โซเชียลมีเดีย
- บทบาทที่โดดเด่นของทวิตเตอร์
- ปรากฏการณ์โซเชียลมีเดีย นักการเมืองแห่ใช้ทวิตเตอร์ดึงคะแนนเสียงจาก New Voter
- “เฟซบุ๊ก” พัฒนาฟีเจอร์ใหม่รองรับอีคอมเมิร์ซ มุ่งช่วยธุรกิจปิดการขายได้ในแพลตฟอร์มเดียว
- Facebook Watch จับมือพันธมิตรผลิตคอนเทนต์ รับกระแสชมวิดีโอบนโซเชียลมีเดีย
- ไลน์ ประเทศไทย มุ่งเป็น “โครงสร้างพื้นฐานชีวิต” ของคนไทย
- “ไลน์” ดัน LINE OA ชิงส่วนแบ่งตลาด SME ไทย
โซเชียลมีเดียเป็นสื่อที่มีความโดดเด่นในไทย และมีบทบาทโดดเด่นอย่างเห็นได้ชัดในปี 2562 ทั้งเฟซบุ๊ก ไลน์ และสื่อที่มาแรงอย่างทวิตเตอร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการจัดการเลือกตั้งเป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปีของประเทศไทยเมื่อเดือนมีนาคม 2562 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งที่มีผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงครั้งแรกถึง 8 ล้านคน
ด้วยความที่ผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงครั้งแรก หรือ New Voter เป็นคนรุ่นใหม่ที่เติบโตมาในโลกดิจิทัล โซเชียลมีเดียจึงมีบทบาทที่โดดเด่นและกลายเป็นช่องทางที่กลุ่มผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงครั้งแรกและผู้ที่สนใจเรื่องการเลือกตั้งใช้ติดตามข่าวสารและแสดงความคิดเห็นในเรื่องการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งทวิตเตอร์ซึ่งฐานผู้ใช้งานหลัก ๆ เป็นกลุ่มเยาวชนในขณะที่ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุก็เป็นอีกกลุ่มที่ใช้งานโซเชียลมีเดียด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะทางเฟซบุ๊กหรือไลน์ส่งผลให้โซเชียลมีเดียกลายเป็น Mass Media ใหม่เทียบชั้นสื่อดั้งเดิมอย่างทีวีและหนังสือพิมพ์ เนื่องจากความรวดเร็วในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร และความหลากหลายของเรื่องราวต่างๆนานาที่ได้มีการนำเสนอ
บทบาทที่โดดเด่นของทวิตเตอร์
ข้อมูลจากไวซ์ไซท์ระบุว่า ยอดผู้ใช้งานทวิตเตอร์เป็นประจำ ณ เดือนพฤษภาคม 2562 อยู่ที่ 9.5 ล้านราย เพิ่มขึ้นถึง 66.7%1 เมื่อเทียบกับตัวเลขยอดผู้ใช้งานทวิตเตอร์ปี 2561 ที่ 5.7 ล้านราย3
