ดิจิทัลทีวี

ทีวีดิจิทัล ยังคงเป็นอีกสื่อที่เผชิญกับความท้าทายและสถานการณ์ที่หนักหน่วงอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันกับสื่อที่ได้รับความนิยมอย่างโซเชียลมีเดีย การพัฒนาคอนเทนต์ให้ถูกใจกลุ่มเป้าหมาย การปรับโครงสร้างการดำเนินงาน และการดำเนินธุรกิจให้สามารถอยู่รอดได้ในระยะยาว หนึ่งในความเคลื่อนไหวในปี 2562 ที่สะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายที่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลไม่สามารถฟันฝ่ามรสุมไปได้ และความผิดพลาดด้านนโยบายของหน่วยงานกำกับดูแล คงจะหนีไม่พ้นกรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกคำสั่งให้ผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตทีวีดิจิทัลสามารถยื่นเรื่องขอคืนใบอนุญาตได้ โดยมีผู้ประกอบการตัดสินใจยื่นขอคืนใบอนุญาตทั้งหมด 7 ช่องเพื่อหยุดภาวะขาดทุนสะสมที่เผชิญมานาน


ไม่ไหวอย่าฝืน! ทีวีดิจิทัล 7 ช่องตัดสินใจคืนใบอนุญาตให้กับกสทช.

หลังจากที่มีปัญหายืดเยื้อมาอย่างยาวนานในเรื่องมาตรการเยียวยา-ช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลที่ประสบปัญหาขาดทุนสะสมมาอย่างต่อเนื่อง ในที่สุดเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2562 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็ได้ออกราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 4/2562 โดยระบุให้ผู้ได้รับใบอนุญาตทีวีดิจิทัลสามารถขอคืนใบอนุญาตดังกล่าวได้ โดยให้แจ้งเป็นหนังสือไปยังกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ภายใน 30 วันนับแต่คำสั่งมีผลบังคับใช้ และให้กสทช. พิจารณากำหนดค่าชดเชยให้ผู้ขอคืนใบอนุญาต รวมถึงสั่งยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาต 2 งวดสุดท้าย โดยหากรายได้ชำระเงินแล้วสามารถติดต่อขอเงินคืนได้ ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการเช่าใช้โครงข่ายโทรทัศน์ประเภทที่ใช้คลื่นความถี่ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล (MUX) จะให้กสทช.ช่วยออกเงินสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้ เมื่อครบกำหนดที่เปิดให้ยื่นขอคืนใบอนุญาตได้นั้น พบว่า มีผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลทั้งสิ้น 7 ช่องที่ตกลงขอคืนใบอนุญาต ได้แก่

บริษัท ไบรท์ ทีวี จำกัด คืนช่องไบรท์ทีวี 20

บมจ.อสมท (MCOT) คืนช่อง 14 MCOT family

บมจ. นิวส์ เน็ตเวิร์ค คอร์ปอเรชั่น (NEWS) คืนช่อง สปริงส์นิวส์ 19

บมจ.เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป (NMG) (บริษัท สปริงส์ 26) คืนช่อง สปริงส์ 26

บมจ.บีอีซีเวิลด์ (BEC) คืนช่อง ช่อง 3SD (ช่อง 28)

บมจ.บีอีซีเวิลด์ (BEC) คืนช่อง 3 Family (ช่อง 13)

บริษัท วอยซ์ทีวี จำกัด คืนช่อง วอยซ์ทีวี 21

การขอคืนใบอนุญาตดังกล่าว ทำให้จำนวนช่องทีวีดิจิทัลทั้งหมดเหลืออยู่ 15 ช่อง จากที่เปิดประมูลใบอนุญาต 24 ช่อง แต่ว่าช่อง LOCA และ THV ของ “นางพันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยทีวีพูล จำกัด และ บริษัท ไทยทีวี จำกัด หรือที่รู้จักกันในชื่อ เจ๊ติ๋ม ทีวีพูล จำนวน 2 ช่อง ได้ยุติการดำเนินการไปก่อนหน้านี้

