ภาพรวมภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2567 - 2568

ทิศทางสื่อไทยปี 2568 ที่มาพร้อมกับโอกาสและความท้าทาย

แนวโน้มสื่อไทยปี 2568 เต็มไปด้วยโอกาสและความท้าทาย โอกาสที่มาจากโมเดลการทำธุรกิจ การทำคอนเทนต์ที่เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคที่มีความต้องการเฉพาะทางหรือ Niche มากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคอนเทนต์ที่ลึกขึ้นหรือแบ่งแยกย่อยไปตามความสนใจที่แตกต่างกัน

ในขณะที่หนึ่งในความท้าทายที่เข้ามารุมเร้าอุตสาหกรรมสื่อ คือ บทบาทของคอนเทนต์ครีเอเตอร์และอินฟลูเอนเซอร์ที่เข้ามาแย่งชิงความสนใจไปจากผู้บริโภค และการเสพข้อมูลข่าวสารผ่านโซเชียลมีเดีย ซึ่งส่งผลกระทบอย่างหนักต่อสื่อดั้งเดิมอย่างทีวีดิจิทัลที่ในปี 2567 หลายช่องต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรและปลดพนักงาน เพื่อรับมือกับเม็ดเงินโฆษณาที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง สภาพเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งความนิยมในการรับชมคอนเทนต์ผ่านโซเชียลมีเดียและสตรีมมิ่งแพลตฟอร์ม

รายงานภูมิทัศน์สื่อไทย ปี 2567-2568 (Thailand Media Landscape 2024-2025) ซึ่งจัดทำโดยบริษัท ดาต้าเซ็ต จำกัด พร้อมนำเสนอแนวโน้ม ข้อมูลและความเคลื่อนไหวของแพลตฟอร์มสื่อต่าง ๆ รวมทั้งมุมมองจากนักวิชาการ สื่อมวลชน อินฟลูเอนเซอร์ และคอนเทนต์ครีเอเตอร์ในบทสัมภาษณ์แบบเอ็กซ์คลูซีฟ ซึ่งจะช่วยชี้ทางการเปลี่ยนแปลงที่คาดว่าจะเกิดขึ้นทั้งฝั่งผู้บริโภค สื่อ และปรากฏการณ์ต่าง ๆ

ข้อมูลจาก Statista บริษัทวิจัยการตลาดระดับโลกคาดการณ์ว่า มูลค่าตลาดโฆษณาผ่านอินฟลูเอนเซอร์จะแตะ 2,360 ล้านบาทในปี 2567 และจะเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ 10.24% ในช่วงปี 2567-2572  ส่งผลให้มูลค่าตลาดอาจสูงถึง 3,864 ล้านบาทภายในปี 2572 

เนื่องจากกลุ่มภาคเอกชนยังคงทำการตลาดผ่านอินฟลูเอนเซอร์และคอนเทนต์ครีเอเตอร์ในระดับสูง

ข้อมูลอ้างอิงจาก Statista (ต.ค. 2567)

ท่ามกลางคลื่นความแรงของอินฟลูเอนเซอร์เฉพาะทางหรือ Niche Influencer กลุ่มครีเอเตอร์สายข่าว หรือ News Creator ถือเป็นหนึ่งในกลุ่มดาวรุ่งที่น่าจับตามอง สอดรับกับการที่โซเชียลมีเดียเข้ามาพลิกโฉมภูมิทัศน์การนำเสนอข้อมูลข่าวสารของวงการสื่อ คุณขจร เจียรนัยพานิชย์ ผู้ก่อตั้ง RainMaker / Mango Zero อธิบายปรากฏการณ์นี้ว่า

ผู้ชมยุคใหม่ให้ความสำคัญกับตัวตนของ News Creator มากกว่าสังกัด โดยผู้ชมสนใจที่ตัวบุคคล ไม่ใช่สำนักข่าว จึงเลือกเสพคอนเทนต์จาก News Creator ที่ชื่นชอบ ซึ่งเป็นแนวโน้มเดียวกันกับต่างประเทศ"

