นิตยสาร

ปี 2562 ยังคงเป็นช่วงขาลงของนิตยสารของไทยและต่างประเทศ โดยนิตยสารประเภทต่าง ๆ ได้ทยอยปิดตัวไปถึง 19 เล่ม นิตยสารที่ประเดิมปิดตัวในช่วงเดือนมกราคม 2562 ได้แก่ นิตยสาร mother & care ซึ่งเป็นนิตยสารสำหรับแม่และเด็กที่ตัดสินใจยุติการตีพิมพ์ และปรับการทำคอนเทนต์มาสู่โลกออนไลน์อย่างเต็มตัว

นิตยสารประเภทต่าง ๆ ที่ได้ทยอยประกาศปิดตัวไปอย่างต่อเนื่องในปี 2562 มีหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นนิตยสารกลุ่มยานยนต์อย่าง BUS & TRUCK, นิตยสารสำหรับวัยรุ่นและกลุ่มเริ่มทำงานอย่าง HAMBURGER, นิตยสารที่เน้นการนำเสนอเรื่องอาหารอย่าง ครัวคุณต๋อย, แม่บ้าน และ Health Today, นิตยสารสายท่องเที่ยวจากต่างประเทศอย่าง Lonely Planet ไม่เว้นแม้แต่นิตยสารเฉพาะทางอย่าง My Home, THE POWER LOGISTICS, แหล่งธุรกิจพารวย และ Thailand Economic & Business Review ขณะที่นิตยสารชื่อดังในเครือบริษัทโพสต์ อินเตอร์เนชันเนล มีเดีย อย่าง Science Illustrated นิตยสารด้านวิทยาศาสตร์ที่อยู่คู่แผงหนังสือมาถึง 8 ปีเต็ม และ Cleo นิตยสารผู้หญิงที่มีฐานผู้อ่านมายาวนานกว่า 22 ปี ก็ได้ประกาศปิดตัวลงในปี 2562 ด้วยเช่นกัน โดย Cleo ได้ให้เหตุผลว่าทางบริษัทหมดสัญญาการใช้ลิขสิทธิ์กับบริษัทเจ้าของลิขสิทธิ์ และตัดสินใจที่จะไม่ต่ออายุสัญญา

ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2562 ก็ยังเป็นช่วงเวลาที่นิตยสารอีกหลายเล่มประกาศยุติจัดทำนิตยสารฉบับตีพิมพ์ โดย MiX นิตยสารผู้ชายก็ได้ประกาศจุดยืนที่ชัดเจนว่าจะหันไปทำ E-book และสื่อออนไลน์ ขณะที่นิตยสาร B-CONNECT, C MAX CAR และ RUSH ก็ได้ยุติการพิมพ์ลงเป็นที่เรียบร้อย ส่วนนิตยสารแจกฟรีตามสถานีรถไฟฟ้าอย่าง DONT Journal ยังขอเดินหน้าต่อไปด้วยการรีแบรนด์ใหม่ภายใต้ชื่อ the edition

นิตยสารกุลสตรีตีพิมพ์ฉบับสุดท้ายในเดือนกันยายน 2562

หนึ่งในความเคลื่อนไหวที่ชี้ให้เห็นถึงกระแสดิจิทัลที่ส่งผลกระทบต่อสื่อสิ่งพิมพ์ ได้แก่ การประกาศปิดตัวของ “กุลสตรี” หนึ่งในนิตยสารระดับตำนานของกลุ่มผู้อ่านหญิงไทยที่อยู่คู่แผงหนังสือมากว่า 48 ปี โดยทางบริษัทได้ให้เหตุผลว่าจะรุกตลาดออนไลน์อย่างเต็มตัว ผ่านการนำเสนอคอนเทนต์ในแฟนเพจ https://www.facebook.com/KullastreeMagazine