จากนั้นในวันที่ 11 กรกฎาคม 2562 กสทช.ก็ได้สรุปยอดจ่ายเงินชดเชยทีวีดิจิทัลทั้ง 7 ช่องที่ยื่นขอคืนช่อง โดยจะได้ค่าชดเชยจากการคืนใบอนุญาต รวมกับค่าเช่าโครงข่ายภาคพื้นดิน ประกอบกับค่าใบอนุญาตงวดที่ 5-6 ที่จะยกเว้นให้ผู้รับอนุญาตจ่ายค่าชดเชยสุทธิ 2.933 พันล้านบาท ดังนี้

ทั้งนี้ ทั้ง 7 ช่อง สามารถขอรับเงินค่าชดเชยดังกล่าวกับทางสำนักงานกสทช. ได้ในวันหลังจากยุติการออกอากาศแล้ว1

การที่ทั้ง 7 ช่องขอคืนใบอนุญาตให้บริการทีวิดิจิทัลกับกสทช.นั้น สะท้อนให้เห็นถึงประเด็นการบริหารจัดการธุรกิจทีวีดิจิทัลและนโยบายที่ไม่ได้เป็นไปตามที่ได้คาดการณ์ไว้ของกสทช. เริ่มตั้งแต่การเปิดประมูลช่อง ซึ่งคุณสุภิญญา กลางณรงค์ ประธานคณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และอดีต กสทช. เปิดเผยว่า ในทีแรกตั้งใจจะเปิดประมูลช่องน้อยกว่า 24 ช่อง และตั้งใจจะให้ผู้ประกอบการแต่ละรายประมูลได้แค่รายละช่องเท่านั้น แต่เป็นทางของกลุ่มผู้ประกอบการเองที่ต้องการจะประมูลมากกว่า 1 ช่อง ซึ่งก็เป็นความผิดพลาดในการประเมินแนวโน้มธุรกิจของเอกชนด้วย2

อย่างไรก็ตาม ทางกสทช.ก็ทำผิดพลาดในการกำหนดเงื่อนไขและการกำกับดูแลหลังการประมูลเช่นกัน ทั้งการแจกคูปองส่วนลดกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิทัลล่าช้า รวมถึงความผิดพลาดในการกำกับดูแล MUX ทั้งในแง่ของการกำกับคุณภาพและการปูพรมขยายโครงข่ายให้ครอบคลุม

ในส่วนของมุมมองจากผู้ประกอบการที่ตัดสินใจคืนใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิทัลนั้น คุณฉัตรชัย เทียมทอง เลขานุการคณะกรรมการ บมจ. บีอีซี เวิลด์ ระบุถึงเหตุผลว่า ทางบริษัทตัดสินใจคืนช่อง 3SD และ 3 Family เนื่องจากพิจารณาแล้วว่าอุตสาหกรรมโฆษณาทางทีวีเปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อครั้งที่ตัดสินใจเข้าร่วมประมูลค่อนข่างมาก ทำให้มูลค่าโฆษณาทางทีวีไม่โตตามที่ประเมิน

นอกจากนี้ ยังมีการมาถึงของเทคโนโลยี 3G 4G และ 5G ที่จะมาถึงในอนาคต รวมถึงแพลตฟอร์ม OTT ต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้นมาชิงเวลาของผู้ชมไป เป็นผลให้เรตติ้งของทีวีดิจิทัลต่ำแม้รายการจะได้รับความนิยมก็ตาม ทำให้ทีวีดิจิทัลที่พึ่งพารายได้จากโฆษณาเป็นหลักได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงนำมาซึ่งการขาดทุนและต้องยุติการทำทีวีดิจิทัลไปในที่สุด


เม็ดเงินโฆษณา

เมื่อพิจารณาจากตัวเลขเม็ดเงินโฆษณา3 ทีวีดิจิทัลย้อนหลังไป 6 ปี (2557 – 2562) ที่รวบรวมโดยนีลเส็นนั้น พบว่า งบโฆษณาในธุรกิจทีวีดิจิทัลมีแนวโน้มลดลง โดยรายได้ที่แสดงด้านล่างนี้เป็นรายได้ก่อนหักส่วนลดและโปรโมชันของแต่ละช่อง ซึ่งอาจมีความแตกต่างจากรายได้จริงที่แต่ละช่องรายงานต่อตลาดหลักทรัพย์และกระทรวงพาณิชย์

