"อคิรากร อิกิติสิริ" ผู้บริหารฝ่ายพัฒนาธุรกิจ Viu ฟันธงตลาดสตรีมมิ่งปี 68 ดุเดือดและสนุกสนาน!
- พฤศจิกายน 19, 2567
- 16:19 น.
Highlights:
- ในขณะที่ตลาดสตรีมมิ่งไทยปี 2568 มีแนวโน้มว่าจะดุเดือดยิ่งขึ้น Viu ประเทศไทย กลับมองเห็นโอกาสทางธุรกิจผ่านกลยุทธ์ที่แตกต่าง นั่นคือการทำ “Localization” แบบเจาะลึกถึงระดับท้องถิ่น
- ไฮไลต์ของการพากย์ซีรีส์เกาหลีของ Viu เป็นภาษาเหนือและอีสาน สร้างความใกล้ชิดกับผู้ชมในแต่ละภูมิภาค พร้อมต่อยอด On-ground Event ด้วยการจัดฉายหนังกลางแปลงในจังหวัดเมืองรอง จัดกิจกรรม School Tour และแฟนมีต สร้างคอมมิวนิตี้ในระดับพื้นที่
- Viu ขยายความร่วมมือกับค่ายทีวีในไทยและพันธมิตรในประเทศเพื่อนบ้าน “ทีวีต้องพึ่ง OTT และ OTT ก็ต้องพึ่งทีวีในมุมของคอนเทนต์เหมือนกัน” สะท้อนให้เห็นถึงการผสานจุดแข็งของทั้งสองฝ่าย
Viu เปิดกลยุทธ์รุกตลาดสตรีมมิ่งปี 2568
“เอ็ม” อคิรากร อิกิติสิริ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ Viu (วิว) ประเทศไทย มองแนวโน้มตลาดธุรกิจสตรีมมิ่งและคอนเทนต์ในไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปี 2568 จะมีความดุเดือดและสนุกสนานมากขึ้นอย่างแน่นอน เพราะมีทั้งผู้ให้บริการรายใหม่ที่เข้ามา ตลอดจนคอนเทนต์ที่มีการพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด ทำให้แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น ในขณะที่ผู้บริโภคเองก็เปลี่ยนพฤติกรรมจากการดูทีวีมาสู่สตรีมมิ่ง
เมื่อแนวโน้มตลาดและธุรกิจสตรีมมิ่งมีความดุเดือดและสนุกสนานเพิ่มขึ้นอย่างนี้แล้ว Viu ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่มีคอนเทนต์ซีรีส์เกาหลีพากย์ไทยเป็นจุดแข็งจะรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวอย่างไร คุณเอ็มมองว่า ในช่วงแรกของวงการสตรีมมิ่ง ผู้ให้บริการแต่ละเจ้าก็จะมีจุดยืนในด้านคอนเทนต์เป็นของตนเอง แต่เมื่อเวลาผ่านไป ทุกแพลตฟอร์มก็ปรับตัวเสิร์ฟคอนเทนต์ ให้เข้ากับพฤติกรรมผู้ชมที่เปลี่ยนไปเช่นกัน
ฉันจะเป็นเจ้าแห่งเกาหลีตลอดเวลา อันเนี้ยมันอาจจะไม่ใช่นะครับ เราก็ต้องเสริมอะไรที่ตลาดต้องการ ถ้าเรามองดี ๆ เนี่ย ตลาดคอนเทนต์ตอนนี้เปิดกว้างมาก คอนเทนต์ไทยทั้งดราม่าต่าง ๆ Boy Love Girl Love ตอนนี้คือเปิดกว้างหมดนะครับ เรียกว่าทุก ๆ แพลตฟอร์มทุก ๆ สถานีทีวีก็เปิดกว้างแล้ว"
คุณเอ็ม กล่าว
