ภูมิทัศน์สื่อไทย 2567-2568
ธุรกิจสตรีมมิ่งไทยปี 68 แข่งเดือด ผู้ผลิตดาหน้าพลิกโฉมคอนเทนต์
- ธันวาคม 27, 2567
- 10:23 น.
Highlights:
- พอดคาสต์เติบโตชัดเจนในช่วง 5 ปี หลังสถานการณ์โควิด ด้วยปัจจัยความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ความหลากหลายของแพลตฟอร์มใหม่ ๆ และอุปกรณ์ราคาถูกลง ทำให้การผลิตและเข้าถึงเนื้อหาง่ายขึ้น
- คอนเทนต์พอดคาสต์ที่มาแรง ได้แก่ ข่าว วิเคราะห์เชิงลึก สุขภาพ พัฒนาตัวเอง และรายการสำหรับสังคมสูงวัย
- วิดีโอพอดคาสต์กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น เพราะตอบโจทย์คนไทยที่ชอบทั้ง “ดูและฟัง” ในเวลาเดียวกัน
- พอดคาสต์ที่มีคุณภาพต้องคำนึงถึงประโยชน์ที่ผู้ฟังจะได้รับเป็นสำคัญ เพราะสื่อในยุคนี้มีอิทธิพลสูง หากผลิตเนื้อหาด้วยรสนิยมที่ดี และใช้ “เสน่ห์ของเสียง” ในการนำเสนอ จะช่วยดึงดูดผู้ฟังที่มีคุณภาพให้ติดตามรายการ
ธุรกิจสตรีมมิ่ง หรือ การให้บริการภาพและเสียงผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต (Over the Top TV หรือ OTT TV) ในไทย มีแนวโน้มว่า จะได้รับความนิยมจากผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น ...
เนื่องจากการเข้ามาให้บริการของผู้ให้บริการหน้าใหม่ และการยกระดับการผลิตคอนเทนต์ที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ขณะที่ผู้ให้บริการเจ้าเก่าก็พยายามทำคอนเทนต์ให้เข้าถึงคนไทยมากยิ่งขึ้นเพื่อการรักษาและขยายฐานผู้ชมเอาไว้ ซึ่งมีส่วนทำให้คอนเทนต์ไทยเองก้าวสู่การนำเสนอที่แปลกใหม่และกล้าท้าทายขนบเดิม ๆ มากขึ้น
โดย Statista คาดการณ์เมื่อเดือนพ.ย. 2567 ว่า รายได้จาก OTT ของไทยในปี 2567 จะอยู่ที่ 821.33 ล้านดอลลาร์ หรือราว 2.79 หมื่นล้านบาท และยังมีทีท่าว่าจะขยายตัวขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งชี้ให้เห็นว่า การแข่งขันด้านบริการและคอนเทนต์ก็มีแนวโน้มว่าจะดุเดือดไม่แพ้กัน
คุณรัญชิตา ศรีวรวิไล ผู้อำนวยการธุรกิจมีเดีย จากบริษัท นีลเส็น ประเทศไทยได้เปิดเผยข้อมูลที่งาน “1 ทศวรรษทีวีดิจิทัล” เมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2567 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของพฤติกรรมการรับชมคอนเทนต์ของคนไทยที่ว่า แม้ว่าประชากร 87% หรือเกือบ 60 ล้านคนยังคงรับชมทีวี แต่พฤติกรรมการรับชมได้เปลี่ยนแปลงไป ผู้บริโภคมีการใช้งานหลายแพลตฟอร์มพร้อมกัน (Multi-platform)
นอกจากดูทีวีแล้ว สถิติยังพบว่า ผู้บริโภค 91% ใช้อินเทอร์เน็ต 89% ใช้โซเชียลมีเดีย 71% ดู Live TV 52% รับชมผ่านสตรีมมิ่ง 58% เข้าถึงสื่อนอกบ้าน และ 56% ฟังเพลงผ่านบริการสตรีมมิ่ง
