"ผศ.ดร.สกุลศรี" นิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ชี้สื่อไทยมีโอกาสและไปต่อได้ หาก Position และกลุ่มเป้าหมายชัด คอนเทนต์โดนใจ
- ธันวาคม 2, 2567
- 15:02 น.
Highlights:
- รองคณบดีวิชาการ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ วิเคราะห์ว่า สื่อไทยยังมีโอกาส หากเจอโมเดลธุรกิจที่ใช่ ท่ามกลางความท้าทายจากอิทธิพลของคอนเทนต์ครีเอเตอร์และอินฟลูเอนเซอร์ที่มีบทบาทเหนือผู้บริโภค
- แนวโน้มสื่อจะมีความ Niche มากขึ้น แต่ Niche ในยุคนี้ไม่ได้หมายถึงกลุ่มเล็ก ๆ อีกต่อไป หากคือกลุ่มคนที่มีความสนใจเฉพาะทาง มีขนาดใหญ่พอที่จะสร้างรายได้ และเป็น “แฟนพันธุ์แท้” ที่ต้องการคอนเทนต์แบบนั้นจริง ๆ พร้อมแนะให้สื่อทำ Cultural Research เชิงลึก เพื่อเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคไทยอย่างแท้จริง
- อนาคตทีวีดิจิทัลไทยหลังปี 2572 คณะนิเทศฯ จุฬาฯ ได้ทำวิจัยร่วมกับทีมนักวิจัยที่เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ ทำการศึกษาให้กับกสทช. คาดการณ์อนาคตทีวีดิจิทัลไว้ 3 ฉากทัศน์ด้วยกัน: หายไปหากไม่ปรับตัว, อยู่รอดได้หากยืดหยุ่น หรือเติบโตได้ด้วยคอนเทนต์คุณภาพสูง พร้อมเสนอให้ กสทช. เน้นส่งเสริมมากกว่ากำกับดูแล เพื่อให้อุตสาหกรรมปรับตัวได้ทันการเปลี่ยนแปลง
สื่อไทยยังมีโอกาสหากเจอโมเดลธุรกิจที่ใช่
ผศ.ดร.สกุลศรี ศรีสารคาม รองคณบดีด้านวิชาการ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยแนวโน้มสื่อไทยยังมีโอกาสหากเจอโมเดลธุรกิจที่ใช่ ผลิตคอนเทนต์ได้โดนใจกลุ่มเป้าหมาย แต่ก็ยังต้องดิ้นรนเพื่อรับมือกับความท้าทายจากคอนเทนต์ครีเอเตอร์ที่เข้ามามีบทบาทเหนือผู้บริโภค จนทำให้แบรนด์-เอเจนซี่เข้าหาเพื่อปิดการขาย เพราะผู้บริโภคยุคนี้เชื่อมั่นครีเอเตอร์-อินฟลูเอนเซอร์มาก
Traditional Media อย่างทีวี หนังสือพิมพ์ เราก็รู้แหละว่ามันก็คงจะลดลงเรื่อย ๆ ทุกคนจะชอบถามว่ามันหายไปไหม อันนี้ก็จะบอกว่าไม่หายหรอก ภายใน 5 ปีคงยังไม่หาย เพียงแต่คนดูลดลง ก็ต้องยอมรับ ...