เมื่อพิจารณาจากงบโฆษณาตามกลุ่มช่องทีวีดิจิทัลในปี 2562 และ 2561 แล้ว จะเห็นได้ว่า กลุ่มช่อง HD หรือ ประเภทช่องทั่วไปความคมชัดสูงซึ่งได้แก่ ช่อง 3HD, 7HD, MCOTHD, Amarin34HD, PPTVHD, ONE31, ไทยรัฐทีวี32 เป็นกลุ่มช่องที่ได้รับงบโฆษณาเป็นอันดับ 1 ทั้ง 2 ปี เนื่องจากนำเสนอรายการข่าวและวาไรตี้

ในขณะที่กลุ่มช่อง SD หรือประเภทช่องทั่วไปความคมชัดปกติได้รับงบโฆษณารองลงมาเป็นอันดับ 2 ส่วนอันดับ 3 คือกลุ่มช่องสาธารณะ อันดับที่ 4 กลุ่มช่องข่าวสาระ อันดับที่ 5 คือกลุ่มช่องเด็ก เยาวชน และครอบครัว


ผลกระทบจากการคืนช่อง กระทบพนักงานในอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลอย่างหนัก

หนึ่งในผลพวงที่เกิดขึ้นหลังจากการยื่นขอคืนใบอนุญาตให้บริการทีวีดิจิทัล คือ การปลดพนักงานครั้งใหญ่ของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลช่องต่าง ๆ โดยอนุกรรมการเยียวยาของ กสทช. มีมติว่าช่องทีวีดิจิทัลที่คืนใบอนุญาตต้องเยียวยาพนักงานมากกว่าที่กฎหมายกำหนด

โดยทั้ง 7 ช่องทีวีดิจิทัลต่างก็มีวิธีการเยียวยาพนักงานในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การเปิดเกษียณก่อนเวลา ลาออกโดยสมัครใจ และการเพิ่มเงินชดเชยให้อีก 1 เดือนตามมติของกสทช.

ทั้งนี้ กสทช.ได้ประเมินไว้ว่า ทีวีดิจิทัลแต่ละช่องจะมีพนักงานประมาณช่องละ 200 คน ซึ่งจะทำให้มีพนักงานที่ถูกเลิกจ้างราว ๆ 2,000 คน ซึ่งเมื่อรวมกับพนักงานส่วนเอาต์ซอร์สแล้วและคิดรวมพนักงานที่ได้รับผลกระทบจากการถูกเลิกจ้างของช่อง LOCA และ THV ของ “นางพันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยทีวีพูล จำกัด และ บริษัท ไทยทีวี จำกัด หรือที่รู้จักกันในชื่อ เจ๊ติ๋ม ทีวีพูล จำนวน 2 ช่อง ที่ยุติการดำเนินการไปก่อนหน้ํานี้ พบว่า มีพนักงานที่ได้รับผลกระทบจากการเลิกจ้างโดยตรง 3,472 คน5

จากการที่กสทช.ได้จ่ายเงินชดเชยให้กับทีวีดิจิทัลทั้ง 7 ช่องที่ขอคืนใบอนุญาตรวมทั้งสิ้น 2.933 พันล้านบาท โดยในจำนวนนี้ผู้ประกอบการจะนำไปจ่ายเป็นเงินเยียวยาเลิกจ้างพนักงานรวม 1.4 พันล้านบาท อย่างไรก็ตาม การเยียวยาดังกล่าวนั้นครอบคลุมถึงแค่พนักงานประจำของแต่ละช่องเท่านั้น พนักงานเอาต์ซอร์สนั้นจะไม่ได้รับการเยียวยาใด ๆ ซึ่งกสทช.จะหาวิธีการแก้ไขต่อไป

ขณะเดียวกัน ช่องที่ยังคงประกอบกิจการทีวีดิจิทัลตามเดิม ก็ได้มีการปรับโครงสร้างบริษัทและพยายามลดต้นทุนลง โดยในบางช่องนั้นแม้จะไม่ได้ปิดตัว แต่ก็ได้มีการปรับลดพนักงานลง เช่น ช่องจีเอ็มเอ็ม 25 ซึ่งได้ปรับลดพนักงานฝ่ายข่าวเนื่องจากเตรียมปรับผังรายการลดข่าวเพิ่มสาระความรู้อื่น ๆ แทน รวมถึงทางบริษัทเวิร์คพอยท์ที่ประกาศไม่รับพนักงานใหม่เพิ่มเติมเว้นแต่จะมีพนักงานเก่าลาออก6