ในส่วนของสตรีมมิ่ง พบว่า 67% ของประชากรไทยรับชมวิดีโอออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง
ซึ่งแบ่งเป็นสองรูปแบบหลักได้แก่ AVOD (Advertising-based Video on Demand) ที่เป็นการรับชมฟรีแต่มีโฆษณาที่ระดับ 64% และแบบการจ่ายค่าสมาชิกเพื่อรับชมคอนเทนต์แบบพรีเมียมหรือ SVOD (Subscription Video on Demand) ที่ 48%
นอกจากนี้ การรับชมสตรีมมิ่งยังติดอันดับ 1 ใน 3 ของกิจกรรมออนไลน์ยอดนิยมของคนไทยมาตั้งแต่ปี 2565 ซึ่งบ่งชี้ถึงการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
ในแง่ของอุปกรณ์ที่ใช้รับชมนั้น Smart TV และ Connected TV เป็นอุปกรณ์ที่ใช้รับชมสตรีมมิ่งที่ได้รับความนิยมมากที่สุดที่ 56% ตามด้วยสมาร์ตโฟนที่ 55% ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสะดวกในการเข้าถึงคอนเทนต์ที่เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการรับชมผ่านแล็ปท็อป/คอมพิวเตอร์ที่ระดับ 9% และแท็บเล็ต 6%
การเติบโตของสตรีมมิ่งในช่วงที่ผ่านมา จากข้อมูลของ Nielsen พบว่าในปี 2567 สัดส่วนผู้ชมที่รับชมผ่านสตรีมมิ่งเพิ่มขึ้นเป็น 47% จาก 37% ในปี 2566 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่ม Gen Z และ Gen Y ที่พบว่า 50% ยินดีจ่ายเงินเพื่อรับชมคอนเทนต์พรีเมียมผ่าน SVOD แตกต่างจากกลุ่มผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปที่ยังนิยมรับชมผ่านทีวีแบบดั้งเดิมมากกว่า
ทั้งนี้ แม้ผู้บริโภคไทยจะดูทีวีน้อยลง แต่การบริโภคคอนเทนต์ไม่ได้น้อยลงตามไปด้วย สตรีมมิ่งจึงมีบทบาทสำคัญกับอุตสาหกรรมบันเทิงและมีเดีย ซึ่งจะเห็นได้จากรายได้และแนวโน้มรายได้ของสตรีมมิ่งที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ข้อมูลจากรายงาน Global Entertainment & Media (E&M) Outlook 2024-2028 ของ PwC เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2567 เผยให้เห็นว่า รายได้ของอุตสาหกรรมบันเทิงและมีเดียไทยจะพุ่งแตะที่ 6.9 แสนล้านบาทในปี 2567 หรือเพิ่มขึ้น 4% เมื่อเทียบกับปี 2566 และอาจพุ่งขึ้นสูงถึงเกือบ 8.0 แสนล้านบาทภายในปี 2571 ด้วยแรงหนุนจากธุรกิจสตรีมมิ่งและโฆษณา แม้ว่า จะเผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจต่าง ๆ
PwC ระบุว่า บริการสตรีมมิ่งถือเป็นหนึ่งในภาคส่วนที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วที่สุดในอุตสาหกรรมบันเทิงและมีเดียไทย
อย่างไรก็ตาม ธิตินันท์ แว่นแก้ว หุ้นส่วนสายงานตรวจสอบบัญชี จากบริษัท PwC ประเทศไทย ระบุว่า ความเร็วของการเติบโตเหล่านี้จะค่อย ๆ ชะลอตัวลง จากการแข่งขันที่สูงขึ้น และเหล่าผู้ให้บริการจำเป็นต้องปรับธุรกิจไปสู่รูปแบบใหม่ ๆ ตลอดจนช่องทางในการหารายได้ที่มากกว่าแค่การสมัครสมาชิก เพื่อตอบรับกับการแข่งขันที่สูงขึ้นเช่นนี้