… เม็ดเงินที่จะเกิดขึ้นที่สื่อเหล่านั้นก็จะน้อยลง หรือแม้กระทั่งดิจิทัลมีเดียเอง ต่อให้เริ่มทําเงินได้เพิ่มมากขึ้น มันก็คงไม่ได้เป็นก้อนใหญ่เท่ากับเมื่อก่อนที่มีเดีย Monopoly มาก ๆ มีน้อยเจ้ามาก ๆ แล้วก็ Ecosystem ของบ้านเรามี Creator Economy เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการแข่งขันและตัวเลือกของผู้รับสารด้วย” อาจารย์สกุลศรีกล่าว
อีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้การปรับตัวของสื่อไทยมีความยากลำบาก คือการที่ผู้บริโภคหันไปเสพข่าวสารผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย
โดยอาจารย์สกุลศรีเล่าว่า ในช่วงเวลา 5-6 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเป็นประเทศที่โอบรับโซเชียลมีเดียเร็วมาก ด้วยความปรับตัวอย่างรวดเร็วนี้ ส่งผลให้ผู้บริโภคเคลื่อนย้ายไปเสพข่าวสารอยู่บนโซเชียลมีเดีย ซึ่งทำให้สื่อแบบดั้งเดิมต้องต่อสู้กับระบบอัลกอริทึมของโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มต่าง ๆ และต้องพยายามสร้างคอนเทนต์ที่สามารถดึงดูดผู้คนได้และผู้รับสารเคยชินกับการ Personalization หรือเลือกตามความสนใจของตัวเองเป็นหลัก
เพราะฉะนั้นความยากของคนทําสื่อในบ้านเราคือ ไม่ใช่แค่ทะลุอัลกอริทึมอย่างเดียวแล้ว คุณจะทะลุ Personalization ของคนได้ยังไง เราตั้งคําถามเสมอว่าเราจะทําให้คนกลับมาเข้าหน้าเว็บไซต์สื่อได้ยังไง
ซึ่งทุกคนพยายามแต่มันก็ยากมาก แต่ถามว่าสุดท้ายเราต้องทําแพลตฟอร์มที่เป็นของเราเองไหม เพื่อลดความพึ่งพิงโซเชียลมีเดียลง เราก็ต้องทำค่ะ เพราะถ้าไม่ทําสุดท้ายเราก็จะถูกโซเชียลมีเดียกินไปหมด Audience ก็จะหายไปอย่างสิ้นเชิง"
อาจารย์สกุลศรี กล่าว
Niche ที่ไม่นิด Audience Research ที่ขาดหาย และ Mindset ที่ต้องเปลี่ยน
สำหรับแนวโน้มสื่อไทยในอนาคต อาจาย์สกุลศรีมองว่าเราจะเห็นสื่อที่มันมีความ Niche มากขึ้น กล่าวคือ องค์กรสื่อขนาดใหญ่ต้องลดขนาดขององค์กรลง และต้องแตกไลน์สื่อย่อยที่สามารถตอบโจทย์ Audience แต่ละกลุ่มให้ชัดเจน เช่น กลุ่มที่ชอบเรื่องธุรกิจหรือกีฬา จนกลายเป็นแบรนด์ลูกภายใต้องค์กรสื่อใหญ่
“อย่าง วิธิตากรุ๊ป (บันลือกรุ๊ปเดิม) มี The Matter, Capitalread, Salmon ซึ่งตอบโจทย์ผู้รับสารคนละกลุ่มเนื้อหา คนละความสนใจ และมีเป้าหมายของสื่อที่แตกต่างกัน แต่สามารถเจาะกลุ่มได้หลายกลุ่มจากสื่อที่เฉพาะเหล่านั้น หรือไทยรัฐเองก็ต้องแตกย่อยเป็นสื่อที่ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกัน
... เพราะว่ามันไม่มี Mass ที่กวาดได้ทั้งหมดแล้ว มันก็จะกลายเป็นแบบ Niche ของแต่ละเรื่อง แต่การทำเฉพาะเรื่องเฉพาะกลุ่มที่จับกลุ่มได้จริง ก็ได้กลุ่มผู้รับสารที่ต้องการติดตามตัวจริง และเมื่อขยายหลายๆ ความเฉพาะ ก็เก็บผู้รับสารได้หลายกลุ่มได้"
อาจารย์กล่าว
อย่างไรก็ดี อาจารย์สกุลศรีกล่าวว่า คําว่า “Niche” ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงคนกลุ่มเล็กเสมอไป แต่จะเป็นกลุ่มคนที่สนใจเรื่องเฉพาะทางกลุ่มใหญ่พอที่จะสร้างรายได้ และที่สำคัญคือเป็นกลุ่ม “แฟนพันธุ์แท้” ที่ต้องการคอนเทนต์แบบนั้นอย่างแท้จริง
ดังนั้น หากองค์กรสื่อหาข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มเป้าหมายของตัวเองได้ จับคู่คอนเทนต์กับคุณค่าขององค์กรได้ สื่อนั้น ๆ ก็จะมีทางไปต่อ
แต่สุดท้ายมันก็จะแบ่งออกเป็นหลายเซ็กเมนต์ แล้วเราก็จะรู้ว่า Content Pillar ใดที่เหมาะกับเซ็กเมนต์ไหน แล้วเราก็ทำให้ชัดเจนน่ะค่ะ พอมีความชัดเจนขึ้น คุณก็จะมีแฟนแต่ละกลุ่ม มันจะเกิดบิสซิเนสโมเดลที่เหมาะกับแต่ละกลุ่มขึ้น แต่สื่อไทยยังไปไม่ถึงสเต็ปนั้น"
อาจารย์สกุลศรี กล่าว
อาจารย์สกุลศรียังตั้งคำถามให้องค์กรสื่อหันกลับมาทบทวนถึงกลุ่มผู้ชมของตนเองอย่างจริงจังว่า แท้จริงแล้วใครคือกลุ่มเป้าหมายที่แท้จริงขององค์กร เพื่อให้สามารถปรับตัวและอยู่รอดในสมรภูมินี้ได้
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังขาดการทำ Audience Research ที่เป็น Cultural Research ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจพฤติกรรมที่แท้จริงของผู้บริโภคในสังคมไทย และสามารถสะท้อนให้เห็นถึงคอนเทนต์ที่คนต้องการและรูปแบบการสื่อสารที่ตรงใจมากขึ้น นับเป็นกุญแจสำคัญต่อการปรับตัวขององค์กรสื่อต่าง ๆ
ถามว่ามันมีองค์กรที่พยายามทําแบบนั้นไหม มีแล้ว แล้วเราก็จะเห็นว่าเค้ามีโมเดลธุรกิจแบบใหม่ ๆ นะ อาจจะมีโฆษณาอยู่ เพียงแต่ว่ามันก็จะมี เช่น จัดสัมมนาได้ จัดเวิร์กช็อปได้ มีงานแฟนมีตได้ หรือว่ามีแบบเอ็กซ์คลูซีฟคอนเทนต์บางอย่างได้"
อาจารย์สกุลศรี กล่าว
นอกจากนี้ อาจารย์สกุลศรียังกล่าวอีกว่า องค์กรสื่อต่าง ๆ มีความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยน Mindset
