จับตาธุรกิจและบริการ OTT TV ไทยผ่านมุมมอง "คุณเจี๊ยบ" กนกพร ปรัชญาเศรษฐ แม่ทัพหญิงแกร่ง ผู้จัดการ WeTV ประจำประเทศไทย

เชื่อแน่ว่า หลาย ๆ คนคงจะเริ่มดูหรือติดซีรีส์กันงอมแงมในช่วงที่ต้องกักตัวที่บ้าน เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา Over-the-Top TV หรือ OTT TV จึงเป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมมาอย่างต่อเนื่องในไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้จำนวนผู้ให้บริการและผู้ใช้งานเพิ่มขึ้น การแข่งขันของผู้ให้บริการจากค่ายต่าง ๆ จึงคึกคักตามไปด้วย ดังจะเห็นได้จากการนำซีรีส์ต่างประเทศที่คาดว่าจะได้รับความนิยมเผยแพร่พร้อมกันกับประเทศต้นทาง หรือซีรีส์ที่ผลิตในไทยเผยแพร่บนสตรีมมิงแพลตฟอร์มและ OTT TV พร้อม ๆ ไปกับการออนแอร์ทางทีวีดิจิทัลจนกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว

เมื่อโควิด-19 คลี่คลายลง แนวโน้มและทิศทาง OTT TV ต่อจากนี้ในไทยจะเป็นอย่างไร “คุณเจี๊ยบ” กนกพร ปรัชญาเศรษฐ ผู้จัดการ WeTV ประจำประเทศไทย และประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดและการขาย บริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นผู้บริหารที่คร่ำหวอดในแวดวงดิจิทัล เทคโนโลยี และเอ็นเตอร์เทนเมนต์ มีเดีย มานานกว่าทศวรรษ พร้อมให้คำตอบ

ปัจจุบันผู้ให้บริการแต่ละเจ้ามีจุดยืนที่ชัดเจนในการทำตลาด ไม่มีใครกล้าพูดแล้วว่า แพลตฟอร์มของตัวเองมีทุกอย่างสำหรับผู้ชมทุกคน แต่ละแพลตฟอร์มเริ่มแสวงหาคอนเทนต์ ใหม่ๆ รวมถึงพัฒนาคอนเทนต์ของตัวเอง เพื่อสร้างจุดยืนที่มั่นคงบนแพลตฟอร์มของตัวเอง

ในส่วนของ WeTV จะมีความชัดเจนในเรื่องการเป็นผู้ให้บริการคอนเทนต์ระดับพรีเมียมของเอเชีย (Asian Premium Content) โดยมีคอนเทนต์หลัก ๆ เป็นคอนเทนต์พรีเมียม คอนเทนต์จีน ที่สามารถรับชมได้พร้อมกันกับประเทศจีน” คุณเจี๊ยบ กล่าว

คนไทยชอบดูคอนเทนต์ผ่านสมาร์ทโฟนและสมาร์ททีวี

กลุ่มผู้ชมหลัก ๆ ของตลาด OTT TV ในปัจจุบันอยู่ในช่วงอายุ 18 – 40 ปี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้บริโภคที่ใช้ชีวิตอยู่บนพื้นฐานของเทคโนโลยีดิจิทัล และใช้บริการแพลตฟอร์ม OTT TV ผ่านสมาร์ทโฟนเป็นหลัก นอกจากสมาร์ทโฟนแล้ว สมาร์ททีวี (Smart TV) ก็เป็นอีกช่องทางการรับชมที่ได้รับความนิยมในไทย คุณเจี๊ยบ เปิดเผยว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กลุ่มผู้ใช้งาน  WeTV ที่อายุ 40 – 60 ปี เริ่มมีจำนวนเพิ่มขึ้น  ขณะเดียวกัน กลุ่มผู้ใช้งานที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่เริ่มเข้ามาใช้งานเพื่อดูซีรีส์วายหรือซีรีส์ที่แสดงนำโดยนักแสดงชาย 2 คนก็มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน 

อย่างไรก็ตาม ในปี 2566 การเติบโตของจำนวนผู้รับชม OTT TV ในไทยอาจจะชะลอตัวลงเล็กน้อย เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศได้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ จึงทำให้ผู้บริโภคอยากออกมาใช้ชีวิตหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ นอกบ้านมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ระยะเวลาในการดูซีรีส์ที่บ้านลดลง ซึ่งทาง WeTV ได้เตรียมพร้อมที่จะรับมือกับสถานการณ์ที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปไว้แล้ว ด้วยการจัดเตรียมคอนเทนต์ต่าง ๆ เพื่อนำเสนอในช่วงเวลาดังกล่าว คุณเจี๊ยบ กล่าวต่อไปว่า 