แนวโน้มนี้สะท้อนให้เห็นว่า สตรีมมิ่งกำลังเป็นอนาคตของทั้งการรับชมและการนำเสนอคอนเทนต์ของไทย โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่พร้อมจ่ายเงินเพื่อรับชมคอนเทนต์คุณภาพสูงและปราศจากโฆษณา
ความนิยม YouTube ในไทยยังแรงไม่แผ่ว
YouTube ยังคงเป็นแพลตฟอร์มยอดนิยมของคนไทย โดยมีผู้ใช้งานมากกว่า 40 ล้านคน โดยข้อมูลสำรวจจาก Kantar พบว่า 85% ของผู้ชมชาวไทยเชื่อถือคอนเทนต์จากครีเอเตอร์บน YouTube มากกว่าแพลตฟอร์มอื่น ๆ
พฤติกรรมที่น่าสนใจคือ คนไทยใช้เวลาดู YouTube นาน 3 ชั่วโมงต่อวัน และ 98% ของผู้ชมนิยมรับชมทั้งวิดีโอสั้นและยาว ตั้งแต่คลิป 10 วินาที จนถึงวิดีโอแบบเจาะลึกที่มีความยาว 1 ชั่วโมง
เทรนด์การรับชมที่เติบโตอย่างชัดเจนคือ คอนเทนต์วิเคราะห์เชิงลึก ซึ่งบรรดา “แฟนด้อม (Fandom)” ใช้เวลาในการรับชมวิดีโอที่มีคำว่า “วิเคราะห์” ในชื่อเพิ่มขึ้น 80% เมื่อเทียบกับปี 2566 ขณะที่วิดีโอ “รีแอคชัน” และ “Vlog” เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับการไลฟ์สตรีมมิ่งที่ได้รับความนิยมสูงขึ้น
ทั้งนี้ ผู้ชม YouTube ไม่ได้เพียงรับชมคอนเทนต์เท่านั้น แต่ยังมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับครีเอเตอร์ และมีส่วนร่วมในการสร้างคอมมูนิตี้ ซึ่งบางครั้งยังต่อยอดไปสู่กิจกรรมในชีวิตจริง เช่น การจัด Talk Show ของครีเอเตอร์ที่ได้รับการตอบรับอย่างล้นหลาม
แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งจากต่างประเทศเดินหน้าบุกตลาดไทย
ปี 2567 เป็นปีที่ผู้ให้บริการสตรีมมิ่งจากต่างประเทศเข้ามาให้บริการคอนเทนต์ในไทยกันอย่างคึกคัก โดยร่วมมือกับผู้ให้บริการในไทย ส่งผลให้ผู้บริโภคไทยมีทางเลือกมากขึ้นในการรับชมคอนเทนต์
Paramount+ ผู้ให้บริการสตรีมมิ่งระดับโลก ได้ประกาศความร่วมมือกับ MONOMAX แพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิ่งของบมจ. โมโน เน็กซ์ ที่มีฐานผู้ใช้งานกว่าล้านราย เพื่อนำคอนเทนต์คุณภาพจากค่าย SHOWTIME, CBS Studios และ Paramount Pictures มาให้บริการในประเทศไทยช่วงต้นเดือนพ.ย. 2567 โดยผู้ชมสามารถรับชมซีรีส์อย่าง FBI: INTERNATIONAL, NCIS, HALO รวมถึงภาพยนตร์บล็อกบัสเตอร์อย่าง TRANSFORMERS: RISE OF THE BEASTS และแฟรนไชส์ MISSION: IMPOSSIBLE ผ่านแพลตฟอร์ม MONOMAX ซึ่งรองรับการรับชมได้ทุกอุปกรณ์