คุณชานดาน ดีป เจ้าหน้าที่ฝ่ายขายและพันธมิตรประจำทวิตเตอร์ เอเชียแปซิฟิก เปิดเผยว่า พฤติกรรมของผู้ใช้งานทวิตเตอร์มีลักษณะที่แตกต่างไปจากผู้ใช้งานของแพลตฟอร์มอื่นอย่างมีนัยสำคัญ ถ้าสังเกตจากแฮชแท็กยอดฮิตช่วงปี 2561 เช่น #blacklivesmatter หรือ #metoo ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงประเด็นที่แท้จริง ขณะที่แพลตฟอร์มอื่น ๆ จะพบว่า พฤติกรรมผู้บริโภคมีลักษณะ “Look at me” ผู้คนจะสนใจแต่สิ่งที่ตัวเองชอบ แชร์ภาพถ่าย อาหาร สถานที่ท่องเที่ยวที่ไป แต่ทวิตเตอร์กลับมีลักษณะ “Look at this” มุ่งเน้นและสนใจที่ประเด็น พูดคุยกันถึงสิ่งสำคัญที่กำลังเกิดขึ้น
แม้แต่ประเทศไทยเอง ก็มีลักษณะที่คล้ายคลึงกัน คุณชานดาน ได้ยกตัวอย่าง #RespectLisa แฮชแท็กที่เกิดขึ้นจากกรณีดราม่าของลิซ่า ลลิษา มโนบาล ศิลปิน K-Pop สัญชาติไทย ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์หน้าตา ซึ่งก่อให้เกิดกระแสความไม่พอใจในกลุ่มคนไทย จนเกิดการทวีต 1.8 ล้านทวีตภายในช่วงเวลานั้นๆ หรือ #ฝุ่นละออง ที่มียอดทวีตสูงถึง 8.1 ล้านทวีต ซึ่งสะท้อนให้เห็นเสียงเรียกร้องของประชาชนที่ต้องการให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาจัดการ
เจาะลึกภูมิทัศน์สื่อไทย 2563
- บทนำ
- โซเชียลมีเดีย
- Over-the-Top TV
- ทีวีดิจิทัล
- อินฟลูเอนเซอร์
- เว็บไซต์
- สำนักข่าว
- วิทยุ
- นิตยสาร
- หนังสือพิมพ์
- บทสรุป
ดาวน์โหลดฉบับสรุป
ขณะเดียวกัน ผู้บริหารหญิงของทวิตเตอร์จากสิงคโปร์รายนี้ ยังได้เปิดเผยข้อมูลเชิงสถิติที่น่าสนใจเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้ทวิตเตอร์ของคนไทยว่า ในช่วง 12 เดือนนับจนถึงเดือนสิงหาคม 2562 คนไทยทวีตข้อความสูงแตะ 1.4 พันล้านครั้ง โดยหมวดที่ได้รับความนิยมในการทวีตสูงสุด 3 อันดับแรกสำหรับปี 2562 ในไทย ได้แก่ หมวด Entertainment (ความบันเทิง) ที่นำขึ้นมาเป็นอันดับแรก มียอดทวีตข้อความสูงถึง 63 ล้านครั้ง โดยพฤติกรรมส่วนใหญ่ของผู้ใช้งานจะมีลักษณะเป็นการพูดคุยหลังจากที่ละครเรื่องใดเรื่องหนึ่งจบ การโพสต์คลิปพิเศษ ฉาก ตัวละครที่ชอบ หรือคลิปที่เป็นไฮไลท์ของละครแต่ละตอน คล้ายกับการสรุปย่อให้แก่ผู้ที่ไม่มีเวลาดูละครหรือไม่อยากดูซ้ำ
ขณะที่ข้อความหมวด Beauty (ความงาม) ตามมาเป็นอันดับ 2 โดยมียอดผู้ทวีตข้อความสูงแตะ 56 ล้านครั้ง ผู้ใช้งานส่วนใหญ่จะเข้ามาดูผลิตภัณฑ์หรือสินค้าใหม่ที่ได้มีการเปิดตัว อ่านรีวิวจากประสบการณ์ตรง การวิจารณ์คุณภาพสินค้า รวมถึงขอคำแนะนำจากผู้ใช้งานรายอื่น ๆ และยังพบว่ามีการเข้ามาดูข้อมูลโปรโมชัน และราคาของแบรนด์เช่นกัน ส่วนหมวดข้อความที่ตามชมาเป็นอันดับ 3 ได้แก่ หมวด Foodie (อาหาร) มียอดข้อความ 33 ล้านครั้ง พฤติกรรมของผู้ใช้งานจะคล้ายกับหมวดความงาม เพราะจะเน้นที่การรีวิวอาหาร เครื่องดื่ม สอบถามผลิตภัณฑ์และร้านค้า ขอคำแนะนำ รวมถึงวิพากษ์วิจารณ์สินค้า4
