ความเคลื่อนไหวสื่อทีวีดิจิทัลในรอบปี 2564

วงการทีวีดิจิทัลและทีวีดาวเทียมปี 2564 มีการเปลี่ยนแปลงในหลายแง่มุม ทั้งในเรื่องของวิธีการวัดเรตติ้ง ซึ่งมีกำหนดเปลี่ยนไปใช้วิธีการวัดเรตติ้งแบบใหม่ในช่วงเดือนสิงหาคม 2565 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีความรุนแรงในช่วงไตรมาส 2 จนต้องมีการประกาศล็อกดาวน์ต่อเนื่องและทำให้ประชาชนต้องใช้เวลาอยู่กับบ้านนานมากขึ้น ส่งผลให้มูลค่าเม็ดเงินโฆษณาที่ใช้กับกลุ่มทีวีดิจิทัลนั้นเพิ่มขึ้นถึง 10% เมื่อเทียบรายปี

ในขณะที่ผู้ให้บริการทีวีต่างก็มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็น …

  • บมจ.บีอีซี เวิลด์ ที่ต่อยอดการขายคอนเทนต์ไปต่างประเทศ จนพลิกกลับมาสร้างกำไรได้ 4 ไตรมาสติดกัน
  • TOP News ช่องทีวีดาวเทียมรายใหม่แต่ทีมงานคลุกคลีอยู่ในวงการมานานที่ได้ประกาศเปิดตัวเมื่อปลายปี 2563 ก่อนจะออกอากาศจริงเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ก็ได้ประกาศข่าวใหญ่เรื่องความร่วมมือกับช่อง 5 เพื่อผลิตรายการให้กับช่อง 5 วันละ 7 ชั่วโมง โดยจะเริ่มออกอากาศในปี 2565 นี้
  • ช่องวัน 31 ที่มีคุณบอย ถกลเกียรติ วีรวรรณ เป็นผู้อำนวยการสถานี และเป็น 1 ใน 2 ช่องโทรทัศน์ในเครือจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ก็ได้ประกาศเปิดขายหุ้น IPO ในช่วงปลายเดือนตุลาคม 2564 ก่อนจะเข้าเทรดในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งถือเป็นความเคลื่อนไหวที่น่าจับตาหลังจากที่ทีวีดิจิทัลต้องเผชิญกับผลกระทบจากกระแสดิสรัปชัน รวมทั้งอิทธิพลจากแพลตฟอร์มสตรีมมิงต่าง ๆ

เรตติ้ง 18 ช่องทีวีดิจิทัลช่วง 9 เดือนแรกปี 2564

สำหรับเรตติ้งของช่องทีวีดิจิทัลทั้ง 18 ช่องในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 นั้น พบว่าช่อง 7 ครองความนิยมสูงสุดในกลุ่มผู้ชมทั่วประเทศที่มีอายุ 4 ปีขึ้นไป และกลุ่มผู้หญิงที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป โดยทำเรตติ้งไปได้ 1.518 และ 1.758 ตามลำดับ แต่หากนับในกลุ่มคนเมืองที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปแล้ว ช่อง 3 ครองเรตติ้งสูงที่สุด โดยทำเรตติ้งไปได้ 1.880

อย่างไรก็ตาม มีเพียงช่อง 3 และ 7 เท่านั้นที่สามารถทำเรตติ้งได้มากกว่า 1 ในทุกกลุ่มผู้ชม ขณะที่ทีวีช่องอื่น ๆ ต่างมีเรตติ้งต่ำกว่า 1 ทั้งสิ้น ยกเว้นช่อง Mono29 ที่ทำเรตติ้งไปได้ 1.130 ในกลุ่มคนเมืองที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป

นอกจากนี้ อันดับของแต่ละช่องยังค่อนข้างคงที่ โดยช่อง 3 และ 7 ต่างครองอันดับ 1-2 ในทุกประเภทกลุ่มผู้ชม ขณะที่ Mono29, One31, Workpoint, AmarinTV และไทยรัฐTV อยู่ในอันดับ 3-7 แล้วแต่กลุ่มผู้ชม ขณะที่อันดับตั้งแต่ 12 ลงถึง 18 นั้นคงที่ในทุกกลุ่มผู้ชม