นอกจากนี้ การที่บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS ผู้ให้บริการ 3BB GIGATV บรรลุข้อตกลงในการถือลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีกอังกฤษ และเอฟเอคัพ แต่เพียงผู้เดียวใน 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย กัมพูชา และลาว ยังทำให้ MONOMAX กลายเป็นช่องทางใหม่ในการฉายศึกลูกหนังยักษ์ใหญ่ แทนที่ TRUE ซึ่งถือครองลิขสิทธิ์มาอย่างยาวนานอีกด้วย
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวถือเป็นย่างก้าวที่สำคัญของความร่วมมือระหว่างแพลตฟอร์มต่างประเทศและไทยที่สร้างสีสันให้กับวงการ
Max ผนึกกำลัง AIS ขนคอนเทนต์ชื่อดังเอาใจผู้บริโภค
Warner Bros. Discovery เป็นบริษัทต่างชาติอีกรายที่ได้เข้ามาเปิดตัวแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง Max ในประเทศไทยอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2567 พร้อมขนคอนเทนต์แบรนด์ดังอย่าง HBO, DC Universe, Harry Potter และ Cartoon Network ตลอดจนซีรีส์ใหม่และซีซั่นใหม่ของซีรีส์ดังอย่าง House of the Dragon และ The Last of Us ผ่านความร่วมมือกับ AIS โดยลูกค้า AIS ที่ใช้บริการ HBO GO จะได้รับการอัพเกรดเป็นแพคเกจ Max Standard โดยอัตโนมัติ
การเข้ามาของทั้ง Max และ Paramount+ ไม่เพียงนำคอนเทนต์ระดับบล็อกบัสเตอร์มาให้ผู้ชมชาวไทยได้เลือกรับชมมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของผู้ให้บริการระดับโลกต่อการเติบโตของตลาดสตรีมมิ่งในประเทศไทย
Netflix ชักธงรบ เดินหน้ารุกคอนเทนต์กีฬา-ถ่ายทอดสด
สำหรับผู้ให้บริการรายใหญ่อย่าง Netflix ก็ไม่เคยที่จะอยู่นิ่ง ในปี 2567 Netflix ได้ตบเท้าก้าวเข้าสู่สนามคอนเทนต์กีฬาอย่างยิ่งใหญ่ ด้วยการถ่ายทอดสดการแข่งขันชกมวยคู่หยุดโลกอย่างศึกเจค พอล ปะทะไมค์ ไทสัน ที่รัฐเท็กซัส ซึ่งมีจำนวนผู้ชมพร้อมกันในช่วงพีคสูงถึง 65 ล้านคน
หลังจากที่ชิมลางจากการถ่ายทอดการแข่งขันกอล์ฟและเทนนิสในรายการ “Netflix Cup” และ “Netflix Slam” ไปเมื่อปี 2566 โดยการถ่ายทอดสดศึกดวลกำปั้นดังกล่าวเรียกได้ว่าเป็นการฉีกขนบการฉายกีฬาชกมวยที่มักจะเป็นแบบ Pay-per-View อีกทั้งยังเป็นการทดสอบความพร้อมของระบบก่อนการถ่ายทอดสดศึกอเมริกันฟุตบอลยักษ์ใหญ่อย่าง NFL ในช่วงคริสต์มาส
นอกจากนี้ Netflix ยังแสดงความพร้อมที่จะเอาดีด้านการถ่ายทอดสดคอนเทนต์ตั้งแต่เมื่อต้นปี 2567 โดยการประกาศซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดรายการมวยปล้ำ WWE Raw และได้รับสิทธิ์ในการถ่ายทอดสดรายการและอีเวนท์พิเศษทั้งหมดของ WWE นอกสหรัฐแต่เพียงผู้เดียว รวมถึงรายการ SmackDown และศึกใหญ่ระดับ pay-per-view (ต้องจ่ายเงินเพื่อรับชม) อย่าง WrestleMania และ Royal Rumble ด้วย ซึ่งคนไทยสามารถรับชมพร้อมกันทั่วโลกในวันที่ 7 มกราคม 2568 เป็นต้นไป