นอกจากนี้คุณเอ็มมองว่าปัจจุบันคนเสพคอนเทนต์ออนไลน์เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ใช่แค่สตรีมมิ่งแพลตฟอร์ม แต่บนโซเชียลมีเดียอย่างติ๊กต๊อกหรือยูทูบ ทุกวันนี้ก็มีคอนเทนต์ครีเอเตอร์เกิดขึ้นแบบมหาศาล แล้วก็เป็นอีกทางเลือกของคอนเทนต์ให้กับผู้บริโภคได้รับชม
เจาะกลยุทธ์ Localization คอนเทนต์เกาหลีด้วยการพากย์ภาษาเหนือ อีสาน
สำหรับ Viu แล้ว ได้มีการปรับตัวเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด คุณเอ็มกล่าวถึงแนวทางในการรับมือว่า เราจะยึดคอนเทนต์เกาหลี ซึ่งเป็น Positioning ที่เราแข็งแรงอยู่แล้วอย่างเดียวไม่ได้ เราจึงได้ใช้กลยุทธ์ Localization ด้วยการทำคอนเทนต์ที่พากย์ภาษาไทย รวมทั้งภาษาท้องถิ่นอย่างภาษาเหนือและภาษาอีสาน เพื่อเข้าถึงกลุ่มผู้ชมในแต่ละภาคได้มากยิ่งขึ้น เพื่อให้เรายังคงเป็นเบอร์หนึ่งอยู่ได้ และสามารถขยายตลาดต่อไปได้
อาจจะมีบางช่วงที่แพลตฟอร์มอื่นโดดเด่นกว่าด้วยคอนเท้นต์ที่น่าสนใจ ช่วงนั้นเราใช้จังหวะนี้เน้นไปที่ตลาด Localized นะครับ โดยการทําเรื่องของการพากย์ขึ้นมาเป็นเบอร์หนึ่ง เพื่อขยายตลาดให้มากกว่านี้ เราอย่าลืมว่ายังมีประชากรอีกเยอะมากที่อยู่นอกหัวเมือง และเพื่อให้คอนต์เกาหลีไม่ได้มีเพียงกลุ่มคนอายุน้อยติดตามเป็นกลุ่มใหญ่กลุ่มเดียวอย่างที่ผ่านมา"
คุณเอ็ม กล่าว
คุณเอ็มกล่าวต่อไปถึงการนำเสนอคอนเทนต์แบบ Back to basic และเน้นไปที่การพากย์ไทย ด้วยการนำคอนเทนต์ที่มีอยู่เดิมมา Localize ขึ้นใหม่ แล้วนำเสนอกับกลุ่มตลาดที่มีศักยภาพ ซึ่งการพากย์เป็นภาษาท้องถิ่นในแต่ละภาคถือเป็นกิมมิคที่ทำให้คอนเทนต์ของ Viu สามารถสื่อสารกับคนดูได้ง่ายขึ้นในการโปรโมต และได้รับการพิสูจน์แล้วว่า กลยุทธ์นี้มีประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จ
“เราเลยเน้นที่ตลาดการพากย์นะครับ แล้วก็ได้รับการพิสูจน์มาแล้วแหละว่า การที่ไปทำกิจกรรมหรือการพากย์ภาษาอีสานหรือภาษาเหนือเนี่ย จริง ๆ ต้องบอกว่าเป็นกิมมิคเพื่อให้เราสามารถคุยกับเค้าได้ง่ายขึ้นในการโปรโมต เวลาเราเข้าหากลุ่มเป้าหมาย เราเอาตัวแทนที่เป็นภาษาที่เค้าใช้ไป Communicate นะครับ สิ่งที่จะได้กลับมาคือเค้าเข้าใจง่ายขึ้นและเค้าก็มาลองดูคอนเทนต์เกาหลีแบบพากย์ทั้งภาษาท้องถิ่นกับที่เป็นภาษาไทยกลาง เราก็โตขึ้นมาจากตรงนี้เรื่อย ๆ” คุณเอ็มกล่าว
นอกจากนี้ Viu ยังให้ความสำคัญกับเทรนด์ของคอนเทนต์ด้วย ซึ่งในปี 2567 Viu ก็ได้นำซีรีส์ Boy Love และ Girl Love มานำเสนอในตลาดไทย เนื่องจากเป็นคอนเทนต์ที่ได้รับความนิยมสูง
