อินฟลูเอนเซอร์

อินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) หรือผู้ทรงอิทธิพลทางความคิด ถือเป็นอีกแพลตฟอร์มของการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ ในอุตสาหกรรมสื่อของไทย ด้วยความนิยมในการใช้โซเชียลมีเดีย ตลอดจนพฤติกรรมการรับข้อมูลข่าวสารที่เปลี่ยนไป ส่งผลให้อินฟลูเอนเซอร์กลายเป็นสื่อที่ได้รับความสนใจทั้งฝั่งผู้บริโภค แบรนด์ มีเดียเอเจนซี่ และสื่อมวลชน

ทั้งนี้ อินฟลูเอนเซอร์สามารถเป็นบุคคลที่อยู่ในวงการหรืออุตสาหกรรมใดก็ตามที่มีอิทธิพลต่อกลุ่มเป้าหมายนั้น ๆ โดย อินฟลูเอนเซอร์ จะต้องมีความรู้และความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ปัจจุบัน อินฟลูเอนเซอร์ได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของ “การตลาดผ่านอินฟลูเอนเซอร์” เพื่อช่วยโฆษณาแบรนด์ และสร้างความน่าเชื่อถือให้แบรนด์ผ่านชื่อเสียงของอินฟลูเอนเซอร์เอง 1

ความนิยมที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของอินฟลูเอนเซอร์ เกิดขึ้นจากพฤติกรรมการอ่านข้อมูลที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภค การให้ข้อมูลในรูปแบบประสบการณ์ของอินฟลูเอนเซอร์ การรีวิวผลิตภัณฑ์ต่างๆที่เข้าถึงได้ง่ายจนผู้บริโภคมีความเชื่อมั่น

ผลการศึกษาจาก Wisesight เปิดเผยว่า 63% ของแบรนด์สินค้าเลือกที่จะเพิ่มงบในส่วนของการทำการตลาดผ่านอินฟลูเอนเซอร์มากขึ้น และคาดว่า ในปี 2563 การตลาดผ่านอินฟลูเอนเซอร์ทั่วโลกจะมีมูลค่าถึง 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 2

จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ความนิยมของอินฟลูเอนเซอร์มีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสะท้อนให้ภาพความเคลื่อนไหวบุคคลที่เข้ามามีบทบาทต่อผู้บริโภคไม่แพ้สื่อกระแสหลัก และยังมีบทบาทไม่น้อยในการทำตลาดสินค้าและแบรนด์ในยุคดิจิทัล


ประเภทของอินฟลูเอนเซอร์

หากจะแบ่งประเภทของอินฟลูเอนเซอร์แล้ว สามารถพิจารณาได้จากจำนวนผู้ติดตามหรือการมีส่วนร่วมในแพลตฟอร์มของอินฟลูเอนเซอร์ หากจะยึดตามการแบ่งประเภทอินฟลูเอนเซอร์ของบริษัท แคสติ้งเอเชีย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผู้ให้บริการโซลูชั่นการทำตลาดด้วยอินฟลูเอนเซอร์แล้ว เราสามารถแบ่งอินฟลูเอนเซอร์ตามจำนวนผู้ติดตามหรือ Followers ได้ 5 ประเภท ได้แก่ 1. อินฟลูเอนเซอร์ระดับ Top Star ซึ่งมีผู้ติดตามมากกว่า 1,000,000 ราย 2. อินฟลูเอนเซอร์ระดับ Macro ซึ่งมีผู้ติดตาม 100,000 ราย – 1,000,000 ราย 3. อินฟลูเอนเซอร์ระดับ Micro มีผู้ติดตาม 10,000 ราย – 100,000 ราย 4. อินฟลูเอนเซอร์ระดับ Nano ซึ่งมีผู้ติดตาม 1,000 ราย – 10,000 ราย 5. อินฟลูเอนเซอร์ระดับ End user ที่มีผู้ติดตาม 100 ราย – 10,000 ราย 3