กสทช.เตรียมจัดทำวิธีสำรวจความนิยมช่องรายการโทรทัศน์ (เรตติ้ง) แบบใหม่

อย่างไรก็ตาม กสทช.ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหาที่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลต้องเผชิญ และได้พิจารณาจัดทำวิธีการสำรวจความนิยมช่องรายการโทรทัศน์ (เรตติ้ง) แบบใหม่ เพื่อทำเรตติ้งให้ถูกต้องและสนับสนุนให้อุตสาหกรรมทีวีอยู่รอดได้ เนื่องจากสาเหตุหลักที่ทีวีดิจิทัลต่างขอคืนในอนุญาตนั้นเป็นเพราะรายได้ที่ไม่สามารถทำได้ตามเป้า เพราะลูกค้าไม่ซื้อโฆษณาเพราะเรตติ้งไม่ดี

เนื่องจากพฤติกรรมการรับชมรายการของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป มีการรับชมผ่านช่องทางออนไลน์มากกว่าเดิม ทำให้การวัดเรตติ้งรายการจากโทรทัศน์เพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพออีกต่อไป กสทช.จึงตัดสินใจจัดประชุมรับฟังแนวทางและวิธีการสำรวจเรตติ้ง โดยเชิญผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมพูดคุยเพื่อหาทางออก โดยกสทช.ได้ตั้งงบประมาณไว้ที่ 431 ล้านบาทให้กับ “องค์กรกลาง” ที่สมาชิกทีวีดิจิทัลเป็นผู้เลือกเพื่อให้นำเงินก้อนดังกล่าวไปจัดทำระบบการวัดเรตติ้ง หรือองค์กรกลางจะไปจ้างบริษัทใด ๆ ทำก็สามารถทำได้

อย่างไรก็ดี การที่กสทช.กำหนดเงื่อนไขขององค์กรกลางว่า “องค์กรกลาง” เป็นนิติบุคคล มาจากการรวมกลุ่มของทีวีดิจิทัลจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของผู้ได้รับใบอนุญาต และเป็นองค์กรกลางที่จดทะเบียนมาไม่น้อยกว่า 3 ปี7 ทำให้ช่อง 7 ได้ไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครองว่าการกำหนดว่าต้องจดทะเบียนมาไม่น้อยกว่า 3 ปีนั้นเป็นการ “ล็อกสเปค” เนื่องจากจะมีเพียงสมาคมผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลเท่านั้นที่มีคุณสมบัติตามข้อกำหนด ซึ่งหลังจากยื่นฟ้องได้ไม่นาน นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงก็ประกาศยกเลิกคุณสมบัติดังกล่าว พร้อมเปิดกว้างให้ทุกองค์กรกลาง ที่รวมตัวสมาชิกทีวีดิจิทัล มายื่นเสนอของบจัดทำเรตติ้งได้ทุกองค์กร

ทางด้านวิธีการจัดทำเรตติ้งแบบใหม่นั้น ในเบื้องต้นมีผู้ส่งข้อเสนอขอทำวิธีการจัดเรตติ้ง ได้แก่ “พีเอสไอ” นีลเส็น และสมาคมวิจัยเพื่อพัฒนาสื่อ (ประเทศไทย) หรือ MRDA โดยต่างชูจุดเด่นต่างกันไป ดังนี้

PSI ชูจุดเด่นว่า PSI สามารถวัดเรตติ้งได้แบบเรียลไทม์ โดยใช้ระบบวัดเรตติ้งทีวีดาวเทียมใหม่ ด้วยกล่อง S3 Hybrid ที่มีซอฟต์แวร์วัดจำนวนผู้ชมทั้งหน้าจอทีวีคู่กับการรับชมผ่านช่องทางออนไลน์ทั้ง ไอพีทีวี ยูทูบ สามารถรายงานผลได้แบบ “เรียลไทม์” ปัจจุบันมีฐานข้อมูลจากกล่อง PSI 1.35 แสนกล่อง ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ8 และใช้เงินต่ำกว่า 431 ล้านบาท9