ในฝั่งของแบรนด์ต่าง ๆ ก็เริ่มหันมาทุ่มโปรโมทแบรนด์ในทวิตเตอร์กันมากขึ้น เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมกับสังคมทวิตเตอร์ซึ่งล้วนเป็นกลุ่มเป้าหมายของหลายแบรนด์ด้วยกัน เมื่อเดือนมิถุนายน 2562 ทวิตเตอร์ได้ประกาศ 10 อันดับแบรนด์ชั้นนำในไทยเป็นครั้งแรก โดยวัดจากการมีส่วนร่วมของกลุ่มผู้ใช้ทวิตเตอร์ในช่วงไตรมาสแรกปี 2562 สำหรับแบรนด์ที่ติดอันดับนั้นครอบคลุมหลายกลุ่มสินค้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นโทรคมนาคม อาหาร ของกินของใช้ และสินค้าไอที แบรนด์ที่ติดอันดับดังกล่าว ได้แก่ AIS, Oishi, Watsons, Samsung, MK Restaurants, KBank, 7-Eleven, L’Oreal Paris, Wall’s และ Lays5
การที่ทวิตเตอร์ได้ประกาศ 10 อันดับแบรนด์ชั้นนำในไทยเป็นครั้งแรกนี้ สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ภาคธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้หันมาให้ความสำคัญกับทวิตเตอร์มากขึ้น เพื่อใช้แพลตฟอร์มนี้โปรโมทผลิตภัณฑ์และบริการของแบรนด์ และสร้างการมีส่วนร่วมกับกลุ่มเป้าหมายในลักษณะที่เป็นกันเองและทันใจกว่า
ปรากฏการณ์โซเชียลมีเดีย นักการเมืองแห่ใช้ทวิตเตอร์ดึงคะแนนเสียงจาก New Voter
ปี 2562 เป็นปีที่สะท้อนให้เห็นถึงการปรากฎการณ์ของการใช้งานทวิตเตอร์ในไทยอีกรูปแบบ จากเดิมที่ทวิตเตอร์ถูกใช้งานในกลุ่มเยาวชนที่นิยมนักดนตรีและดาราเกาหลีใต้ รูปแบบการใช้งานและปริมาณการใช้ทวิตเตอร์ได้เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญช่วงการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 เช่นเดียวกับโซเชียลมีเดียประเภทอื่น ๆ
ในช่วงก่อนการเลือกตั้งนั้น พรรคการเมืองทั้งพรรคเก่าและพรรคใหม่ต่างหันมาโปรโมทพรรคของตนผ่านทางสื่อโซเชียลมากขึ้น โดยเฉพาะบนเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ ไม่ว่าจะในนามของพรรคหรือเปิดบัญชีในชื่อของตนเอง ซึ่งนักการเมืองต่างกำหนดคอนเทนต์ที่ต้องการนำเสนอได้ด้วยตนเอง และทราบผลตอบรับได้ทันทีจากคอมเมนต์ของแฟนคลับและกลุ่มผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงครั้งแรก
โซเชียลมีเดียที่ถูกนำมาใช้ได้อย่างโดดเด่น ได้แก่ พรรคอนาคตใหม่ ซึ่งก่อตั้งพรรคขึ้นเมื่อปี 2561 แต่กลับเป็นที่พูดถึงบนสื่อโซเชียลมากพอ ๆ กับพรรคเก่าแก่ที่ก่อตั้งมานานอย่างพรรคประชาธิปัตย์และเพื่อไทย