การที่นิตยสารหลายฉบับตัดสินใจปิดตัวไปนั้น ส่งผลให้ช่องทางการโฆษณาผ่านนิตยสารฉบับตีพิมพ์มีจำนวนลดลงตามไปด้วย ขณะที่ผู้ประกอบการนิตยสารและผู้ที่ต้องการลงโฆษณาต่างหันไปให้ความสนใจในช่องทางอื่น ๆ มากกว่า เช่น ช่องทางอย่างเว็บไซต์และโซเชียลมีเดีย เนื่องจากสามารถเข้าถึงผู้อ่านได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังเป็นช่องทางที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคในปัจจุบันที่ส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟนได้ทุกที่ ทุกเวลา

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวสอดคล้องกับอัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมโฆษณาดิจิทัล โดยสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) ร่วมกับบริษัท คันทาร์ อินไซด์ (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า งบโฆษณาดิจิทัลในปี 2562 มีมูลค่า 20,163 ล้านบาท ขยายตัวขึ้น 19% เมื่อเทียบรายปี และเมื่อแยกย่อยลงตามประเภทสื่อแล้ว เฟซบุ๊กถือเป็นสื่อออนไลน์ที่มาแรงที่สุด โดยมีสัดส่วนของงบการโฆษณาสูงถึง 29% หรือคิดเป็นเงินมูลค่า 5,762 ล้านบาท1 จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมนิตยสารที่ผันตัวมาจับตลาดออนไลน์ถึงเลือกอัปเดตคอนเทนต์ลงในแฟนเพจเฟซบุ๊กเป็นหลัก

ด้วยเหตุนี้ แม้นิตยสารหลายเล่มจะยุติการตีพิมพ์ แต่นิตยสารจำนวนไม่น้อยก็ยังไม่ยอดแพ้ และผันตัวเข้าไปสู่โลกของสื่อออนไลน์ ส่งผลให้การทำคอนเทนต์ในกลุ่มนิตยสารออนไลน์มีความเข้มข้นมากขึ้น เพื่อดึงดูดฐานคนอ่านไว้ให้ได้ท่ามกลางการแข่งขันที่สูงขึ้น


การปรับรูปแบบการนำเสนอเพื่อยืนหยัดในโลกยุคดิจิทัล

ในยุคปัจจุบันที่สื่อออนไลน์เป็นช่องทางหลักในการอ่านข้อมูลข่าวสาร หากสื่อสิ่งพิมพ์ที่มีมายาวนานอย่าง นิตยสารจะยืนหยัดและแข่งขันกับสื่อออนไลน์ประเภทอื่น ๆ ได้นั้น การปรับเนื้อหาให้อยู่ในรูปแบบเฉพาะทางมากขึ้น เพื่อจับฐานผู้อ่านที่เป็นกลุ่มเฉพาะทาง หรือกลุ่มผู้อ่านเดิมที่เป็นแฟนนิตยสารและติดตามนิตยสารเล่มใดเล่มหนึ่งมาอย่างยาวนาน ซึ่งมีแนวโน้มว่า กลุ่มผู้อ่านเดิมจะติดตามนิตยสารที่ตนเองชื่นชอบในระยะยาวมากกว่าผู้อ่านขาจร ตัวอย่างของนิตยสารที่เน้นการนำเสนอเนื้อหาเชิงลึกที่ไม่สามารถอ่านได้จากหน้าจอเพียงอย่างเดียว เช่น นิตยสาร“สารคดี” ซึ่งสามารถยืนหยัดอยู่คู่แผงหนังสือมาได้ถึง 34 ปี ด้วยการนำเสนอเรื่องราวประวัติศาสตร์ ศิลปะวัฒนธรรม และบุคคลสำคัญได้แบบเจาะลึก