นอกจากผู้ให้บริการสตรีมมิ่งจะบุกตลาดไทยแล้ว ผู้ให้บริการมือถืออย่าง AIS ก็ไม่ยอมน้อยหน้า เปิดตัวแพ็กเกจ Play Ultimate ที่รวมเอาคอนเทนต์จากทุกแพลตฟอร์มชั้นนำ ทั้ง Netflix, MAX, Disney+ Hotstar, iQIYI, VIU, WeTV และช่องรายการดัง เช่น HBO, CARTOON NETWORK, CNN และอื่น ๆ รวม 22 ช่อง ในราคา 999 บาทเพื่อตอบโจทย์ความต้องการรับชมคอนเทนต์ที่หลากหลายของลูกค้า ถือเป็นอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่คึกคักและน่าจับตากับศึกสตรีมมิ่งที่จะร้อนระอุขึ้นในปี 2568
ปีแห่งคอนเทนต์ไทย
ปี 2567 เรียกได้ว่าเป็นปีของคอนเทนต์ไทยจากผู้ผลิตฝีมือคนไทยที่สามารถทำสถิติการรับชมได้เป็นประวัติการณ์ รวมทั้งสามารถคว้ารางวัลจากเวทีต่างประเทศและได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดี
ไม่ว่าจะเป็นซีรีส์ “สืบสันดาน” จากค่ายกันตนาที่ร่วมมือกับ Netflix จนขึ้นแท่นซีรีส์ภาษาต่างประเทศที่มีผู้ชมสูงสุดทั่วโลกบน Netflix ด้วยจำนวนยอดวิวถึง 4.9 ล้านครั้ง
ความสำเร็จของซีรีส์ไทยอย่างสืบสันดานที่ได้รับความนิยมระดับโลกนั้นมาจากการใช้ภาษาภาพยนตร์ ซึ่งเป็นภาษาสากลที่ต้องมีทั้งศาสตร์และศิลป์ เพื่อนำเสนอประเด็นที่เป็นสากลที่ผู้ชมสามารถรู้สึกร่วมกันได้ ตลอดจนเปิดโอกาสให้นักแสดงได้มีโอกาสได้มีส่วนร่วมในการนำเสนอตัวละครอย่างเป็นอิสระด้วยเช่นกัน
- บทความที่เกี่ยวข้อง – ถอดบทเรียนความสำเร็จจากผู้ผลิตซีรีส์ไทยชั้นนำ: กลยุทธ์สู่ความสำเร็จระดับโลก
Netflix เพิ่มการลงทุนคอนเทนต์ไทย รับกระแสความนิยมในภูมิภาค
Netflix ได้ประกาศแผนเพิ่มการผลิตคอนเทนต์ออริจินัลจากไทยมากขึ้นเป็นเท่าตัว โดยในปี 2567 Netflix ได้ปล่อยผลงานใหม่ออกมามากถึง 10 เรื่อง หรือเกือบสองเท่าจากปี 2566 ที่มีเพียง 6 เรื่อง ความเคลื่อนไหวดังกล่าวบ่งชี้ถึงความสำเร็จของคอนเทนต์ไทย และความสำเร็จในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
คุณยงยุทธ ทองกองทุน ผู้อำนวยการฝ่ายคอนเทนต์ประจำประเทศไทยของ Netflix กล่าวว่า …
“เราได้เห็นความต้องการคอนเทนต์ท้องถิ่นที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดผู้ชมให้มาใช้ Netflix”
ขณะที่นักวิเคราะห์ของ Media Partners Asia (MPA) ระบุว่า คอนเทนต์จากจีน ไทย และอินโดนีเซีย กำลังได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้น โดยละครไทยแนวโรแมนติกและคอเมดี้ รวมถึงภาพยนตร์สยองขวัญอินโดนีเซีย กำลังเติบโตและดึงดูดผู้ชมในภูมิภาค