Photo credit: https://www.tvdigitalwatch.com/

สำหรับทีวี 5 อันดับแรกในกลุ่มผู้ชมทั่วประเทศ มีผังรายการคร่าว ๆ ดังนี้

  • ช่อง 7HD นำเสนอรายการข่าวทั้งไทยและต่างประเทศ สลับกับรายการวาไรตี้หลากหลายรูปแบบ เช่น เกมโชว์ ร้องเพลง ทำอาหาร รวมถึงภาพยนตร์จากต่างประเทศในช่วงสุดสัปดาห์
  • ช่อง 3HD มีรายการข่าวทั้งไทยและต่างประเทศ รวมทั้งละครไทยที่หลากหลาย สลับกับรายการวาไรตี้ต่าง ๆ เช่น ทำอาหาร เกมโชว์ ท่องเที่ยว รวมถึง
  • Mono29 คอนเทนต์หลักที่ได้รับความนิยม คือ ซีรีส์ ภาพยนตร์ และสารคดีจากต่างประเทศ นอกจากนี้ยังนำเสนอรายการข่าวทั้งไทยและต่างประเทศ
  • ช่อง One31 มีความโดดเด่นที่ความหลากหลายของรายการ เช่น ละครไทยและรายการวาไรตี้อย่างการประกวดร้องเพลงและเกมโชว์ รวมทั้งรายการข่าวทั้งไทยและต่างประเทศ
  • ช่อง Workpoint นำเสนอรายการข่าวทั้งไทยและต่างประเทศ แต่ช่วงเวลาในการออกอากาศส่วนใหญ่ของช่องจะเป็นรายการวาไรตี้ต่าง ๆ ทั้งเกมโชว์ ทำอาหาร ตลกคาเฟ่ แต่จะเน้นไปที่รายการร้องเพลงเป็นส่วนใหญ่

อย่างไรก็ตาม อันดับเรตติ้งดังกล่าวยังเป็นการใช้วิธีวัดเรตติ้งแบบเก่า ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนไปใช้วิธีนับเรตติ้งแบบข้ามแพลตฟอร์ม (Cross Platform) ตามคำเรียกร้องของกลุ่มผู้ประกอบการทีวี โดยผู้วัดเรตติ้งเจ้าเก่าอย่างนีลเส็น มีกำหนดเริ่มวัดเรตติ้งแบบใหม่ได้ในเดือนสิงหาคม 2565 การวัดความนิยมในการชมรายการแบบใหม่นี้จะเพิ่มกลุ่มตัวอย่างที่ใช้เป็นพื้นฐานพัฒนาเรตติ้งรายการ จากเดิม 9,000 ตัวอย่าง เป็น 13,000 ตัวอย่าง พร้อมทั้งใช้วิธีการวัดเรตติ้งทั้งจากหน้าจอทีวีภาคพื้นดินและหน้าจอของแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยมีผู้ตรวจสอบอิสระที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากลตรวจสอบความเที่ยงตรงและโปร่งใสของการสำรวจความนิยมครั้งนี้โดยตลอด

งบโฆษณาทีวีเพิ่มขึ้น กลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มอัดงบสูงสุด

ในส่วนของเม็ดเงินโฆษณาที่ใช้ไปกับทีวีดิจิทัลนั้น พบว่า ในช่วงเดือนมกราคม-ธันวาคม 2564 มีการใช้งบไปกับการซื้อโฆษณาของทีวีดิจิทัลทั้งหมด 63,662 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1% เมื่อเทียบรายปี โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้เงินไปกับการลงโฆษณามากที่สุดคือ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ตามด้วยกลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคลและเครื่องสำอาง และยานยนต์มาเป็นอันดับ 3

ขณะที่ถ้ามองในแง่การเปลี่ยนแปลงของงบโฆษณาที่ใช้ของอุตสาหกรรมต่าง ๆ แล้ว จะเห็นได้ว่า งบโฆษณากลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นมากที่สุด โดยเพิ่มจากปี 2563 ถึง 38% ตามด้วยกลุ่มร้านค้าปลีกและร้านอาหารเพิ่มขึ้น 20% ขณะที่อาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้น 8%

ด้านกลุ่มอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวนั้นมีการใช้งบโฆษณาที่ลดลงมากที่สุดที่ 59% ตามมาด้วยหน่วยงานราชการหรือภาครัฐ และภาคการเงินการธนาคารต่างใช้งบโฆษณาลดลง 21%

ส่วนบริษัทที่ใช้งบไปกับโฆษณามากที่สุดในปี 2564 คือ บริษัท Unilever ใช้งบไปกับค่าโฆษณาทั้งสิ้น 4,575 ล้านบาท ลดลง 9% เมื่อเทียบรายปี ตามด้วยบริษัท Nestle ใช้งบไปกับค่าโฆษณาทั้งสิ้น 3,002 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% เมื่อเทียบรายปี และ P&G ใช้งบไปกับค่าโฆษณาทั้งสิ้น 2,255 ล้านบาท ลดลง 7% เมื่อเทียบรายปี

บมจ.บีอีซี เวิลด์ ผู้ให้บริการระบบโทรทัศน์ดิจิทัลช่อง 33HD พลิกทำกำไร 4 ไตรมาสติด