จากรูปแบบการทำงานแบบเดิม เนื่องด้วยการทำงานสื่อเพียงลำพังในปัจจุบันไม่เพียงพอ จำเป็นต้องเพิ่มการทำงานแบบ Collaboration กับองค์กรอื่น เพื่อขยายขอบเขตไปในหลาย ๆ เรื่องที่เราอาจไม่ชำนาญ ที่จะช่วยให้เราสามารถขยายฐาน Audience และสามารถสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ที่ไม่ต้องพึ่งพารายได้จากโฆษณาที่มีอยู่จำกัดเพียงอย่างเดียว
3 ฉากทัศน์ทีวีดิจิทัลไทย หลังใบอนุญาตทีวีหมดอายุปี 2572
อาจารย์สกุลศรีเปิดเผยว่า ทางคณะนิเทศฯ จุฬาฯ ได้ทำวิจัยร่วมกับทีมนักวิจัยที่เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ ทำการศึกษาให้กับกสทช. คาดการณ์อนาคตทีวีดิจิทัลไว้ 3 ฉากทัศน์ด้วยกัน
ฉากทัศน์ที่ 1 ที่เลวร้ายที่สุดก็คือ ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลทุกรายจะหายไปทั้งหมดหากไม่ปรับตัว ซึ่งคงไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น
ฉากทัศน์ที่ 2 คือ ผู้ประกอบการแต่ละรายยังสามารถอยู่ต่อไปได้ แต่ว่าจะต้องมีการปรับตัวหลายแง่มุม รวมทั้งฝ่ายกำกับดูแลด้วย กสทช.ต้องมีความยืดหยุ่น เน้นส่งเสริมมากกว่ากำกับดูแล เช่น ส่งเสริมให้สามารถทำคอนเทนต์บางประเภทที่จะต้องใช้เม็ดเงิน เพราะถ้าคอนเทนต์ไม่มีคุณภาพ คนก็จะเลิกดูทีวีในที่สุด ต้องทำให้ขยายตลาดและมีความร่วมมือกับ Platform ต่างประเทศในรูปแบบที่สื่อไทยได้ประโยชน์มากขึ้น และขยายเนื้อหาตัวเองได้ด้วย
ฉากทัศน์ที่ 3 คือ ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลยังเติบโตต่อไปได้ในอีก 6-7 ปีข้างหน้า แต่คอนเทนต์ต้องมีคุณภาพสูงมาก แล้วก็สามารถรวมกันเป็นองค์กรที่สามารถเจรจาต่อรองกับแพลตฟอร์ม OTT ระดับชาติได้ รวมถึงมีระบบสนับสนุนอุตสาหกรรมที่ชัดเจน
เราก็ต้องสามารถทำได้แม้กระทั่งเจรจาต่อรองกับ OTT เราจะมี OTT แห่งชาติมั้ย หรือถ้าเราไม่มี เราจะสามารถรวมกันในระดับอาเซียนเพื่อมีข้อต่อรองกับ OTT ระดับโลกเพิ่มขึ้นได้มั้ย นั่นก็จะเป็น scenario ที่เข้มแข็งมาก ๆ"
อาจารย์ กล่าว
สำหรับการประมูลใบอนุญาตทีวีดิจิทัลนั้น อาจารย์สกุลศรีมองว่าคงยังมีผู้สนใจแต่จำนวนไม่เท่าเดิม ผู้ประมูลที่เป็นธุรกิจสื่อจริง ๆ ยังมีโอกาสเพราะมีฐานและมีกลุ่มเป้าหมาย หรือมิฉะนั้นต่อไปก็อาจจะไม่ใช่วิธีประมูลแล้ว ขึ้นอยู่กับกสทช.ว่าจะออกวิธีการต่อใบอนุญาตแบบใด ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีสัญญาณจากฝ่ายใด ยังไม่มีใครกล้าตอบในตอนนี้ ถ้ากสทช.ส่งสัญญาณช้าเกินไป อุตสาหกรรมก็ไปต่อยาก เพราะการปรับตัวต้องมีการทำแผนทั้งระยะสั้นและยาว
ส่องแนวโน้มสมรภูมิสตรีมมิ่ง