อย่างไรก็ตาม คุณเอ็มกล่าวว่า ทาง Viu ก็ไม่ได้เน้นการนำเสนอคอนเทนต์ประเภทนี้ตลอดทั้งปี และเลือกนำเสนอให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายของ Viu ด้วย
ตอนนี้ Boy Love กับ Girl Love มันดันกลายเป็น Soft power โดยอัตโนมัติไปแล้ว เพราะฉะนั้นเราไม่อยู่ในนี้ไม่ได้ แต่ว่าเราอยู่ในนี้เราต้องดูว่าเราเลือกแบบไหน เราคงไม่ใช่แบบว่ามี Boy Love ตลอดทั้งปี เราจะเลือกเป็น Boy Love ที่เซ็กซี่ฉ่ำที่สุดมันก็คงไม่ใช่ คงต้องเป็นอะไรที่แบบเราคิดว่ามันเหมาะกับกลุ่มของเรา หรือว่าเป็นพาร์ทเนอร์ที่เราเลือกทำงานด้วยก็อาจจะต้องมีความคิดที่คล้าย ๆ กัน"
คุณเอ็ม กล่าว
อย่างไรก็ดี คอนเทนต์ Boy Love หรือ Girl Love ของ Viu Original นั้น ให้ความสำคัญกับบทและพัฒนาการของตัวละครด้วย เพื่อให้คอนเทนต์สามารถดึงดูดผู้ชม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง
“กลุ่มคนดูเค้าจะเริ่มจากความ Imagination ความจิ้น ความฟินอะ พฤติกรรมนี้ของผู้ชมมีมาตลอดตั้งแต่คอนเท้นต์เกาหลีแล้ว เริ่มจากชอบตัวนักแสดงคนนี้ ก็จะสังเกตทุกๆบทบาทการแสดง แล้วจินตนาการไปถึงดาวพลูโตแล้ว ในคอนเทนต์ Boy love/Girl Love ก็เหมือนกันมันเริ่มจากแบบนั้นแหละ ตอนแรกก็ขอความกุ๊กกิ๊ก ๆ บ้าง แต่เดี๋ยวนี้พอกุ๊กกิ๊กไปนาน ๆ ก็เริ่มเบื่อ” คุณเอ็มกล่าว
คุณเอ็มกล่าวต่อไปว่า หากสังเกตดี ๆ จะเห็นได้ว่าในช่วง 3-4 ปีมานี้ บทของคอนเทนต์ไทยโดนใจคนดูมากขึ้น แม้เป็นเรื่องราวที่เกี่ยวกับครอบครัว ละครไทยสมัยก่อนที่มีแต่การตบจูบ แย่งสามี แย่งมรดกกัน ตอนนี้เป็นเนื้อเรื่องคล้าย ๆ แบบนี้ ใช้การยกตัวอย่างดี ๆ หรือมุมมองใหม่ของปัญหาครอบครัวมาสร้างให้ดีขึ้น ด้วยการถ่ายทอดที่ดีกว่าเดิม
“อันนี้ต้องย้อนกลับไปชมสมัยตอน ‘A World of Married Couple’ ที่คนไทยเอามารีเมคเป็น ‘เกมรักทรยศ’ อันนั้นเป็นตัวอย่างที่ค่อนข้างจะเปิดโลกให้กับประเทศไทยเหมือนกันว่า เฮ้ย อะไรนะ สามี-เมียหลวง-เมียน้อย เฮ้ยมันทําให้มันสวยได้อะ มันถ่ายทอดให้เห็นว่า ทําไมคาแรคเตอร์ตัวนี้เป็นอย่างงี้ ทําไมอันนี้มันเป็นอย่างงี้ได้ มากกว่าที่จะแค่จะไปกรี๊ดกร๊าด เอ็มเชื่อว่ามันเกิดจากอย่างงี้แหละ …
เพราะโปรดักชั่นไทย คนไทยก็เสพของต่างชาติมากขึ้น มันเริ่ม Develop เองว่า เฮ้ยอย่างเราจะเอาแบบเดิมไปสู้มันก็คงไม่ได้ มันเลยค่อย ๆ พัฒนา แล้วพัฒนาเร็วขึ้นมาก ก็ต้องขอบคุณทุก ๆ ด้านเลย ทุกแพลตฟอร์ม ทุกโปรดักชั่นเฮาส์ แม้กระทั่งอุตสาหกรรมเองมันทำให้ต้องปรับตัว"
