"ศิวัฒน์ AnyMind Group" เผย ยุค Evolution ที่ 3 ของวงการอินฟลูเอนเซอร์ไทย: AI - ไมโคร - นาโนอินฟลูเอนเซอร์มาแรง

Highlights:

  • วงการอินฟลูเอนเซอร์ไทยอยู่ในยุค Evolution ที่ 3 ยุคทองของไมโครและนาโนอินฟลูเอนเซอร์ ที่แม้จะมียอดฟอลโลว์ไม่ถึงหมื่น แต่สร้างรายได้ได้จริงผ่านการรีวิวและ Affiliate
  • การนำ AI มาทำอวาตาร์ไลฟ์สตรีมมิ่งเพื่อช่วยดันยอดขายช่วง Off-peak “AI ไม่ได้มาแทนที่คน แต่มาช่วยเสริมในช่วงที่แบรนด์ไม่ได้สร้างรายได้” พร้อมชี้ว่า AI จะช่วยลดความผิดพลาดและประหยัดเวลาในการผลิตคอนเทนต์
  • จุดเด่นของ Niche Influencer คือการสร้าง High Engagement และ Conversion Rate ที่สูง “เข้าถึงกลุ่มที่ดาราหรือมาโครอินฟลูเอนเซอร์เข้าไม่ถึง” ทำให้สามารถจัดกิจกรรมอย่างแฟนมีตได้ง่าย โดยเฉพาะในกลุ่มเฉพาะทางอย่างการลงทุนหรือไลฟ์สไตล์

"Evolution ที่ 3" ของวงการอินฟลูเอนเซอร์ไทย

ศิวัฒน์ วิลาสศักดานนท์ กรรมการผู้จัดการ AnyMind Group ประเทศไทยและฟิลิปปินส์ เผยแนวโน้มการตลาดอินฟลูเอนเซอร์ (Influencer Marketing) ในไทยอยู่ใน Evolution ที่ 3 โดยช่วง Evolution ที่ 1 (ก่อนปี 2553) ส่วนใหญ่อินฟลูเอนเซอร์จะเป็นดารา นักแสดงฮอลลีวูด เช่น แบรด พิตต์, แองเจลีนา โจลี หรือนักกีฬาที่ถูกนำมาใช้ในโฆษณา ตามด้วย Evolution ที่ 2 (หลังปี 2553) เป็นเทรนด์ของโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็นบล็อกเกอร์ด้านอาหารหรือด้านความงาม คนที่ไม่ได้เป็นดาราแต่ว่าดังมาจากโซเชียลมีเดียช่องทางต่าง ๆ

ศิวัฒน์ วิลาสศักดานนท์ กรรมการผู้จัดการ AnyMind Group ประเทศไทยและฟิลิปปินส์

ตอนนี้เป็น Evolution ที่ 3 เป็นช่วงเวลาของไมโครอินฟลูเอนเซอร์ (Micro Influencer) และนาโนอินฟลูเอนเซอร์ (Nano Influencer) คนตัวเล็กที่ยอดฟอลไม่ถึงหมื่นคนนะครับ แต่ว่าสามารถทำคอนเทนต์รีวิวสินค้าเอง แปะลิงก์ Affiliate ให้สร้างรายได้"

Production ไม่ต้องสวยหรูมาก แค่กล้องตัวเดียวก็ทำได้แล้ว ทำคอนเทนต์ที่ค่อนข้างเรียลและทำให้เกิดเอ็นเกจเมนต์กับผู้ติดตาม ส่งผลให้เกิดยอดขาย"

ดึง AI ทำอวาตาร์ไลฟ์สตรีมมิ่ง ดันยอดขายช่วง Off-peak

คุณศิวัฒน์มองว่า แนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในปี 2568 หรือ 2-3 ปีถัดไป ปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะเข้ามามีบทบาทค่อนข้างมาก

โดยอินฟลูเอนเซอร์จะใช้ AI มาช่วยในการทำคอนเทนต์ ไม่ว่าจะเป็น Generate รูปภาพ วิดีโอ หรือแม้แต่การทำโคลนนิ่งตัวเองด้วยเทคโนโลยี AI ขึ้นมา ที่มีส่วนร่วมกับผู้ชมของตัวเองได้ตลอด 24 ชั่วโมง"