จุดเริ่มต้นที่ทำให้พรรคอนาคตใหม่เริ่มมีพื้นที่บนสื่อโซเชียลมากขึ้นนั้นมาจากแฮชแท็ก #ฟ้ารักพ่อ บนทวิตเตอร์ เมื่อนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งขณะนั้นเริ่มมีชื่อเสียงในกลุ่มวัยรุ่นแล้วเพราะสมาชิกพรรคส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักการเมืองที่มีอายุไม่มากนัก ได้ไปร่วมงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ และถูกแฟนคลับขอถ่ายรูป ในระหว่างนั้นมีแฟนคลับพูดขึ้นว่า “ฟ้ารักพ่อ” จนกลายเป็นแฮชแท็กเดียวกันในทวิตเตอร์ คำว่า “ฟ้ารักพ่อ” มาจากละครเรื่องดอกส้มสีทอง ซึ่งนางเอกชื่อ “ฟ้า” เรียกแฟนที่ภูมิฐานและอายุมากกว่าว่า “พ่อ” โดยในกรณีของนายธนาธรนั้น แฟนคลับมองว่าตนเองคือ “ฟ้า” และนายธนาธรคือ “พ่อ” เพราะมีภาพลักษณ์เป็นนักธุรกิจหน้าตาดีและมีฐานะในสังคม
จากนั้นมีแฟนคลับบนทวิตเตอร์หลายรายเรียกร้องให้นายธนาธรทวีตตอบกลับมาบ้าง นายธนาธรได้ใช้ทวิตเตอร์ส่วนตัวตอบกลับว่า “พ่อก็รักฟ้า” จนกลายเป็นแฮชแท็กยอดนิยมด้วยเช่นกัน ส่งผลให้ทั้งแฮชแท็ก #ฟ้ารักพ่อ และ #พ่อก็รักฟ้า ติดอันดับ 1 และ 2 ของทวิตเตอร์ประเทศไทยทันที ทั้งยังก่อให้เกิดแฮชแท็กใหม่ ๆ อีกมากมาย เช่น #ฟ้ารักพ่อเพราะนโยบายของพ่อ #ฟ้าไม่ได้ยุติบทบาท #ทากันแดดให้ธนาธร แต่ก็มีแฮชแท็กที่ต่อต้านนายธนาธรด้วยเช่นกัน เช่น #พ่อหลอกฟ้า
นอกจากจะติดอันดับแฮชแท็กยอดนิยมแล้ว จุดเริ่มต้นดังกล่าวยังทำให้แฟนคลับของนายธนาธรเรียกตัวเองว่า “ฟ้า” จนแพร่หลายไปทุกแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย และกลายเป็นชื่อเรียกแฟนคลับของนายธนาธรอย่างเป็นทางการ
ด้านพรรคการเมืองเก่าแก่อย่างพรรคเพื่อไทยก็หันมาให้ความสำคัญกับโซเชียลมีเดียด้วยเช่นกัน โดยพรรคเพื่อไทยเคยจัดอบรมให้กับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสังกัด เพื่อใช้โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางเข้าถึงประชาชนมากขึ้น ซึ่งเป็นการปรับกลยุทธ์หาเสียงครั้งสำคัญ จากที่เมื่อก่อนเน้นหาเสียงผ่านป้ายคัตเอาต์ ใบปลิว และการขึ้นเวทีปราศรัย
คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางหาเสียงที่เข้าถึงประชาชนได้มากกว่า พร้อมเชิญชวนให้ส.ส. และสมาชิกพรรคเปิดบัญชีโซเชียลมีเดียเป็นของตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งทวิตเตอร์เพราะเป็นช่องทางที่เข้าถึงประชาชนได้ง่ายและรวดเร็ว ทั้งยังสร้างการมีส่วนร่วมกับชาวโซเชียลได้อย่างใกล้ชิด11 ขณะที่ทางทีมงานทวิตเตอร์ประเทศไทย ก็ได้มาบรรยายการใช้ทวิตเตอร์ให้กับสมาชิกพรรคเพื่อไทยด้วยเช่นกัน ซึ่งนับเป็นความพยายามที่จริงจังของพรรคเพื่อไทยในการหาเสียงผ่านโซเชียลมีเดีย12
