คุยเข้มกับ "น้อง" ธัญญารัตน์ Niche influencer สายข่าวมาแรง ย้ำ Fact check และจรรยาบรรณสำคัญ
- ธันวาคม 4, 2567
- 15:41 น.
Highlights:
- แม้วงการข่าวจะแข่งขันด้านความเร็ว แต่สิ่งที่ต้องยึดมั่นคือ Fact Check และจรรยาบรรณวิชาชีพ โดยเฉพาะในยุคที่ครีเอเตอร์สายข่าวกำลังมาแรง
- “หนึ่งคลิป หนึ่งคอนเทนต์ หนึ่งคีย์เมสเสจ” คือกลยุทธ์หลักในการนำเสนอข่าวบนโซเชียลมีเดีย พร้อมเน้นย้ำการนำเสนอแบบสมดุล ไม่ใช้อารมณ์ และต้องมีข้อมูลรอบด้าน ที่สำคัญคือการลงพื้นที่เก็บข้อมูลเอง เพื่อให้ได้ประเด็นเอ็กซ์คลูซีฟ
- PPTV เองก็สนับสนุนให้ผู้ประกาศข่าวใช้โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางสื่อสารกับผู้ชม แต่ต้องอยู่ภายใต้กรอบจริยธรรมและจรรยาบรรณวิชาชีพอย่างเคร่งครัด
คุณน้อง ธัญญารัตน์ ถาม่อย ผู้ประกาศข่าวของสถานีโทรทัศน์พีพีทีวี และ News Creator ซึ่งคว้ารางวัล 2nd PRIZE WINNER BEST NEWS CREATOR จาก Tellscore เผยว่า การนำเสนอคอนเทนต์ของตัวเองในโซเชียลมีเดียนั้นเป็นนโยบายของสถานีฯ ที่ต้องการให้นักข่าวมีโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มในการกระจายข้อมูลข่าวสารไปยังผู้ชม เพราะเป็นช่องทางที่สามารถสื่อสารแบบเปิดหน้าคุยได้ เป็นหนึ่งในช่องทางที่ทำให้คนรู้จักมากยิ่งขึ้น ต่อมาเป็นเรื่องของรายได้ และยังช่วยเชื่อมโยงกับคนดูได้ง่ายขึ้น
ด้วยเหตุนี้ เราจึงได้เห็นผู้ประกาศข่าวหรือนักข่าวจากช่องทีวีต่าง ๆ ที่นำเสนอคอนเทนต์ผ่านแอคเคาท์ของตนเองเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นไทยรัฐ, อัมรินทร์, ช่อง 8 โดยคุณน้องเล่าว่า เทรนด์ส่วนใหญ่จะเห็นว่านักข่าวใช้ติ๊กต๊อก (TikTok) เป็นช่องทางการสื่อสารมากขึ้น พร้อมกับยกตัวอย่างไทยรัฐที่มีโมเดลชัดเจนว่า ผู้ประกาศข่าวทุกคนต้องมีติ๊กต๊อก แล้วก็ใช้ชื่อแอคเคาท์เป็นเหมือนชื่อเล่น เช่น ชมพู่8vเล่า ก็เพื่อที่จะคอนเนคกับคนดูได้ง่ายขึ้น
ส่วนเกณฑ์ในการนำเสนอข่าวสารเรื่องราวต่าง ๆ บนโซเชียลมีเดียทุกช่องทางของคุณน้องนั้น เธอเล่าว่า ทาง PPTV ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพราะมองว่าการนำเสนอคอนเทนต์ผ่านโซเชียลมีเดียของผู้ประกาศข่าวเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือในการสื่อสารกับคนดู สไตล์ของ PPTV จะเน้นเรื่องจริยธรรม จรรยาบรรณวิชาชีพ และต้องนำเสนอแบบตรงไปตรงมา มีข้อมูลรอบด้าน เพราะสุดท้ายแล้ว สิ่งที่นำเสนอจะส่งผลต่อภาพลักษณ์ของทั้งตัวเธอและ PPTV
เราได้คุยกันตั้งแต่แรกแล้วว่าสำหรับโซเชียล ถ้าเราอยู่ในกรอบมากไป ทุกอย่างจะช้าไปหมด ต้องคอยเซ็นเซอร์ แต่ถ้าเราไม่มีกรอบ มันก็จะเละเทะ ...