ตลาดซีรีส์ในไทยนั้นเรียกได้ว่าเป็นตลาดที่เติบโตแล้ว ซึ่งอีกทางเลือกในรับชมของ WeTV ก็คือ มินิซีรีส์ หรือซีรีส์สั้น ที่มีความยาว 3-10 นาทีต่อตอน เป็นทางเลือกความบันเทิงที่ใช้เวลาดูไม่มากเท่ากับซีรีส์ยาว

สมรภูมิ OTT TV ไทย ปี 2566

สำหรับการแข่งขันในสมรภูมิ OTT TV ไทย ปี 2566 จะมีความคึกคักมากยิ่งขึ้น เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่เปิดรับคอนเทนต์ที่หลากหลายและเป็นที่สนใจของตลาด

ในอนาคตจะมีผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม OTT TV รายใหม่จากทั้งฝั่งเอเชีย และฝั่งตะวันตกเข้ามาตีตลาดในไทยมากขึ้น คุณเจี๊ยบมองว่า การแข่งขันดังกล่าวถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับการเติบโต เพราะยิ่งมีผู้ให้บริการ OTT TV ในไทยมากขึ้น ก็จะยิ่งทำให้จำนวนผู้ใช้งาน OTT TV ในประเทศเติบโตขึ้นด้วย

นอกจากนี้ สถานการณ์โควิดที่คลี่คลายลง ยังจะทำให้จำนวนของออริจินัลคอนเทนต์ที่ผลิตและถ่ายทำในไทย เพื่อนำเสนอผ่าน OTT TV เพิ่มขึ้นอีกมาก เพราะกองถ่ายสามารถออกไปถ่ายทำภาพยนตร์หรือซีรีส์ในพื้นที่ต่าง ๆ ได้เหมือนกับช่วงก่อนการระบาดของโควิด

ซีรีส์จีนมาแรงคู่ซีรีส์วาย

หากพูดถึงคอนเทนต์ที่ได้รับความนิยมในกลุ่มผู้บริโภคชาวไทยแล้ว ซีรีส์จากจีนและซีรีส์วายเรียกได้ว่าเป็นจุดขายที่สำคัญ ที่ผ่านมา ผู้บริโภคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หันมาให้ความสนใจกับซีรีส์จีนมากขึ้น

โดยตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา มีผู้ดูซีรีส์จีนเพิ่มขึ้นถึง 12% นอกจากนี้ หากย้อนกลับไปดูสถิติในช่วง 3 ปีที่แล้ว จะพบว่าจำนวนนาทีในการดูคอนเทนต์จีนอยู่ในอันดับ 2 รองจากเกาหลีใต้

ซึ่งข้อมูลดังกล่าว สอดคล้องกับสถานการณ์ OTT TV ในประเทศไทยที่คนไทยหันมาให้ความสนใจคอนเทนต์ของจีนมากขึ้น ทำให้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาดอย่างหนัก ได้กลายเป็นโอกาสในการเติบโตของ OTT TV ในไทย รวมถึง WeTV ซึ่งเติบโตถึง 160% ในปี 2563 ขณะที่ปี 2564 มีการเติบโตถึง 150% โดย WeTV ยังคงตั้งเป้าว่า ในปี 2566 จะเติบโตขึ้น 150 – 200% 

ทั้งนี้ กลุ่มผู้ดูที่มีอายุในช่วง 15-30 ปี ถือเป็นอีกกลุ่มผู้ดูกลุ่มหลักของ WeTV และสนใจดูซีรีส์วายมากขึ้น จึงมีการนำซีรีส์วายมานำเสนอบนแพลตฟอร์มมากยิ่งขึ้น