ด้านบริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) หรือ BEC เจ้าของ ทีวีช่อง 3 สามารถพลิกกลับมาทำกำไรได้อย่างสวยงามหลังจากเผชิญมรสุมมากมายเมื่อปี 2563 โดยทำกำไรอย่างต่อเนื่องถึง 4 ไตรมาสติดกันตั้งแต่ไตรมาส 3/2563 จนถึงไตรมาส 2/2564 โดยในไตรมาสที่ 2/2564 กำไรสุทธิอยู่ที่ 184.7 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 169.2% จากไตรมาสที่ 2/2563 และเพิ่มขึ้น 33.0% จากไตรมาสที่ 1/2564

รายได้หลัก ๆ ของกลุ่ม BEC นั้น มาจากการขายช่วงเวลาโฆษณา โดยหากนับเฉพาะในไตรมาส 2/2564 นั้น ช่อง 3 มีรายได้จากการขายโฆษณารวมทั้งหมด 1,222.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37.8% จากไตรมาสที่ 2/2563 และเพิ่มขึ้น 4.1% จากไตรมาสที่ 1/2564 คิดเป็น 81.2% ของรายได้รวม

อย่างไรก็ตาม ทางกลุ่ม BEC ยังปรับตัวด้วยการขายลิขสิทธิ์ละครให้กับแพลตฟอร์ม OTT TV ต่างชาติ ซึ่งก็ทำรายได้ให้ได้อย่างมากเช่นกัน เช่น การขายลิขสิทธิ์คอนเทนต์ละครของช่อง 3 ให้กับ WeTV เป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน โดยในปีนี้ขายลิขสิทธิ์ให้กับ WeTV ถึง 4 เรื่อง ได้แก่ “สองเสน่หา” “มนต์รักหนองผักกะแยง” “สร้อยสะบันงา” และ “กะรัตรัก” หลังจากที่ในปี 2563 ได้ขายลิขสิทธิ์ละคร 4 เรื่องให้ออกอากาศแบบ Exclusive ในประเทศไทย ได้แก่ “อกเกือบหักแอบรักคุณสามี”  “ร้อยเล่ห์มารยา” และ “ตราบฟ้ามีตะวัน”

นอกจากนี้ ยังมีการส่งละคร 4 เรื่องขึ้นแพลตฟอร์ม Viu (วิว) ได้แก่ “พราวมุก” “รักนิรันทร์จันทรา” “รตีลวง” และ “เกมปรารถนา” ให้สมาชิก Viu ได้ชมแบบ Exclusive 45 วันก่อนใครหลังออกอากาศทางโทรทัศน์

ขณะเดียวกันช่อง 3 ยังได้มีการประกาศเรื่องการออกอากาศแบบคู่ขนานหรือ Simulcast ละคร 6 เรื่องร่วมกับสตรีมมิงชื่อดังอย่าง Netflix ได้แก่ “ให้รักพิพากษา” “พิศวาสฆาตเกมส์” “Help Me คุณผีช่วยด้วย” “ดวงตาที่สาม” “เกมล่าทรชน” “คุณหมีปาฏิหาริย์” โดยละครทั้ง 6 เรื่องจะทยอยออกอากาศและรับรู้รายได้ในช่วงไตรมาสที่ 3/2564 – ไตรมาสที่ 1/2565

ในขณะที่ธุรกิจดิจิทัลแพลตฟอร์ม (CH3+) นั้น ได้มีการร่วมมือกับบริษัท มิวซ์ อินโนเวชั่น จำกัด (MUZE) ในการสร้างและพัฒนาระบบ OTT TV มาตั้งแต่ต้นปี 2564 รวมถึงมีการปรับแนวทางในการนำเสนอเนื้อหาสาระและความบันเทิงให้มีความทันสมัยและสอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคดิจิทัลมากขึ้น นอกจากนี้ในไตรมาสที่ 2/2564 ยังคงมีการทำเอกซ์คลูซีฟคอนเทนต์สำรับสมาชิก “CH3Plus Premium” หรือ CH3Plus ในระบบบอกรับสมาชิกอีกด้วย ซึ่งรายได้จากการเติบโตของธุรกิจดิจิทัลแพลตฟอร์มรวมกับการขายลิขสิทธิ์ละครไปยังต่างประเทศเฉพาะในไตรมาส 2/2564 นั้นอยู่ที่ 274.4 ล้านบาท หรือคิดเป็น 18.2% ของรายได้รวมของกลุ่ม BEC

JKN ลุยตลาดทีวีดิจิทัล-ดาวเทียม หวังสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน

