"โสภิต หวังวิวัฒนา" ผู้จัดการฝ่ายสื่อเสียง Thai PBS Podcast เผยเทรนด์ปี 68 ชี้วิดีโอพอดคาสต์มาแรง
- ธันวาคม 9, 2567
- 15:25 น.
Highlights:
- พอดคาสต์เติบโตชัดเจนในช่วง 5 ปี หลังสถานการณ์โควิด ด้วยปัจจัยความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ความหลากหลายของแพลตฟอร์มใหม่ ๆ และอุปกรณ์ราคาถูกลง ทำให้การผลิตและเข้าถึงเนื้อหาง่ายขึ้น
- คอนเทนต์พอดคาสต์ที่มาแรง ได้แก่ ข่าว วิเคราะห์เชิงลึก สุขภาพ พัฒนาตัวเอง และรายการสำหรับสังคมสูงวัย
- วิดีโอพอดคาสต์กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น เพราะตอบโจทย์คนไทยที่ชอบทั้ง “ดูและฟัง” ในเวลาเดียวกัน
- พอดคาสต์ที่มีคุณภาพต้องคำนึงถึงประโยชน์ที่ผู้ฟังจะได้รับเป็นสำคัญ เพราะสื่อในยุคนี้มีอิทธิพลสูง หากผลิตเนื้อหาด้วยรสนิยมที่ดี และใช้ “เสน่ห์ของเสียง” ในการนำเสนอ จะช่วยดึงดูดผู้ฟังที่มีคุณภาพให้ติดตามรายการ
ทุกวันนี้พอดคาสต์ (Podcast) ซึ่งเป็นสื่อเสียงประเภทหนึ่ง เริ่มแพร่หลายและเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของคนไทยมากขึ้น คุณโสภิต หวังวิวัฒนา ผู้จัดการฝ่ายสื่อเสียง สำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอสพอดคาสต์ กล่าวว่า มีหลายปัจจัยที่ทำให้พอดคาสต์ได้รับความนิยม ทั้งจากความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆทำให้มีแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชันสำหรับการฟังหลากหลาย ฟังได้โดยไม่จำกัดเวลา จำนวนครั้งและสถานที่
สอดคล้องกับพฤติกรรมของคนฟังที่รับข้อมูลทางออนไลน์เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันผู้ผลิตเนื้อหา สื่อต่างๆ ก็มีการหลอมรวมสื่อเพื่อให้บริการอย่างครอบคลุม ทั้งสถานีวิทยุ โทรทัศน์ เว็บไซต์และสื่อใหม่อื่นๆทางออนไลน์ ทำให้การเข้าถึงเนื้อหาพอดคาสต์ง่ายขึ้นมาก
ในยุคนี้เราไม่จำเป็นต้องแยกแยะว่าเป็นสื่อเสียง สื่อภาพ หรือสิ่งพิมพ์อย่างใดอย่างหนึ่งเหมือนในอดีตแล้วเพราะสื่อใหม่ ๆ รวมทุกคุณสมบัติเข้าด้วยกันหมด เราสามารถฟังพอดคาสต์ได้ทาง YouTube ดูคลิปวิดีโอต่าง ๆ จากเว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์ และเว็บไซต์ของสถานีโทรทัศน์ก็ฟังรายการเสียงได้ด้วย"
คุณโสภิตกล่าว
ครีเอเตอร์พร้อม แพลตฟอร์มเพียบ จุดพลุพอดคาสต์ไทยเติบโต