สำหรับสตรีมมิ่ง อาจารย์สกุลศรีมองว่า เมื่อคนไม่ค่อยดูคอนเทนต์ทางทีวีแล้ว ก็จะหันไปดูสตรีมมิ่งมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการลงทุนผลิต Local content มากขึ้น หลังจากที่ช่วง 2-3 ปีก่อนหน้านี้มีคอนเทนต์จากต่างชาติเป็นส่วนใหญ่ แต่ปัจจุบันกลุ่มเป้าหมายที่ดู Local content ในไทยมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น คอนเทนต์ไทยจึงมีโอกาสเติบโต
ถ้าสตรีมมิ่งต้องทำงานกับ Local content มากขึ้น มันก็จะมีโอกาสของคนทำละครหรือคนทำหนังที่สามารถมีแพลตฟอร์มอื่นที่เผยแพร่ผลงานได้
… แพลตฟอร์มเหล่านี้เค้าลงทุนค่อนข้างสูงในการให้เงินทำงาน แล้วถ้าทำดี ๆ งานของเรามันก็กลายเป็น International Product ได้ แต่ว่าเราจะทำยังไงให้เรามีส่วนแบ่งใด ๆ ที่ชัดเจน หรือเราสามารถทำเม็ดเงินในวงการนี้ได้ชัดเจนมากขึ้นค่ะ” อาจารย์สกุลศรีกล่าว
อาจารย์สกุลศรียังได้ยกตัวอย่างของ Bugaboo ว่ามาก่อนกาล เพราะให้บริการสตรีมมิ่งตั้งแต่ที่ยังไม่มีช่องใดทำแอปหรือเว็บแบบที่มีฐานของกลุ่มคนดูในต่างประเทศ จึงทำให้ช่อง 7 อยู่ได้ หรือช่อง ONE ที่ทำ Eexclusive content ไม่ว่าจะเป็นเวอร์ชั่น Uncut เฉพาะในแอป เพื่อดึงดูดให้มีผู้สมัครสมาชิกเพิ่ม
มองพอดแคสต์โตต่อได้แต่ต้องคอลแลบ-หาสปอนเซอร์
อาจารย์สกุลศรีมองว่า พอดแคสต์จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง การฟังเป็นพฤติกรรมที่ง่ายที่สุดในการเสพสื่อ ฟังได้ทุกที่ทุกเวลา จริง ๆ ก็เหมือนย้ายวิทยุมาอยู่บนดิจิทัล โดยพอดแคสต์ในไทยมีความพยายามทำคลิปให้ดูด้วย ต่างจากของต่างประเทศที่ 80% เน้นเสียงอย่างเดีย
งานพอดแคสต์จะไม่หายไป แล้วมันจะโตขึ้น หลากหลายมากขึ้น มีความเฉพาะทางเพิ่มมากขึ้นด้วยค่ะ เราก็จะเจอคาแรคเตอร์ใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น แต่เราต้องตั้งคำถามค่ะว่าเม็ดเงินมันจะเยอะมากขึ้นรึเปล่า”
อาจารย์สกุลศรีกล่าว
ด้วยความที่พอดแคสต์เป็นสื่อที่ทำรายได้ไม่มาก นอกจากผู้จัดทำจะทำงานเก่งและใช้กลยุทธ์ Transmedia อย่างแซลมอนเฮาส์ที่สามารถร่วมทำแคมเปญในด้านต่าง ๆ กับพาร์ทเนอร์ได้ แต่การที่เครือแซลมอนสามารถทำได้นั้น เพราะมีจุดแข็งที่คอนเทนต์และธุรกิจต่าง ๆ อยู่ในมือ อาจารย์ยังได้แนะนำด้วยว่า …
โดยปกติพอดแคสต์จะทำคอนเทนต์เฉพาะทาง และค่อนข้างจะมีจุดยืนที่จะชัดเจน ผู้ที่ทำพอดแคสต์ควรดูว่ากลุ่มเป้าหมายในตลาดมีเม็ดเงินหรือไม่ เพราะต่อให้เราชอบพูดเรื่องนี้มากและพูดเก่ง แต่ถ้าไม่มีใครมาสปอนเซอร์เรา ก็อยู่ไม่ได้อยู่ดี