ทางด้านนีลเส็น เจ้าของสัมปทานการวัดเรตติ้งรายเดิม ซึ่งทีวีช่องต่าง ๆ ได้ใช้ข้อมูลของนีลเส็นมาเป็นเวลานานถึง 30 ปีแล้ว ได้ชูจุดเด่นว่า จะให้ช่องทีวีดิจิทัลใช้ข้อมูลเรตติ้งได้ฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเป็นเวลา 5 ปี พร้อมทั้งเสริมว่านีลเส็นได้พัฒนาวิธีวัดเรตติ้งอย่างต่อเนื่องรวมทั้งการวัดเรตติ้งเนื้อหาโฆษณา ซึ่งเป็นการปรับระบบไปตามพฤติกรรมการรับชมชองผู้ชม และสามารถทำได้ในงบ 431 ล้านบาท

และสุดท้าย MRDA ที่มาพร้อมพันธมิตร 5 รายระดับโลก คือ กันตาร์, อินเทจ กรุ๊ป, Mediametrie ซึ่งดูแลมิเตอร์เทคโนโลยี, Markdata ดูแลซอฟต์แวร์รายงานผล และ CESP องค์กรตรวจสอบ โดยจะติดตั้งอุปกรณ์วัดเรตติ้งเครื่องรับชมทีวี 4,500 ชุด จำนวน 3,000 ครัวเรือน และอุปกรณ์วัดเรตติ้งบนอุปกรณ์รับชมที่เป็นสมาร์ทดีไวซ์ ในกลุ่มตัวอย่าง 3,000 คน เพื่อรายงานข้อมูลเรตติ้งทั้งจอทีวีและดิจิทัล แพลตฟอร์มแบบคู่ขนาน โดยจะใช้เวลาติดตั้งอุปกรณ์ 12-15 เดือน และเริ่มรายงานข้อมูลเรตติ้งได้ในเดือน ม.ค. 2564 พร้อมชูจุดเด่นอีกอย่างว่า MRDA เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ดังนั้นข้อมูลเรตติ้งที่ได้จะแบ่งให้องค์กรสาธารณะประโยชน์และสถาบันการศึกษานำไปใช้ได้

โครงการนี้ ทางกสทช.จะให้เวลา 1 ปีเพื่อเปิดให้องค์กรที่สนใจสามารถยื่นของบประมาณเพื่อนำไปจัดทำเรตติ้ง และหากครบระยะเวลา 1 ปีแล้วไม่มีองค์กรกลางใดมายื่นของบประมาณดังกล่าว กสทช.ก็จะนำงบ 431 ล้านบาทคืนให้กับรัฐบาล


เรตติ้ง

แม้ว่า จะยังหาบทสรุปไม่ได้เกี่ยวกับแนวทางการวัดเรตติ้งว่าจะเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ หากพิจารณาเรตติ้งทีวีดิจิทัลของปี 2562 เมื่อเทียบกับปี 256110 จากสถิติด้านบนนี้แล้ว จะเห็นได้ว่าเรตติ้งเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นความเคลื่อนไหวของทีวีดิจิทัลช่องต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี โดยเรตติ้ง 10 อันดับแรกของปี 2561 และปี 2562 นั้นแทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง โดยมีเพียง PPTV ที่เบียดขึ้นมาอยู่ในอันดับ 10 ได้ ขณะที่เจ้าของตำแหน่งเดิมอย่าง MCOT HD นั้นร่วงไปอยู่ที่อันดับ 12 โดย MCOT HD ทำเรตติ้งไปได้เพียง 0.171 จากเรตติ้งเดิมที่ 0.198

จะเห็นได้ว่าใน 10 อันดับแรกนั้น เรตติ้งของช่อง 8 ร่วงลงมากที่สุด โดยเรตติ้งของช่อง 8 ร่วงจากอันดับ 5 ที่ 0.530 ในปี 2561 สู่อันดับ 8 ในปี 2562 หรือร่วงลงถึง 41.50% เนื่องมาจากซีรีส์อินเดียซึ่งเคยเป็นรายการหลักของช่อง 8 นั้นได้รับความนิยมลดลง ประกอบกับการที่ช่อง 8 เน้นการขายสินค้ามากขึ้นและจัดสรรช่วงเวลาสำหรับการนำเสนอขายสินค้าเป็นหลัก ทำให้คนดูตัดสินใจเปลี่ยนไปดูช่องอื่นที่มีรายการที่ถูกจริตมากกว่าแทน ส่งผลให้เรตติ้งร่วงลงอย่างมาก

