จับกระแสการเติบโตที่สดใสและกลยุทธ์การแข่งขันทางธุรกิจของผู้ให้บริการ OTT TV ในไทย
- กุมภาพันธ์ 2, 2566
- 11:14 น.
ธุรกิจการให้บริการภาพและเสียงผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต (Over the Top TV หรือ OTT TV) ในไทยเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2565 โดยเฉพาะช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19
ข้อมูลจากผลการศึกษา ‘THE FUTURE OF TV 2022’ ฉบับล่าสุดโดย The Trade Desk และ KANTAR ชี้ให้เห็นว่า คนไทยราว 26 ล้านคนเลือกใช้บริการแพลตฟอร์ม OTT TV และใช้เวลาไปกับแพลตฟอร์มดังกล่าวมากถึง 1.4 พันล้านชั่วโมงต่อเดือนซึ่งถือว่าสูงมาก เนื่องจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ตที่ทำให้ผู้บริโภคได้รับบริการที่สามารถตอบโจทย์กับวิถีชีวิตใหม่ได้มากยิ่งขึ้น ข้อมูลจากรายงานยังระบุด้วยว่า คนไทยมองว่า การรับชมรายการ OTT TV มีความสะดวกสบายไม่ยุ่งยากเหมือนการดูโทรทัศน์หรือเคเบิลทีวี และสามารถดูเมื่อไหร่ก็ได้ในเวลาที่ต้องการ
ผลสำรวจโดย The Trade Desk และ KANTAR ในเดือนพฤศจิกายน 2565 ยังระบุอีกด้วยว่า คนไทย 92% ใช้งาน OTT TV มากกว่า 1 แพลตฟอร์ม ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์การแข่งขันระหว่างผู้ให้บริการ OTT TV ในไทยที่ดุเดือดมากยิ่งขึ้น ทั้งในแง่ของคอนเทนต์และราคา เนื่องจากมีผู้ให้บริการหน้าใหม่เข้าร่วมสมรภูมิการแข่งขันเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ให้บริการแต่ละแพลตฟอร์มหันให้ความสำคัญและชูคอนเทนต์เรือธงของตัวเองมากขึ้น เพื่อสร้างฐานลูกค้าพร้อมกับผลิตคอนเทนต์เพิ่มเติมที่มีความหลากหลายเพื่อดึงดูดผู้บริโภคกลุ่มอื่น ๆ ซึ่งรศ. ดร.วิกานดา พรสกุลวานิช คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ให้ความเห็นไว้ว่า
ในสมัยก่อนสตรีมมิ่งเซอร์วิสเคยเป็นสื่อเฉพาะทาง แต่ปัจจุบันสตรีมมิ่งแพลตฟอร์มได้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในวงกว้างขึ้นและทุกเพศทุกวัย ทำให้เกิดการแข่งขันด้านราคาตามมา เวลาที่ลูกค้าเลือกว่าจะจ่ายเงินให้กับสตรีมมิ่งเจ้าใดท่ามกลางทางเลือกที่มีมากขึ้นนั้น ลูกค้าจะพิจารณาหรือเลือกมากกว่าเดิมว่าสตรีมมิ่งเจ้าใดจะสามารถตอบสนองความต้องการของตนเองและคิดค่าบริการในราคาที่คุ้มค่าที่สุด
ข้อมูลจาก สำนักนโยบายและวิชาการกระจายเสียงและโทรทัศน์ และ กสทช. ชี้ให้เห็นด้วยว่า คนไทยใช้บริการ OTT TV ในรูปแบบผู้บอกรับสมาชิก (SVOD) เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยในปี 2564 มีบัญชีผู้ใช้บริการในรูปแบบดังกล่าวมากถึง 6.03 ล้านบัญชี และคาดไว้ว่าในสิ้นปี 2565 จะมีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นแตะที่ 8.99 ล้านบัญชี โดยในปี 2566 การเติบโตดังกล่าวอาจจะชะลอตัวกว่าช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่อนคลายลง และทำให้ผู้คนอาจออกไปใช้ชีวิตและทำกิจกรรมนอกบ้านมากขึ้น