นอกจากนี้ เพื่อรับมือกับการแข่งขันที่ดุเดือด Netflix ยังได้ปรับลดค่าสมาชิกลงในหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อปี 2566 และร่วมมือกับผู้ให้บริการมือถืออย่าง AIS เพื่อนำเสนอแพ็กเกจให้กับสมาชิกด้วย
Viu ย้ำให้ความสำคัญกับบทและพัฒนาการของตัวละคร
ในขณะที่คอนเทนต์ Boy Love / Girl Love ของไทยที่สามารถสร้างชื่อเสียงไปไกลได้ไม่แพ้กัน คุณอคิรากร อิกิติสิริ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ Viu (วิว) ประเทศไทย กล่าวว่า คอนเทนต์ Boy Love / Girl Love ได้กลายเป็น Soft Power ของบ้านเราไปเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่แพลตฟอร์มต่าง ๆ จะประกาศว่าจะนำเสนอคอนเทนต์ที่ผลิตในประเทศมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ดี คอนเทนต์ Boy Love หรือ Girl Love ของ Viu Original นั้น ให้ความสำคัญกับบทและพัฒนาการของตัวละครด้วย เพื่อให้คอนเทนต์สามารถดึงดูดผู้ชม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง
กลุ่มคนดูเค้าจะเริ่มจากความ Imagination ความจิ้น ความฟินอะ พฤติกรรมนี้ของผู้ชมมีมาตลอดตั้งแต่คอนเทนต์เกาหลีแล้ว เริ่มจากชอบตัวนักแสดงคนนี้ ก็จะสังเกตทุกๆบทบาทการแสดง แล้วจินตนาการไปถึงดาวพลูโตแล้ว ในคอนเทนต์ Boy love/Girl Love ก็เหมือนกันมันเริ่มจากแบบนั้นแหละ ตอนแรกก็ขอความกุ๊กกิ๊ก ๆ บ้าง แต่เดี๋ยวนี้พอกุ๊กกิ๊กไปนาน ๆ ก็เริ่มเบื่อ”
คุณเอ็ม กล่าว
คุณเอ็มกล่าวต่อไปว่า หากสังเกตดี ๆ จะเห็นได้ว่าในช่วง 3-4 ปีมานี้ บทของคอนเทนต์ไทยโดนใจคนดูมากขึ้น แม้เป็นเรื่องราวที่เกี่ยวกับครอบครัว ละครไทยสมัยก่อนที่มีแต่การตบจูบ แย่งสามี แย่งมรดกกัน ตอนนี้เป็นเนื้อเรื่องคล้ายๆแบบนี้ ใช้การยกตัวอย่างดีๆ หรือมุมมองใหม่ ของปัญหาครอบครัวมาสร้างให้ดีขึ้น ด้วยการถ่ายทอดที่ดีกว่าเดิม
“อันนี้ต้องย้อนกลับไปชมสมัยตอน ‘A World of Married Couple’ ที่คนไทยเอามารีเมคเป็น ‘เกมรักทรยศ’ อันนั้นเป็นตัวอย่างที่ค่อนข้างจะเปิดโลกให้กับประเทศไทยเหมือนกันว่า เฮ้ย อะไรนะ สามี-เมียหลวง-เมียน้อย เฮ้ยมันทําให้มันสวยได้อะ มันถ่ายทอดให้เห็นว่า ทําไมคาแรคเตอร์ตัวนี้เป็นอย่างงี้ ทําไมอันนี้มันเป็นอย่างงี้ได้ มากกว่าที่จะแค่จะไปกรี๊ดกร๊าด เอ็มเชื่อว่ามันเกิดจากอย่างงี้แหละ เพราะโปรดักชั่นไทย คนไทยก็เสพของต่างชาติมากขึ้น มันเริ่ม Develop เองว่า เฮ้ยอย่างเราจะเอาแบบเดิมไปสู้มันก็คงไม่ได้ มันเลยค่อย ๆ พัฒนา แล้วพัฒนาเร็วขึ้นมาก ก็ต้องขอบคุณทุก ๆ ด้านเลย ทุกแพลตฟอร์ม ทุกโปรดักชั่นเฮาส์ แม้กระทั่งอุตสาหกรรมเองมันทำให้ต้องปรับตัว” คุณเอ็มกล่าว
iQIYI ประกาศบุกตลาดละครไพรม์ไทม์
สำหรับผู้ให้บริการสตรีมมิ่งอีกรายอย่าง iQIYI ได้ประกาศความสำเร็จในการขยายฐานผู้ชมในไทยด้วยการร่วมมือกับสถานีโทรทัศน์ และการนำเสนอคอนเทนต์หลากหลายรูปแบบ