... วิธีการของ PPTV คือเราจับเข่าคุยกันตั้งแต่แรกเลยว่าเราจะทำแนวทางแบบนี้ แล้วที่เหลือคือเป็นการตัดสินใจของเรา เราใช้วิธีนี้ เพราะหนึ่งคือเร็ว สองคือเราคิดเห็นตรงกันว่าวิธีนี้ใช้ได้ นำเสนอข่าวแบบนี้ได้ และเป็นรูปแบบที่โอเค เหมาะสมกับวิชาชีพด้วยค่ะ ให้เราเป็นอิสระแต่ว่าก็อยู่ในกรอบนะคะ"
คุณน้องกล่าว
เมื่อ News Creator ทำข่าวเข้าใจง่าย แต่เสี่ยงข้อมูลผิดพลาด
ในขณะที่ข้อมูลจาก Tellscore ชี้ให้เห็นว่า News Creator เป็นหนึ่งในอินฟลูเอนเซอร์เฉพาะทาง (Niche Influencer) ที่มาแรง คุณน้องมองแนวโน้มของการที่ครีเอเตอร์ที่ไม่ใช่นักข่าวมาเล่าข่าวว่า เธอค่อนข้างจะเปิดกว้างในเรื่องนี้ ว่าทุกคนสามารถสื่อสารกันได้หมด แต่บางครั้งก็เป็นห่วงในเรื่องของการเช็คข้อมูลความถูกต้องหรือ Fact Check เพราะหากครีเอเตอร์ที่ไม่ใช่นักข่าวได้รับข้อมูลที่ผิดมาสรุปต่อ แม้จะทำให้เข้าใจง่ายและเหมาะสำหรับผู้ชมที่ไม่ได้ดูทีวี แต่ก็อาจเผยแพร่ข้อมูลผิด ๆ โดยเฉพาะเมื่อนักข่าวเองก็อาจเป็นต้นตอของความผิดพลาดได้เช่นกัน
การที่ครีเอเตอร์หรืออินฟลูเอนเซอร์หันมาเล่าข่าวเอง ทำให้นักข่าวและสถานีโทรทัศน์ต้องปรับตัวด้วยการปั้นอินฟลูเอนเซอร์ของตัวเองด้วยหรือไม่นั้น คุณน้องเห็นด้วยกับเรื่องนี้ …
และเธอเองก็เคยเจอกับคำถามจากผู้ที่ติดตามเธอในติ๊กต๊อกว่า “ทำไมคุณน้องไม่ไปเป็นผู้ประกาศข่าว คุณเก่งมากเลย” เพราะคนดูหรือผู้ติดตามคุณน้องบนติ๊กต๊อกไม่ได้เสพสื่อทีวีเลย ดังนั้นการมีอินฟลูเอนเซอร์หรือ News Creator ของช่องเองจะช่วยเพิ่มยอดคนดู เพิ่มฐานแฟนคลับ เพราะปัจจุบันทีวีนำเสนอคอนเทนต์คู่ขนานไปกับสื่อออนไลน์ รายการทีวีต่าง ๆ เองก็มักจะถูกตัดไปลงยูทูบ (YouTube) อยู่แล้ว และเรตติ้งทีวีก็ไม่ได้เฟื่องฟูเหมือนแต่ก่อน เพราะยอดการรับชมจะถูกแบ่งไปที่โซเชียลมีเดียเป็นจำนวนมาก
เมื่อหลายปีที่แล้วเรตติ้งจะอยู่ที่ 4-5 แต่ทุกวันนี้ไม่มีแล้ว ทุกช่องอยู่ที่ 0.3-0.4 ซึ่งถือเป็นระดับเฉลี่ยเลย แล้วถ้าเรตติ้งขึ้นมา 1-2-3 ก็จะตื่นเต้นกันแล้ว"
คุณน้องกล่าว