“a day” ก็เป็นนิตยสารอีกเล่มที่สามารถยืนหยัดได้ในยุคดิจิทัล ด้วยความที่ a day นำเสนอคอนเทนต์เฉพาะกลุ่ม นิตยสารเจาะกลุ่มและเลือกใช้ฐานผู้อ่านเป็นกลยุทธ์ในการทำกิจกรรมต่างๆ การที่ a day เป็นนิตยสารอยู่คู่แผงหนังสือมากว่า 20 ปี ทำให้มีกลุ่มผู้อ่านที่หลากหลาย โดยคุณศิวะภาค เจียรวนาลี บรรณาธิการบริหารมองว่า บริษัทสามารถใช้กลุ่มผู้อ่านในการต่อยอดไปยังธุรกิจอื่น ๆ ได้ เช่น การจัดอีเวนท์หรือนิทรรศการต่าง ๆ เป็นต้น อีกทั้งการรู้จักกลุ่มผู้อ่านของตัวเองเป็นอย่างดี ยังทำให้ a day สามารถวิเคราะห์ได้อีกด้วยว่าจริง ๆ แล้วผู้อ่านสนใจหัวข้อเรื่องใด2

ขณะเดียวกัน การสร้างคอนเทนต์ที่จับกลุ่มผู้อ่านเฉพาะทางยังทำให้การนำเสนอเนื้อหาในนิตยสารสามารถรับมือกับคอนเทนต์ออนไลน์ซึ่งปัจจุบันมีอินฟลูเอ็นเซอร์และแฟนเพจเฟซบุ๊กผุดขึ้นมากมาย ยกตัวอย่างเช่นนิตยสาร “Hello” ที่พุ่งเป้านำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับราชวงศ์ไทยและต่างชาติ โดย Hello มีเนื้อหาสาระที่เอ็กซ์คลูซีฟและไม่สามารถหาอ่านได้จากสื่อออนไลน์ เรียกได้ว่า คอนเทนต์ที่แตกต่างและมีรูปแบบเฉพาะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้นิตยสารยังคงนำเสนอคอนเทนต์ต่อไปได้ ท่ามกลางการสมรภูมิการแข่งขันของโซเชียลมีเดียและสื่อออนไลน์

นอกจากนี้ การให้ความสำคัญกับการถ่ายภาพและการออกแบบรูปเล่มก็เป็นอีกปัจจัยที่จะทำให้ผู้อ่านได้รับประสบการณ์การอ่านที่แตกต่าง เพราะนอกจากคอนเทนต์ที่มีคุณภาพแล้ว เสน่ห์อย่างหนึ่งของนิตยสารฉบับกระดาษคือศิลปะของการจัดวางองค์ประกอบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเลย์เอาท์ตัวหนังสือ หรือภาพประกอบที่มีความสวยงาม ซึ่งหน้าจอมือถือและคอมพิวเตอร์ไม่สามารถให้ความรู้สึกประณีตเช่นนี้ให้กับผู้อ่านได้ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้นิตยสารกลายเป็นของสะสมที่น่าซื้อหามาเก็บไว้

ข้อมูลจากผลสํารวจของบริษัท นีลเส็น ประเทศไทย พบว่า เม็ดเงินโฆษณาในนิตยสาร ปี 2562 ลดลงจากปี 2561 อย่างต่อเนื่อง โดยในแต่ละเดือนของปี 2562 มีเม็ดเงินที่หายไปเฉลี่ยกว่า 80.1 ล้านบาทเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2561 นิตยสารจึงมีบทบาทลดลง ขณะที่การใช้เงินโฆษณาของแบรนด์ต่าง ๆ จะมองที่วัตถุประสงค์และกลุ่มเป้าหมายเป็นหลัก ซึ่งในปัจจุบันมีหลายแบรนด์ที่เลือกใช้การโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์หรืออินฟลูเอ็นเซอร์เพียงอย่างเดียว หรือบางแบรนด์ต้องการลงพื้นที่เฉพาะ อาจเลือกใช้งบกับสื่อในท้องถิ่น หรือเปลี่ยนประเภทสื่อไปเรื่อยๆ ตามโจทย์ของสินค้านั้นๆ