สำหรับสาเหตุที่ดูซีรีส์จีนเป็นคอนเทนต์ที่ได้รับความนิยมในไทยนั้น คุณเจี๊ยบ อธิบายว่า คอนเทนต์จีนเป็นอะไรที่คนไทยคุ้นชินอยู่แล้ว หลายๆ คนเติบโตมากับซีรีส์จีน หนังจีน ที่ดูในโทรทัศน์ หลังจากห่างหายไปพักใหญ่ๆ ทางหน้าจอโทรทัศน์ พอมีคอนเทนต์จีนกลับมาให้ดูมากขึ้น ต่อเนื่องขึ้นผ่านช่องทางที่สะดวกขึ้นกับคนรุ่นปัจจุบัน ทำให้คนไทยพร้อมเสพซีรีส์จีนได้ไม่ยาก ประกอบกับทั้งเนื้อหาและคุณภาพการผลิตเทียบเท่าระดับสากล ทำให้ยิ่งเป็นที่ถูกใจได้ไม่ยากของคนใช้ OTT เช่นกัน รวมทั้งการมีทางเลือกให้รับชมทั้งแล้วซับไทยและพากย์ไทยก็ยิ่งทำให้เข้าถึงกลุ่มผู้ชมได้หลากหลายมากขึ้น

โดยซีรีส์จีนที่ครองอันดับหนึ่งบนแพลตฟอร์ม WeTV ในไทยประจำปี 2565 ได้แก่ ซีรีส์แนวพีเรียดเรื่อง ดาราจักรรักลำนำใจ (Love Like the Galaxy) ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องราวความรัก ครอบครัว ประเพณีจีน แฝงความโรแมนติกและดราม่า ในขณะที่เกิดสงครามและการหักหลังกัน ซึ่งเป็นซีรีส์ยอดนิยมทั้งประเทศไทยและจีนในเวลาเดียวกัน เห็นได้ชัดว่าซีรีส์ที่มีคุณภาพ มีเนื้อหาสนุกเข้มข้น ก็จะถูกใจคนดูทั้งในและต่างประเทศได้เหมือนกัน

ส่องกลยุทธ์การทำคอนเทนต์และการสร้างรายได้ของ WeTV

แม้ว่า WeTV จะมีจุดยืนในการเป็นผู้ให้บริการ Asian Premium Content ที่มาจากประเทศจีนเป็นหลัก แต่ WeTV ก็ให้ความสำคัญกับคอนเทนต์ที่ผลิตในประเทศหรือ Local Content ด้วยเช่นเดียวกัน คุณเจี๊ยบกล่าวว่า WeTV มีความตั้งใจที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันอุตสาหกรรมคอนเทนต์ไทยให้เดินทางไปได้ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ เราจึงมีคอนเทนต์ทั้ง WeTV Original และ WeTV Exclusive ซึ่งเป็นการนำคอนเทนต์ไทยทั้งที่ผลิตเองและซื้อลิขสิทธิ์มาฉาย

"คุณเจี๊ยบ" กนกพร ปรัชญาเศรษฐ ผู้จัดการ WeTV ประจำประเทศไทย และประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดและการขาย บริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) จำกัด

ทั้งนี้ WeTV ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างการจดจำให้กับคนดูผ่านคอนเทนต์คุณภาพ โดยที่ผ่านมาออริจินัลซีรีส์ของ WeTV ก็ได้รับการยอมรับเป็นอย่างดี เห็นได้จาก “เล่ห์แค้น” ที่ได้เข้าชิงรางวัลรางวัลนาฎราช ครั้งที่ 13 ประจำปี 2564 และ ซีรีย์วายหลายเรื่องที่ฉายอยู่บนแพลตฟอร์ม WeTV ยังคงติดอันดับซีรีส์วายน่าดูในหลายสำนัก

นอกจากนี้ การเพิ่มความสะดวกสบายให้กับกลุ่มผู้ใช้งานที่นิยมดูซีรีส์ในช่วงอายุ 40-50 ปี ก็เป็นอีกกลยุทธ์ที่ WeTV ให้ความสำคัญ การนำเสนอซีรีส์จีนแบบพากย์ไทยบนแพลตฟอร์ม จึงถือเป็นการเอาใจใส่กลุ่มผู้ใช้งานในวัย 40 – 50 ปี ที่อาจจะไม่สะดวกรับชมแบบออริจินัล ซาวด์แทรค (Original Soundtrack) เพราะต้องอ่านซับไตเติ้ลได้เป็นอย่างดี

ในส่วนของกลยุทธ์การสร้างรายได้นั้น WeTV มีช่องทางการสร้างรายได้หลัก 2 ช่องทาง ได้แก่ การรับชมโฆษณาผ่านแพลตฟอร์ม และการสมัครสมาชิก ขณะเดียวบนแพลตฟอร์มก็เปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานสามารถจ่ายเงินเพื่อดูซีรีส์ล่วงหน้าโดยไม่ต้องรอแบบฟาสท์แทรค (Fast Track) ได้อีกด้วย 