อินฟลูเอนเซอร์ ที่รั้งอันดับ 1 ในแต่ละหมวดของไทย

อินฟลูเอนเซอร์ในไทยมีรูปแบบการนำเสนอคอนเทนต์ที่แตกต่างกันไป เมื่อพิจารณาข้อมูลเกี่ยวกับอินฟลูเอนเซอร์ชั้นนำในหมวดคอนเทนต์ประเภทต่าง ๆ 4 จะเห็นได้ถึงคุณสมบัติที่ทำให้อินฟลูเอนเซอร์ที่มียอดไลก์ เอนเกจเมนท์ และยอดผู้ติดตามสูงนั้น ประสบความสำเร็จในการนำเสนอคอนเทนต์และความสามารถในการรักษาอินฟลูเอนเซอร์ชั้นนำของตนเองไว้ในยุคที่ผู้บริโภคมีความคาดหวังและความต้องการที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว

กกก

อินฟลูเอนเซอร์อันดับ 1 ในแต่ละหมวดของไทย

กกก

ที่มาของภาพ: https://www.facebook.com/TripTH.con/

ท่องเที่ยว

อินฟลูเอนเซอร์ อันดับ 1 ในหมวดท่องเที่ยว คือ TripTH ทริปไทยแลนด์ มียอดไลก์อยู่ที่ 2.9 ล้านไลก์ เพจนี้เริ่มต้นจาการท่องเที่ยวแบบแบ็กแพกที่จังหวัดตราดในปี 2558 หลังจากนั้นการเริ่มออกเดินทางท่องเที่ยว เพราะรักอิสระในการเดินทาง และอยากที่จะแบ่งปันข้อมูลการเดินทางท่องเที่ยวของตนเองให้ผู้อ่านสามารถเดินทางตามรอยได้ ทำให้ TripTH ทริปไทยแลนด์ได้รับความนิยมมากขึ้น  โดยในเพจ TripTH ทริปไทยแลนด์ จะรวบรวมที่เที่ยว ที่พัก ที่กิน ทริปท่องเที่ยวจากประสบการณ์การเดินทางจริงจากทั่วทุกมุมโลก เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลในการเดินทางให้กับผู้อ่าน นอกจากช่องทางเฟซบุ๊กแล้ว ก็ยังมีอินสตาแกรมให้ติดตามด้วยเช่นกัน

ไอที-เทคโนโลยี

อินฟลูเอนเซอร์ อันดับ 1 ในหมวดไอที-เทคโนโลยี คือ IPhoneMod.net ยอดไลก์อยู่ที่  1.3 ล้านไลก์ จุดเริ่มต้นมาจากการจัดทำเว็บไซต์ iPhoneMod.net ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการดัดแปลงระบบปฏิบัติการไอโฟน ปลดล็อคไอโฟน รวมทั้งเทคนิคการใช้งานต่างๆ สำหรับผู้ใช้ไอโฟนในประเทศไทยโดยจะเน้นหนักไปที่การปรับแต่งฟีเจอร์ในไอโฟนให้ใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ แต่ปัจจุบันการดัดแปลงระบบปฏิบัติการได้รับความนิยมน้อยลง ดังนั้น ทางเพจจึงเพิ่มคอนเทนต์อื่น ๆ เข้ามาแทน เช่น การแก้ปัญหาและให้ความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของแอปเปิ้ล เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการแนะนำแอปพลิเคชันทั้งเก่าและใหม่ รวมทั้งสอนวิธีการใช้งานของแอปพลิเคชันเหล่านั้น โดยเพจ IPhoneMod.net ยังมีทวิตเตอร์ให้ติดตามอีกหนึ่งช่องทาง