คุณเอ็ม กล่าว
ต่อยอดฉายหนังกลางแปลงสู่งานเทศกาลในจังหวัดเมืองรอง
Viu เดินสายจัดกิจกรรมแบบออฟไลน์ในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการจัดกิจกรรมออกบูธ, School Tour, แฟนมีต หรือการฉายหนังกลางแปลงในภาษาท้องถิ่น เพื่อช่วยส่งเสริมความสำเร็จในการทำกิจกรรมทางการตลาดในจังหวัดเมืองรองให้กับ Viu อีกทั้งยังช่วยให้ Viu สามารถต่อยอดกิจกรรมเหล่านั้นจนกลายเป็นหนึ่งในธุรกิจที่มีความสำคัญสำหรับบริษัทขึ้นมาได้
คุณเอ็มได้ยกตัวอย่างของการทดลองฉายหนังกลางแปลงว่า ที่ผ่านมา จะมีการฉายหนังกลางแปลงตามจุดต่าง ๆ ผ่านทางเอเจนซี่เจ้าใหญ่ แต่ต่อมาได้มีโอกาสพูดคุยกับมีเดียที่เดินสายฉายหนังกลางแปลงจริง ๆ จนได้มารู้เคล็ดลับในการฉายหนัง ไม่ว่าจะเป็นการใช้รถแห่วิ่งไปตามพื้นที่เป้าหมายเพื่อโฆษณา หรือใช้โปสเตอร์วาดมือ ซึ่งกลยุทธ์เหล่านี้ เมื่อทดลองทำดูแล้วฟีดแบคที่ได้ก็ประสบความสำเร็จ โดยที่ต้นทุนไม่ได้สูงมากนัก
ปีนี้ เราทดลองที่อีสานก่อน เราก็เลยเอาพากย์อีสานไป เราก็ไปสังเกต ไปนั่งดูปูเสื่อ เขาก็ขํากันอยู่มันเป็นอะไรที่แบบก็ตลกดีนะ บางทีพอไปนั่งดูแบบกับคนที่เขาอิน เราจะรู้สึกว่ามันส์ เหมือนคนดูเขาลุ้นแล้วเขาก็พูดหรือแสดงออกมากันทั้งคำพูดและท่าทาง ผมว่ามันสนุกกว่าดูคนเดียว"
คุณเอ็ม กล่าว
เมื่อประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งแล้ว คุณเอ็มมองว่า ปี 68 วางแผนว่าจะต่อยอดงานให้เป็นเทศกาลในระดับจังหวัดไปเลย โดยจัดงานร่วมกับทางจังหวัดเพื่อที่จะดึงคนให้มาร่วมงาน แล้วจัดในระยะเวลาที่ยาวนานขึ้น ให้ผู้คนที่มาร่วมงานได้ดูซีรีส์ของ Viu ด้วย
“ปี 68 คงจะทำอะไรในจังหวัดเมืองรอง โดยจัดงานนานขึ้นครับ แบบไม่ได้กระโดดข้ามอำเภอ แต่เป็นเทศกาลแบบยาวหน่อย เพื่อให้เค้าดึงคนที่เข้ามางาน…
ก็คงไม่ใช่แค่จะเรียกมาดูซีรีส์แล้ว เราคงจะไปจัดร่วมกับทางจังหวัดเลยว่าให้มันเป็น Festival เป็นงานวัด มีรถบั๊ม แล้วแต่ที่เลย เพื่อให้เกิดกระแสว่า ตรงเนี้ยคนต้องมา เป็นการมาเที่ยว แล้วได้เสพคอนเทนต์ของ Viu เป็นของแถม ซึ่งในที่สุด เดี๋ยวคนจะซึมซับไปเองด้วยแบรนด์เรา"
คุณเอ็ม กล่าว
ถึงแม้ว่าแพลตฟอร์มของ Viu จะอยู่บนออนไลน์ แต่การออกมาทำกิจกรรมออนกราวด์ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะช่วยสร้างคอมมิวนิตี้ขึ้นมาและสร้างการรับรู้ได้ในวงกว้างได้มากยิ่งขึ้น
สำรวจความร่วมมือกับค่ายทีวีและพาร์ทเนอร์ประเทศเพื่อนบ้าน