ในช่วงเดือนเมษายน 2564 บมจ. เจเคเอ็น โกลบอล มีเดีย หรือ JKN ผู้ให้บริการและจำหน่ายลิขสิทธิ์คอนเทนต์ ธุรกิจให้บริการเวลาเพื่อโฆษณาและประชาสัมพันธ์สินค้าทางสถานีโทรทัศน์ และธุรกิจจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ได้ประกาศการเข้าซื้อกิจการช่อง NEW18 และเปลี่ยนชื่อเป็น JKN18 โดยตั้งเป้านำองค์กรก้าวสู่ Content Commerce Company พร้อมขยายฐานผู้ชมจากทีวีดาวเทียมไปสู่ทีวีดิจิทัลและผลักดันการเติบโตกลุ่มธุรกิจ Commerce ด้วยการนำจุดแข็งด้านการผลิตคอนเทนต์รายการ ไม่ว่าจะเป็นรายการข่าวที่นำเสนอประเด็นร้อนผ่านมีพิธีกรชื่อดังให้แก่ผู้ชมตลอดทั้งวัน และรายการคอนเทนต์ซีรีส์ดังที่จะมาสร้างความบันเทิงมาสร้างเรตติ้งให้แก่ช่อง JKN18 ภายใต้เป้าหมายของเรตติ้งที่จะต้องติดอันดับท็อป 10

ช่อง JKN18 เริ่มออกอากาศในวันที่ 5 พฤษภาคม โดยเน้นคอนเทนต์ที่หลากหลายจากแบรนด์ดังระดับโลก ทั้งรายการข่าว สารคดี และซีรีส์จากต่างประเทศ 2564  ชูจุดเด่นของช่องที่รายการข่าวเศรษฐกิจ การเงินและการลงทุน ที่ผลิตรายการด้วยมาตรฐานระดับโลกของ JKN-CNBC และรายการข่าววาไรตี้สุดแซ่บ 4 รายการใหม่ โดยมีสัดส่วนรายการเป็นข่าวสาระ 55% และความบันเทิง 45% ตามกฎเกณฑ์ของ กสทช.

ในด้านรายการข่าว จะเน้นจุดเด่นที่ข่าวเศรษฐกิจและการลงทุนอย่างรายการ ‘Squawk Box’ ล็อคหุ้นรวย และ ‘Halftime Report’ เจาะสนามหุ้น พร้อมรายการข่าวรอบโลกอย่าง ‘รอบโลกกับ JKN-CNBC’ 

ส่วนคอนเทนต์วาไรตี้ จะมุ่งนำเสนอซีรีส์จากหลาย ๆ ประเทศ เช่น ซีรีส์จากเยอรมนีเรื่อง Alarm For Cobra 11 (โคปป้า 11 หน่วยสวาทสาดโคตรกระสุน), ซีรีส์จีนเรื่อง Eagle Flag (แดนสนธยา-ธงพญาอินทรี), ซีรีส์ฟิลิปปินส์ เรื่อง Dolce Amore (ทอรักทักฝัน) และซีรีส์อินเดีย เรื่อง Main bhi Ardhangini (ลวงรัก นางอสรพิษ) รวมถึงสารคดีเกี่ยวกับการเดินทางท่องเที่ยวทั่วโลกอีกมากมาย

ปิดท้ายด้วยรายการวาไรตี้ที่จะมาร่วมเล่าข่าวสารบ้านเมืองอย่าง ‘ก๊วนสาวข่าวแซ่บ’ หรือ ‘ตีข่าวเล่าใหญ่’ ที่จะมาเปิดเผยเรื่องใหญ่ในสังคม

นอกจากนี้ กลุ่ม JKN ยังเดินหน้าด้านธุรกิจ Commerce ด้วยการลุยธุรกิจโฮมช็อปปิ้งและเปิดทางให้บริษัทลูกเข้าถือหุ้นใหญ่ 51% ในบริษัท ไฮ ช็อปปิ้ง จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจทีวีโฮมช็อปปิ้งผ่านช่องทางทีวีดาวเทียม PSI ในช่วงเดือนกันยายน 2564 พร้อมเปลี่ยนชื่อช่องเป็น JKN Hi Shopping โดยสามารถรับชมได้ทาง PSI, GMMZ, INFOSAT, DTV, เจริญเคเบิ้ล, TOT IPTV, AIS Play, 3BB และ LOOX TV Application

การเข้าซื้อหุ้นดังกล่าวเป็นไปเพื่อผลักดันยอดขายสินค้าในกลุ่ม Commerce โดยบริษัทตั้งเป้ายอดขายภายในสิ้นปี 2564 ที่ 100 ล้านบาท พร้อมด้วยการจับมือกับบริษัท ฮุนได โฮมช้อปปิ้ง เน็ตเวิร์ค คอปอเรชั่น จำกัดจากเกาหลีใต้ โดยมีการนำเสนอทั้งผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อสุขภาพและความงาม สินค้าอุปโภค บริโภค เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สินค้าแนวไลฟ์สไตล์ และสินค้าแฟชั่น ที่พร้อมนำเสนอให้กับฐานลูกค้าของช่องจำนวนกว่า 1 ล้านราย

บมจ.เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ ประกาศขาย IPO พร้อมจุดยืนในการเป็น Content Creator