ความพยายามของทั้งสองพรรคในการหาเสียงบนทวิตเตอร์นั้นได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดี โดย ณ เดือนพฤศจิกายน 2562 พรรคอนาคตใหม่มียอดผู้ติดตามประมาณ 236,100 คน ขณะที่พรรคเพื่อไทยมียอดผู้ติดตามประมาณ 137,600 คน เมื่อเทียบกับอีก 2 พรรคใหญ่อย่างพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีผู้ติดตามประมาณ 60,000 คน และพรรครัฐบาลอย่างพรรคพลังประชารัฐซึ่งมีผู้ติดตามเพียงประมาณ 2,100 คน
แต่อีกตัวเลขที่น่าสนใจคือยอดผู้ติดตามบัญชีโซเชียลมีเดียส่วนตัวของนักการเมือง ซึ่งพบว่าสูงกว่ายอดผู้ติดตามบัญชีของพรรคเสมอ โดยยอดผู้ติดตามบัญชีทวิตเตอร์ส่วนตัวของนายธนาธร หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ อยู่ที่ประมาณ 655,000 คน ส่วนยอดผู้ติดตามบัญชีคุณหญิงสุดารัตน์ของพรรคเพื่อไทย อยู่ที่ประมาณ 175,000 คน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าคนยังติดตามที่ตัวนักการเมืองมากกว่าที่จะติดตามพรรค
แม้ยอดผู้ใช้งานทวิตเตอร์ในไทยจะพุ่งสูงขึ้นมาก แต่การใช้งานทวิตเตอร์ในไทยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น เท่ากับว่าทวิตเตอร์ยังมีโอกาสเติบโตอยู่อีกมาก ซึ่งยังต้องติดตามกันต่อไปว่าทวิตเตอร์จะสามารถครองความนิยมนี้ต่อไปได้หรือไม่
ขณะที่ทวิตเตอร์โดดเด่นมากขึ้นเรื่อยๆ เฟซบุ๊ก และไลน์ ก็ยังเป็นสื่อที่ถูกใช้งานอย่างต่อเนื่อง ด้วยการออกฟีเจอร์และบริการใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้งานสื่อในไทยมีส่วนช่วยสนับสนุนให้มีการใช้งานมากยิ่งขึ้น
“เฟซบุ๊ก” พัฒนาฟีเจอร์ใหม่รองรับอีคอมเมิร์ซ มุ่งช่วยธุรกิจปิดการขายได้ในแพลตฟอร์มเดียว
จากการที่เฟซบุ๊กได้ให้ความสำคัญกับประเทศไทย และผู้บริโภคในไทยยังคงนิยมใช้งานเฟซบุ๊ก เฟซบุ๊กจึงต่อยอดฟีเจอร์และบริการต่างๆที่ตรงตามความต้องการใช้งานในไทย หลังจากที่ได้จัดอันดับให้ไทยอยู่ใน Tier 1 เรื่อง Conversational Commerce7 เพราะมีไม่กี่ประเทศที่ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กแชทคุยกับคนแปลกหน้าและกล้าโอนเงินให้แม้ว่าจะไม่ได้รู้จักตัวตนจริง ๆ