ทั้งนี้ รูปแบบของการให้บริการ OTT TV ในไทยนั้น ทางสำนักนโยบายและวิชาการกระจายเสียงและโทรทัศน์ (วส.) สำนักงาน กสทช. ได้แบ่งผู้ให้บริการ OTT TV ออกเป็น 4 รูปแบบ ได้แก่
- Subscription Video on Demand (SVOD) เป็นรูปแบบการหารายได้จากการเก็บค่าบอกรับสมาชิก โดยผู้ใช้สามารถรับชมคอนเทนต์รายการที่ใด เวลาใดก็ได้ตามต้องการ
- Subscription Linear (SLIN) เป็นรูปแบบการหารายได้จากการให้บริการรับชมคอนเทนต์ออนไลน์ แบบมีผังรายการ โดยผู้ใช้จะรับชมคอนเทนต์ได้แบบสด ๆ ตามเวลาที่ออกอากาศตามผังรายการที่กำหนด
- Digital Rental เป็นรูปแบบการหารายได้จากการให้บริการคอนเทนต์แบบครั้งเดียวจบ โดยผู้ใช้จะจ่ายค่าบริการเป็นรายครั้งเมื่อรับชมคอนเทนต์ และ
- Election Sell Through (EST) เป็นรูปแบบการหารายได้จากค่าบริการดาวน์โหลดเนื้อหา โดยผู้ใช้จะจ่ายค่าบริการ 1 ครั้งต่อการดาวน์โหลด 1 เนื้อหา ซึ่งคอนเทนต์ดังกล่าวจะสามารถเก็บไว้รับชมกี่ครั้งก็ได้ ในเวลาใดก็ได้ตามต้องการ
ส่องส่วนแบ่งตลาด OTT TV ปี 65 เน็ตฟลิกซ์ยังครองแชมป์
หากจะพูดถึงส่วนแบ่งตลาดแพลตฟอร์ม OTT TV รูปแบบ SVOD ในไทยนั้น ข้อมูลช่วงเดือนมกราคม-กันยายน 2565 จาก JustWatch ระบุว่า เน็ตฟลิกซ์ (Netflix) เป็นผู้ให้บริการที่สามารถครองส่วนแบ่งตลาดในไทยได้เป็นอันดับ 1 ที่สัดส่วน 41% ขณะที่ Prime Video, Hotstar, and HBO Go แข่งขันขับเคี่ยวกันอย่างสูสีโดยมีส่วนต่างของส่วนแบ่งตลาดของแต่ละแพลตฟอร์มห่างกันเพียงแค่ 1% เท่านั้น
ขณะเดียวกัน เมื่อมองภาพรวมส่วนแบ่งตลาดทั้งหมดแล้ว Disney+ Hotstar ผู้ให้บริการ OTT TV ยักษ์ใหญ่จากดิสนีย์มีอัตราการเติบโตเป็นอันดับ 1 โดยสามารถคว้าส่วนแบ่งตลาดได้เพิ่มขึ้น 3% ในขณะที่ Viu ผู้ให้บริการคอนเทนต์ซีรีส์เกาหลี และรายการบันเทิงหลากหลายรูปแบบ และไพรม์ วิดีโอ (Prime Video) แพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่จากฝั่งตะวันตกที่พึ่งก้าวเข้าสู่สมรภูมิ OTT TV ไทยสามารถเติบโตไปได้มากถึง 2% เลยทีเดียว
คอนเทนต์กลยุทธ์เด็ด OTT TV ไทย
การที่จะได้มาซึ่งส่วนแบ่งตลาดนั้น ทางผู้ให้บริการ OTT TV ในไทยต่างรับรู้และตระหนักดีถึงแนวโน้มการแข่งขันที่สูงขึ้นและไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปหลังจากสถานการณ์โควิด ผู้ให้บริการเหล่านี้จึงคิดค้นกลยุทธ์เพื่อรักษาและขยายฐานผู้ชมกันอย่างเต็มที่ เพราะอานิสงส์ที่ผู้คนใช้เวลาอยู่กับบ้านในช่วงโควิดกำลังจะสิ้นสุดลง แล้วผู้ให้บริการเหล่านี้จะเดินหน้าต่อไปอย่างไร เรามาเริ่มต้นกันด้วยผู้ให้บริการซีรีส์ระดับพรีเมียมที่มีจุดเด่นคือซีรีส์จีนอย่าง WeTV
WeTV สร้างการจดจำด้วยคอนเทนต์คุณภาพ
WeTV ได้เลือกใช้กลยุทธ์ในการสร้างการจดจำให้กับคนดูผ่านคอนเทนต์คุณภาพ ด้วยการผลิตออริจินัลคอนเทนต์คุณภาพ เช่น ซีรีส์ “เล่ห์แค้น” ที่ได้เข้าชิงรางวัลรางวัลนาฎราช ครั้งที่ 13 ประจำปี 2564 หรือซีรีส์จีนคุณภาพระดับพรีเมียมอย่าง “ดาราจักรรักลำนำใจ (Love Like the Galaxy)” ซึ่งครองอันดับหนึ่งบนแพลตฟอร์ม WeTV รวมถึงซีรีส์วายที่ติดอันดับซีรีส์วายน่าดูประจำปีหลายสำนักมาแล้ว