เนื่องจากครีเอเตอร์เหล่านี้มีอิสระในการสร้างคอนเทนต์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ชม

ความคิดเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับความเห็นของคุณศิวัตม์ วิลาสศักดานนท์ กรรมการผู้จัดการ AnyMind Group ประเทศไทยและฟิลิปปินส์ที่ว่า จุดแข็งของอินฟลูเอนเซอร์เฉพาะทาง คือ “การเข้าถึง” กลุ่มคนที่ดาราหรือมาโครอินฟลูเอนเซอร์ “เข้าไม่ถึง” ไม่ว่าจะเป็นระดับอำเภอหรือตำบล กลุ่มคนที่ติดตามจึงอาจเรียกได้ว่าเป็นกลุ่มที่มี High engagement หรือมีความภักดีกับอินฟลูเอนเซอร์สูงด้วย

ในขณะที่สตรีมมิ่งเป็นอีกสื่อที่มาแรงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในปี 2567 ที่คอนเทนต์โดยผู้ผลิตไทยซึ่งร่วมมือกับสตรีมมิ่งแพลตฟอร์มจากต่างประเทศประสบความสำเร็จในระดับสากล ในขณะเดียวกัน การเข้ามาตลาดประเทศไทยของผู้ให้บริการสตรีมมิ่งต่างประเทศก็เป็นอีกความเคลื่อนไหวที่สร้างความคึกคักให้กับอุตสาหกรรมบันเทิงและสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่มีต่อตลาดสตรีมมิ่งไทย

ในขณะที่สตรีมมิ่งเป็นอีกสื่อที่มาแรงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในปี 2567 ที่คอนเทนต์โดยผู้ผลิตไทยซึ่งร่วมมือกับสตรีมมิ่งแพลตฟอร์มจากต่างประเทศประสบความสำเร็จในระดับสากล ในขณะเดียวกัน การเข้ามาตลาดประเทศไทยของผู้ให้บริการสตรีมมิ่งต่างประเทศก็เป็นอีกความเคลื่อนไหวที่สร้างความคึกคักให้กับอุตสาหกรรมบันเทิงและสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่มีต่อตลาดสตรีมมิ่งไทย

Paramount+ ผู้ให้บริการสตรีมมิ่งระดับโลก ได้ประกาศความร่วมมือกับ MONOMAX แพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิ่งของบมจ. โมโน เน็กซ์ ที่มีฐานผู้ใช้งานกว่าล้านราย เพื่อนำคอนเทนต์คุณภาพจากค่าย SHOWTIME, CBS Studios และ Paramount Pictures มาให้บริการในประเทศไทยช่วงต้นเดือนพ.ย. 2567

Warner Bros. Discovery เป็นบริษัทต่างชาติอีกรายที่ได้เข้ามาเปิดตัวแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง Max ในประเทศไทยอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2567 พร้อมขนคอนเทนต์แบรนด์ดังอย่าง HBO, DC Universe, Harry Potter และ Cartoon Network ตลอดจนซีรีส์ใหม่และซีซั่นใหม่ของซีรีส์ดังอย่าง House of the Dragon และ The Last of Us ผ่านความร่วมมือกับ AIS โดยลูกค้า AIS ที่ใช้บริการ HBO GO จะได้รับการอัปเกรดเป็นแพคเกจ Max Standard โดยอัตโนมัติ

ข้อมูลวัดเรตติ้งข้ามแพลตฟอร์มจากนีลเส็น พบว่า ในเดือนต.ค. 2566 เรตติ้ง 64% มาจากผู้ชมผ่านทีวี ส่วน 36% ผ่านสตรีมมิ่ง …

แต่ผ่านไปเพียง 1 ปี สัดส่วนกลับกัน โดยสตรีมมิ่งเพิ่มเป็น 54% แซงหน้าทีวีที่ลดลงเหลือ 46%