ฟีเจอร์หนึ่งที่ได้ต่อยอดและมีการใช้งานในไทยแล้วคือ Request Payment ซึ่งช่วยให้ผู้ใช้บริการหรือลูกค้าแชทกับพ่อค้าแม่ค้าผ่าน Messenger ยืนยันออเดอร์ ชำระเงิน และแจ้งการชำระเงินได้โดยไม่ต้องกดออกจากแอปแต่อย่างใด ซึ่งทำให้ปิดการขายได้เร็วและลูกค้าสะดวกสบายยิ่งขึ้น ส่วนอีกเครื่องมือหนึ่งที่เฟซบุ๊กกำลังพัฒนาและมีความน่าสนใจ คือฟีเจอร์ดูแลความสัมพันธ์ลูกค้า (CRM) ซึ่งใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลผู้ใช้งานที่เฟซบุ๊กเก็บไว้อยู่แล้ว ทั้งยังมีการพัฒนาฟีเจอร์ Broadcast ข้อความในลักษณะคล้าย ๆ ที่มีอยู่ในไลน์ ตลอดจนเครื่องมือยิงโฆษณาเจาะกลุ่มลูกค้าที่เคยใช้บริการไปแล้ว
คุณภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการบริหารและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ TARAD.com หนึ่งในผู้นำด้านอีคอมเมิร์ซของไทย ได้เปิดเผยแนวโน้มที่น่าสนใจเกี่ยวกับการทำอีคอมเมิร์ซบนเฟซบุ๊กในไทย นั่นคือ Facebook Group ซึ่งเป็นคอมมูนิตี้ที่เป็นแหล่งรวมคนที่มีความคิดคล้าย ๆ กัน มีความสนใจเหมือน ๆ กันมาอยู่ด้วยกัน นั่นหมายความว่า เป็นแหล่งรวมลูกค้ากลุ่มเดียวกัน จึงทำให้พ่อค้าแม่ค้าสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าตามความต้องการได้ตรงเป้ามากขึ้น นอกจากนี้ Facebook Live ยังเป็นอีกปรากฏการณ์สำคัญ โดยคุณภาวุธระบุว่า “การไลฟ์ หรือการถ่ายทอดสด ได้เข้ามาเปลี่ยนวิธีคิดในการทำอีคอมเมิร์ซไปอย่างสิ้นเชิง จากเดิมที่การทำอีคอมเมิร์ซจะไม่ใช่แบบเรียลไทม์ ไม่พบกับลูกค้าตรง ๆ แต่การทำไลฟ์เปิดโอกาสให้พ่อค้าแม่ค้าเจ้าของสินค้าสื่อสารกับผู้บริโภคได้เลย พอไลฟ์แล้วจะสามารถพูดคุยและสังเกตได้ว่าลูกค้าต้องการแบบใด ทำให้โน้มน้าวลูกค้า และสามารถปิดการขายได้ไม่ยาก”8
Facebook Watch จับมือพันธมิตรผลิตคอนเทนต์ รับกระแสชมวิดีโอบนโซเชียลมีเดีย
ฟีเจอร์ที่ได้รับความนิยมของเฟซบุ๊กมากที่สุดในปี 2561 คือ Facebook Watch และยังคงมาแรงต่อเนื่องในปี 2562 ส่งผลให้ประเทศไทยขึ้นแท่นเป็น Top 10 ของประเทศที่มียอดผู้ชมวิดีโอมากที่สุดติดอันดับโลก10
Facebook Watch จึงได้ประกาศเป็นพันธมิตรกับบริษัทผู้ผลิตคอนเทนต์ยักษ์ใหญ่ของไทย 5 รายอย่างเวิร์คพอยท์ บีอีซี ช่องวัน (One 31) เซ้นส์ เอนเตอร์เทนเมนท์ และวู้ดดี้เวิลด์ เพื่อนำเสนอรายการต่าง ๆ จากบริษัทเหล่านี้ลง Facebook Watch ไม่ว่าจะเป็นคอนเทนต์เกี่ยวกับละคร รายการตลก เกมโชว์ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นคอนเทนต์ขนาดยาว เมื่อเทียบกับคลิปวิดีโอสั้น ๆ ที่นิยมแชร์กันทั่วไป เช่น คลิปทำอาหาร หรือคลิปสัตว์น่ารัก
การเป็นพันธมิตรดังกล่าวช่วยสนับสนุนให้ผู้ผลิตคอนเทนต์ในไทยหมั่นสร้างคอนเทนต์ที่มีความยาวมากขึ้น เพื่อให้บริษัทเหล่านี้มีโอกาสทำรายได้จากการโฆษณาบน Facebook Watch มากขึ้น ขณะที่ทางแพลตฟอร์มเองก็จะได้เงินค่าโฆษณามากขึ้นตามไปด้วย