โดยไฮไลท์สำคัญในปี 2567 คือ การร่วมมือกับช่อง one31 นำเสนอละคร “ทองประกายแสด” ที่ขึ้นอันดับ 1 บนแอปตลอดระยะเวลาที่ออกอากาศ และการร่วมมือกับช่อง 7HD ในการนำเสนอละคร “ไฟน้ำค้าง” นำแสดงโดย ยูโร ยศวรรธน์ และ มุกดา นรินทร์รักษ์
นอกจากนี้ iQIYI ยังมีการผลิตซีรีส์วายที่โดดเด่น โดยผลงานอย่าง “JACK & JOKER U STEAL MY HEART” ที่เปิดตัวตอนแรกอย่างยิ่งใหญ่กับการขึ้นเทรนด์ X อันดับ 1 Worldwide และ Thailand และ “LoveSick 2024” ที่ได้รับความนิยมสูง พร้อมประกาศความร่วมมือกับ Miss Grand International (MGI) ในการผลิตซีรีส์ Girl Love เรื่องแรก “หยดฝนกลิ่นสนิม (Petrichor The Series)” ที่ออกอากาศใน 190 ประเทศทั่วโลก
The Voice Thailand 2024 รุกแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งลงรายการย้อนหลังทาง Netflix
นอกจากผู้ให้บริการสตรีมมิ่งที่พากันสรรหากลยุทธ์ในการนำเสนอและผลิตคอนเทนต์มาแข่งขันกันแล้ว ปี 2567 นับเป็นปีที่คอนเทนต์มีความหลากหลายและมีสีสัน ไม่ว่าจะเป็น The Voice Thailand 2024 ที่กลายเป็นรายการประกวดร้องเพลงรายการแรกที่ได้ร่วมมือกับ Netflix เพื่อนำเสนอคอนเทนต์ให้สอดรับกับพฤติกรรมของผู้ชมรุ่นใหม่ที่นิยมเสพความบันเทิงแบบ On-demand ที่สามารถชมย้อนหลังได้อย่างเต็มรูปแบบทุกตอน โดยเริ่มเปิดให้รับชมรายการย้อนหลังได้ตั้งแต่วันที่ 8 ก.ย. 2567
โปรดักชันส์เฮาส์ไทยหันมาลุยบนสตรีมมิ่งมากขึ้น
เหล่าผู้ผลิตคอนเทนต์ในไทยต่างหันมาให้ความสนใจกับการทำคอนเทนต์ลงบนแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งมากขึ้น ท่ามกลางความท้าทายที่อุตสาหกรรมบันเทิงไทยต้องเผชิญจากการเข้ามาของคอนเทนต์ต่างชาติ และกลุ่มผู้ชมที่ดูทีวีน้อยลง
คุณณฐกฤต วรรณภิญโญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท ทีวี ธันเดอร์ จำกัด (มหาชน) มองว่า แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งเป็นโอกาสหรือ “เค้กก้อนใหม่” ให้เหล่าผู้ผลิตคอนเทนต์ได้เฉิดฉาย และมีแผนจะนำคอนเทนต์บนทีวีไปฉายในสตรีมมิ่ง และผลิตออริจินัลคอนเทนต์บนแพลตฟอร์มต่าง ๆ ด้วย
ขณะที่ คุณถกลเกียรติ วีรวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บมจ.เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ มองว่า แม้คนดูทีวีจะลดลงแต่คนที่ดูคอนเทนต์ไม่ได้ลดลง เพียงแต่กระจายตัวไปตามช่องทางต่าง ๆ มากขึ้น จึงทำให้ต้องมีการทำคอนเทนต์ลงแพลตฟอร์มอื่น ๆ ด้วย