ผู้บริหาร AnyMind Group Thailand ได้ยกตัวอย่างของการทำเอไอไลฟ์สตรีมมิ่ง จากแพลตฟอร์ม AnyLive ของ AnyMind ว่า มีลูกค้าของบริษัทที่ใช้ AI สร้างเป็นอวาตาร์พนักงานขายเสมือนจริงขึ้นมา เพื่อที่จะไลฟ์สตรีมได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยในขั้นตอนแรกจะมีการสร้างโมเดลขึ้นมาก่อนให้เหมือนกับคนจริง ๆ แล้วก็ถ่ายทำแบบ 360 องศา จากนั้นจึงมีการสอนตัวอวาตาร์ให้พูดตามสคริปต์ที่เราต้องการ

ข้อได้เปรียบของการทำเอไอไลฟ์สตรีมมิ่ง คือทำให้แบรนด์หรือบริษัทนั้น ๆ สามารถนำเสนอสินค้าได้ตลอดเวลา

สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบันที่สามารถช้อปปิ้งได้โดยไม่มีเวลาตายตัว ซึ่งทาง AnyMind Group ไม่ได้มองว่าการทำเอไอไลฟ์สตรีมมิ่งจะมาแทนที่คน แต่จะมาช่วยเสริมในช่วง Off-peak หรือช่วงที่แบรนด์ไม่ได้สร้างรายได้ แบรนด์สามารถนำตรงนี้มาเสริม ก็จะทำให้การช้อปปิ้งสามารถเกิดขึ้นได้ตลอด 24 ชั่วโมง

คุณศิวัฒน์เปิดเผยถึงผลลัพธ์จากการทดลองไลฟ์ 800 ชั่วโมงด้วยเอไอไลฟ์สตรีมมิ่งว่า สามารถสร้างรายได้ในช่วง Off-peak ซึ่งถือว่าเป็น Big win ส่วนที่สอง คือเรื่อง Error หรือความผิดพลาดที่เกิดขึ้นเป็นศูนย์ เนื่องจาก AI ถูกเทรนตามที่ได้วางสคริปต์ไว้ เพราะฉะนั้น AI จะลดความผิดพลาดที่อาจเกิดจาก MC หรือนักไลฟ์ได้ ถ่ายทำตรงเวลา หรือประหยัดเวลาที่ต้องใช้ไปกับการจัดฉาก ส่วนสุดท้ายเป็นเรื่องการตอบสนอง (Reaction) ที่ค่อนข้างดี เอไอไลฟ์สตรีมมิ่งสามารถที่จะตอบโต้กับคำถามที่ผู้ชมถามมาได้ สมมติถ้าผู้ชมพิมพ์คำว่า “Free shipping” เข้าไป AI ก็จะพูดเรื่องการส่งฟรี เพื่อให้ข้อมูล หรือถ้าพิมพ์คำว่า “Promotion” เข้าไป AI ก็จะพูดเรื่องนั้นทันที

อินฟลูเอนเซอร์ล้น แบรนด์ต้องให้ความสำคัญกับ “คุณภาพ” ของคอนเทนต์

จากข้อมูลสถิติที่ชี้ให้เห็นว่าจำนวนของอินฟลูเอนเซอร์ในไทยมีเพิ่มขึ้นอย่างมากมายนั้น คุณศิวัฒน์มองว่า ปัจจุบันใคร ๆ ก็เป็นอินฟลูเอนเซอร์ได้ ไม่ว่าจะมียอดผู้ติดตามมากหรือน้อยก็ตาม แต่คนที่จะยึดอินฟลูเอนเซอร์เป็นอาชีพได้ คอนเทนต์ต้องโดดเด่นออกมา โดยเฉพาะสมัยนี้แพลตฟอร์มหันมาดันโฆษณามากขึ้น ซึ่งในเรื่องนี้คุณศิวัฒน์ไม่ได้กังวลเรื่องปริมาณ แต่ที่สำคัญคือเรื่องของคุณภาพคอนเทนต์มากกว่า

คุณศิวัฒน์คิดว่า เมกะเทรนด์ (Megatrend) คือสิ่งที่ทำให้ Influencer Marketing เติบโต โดยสื่อดั้งเดิมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นวิทยุ นิตยสาร หนังสือพิมพ์ ลดบทบาทลงเรื่อย ๆ ขณะที่สื่อดิจิทัลกำลังขึ้นมาแทน อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดก็จะมีจุดหนึ่งที่สื่อดิจิทัลจะโตน้อยลง เพราะอินเทอร์เน็ตสามารถเข้าถึงทุกคนได้แล้ว