การเติบโตของพอดคาสต์ในประเทศไทยเป็นผลจากหลาย ๆ ปัจจัย โดยปัจจัยแรกคือการมีแพลตฟอร์มที่หลากหลายขึ้น ซึ่งคุณโสภิตกล่าวว่า หากพูดถึงแพลตฟอร์มหลัก ๆ ทั่วไปที่คนนิยมดาวน์โหลด แอปพลิเคชัน เช่น Spotify, SoundCloud, Pod bean, Apple Podcasts มีบริการเสียงเพียงอย่างเดียว แล้ว ยังมียูทูบ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีทั้งภาพและเสียง อีกทั้งมีเว็บไซต์ของสื่อต่าง ๆ แล้วยังมีสื่อใหม่เช่น ติ๊กต๊อก (TikTok) แม้แต่ในเฟซบุ๊กที่เดิมเคยให้บริการเฉพาะข้อความและภาพนิ่ง ก็พัฒนาฟังก์ชั่นเพิ่มการใส่คลิปวิดีโอ Reel รวมทั้งถ่ายทอดสดได้ เป็นต้น
ปัจจัยที่สองคือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคมีแนวโน้มรับข้อมูลทางออนไลน์เพิ่มขึ้น สืบเนื่องจากราคาอุปกรณ์ต่างๆ ถูกลง ทั้งในส่วนของโทรศัพท์มือถือ สมาร์ตโฟนกลายเป็นสิ่งจำเป็นของทุกคนไปแล้ว บางคนมีมากกว่าหนึ่งเครื่อง ไม่รวมคอมพิวเตอร์ Tablet ทำให้การค้นหาข้อมูลทั้งหมดผ่านอุปกรณ์สมัยใหม่เหล่านี้สะดวกง่ายดายมากขึ้น ไม่เฉพาะการฟังรายการพอดคาสต์ แต่ยังเป็นการทำธุรกรรมการเงิน ซื้อของออนไลน์ การค้นข้อมูลผ่าน search engine ต่าง ๆ การติดต่อสื่อสารกับคนอื่น ๆ ในชีวิตประจำวัน
ฝั่งของผู้ผลิต อุปกรณ์บันทึกเสียง กล้อง เครื่องมือตัดต่อคลิป ไมโครโฟนก็ราคาถูกลงเช่นกัน เมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้าทำให้อุปกรณ์สื่อสารมีให้เลือกอย่างหลากหลาย รวมทั้งยังมีคุณภาพที่ดี การเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ จึงเป็นเรื่องง่ายสำหรับหลาย ๆ คน เมื่อรวมกับแพลตฟอร์มให้เลือกมากมาย ทำให้การผลิตเนื้อหาเพิ่มจำนวนมากขึ้นเป็นเงาตามตัว
จุดแข็งพอดคาสต์ - ฟังง่าย ทำอย่างอื่นได้ เจาะลึกทุกความสนใจ
พอดคาสต์ในไทยยังต้องแข่งกับวิดีโอทั้งจากยูทูบหรือเฟซบุ๊ก เพราะว่าผู้คนนิยม “ดูและฟัง” มากกว่า “ฟัง” อย่างเดียว
แต่ข้อได้เปรียบของพอดคาสต์คือ ผู้ฟังสามารถทำงานอื่นไปได้ด้วยในเวลาเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการออกกําลังกาย ขับรถ ซักผ้าถูบ้าน ไม่ต้องใช้สมาธิมากเท่ากับการดูทางหน้าจอ
อีกปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมให้พอดคาสต์ได้รับความนิยมมากขึ้น คือ ความหลากหลาย ผู้ฟังสามารถเลือกคอนเทนต์ที่ตรงกับความสนใจได้ เพราะปัจจุบันพฤติกรรมการฟังของผู้คนยุคใหม่จะมีความสนใจสั้นลง ไม่ได้จดจ่อกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งนาน ๆ พอดคาสต์จึงสามารถเข้ามาตอบสนองพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปในส่วนนี้ได้ เพราะสามารถรับฟังรายการสั้น ๆได้ เป็นตอน ๆ
พอดคาสต์แตกต่างจากวิทยุแม้ว่าจะเป็นเสียงเหมือนกัน เพราะเนื้อหาเฉพาะเจาะจงประเด็น เราจะเห็นว่ามีรายการศาสนา รายการกีฬา วิ่ง ฟุตบอล เรื่องเฉพาะเศรษฐกิจ หุ้นการลงทุน การพัฒนาตัวเอง เป็นต้น ...