สำหรับพอดแคสต์ข่าวนั้น อาจารย์สกุลศรีมองว่าทำยากมาก เพราะฟังข่าวอย่างเดียวก็อาจจะลำบาก แต่ถ้าเป็นข่าวเชิงลึก เช่น แนวอธิบายข่าวที่ไม่สามารถหาได้ทั่วไป มีแบ็คกราวด์มี Behind the scene หรือข่าว Exclusive คนก็จะสนใจอยากฟัง
Influencer Marketing ใช้เบอร์ใหญ่สร้าง Awareness ใช้เบอร์เล็กปิดการขาย
หากจะกล่าวถึงแนวโน้มของ Influencer Marketing นั้น อาจารย์มองว่า กลยุทธ์นี้ยังไปต่อได้ แต่ปัจจุบันคนเริ่มมองอินฟลูเอนเซอร์บางรายเป็นเหมือนเซเลบริตี้แล้ว เพราะฉะนั้นผู้คนบางส่วนก็จะหันไปสนใจไมโครอินฟลูเอนเซอร์หรืออินฟลูเอนเซอร์ระดับกลาง เพราะดูน่าจะใช้สินค้าจริงมากกว่า
จากการที่ได้แบบศึกษาเกี่ยวกับด้านความงามนั้น พบว่า คนส่วนใหญ่ไม่ได้เชื่ออินฟลูเอนเซอร์แล้ว โดยหันไปสร้างกรุ๊ปด้านความงามขึ้นมาเพื่อรีวิวสินค้ากันจริง ๆ แล้วบอกต่อกันเองว่าสินค้าเหล่านี้เป็นอย่างไร
อินฟลูเอนเซอร์มันจะเริ่มขยับไปเป็นเหมือน advertising เหมือนเซเลบที่เรารู้สึกว่าเราไม่น่าเชื่อเค้าได้ 100% แล้ว แต่ถามว่าเค้ามีอิทธิพลมั้ย มี เพราะว่าคนที่ตามเค้าคือแฟนคลับจริง ๆ อะ รู้แหละว่าเค้าจะใช้มากใช้น้อยไม่รู้แหละ แต่ชั้นอยากใช้แบบเค้า"
อาจารย์สกุลศรีวิเคราะห์
หากถามว่าแบรนด์หรือธุรกิจยังคงต้องทำอินฟลูเอนเซอร์มาร์เก็ตติ้งหรือไม่ อาจารย์มองว่าก็ต้องทำ เพราะอินฟลูเอนเซอร์ยังคงสามารถทำให้เกิดคอนเวอร์ชั่นได้จริง คนกดซื้อจริง ทำตามจริง ทำให้แบรนด์ต่าง ๆ รู้สึกว่าคุ้มกับการลงทุนในด้านนี้
แนวโน้มในอนาคตคือ รูปแบบการใช้งานอินฟลูเอนเซอร์จะแตกต่างกันไป อาจารย์กล่าวว่า ถ้าต้องการสร้างการรับรู้ให้เป็นไวรัล ก็ควรใช้อินฟลูเอนเซอร์เบอร์ใหญ่ เพราะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากและมีพาวเวอร์ คนพูดถึงและทำตาม แต่ถ้าอยากปิดการขาย ให้เลือกอินฟลูเอนเซอร์ที่คนเชื่อว่าใช้สินค้าจริง หรือคนที่พูดแล้วรู้สึกว่าเรียล แต่ก็เริ่มมีกระแสของการ “ไม่เชื่อ” อินฟลูเอนเซอร์แล้วเหมือนกัน เพราะว่าบางทีการนำเสนอก็ใกล้เคียงกับการโฆษณามากไปเรื่อยๆ ผู้บริโภคเขาตรวจสอบและบางเรื่องก็รวมกลุ่มกันเพื่อหารีวิวแท้ๆ มากกว่าจากอินฟลูเอนเซอร์ด้วย
ถามว่าเค้ายังใช้งานอินฟลูเอนเซอร์มาร์เก็ตติ้งไหม ก็คงยังใช้อยู่ แต่ว่าจะมีการเลือกใช้แต่ละกลุ่มตามลักษณะ ความหลากหลาย เป้าหมายการสื่อสารและศักยภาพของแต่ละกลุ่มในการทำให้เกิดผลต่อผู้รับสาร ...
