างสะดวกสบาย
AIS Play ร่วมกับนาดาวปั้นซีรีส์ “BLACKOUT บาร์ลับไม่มีในโลก” ซีรีส์แนวตั้งตีตลาดผู้ใช้มือถือ
นอกจากจะจับมือเป็นพันธมิตรกับผู้ให้บริการ OTT รายต่างๆ แล้ว AIS เองก็เป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ด้วยเช่นกัน โดยผลักดันออริจินัลซีรีส์ออริจินัลบนแพลตฟอร์มตัวเอง ทั้งจากที่ AIS เป็นผู้ผลิตเอง และซีรีส์ที่ AIS ร่วมสร้างกับค่ายหนังและแพลตฟอร์ม OTT เจ้าอื่น
ออริจินัลซีรีส์ออริจินัลปี 2564 ที่น่าหยิบมาพูดถึงเป็นพิเศษก็คือ “BLACKOUT บาร์ลับไม่มีในโลก” ซึ่งเป็นผลงานที่ AIS Play ร่วมกันสร้างสรรค์กับค่ายนาดาวบางกอก โดยชูจุดเด่นที่ความเป็นซีรีส์แนวตั้งเพื่อให้ผู้ที่รับชมผ่านมือถือได้อรรถรสสูงสุด เริ่มออกอากาศเมื่อช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 นำแสดงโดยวี-วิโอเลต วอเทียร์, แพรว-นฤภรกมล ฉายแสง, โอบ-โอบนิธิ วิวรรธนวรางค์ และ กัปตัน-ชลธร คงยิ่งยง
“ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ใช้บริการมือถืออยู่มากกว่า 90 ล้านราย และประมาณ 52 ล้านราย มีการใช้งาน Mobile Data และเกือบ 100% ของกลุ่มที่ใช้ Data นั้น นิยมดู Content ประเภท VDO Online เป็นอันดับ 1 โดยส่วนใหญ่ รับชมผ่านทาง Social และ Online ส่วนที่เหลือคือ ชมผ่าน VDO Platform หรือ Streaming Provider
“AIS PLAY ในฐานะ Streaming Provider … ให้ความสำคัญกับการยกระดับประสบการณ์การรับชม VDO ของลูกค้า … จึงร่วมกับบริษัท นาดาว บางกอก จำกัด เปิดโปรเจกต์พิเศษครั้งแรกในประเทศไทยกับ “ซีรีส์แนวตั้ง” เรื่องแรก “BLACKOUT บาร์ลับไม่มีในโลก” ซึ่งจะออนแอร์บนโทรศัพท์มือถือ ผ่าน Application AIS PLAY ด้วยลูกเล่นการฉายที่ไม่เหมือนซีรีส์เรื่องใดในโลก กับการถ่ายทำแบบลองเทค ที่จะเหมือนคนดูกำลังเดินตามตัวละครอย่างต่อเนื่องตลอด 20 นาที พร้อมกับเห็นเหตุการณ์เดียวกันใน 4 มุมมอง ตลอด 4 ตอนแรก และซีรีส์ยังถูกออกแบบมาให้คุณสามารถนำโทรศัพท์มือถือ 4 เครื่องมาเรียงต่อกัน เพื่อนำคนดูไปพบกับความรู้สึกใหม่ในการดูซีรีส์ ที่คุณสามารถสนุกเต็มประสบการณ์ได้ยิ่งขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย”ทีวีดิจิทัลรุกผลิตคอนเทนต์ขึ้นแพลตฟอร์ม OTT หวังเพิ่มรายได้-โกอินเตอร์
นอกจากผู้ให้บริการ OTT สตรีมมิง และผู้ให้บริการมือถือจะโดดเข้ามาร่วมวงแล้ว ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลซึ่งถูกดิสรัปด้วยกระแสความนิยมในแพลตฟอร์ม OTT ก็หันมาผลิตคอนเทนต์ขึ้นแพลตฟอร์มเหล่านี้เพื่อเพิ่มช่องทางในการหารายได้ ตลอดจนผลักดันคอนเทนต์สู่สายตาผู้ชมในประเทศต่าง ๆ ไม่จำกัดอยู่เฉพาะในไทย
ตัวอย่างเช่น ช่อง PPTV ซึ่งผลิตละครออกมาหลายเรื่องหลายแนว ก็ส่งคอนเทนต์เข้าแพลตฟอร์ม iQiyi โดยให้ดูละครย้อนหลังได้บนแพลตฟอร์มนี้เท่านั้น
คอนเทนต์จากช่องทีวีดิจิทัลต่าง ๆ ถูกเผยแพร่ทั้งในรูปแบบการฉายแบบชนจอ หรือในเวลาเดียวกันกับการออกอากาศทางทีวี และในรูปแบบการฉายซ้ำหรือรอบรีรัน ซึ่งสอดคล้องกับรายงานของกสทช.ที่ระบุว่า ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจำนวนมากที่ใช้เวลาออนไลน์ไปกับการรับชมวิดีโอนั้น เลือกรับชมการฉายรายการรีรัน