... เนื้อหาเชิงลึกเหล่านี้เรียกว่าแตก Segment ไปตรงใจกับคนที่อยากฟังเรื่องเฉพาะทางมากขึ้น เลือกได้เลยไม่ดูหว่านเหมือนกับดูทีวีอีกแล้ว ไม่ได้เป็น Variety Magazine อีกแล้ว สิทธิในการเลือกเป็นของคนฟัง ก็เป็นตัวเสริมแรงที่ทำให้คนหันมาสนใจ"
คุณโสภิตกล่าว
รู้จักผู้ฟังพอดคาสต์จากอดีตจนถึงปัจจุบัน
หากจะนับถอยหลังไปไม่เกิน 10 ปี ก็จะเห็นความเปลี่ยนแปลงของผู้ฟังที่ค่อนข้างชัดเจน โดยคุณโสภิตได้ยกตัวอย่างจากงานของไทยพีบีเอสพอดคาสต์เกี่ยวกับโครงการ “ปล่อยของ ลองเล่า” ซึ่งทีมงานจะออกจัดอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อฝึกทักษะการผลิตพอดคาสต์ให้กับนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ โดยทำงานร่วมกับอาจารย์ผู้สอน เมื่อนักศึกษาเรียนรู้วิธีการผลิตโดยใช้ “เสน่ห์ของเสียง” เล่าเรื่องได้แล้ว ก็ลงมือทำผลงานจริงแล้วเอามาเผยแพร่ทางไทยพีบีเอสพอดคาสต์
“สิ่งที่ค้นพบคือว่ารุ่นแรกที่เราทำ ประมาณปี 2561 ถ้าถามว่าใครรู้จักพอดคาสต์บ้างยกมือหน่อย ใครเคยฟังพอดคาสต์รายการอะไรบ้างยกมือหน่อย ประมาณ 70-80 คนในห้อง ไม่ถึง 10 คนที่ยกมือ ถัดจากนั้นมาโควิด 3 ปีผ่านไป ล่าสุดเราเพิ่งทำเป็นรุ่นที่ 6 ตั้งแต่รุ่น 4, 5, 6 ทุกครั้งเวลาที่ยกมือถามเด็กในจำนวนใกล้เคียงกัน เด็กเป็น 100 จะยกมือประมาณเกือบหรือเกินครึ่งห้อง มันเห็นอะไร เห็นเทรนด์ที่เปลี่ยนแปลง ตีว่าหลวม ๆ คือสัก 5 ปีที่ผ่านมา แนวโน้มของคนจะฟังและรู้จักพอดคาสต์เยอะขึ้น” คุณโสภิตกล่าว
ดึงเสน่ห์ของเสียงเล่าเรื่อง นำเสนอคอนเทนต์สร้างประโยชน์ให้สังคม
คุณโสภิตกล่าวว่า ไทยพีบีเอสพอดคาสต์ ให้ความสำคัญกับการใช้ “เสน่ห์ของเสียงเล่าเรื่อง” โดย ออกแบบให้เป็นสถานีเสียงที่มีคอนเทนต์หลากหลายให้เลือก
“คุณอยากฟังรายการแบบไหนก็มี 8 กลุ่มรายการให้เลือกฟังตามความสนใจ ทั้งรายการข่าว นิทานเด็ก วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สุขภาพ ดนตรี หนังสือเสียง การศึกษา วาไรตี้และไลฟ์สไตล์ วิถีชีวิตและวัฒนธรรม ตอนนี้มีรายการที่เผยแพร่รวมทั้งหมดก็เกือบ 60 รายการ มีจำนวนหนึ่งหยุดการผลิตไปแล้วแต่ยังสามารถรับฟังเนื้อหาย้อนหลังตอนเก่าได้ และมีรายการที่มีตอนใหม่ ๆ เพิ่มมาเรื่อย ๆ” คุณโสภิตกล่าว
แนวคิดนี้สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้ฟังยุคใหม่ที่ฟังรายการแบบเฉพาะเจาะจง (Niche) มากขึ้น สนใจเป็นเรื่อง ๆ ไม่ได้มาหว่านเป็นแม็กกาซีนอีกแล้ว แนวทางการเลือกรายการของไทยพีบีเอสพอดคาสต์ ดูประโยชน์ที่คนฟังจะได้รับเป็นสำคัญ