ในขณะเดียวกัน ค่าโฆษณาของนิตยสารมีแนวโน้มถูกลง ซึ่งไม่ได้มีสาเหตุมาจากการปรับลดราคาของผู้ประกอบการ แต่เป็นวิธีการกระตุ้นยอดโฆษณาด้วยการเพิ่มโปรโมชั่นหรือนำเสนอค่าโฆษณาแบบแพ็กเกจ อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์ดังกล่าวอาจจะช่วยกระตุ้นยอดขายได้ไม่มากนัก เนื่องจากปัญหาที่แท้จริงมาจากการที่ไลฟ์สไตล์ของผู้อ่านในยุคปัจจุบันหันมาอ่านสื่อออนไลน์เป็นหลัก ไม่ค่อยรับข่าวสารจากนิตยสาร ส่งผลให้เมื่อหารเฉลี่ยเม็ดเงินต่อจำนวนผู้อ่านแล้ว การยิงโฆษณาออกมาจึงไม่คุ้มทุน ทำให้จำนวนการซื้อโฆษณาในนิตยสารลดลงอย่างต่อเนื่อง

เมื่อพิจารณาจากตารางข้างต้นแล้วจะพบว่า นิตยสารที่มียอดตีพิมพ์มากที่สุดจะเป็นนิตยสารด้านไลฟ์สไตล์ ซึ่งชี้ให้เห็นว่าผู้อ่านในประเทศไทยยังคงนิยมอ่านคอนเทนต์ที่อ่านง่าย มีครบทุกรสชาติ เพื่อการอัปเดตข่าวสารอย่างครอบคลุมของผู้อ่าน นอกจากนี้ ยังมีอีกประเด็นที่น่าสนใจที่ว่า จำนวนของนิตยสารแจกฟรีที่ติดท็อป 10 หดตัวลงอย่างมาก กรณีการปิดตัวของนิตยสารแจกฟรีตามสถานีรถไฟฟ้าหรือร้านกาแฟในกรุงเทพฯ ชี้ให้เห็นว่า แม้แต่นิตยสารแจกฟรีที่เคยเป็นทางรอดเพื่อหารายได้จากโฆษณาของบริษัทสื่อรายใหญ่ๆ ก็อาจเป็นกลยุทธ์ที่ไม่ใช่ “คำตอบ” อีกต่อไป


รูปแบบการนำเสนอคอนเทนต์ของนิตยสารยอดนิยม 10 อันดับแรก

AROUND

AROUND เป็นนิตยสารแจกฟรีรายเดือนในเครือบริษัท ไลฟ์สไตล์ แอนด์ ทราเวล มีเดีย จำกัด ซึ่งร่วมกันจัดทำกับ Citibank นำเสนอเนื้อหาเจาะกลุ่มไลฟ์สไตล์ของคนเมือง ไม่ว่าจะเป็นแฟชั่น แหล่งท่องเที่ยว ร้านอาหาร ความบันเทิง โดยมีกำหนดออกทุกวันที่ 10 ของเดือน และสามารถอ่านได้ในฉบับออนไลน์

Rabbit Today

Rabbit Today เป็นนิตยสารรายวันแจกฟรีบนสถานีรถไฟฟ้า BTS วันจันทร์ถึงศุกร์ ภายใต้การบริหารงานของ บริษัท วันเวิลด์ มีเดีย จำกัด โดยเน้นคอนเทนต์ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนเมือง ไม่ว่าจะเป็นการอัพเดทเทรนด์ใหม่ ๆ ข่าวสารประจำวัน แฟชั่น ความงาม แง่มุมการดำเนินชีวิต การวางแผนการเงิน และแหล่งสังสรรค์ ภายใต้สโลแกน “ตัวจริง เติมเต็ม ไลฟ์สไตล์ คนเมือง” ซึ่งได้ประกาศยุติการตีพิมพ์แล้วในปี 2563

ทีวีพูล

ทีวีพูล เป็นนิตยสารรายปักษ์ในเครือบริษัทไทยอินเตอร์มีเดีย 2515 เป็นนิตยสารประเภทบันเทิง เนื้อหาส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับเรื่องการงานและชีวิตส่วนตัวของดารานักแสดง ไปจนถึงละคร ภาพยนตร์และซีรีส์ที่กำลังได้รับความนิยม จุดเด่นของเล่มคือการนำเสนอภาพเดี่ยวของดาราบนหน้าปกของแต่ละฉบับ