ที่มาของภาพ: https://www.facebook.com/iPhonemod/

ที่มาของภาพ: https://www.facebook.com/Homebuyersfanpage/

อสังหาริมทรัพย์

อินฟลูเอนเซอร์ อันดับ 1 ในหมวดอสังหาริมทรัพย์ คือ Home.co.th ยอดไลก์อยู่ที่  820,000 ไลก์ Home.co.th เป็นเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลบ้านและคอนโดมิเนียม การลงทุนอสังหาริมทรัพย์  ซื้อขายบ้าน-คอนโด ฯ ที่ดิน รีวิวโครงการบ้านใหม่ รีวิวคอนโด ฯ ที่ให้ข้อมูล ด้วยระบบ Machine Learning สำหรับผู้ซื้อ และระบบ Home Analytics สำหรับผู้ขาย โดยในหน้าเพจเฟซบุ๊กมีการแนะนำโครงการอสังหาริมทรัพย์จากหลาย ๆ โครงการ และหลายรูปแบบ นำเสนอข้อดีและข้อเสียของแต่ละโครงการอย่างครอบคลุม

รถ-มอเตอร์ไซค์

อินฟลูเอนเซอร์ อันดับ 1 ในหมวดรถ-มอเตอร์ไซค์ คือ ไทยเรสซิ่ง-ThaiRacing ยอดไลก์อยู่ที่  1.2 ล้านไลก์ เพจนี้เน้นการแชร์รูปรถและมอเตอร์ไซค์รุ่นต่าง ๆ ที่เป็นที่ชื่นชอบในหมู่นักบิด รวมถึงแนะนำรายละเอียดของรถ-มอเตอร์ไซค์รุ่นต่างๆ นอกจากนี้ยังมีคำคม พร้อมทั้งแชร์ไลฟ์สไตล์ของเจ้าของเพจ นอกจากรูปภาพที่แนะนำรถและมอเตอร์ไซค์แล้ว ยังมีวิดีโอในยูทูปให้ติดตามด้วยเช่นกัน

ที่มาของภาพ: https://www.facebook.com/mheememhor/

อาหาร

อินฟลูเอนเซอร์ อันดับ 1 ในหมวดอาหาร คือ หมีมีหม้อ ยอดไลก์อยู่ที่ 5 ล้านไลก์ นำเสนอคอนเทนต์ผ่านทางเฟซบุ๊กเพจและยูทูป เนื้อหาในเพจเป็นการแบ่งปันสูตรการทำอาหาร ซึ่งอาหารที่นำมาแบ่งปันสูตรก็มีหลากหลายประเภททั้งอาหารคาวและอาหารหวาน มีเคล็ดลับการทำอาหารหลากหลายชนิด รวมถึงมีการแนะนำวัตถุดิบต่าง ๆ  และมีการโฆษณาสินค้าผ่านเพจด้วยเช่นกัน นอกจากช่องทางเฟซบุ๊กแล้ว ช่องยูทูปของ หมีมีหม้อ ยังรวบรวมวิดีโอสูตรการทำอาหารของเพจไว้ทั้งหมด

บันเทิง

อินฟลูเอนเซอร์ อันดับ 1 ในหมวดบันเทิง คือ อีจัน ยอดไลก์อยู่ที่ 8.8 ล้านไลก์ ถือว่าเป็นยอดไลก์ที่สูงที่สุดเป็นอันดับ 1 จากทุกๆหมวด เพจอีจันเกิดขึ้นจากการรวมตัวของนักข่าวอาชญากรรมที่มีประสบการณ์มาอย่างยาวนาน และสร้างเพจนี้ขึ้นมา โดยมีเป้าหมายที่จะตีแผ่ความจริง และให้ความเป็นธรรม โดยปราศจากผลประโยชน์ต่างๆ เนื้อหาในเพจจะเป็นการนำเสนอข่าวในสังคมเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนั้นยังมีเพจในเครืออีก เช่น อีจันตลาดแตก อีจันบันเทิง และ อีจันลั่นทุ่ง เป็นต้น