“เราตั้งใจผลิตรายการบนพื้นฐานของรสนิยมที่ดี (Good Taste) เราคิดมากว่าเราทำเสร็จแล้วคนฟังได้อะไร ไม่ใช่ทีมเราได้อะไรนะ อย่างน้อยคนฟังต้องได้บางอย่าง จะเป็นความสุข สนุก ข้อมูลความรู้หรือได้ทันสถานการณ์จากข่าว ดีทั้งหมด ให้ความสำคัญกับการเลือกใช้ภาษา การพยายามเอาเสน่ห์ของเสียงที่มีหลากหลายแบบกลับมาสร้างสีสันในรายการ เรามีรายการละครเพลง 2 รายการ มีรายการสารคดีเสียง รายการสนทนาที่มีเสียงประกอบ (Ambiance) หลากหลายแบบ …
... ครูพี่เคยสอนมาว่า ทำรายการใด ๆ ต้องอย่าให้ก่อนและหลังการฟังรายการของเราแล้วผู้ฟังรู้สึกว่าค่าเท่ากัน เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นไม่มีความจำเป็นต้องเปลืองแรงมาทำ อยู่เฉย ๆ ดีกว่า"
คุณโสภิตกล่าว
คุณโสภิตยอมรับว่า งานสื่อเสียงของไทยพีบีเอสแม้จะเกิดพร้อม ๆ กับการก่อตั้งองค์กรและเผยแพร่พร้อมกันกับสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสตั้งแต่ 16 ปีที่แล้ว แต่มีข้อจำกัดในอดีตเพราะสมัยเป็นวิทยุ ไม่มีคลื่นความถี่ FM รองรับ จึงต้องออกอากาศเป็นวิทยุออนไลน์ ในยุคที่สื่อออนไลน์ยังไม่เติบโตเช่นทุกวันนี้ ทำให้ยังไม่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย โดยมีความร่วมมือกับสถานีวิทยุมหาวิทยาลัย วิทยุของอาชีวศึกษาและวิทยุชุมชนทั่วประเทศรับถ่ายทอดสัญญาณรายการไปยังวิทยุต่างจังหวัดทั่วประเทศทดแทน
แต่เมื่อสื่อใหม่พัฒนาขึ้น มีแพลตฟอร์มใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากจึงเป็นโอกาสดีที่งานเสียงของไทยพีบีเอส เข้ามาสู่ตลาดพอดคาสต์เต็มตัวเพื่อเข้าหากลุ่มผู้ฟังที่เป็นคนรุ่นใหม่เพิ่มขึ้น
คอนเทนต์ข่าว สุขภาพ การพัฒนาตัวเอง น่าจับตา
ในด้านความนิยมของรายการ คุณโสภิตมองว่ามีปัจจัยสำคัญสองส่วน หนึ่งก็คือความน่าสนใจของประเด็น สองคือความน่าสนใจของแขกหรือผู้จัดรายการ หากทั้ง 2 ปัจจัยนี้ดีรายการก็จะได้รับความนิยมมากขึ้น
พร้อมยกตัวอย่างรายการของไทยพีบีเอสพอดคาสต์ “คุยให้คิด” โดยคุณสุทธิชัย หยุ่น วีระ ธีระภัทรและวิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ รับชมทางโทรทัศน์และฟังเสียงพอดคาสต์ได้ หรือรายการ Starstuff เรื่องเล่าจากดวงดาว มีผู้ผลิตคือคุณเติ้ล ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน และทีม Spaceth.co ซึ่งมีฐานแฟนคลับและรู้จักกันอยู่แล้วว่านำเสนอเนื้อหาทางเว็ปไซต์และสื่อต่าง ๆเกี่ยวข้องกับอวกาศ วิทยาศาสตร์ ปรัชญาและชีวิตมนุษย์มาคุยกัน เป็นต้น
ในภาพรวมนั้น คุณโสภิตมองว่าคอนเทนต์ข่าว สุขภาพ การพัฒนาตัวเอง เป็นกลุ่มรายการที่มีศักยภาพ นอกจากนี้ กลุ่มพอดคาสต์เกี่ยวกับข่าวเชิงลึกหรือการวิเคราะห์ รายการที่รองรับสังคมสูงวัย ก็ยังเป็นหัวข้อที่น่าสนใจ