ไลน์ ประเทศไทย มุ่งเป็น “โครงสร้างพื้นฐานชีวิต” ของคนไทย
นอกเหนือไปจากทวิตเตอร์ และเฟซบุ๊กแล้ว ไลน์ถือเป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ได้รับความนิยมอย่างมาก หลังจากที่ไลน์ได้เข้ามาให้บริการในประเทศไทยเมื่อ 6 ปีที่แล้ว ปัจจุบัน ไลน์มีผู้ใช้บริการกว่า 44 ล้านคน6 หรือประมาณ 78% ของจำนวนผู้ใช้อินเตอร์เน็ตผ่านมือถือทั้งหมดในประเทศไทย นอกเหนือจากการเป็นแอปพลิเคชันการสื่อสารที่ได้รับความนิยมมากที่สุดแล้ว ไลน์ยังมีแพลตฟอร์มสื่อและบริการที่ครอบคลุมและครบวงจร อาทิ LINE PLAY, LINE TODAY, LINE MAN, LINE JOBS รวมถึงบริการยอดนิยม อาทิ LINE Stickers, Rabbit LINE Pay และ LINE Biz-Solution สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ Life on LINE
คุณอึนจอง ลี รองประธานอาวุโสฝ่ายบริหารธุรกิจระดับโลก ไลน์ คอร์ปอเรชั่น เปิดเผยภายในงาน LINE Converge Thailand 2019 ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยว่า รู้สึกดีใจที่ไลน์ประสบความสำเร็จในไทยเช่นนี้ โดยไลน์ได้ทุ่มเทและพัฒนาโซลูชันที่ปรับให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของคนไทยโดยเฉพาะ หนึ่งในตัวอย่างความสำเร็จที่ว่านี้คือ LINE MAN ซึ่งเป็นบริการที่คิดค้นขึ้นโดยคนไทยเพื่อคนไทย
ด้านดร.พิเชษฐ์ ฤกษ์ปรีชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนใหม่ของ ไลน์ ประเทศไทย ได้ประกาศเปิดตัว 3 บริการใหม่ของไลน์ในเวทีเดียวกันนี้ ได้แก่ LINE Shopping, LINE MAN Grocery และ LINE Melody ซึ่งเป็นไปตามวิสัยทัศน์ Life On LINE เพื่อให้บริการต่าง ๆ ของไลน์เป็นตัวช่วยในการเติมเต็มของการใช้ชีวิตตลอด 24 ชั่วโมง
บริการ LINE Shopping เป็นบริการรวมแหล่งช็อปออนไลน์ รวมถึงโปรโมชัน และดีลต่าง ๆ บนร้านค้าอีคอมเมิร์ซ โดยอาศัยความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ชั้นนำในแวดวงอีคอมเมิร์ซ เช่น Lazada, Shopee, Konvy และอื่น ๆ อีกมากมาย บริการนี้เปิดโอกาสให้ผู้ใช้สามารถเปรียบเทียบราคาสินค้าที่ไลน์ดึงมาจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซพันธมิตร และผู้ใช้ยังสามารถตั้งแจ้งเตือนได้ด้วยว่า สินค้าที่ตนต้องการนั้นมีจัดโปรโมชันลดราคาที่แพลตฟอร์มใดบ้าง