ที่มาของภาพ: https://www.facebook.com/ejan2016/

ที่มาของภาพ: https://www.facebook.com/ToLaewMaoDai/

เครื่องดื่มแอลกอฮอล

อินฟลูเอนเซอร์ อันดับ 1 ในหมวดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คือ โตแล้วเมาได้ ยอดไลก์อยู่ที่  1.2 ล้านไลก์ เพจดังกล่าวเป็นเพจเน้นแชร์คำคมต่างๆโดยมีภาพประกอบเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นอกจากคอนเทนต์ดังกล่าวแล้ว ยังมีภาพบรรยากาศงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงแชร์ข้อมูลการจัดคอนเสิร์ตต่าง ๆ

การตลาด-ธุรกิจ

อินฟลูเอนเซอร์ อันดับ 1 ในหมวดการตลาด-ธุรกิจ คือ Marketeer Online ยอดไลก์อยู่ที่  854,000 ไลก์ เป็นเพจที่แชร์สาระความรู้เกี่ยวกับการตลาดและธุรกิจ และนำแนวทางการทำตลาดของผลิตภัณฑ์หรือบริการต่าง ๆ มาวิเคราะห์ มีการนำเสนอในรูปแบบอินโฟกราฟิกเพื่อให้เข้าใจคอนเทนต์ได้ง่ายยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการนำผลิตภัณฑ์ในหมวดเดียวกันในละแบรนด์มาเปรียบเทียบแคมเปญการตลาดให้ผู้อ่านได้เห็นความแตกต่าง

ที่มาของภาพ: https://www.facebook.com/marketeeronline/

ที่มาของภาพ: https://www.facebook.com/MaiYomAuon/

กีฬาและสุขภาพ

อินฟลูเอนเซอร์ อันดับ 1 ในหมวดกีฬาและสุขภาพ คือ Mai Yom Auon ไม่ยอมอ้วน  ยอดไลก์อยู่ที่ 2.1 ล้านไลก์ เป็นเพจที่แชร์สูตรการทำอาหารสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก นอกจากจะมีการแชร์สูตรอาหารแล้วยังมีการแนะนำขนม เครื่องดื่มต่าง ๆ สำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนักโดยมีผู้สนับสนุนคอนเทนต์ในเพจ รวมถึงมีคอนเทนต์เกี่ยวกับงานอีเวนต์ด้านอาหาร ซึ่งเน้นอาหารเพื่อสุขภาพเป็นหลัก

โปรโมชั่น

อินฟลูเอนเซอร์ อันดับ 1 ในหมวดโปรโมชั่น คือ SALE HERE ยอดไลก์อยู่ที่ 4 ล้านไลก์ จุดเริ่มต้นของเพจมาจากความคลั่งไคล้ในโปรโมชั่นลดราคา จนทำให้เกิดเพจ SALE HERE ขึ้นมา โดยเริ่มจากกลุ่มผู้สนใจกลุ่มเล็ก ๆ ที่พบโปรโมชั่นลดราคาจากที่ต่างๆ แล้วนำมาแบ่งปันให้ผู้ติดตาม โดยในเพจจะรวบรวมโปรโมชั่นของสินค้าจากแต่ละที่ที่น่าสนใจมารวบรวมไว้ นอกจากนี้ยังมีเว็บไซต์ และอินสตาแกรมให้ติดตามข้อมูลข่าวสารด้วยเช่นกัน

ที่มาของภาพ: https://www.facebook.com/salehere/

ที่มาของภาพ: https://www.facebook.com/likesceneth/

ภาพยนตร์

อินฟลูเอนเซอร์ อันดับ 1 ในหมวดภาพยนตร์ คือ ฉากนี้แม่งได้ว่ะ ยอดไลก์อยู่ที่ 1.5 ล้านไลก์ เป็นเพจที่แชร์ฉากที่ตัดมาจากภาพยนตร์ที่อินฟลูเอนเซอร์รายนี้ประทับใจ มีคอนเทนต์ที่เปิดโอกาสให้ผู้ติดตามได้มีส่วนร่วม เช่น การหาชื่อภาพยนตร์จากเนื้อเรื่องที่ผู้ติดตามเพจส่งมา นอกจากนี้ยังมีการแชร์คลิปวิดีโอจากเพจอื่น ๆ ที่น่าสนใจมานำเสนอในเพจด้วยเช่นกัน