“เรามีรายการ โรงหมอ ซึ่งจะมีวิทยากรและแขกรับเชิญเป็นคุณหมอจากหลายโรงพยาบาลมาให้ข้อมูล ทั้งสุขภาพกาย ใจรวมทั้งความสัมพันธ์และเรื่องเซ็กส์ ที่คนมักจะอาย กระมิดกระเมี้ยนจะพูดถึง มีเรื่องขำ ๆที่ทีมมาเล่าให้ฟังว่า มีคนถามหลังไมค์มาเยอะมากทั้งปัญหาโรคต่าง ๆส่งฟิล์มเอ็กซเรย์มาให้ดูก็มีแล้วขอคำปรึกษาว่าจะทำอย่างไรเหมือนขอปรึกษาหมอออนไลน์ ทีมแอดมินและโปรดิวเซอร์ก็ลำบากใจมากเพราะไม่ใช่หมอ ตอบเองไม่ได้ แต่แนะนำให้ไปพบแพทย์แทน”
นอกจากนี้ คอนเทนต์เกี่ยวกับการพัฒนาตัวเองก็กำลังมาแรง เพราะโดนใจกลุ่ม First jobber คนที่เพิ่งเรียนจบมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนการฟังพอดคาสต์เพิ่มขึ้น คนกลุ่มนี้อยากรู้ว่าตัวเองควรทำงานแบบไหน พัฒนาตัวเองอย่างไร เก็บออมเงินอย่างไร หรือลงทุนและวางแผนชีวิตอย่างไร เพราะฉะนั้นรายการประเภทนี้จึงน่าจะตอบสนองความต้องการของกลุ่มคนฟังในรุ่นนี้ได้เป็นอย่างดี
การเติบโตของวิดีโอพอดคาสต์ (Video Podcast) ในไทย เหตุคนรุ่นใหม่ชอบทั้งฟังและดู
คุณโสภิตมองว่า คนไทยและคนทั่วโลกยังคงนิยมยูทูบค่อนข้างมาก ซึ่งมีลักษณะแพลตฟอร์มคล้ายทีวีออนไลน์เพราะมีทั้งภาพและเสียง เมื่อเทียบกันแล้วคนจะสนใจคอนเทนต์ที่มีทั้งภาพและเสียงมากกว่าคอนเทนต์เสียงอย่างเดียว ดังนั้น เมื่อคนใช้ยูทูบเป็นจำนวนมาก จึงเกิดการผลิตเนื้อหาเพื่อให้ตอบสนองกับลักษณะของแพลตฟอร์ม
ไทยพีบีเอสพอดคาสต์กำลังปรับตัวโดยมุ่งเน้นกลุ่มคนฟังรุ่นใหม่ ทั้งในด้านลักษณะการนําเสนอประเด็นและกลุ่มทีมผลิต โดยให้คนรุ่นใหม่มาผลิตเนื้อหาให้คนรุ่นใหม่ฟัง ซึ่งเป็นแนวโน้มของพอดคาสต์ในขณะนี้
ส่วนการขยับแพลตฟอร์มจากงานเสียงไปสู่วิดีโอพอดคาสต์เพิ่มขึ้นนั้น ก็เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายคนฟังหรือคนดูได้ดียิ่งขึ้น
ตอนนี้มี 2 รายการคือ Euraka ท่องโลกวิทยาการ โดย ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ชื่อดัง ซึ่งรายการนี้ได้เผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ ALTV ช่องหมายเลข 4 ด้วย อีกรายการคือ Starstuff เรื่องเล่าจากดวงดาว เลือกฟังเสียงทางพอดคาสต์หรือชมภาพด้วยทางยูทูปได้ทั้งคู่
ไม่ใช่แค่คนฟังนิยมเท่านั้น ในฝั่งคนผลิตรายการก็ชอบทำวิดีโอพอดคาสต์เช่นกัน เพราะมีข้อได้เปรียบ คือต้นทุนต่ำกว่า ผลิตง่ายและเร็วกว่า ใช้เวลาสั้น เพราะมีคน1-2 คนนั่งคุยกันในสตูดิโอ มีกล้องแค่ 1-2 หรือ 3 ตัว บันทึกภาพและเสียง การตัดต่อไม่มาก ใช้ภาพนิ่งประกอบเล็กน้อยหรือไม่มีเลยก็ได้ เมื่อเปรียบเทียบกับการผลิตรายการโทรทัศน์ที่ใช้จำนวนคนเยอะกว่า หรือรายการออกนอกสถานที่และสารคดี ถ่ายทำครั้งเดียวออกอากาศทางยูทูปแล้วตัดแค่เสียงมาเสนอเป็นพอดคาสต์เผยแพร่ในช่องทางอื่น ๆได้อีก รูปแบบนี้จึงมีข้อได้เปรียบและดึงดูดใจได้มากกว่า แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกรายการจะทำได้ทั้งแบบมีภาพและเสียง รายการที่เหมาะจะทำได้ มักเป็นกลุ่มรายการสนทนาหรือพูดคุย (Talk Program)