แนวโน้มการดูทีวีผ่านสตรีมมิ่งนี้เองสะท้อนผ่านเม็ดเงินโฆษณาทางทีวีที่ลดลงต่อเนื่อง นีลเส็นระบุว่า ม.ค.-ก.ค. 2567 โฆษณาทางทีวีมีมูลค่า 33,875 ล้านบาท (50.13% ของงบโฆษณาสื่อทั้งหมด 67,579 ล้านบาท) แม้จะยังคงครองสัดส่วนมากที่สุดเป็นอันดับ 1 แต่กลับหดตัวลง 2% สวนทางกับงบโฆษณาสื่อรวมที่โต 2%

Photo credit: Thailand: Media Never Stop Moving, Nielsen. [PowerPoint slides]

เมื่อเม็ดเงินโฆษณาทีวีลดลง ผลประกอบการของผู้เล่นในวงการก็ดิ่งตาม นับจากปี 2557 ที่เริ่มประมูลทีวีดิจิทัล จนถึงปี 2566 พบว่า ส่วนใหญ่ต้องแบกรับการขาดทุน 4-5 ปีแรก ก่อนจะค่อย ๆ พลิกฟื้นมาทำกำไร แต่แล้วในช่วง 2-3 ปีหลัง กำไรก็เริ่มเหือดหาย บางรายแทบไม่เคยได้กำไรเลยจนถึงปัจจุบัน

โซเชียลมีเดียกับสังคมไทยกลายเป็นของคู่กันอย่างปฏิเสธไม่ได้ สะท้อนได้จากข้อมูลล่าสุดในรายงาน Digital 2024: Global Overview Report โดย DataReportal ที่เผยว่า ต้นปี 2567 ประเทศไทยมีผู้ใช้โซเชียลมีเดียถึง 49.1 ล้านคน หรือ 68.3% ของประชากรทั้งประเทศ  ซึ่งเพิ่มขึ้น 1 ล้านคน หรือ 2.1% จากปี 2566

นอกจากนี้ยังพบว่า คนไทยใช้เวลาเฉลี่ยบนโซเชียลมีเดีย 2 ชั่วโมง 31 นาทีต่อวัน ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่ 2 ชั่วโมง 23 นาที อีกทั้งยังใช้โซเชียลมีเดียหลากหลายถึง 6.7 แพลตฟอร์มในแต่ละเดือน

Photo credit: digitalmarketingforasia.com (2024-most-popular-social-media-in-thailand)

ทั้งนี้ ในบรรดาแพลตฟอร์มที่คนไทยชื่นชอบมากที่สุด เฟซบุ๊กนำโด่งด้วย 33.4% รองลงมาคือติ๊กต๊อก 28.5% และไลน์ 14.4% สอดคล้องกับพฤติกรรมการช็อปปิงออนไลน์ที่เฟื่องฟู โดยข้อมูลจาก GWI ชี้ว่าไทยครองอันดับ 1 ของโลก ด้วยสัดส่วนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 66.6% ที่ซื้อของออนไลน์อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่ 54.7% อย่างมีนัยสำคัญ

ปัจจัยหนึ่งที่ขับเคลื่อนการเติบโตของช็อปปิงออนไลน์คือโซเชียลมีเดีย ซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากต่อการตัดสินใจซื้อของเหล่านักช็อป ดังผลสำรวจจาก Milieu Insight (Thailand) ที่เผยให้เห็นว่า 

89% ของผู้บริโภคชาวไทยยอมรับว่าโซเชียลมีเดียมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อของตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากแพลตฟอร์มยอดนิยมอย่างติ๊กต๊อก (75%) เฟซบุ๊ก (55%) ยูทูบ (51%) และอินสตาแกรม (30%) ตามลำดับ

จากแอปพลิเคชันที่เน้นความบันเทิง ติ๊กต๊อกได้ก้าวขึ้นเป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซชั้นนำของไทยอย่างรวดเร็ว การมาของ TikTok Shop ได้พลิกโฉมรูปแบบการซื้อขายสินค้าออนไลน์ ด้วยการเน้นกลยุทธ์การสร้างคอนเทนต์ที่น่าสนใจและดึงดูดผู้บริโภคให้เกิดการตัดสินใจซื้อ ผู้ขายและแบรนด์ต่าง ๆ ต่างปรับตัวโดยการสร้างสรรค์คอนเทนต์ที่มีคุณภาพ

โดยผลสำรวจพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าจาก Priceza.com เผยว่า ติ๊กต๊อกทะยานขึ้นมาเป็น แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอันดับ 3 ที่ผู้บริโภคสนใจเลือกซื้อสินค้ามากสุด แซงหน้าแพลตฟอร์มยอดนิยมอย่างเฟซบุ๊กและไลน์

ในช่วงต้นปี 2567 TikTok Shop ได้เปิดตัว TikTok Shop Mall เพื่อรองรับความต้องการสำหรับนักช็อปชาวไทยที่มองหาแหล่งซื้อสินค้าคุณภาพจากแบรนด์ชั้นนำ ด้วยประสบการณ์การช็อปปิงแบบ Infinity Loop โดยปัจจุบันมีแบรนด์และร้านค้าที่เข้าร่วมเป็นร้านค้าใน Mall มากกว่าหนึ่งพันราย

นอกจากนี้ ข้อมูลจากติ๊กต๊อก ประเทศไทยยังพบว่า 71% ของผู้ใช้ รับชมคอนเทนต์และซื้อสินค้าบนแพลตฟอร์มทันที

ส่งผลให้ติ๊กต๊อกคาดการณ์มูลค่าทางการตลาดในไทยว่าจะแตะถึง 1.24 หมื่นล้านดอลลาร์ภายในปี 2568

พอดคาสต์กำลังเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของคนไทยมากขึ้น จากปัจจัยสำคัญคือความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีที่ทำให้มีแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชันหลากหลาย สามารถฟังรายการได้โดยไม่จำกัดเวลา จำนวนครั้ง และสถานที่ สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้ฟังในปัจจุบันที่รับข้อมูลออนไลน์มากขึ้น

จากข้อมูลเดือนสิงหาคม 2567 ของแอปสตรีมมิงเพลงยอดนิยมอย่างสปอติฟาย (Spotify)

พบว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาจนถึงปี 2567 จำนวนการผลิตรายการพอดคาสต์ในประเทศไทยเติบโตขึ้นถึง 81% สะท้อนให้เห็นถึงความสนใจอย่างมากจากทั้งผู้ผลิตคอนเทนต์และผู้ฟัง

โดยอุปกรณ์ที่ใช้ผลิตรายการหรือรับฟังซึ่งมีราคาถูกลงทำให้ผู้ฟังและผู้ผลิตรายการมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น และยิ่งไปกว่านั้น ยังทำให้การเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์เป็นเรื่องง่าย ปัจจัยนี้ช่วยสนับสนุนให้คอนเทนต์ครีเอเตอร์มีจำนวนมากขึ้น การผลิตคอนเทนต์จึงมีจำนวนเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ได้เข้ามาปฏิวัติวงการสื่อไทยชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะในปี 2567 ที่ผลสำรวจบ่งชี้ถึงการเปิดรับเทคโนโลยีนี้ในวงกว้าง ดังจะเห็นได้จากการพลิกโฉมวงการโทรทัศน์ด้วยผู้ประกาศข่าว AI และระบบ Text-to-Speech รวมถึงการผนวก AI เข้ากับการทำงานอย่างรอบด้านของสื่อสาธารณะ การใช้ Deepfake ในรายการบันเทิง และการประยุกต์ใช้ AI Live Streaming ในวงการพาณิชย์

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายเรื่องข่าวปลอมและจริยธรรมก็ทวีความรุนแรงขึ้น จนนำมาสู่การถกเถียงเรื่องความรับผิดชอบในการใช้ AI ทั้งในหมู่สื่อมืออาชีพและประชาชนทั่วไป

Photo credit: White Paper: AI and Journalism in Southeast Asia Survey, August 2024 (https://vero-asean.com)