โฆษณา

อินฟลูเอนเซอร์ อันดับ 1 ในหมวดโฆษณา คือ ผู้บริโภค ยอดไลก์อยู่ที่  616,000 ล้านไลก์ เพจนำเสนอภาพสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นจากผู้บริโภค ไม่มีการสร้างเหตุการณ์ โดยการนำผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ มานำเสนอให้เห็นข้อแตกต่าง รวมถึงนำผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจมานำเสนอแบบตรงไปตรงมาต่อผู้บริโภค

ที่มาของภาพ: https://www.facebook.com/wecanchoose/

ที่มาของภาพ: https://www.facebook.com/littlemonsterrocknroll/

ครอบครัว-แม่และเด็ก

อินฟลูเอนเซอร์ อันดับ 1 ในหมวดครอบครัว-แม่และเด็ก คือ Little Monster ยอดไลก์อยู่ที่  2.7 ล้านไลก์ โดยจุดเริ่มต้นของเพจมาจากภาวะซึมเศร้าหลังคลอดลูกสาวคนแรกของคุณตุ๊ก นิรัตน์ชญา การุณวงศ์วัฒน์ จึงทำเพจนี้ขึ้นมาเพื่อระบายความรู้สึกของตนเองลงเพจ จุดเด่นของเพจ Little Monster อยู่ที่ตัวการ์ตูนน่ารักๆ และคอนเทนต์ที่บอกเล่าเรื่องราวภายในครอบครัว นอกจากเพจ Little Monster แล้ว คุณตุ๊กยังมีเพจ A Mom 2 Daughters ที่แบ่งปันประสบการณ์การเลี้ยงลูกในแบบของคุณตุ๊กด้วย

ความงาม

อินฟลูเอนเซอร์ อันดับ 1 ในหมวดความงาม คือ Wongnai Beauty  ยอดไลก์อยู่ที่  1.6 ล้านไลก์ เป็นเพจในเครือของ Wongnai โดยเพจ Wongnai Beauty นำเสนอคอนเทนต์ด้านความงามเป็นหลัก มีการรีวิวผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับความงาม รวมถึงคอนเทนต์เกี่ยวกับการแต่งหน้า การทำผม และการดูแลสุขภาพ โดยการนำเสนอคอนเทนต์ในเพจจะนำเสนอเป็นรูปภาพและวิดีโอแนะนำในรูปแบบต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีเว็บไซต์ให้เข้าไปอ่านเนื้อหาฉบับเต็มได้อีกด้วย

ที่มาของภาพ: https://www.facebook.com/WongnaiBeauty/


แนวโน้มอินฟลูเอนเซอร์ในปี 2563

มื่อเราได้ทำความรู้จักกับอินฟลูเอนเซอร์ประเภทต่างๆกันไปแล้ว จะเห็นได้ว่า อินฟลูเอนเซอร์แต่ละรายมีจุดแข็งในการนำเสนอคอนเทนต์ที่แตกต่างและน่าสนใจไม่แพ้กัน ทั้งด้วยความเป็นธรรมชาติ ความรักในสายงาน ตลอดจนความกระตือรือร้นที่จะนำเสนอคอนเทนต์ที่สร้างสรรค์ในรูปแบบที่แปลกไปจากสื่อกระแสหลัก จึงไม่น่าแปลกใจเท่าไรที่อินฟลูเอนเซอร์ได้รับความนิยมมาโดยตลอด สำหรับแนวโน้มของอินฟลูเอนเซอร์ในปี 2563 จะเป็นอย่างไรนั้น สามารถติดตามได้จากข้อมูลดังต่อไป