ONEE วางแผนพัฒนาแพลตฟอร์ม OTT
นอกจาก PPTV แล้ว บริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) หรือกลุ่ม ONEE ก็ยกระดับการทำธุรกิจคอนเทนต์ครั้งใหญ่ ถกลเกียรติ วีรวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม ONEE ได้ให้สัมภาษณ์กับ “อินโฟเควสท์” เกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงในส่วนนี้ว่า นอกเหนือจากรูปแบบคอนเทนต์ที่มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วแล้ว พฤติกรรมผู้ชมก็เปลี่ยนแปลงรวดเร็วผ่านช่องทางการรับชมรูปแบบใหม่ ๆ บนแพลตฟอร์มออนไลน์ ส่งผลให้การรับชมสามารถดูย้อนหลังได้ ไม่ถูกจำกัดเหมือนในอดีต ถกลเกียรติกล่าวว่า
บางคนบอกเราโชคร้ายที่ประมูลช่องทีวีดิจิทัลมาได้เมื่อ 7 ปีที่แล้ว แต่โดยส่วนตัวมองว่าเป็นแค่จุดเริ่มต้น เพราะเรามองตัวเองเป็น Content Creator ที่มีประสบการณ์มากกว่าเป็นแค่ช่องทีวีเพียงอย่างเดียว แม้ว่าวันนี้คนที่รับชมทีวีจะลดน้อยลงกว่าในอดีต แต่แพลตฟอร์มทีวีก็ยังมีมูลค่าตลาดที่ใหญ่ และเราเองก็ปรับตัวหันขยายเข้าสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ มากขึ้นเพื่อสร้างรายได้จากคอนเทนต์ของเรา
นอกจากนี้ ถกลเกียรติยังมองว่า ปัจจุบันมีแพลตฟอร์มระดับโลกหลายรายเข้ามาทำตลาดในประเทศไทย เป็นโอกาสผลักดันคอนเทนต์ออกไปสู่สายตาของผู้ชมทั่วโลก ดังนั้น การระดมทุนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯของ ONEE ก็จะนำมาลงทุนพัฒนาคอนเทนต์เพิ่มยกระดับก้าวเข้าไปสู่ระดับโลก ทั้งยังมีแผนนำไปพัฒนาแพลตฟอร์ม OTT ของบริษัทเอง เพื่อนำมาให้ผู้ชมสามารถรับชมคอนเทนต์ย้อนหลังหรือคอนเทนต์ที่ถูกกับกลุ่มเป้าหมายโดยตรง
ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 รายการของกลุ่มเดอะวัน ถูกนำไปเผยแพร่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ครบทั้ง 10 ประเทศ และในภูมิภาคอื่น ๆ อาทิ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน สเปน รวมถึงประเทศต่าง ๆ ในทวีปอเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ และแอฟริกา เป็นต้น
อ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็ม: ONEE เข้าฉากใหม่เวทีตลาดหุ้นวางเป้าใหญ่ดันคอนเทนต์ไทยสู่เวทีโลก
ส.ส.ท. ดัน VIPA by Thai PBS ลงสนามแพลตฟอร์ม OTT
นอกเหนือไปจากการจัดทำคอนเทนต์และพัฒนาแพลตฟอร์มในฝั่งผู้ประกอบการภาคเอกชนแล้ว ช่อง Thai PBS ในสังกัดองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย หรือ ส.ส.ท. ยังได้พัฒนาแพลตฟอร์ม OTT ของหน่วยงานในชื่อ VIPA (Vision – Passion) และเปิดให้บริการอย่างเงียบ ๆ มาตั้งแต่ปี 2562 แต่เพิ่งได้มีการจัดแถลงข่าว VIPA OPEN HOUSE ไปเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2564 เพื่อแนะนำตัวอย่างเป็นทางการสู่สายตาคนไทย พร้อมกับเปิดตัวแอปพลิเคชันในระบบ Android และ iOS
