บทสรุป
ความเคลื่อนไหวและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับสื่อประเภทต่างๆ ในปี 2562 สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทและอิทธิพลของเทคโนโลยีที่มีต่อพฤติกรรมของผู้บริโภค การนำเสนอคอนเทนต์ และการทำหน้าที่ของสื่อ ไม่ว่าจะเป็นโซเชียลมีเดียที่ทำให้กลุ่มผู้บริโภคหันมาติดตามข้อมูลข่าวสารกันเป็นจำนวนมากจากสื่อประเภทนี้ ขณะที่สื่อสำนักต่าง ๆ ก็หันมาใช้โซเชียลมีเดียเป็นอีกช่องทางในการเข้าถึงผู้อ่านในยุคดิจิทัล ด้วยสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปเหล่านี้ ทำให้เกิดการแข่งขันกันอย่างมาก และนำมาซึ่งความเคลื่อนไหวอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เช่น ปรากฎการณ์ความเคลื่อนไหวที่ก่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมจากการใช้สื่อมาแรงอย่าง “ทวิตเตอร์” ซึ่งฐานผู้ใช้งานขยายวงกว้างมากยิ่งขึ้น ส่วนเฟซบุ๊กและไลน์เองก็ออกฟีเจอร์ใหม่ ๆ มาให้ผู้บริโภคได้ใช้งานในรูปแบบที่แตกต่างไปจากเดิมจนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดยั้ง
นอกเหนือไปจากโซเชียลมีเดียแล้ว สื่อวิทยุและทีวีดิจิทัลก็เป็นอีกสื่อที่พยายามปรับตัวเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด ซึ่งปี 2562 เป็นปีที่เราได้เห็นภาพของกระแสคลื่นดิจิทัลดิสรัปชันที่พัดกระหน่ำผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลกันอย่างชัดเจน ทั้งการปลดพนักงาน การปรับโครงสร้าง และการขอคืนใบอนุญาตประกอบการ ในขณะที่สื่อสิ่งพิมพ์อย่างหนังสือพิมพ์และนิตยสารยังคงอยู่ในช่วงขาลงอย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นได้จากการลดจำนวนการตีพิมพ์ การยุติการตีพิมพ์และหันไปนำเสนอคอนเทนต์ผ่านสื่อออนไลน์ แต่ก็ยังมีหนังสือพิมพ์และนิตยสารอีกหลายเล่มที่สามารถเอาตัวรอดและยังมีที่ยืนในช่วงเวลาที่เรียกได้อย่างเต็มปากว่าเป็น “ยุคของสื่อออนไลน์และโซเชียลมีเดีย”
แน่นอนว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องนี้ ยังไม่มีแนวโน้มว่า จะสิ้นสุดลงเมื่อใด การปรับตัวของสื่อให้เท่าทันเทคโนโลยี เพื่อการนำเสนอคอนเทนต์ที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค และแหล่งที่มาของรายได้ ในขณะเดียวกันก็ยังคงรักษาสมดุลในการทำหน้าที่สื่อต่อไปได้ ถือเป็นความท้าทายที่ยากจะหลีกเลี่ยงในยุคดิจิทัลดิสรัปชัน
เจาะลึกภูมิทัศน์สื่อไทย 2563
- บทนำ
- โซเชียลมีเดีย
- Over-the-Top TV
- ทีวีดิจิทัล
- อินฟลูเอนเซอร์
- เว็บไซต์
- สำนักข่าว
- วิทยุ
- นิตยสาร
- หนังสือพิมพ์
- บทสรุป