แม้ว่า ทีวีดิจิทัลจะต้องเผชิญกับมรสุมจากดิสรัปชันจนต้องปรับกลยุทธ์ในการผลิตคอนเทนต์และการทำธุรกิจนั้น ความเคลื่อนไหวของบมจ.เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ (ONEE) ซึ่งเป็น Holding Company ที่ถือหุ้นในบริษัทอื่น ๆ เป็นเจ้าของช่องสื่อทั้งออฟไลน์และออนไลน์ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ รวมถึงเป็นเจ้าของทีวีดิจิทัล “ช่อง ONE31″ที่เดินหน้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถือเป็นบทสะท้อนที่ชี้ให้เห็นความพยายามในการเดินหน้าธุรกิจภายใต้จุดแข็งของบริษัทและคอนเทนต์

โดย บมจ.เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ (ONEE) ประกาศเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) โดยเปิดจองซื้อในวันที่ 20-26 ตุลาคม 2564 และเคาะราคา IPO สุดท้ายที่ 8.5 บาทต่อหุ้น พร้อมเข้าซื้อขายใน SET วันที่ 5 พฤศจิกายน 2564

นายอรรณพ เสนะสุทธิพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่การเงินกลุ่ม ONEE เปิดเผยว่า ผลประกอบการ 3 ปีที่ผ่านมา ONEE มีแนวโน้มเติบโตอย่างชัดเจน จากปี 61 รายได้ 4,199 ล้านบาท กำไรสุทธิ 72.58 ล้านบาท ,ปี 62 รายได้ 4,818 ล้านบาท กำไรสุทธิ 227.56 ล้านบาท และปี 63 รายได้ 4,875 ล้านบาท กำไรสุทธิ 657.59 ล้านบาท โดยทำธุรกิจบริหารช่องทีวี (ONE31) เป็นเจ้าของและรับทำการตลาดและเป็นผู้บริหารช่องทีวี GMM25, ธุรกิจบริหารจัดการคอนเทนต์เพื่อนำเสนอผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ รวมถึงการขยายฐานผู้ชมนำคอนเทนต์เข้าไปในต่างประเทศ, ธุรกิจรับจ้างผลิตคอนเทนต์ให้กับแพลตฟอร์มระดับโลก ตัวอย่างเช่น Netflix เป็นต้น รวมถึงธุรกิจการบริหารจัดการศิลปิน, ธุรกิจจำหน่ายสินค้าที่เกี่ยวข้องกับคอนเท้นต์หรือศิลปิน, ธุรกิจวิทยุ และ ธุรกิจอีเวนต์

Photo credit: https://www.theoneenterprise.com/
นายอรรณพระบุว่า รายได้ของ ONEE มาจากธุรกิจทีวีถึง 50% แต่ธุรกิจออนไลน์มีการเติบโตมากที่สุด จากเดิมอยู่ในช่วง 5-10% เพิ่มเป็น 22% อย่างไรก็ตาม ได้วางแผนปรับให้โครงสร้างรายได้มีความสมดุลมากขึ้นใน 5 ปีข้างหน้า โดยตั้งเป้าให้รายได้จากการขายโฆษณามีสัดส่วน 40-45% ส่วนธุรกิจออนไลน์จะมีสัดส่วนประมาณ 25-28% ทางด้านนายถกลเกียรติ วีรวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม ONEE เปิดเผยกับ “อินโฟเควสท์” ว่า

“ต้องยอมรับว่าในช่วง 7 ปีที่ผ่านมาเกิดการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญต่ออุตสาหกรรมทีวีบ้านเรา เพราะนอกเหนือจากรูปแบบคอนเทนต์ที่มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วแล้ว พฤติกรรมผู้ชมก็เปลี่ยนแปลงรวดเร็วผ่านช่องทางการรับชมรูปแบบใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นอีกมากมายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ส่งผลให้การรับชมสามารถดูย้อนหลังได้ ไม่ถูกจำกัดการรับชมเหมือนในอดีต”

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าก่อนหน้านี้ธุรกิจช่องทีวีดิจิทัลจะเกิดการแข่งขันอย่างรุนแรงจนกลายเป็นสงครามราคา (Price War) ค่าโฆษณาเกิดขึ้น แต่เมื่อเข้าสู่ปีนี้พบว่าภาพรวมสถานการณ์ของช่องทีวีดิจิทัลเริ่มเข้าสู่ภาวะสมดุล สะท้อนได้จากผู้ที่อยู่รอดและไม่รอดในอุตสาหกรรม โดยผู้อยู่รอดมีการจัดอันดับเรตติ้งของวงการทีวีอย่างชัดเจน นายถกลเกียรติ เชื่อว่าสถานการณ์นี้น่าจะยังมีให้เห็นต่อเนื่องในปีถัดๆไป แม้ว่าภาพรวมธุรกิจช่องทีวีดิจิทัลอาจไม่ได้เติบโตแบบหวือหวานัก แต่ก็นับเป็นสื่อที่มีความมั่นคงและแข็งแรง ขณะที่ ONEE มีการกระจายเข้าสู่ธุรกิจออนไลน์เพิ่มขึ้นเป็นตัวแปรหลักที่จะสร้างโอกาสเติบโตโดดเด่นในอนาคต