เจาะเทคนิคการใช้สื่อเพื่อโปรโมทธุรกิจและการสร้างพันธมิตร

ปัจจุบัน ธุรกิจและแบรนด์ต่าง ๆ ใช้สื่อทั้งแบบออนไลน์ โซเชียลมีเดียเพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย คุณเจี๊ยบ เปิดเผยถึงเรื่องการใช้สื่อเพื่อโปรโมทบริการและคอนเทนต์ของ WeTV ว่า ใช้ช่องทางดิจิทัลและโซเชียลมีเดีย 80% และช่องทางออฟไลน์อีกราว 20% WeTV โปรโมทผ่านโซเชียลมีเดียทุกช่องทาง ครอบคลุมทั้งเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ ติ๊กต๊อก และยูทูบ ซึ่งแต่ละช่องทางจะมีการออกแบบรูปแบบการโปรโมทให้สอดคล้องกับกลุ่มผู้ใช้งานบนแต่ละโซเชียลมีเดียแต่ละประเภท และมุ่งเน้นกิจกรรมที่ให้ผู้ใช้งานได้มีส่วนร่วม

ขณะเดียวกัน WeTV ยังได้จับมือเป็นพันธมิตรกับแอปพลิเคชันต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ช้อปปี้ (Shopee) ลาซาด้า (Lazada) เซเว่นอีเลฟเว่น (7-Eleven) แกร็บ (Grab) รวมถึงแอปของผ่านห้างสรรพสินค้าและคอมมูนิตี้มอล ทั้ง M Card และ The 1 ผ่านกิจกรรมที่ให้ผู้ใช้งานสามารถแลกแต้มสะสมกับโค้ดของ WeTV ได้ ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมาก โดยโค้ดของ WeTV จะถูกแลกจนหมดอยู่เสมอ

ในส่วนของการโปรโมทผ่านช่องทางออฟไลน์นั้น ได้มีการผสมผสานช่องทางการเข้าถึงได้อย่างน่าสนใจ สำหรับพื้นที่เอาท์ดอร์นั้น  WeTV จะโฆษณาผ่านบิลบอร์ดขนาดใหญ่ รวมถึง ตู้ชาร์จแบตเตอรีตามห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ หรือ Vending Machine ตามสถานีรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ และจุดต่างๆ ในต่างจังหวัด นับเป็นช่องทางการโฆษณาที่เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคที่นิยมใช้เวลาในห้างสรรพสินค้าได้ดีเป็นอย่างยิ่ง 

"นิยาย" กับบทบาทส่งเสริมการตลาด OTT TV

นอกจากนี้ ใครจะไปคิดว่า ในยุคที่ทุกคนก้มหน้าดูจอกันนั้น สื่อสิ่งพิมพ์อย่างนิยาย จะยังมีบทบาทและช่วยส่งเสริมการทำตลาดของผู้ให้บริการ OTT TV หรือสตรีมมิ่งได้เช่นกัน ที่ผ่านมา WeTV ได้ร่วมงานกับทางสำนักพิมพ์แบบพับลิชชิ่งเฮาส์ (Publishing House) ในการโปรโมทนิยายและ WeTV ซึ่งช่วยผลักดันยอดขายทั้งของนิยายและตัวแพลตฟอร์ม รวมถึงการจัดทำสินค้าที่ระลึกจากนิยายที่ถูกนำไปทำเป็นซีรีส์

คุณเจี๊ยบ กล่าวต่อไปว่า WeTV ยังได้จับมือกับแบรนด์สมาร์ททีวีอย่างแอลจี ( LG) ซึ่งรองรับการใช้งาน WeTV โดยมีการทำแคมเปญร่วมกัน เพื่อช่วยกันโปรโมทแบรนด์ของทั้ง 2 ฝ่ายร่วมกัน ถือเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับทั้ง WeTV และ แอลจี นอกจากแอลจีแล้ว WeTV ยังได้ร่วมมือกับแบรนด์ทีวีอย่างไฮเออร์ (Haier) ซึ่งผลิตสมาร์ททีวีรุ่นใหม่ ๆ ที่มาพร้อมกับการติดตั้งแพลตฟอร์มของ WeTV อยู่ในเครื่อง รวมถึงการจัดจำหน่ายแพ็คเกจพิเศษผ่านผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือของไทยทั้ง True DTAC และ AIS อีกด้วย