VIPA มุ่งเน้นการนำเสนอคอนเทนต์ที่ Thai PBS เป็นผู้ผลิต โดยเฉพาะรายการสารคดี แต่ในขณะเดียวกันก็มีคอนเทนต์จากพันธมิตรอย่าง Documentary Club ไปจนถึงภาพยนตร์ ซีรีส์จากต่างประเทศ และการ์ตูนแอนิเมชั่น โดยผู้ใช้บริการสามารถรับชมทุกรายการได้ฟรีและไม่มีโฆษณาคั่น ทั้งยังมีบริการเสียงบรรยายภาพ (Audio Description) และคำบรรยายแทนเสียง (Closed Caption) ด้วย
รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการ ส.ส.ท. เปิดเผยถึงเหตุผลในการพัฒนา VIPA ว่า
ในฐานะสื่อสาธารณะ เรามีพันธกิจที่ต้องเข้าถึงคนทุกกลุ่ม ทุกวัย ทุกรสนิยม ทุกความต้องการ และที่สำคัญก็คือ ไม่ว่าจะเข้าถึงได้ยากลำบากแค่ไหน เราก็ต้องพยายามสร้างบริการนั้นให้ไปให้ถึง
VIPA เกิดมาเพื่อตอบโจทย์ตรงนี้ เพราะเรารู้ว่าพฤติกรรมของคนในการเลือกใช้สื่อเริ่มเปลี่ยนไป กลุ่มคนที่อยากได้สื่อเฉพาะตัวของเขาเอง และอยากจะดูได้ทุกที่ทุกเวลามีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ และตัวเลขบอกว่า ผู้ใช้สื่อโซเชียลมีเดียใช้เพื่อดูคอนเทนต์ที่เป็นวิดีโอเกือบ 100%
เราอยากให้ VIPA เป็นสตรีมมิ่งแพลตฟอร์มของคนไทยเพื่อคนไทย และในอนาคต แพลตฟอร์มนี้จะต้องมีคุณภาพที่เทียบกับแพลตฟอร์มทั่วโลกได้ และมากกว่านั้นก็คือ เราอยากให้ VIPA เป็นแพลตฟอร์มที่จะเปิดโอกาสและทำงานร่วมกับผู้ผลิตอิสระ ผู้ผลิตหน้าใหม่ ผู้ผลิตคอนเทนต์รุ่นใหม่ที่อยากเติบโต
การเข้ามาทำตลาดคอนเทนต์ป้อนแพลตฟอร์ม OTT สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามและการปรับตัวเพื่อความอยู่รอด และเข้าถึงกลุ่มผู้ชมที่นิยมดูคอนเทนต์ผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ
ความเคลื่อนไหวส่งท้ายปี 2564 และเแนวโน้มตลาด OTT TV ในไทย
ปี 2564 เป็นปีที่นำมาซึ่งทั้งโอกาสและความท้าทายรอบด้านสำหรับธุรกิจต่าง ๆ แม้ว่าผู้ประกอบการหลายรายจะสามารถคว้าโอกาสดังกล่าวและพัฒนาบริการจนสามารถช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดได้ แต่ผู้ประกอบการที่เคยทำผลงานได้ดีอย่าง ไลน์ทีวี (LINE TV) นั้น กลับต้องโบกมือลาตลาดนี้ไปอย่างน่าเสียดาย
LINE TV ประกาศหยุดให้บริการในไทย โดยไม่เผยสาเหตุ
เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 LINE TV ได้ออกมาประกาศยุติการให้บริการในไทยภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2564 โดยโพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กว่า
“การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้เสมอและตลอดเวลา เช่นเดียวกับที่ LINE TV ประเทศไทย ทีมงานของเราทุกคนขอใช้พื้นที่นี้ ขอบคุณผู้ชมและแฟนคลับทุกท่านสำหรับทุกวิว ทุกไลก์ ทุกคอมเมนต์ รวมถึงพาร์ทเนอร์ทั้งที่เป็นผู้ผลิต ผู้สร้าง ศิลปินและทีมงาน ที่ได้ไว้วางใจและสนับสนุนการเติบโตของ LINE TV เป็นอย่างดีตลอดมา
“ทีม LINE TV ประเทศไทย จะขอจดจำการสนับสนุนและความเอื้อเฟื้อของทุกท่านที่มอบให้เราตลอดไป”