“บางคนบอกเราโชคร้ายที่ประมูลช่องทีวีดิจิทัลมาได้เมื่อ 7 ปีที่แล้ว แต่โดยส่วนตัวมองว่าเป็นแค่จุดเริ่มต้น เพราะเรามองตัวเองเป็น Content Creator ที่มีประสบการณ์มากกว่าเป็นแค่ช่องทีวีเพียงอย่างเดียว แม้ว่าวันนี้คนที่รับชมทีวีจะลดน้อยลงกว่าในอดีต แต่แพลตฟอร์มทีวีก็ยังมีมูลค่าตลาดที่ใหญ่ และเราเองก็ปรับตัวหันขยายเข้าสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ มากขึ้นเพื่อสร้างรายได้จากคอนเท้นต์ของเรา

ส่วนการขยายฐานผู้ชมให้เพิ่มขึ้นนั้น กลยุทธ์สำคัญที่สุดคือการผลิตคอนเท้นต์เพื่อตรงกับกลุ่มเป้าหมายอย่างชัดเจน แตกต่างกับแนวทางในอดีตยกตัวอย่างละครดังมีผู้รับชมกันทั่วประเทศ แต่สมัยนี้คอนเท้นต์ต้องเจาะกลุ่มเป้าหมายแบบเฉพาะเจาะจง ดังนั้นการผลิตคอนเท้นต์ขึ้นมาต้องคิดเสมอว่าเราจะผลิตออกมาเพื่อให้ใครดู และคอนเท้นต์นี้ก็จะถูกขยายฐานผู้ชมได้โดยอัตโนมัติ” นายถกลเกียรติ กล่าว

TOP News จากทีวีดาวเทียมเลือกข้างสู่ทีวีดิจิทัลททบ. 5

อีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ คือ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก (ททบ.5) หรือช่อง 5 ที่ได้ประกาศความร่วมมือในการผลิตข่าวกับ บริษัท กาแล็กซี มัลติมีเดีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด (GMC) เพื่อผลิตข่าวให้ทาง ททบ.5 วันละ 7 ชั่วโมง ร่วมกับทีมบรรณาธิการข่าวช่อง 5 โดยจะเริ่มผังรายการใหม่วันที่ 3 มกราคม 2565  อีกทั้งยังดึง 4 ผู้ประกาศข่าวจากช่อง TOP News มาร่วมเป็นผู้ประกาศข่าว ได้แก่ กนก รัตน์วงศ์สกุล, ธีระ ธัญไพบูลย์, สันติสุข มะโรงศรี และสถาพร เกื้อสกุล โดยผู้ประกาศข่าวดังกล่าว จะมานำเสนอข่าว 4 ช่วงเวลา ได้แก่ 6.00-7.00 น., 12.00-14.00 น., 18.00-20.00 น. และ 20.30-22.30 น. นอกจากนี้ยังมีรายการศาสตร์แห่งสยามวันละ 2 นาที  รวมทั้งอีก 2 รายการวาไรตี้ นำเสนอในวันเสาร์-อาทิตย์ ได้แก่ รายการลายกนกยกสยาม และรายการ ณ ครับ ออกอากาศในช่วง เวลา 16.00-17.00 น.

พลโทรังสี กิติญาณทรัพย์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ททบ.5 ระบุว่า การนำเสนอข่าวของช่อง 5 ในปี 2565 นั้นจะเน้นข่าวที่เป็นความจริงทุกด้าน เจาะลึกรายละเอียด ที่สำคัญไม่สร้างความแตกแยกให้สังคม ไม่เติมเชื้อไฟ ดึงฟืนออกจากกองไฟ เราจะเป็นสื่อหลักที่ไม่ตัดสินว่าใครผิด ใครถูก แต่เสนอข้อมูลให้ครบทุกด้านและประชาชนเป็นผู้ตัดสิน ต้องการพัฒนาข่าว ให้วงการสื่อเป็นที่พึ่งประชาชน ไม่อยากเห็นสื่อแบ่งข้าง เพราะไม่มีประโยชน์

อย่างไรก็ดี TOP News ก็ยังคงเผยแพร่รายการประจำช่องอยู่ โดยมีรายการข่าวตลอดทั้งวันในช่วงวันจันทร์ถึงศุกร์ ส่วนในเสาร์อาทิตย์จะมีข่าวและสารคดีแทรกเป็นช่วง ๆ และเผยแพร่อยู่บนแพลตฟอร์ม อย่าง PSI, INFOSAT, GMMZ, IPM, CSAT, TIK, 3BB, TOT ช่องหมายเลข 77, AIS ช่องหมายเลข 658

อีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ คือ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก (ททบ.5) หรือช่อง 5 ที่ได้ประกาศความร่วมมือในการผลิตข่าวกับ บริษัท กาแล็กซี มัลติมีเดีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด (GMC) เพื่อผลิตข่าวให้ทาง ททบ.5 วันละ 7 ชั่วโมง ร่วมกับทีมบรรณาธิการข่าวช่อง 5 โดยจะเริ่มผังรายการใหม่วันที่ 3 มกราคม 2565  อีกทั้งยังดึง 4 ผู้ประกาศข่าวจากช่อง TOP News มาร่วมเป็นผู้ประกาศข่าว ได้แก่ กนก รัตน์วงศ์สกุล, ธีระ ธัญไพบูลย์, สันติสุข มะโรงศรี และสถาพร เกื้อสกุล โดยผู้ประกาศข่าวดังกล่าว จะมานำเสนอข่าว 4 ช่วงเวลา ได้แก่ 6.00-7.00 น., 12.00-14.00 น., 18.00-20.00 น. และ 20.30-22.30 น. นอกจากนี้ยังมีรายการศาสตร์แห่งสยามวันละ 2 นาที  รวมทั้งอีก 2 รายการวาไรตี้ นำเสนอในวันเสาร์-อาทิตย์ ได้แก่ รายการลายกนกยกสยาม และรายการ ณ ครับ ออกอากาศในช่วง เวลา 16.00-17.00 น.

พลโทรังสี กิติญาณทรัพย์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ททบ.5 ระบุว่า การนำเสนอข่าวของช่อง 5 ในปี 2565 นั้นจะเน้นข่าวที่เป็นความจริงทุกด้าน เจาะลึกรายละเอียด ที่สำคัญไม่สร้างความแตกแยกให้สังคม ไม่เติมเชื้อไฟ ดึงฟืนออกจากกองไฟ เราจะเป็นสื่อหลักที่ไม่ตัดสินว่าใครผิด ใครถูก แต่เสนอข้อมูลให้ครบทุกด้านและประชาชนเป็นผู้ตัดสิน ต้องการพัฒนาข่าว ให้วงการสื่อเป็นที่พึ่งประชาชน ไม่อยากเห็นสื่อแบ่งข้าง เพราะไม่มีประโยชน์

อย่างไรก็ดี TOP News ก็ยังคงเผยแพร่รายการประจำช่องอยู่ โดยมีรายการข่าวตลอดทั้งวันในช่วงวันจันทร์ถึงศุกร์ ส่วนในเสาร์อาทิตย์จะมีข่าวและสารคดีแทรกเป็นช่วง ๆ และเผยแพร่อยู่บนแพลตฟอร์ม อย่าง PSI, INFOSAT, GMMZ, IPM, CSAT, TIK, 3BB, TOT ช่องหมายเลข 77, AIS ช่องหมายเลข 658

อนาคตของทีวีดิจิทัล

รองศาสตราจารย์พรทิพย์ สัมปัตตะวนิช อาจารย์ประจำคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์กับ “อินโฟเควสท์” ว่า อนาคตของทีวีในยุคที่ประชาชนมีทางเลือกในการรับสื่อหลากหลายรูปแบบมากขึ้นนั้น ทำให้ทีวีต้องมีการปรับรูปแบบการนำเสนอ อย่างเช่น คอนเทนต์ต่าง ๆ ของแต่ละช่อง ซึ่งเมื่อก่อนนั้นวงการทีวีของไทยจะใช้วิธีซื้อลิขสิทธิ์รายการจากต่างประเทศมาฉายในประเทศ แต่ในปัจจุบันผู้บริโภคสามารถรับชมตัวรายการจากประเทศต้นทางได้เลย ซึ่งทำให้การซื้อลิขสิทธิ์เข้ามาฉายอาจจะไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป ดังนั้นการที่ทางผู้จัดรายการจะผลิตคอนเทนต์ที่แปลกใหม่และตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคนั้นอาจจะเป็นทางออกที่ดีกว่า

อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่จะคงอยู่ต่อไปคือ การรายงานข่าว เพราะผู้บริโภคจะสามารถรับข่าวสารในประเทศได้จากสื่อในประเทศเท่านั้น แต่ก็ควรจะเปลี่ยนรูปแบบการรายงานไปเน้นที่การรายงานข่าวในรูปแบบของเชิงสืบสวนและตรวจสอบ (Investigative news) เพราะปัจจุบันนั้นผู้รับสารจะรับสารจากหลายทางรวมกันแล้วลงลึกไปที่ข้อมูลที่ตัวเองสนใจ ทำให้การรายงานข่าวแบบ Investigative news ที่มีข้อมูลละเอียด มีความน่าสนใจ และมีความน่าเชื่อถือจะได้รับความนิยมมากกว่าเดิม