นอกจากนี้ ด้วยจำนวนผู้ใช้งานแพลตฟอร์ม WeTV ในไทยที่อยู่ในช่วงอายุ 40-50 ปีเริ่มมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทางแพลตฟอร์มจึงจัดทำเวอร์ชั่นพากษ์เสียงภาษาไทยให้กับซีรีส์ต่าง ๆ สำหรับกลุ่มผู้ใช้งานที่นิยมดูซีรีส์แต่ไม่สะดวกในการรับชมแบบออริจินัล ซาวด์แทรค (Original Soundtrack) เพื่ออำนวยความสะดวกในการรับชมให้กับผู้ชมกลุ่มอายุช่วงดังกล่าว
เน็ตฟลิกซ์เพิ่มหนังฟอร์มยักษ์
ในช่วงหลังมานี้ หากลองสังเกตดูจะเห็นได้ว่า แนวทางการนำเสนอคอนเทนต์ใหม่ ๆ ของเน็ตฟลิกซ์เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่เคยปล่อยภาพยนตร์ต้นทุนต่ำจำนวนมากออกมานำเสนอ เมื่อเร็ว ๆ นี้ เน็ตฟลิกซ์ได้หันมาเน้นที่การสร้างหนังฟอร์มยักษ์คุณภาพเยี่ยมแทน โดยในปี 2565 เน็ตฟลิกซ์ได้เผยแพร่ภาพยนตร์ฟอร์มใหญ่ที่เป็นกระแสหลายเรื่องไม่ว่าจะเป็น The Gray Man หรือ The Adam Project นอกจากนี้ เน็ตฟลิกซ์ยังทุ่มเม็ดเงินไปกับการซื้อลิขสิทธิ์ภาพยนตร์คุณภาพมากขึ้นเมื่อเทียบกับสมัยก่อน อย่างไรก็ตาม นั่นไม่ได้หมายความว่า เน็ตฟลิกซ์จะทิ้งภาพยนตร์ต้นทุนต่ำไปเสียทีเดียว เพียงแต่เน็ตฟลิกซ์ ได้หันเหทิศทางของภาพยนตร์เหล่านี้มาเจาะกลุ่มเป้าหมายผู้ชมเฉพาะกลุ่มให้ตรงกลุ่มมากยิ่งขึ้น
คอนเทนต์เอาใจคอเกม
หลังจากที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่กับ “Arcane” แอนิเมชันซีรีส์จากเกมออนไลน์ยอดนิยมอย่าง League of Legends ไปเมื่อปี 2564 ดูเหมือนว่า เน็ตฟลิกซ์จะเริ่มหันมาเอาจริงเอาจังกับการเจาะกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้เล่นเกมและอ่านการ์ตูนมากขึ้น ซึ่งในปี 2565 เน็ตฟลิกซ์ได้ยกขบวนซีรีส์จากเกมและการ์ตูนเข้ามาฉายบนแพลตฟอร์มประเทศไทยมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็น “The Cuphead Show!”, “Resident Evil: ผีชีวะ (Resident Evil)”, “Tekken: Bloodline” หรือซีรีส์จากเกมที่ประสบความสำเร็จและเป็นกระแสมากที่สุดในไทยอย่าง “CYBERPUNK: EDGERUNNERS” นอกจากนี้ Netflix ยังได้จับมือกับค่ายเกมดังอย่าง Ubisoft เพื่อสร้าง 3 เกมสุดเอ็กซ์คลูซีฟ สำหรับสมาชิกเน็ตฟลิกซ์ทั่วโลกอีกด้วย
ยูทูบเปิดตัว Super Chat และ Super Sticker เอาใจสตรีมเมอร์และผู้ชมสายเปย์
ยูทูบได้เปิดตัวฟีเจอร์ใหม่ Super Chat และ Super Sticker เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2565 ซึ่งเป็นฟีเจอร์ที่เอาใจผู้ชมและนักทำคอนเทนต์สายไลฟ์สตรีม โดยฟีเจอร์ดังกล่าว คือข้อความสีสันที่ผู้ชมคอนเทนต์สามารถซื้อได้และจะแสดงอยู่บนช่องแชทสด โดยระยะเวลาและสีของข้อความจะปรากฏขึ้นอยู่กับจำนวนเงินที่ผู้ซื้อจ่ายไป ซึ่งราคา Super Chat ของประเทศไทยเริ่มตั้งแต่ 20 บาทเป็นต้นไป หากมองในแง่ของคอนเทนต์ ฟีเจอร์ดังกล่าวไม่เพียงแต่จะสร้างรายได้ให้กับทั้งทางยูทูบ และนักทำคอนเทนต์แล้ว ยังช่วยให้ผู้ชมรู้สึกใกล้ชิดกับคอนเทนต์มากขึ้นจากความรู้สึกที่ได้สนับสนุนนักทำคอนเทนต์