ในปี 2568 ไทยพีบีเอสพอดคาสต์ จะมีกลุ่มรายการใหม่ ๆเพิ่มขึ้น อีกอย่างน้อย 7 รายการ ทั้งนิทานเด็ก ที่จะไปเผยแพร่ในรายการ “สื่อเสียงนิทาน” ละครเสียงและสารคดีเสียง รวมทั้งจะมีงานวีดีโอพอดคาสต์เพิ่มขึ้นโดยผ่านกระบวนการสรรหาแบบ commissioning เปิดรับผู้ผลิตภายนอกมาร่วมงานกับไทยพีบีเอส
คำแนะนำสำหรับผู้สนใจทำพอดคาสต์
ในยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีราคาถูก อุปกรณ์หาง่าย และแพลตฟอร์มมีมากมาย คุณโสภิตได้ฝากข้อคิดสำหรับผู้ที่สนใจทำพอดคาสต์ว่า “ใคร ๆ ก็สามารถเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ได้ แต่ทำได้แล้วก็ทำให้ดีได้ด้วยเนี่ยก็ไม่ง่าย อยากให้คิดถึงกลุ่มเป้าหมายเป็นลำดับแรก เขาควรได้รับสิ่งดี ๆที่เราคัดสรรแล้วเอาไปให้ เพราะสื่อยุคใหม่มีผลกระทบรุนแรง กว้างขวาง สื่อในโลกยุคใหม่มันฆ่าคนได้ในชั่วข้ามคืน แล้วมันก็ทำให้อีกคนหนึ่งพลิกชะตาชีวิตจากร้ายกลายเป็นดีได้ในช่วงข้ามคืนเช่นเดียวกัน ขอให้เป็นคนคิดมากก่อนลงมือทำ อย่าคิดน้อย นอกจากเราอยากทำรายการแล้วต้องถามตัวเองด้วยว่า คนฟังจะได้อะไร เพื่อช่วยส่งข้อมูลที่ดีไปสู่ผู้ฟังของเรา”
ยิ่งไปกว่านั้นต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพของเนื้อหารายการด้วย ตอนนี้มีตัวเลือกมากมาย ท่วมท้นไปหมด แต่หากจะต้องการยืนระยะให้ยาวนาน ได้รับการยอมรับก็ต้องผลิตรายการที่ดี มีคุณภาพและคนฟังได้ประโยชน์จริง ๆ
ส่วนตัวเชื่อว่าคุณภาพรายการสัมพันธ์โดยตรงกับความตั้งใจ หากเราประณีต ตั้งใจทำ เราก็จะได้รายการดีที่ประณีต แต่ถ้าเราไม่ตั้งใจ ก็ได้รายการงั้น ๆ คนอาจชอบฟังแป๊บ ๆแล้วก็เลิกฟัง เราสร้างรายการด้วยรสนิยมที่ดีโดยการคิดถึงคนฟังเป็นกลุ่มเป้าหมาย เราก็จะได้กลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ฟังที่มีรสนิยมที่ดีกลับมาฟังรายการของเรา"
คุณโสภิตกล่าว
รับฟังรายการต่าง ๆ ของไทยพีบีเอสพอดคาสต์ที่เว็บไซต์และ Application : https://www.thaipbspodcast.com/
Topics
- แนวโน้มสื่อไทย 2568
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2567
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2566
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2565
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2564
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2563
- Thai Media Trends 2025 (English Version)
- Thailand Media Landscape 2023-2024 (English Version)
- Thailand Media Landscape 2022-2023 (English Version)
- Thailand Media Landscape 2021-2022 (English Version)