ทางด้านนายถกลเกียรติ วีรวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม ONEE มองว่า ในปีนี้ภาพรวมสถานการณ์ของทีวีดิจิทัลเริ่มเข้าสู่ภาวะสมดุล หลังจากก่อนหน้านี้มีการแข่งขันอย่างรุนแรงด้านราคาโฆษณา ภาพรวมทีวิดิจิทัลอาจไม่ได้เติบโตหวือหวามากนัก แต่ก็นับเป็นสื่อที่มีความมั่นคงและแข็งแรง โดยการขยายฐานผู้ชมนั้นต้องผลิตคอนเทนต์ที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมายอย่างชัดเจน เจาะกลุ่มเป้าหมายแบบเฉพาะเจาะจง

อ้างอิง
  • TV Digital Watch. 2564. เรตติ้งช่องทีวีดิจิทัล 9 เดือนปี 64 [ออนไลน์] จาก https://www.tvdigitalwatch.com/rating-9months64/.
  • Ch7HD. 2564. ผังรายการช่อง 7HD [ออนไลน์] จาก https://www.ch7.com/schedule.html.
  • Ch3Thailand. 2564. ผังรายการช่อง 33HD [ออนไลน์] จาก https://www.ch3thailand.com/ผังรายการช่อง3.
  • MONO29 TV. 2564. ผังรายการ [ออนไลน์] จาก https://mono29.com/schedule.
  • One31. 2564. ผังรายการ [ออนไลน์] จาก https://www.one31.net/schedule.
  • Workpoint TV. 2564. ผังรายการ [ออนไลน์] จาก https://www.workpointtv.com/schedule/.
  • กรุงเทพธุรกิจ. 2564. ‘นีลเส็น’ คุมเกม “วัดเรทติ้งทีวีดิจิทัล” กสทช. หนุนงบ 288 ล้านบาท [ออนไลน์] จาก https://www.bangkokbiznews.com/news/954729.
  • TV Digital Watch. 2564. เม็ดเงินโฆษณาทุกสื่อ ปี 2021 [ออนไลน์] จาก https://www.tvdigitalwatch.com/pr-15-01-65/.
  • BEC World. 2564. (แก้ไข) คำอธิบายและวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ ไตรมาสที่ 2 สิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย. 2564 [ออนไลน์] จาก https://www.becworld.com/th/investor-relations/newsroom/set-announcements.
  • Positioning Magazine. 2564. JKN โชว์แผนยุทธศาสตร์ครั้งใหญ่ ซื้อช่องทีวี NEW18 เปลี่ยนชื่อเป็น JKN18 รุกธุรกิจคอมเมิร์ซเต็มสูบ ตั้งเป้า 3 ปีรายได้ 5,000 ลบ. สู่การเติบโตอย่างยั่งยืน [ออนไลน์] จาก https://positioningmag.com/1328526.
  • Positioning Magazine. 2564. เปิดผังรายการสุดเด็ดช่อง JKN18 เตรียมออกอากาศ 5 พ.ค. นี้ [ออนไลน์] จาก https://positioningmag.com/1329804.
  • Positioning Magazine. 2564. JKN เปิดเกมรุกธุรกิจทีวีโฮมช้อปปิ้ง ปรับโฉมเป็น JKN Hi Shopping พร้อมเปิดตัวโลโก้ใหม่ ผนึกกลุ่มฮุนได โฮมช้อปปิ้ง เสริมแกร่ง หวังขยายฐานลูกค้า ดันยอดขายสิ้นปี 100 ล้านบาท [ออนไลน์] จาก https://positioningmag.com/1352746.
  • InfoQuest. 2564. IPOInsight: ONEE เข้าฉากใหม่เวทีตลาดหุ้นวางเป้าใหญ่ดันคอนเทนต์ไทยสู่เวทีโลก [ออนไลน์] จาก https://www.infoquest.co.th/2021/133408.
  • BRAND BUFFET. 2564. ชูจุดยืนเสนอข่าวจริง! ช่อง 5 ดึง 4 ผู้ประกาศ Top News ลงจอวันละ 7 ชั่วโมง ‘เช้า-ดึก’ ประเดิมผัง 3 ม.ค.65 [ออนไลน์] จาก https://www.brandbuffet.in.th/2021/09/tv5-co-news-program-with-topnews/.
  • สำนักงานกสทช. 2564. ข้อมูลสภาพตลาดในกิจการโทรทัศน์ [ออนไลน์] จาก https://www.nbtc.go.th/Services/ข้อมูลสภาพตลาดในกิจการโทรทัศน์.aspx.

Topics

More Posts