ทั้งนี้ ความสำเร็จที่น่าสนเกี่ยวกับ Super Chat และ Super Sticker ในไทยต้องยกให้กับ Heartrocker หรือที่หลายคนรู้จักกันในชื่อ “พี่เอก” ที่สามารถทำเงินจาก Super Chat ทะลุ 1 แสนบาทสองวันติดต่อกัน โดยสามารถทำเงินจากการไลฟ์สตรีมในวันที่ 14-15 ตุลาคม 2565 ไปได้ถึง 326,158 บาท
Viu เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายด้วยคอนเทนต์เสียงพากษ์ “ภาษาถิ่น”
จากแนวคิดที่ต้องการนำเสนอคอนเทนต์ที่ตรงกับความต้องการของผู้ใช้งานแพลตฟอร์มในแต่ละพื้นที่ให้ได้มากที่สุด Viu จึงได้นำเสนอคอนเทนต์ซีรีส์พากษ์ไทย ภาษาถิ่นทั้งภาษาอีสานและภาษาเหนือ เพื่อให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น โดย Viu เป็นแพลตฟอร์มเดียวในไทย ณ เวลานี้ที่มีการนำเสนอคอนเทนต์ในรูปแบบดังกล่าว นับว่าเป็นหนึ่งในการกลยุทธ์ด้านการทำคอนเทนต์ที่น่าสนใจและให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้ชมมากเลยทีเดียว
ไขกลยุทธ์การโปรโมทธุรกิจและบริการของผู้ให้บริการ OTT TV
นอกจากกลยุทธ์ด้านคอนเทนต์แล้ว ปัจจุบันแพลตฟอร์ม OTT TV ต่าง ๆ ในไทย ได้ใช้กลยุทธ์การโปรโมทแพลตฟอร์มที่หลากหลายมากขึ้น กลยุทธ์การตลาดที่แต่ละค่ายใช้ในปี 2565 มีความแตกต่างและสะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมผู้รับชมและผู้บริโภคในไทยได้เป็นอย่างดี
- การโปรโมทโดยการผสานสื่อหลายแพลตฟอร์ม
ปัจจุบันแพลตฟอร์ม OTT TV โฆษณาในรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น การเลือกใช้สื่อในการโฆษณามีทั้งออนไลน์และออฟไลน์ หนึ่งในตัวอย่างของการใช้สื่อเพื่อทำการตลาดและโปรโมทคอนเทนต์และบริการจาก WeTV เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงการใช้ศักยภาพจากสื่อประเภทต่าง ๆ คุณเจี๊ยบ กนกพร ปรัชญาเศรษฐ ผู้จัดการ WeTV ประเทศไทย ได้เปิดเผยถึงรูปแบบการใช้สื่อของ WeTV ว่า ทางแพลตฟอร์มใช้ช่องทางดิจิทัลและโซเชียลมีเดีย 80% และช่องทางออฟไลน์อีกราว 20% WeTV โปรโมทผ่านโซเชียลมีเดียทุกช่องทาง ครอบคลุมทั้งเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ ติ๊กต๊อก และยูทูบ ซึ่งแต่ละช่องทางจะมีการออกแบบรูปแบบการโปรโมทให้สอดคล้องกับกลุ่มผู้ใช้งานบนแต่ละโซเชียลมีเดียแต่ละประเภท และมุ่งเน้นกิจกรรมที่ให้ผู้ใช้งานได้มีส่วนร่วม ขณะเดียวกัน การโปรโมทผ่านช่องทางออฟไลน์นั้น WeTV จะโฆษณาผ่านบิลบอร์ดขนาดใหญ่ รวมถึง ตู้ชาร์จแบตเตอรีตามห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ หรือ Vending Machine ตามสถานีรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ และจุดต่าง ๆ ในต่างจังหวัด นับเป็นช่องทางการโฆษณาที่เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคที่นิยมใช้เวลาในห้างสรรพสินค้าได้ดีเป็นอย่างยิ่ง
- จับมือกันลุยไปได้ไกลด้วยการสร้างพาร์ทเนอร์