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวได้สร้างความตกตะลึงให้กับผู้ใช้บริการ เนื่องจากก่อนหน้านั้นไม่มีสัญญาณใด ๆ ที่บ่งชี้ว่า LINE TV จะถอนตัวจากตลาด OTT TV ของไทย ในทางตรงกันข้าม จากข้อมูลปี 2563 แสดงให้เห็นว่า LINE TV เป็นผู้ประกอบการที่เติบโตแข็งแกร่งในตลาดนี้ ด้วยจำนวนผู้ชมคอนเทนต์ผ่านแพลตฟอร์มที่เพิ่มขึ้น 45% อีกทั้ง LINE TV ยังได้จับมือกับเป็นพันธมิตร GagaOOLala (กาก้าอูลาล่า) แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งคอนเทนต์ LGBTQ+ และ Boy’s Love จากเอเชีย และแบรนด์ทีวีชื่อดังอย่าง TCL เพื่อเพิ่มช่องทางในการรับชม LINE TV ในจอใหญ่
ทั้งนี้ LINE TV ไม่ได้เปิดเผยถึงเหตุผลเบื้องหลังการตัดสินใจดังกล่าว อีกทั้งยังไม่ได้ชี้แจงถึงแผนจัดการคอนเทนต์ที่อยู่ในแพลตฟอร์ม จึงทำให้เรื่องนี้เป็นประเด็นที่คงต้องติดตามกันต่อไป
แนวโน้ม OTT TV
สำหรับแนวโน้มของธุรกิจ OTT TV ในประเทศไทย “อินโฟเควสท์” ได้มีโอกาสสัมภาษณ์รองศาสตราจารย์พรทิพย์ สัมปัตตะวนิช อาจารย์ประจำคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งได้ให้ความคิดเห็นว่า
“ด้าน OTT TV หรือ Streaming Media มีโอกาสเติบโตเรื่อย ๆ แต่สำหรับตลาดประเทศไทยอาจมีจุดที่น่าเป็นห่วงคือพฤติกรรมผู้บริโภคในประเทศไทยยังคงมีปัญหาด้านการละเมิดลิขสิทธิ์เป็นจำนวนมาก เมื่อสื่อต่างประเทศเจ้าใหญ่ เช่น Netflix, Disney+ Hotstar หรือเจ้าอื่น ๆ เข้ามาลงทุนในตลาดประเทศไทยอย่างจริงจัง อาจจะมีการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ที่เด็ดขาดมากขึ้น แต่ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ก็อาจจะยังคงมีอยู่ หากไม่มีการปลูกฝังค่านิยมการเคารพลิขสิทธิ์ในกลุ่มผู้บริโภคสื่อไทยอย่างทั่วถึง
ในขณะที่ Netflix เป็นบริการ OTT TV เจ้าใหญ่ครองตลาดไทยอย่างชัดเจน น่าสังเกตที่ผู้ให้บริการ OTT TV บางเจ้าอย่าง Amazon Prime ยังไม่เลือกตีตลาดในไทย อาจเป็นเพราะตลาดในประเทศไทยยังไม่ใหญ่มากพอที่ต่างชาติบางเจ้าจะเลือกตัดสินใจลงทุน ส่วนทางผู้ให้บริการจากจีน (WeTV และ iQiyi) และฮ่องกง (Viu) มีการตีตลาดเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ทางผู้จัดรายการโทรทัศน์ไทยอาจไม่สามารถซื้อลิขสิทธิ์รายการจากจีน เกาหลีใต้ ที่ปรากฏอยู่ในบริการ OTT TV เหล่านี้มาฉายทางฟรีทีวีได้อีกแล้ว
OTT TV ยังมอบโอกาสให้ภาคธุรกิจต่าง ๆ สามารถใช้ทำการตลาดหรือโฆษณาทางอ้อม ผ่านการ Tie-in สินค้าหรือบริการแทรกไปในคอนเทนต์ เช่น ตัวละครในซีรี่ส์เลือกใช้สินค้าของแบรนด์ที่มีขายอยู่จริง ฉายให้เห็นชื่อแบรนด์ชัดเจนเพื่อเป็นการโปรโมต แต่สำหรับการลงโฆษณาโดยตรงอาจจะยังไม่สามารถทำได้เนื่องจากกฎระเบียบข้อตกลงของทางผู้ให้บริการ ยกเว้นกลุ่มที่เป็นบริการรูปแบบดูฟรีอย่าง WeTV หรือ Viu ซึ่งอาจมีการฉายโฆษณาแทรกระหว่างการดูวิดิโอ และเชิญชวนให้ผู้บริโภคจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพื่อดูวิดิโอได้อย่างไม่มีโฆษณาแทรก”
อ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็ม >> แนวโน้มสื่อไทยในมุมมอง “รศ.พรทิพย์ สัมปัตตะวนิช” ชี้โควิด-19 ตัวแปรสำคัญของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคสื่อปี 64 ในไทย
- we are social. 2021. DIGITAL 2021: GLOBAL OVERVIEW REPORT [Online] https://datareportal.com/reports/digital-2021-global-overview-report
- คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ. 2563. ผลวิจัยพฤติกรรมการใช้งาน
- แพลตฟอร์มออนไลน์ของคนไทย ปี 2563 [ออนไลน์] https://broadcast.nbtc.go.th/data/academic/file/631200000004.pdf
- คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ. 2564. รายงานวิเคราะห์พฤติกรรมการแข่งขันในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ไตรมาสที่ 2 ปี 2564 [ออนไลน์] https://broadcast.nbtc.go.th/data/academic/file/640600000003.pdf
- The Walt Disney Company. 2019. Disney+ Launches Today—and a New Era of Disney Entertainment Begins [Online] https://thewaltdisneycompany.com/disney-launches-today-and-a-new-era-of-disney-entertainment-begins/
- RYT9. 2564. iQiyi Thailand ร่วมงาน Multimedia Online Virtual Exhibition 2021 (MOVE) โดย กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ [ออนไลน์] https://www.ryt9.com/s/prg/3235787
- RYT9. 2564. รู้จัก Bilibili สตรีมมิ่งแพลตฟอร์มน้องใหม่ พร้อมบุกตลาดไทย ส่งอนิเมะลิขสิทธิ์และคอนเทนต์อื่น ๆ มากมายเอาใจแฟน ๆ [ออนไลน์] https://www.ryt9.com/s/prg/3241728
- ไทยรัฐออนไลน์. 2564. สงครามสตรีมมิง EP.4 Viu คู่แข่งคือมิตร โต 62% สมาชิกเอเชีย 49.4 ล้านคน! [ออนไลน์] https://www.thairath.co.th/scoop/interview/2190391
- ประชาชาติธุรกิจ. 2564. “AIS-ดิสนีย์” เขย่าสตรีมมิ่ง สร้างปรากฏการณ์ใคร ๆ ก็ดูได้ [ออนไลน์] https://www.prachachat.net/ict/news-688758
- สยามรัฐ. 2564. “AIS PLAY” ผนึก “นาดาวบางกอก” ปั้นซีรีส์ “แนวตั้ง” แบบ NEW ที่ไม่ NORMAL กับ “BLACKOUT บาร์ลับไม่มีในโลก” [ออนไลน์] https://siamrath.co.th/n/213418
- อินโฟเควสท์. 2564. IPOInsight: ONEE เข้าฉากใหม่เวทีตลาดหุ้นวางเป้าใหญ่ดันคอนเทนต์ไทยสู่เวทีโลก [ออนไลน์] https://www.infoquest.co.th/2021/133408
- VIPA. 2564. VIPA OPEN HOUSE #คนช่างเลือก (22 ก.ย. 64) [ออนไลน์] https://www.youtube.com/watch?v=ay8A5ax9SfY
- อินโฟเควสท์. 2564. LINE TV เผยคนดูช่วงล็อกดาวน์โตเพิ่มกว่า 45% ปักธงเป็นเจ้าแห่งคอนเทนต์ในตลาดไทย [ออนไลน์] https://www.infoquest.co.th/thailand-media-landscape-2021/ott-tv
Topics
More Posts
- แนวโน้มสื่อไทย 2568
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2568
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2567
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2566
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2565
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2564
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2563
- Thai Media Trends 2025 (English Version)
- Thailand Media Landscape 2024-2025 (English Version)
- Thailand Media Landscape 2023-2024 (English Version)
- Thailand Media Landscape 2022-2023 (English Version)
- Thailand Media Landscape 2021-2022 (English Version)