ทางด้านบริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) หรือช่อง 3 หลังจากที่ได้มีการคืนช่องไป 2 ช่อง ได้แก่ ช่อง 3 Family ที่ทำเรตติ้งเฉลี่ยในปี 2562 อยู่ที่ 0.043 ร่วงลงจากเรตติ้งปี 2561 ที่ 0.075 และอีกช่องคือ ช่อง 3SD ซึ่งเรตติ้งสุดท้ายก่อนคืนช่องอยู่ที่ 0.244 แต่ก็ยังคงครองอันดับ 9 ในเรตติ้งเฉลี่ยของปี 2562 ไปได้

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่บริษัท บีอีซี เวิลด์ คืนช่องทีวีดิจิทัลไป 2 ช่อง ทำให้บริษัทได้เงินชดเชยคืนมาจากกสทช.ถึง 842 ล้านบาท และเหลือเก็บไว้เพียงช่องเดียวคือช่อง 3HD ทางบริษัทได้ปรับกลยุทธ์ใหม่ โดยคุณอริยะ พนมยงค์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารช่อง 3 เปิดเผยว่า ช่อง 3 จะปรับรายการใหม่ โดยรายการข่าวจะเน้นการนำเสนอโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามามากขึ้นภายใต้แนวคิด “ข่าวจริง ทันเหตุการณ์ พึ่งพาได้” นอกจากนี้ ยังดึงรายการข่าวที่เรตติ้งดีจากช่อง 3SD และ 3 Family พร้อมด้วยข่าวสั้นอย่าง Flash News ในทุกช่วงเวลา ทำให้ช่อง 3 จะมีรายการข่าวตลอดทั้งวัน11

นอกจากเรื่องของรายการข่าวแล้ว คุณอริยะยังวางแผนว่า จะเติมรายการวาไรตี้และละครใหม่อีกในช่วงต้นปี 2563 เพื่อดึงเรตติ้งของช่อง 3 ให้กลับมาอยู่ในแถวหน้าอีกครั้ง

มาดูที่ช่อง Mono 29 กันบ้าง โดย Mono 29 ยังคงครองอันดับ 3 ได้อย่างเหนียวแน่นด้วยการเน้นฉายภาพยนตร์และซีรีส์ดังจากต่างประเทศ อย่างไรก็ดี ทาง Mono 29 ได้ประกาศปลดพนักงานกว่า 200 คนในฝ่ายข่าว-บันเทิง-บริการลูกค้า เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2563 รวมถึงการแต่งตั้งคุณเบญจวรรณ สมสิน จากช่อง 3 ขึ้นเป็นบรรณาธิการบริหารฝ่ายข่าวคนใหม่12 จากนั้นได้ออกหนังสือชี้แจงตามมาในภายหลังว่าการปลดพนักงานเป็นการปรับโครงสร้างธุรกิจและกระบวนการทำงาน หยุดธุรกิจที่ไม่ทำกำไรหรือธุรกิจที่สภาพการแข่งขันเปลี่ยนไป13

และสุดท้าย แชมป์เก่าอย่างช่อง 7HD ซึ่งครองเรตติ้งอันดับ 1 มาโดยตลอดตั้งแต่เริ่มต้นประกอบกิจการทีวีดิจิทัลในปี 255714 ช่อง 7HD ยังคงตั้งเป้าครองอันดับ 1 อย่างต่อเนื่อง ด้วยการเสริมคอนเทนต์แนววาไรตี้ ทั้งละครไทย ซีรีส์ต่างประเทศ รวมถึงรายการใหม่อย่าง GUESS MY AGE รู้หน้า ไม่รู้วัย ซึ่งเป็นรายการจากฝรั่งเศส โดยไทยผลิตเป็นประเทศที่ 14 ของโลก และเป็นประเทศแรกในเอเชีย โดยมีรูปแบบการเล่นที่ง่าย เพียงแค่ทายอายุจากรูปร่างหน้าตาของปรัศนีให้ถูกต้องเท่านั้นเอง15


อ้างอิง