นอกจาก Viu จะให้ความสำคัญกับคอนเทนต์และกลยุทธ์ในการเจาะตลาดในแต่ละภาคด้วยการพากย์แล้ว Viu ยังได้ทำธุรกิจกับค่ายทีวีต่าง ๆ ในไทย ด้วยการซื้อคอนเทนต์ไทยมานำเสนอบนแพลตฟอร์ม โดยคุณเอ็มเล่าว่า ทาง Viu ได้ร่วมงานกับค่ายทีวีแทบทุกเจ้าแล้ว รวมทั้งความร่วมมือกับผู้ให้บริการในประเทศเพื่อนบ้านในการขายคอนเทนต์ ตลอดจนการผลิตคอนเทนต์ด้วยตัวเองหรือร่วมกับพาร์ทเนอร์
จริง ๆ ต้องบอกว่าทุกวันนี้เราร่วมมือกับช่องทีวีอยู่แล้วนะครับ ช่อง 3 ช่อง GMM25 ช่อง ONE เราทําอย่างนี้อยู่แล้ว มันไม่ได้แข่งกันหรอก เพียงแต่ว่าทีวีก็ต้องพึ่ง OTT ส่วน OTT เองต้องพึ่งทีวีในมุมของคอนเทนต์เหมือนกัน
… เพราะว่าเราไม่สามารถที่จะไปหาพาร์ทเนอร์ หาโปรดักชั่นเฮาส์หรือว่าจ้างผลิตเองดูเองให้ครบโปรแกรมมิ่งทั้งปีได้ เราก็ต้องหาพาร์ทเนอร์อย่างช่องทีวีหรือของที่เค้าผลิตอยู่แล้ว แล้วดูว่าอะไรที่เหมาะกับแพลตฟอร์มเรา” คุณเอ็มกล่าว
“เราต้องดูว่าปีหน้าของเรามีอะไรก่อนจากเมนหลักที่เกาหลี เรามีคอนเทนต์วาไรตี้เท่าไหร่ เราต้องการคอนเทนต์ไทยเสริมช่วงไหน แบบไหนยังไง อันนี้คือมุมของการซื้อ แต่ฝั่งที่ต้องผลิตเอง ถามว่าทําไมเราต้องผลิตเองเพราะว่า Viu มีเพื่อนบ้านอยู่รอบ ๆ เราอยู่ประมาณ 16 ประเทศ โดยเฉพาะ Southeast Asia” คุณเอ็มกล่าว
คุณเอ็มเล่าว่า ประเทศเพื่อนบ้านมีความสำคัญ เพราะช่วยนำเสนอคอนเทนต์ไทยออกสู่ตลาดประเทศต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, เมียนมา และฮ่องกง ทำให้ Viu ต้องมาดูว่า หากซื้อคอนเทนต์มาแล้ว หรือจะผลิตคอนเทนต์ของตนเองไปเสิร์ฟฐานกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้ Viu จึงคุยกับประเทศต่าง ๆ เพื่อแชร์ความคิดเห็นร่วมกันเกี่ยวกับกระแสความนิยมเกี่ยวกับนักแสดง เพื่อผลิตคอนเทนต์ให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค
โดยแต่ละประเทศก็มีความนิยมในคอนเทนต์ที่แตกต่างกันไป อย่างประเทศเพื่อนบ้านของไทยก็จะชอบดูแนวดราม่า ส่วนหนังผีก็เป็นคาแรคเตอร์ของอินโดนีเซีย มาเลเซีย แต่ถ้าเป็นฟิลิปปินส์จะชอบแนวโรแมนติคคอมเมดี้ หรือ Boy Love ส่วนสิงคโปร์และฮ่องกงนิยมแนวหนังฝรั่งแนวอเมริกัน ต้องสนุกและแอ็คชั่น ส่วนคอนเทนต์ไทยก็ยังขยายไปได้เรื่อย ๆ
คุณเอ็มกล่าวด้วยว่า ในช่วงการระบาดของโควิดมีส่วนช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมคอนเทนต์ เนื่องจากในช่วงแรก ๆ ที่เกิดการแพร่ระบาดนั้น เกิดปัญหาด้านการผลิตไปทั่วโลก ทำให้ไม่สามารถถ่ายทำได้ Viu ที่เกาหลีก็ต้องระงับการถ่ายทำ แต่กลับกันไทยมีคอนเทนต์ในสต๊อกกันอยู่หลายเจ้า จึงมีการซื้อคอนเทนต์ของไทยไปฉายและพบว่า คอนเทนต์ของไทยก็ดีไม่แพ้กัน
