ความเป็นเพื่อนของสื่อวิทยุ
- มกราคม 26, 2565
- ภูมิทัศน์สื่อไทย 2564-2565
“ความเป็นเพื่อน” ของสื่อวิทยุยังคงทำให้ผู้บริโภคฟังและและติดตามรายการต่าง ๆ ทั้งแบบบรอดคาสท์และออนไลน์
ไม่ว่าจะเป็นรายการเพลง ข่าว สาระน่ารู้ต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ผู้ฟังใช้เวลาอยู่กับบ้านหรือทำงานจากที่บ้านมากขึ้น วิทยุจึงเป็นหนึ่งในสื่อที่ได้รับความนิยมในไทย ดังจะเห็นได้จากข้อมูลของ คลื่นกรีนเวฟ 106.5 เอฟเอ็ม ที่มียอดการฟังออนไลน์ผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน ในช่วง Work From Home (WFH) ระหว่างเดือนเมษายน-มิถุนายน 2564 สูงขึ้นถึง 43.08% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในสถานการณ์ปกติเมื่อปี 2562 และเติบโตสูงกว่าช่วง WFH เฟสแรกระหว่างเดือนเมษายน-มิถุนายน 2563 อีก 4% นอกจากนี้ ในช่วงเวลา 07.00-18.00 น. ซึ่งเป็นช่วง WFH Hours ยังมียอดผู้ฟังพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากทางรายการได้ปรับโหมดรายการให้อยู่ในรูปแบบของการเป็นเพื่อนของผู้ฟังตัวอย่างของพฤติกรรมการฟังวิทยุดังกล่าว สอดคล้องกับที่รองศาสตราจารย์พรทิพย์ สัมปัตตะวนิช อาจารย์ประจำคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวไว้ว่า “วิทยุ นับว่ายังมีความต้องการจากกลุ่มที่ต้องการเปิดวิทยุฟังระหว่างขับรถ แต่โดยส่วนมากได้ปรับตัวกลายเป็นวิทยุรูปแบบออนไลน์แทนวิทยุแบบดั้งเดิม โดยสื่อประเภทวิทยุมีจุดแข็งที่มี “ความเป็นเพื่อน” สามารถเปิดฟังระหว่างทำกิจกรรมต่าง ๆ เวลาอยู่คนเดียว เมื่อเราต้องการฟังอะไร ผู้จัดรายการจะคัดสรรมาให้ตามที่ต้องการได้ ในภาพรวมนั้นสื่อวิทยุไม่ได้เลือนหายไปจากตลาด เพียงแต่ได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบไปตามยุคสมัยในรูปแบบออนไลน์แทน”
ด้วยการจัดรายการในช่วง WFH ในรูปแบบดังกล่าวนั้น สถานีวิทยุหลายแห่งได้เน้นการจัดรายการให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้ฟัง อย่างเช่น คลื่นกรีนเวฟ 106.5 เอฟเอ็ม ที่จะเน้นเปิดเพลงอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน และยังเพิ่มรายการคุยข่าวเช้าช่วง 7.00-8.00 น. อย่าง Green Morning Show เพื่อดึงดูดจำนวนผู้ฟังรายการให้สูงขึ้น จนแบรนด์สินค้ากลุ่มการเงิน สินค้าอุปโภคบริโภค และกลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ต่างลงโฆษณากับทางรายการเต็มทุกวันและต่อเนื่องจนถึงปลายปี 2564
สมโรจน์ วสุพงศ์โสธร กรรมการผู้จัดการ บริษัท จีเอ็มเอ็ม มีเดีย จำกัด (มหาชน) ผู้บริหาร 3 คลื่นวิทยุในเครือเอไทม์ มีเดีย กล่าวว่า
วันนี้ วิทยุต้องทำให้คนเข้าถึงง่ายที่สุด ยิ่งช่วง WFH คนทำงานอยู่บ้าน ถามว่าถ้าคนส่วนใหญ่จะฟังเพลง หรือ Talk Program เขาก็จะนึกถึงช่องทางออนไลน์อย่างเว็บไซต์หรือโซเชียลมีเดียที่เขาคุ้นเคย เช่น Facebook, YouTube หรือแอปพลิเคชัน เพราะฉะนั้นโจทย์ของเราคือ ทำอย่างไรที่จะขยายการออกอากาศตามช่องทางอื่น ๆ ให้คนเข้าถึงง่ายที่สุด เราถึงจะได้ประโยชน์จากสถานการณ์นี้อย่างแท้จริงตามตัวเลขที่เห็นว่าโตขึ้น...