บริการ LINE MAN Grocery เป็นบริการที่ต่อยอดมาจากบริการเดิมอย่าง LINE MAN โดยเป็นบริการซื้อของกินของใช้ส่งตรงให้ถึงประตูบ้าน ไม่ต้องเสียเวลาต่อคิวจ่ายเงินที่ซูเปอร์มาร์เก็ต เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของพ่อบ้านแม่บ้านยุคใหม่
และในส่วนของ LINE MAN นั้น ดร.พิเชษฐ์ ยังได้ประกาศแผนขยายบริการดังกล่าวให้ครอบคลุมหัวเมืองใหญ่ ๆ มากขึ้น จากปัจจุบันที่จำกัดอยู่เพียงกรุงเทพฯ นนทบุรี สมุทรปราการ และปทุมธานี โดยไลน์ต้องการขยายพื้นที่ให้บริการครอบคลุมพื้นที่ 1 ใน 4 ของประเทศให้ได้ภายในปี 2563 ส่วนบริการสุดท้ายคือบริการเสียงเรียกเข้าและเสียงรอสาย LINE Melody ซึ่งเหมือนกับบริการ Calling Melody ที่คนไทยรู้จักกันดีอยู่แล้ว แต่ของไลน์นั้นเป็นบริการรองรับ LINE Call โดยเฉพาะ เพื่อให้การรอสายเป็นเรื่องสนุกมากขึ้น จากที่แต่เดิมเป็นเสียงริงโทนธรรมดา ๆ
“ไลน์” ดัน LINE OA ชิงส่วนแบ่งตลาด SME ไทย
นอกเหนือไปจากการเปิดเผยวิสัยทัศน์ดังกล่าวแล้ว ไลน์ ประเทศไทย ยังได้ปรับกลยุทธ์ในการทำธุรกิจและบริการด้วยเช่นกัน ดังจะเห็นได้จาก LINE@ แพลตฟอร์มธุรกิจในดวงใจของพ่อค้าแม่ค้าและธุรกิจ SME ไทยถูกปรับโฉมใหม่ในชื่อ LINE Official Account หรือ LINE OA โดยไลน์ได้เชิญชวนให้เหล่าธุรกิจ SME ให้ย้ายไปใช้งาน LINE OA ซึ่งเรียกเสียงฮือฮาจากกลุ่มผู้ใช้งาน LINE@ ที่เดิมทีใช้แพลตฟอร์มนี้ในการทำธุรกิจขายสินค้าและประชาสัมพันธ์ข่าวสารต่าง ๆ
แรกเริ่มนั้น LINE@ ได้เปิดตัวขึ้นในไทย เพราะบริษัทแม่ที่ญี่ปุ่นของไลน์ ประเทศไทย มองเห็นศักยภาพการเติบโตของธุรกิจ SME ในไทย จนตัดสินใจให้บริการแพลตฟอร์มดังกล่าว ทว่าเมื่อเวลาผ่านไป ฟีเจอร์การทำงานของ LINE@ เริ่มทับซ้อนกับ LINE OA จึงจำเป็นต้องตัดสินใจยกเลิก LINE@ และย้ายการใช้งานส่วนนี้ไป LINE OA เต็มตัว
นอกจากนี้ ไลน์ยังได้ปลดล็อกฟีเจอร์ Rich Content ให้เจ้าของบัญชี LINE OA ใช้งานแบบฟรี ๆ ไม่ว่าจะเป็น Rich Message, Rich Menu และ Rich Video ซึ่งเป็นคอนเทนต์ที่เมื่อกดแล้วจะลิงก์ไปที่หน้าอื่น เช่น เป็นรูปภาพเชิญชวนสมัครสมาชิกร้านอาหาร ที่เมื่อกดแล้วจะลิงก์ไปที่หน้ากรอกข้อมูล หรือจะเป็น Rich Menu ที่ช่วยทุ่นแรงในการให้ข้อมูลพื้นฐานของธุรกิจแก่ลูกค้า
ไลน์เป็นแพลตฟอร์มที่เจาะกลุ่มคนได้ทุกเพศทุกวัย แม้แต่ผู้ใช้งานวัยเกษียณที่ไม่ถนัดใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลเหมือนผู้ใช้งานรุ่นใหม่ เพราะไลน์นั้นใช้งานง่าย และมักเป็นจุดเริ่มต้นของคนวัยเกษียณในการเริ่มหัดใช้โซเชียลมีเดีย เท่ากับว่าไลน์เป็นแพลตฟอร์มที่ครอบคลุมกลุ่มผู้ใช้งานได้มากที่สุด9