… เช่น ในแคมเปญหนึ่งอาจต้องใช้ทั้งกลุ่มที่มีอิทธิพลสูงแบบที่สร้างการรับรู้และกระแสไวรัลได้ ผสมกับการใช้กลุ่มที่ผู้ติดตามไม่มากแต่นำไปสู่การกระตุ้นการลงมือทำของผู้รับสารได้จริง เช่น นำไปสู่การซื้อสินค้าได้จริง” อาจารย์กล่าว
การรู้เท่าทันโซเชียลมีเดียจากมุมมองอาจารย์สกุลศรี
คนไทยเป็นมนุษย์โซเชียล เราเสพคอนเทนต์ทุกอย่างบนโซเชียลค่ะ"
คำพูดของอาจารย์สกุลศรีน่าจะตอกย้ำให้เห็นบทบาทของโซเชียลมีเดียที่มีต่อผู้บริโภคในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี
เมื่อพูดถึงการเสพข่าวบนติ๊กต๊อกนั้น อาจารย์มองว่า …
หากผู้ใช้งานแยกแยะไม่ออกว่าอะไรคือข้อเท็จจริง อะไรคือความเห็น ก็จะทำให้คนหลงเชื่อเฟคนิวส์ได้ง่ายและเกิดการแบ่งขั้วทางความคิด เพราะการรายงานข่าวบนติ๊กต๊อกมักจะติดการใส่ความเห็นและใส่อารมณ์เข้าไปด้วย ทำให้ข่าวไม่มีความสมดุล
“พอติ๊กต๊อกยิ่งใช้เอไอในการฟิลเตอร์ มันไม่ใช่ Recommendation ของคน มันคือ AI recommend ให้เรา เพราะฉะนั้นวิธีการของอัลกอริทึมมันยิ่งมีโอกาสที่เราจะเห็นแค่สิ่งที่เราเห็นน่ะมากยิ่งขึ้น อันนี้ก็เป็นความอันตราย” อาจารย์กล่าว
ส่วนการเสิร์ชข้อมูลบนติ๊กต๊อก อาจารย์กล่าวว่า ถ้ารู้เท่าทันสื่อ หมั่นตั้งคำถามกับหลาย ๆ เรื่อง ผู้เสิร์ชก็จะเห็นข้อมูลที่หลากหลาย แล้วสามารถแยกแยะออกว่าข้อมูลชุดนั้นเป็นอย่างไร แต่กลุ่มผู้ใช้งานแบบนี้มีไม่มาก ส่วนใหญ่คือเสิร์ชเจอข้อมูลขึ้นมา 5 อันดับแรกก็เชื่อเลย ยิ่งถ้า 5 อันดับแรกนั้นพูดถึงเรื่องเดียวกันหมด ก็จะฟันธงเลย
เวลาสอนเด็ก จะบอกว่า คุณ...ทุกเรื่องในสังคมเป็นคริสตัลค่ะ เวลาคุณมองคริสตัลแล้วคุณมองเข้าไป คุณจะเห็นแบบภาพสะท้อนที่ไม่เหมือนกันเลย เพราะฉะนั้นเราควรเห็นภาพสะท้อนของเรื่องที่แตกต่างกัน คุณถึงจะเข้าใจว่าสังคมนี้มันเป็นยังไง"
อาจารย์สกุลศรี เปรียบเทียบ
“วาทกรรมก็เป็นความอันตรายมาก ๆ เดี๋ยวนี้คนก็จะพยายามคิดประโยค คิดวาทกรรมที่ โห catchy มากเลย แล้วได้ยินแล้วต้องแบบกระแทกความรู้สึกมาก แต่บางครั้งวาทกรรมมันทำให้คนเข้าใจผิด เพราะว่ามันไม่ได้ให้เราเห็นทุกมุมมองอย่างครบถ้วน อันนี้ก็จะเป็นปัญหา” อาจารย์กล่าวเสริม
Topics
- แนวโน้มสื่อไทย 2568
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2567
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2566
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2565
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2564
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2563
- Thai Media Trends 2025 (English Version)
- Thailand Media Landscape 2023-2024 (English Version)
- Thailand Media Landscape 2022-2023 (English Version)
- Thailand Media Landscape 2021-2022 (English Version)