จากรายงาน “AI and Journalism in Southeast Asia: A Survey of Opportunities and Challenges” โดย Vero ที่สำรวจความคิดเห็นของนักข่าว 70 คนใน 4 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และไทย พบว่า นักข่าวส่วนใหญ่มีทัศนคติเชิงบวกต่อการนำ AI มาใช้ในวงการสื่อ โดยเฉพาะในประเทศไทยที่มีระดับการยอมรับและปรับตัวสูงถึง 95%

ผลสำรวจสะท้อนให้เห็นทัศนคติของนักข่าวที่มีต่ออิทธิพลของ AI ในแวดวงสื่อแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดย 84% ของผู้ตอบแบบสอบถามมองว่า AI ส่งผลดีต่องานของตน ขณะที่ 4% มองว่าไม่มีผลใด ๆ และ 12% มองในแง่ลบ โดยนักข่าวไทยมีมุมมองเชิงบวกต่อ AI สูงถึง 95% และมีมุมมองเชิงลบเพียง 5%

สรุปภาพรวมภูมิทัศน์สื่อไทย

ปี 2568 จะเป็นปีแห่งโอกาสและความท้าทายของสื่อไทย โดยสื่อที่สามารถสร้างสรรค์คอนเทนต์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่ให้ความสนใจกับคอนเทนต์ที่มีรูปแบบเฉพาะทางหรือ Niche มากยิ่งขึ้นก็จะยิ่งมีโอกาสในการพัฒนาโมเดลการทำธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้ให้กับองค์กร

ในขณะเดียวกัน การเติบโตของอินฟลูเอนเซอร์และคอนเทนต์ครีเอเตอร์ โดยเฉพาะกลุ่ม Niche Influencer ที่สามารถสร้างคอนเทนต์เจาะลึกจนพัฒนาไปสู่การจัดอีเวนต์ได้นั้น กลายเป็นความท้าทายที่สื่อต้องปรับตัวรับมือ ทั้งในแง่การแข่งขันเพื่อดึงดูดความสนใจจากผู้บริโภคและแบรนด์ต่าง ๆ

ด้านแพลตฟอร์มสื่อที่โดดเด่น ติ๊กต๊อกยังคงครองความนิยมด้วยจุดแข็งทั้งในมิติโซเชียลคอมเมิร์ซ คอนเทนต์ที่หลากหลาย ความสะดวกในการช็อปปิง และอัลกอริทึมที่ตรงใจผู้ใช้งานยุคดิจิทัล ขณะที่เฟซบุ๊กยังคงเป็นแพลตฟอร์มอันดับหนึ่งของไทยในแง่ของจำนวนผู้ใช้งาน

พอดคาสต์เป็นอีกหนึ่งม้ามืดที่น่าจับตา ด้วยรูปแบบการนำเสนอที่ยืดหยุ่น สามารถรับฟังได้ทุกที่ทุกเวลา และมีแนวโน้มพัฒนาต่อยอดไปสู่วิดีโอพอดคาสต์ที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการทั้งภาพและเสียงไปพร้อมกัน

ส่วนสื่อดั้งเดิมอย่างทีวีเข้าสู่ปีแห่งการพิสูจน์ตัวเอง หลังจากที่หลายสถานีต้องปรับโครงสร้างองค์กรและลดจำนวนพนักงานในปี 2567 ท่ามกลางการแข่งขันกับสตรีมมิ่งที่ผนึกกำลังกับแพลตฟอร์มต่างประเทศ จนสามารถผลิตและนำเสนอคอนเทนต์ได้ตรงใจผู้ชมยุคปัจจุบันอย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะที่ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เป็นได้ทั้งโอกาสและความท้าทาย เพราะแม้จะเป็นเครื่องมือที่สร้างประโยชน์ให้สื่อและแบรนด์ต่าง ๆ แต่การนำไปใช้ในทางที่ผิดก็สร้างผลกระทบตามมา ทำให้ประเด็นด้านจริยธรรมและการใช้ Prompt อย่างเหมาะสมกลายเป็นประเด็นสำคัญที่สื่อไทยในยุค AI ต้องคำนึงถึง

Topics

ภูมิทัศน์สื่อไทย 2567 - 2568