เจาะกลยุทธ์การขยายฐานผู้ฟังและสร้างรายได้
นอกจากการปรับรูปแบบการนำเสนอรายการให้สอดคล้องกับกลุ่มผู้ฟังในแต่ละสถานการณ์แล้ว การเป็นพันธมิตรกับผู้ให้บริการสตรีมมิงเพลงก็เป็นอีกหนึ่งในกลยุทธ์ของสื่อวิทยุในปัจจุบันที่สามารถขยายฐานผู้ฟังไปสู่กลุ่มผู้บริโภคที่นิยมฟังคอนเทนต์จากสตรีมมิ่งแพลตฟอร์ม อีกทั้งยังช่วยสร้างรายได้เข้ารายการ
หนึ่งในตัวอย่างความสำเร็จของการขยายฐานกลุ่มผู้ฟัง การหารายได้ และการปรับตัวให้เข้ากับพฤติกรรมการฟังวิทยุที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภคก็คือ การที่บริษัท เฟล็กซ์ สเตชั่น จำกัด ผู้ผลิตรายการวิทยุ Flex 104.5 Ultimate Sound of Bangkok ได้จับมือกับ JOOX เปิดตัว Flex 104.5 ใน JOOX Live Radio ซึ่งถูกใจผู้ฟังจนขึ้นอันดับ 1 ใน JOOX ได้ภายในระยะเวลาไม่ถึงเดือน นอกจากนี้ Flex 104.5 ยังมียอด Streaming Top Fan จากทุกช่องทางออนไลน์ทะลุ 3 ล้านคนภายในหนึ่งเดือน
นอกจากนี้ สถานีวิทยุยังสร้างรายได้จากหลากหลายช่องทาง ทั้งการขายสินค้า การขายทัวร์ท่องเที่ยว และการผลิตคอนเทนต์
ยกตัวอย่าง เอไทม์ มีเดีย ที่ได้ขยายความของรายการว่าเป็นมากกว่าวิทยุ หรือ “Beyond Radio” พร้อมต่อยอดสู่ธุรกิจ Content Creator ด้วยการผลิตคอนเทนต์มากมาย รวมทั้งรับจ้างผลิตคอนเทนต์ให้กับสถานีโทรทัศน์ในเครือ GMM ทั้งช่อง GMM 25 และ ONE31 รวมถึงรายการที่ออกอากาศทางช่องอื่น ๆ เช่น ไทยรัฐทีวี ช่อง 32 นอกจากเอไทม์ มีเดีย แล้ว ยังมีบริษัท โอ ช้อปปิ้ง จำกัด (OShopping) ในเครือบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ได้ผนึกกำลังกับบริษัท โรจูคิส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) (KISS) จัดตั้งบริษัท โอทู คิส จำกัด (O2 KISS) เพื่อเปิดโมเดลธุรกิจใหม่ Media Commerce ดำเนินธุรกิจพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อความงามและสุขภาพ ประเดิมด้วย “ชี่” (Qi) ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารรวมสามสมุนไพร ได้แก่ ถั่งเช่า โสมแดง และเห็ดหลินจือ โดยจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ่านทางสื่อต่าง ๆ ในเครือจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ซึ่งรวมถึงทางวิทยุออนไลน์ขณะที่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้ผู้ประกอบกิจการวิทยุขาดรายได้จากกิจกรรมออนกราวด์ เช่น การจัดคอนเสิร์ต หรือการลงพื้นที่เพื่อพบกลุ่มเป้าหมาย อย่างไรก็ดี ทางแกรมมี่มองว่าหลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ธุรกิจ Showbiz จะกลับมามีโอกาสเติบโตอีกครั้ง และบริษัทตั้งเป้าว่าจะขยายธุรกิจนี้สู่ตลาดต่างประเทศด้วย โดยเมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ได้จับมือกับบริษัท วายจีเอนเตอร์เทนเมนต์ อิงค์ (YG) จากเกาหลีใต้ จัดตั้งบริษัท วายจีเอ็มเอ็ม จำกัด (YG”MM) โดยมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาศิลปินใหม่เป็นหลัก ส่วนการจัดคอนเสิร์ตร่วมกันจะขึ้นอยู่กับการเจรจาในอนาคต และในช่วงปลายเดือนกันยายน 2564 วายจีเอ็มเอ็มได้ออกมาประกาศโครงการ YG”MM The 1st Audition เพื่อเปิดรับสมัครเด็กรุ่นใหม่เข้ามาเป็นศิลปินฝึกหัดของค่ายเป็นครั้งแรก
ทั้งนี้ อีกหนึ่งผู้ประกอบกิจการวิทยุรายใหญ่อย่างบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารคลื่นวิทยุชั้นนำ ได้แก่ ลูกทุ่งมหานคร FM 95, คลื่นความคิด FM 96.5, คลื่นข่าว FM 100.5, MET 107, Active Radio FM 99 และ Mellow 97.5 เปิดเผยว่า ในปี 2564 บริษัทมีการปรับแผนธุรกิจเพื่อให้องค์กรสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ หนึ่งในนั้นคือการมุ่งเน้นสร้างรายได้จากการพัฒนาที่ดิน 3 แปลงในย่านรัชดา-พระราม 9 ซึ่งถือเป็นโอกาสดีที่จะได้ขยายธุรกิจให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนในอนาคต
จัดกิจกรรมดึงดูดผู้ฟังยุคดิจิทัล-ร่วมฝ่าวิกฤตโควิด
การสร้างสรรค์กิจกรรมเพื่อดึงดูดผู้ฟังในรูปแบบใหม่ ๆ ให้เข้ากับสถานการณ์ ก็เป็นอีกรูปแบบของการดึงดูดผู้ฟังรายการยุคดิจิทัล ดังตัวอย่างกิจกรรมสะสมคะแนนการฟังของคลื่นวิทยุในเครือ Tero Radio ทั้ง 6 คลื่น ได้แก่ HITZ 955, Eazy FM 105.5, STAR FM, TofuPOP Radio.FM, Rock On Radio.FM และ Rad Radio.FM ซึ่งจัดกิจกรรมสะสมคะแนน เพื่อให้แฟนรายการสามารถสะสมคะแนนจากการฟังรายการของแต่ละคลื่นวิทยุ โดยการฟังรายการออนไลน์อย่างต่อเนื่องทุก ๆ 1 นาที ผู้ฟังจะได้รับ 1 คะแนน และสามารถสะสมคะแนนได้สูงสุดถึง 500 คะแนนต่อวันต่อคลื่นวิทยุ จากการรับฟังผ่านทางแอปพลิเคชัน Tero Radio และเว็บไซต์ของแต่ละคลื่น โดยผู้ฟังสามารถนำคะแนนสะสมที่ได้มาแลกลุ้นรับรางวัลที่ทางรายการจัดเตรียมได้
นอกจากนี้ ท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาด ผู้ประกอบกิจการวิทยุก็ยังได้มีส่วนช่วยเหลือสังคม ด้วยการยื่นมือเข้ามาช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและปลอบประโลมใจในยามยากด้วยการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ยกตัวอย่าง ลูกทุ่งมหานคร FM 95 คลื่นวิทยุที่ครองเรทติ้งอันดับหนึ่ง 16 ปีซ้อน ได้จัดโครงการ “เราช่วยด้วยหัวใจ ถึงไหนถึงกัน” เพื่อฝ่าวิกฤตโควิด-19 รอบสอง เปิดโอกาสให้ผู้ฟังรายการทั่วประเทศสามารถฝากร้านผ่านนักจัดรายการทุกช่วง ซึ่งได้กระแสตอบรับอย่างดีจากแฟนรายการ