การทำคอนเทนต์ในรูปแบบวิดีโอ

คอนเทนต์ในรูปแบบของวิดีโอยังเป็นคอนเทนต์ที่เข้าถึงกลุ่มผู้รับสารได้ดีเสมอ จากสถิติการรวบรวมข้อมูลของเฟซบุ๊กแสดงให้เห็นว่า มีผู้ดูวิดีโอบนเฟซบุ๊ก 8 พันล้านครั้งต่อวันหรือมากถึง 100 ล้านชั่วโมงต่อวัน โดย 72% ของผู้บริโภคชอบเรียนรู้เกี่ยวกับสินค้าและบริการผ่านวิดีโอ และ 53% เกิดการมีส่วนร่วม (Engagement) หลังการรับชมวิดีโดยเฉพาะกลุ่มมิลเลนเนียล ตัวเลขอาจเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการทำคอนเทนต์ผ่านวิดีโอช่วยสร้างการมีส่วนร่วม และการจดจำแบรนด์ได้มากกว่าคอนเทนต์ประเภทอื่น ๆ

คุณพันธ์ศักดิ์ ลิ้มวัฒนายิ่งยง กรรมการบริหาร บริษัท แคสติ้งเอเชีย จำกัด ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มอินฟลูเอนเซอร์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันเทรนด์การทำวิดีโอนั้นมาแรงมาก เพราะทุกวันนี้ผู้ใช้โซเชียลมีเดียส่วนใหญ่ใช้เวลาอยู่กับวิดีโอมากที่สุด และวิดีโอเป็นคอนเทนต์ที่สามารถโน้มน้าวใจคนจำนวนมากได้ไม่ว่าจะเป็นวิดีโอบนยูทูป เฟสบุ๊ก อินสตาแกรมก็ตาม

การเติบโตของนาโนอินฟลูเอนเซอร์

การเติบโตของกลุ่มนาโนอินฟลูเอนเซอร์หรืออินฟลูเอนเซอร์ที่มีผู้ติดตามประมาณ 1,000 -10,000 คนนั้น จำนวนของนาโนอินฟลูเอนเซอร์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้หลาย ๆ แบรนด์มุ่งเน้นการทำการตลาดกับนาโนอินฟลูเอนเซอร์มากขึ้น เพราะเข้าถึงง่าย และให้ความรู้สึกเหมือนกับเพื่อนแนะนำสินค้าหรือบริการแก่เพื่อนด้วยกันเอง 6

แต่ก็ไม่ใช่ว่าอินฟลูเอนเซอร์ประเภทอื่นจะสร้างผลลัพธ์ที่ต้องการไม่ได้ อินฟลูเอนเซอร์แต่ละประเภทจะมีการสร้างผลลัพธ์ที่ต่างกัน โดยในระดับท็อปสตาร์และ Macro จะทำให้เกิดการรับรู้แบรนด์เนื่องจากมีผู้ติดตามจำนวนมาก ถ้าเป็นไมโครหรือนาโนอินฟลูเอนเซอร์ผู้ติดตามจะน้อยกว่า แต่สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ตรงจุดกว่า และเข้าถึงง่ายกว่า

“อินสตาแกรม” แพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมของอินฟลูเอนเซอร์และผู้บริโภค

คุณพันธ์ศักดิ์ได้กล่าวถึงแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมสูงสุดว่าคือ อินสตาแกรม ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่อยู่ในกระแส และการใช้อินสตาแกรมสามารถสร้างการรับรู้ของแบรนด์ได้ รองลงมาคือยูทูป ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มวิดีโอ สามารถโน้มน้าวใจคนได้มากกว่า แต่แน่นอนว่าค่าใช้จ่ายย่อมสูงตามมาด้วย ทำให้ได้รับความนิยมรองลงมาเป็นอันดับสอง และอันดับที่สามคือ เฟซบุ๊ก เพราะอัลกอริทึมของเฟซบุ๊กในตอนนี้ ทำให้เพจที่มียอดไลก์มากไม่ได้มีสถิติการมีส่วนร่วมมากตามไปด้วย สุดท้ายแล้วแบรนด์ก็ต้องเสียเงินเพื่อบูสท์โพสต์อยู่ดี อย่างไรก็ตามการใช้งานแพลตฟอร์มใดก็ตามต้องขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของแบรนด์ด้วย