เมื่อเทรนด์การนำเสนอคอนเทนต์ของสถานีโทรทัศน์ผ่านทางนักข่าวและผู้ประกาศข่าวบนโซเชียลมีเดียได้รับความนิยมมากขึ้นแล้ว คุณน้องมองว่า แต่ละช่อง แต่ละ News Creator มีสไตล์เป็นของตัวเอง และแต่ละคนจะลงลึกไปเรื่อย ๆ อย่างกลุ่มคนดูของช่องคุณน้องเองก็เป็นกลุ่มที่ติดตามข่าวอาชญากรรม ดราม่า การเมือง หรือประเด็นสังคม ในขณะที่ News Creator ช่องอื่นก็จะมีฐานคนดูเป็นอีกกลุ่มหนึ่ง ดังนั้น การนำเสนอข้อมูลข่าวสารจึงต้องแข่งกันด้วย “คอนเทนต์” และ “ความไว”
น้องก็จะใช้วิธีการ Wrap-up ให้เข้าใจง่าย เพราะมันคือช่องทางทำมาหากินของเรา เราก็อธิบายทุกสิ่งให้เข้าใจได้ คนก็จะรู้สึกว่าเข้าใจเพราะว่าเขารู้เรื่องข่าวจริง ๆ สองคือเรื่องของการ Fact Check น้องก็ว่ามันสู้ได้ ในการที่คนข่าวของเราจะมาทำคอนเทนต์บนโซเชียลมีเดียค่ะ"
คุณน้องกล่าว
นอกจากนี้ สิ่งที่ทำให้คุณน้องแตกต่างจากครีเอเตอร์ คือ เธอใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊กหรือติ๊กต๊อกเป็นพื้นที่ในการให้ความช่วยเหลือผู้คนด้วยการเป็นกระบอกเสียง เช่น กรณีบริษัทขายตรงที่กลายเป็นประเด็นข่าวครึกโครมนั้น ตัวเธอจะเข้าไปพูดคุยกับผู้เสียหายด้วยตัวเอง แล้วหยิบประเด็นที่ได้พูดคุยมาเล่าต่อ ซึ่งเนื้อหาอาจจะไม่ได้ออกอากาศทางทีวี เธอจึงถ่ายคลิปทุกครั้ง เพื่อนำมาเสนอต่อ
น้องก็ยังเน้นข่าวเหมือนเดิม และเน้นเป็นกระบอกเสียงด้วย เพราะว่าเป็นพื้นที่ Free Space เราจะลงซัก 4-5 คลิปก็ได้ เพราะมันเป็นพื้นที่เรา ไม่ต้องห่วงเวลาโฆษณา"
คุณน้องกล่าว
"หนึ่งคลิป หนึ่งคอนเทนต์ หนึ่งคีย์เมสเสจ" กลยุทธ์หลักดันโซเชียลมีเดีย
คุณน้องเล่าถึงวิธีการและกลยุทธ์ในการทำคอนเทนต์ของเธอว่า การที่เธอตั้งต้นจากการเป็นผู้สื่อข่าวมาก่อน ทำให้เธอมีทักษะในการนำเสนอข่าว ไม่ว่าจะเป็นการพาดหัวข่าว ซึ่งการนำเสนอข้อมูลแบบสั้น ๆ ก็ตรงกับธรรมชาติของแพลตฟอร์มอย่างติ๊กต๊อกที่คนเสพไม่ได้ต้องการเสพข้อมูลที่มีความยาว เธอจึงยึดหลัก สื่อสารหนึ่งคลิป หนึ่งคอนเทนต์ หนึ่งคีย์เมสเสจเท่านั้น โดยพุ่งตรงไปที่เมสเสจเลย ด้วยการทำให้การพูดคุยรู้เรื่องและทำให้การนำเสนอข้อมูลบาลานซ์ ซึ่งจะส่งผลดีกับการนำเสนอคอนเทนต์ในระยะยาวได้มากกว่าการเล่าข่าวโดยใช้อารมณ์
นอกจากนี้ การที่คุณน้องทำข่าวด้วยการลงพื้นที่เอง จึงทำให้เธอมีข้อมูลและประเด็นเอ็กซ์คลูซีฟที่สามารถนำคีย์เมสเสจมานำเสนอ ไม่ว่าจะเป็นกรณีบริษัทขายตรงที่เป็นประเด็นครึกโครม