การจับมือเป็นพันธมิตร (Partnership) ร่วมกับแบรนด์อื่นนับเป็นอีกกลยุทธ์การตลาดยอดนิยมที่มาแรงในปี 2565 เลยก็ว่าได้ ผู้ให้บริการ OTT TV หลายแพลตฟอร์มได้จับมือกับแบรนด์ต่าง ๆ เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ตัวอย่างเช่น Viu ซึ่งมีคอนเทนต์ซีรีส์พากษ์ไทยแบบภาษาถิ่นอยู่แล้ว ที่ได้ร่วมงานกับ “ส้มตำนัว” เปิดตัวแคมเปญ “ส้มตำพาม่วน” ที่จะแจกโค้ด Viu Premium 1 เดือนฟรี เมื่อลูกค้าสั่งเมนูโปรโมชั่นที่ร่วมรายการกับส้มตำนัวผ่านช่องทางเดลิเวอรี่ เพื่อขยายฐานลูกค้าท้องถิ่นให้มากขึ้น ภายใต้แนวคิดที่ต้องการให้แพลตฟอร์มเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันมากยิ่งขึ้น
อีกตัวอย่างหนึ่งของการจับมือเป็นพันธมิตรที่น่าสนใจคือ WeTV ที่ได้ร่วมงานกับทางสำนักพิมพ์แบบพับลิชชิ่งเฮาส์ (Publishing House) ในการโปรโมทนิยายและ WeTV เพื่อการผลักดันยอดขายทั้งนิยายและโปรโมทแพลตฟอร์ม รวมถึงการจัดทำสินค้าที่ระลึกจากนิยายที่ถูกนำไปทำเป็นซีรีส์อีกด้วย
ขณะเดียวกัน เน็ตฟลิกซ์ได้ร่วมมือกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) อย่างเป็นทางการ เพื่อผลักดันการนำเสนอการท่องเที่ยว วัฒนธรรม ความสวยงามของไทย ออกสู่สายตาชาวโลก ผ่านทางภาพยนตน์ ซีรีส์ รวมถึงสารคดี “Midnight Asia: กิน เต้น ฝัน” ซึ่งเป็นคอนเทนต์แรกจากความร่วมมือกันอย่างเป็นทางการในครั้งนี้ นอกจากนี้ เน็ตฟลิกซ์ยังได้ร่วมมือกับสถานีโทรทัศน์ช่อง 3HD ในการนำคอนเทนต์ละครออกฉายในวันเดียวกันทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
- กิจกรรม Fan Service
อีกหนึ่งกลยุทธ์การโปรโมทแพลตฟอร์ม OTT TV คือ การจัดกิจกรรมประเภท Fan Service กิจกรรมในรูปแบบนี้ที่จัดขึ้นไปแล้ว เช่น Viu และ iQIYI โดยทาง Viu ได้จัดกิจกรรมแจกบัตรแฟนมีต LeeJeHoonOnTheSceneTH 1st Fan Meeting in Bangkok 2022 ดาราดังจากเกาหลี ให้แก่สำหรับสมาชิก Viu Premium ที่ใช้บริการตั้งแต่ 6 เดือน หรือซื้อแพคเกจ 6 เดือนขึ้นไป ขณะเดียวกัน ทาง iQIYI ได้มีการจัดกิจกรรมให้แก่สมาชิก iQIYI VIP ที่ซื้อแพคเกจ 6 เดือน หรือ 1 ปี ให้ได้ร่วมสนุกเพื่อลุ้นรับบัตรคอนเสิร์ต KINNPORSCHE THE SERIES WORLD TOUR 2022 “BANGKOK”
จากรายงานข้างต้น จึงสะท้อนให้เห็นว่า OTT TV ในไทยยังคงได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ชม เนื่องจากผู้บริโภคหันมาใช้งานกันมากขึ้น ประกอบกับการแข่งขันที่ดุเดือดทั้งด้านการทำคอนเทนต์และการทำตลาด ยิ่งตอกย้ำว่า อุตสาหกรรม OTT TV ยังมีช่องทางให้เติบโตต่อไปได้อีก
จับตาธุรกิจและบริการ OTT TV ไทยผ่านมุมมอง "คุณเจี๊ยบ" กนกพร ปรัชญาเศรษฐ แม่ทัพหญิงแกร่ง ผู้จัดการ WeTV ประจำประเทศไทย
อ้างอิง
เทรนด์ OTT ในไทยเป็นอย่างไร เปิดข้อมูลที่แบรนด์ควรสนใจจากรีพอร์ต The Future of TV 2022. 2565. [ออนไลน์] https://www.marketingoops.com/reports/ttd-thailand-ott-report/