Niche Influencer มาแรง เพราะสร้าง Conversion และ High Engagement

ในขณะที่จำนวนอินฟลูเอนเซอร์โดยรวมเพิ่มมากขึ้น กลุ่ม Niche Influencer หรืออินฟลูเอนเซอร์เฉพาะทางก็ได้รับความนิยมมากขึ้นเช่นกัน คุณศิวัฒน์มองแนวโน้มของอินฟลูเอนเซอร์ กลุ่มนี้ว่าจะมีความสําคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ และจากการพูดคุยกับลูกค้า คุณศิวัฒน์พบว่าลูกค้าต้องการขยายธุรกิจไปตามหัวเมืองต่าง ๆ ที่ไม่ใช่เชียงใหม่ ภูเก็ต แต่เป็นเมืองรองอย่างนครพนม บึงกาฬ ดังนั้น Niche Influencer (กลุ่มอินฟลูเอนเซอร์แบบเจาะจง) จึงเป็นตัวเลือกสำหรับพื้นที่ดังกล่าว

ด้วยเทคโนโลยีการบริหารจัดการของ AnyMind Group อย่าง AnyTag ทำให้สามารถเข้าถึงอินฟลูเอนเซอร์เฉพาะทางได้ค่อนข้างกว้าง เช่น อินฟลูเอนเซอร์ที่เป็นช่างแอร์ ซึ่งสามารถแนะนำหรือโน้มน้าวใจให้ผู้บริโภคเลือกซื้อแอร์ยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่งได้ หรือในภาคอีสานที่มีอินฟลูเอนเซอร์ที่เชี่ยวชาญเรื่องอาหารท้องถิ่นโดยเฉพาะ เช่น ไส้กรอกอีสาน นี่คือบทบาทของ Niche Influencer ที่คุณศิวัฒน์เห็นว่าจะมีมากขึ้น

จุดแข็งของ Niche Influencer คือ “การเข้าถึง” กลุ่มคนที่ดาราหรือมาโครอินฟลูเอนเซอร์ “เข้าไม่ถึง” ไม่ว่าจะเป็นระดับอำเภอหรือตำบล กลุ่มคนที่ติดตามของ Niche Influencer จึงอาจเรียกได้ว่าเป็นกลุ่มที่มี High engagement หรือมีความภักดีกับอินฟลูเอนเซอร์สูง

เอ็นเกจเมนต์กลุ่มนี้จะสูง อย่างดาราหรือกลุ่มมาโครอินฟลูเอนเซอร์ เวลาโพสต์แต่ละครั้ง เอ็นเกจเมนต์อาจจะไม่ถึง 1% แต่เวลา Niche Influencer โพสต์ เอ็นเกจเมนต์จะสูงกว่า เช่น เค้ามีคนติดตามหนึ่งหมื่นคน คนกดไลค์ไปแล้วพันคน เอ็นเกจเมนต์ที่ได้มากเท่ากับ 10% เลย"

How to ทำแคมเปญอินฟลูเอนเซอร์ยังไงให้ปัง

สำหรับกลยุทธ์หรือเกณฑ์ของ AnyMind Group ในการเลือกอินฟลูเอนเซอร์ให้กับแต่ละแคมเปญนั้น คุณศิวัฒน์เปิดเผยว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดคือต้องเข้าใจวัตถุประสงค์ของลูกค้า ลูกค้ามี 2 แบบ แบบแรกคือมีจุดประสงค์ มีบรีฟ แบรนด์ดิ้งและไกด์ไลน์ที่ชัดเจน กับลูกค้าที่ไม่รู้ตัวเอง บอกว่าต้องการแบบนี้ แต่จริง ๆ แล้วต้องการอีกแบบ ทีมงานของบริษัทจึงต้องฟังเป้าหมายของลูกค้าและพยายามงัดออกมาว่าอะไรที่เป็น Key driver ไปส่งเสริมแคมเปญให้กับลูกค้าได้

ผมว่าจุดแข็งของเราเองเนี่ย มี 3 อย่างคือ

1. ความหลากหลายของอินฟลูเอนเซอร์ของเรา

2. เครื่องมือของเราอย่าง AnyTag ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มด้านการตลาดอินฟลูเอนเซอร์ ที่จะเก็บข้อมูลเป็นตัวเลขแบบเรียลไทม์ จึงสามารถที่จะประเมินข้อมูลและแนะนำให้ลูกค้าได้