มันต้องเป็นนักข่าวที่อยู่ในวงในเท่านั้น เราอาจจะหยิบมาจากนักข่าวในสนามบ้าง น้องก็เล่าให้ฟังข้อมูลเอ็กซ์คลูซีฟนั้นแหละ แล้วก็ต้องมีคีย์เมสเสจแค่อันเดียว อย่าไปเอาอะไรเยอะ คนไม่ได้ดู ยาว 3 นาทีก็เหนื่อยแล้ว"
คุณน้องกล่าว
ด้วยทักษะและกลยุทธ์ในการนำเสนอคอนเทนต์ที่เป็นสไตล์ของเธอเองจึงทำให้ช่องทางโซเชียลมีเดียของเธอมีผู้ติดตามทั้งเฟซบุ๊กและติ๊กต๊อกเป็นจำนวนมาก ซึ่งคุณน้องเปิดเผยว่า จริง ๆ แล้วเธอเริ่มนำเสนอข้อมูลข่าวสารจากการโพสต์ในเฟซบุ๊กมาก่อน แล้วหลังจากนั้นติ๊กต๊อกก็ได้รับความนิยม เธอจึงนำเสนอข่าวสารผ่านช่องทางนี้ด้วย ซึ่งผู้ติดตามเธอจากทั้ง 2 แพลตฟอร์มก็ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก โดยกลุ่มผู้ติดตามเธอผ่านทางเฟซบุ๊กมักจะหันมาติดตามเธอในช่องทางติ๊กต๊อกด้วย ในขณะเดียวกันผู้ติดตามเธอในติ๊กต๊อกก็หันไปติดตามเธอในเฟซบุ๊กด้วยเช่นกัน
สำหรับการนำเสนอคลิปข่าวอาชญากรรมผ่านทางติ๊กต๊อกซึ่งเป็นเรื่องราวที่อ่อนไหว คุณน้องกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า
คนไทยเล่นโซเชียลเป็นจำนวนมาก และเรื่องเฟคนิวส์ก็มีเยอะมากเช่นกัน ซึ่งตรงนี้ต้องระมัดระวัง โดยเฉพาะการสื่อสารที่ไม่ถูกต้องในสถานการณ์วิกฤตจริง ๆ เช่น การล้อมจับคนร้ายแล้วมีการไลฟ์สด ซึ่ง Sensitive มาก และคนเสพเยอะ ซึ่งตรงนี้ก็น่ากลัว เพราะเกินการควบคุม
ส่องเกณฑ์การรับงานครีเอเตอร์สายข่าว
เมื่อประสบความสำเร็จในการนำเสนอคอนเทนต์ ประกอบกับการที่เธอเป็นผู้ประกาศข่าวด้วยนั้น News Creator อย่างคุณน้องจึงเป็นหนึ่งในอินฟลูเอนเซอร์ที่ได้รับการติดต่อให้นำเสนอคอนเทนต์หรือรับงานอื่น ๆ ตามมาด้วย ซึ่งส่วนใหญ่คุณน้องจะได้รับการติดต่องานจากหน่วยงานภาครัฐที่อาจจะมีปัญหาในการสื่อสารเพื่อเข้าถึงคน หรือภาครัฐต้องการเผยแพร่ข้อมูลผ่านทางช่องทางที่มีฐานคนดู ซึ่งถือเป็นอีกช่องทางในการสร้างรายได้ของเธอ
งานที่น้องรับ อย่างเช่นงานของหน่วยงานภาครัฐ เพราะน้องมองว่ามีประโยชน์ในเรื่องของการแจ้งเตือนน้ำท่วมที่ผ่านมา ซึ่งเราก็เอามาสรุปให้คนเข้าใจ ฝนตกหนักเมื่อไหร่ แล้วจะต้องระวังน้ำที่ไหนอะไรอย่างนี้ น้องก็จะได้งานของภาครัฐหรืองานเอกชน งานประชาสัมพันธ์ทั่วไป ...