รายงานวิเคราะห์พฤติกรรมการแข่งขันใน กิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์และกิจการที่เกี่ยวข้อง Q3/2565. 2565. [ออนไลน์] https://broadcast.nbtc.go.th/data/academic/file/650900000005.pdf
ตลาดบริการ OTT: การเติบโตของรายได้และจำนวนผู้ใช้บริการ OTT ทั่่วโลก. 2565 [ออนไลน์] https://broadcast.nbtc.go.th/data/academic/file/650900000002.pdf
เจาะลึกกลยุทธ์ใหม่ “Netflix” เน้น “คุณภาพ” มากกว่าปริมาณ. 2565. [ออนไลน์] https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/1009898
เตรียมพบกับผลงานซีรีส์มากมายหลากหลายแนวที่จะยกขบวนมาเปิดฉายทาง Netflix ในปี 2022. 2564. [ออนไลน์] https://about.netflix.com/th/news/a-powerful-breadth-of-genre-series-is-coming-to-netflix-in-2022
Netflix จับมือกับ Ubisoft สร้าง 3 เกมเอ็กซ์คลูซีฟบนมือถือสำหรับสมาชิกทั่วโลก พร้อมเล่นปี 2023. 2565. [ออนไลน์] https://about.netflix.com/th/news/netflix-partners-with-ubisoft-to-create-three-exclusive-mobile-games-for
จัดการ Super Chat และ Super Stickers ของ YouTube สำหรับแชทสด. 2565. [ออนไลน์] https://support.google.com/youtube/answer/7288782?hl=th
HRK ทำเงินจาก Super Chat ทะลุ 1 แสนบาทสองวันติดต่อกัน. 2565 [ออนไลน์] https://thethaiger.com/th/news/686042/
ส้มตำนัว จับมือ Viu (วิว) เปิดตัวแคมเปญ “ส้มตำนัวพาม่วน”. 2565 [ออนไลน์] https://www.brandage.com/article/30569
Viu (วิว) ตอกย้ำความสำเร็จ “เสียงพากย์ภาษาท้องถิ่น” เดินหน้าบุกตลาดภาคเหนือ อัดโปรโมตเต็มสูบ. 2565. [ออนไลน์] https://marketeeronline.co/archives/272325
“Netflix” จับมือการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โปรโมทการท่องเที่ยว และวัฒนธรรมไทยผ่านภาพยนตร์. 2565. [ออนไลน์] https://www.thestorythailand.com/21/01/2022/52803/
6 ละครใหม่ช่อง 3 ขึ้น Netflix เจาะตลาดอาเซียน. 2565. [ออนไลน์] https://www.tvdigitalwatch.com/pr-ch3-5-8-65/
ลุ้นรับบัตรแฟนมีต #LeeJeHoonOnTheSceneTH 1st Fan Meeting in Bangkok 2022. 2565. [ออนไลน์] https://twitter.com/Viu_TH/status/1535124602938089473
#อ้ายมาแจก บัตร KINNPORSCHE THE SERIES WORLD TOUR 2022 “BANGKOK”. 2565. [ออนไลน์] https://twitter.com/iqiyi_thailand/status/1547566723699994625
OTT TV
- แนวโน้มสื่อไทย 2568
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2567
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2566
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2565
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2564
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2563
- Thai Media Trends 2025 (English Version)
- Thailand Media Landscape 2023-2024 (English Version)
- Thailand Media Landscape 2022-2023 (English Version)
- Thailand Media Landscape 2021-2022 (English Version)