ในส่วนของ 3 คลื่นวิทยุในเครือเอไทม์ มีเดีย ได้แก่ กรีนเวฟ 106.5 เอฟเอ็ม, อีเอฟเอ็ม 94 และชิล ออนไลน์ ก็ได้ช่วยเป็นกระบอกเสียงในการประชาสัมพันธ์ข่าวสารต่าง ๆ ของหน่วยงานด้านสาธารณสุขทั่วประเทศ ทั้งเรื่องการรับบริจาคหรือความช่วยเหลือในด้านอื่น ๆ พร้อมเปิดให้ร้านค้าหรือผู้ประกอบการ SME เข้ามาฝากร้านผ่านแฟนเพจของเอไทม์ทั้ง EFM Fanpage, Greenwave Fanpage, Chill FM Fanpage และ Atime Showbiz
เม็ดเงินโฆษณาสื่อวิทยุปรับตัวลดลง
อย่างไรก็ดี แม้ว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะส่งผลให้ผู้บริโภคหันกลับมาเสพสื่อวิทยุมากขึ้น ทั้งเพื่อความบันเทิงและรับฟังข่าวสาร แต่เม็ดเงินโฆษณาที่ใช้กับสื่อวิทยุกลับลดลง เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากวิกฤตโรคระบาด ส่งผลให้ภาคธุรกิจปรับลดการใช้เงินกับสื่อโฆษณา โดยข้อมูลจากบริษัท นีลเส็น (ประเทศไทย) จำกัด แสดงให้เห็นว่า เมื่อเทียบเป็นรายปีแล้ว เม็ดเงินโฆษณาของสื่อวิทยุปรับตัวลงจากแตะหลัก 300 ล้านบาทในปี 2563 สู่หลัก 200 ล้านบาทในปี 2564 และดีดตัวขึ้นเพียงเล็กน้อยในช่วงปลายปี
ปี 2564 ที่ผ่านมา จึงเป็นอีกปีที่ผู้ประกอบกิจการวิทยุพยายามรับมือกับพฤติกรรมการเสพสื่อของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปสู่สื่อออนไลน์มากขึ้นอย่างชัดเจน อีกทั้งยังต้องปรับตัวท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งยังไม่มีที่ท่าว่าจะสิ้นสุดลงในเร็ววันนี้ เพื่อความอยู่รอดและเติบโตต่อไป
- Marketing Oops!. 2564. Work From Home ดันวิทยุเอไทม์พุ่ง กรีนเวฟโต 43% อีเอฟเอ็ม ออนไลน์ ปังไม่แผ่ว ยอด TopFan 13 ล้าน รวมทุกช่องทางโซเชียลมีเดีย [ออนไลน์] จาก https://www.marketingoops.com/news/biz-news/atime-radio-topfan-13-millions/
- สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย. 2564. สื่อวิทยุยังไม่ตายแต่ต้องต่อสู้ดิ้นรน-ปรับตัว [ออนไลน์] จาก https://www.tja.or.th/view/booklet/355745
Topics
More Posts
- แนวโน้มสื่อไทย 2568
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2567
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2566
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2565
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2564
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2563
- Thai Media Trends 2025 (English Version)
- Thailand Media Landscape 2023-2024 (English Version)
- Thailand Media Landscape 2022-2023 (English Version)
- Thailand Media Landscape 2021-2022 (English Version)