3. ผมว่าขาดไม่ได้สำคัญที่สุดคือ คน เรามีทีมของเราที่ค่อนข้างมีประสบการณ์สูง แต่ละเดือนเราทำไม่รู้กี่แคมเปญ

ศิวัฒน์ วิลาสศักดานนท์ กรรมการผู้จัดการ AnyMind Group ประเทศไทยและฟิลิปปินส์

ดังนั้น ทีมจะรู้ว่าอินฟลูเอนเซอร์ไหนน่าจะเหมาะกับแคมเปญอะไร
มันเหมือนเป็นการรวมกันของ Art และ Science โดย Art คือวิจารณญาณของคนที่มีประสบการณ์ ส่วน Science ก็คือข้อมูลที่เขาได้จากแพลตฟอร์ม"

หากเจาะไปที่ปัจจัยที่ช่วยผลักดันให้แคมเปญประสบความสำเร็จนั้น คุณศิวัฒน์มองว่า เราจำเป็นต้องแกะออกมาให้ได้ว่าเป้าหมายหลักของแคมเปญนี้คืออะไร แม้แบรนด์อาจบอกว่าอยากเพิ่มยอดขายในส่วนนี้ แต่หากเราฟังดี ๆ อาจพบว่าตัวตนของแบรนด์ยังไม่ชัดเจน ส่งผลให้แบรนดิ้งหรือไกด์ไลน์ไม่ชัดเจนตามไปด้วย อินฟลูเอนเซอร์เป็นแนวทางการสื่อสารแบบหนึ่ง แต่บางทีอาจต้องใช้สื่ออื่นร่วมด้วย เช่น สิ่งพิมพ์ โฆษณาออนไลน์ หรือแม้แต่แอปพลิเคชัน สุดท้ายแล้วต้องทำความเข้าใจว่าจริง ๆ สิ่งที่ลูกค้าต้องการคืออะไร ซึ่งบางครั้งเราก็ต้องทำเกินหน้าที่ของเราเพื่อให้ลูกค้าเข้าใจความต้องการของตัวเองมากขึ้น

ทิศทางคอนเทนต์: ยึดมั่นในสิ่งที่ตนเองถนัด เสริมทัพด้วย AI ต่อยอดไปออฟไลน์

สำหรับทิศทางการทำคอนเทนต์ของอินฟลูเอนเซอร์ คุณศิวัฒน์มองว่าอินฟลูเอนเซอร์ที่ถนัดอะไรก็จะทำคอนเทนต์แบบนั้น เช่น คนที่ถนัดทำคอนเทนต์แบบ Long form ก็จะทํา Long form บางคนถนัดถ่ายรูปสวย ก็จะเน้นไปที่รูป

นอกจากนี้ อินฟลูเอนเซอร์จะนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาปรับใช้ เช่น ใช้ AI มาทำให้คลิปหรือคอนเทนต์สวยขึ้น หรือก็อาจเอามาช่วยเขียนแคปชั่นให้ดึงดูดขึ้น หรือเอา AI มาช่วยทำเป็นคลิปแบบ Short form โยนรูปเข้าไปแล้วออกมาเป็นวิดีโอได้เลย ดังนั้น ใครถนัดอะไรก็จะทำอย่างนั้นต่อไป แต่ว่าจะเอาเทคโนโลยีมาช่วย

ในส่วนของโอกาสการต่อยอดของอินฟลูเอนเซอร์ในอนาคต คุณศิวัฒน์มองว่าจะเป็นการต่อยอดจากออนไลน์มาออฟไลน์ มีการขายสินค้า การจัดแฟนมีต

คุณศิวัฒน์ตั้งข้อสังเกตว่า ในปีสองปีที่ผ่านมาที่เราหลุดพ้นช่วงโควิด เราจะเห็นคนเปลี่ยนจากออนไลน์มาออฟไลน์มากขึ้น ดูได้จากงานเฟสติวัลหรืองานวิ่งมาราธอนที่มีคนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก สวนทางกับพวกกระแสเมตาเวิร์สที่เบาลง

สำหรับลักษณะของคอนเทนต์ที่ได้รับความนิยมในไทยนั้น คุณศิวัฒน์มองว่า ต้องเป็นคอนเทนต์ที่ไม่ดูฝืน มีความ Authentic ไม่ควรบังคับ ปล่อยให้เป็นธรรมชาติ คอนเทนต์เป็นอะไรที่ต้องเซอร์ไพรส์ มันถึงจะไวรัลได้ เช่น คอนเทนต์หมูเด้ง เป็นต้น"

Topics