... แต่น้องค่อนข้าง Relax ขายของก็รับ ทำทุกอย่าง เพราะว่าน้องต้องการแสดงความเป็นตัวตน มีความเป็นอินฟลูเอนเซอร์หน่อย ๆ ด้วย เพราะว่าคนก็อยากจะรู้จักเราในอีกแง่มุม"
คุณน้องกล่าว
ในฐานะที่เป็นอินฟลูเอนเซอร์สายข่าว คุณน้องมองว่า การตลาดผ่านอินฟลูเอนเซอร์จะยังคงเป็นกลยุทธ์ที่ขยายตัวและเติบโตต่อไป เพราะผู้คนยังคงติดตามและให้ความสำคัญกับอินฟลูเอนเซอร์ แต่ขณะเดียวกันการใช้งานอินฟลูเอนเซอร์ก็จะมีการแบ่งแยกย่อยลงไปอีก เทรนด์ก็จะมีการใช้เม็ดเงินซอยย่อยลงไป แต่ว่าอาจจะต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอบ้าง ต่อไปอินฟลูเอนเซอร์จะให้บอกว่าใช้งานสินค้าจริงทุกยี่ห้อก็คงจะไม่ได้แล้ว
“น้องรู้สึกว่าคนดูรู้ เช่น อยู่ ๆ มาเล่าผลิตภัณฑ์ใหม่ของสินเชื่อของธนาคาร เพราะปกติไม่เล่าหรอก แต่ส่วนใหญ่ ทิศทางงานของ KOL ที่เป็นสายข่าว จะเป็นงานที่ใช้ความน่าเชื่อถือ เพราะข่าวคือความจริง คนก็จะคิดว่าเราพูดความจริง งานประชาสัมพันธ์หรืองานพีอาร์ก็ต้องดูดี ๆ เพราะว่าท้ายสุดคือคนจะชอบอยากให้เราคอนเฟิร์มให้เค้า
… น้องจะไม่รับงานที่คอนเฟิร์มว่าเจ้าของธุรกิจคนนี่สุดยอด เพราะมันเสี่ยงเป็นเรื่องของการขายตรง ขายเซรั่ม หรืออาหารเสริม เราก็จะระวัง มันมีโมเดลมาตั้งแต่ผู้ประกาศข่าวบนทีวีแล้ว ที่เอาโฆษณามาแปะท้ายรายการทีวี มันคือโมเดลว่า พอข่าวคือความจริง ผู้ประกาศเล่าความจริงแล้ว แล้วต่อด้วยความจริงของโปรดักส์ที่เอามาแปะท้าย” คุณน้องกล่าว
คำแนะนำสำหรับ News Creator หน้าใหม่
คุณน้องยังได้ให้คำแนะนำสำหรับนักข่าวที่อยากเป็นครีเอเตอร์ว่า ให้ลงมือทำเลย แม้ว่าบางคนอาจจะไม่มีเวลา หรือบางคนอาจจะงานหนัก แต่ถ้าอยากทำจริง ๆ เธอคิดว่าคุ้มค่า เพราะเป็นการต่อยอดโปรไฟล์ในอนาคต เผื่อเราอยากเปลี่ยนงาน หรืออยากย้ายงาน โดยตัวเธอเองก็เริ่มมาจากสำนักข่าว แล้วก็ยื่นขอออดิชั่นเป็นผู้ประกาศผ่านผลงานบนติ๊กต๊อก โดยที่ไม่เคยนั่งอ่านข่าวมาก่อน ก็เอาช่องติ๊กต๊อกมาให้ดูว่าอ่านข่าวได้และมีคนตามเยอะ จึงได้มีโอกาสออดิชั่นและทำงานมา 3 ปีแล้ว เธอรู้สึกว่าเป็นโอกาสที่เราสร้างเองได้
ส่วนบุคคลทั่วไปที่อยากจะเป็นอินฟลูเอนเซอร์สายข่าว คุณน้องก็แนะนำให้ลงมือทำ แต่ขออย่างเดียวคือขอให้ Fact-check ให้ดี ๆ เพราะข้อมูลที่ผิดพลาดจะย้อนกลับมาทำลายความน่าเชื่อถือของตัวเรา โดยเฉพาะเรื่องที่สำคัญอย่างน้ำท่วม เศรษฐกิจ ภัยพิบัติ หรือเรื่องที่มีความอ่อนไหว sensitive ถ้าไม่ Fact-check ดี ๆ ก็อันตราย
Topics
- แนวโน้มสื่อไทย 2568
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2567
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2566
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2565
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2564
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2563
- Thai Media Trends 2025 (English Version)
- Thailand Media Landscape 2023-2024 (English Version)
- Thailand Media Landscape 2022-2023 (English Version)
- Thailand Media Landscape 2021-2022 (English Version)