ชีวจิต

ชีวจิต เป็นนิตยสารรายปักษ์ในเครือบริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) โดยบริษัทดำเนิน 4 ธุรกิจหลักด้วยกันได้แก่ สำนักพิมพ์, โรงพิมพ์, จัดจำหน่าย (ร้านนายอินทร์) และทีวีดิจิทัล เนื้อหาของนิตยสารชีวจิตส่วนใหญ่เน้นไปที่วิธีรักษาสุขภาพร่างกายและจิตใจให้แข็งแรง การรักษาโรค เทคโนโลยีรักษาโรค อาหารเสริมเพื่อสุขภาพ ตีพิมพ์มาแล้วถึง 22 ปี

The Edition

The Edition เป็นนิตยสารในเครือบริษัท แอมบิเชียส จำกัดซึ่งดำเนิน 3 ธุรกิจหลักคือการจัดอีเวนต์ การทำโปรดักชันวิดีโอ และการทำนิตยสารหนังสือพิมพ์ โดยสามารถรับหนังสือได้ฟรีทุกวันพฤหัสบดีที่สถานีรถไฟฟ้า BTS 10 สถานี

บ้านและสวน

บ้านและสวน เป็นนิตยสารรายเดือนในเครือบริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) มีเนื้อหาเน้นไปที่การแต่งบ้านและสวนเป็นหลัก มีการแนะนำพันธุ์ไม้ที่เข้ากับลักษณะของพื้นที่ ไอเดียการจัดสวนสไตล์ต่างๆ นอกจากนี้ยังนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับผลงานศิลปะและงานออกแบบ

247

247 เป็นนิตยสารแจกฟรีของเครือบริษัท จีเอ็ม มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)  นำเสนอเรื่องราวประเภทไลฟ์สไตล์ในเมืองใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นทั้งเทรนด์ชุมชนเมือง แฟชั่น ความสวยความงาม สุขภาพ ศิลปะ อาหาร ท่องเที่ยว หรือความบันเทิง

Gourmet & Cuisine

Gourmet & Cuisine เป็นนิตยสารในเครือบริษัท มีเดีย แอสโซซิเอตเต็ด จำกัด ผู้ผลิตสื่อสิ่งพิมพ์และรายการโทรทัศน์ชั้นนำของประเทศไทย อาทิ วารสารการเงินธนาคาร, นิตยสาร Gourmet&Cuisine, นิตยสาร digital Age, นิตยสาร @Kitchen, รายการทีวี Money Deliver, รายการทีวี Money Daily, รายการทีวี Money Biz, รายการทีวี AEC Plus, รายการทีวี Kids Chef, รายการทีวีเปรี้ยวปาก และมหกรรมการเงิน MONEY EXPO

Life & Home

Life & Home เป็นนิตยสารบ้านและการตกแต่ง 2 ภาษาของบริษัท อะโกรมีเดีย จำกัด นำเสนอเรื่องราวของงานดีไซน์ทุกส่วนของการใช้ชีวิตภายในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการตกแต่งทั้งภายนอกและภายใน การจัดสวน ตลอดจนการใช้ชีวิต กิน ดื่ม เที่ยว ในสถานที่ที่เต็มไปด้วยรสนิยมและเป็นที่สนใจในกระแสสังคม

การเงินธนาคาร

การเงินธนาคาร เป็นนิตยสารในเครือบริษัท มีเดีย แอสโซซิเอตเต็ด จำกัด ผู้ผลิตสื่อสิ่งพิมพ์และรายการโทรทัศน์ชั้นนำของประเทศไทย อาทิ วารสารการเงินธนาคาร, นิตยสาร Gourmet & Cuisine, นิตยสาร digital Age, นิตยสาร @Kitchen, รายการทีวี Money Deliver, รายการทีวี Money Daily,รายการทีวี Money Biz, รายการทีวี AEC Plus, รายการทีวี Kids Chef, รายการทีวีเปรี้ยวปาก และมหกรรมการเงิน MONEY EXPO


อ้างอิง