หลังจากนั้นจึงได้มีการพูดคุยกันมากขึ้น โดยกลุ่มผู้ซื้อเริ่มมองหาคอนเทนต์ของไทย ประกอบกับการที่คนไทยได้ดูคอนเทนต์ไทย จึงทำให้ตลาดมีการพัฒนาดีขึ้นไปเรื่อย ๆ
Viu วางเทรนด์ซีรีส์ปี 68 เน้นคุณภาพระดับสากล นำ Thriller-BL-GL บุกตลาดนอก
ที่ผ่านมา Viu เคยคิดเรื่องการผลิตคอนเทนต์จำนวนมาก เพื่อเอามาเสริมกับคอนเทนต์ที่ซื้อ แต่ปัจจุบัน Viu ได้เปลี่ยนแนวคิดดังกล่าวมาเป็นการผลิตคอนเทนต์ที่ดีและสามารถนำออกไปเสนอกับตลาดเพื่อนบ้านได้ด้วย โดยพัฒนาเรื่องให้อินเตอร์มากขึ้น แม้บางเรื่องอาจจะยังไม่ได้ Mass มากในไทย แต่ขายได้ที่ญี่ปุ่น ไต้หวัน และลาตินอเมริกา รวมถึงได้เข้ารอบชิงรางวัลจากหลายเรื่องในหลายๆงานประกาศรางวัล
สำหรับคอนเทนต์ปี 2568 คุณเอ็มกล่าวว่า ที่เตรียมไว้ก็มีแนว Thriller หรือแนวลึกลับ โดยยังคงให้ความสำคัญกับ Boy Love ส่วนคอนเทนต์ Girl Love ยังอยู่ในระหว่างการพูดคุย แต่ก็มีแนวโน้มที่จะร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ในการผลิตหลายเรื่อง ซึ่งก็ต้องดูว่าทำออกมาแล้วตลาดยอมรับหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศเพื่อนบ้านบางประเทศ ที่มีความอ่อนไหวทางศาสนา อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้มีแนวโน้มว่าจะการเปิดกว้างขึ้นเรื่อย ๆ
คุณเอ็มมองว่า การทำให้คนไทยดูและติดตามคอนเทนต์ถือเป็นความท้าทายที่สำคัญ ท่ามกลางกิจกรรมต่าง ๆ ที่มีให้เลือกมากมายและกระแสสังคมที่พร้อมจะดึงดูดความสนใจของผู้ชมไปทางอื่นเมื่อใดก็ได้ ดังนั้น เมื่อมีกระแสสังคมเกิดขึ้นมา เราก็อย่าไปฝืน รอให้กระแสซาลงก่อน แล้วจึงค่อยโปรโมตคอนเทนต์หรือทำการตลาดอย่างจริงจัง
Topics
- แนวโน้มสื่อไทย 2568
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2567
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2566
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2565
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2564
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2563
- Thai Media Trends 2025 (English Version)
- Thailand Media Landscape 2023-2024 (English Version)
- Thailand Media Landscape 2022-2023 (English Version)
- Thailand Media Landscape 2021-2022 (English Version)