ที่มา: CastingAsia

ใช้ข้อมูลในการวิเคราะห์หาอินฟลูเอนเซอร์มากกว่าความรู้สึกส่วนตัว

ไทยอยู่ในช่วง “Early Stage” ของอินฟลูเอนเซอร์ ผู้คนยังอ้างอิงข้อมูลหรือสถิติน้อย และยังใช้ความรู้สึกส่วนตัวอยู่มาก การที่ชอบอินฟลูเอนเซอร์แล้วอยากได้อินฟลูเอนเซอร์คนนั้นมาร่วมงานไม่ได้หมายความว่าอินฟลูเอนเซอร์คนนั้นจะนำเสนอแบรนด์ได้ดีที่สุด ฉะนั้นแบรนด์ต้องมีความเข้าใจการทำการตลาดผ่านอินฟลูเอนเซอร์ “การใช้สถิติ ข้อมูล และเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำงาน จะทำให้ได้อินฟลูเอนเซอร์ตรงตามความต้องการของแบรนด์มากขึ้น” คุณพันธ์ศักดิ์กล่าว

แบรนด์คาดหวัง “Conversion” มากขึ้น

อีกหนึ่งเทรนด์ที่น่าสนใจที่คุณพันธ์ศักดิ์พูดถึงคือแบรนด์จะคาดหวัง “Conversion” หรือจำนวนยอดขายที่เกิดขึ้นกับแบรนด์มากขึ้น แต่เดิมเวลาทำการตลาดผ่านอินฟลูเอนเซอร์เราจะคาดหวังการมีส่วนร่วม การไลก์ การแชร์ แต่ว่าเทรนด์ในปีหน้าเริ่มมีหลายแบรนด์คาดหวังจำนวนยอดขายที่เกิดขึ้นกับแบรนด์มากขึ้น การโปรโมทสินค้าหนึ่งตัวผ่านอินฟลูเอนเซอร์ ผลลัพธ์ที่ได้ต้องเป็นการซือของ หรือคลิกเข้าไปในเว็บไซต์ หรือคลิกเข้าไปเพื่อจะซื้อสินค้าชิ้นนั้น ๆ

คนเชื่อยากขึ้น แต่ตัดสินใจได้เร็วขึ้น

คุณพันธ์ศักดิ์มองว่า ปัจจุบันนี้ผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียมีความรู้มากขึ้น เมื่อมีความรู้มากขึ้นผู้บริโภคจะเชื่อยากมากขึ้น ดังนั้น เมื่อจะรีวิวอะไรบางอย่าง อินฟลูเอนเซอร์ต้องลองใช้ ต้องมีประสบการณ์กับสินค้าชิ้นนั้นจริง ๆ จึงจะสามารถอธิบายออกมาได้ และโน้มน้าวใจได้จริง ๆ เพราะผู้บริโภคสมัยนี้เชื่อยากขึ้น แต่ถ้าเขาเชื่อแล้วจะเข้าถึงแบรนด์ได้ง่ายขึ้น เพราะปัจจุบัน “คนเชื่อยากขึ้น แต่ตัดสินใจได้เร็วขึ้น” ต่อให้ของหลายพันบาทเขาก็จะซื้อได้เลย ถ้าเขาเชื่อ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น อินฟลูเอนเซอร์สามารถทำให้เกิดความเชื่อใจได้ และทำให้เกิดการซื้อได้ สถิติออกมาก็ดีขึ้นจริงๆ จากสถิติอินฟลูเอนเซอร์รีวิวสินค้า 1 ชิ้น จำนวนคลิกที่โฆษณาได้รับหารด้วยจำนวนครั้งที่โฆษณาปรากฏ (CTR) อยู่ที่ 3 – 5% และ 3 – 5% นี้จะถูกแปลงเป็นยอดขายประมาณ 5% ของคนที่เข้าไปชมสินค้า เพราะฉะนั้นแปลว่าจาก 100% จะมี 0.25% โดยเฉลี่ย ซื้อสินค้านั้นๆ 

ที่มา: CastingAsia


อ้างอิง