เช่นเดียวกันกับคุณอรุโณชา ภาณุพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บรอดคาซท์ ไทย เทเลวิชั่น จำกัด ที่กล่าวว่า แม้จะยังทำคอนเทนต์ฉายทางทีวีเป็นหลักอย่างช่อง 3 ก็จริง แต่ก็มีแพลตฟอร์ม CH3 Plus ด้วย จึงทำให้ต้องคำนึงถึงการทำคอนเทนต์ทั้งบนทีวีและสตรีมมิ่งควบคู่กันไป
Viu ลุยขยายฐานผู้ชมด้วยกลยุทธ์ "Localization"
หนึ่งในกลยุทธ์เด็ดที่หลายแพลตฟอร์มนำมาใช้เพื่อรับมือกับการแข่งขันที่ร้อนระอุ นั่นคือ การ Localization หรือการปรับคอนเทนต์ให้เข้ากับบริบทของผู้คนในท้องถิ่นมากขึ้น
ในช่วงปี 2567 Viu ได้นำคอนเทนต์เกาหลีพากย์ไทยภาษาถิ่น เดินสายฉายในรูปแบบของหนังกลางแปลงในจังหวัดต่าง ๆ ในภาคเหนือและอีสาน โดยคุณอคิรากร อิกิติสิริ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ Viu (วิว) ประเทศไทย ระบุว่า การพากย์เป็นภาษาท้องถิ่นในแต่ละภาคถือเป็นกิมมิคที่ทำให้คอนเทนต์ของ Viu สามารถสื่อสารกับคนดูได้ง่ายขึ้นในการโปรโมต และได้รับการพิสูจน์แล้วว่า กลยุทธ์นี้มีประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จ
“ปีนี้ เราทดลองที่อีสานก่อน เราก็เลยเอาพากย์อีสานไป เราก็ไปสังเกต ไปนั่งดูปูเสื่อ เขาก็ขํากันอยู่มันเป็นอะไรที่แบบก็ตลกดีนะ บางทีพอไปนั่งดูแบบกับคนที่เขาอิน เราจะรู้สึกว่ามันส์ เหมือนคนดูเขาลุ้นแล้วเขาก็พูดหรือแสดงออกมากันทั้งคำพูดและท่าทาง ผมว่ามันสนุกกว่าดูคนเดียว” คุณเอ็มกล่าว
ความสำเร็จที่เกิดขึ้นทำให้ Viu มีแผนจะต่อยอดงานสู่ระดับเทศกาลโดยจัดงานและกิจกรรม ร่วมกับจังหวัดต่าง ๆ ในปี 2568 เพื่อที่จะดึงคนให้มาร่วมงานให้มากยิ่งขึ้น และจัดฉายในระยะเวลาที่ยาวนานขึ้น ให้ผู้คนที่มาร่วมงานได้ดูซีรีส์ของ Viu
อ้างอิง
Part 1: สถิติ Streaming
- OTT Video – Thailand. [Statista]
- “1 ทศวรรษทีวีดิจิทัล” | ช่วงที่ 1 | 28 ส.ค. 67. [Thai PBS]
- PwC predicts Thailand’s entertainment and media revenue to hit THB690bn in 2024. [PwC Press Release]
- ดู “วิเคราะห์” บน YouTube เพิ่ม 80%. [marketeeronline.co]
Part 2: แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งจากต่างประเทศเดินหน้าบุกตลาดไทย
- “Monomax” จับมือพันธมิตรระดับโลก “PARAMOUNT+” เสริฟ์ความบันเทิงสุดพรีเมียมส่งตรงถึงคนไทย. [thaipr.net]
- เจาะลึกดีลช็อกวงการ JAS กระชากบอลพรีเมียร์ลีกจาก TRUE 6 ฤดูกาล 1.9 หมื่นล้าน. [bangkokbiznews.com]
- AIS รุกตลาดสตรีมมิงไทย ผนึก Warner Bros. Discovery เปิดตัว Max. [marketeeronline.co]
- Jake Paul VS Mike Tyson บททดสอบครั้งสำคัญของ Netflix สู่การเป็นผู้เล่นรายใหญ่ ในวงการถ่ายทอดสดระดับโลก กับการแก้ 80,420 ปัญหาในเวลา 3 ชั่วโมงก่อนการแข่งขัน. [facebook.com/futuretrends.th]
- เน็ตฟลิกซ์ควัก 5 พันล้านดอลล์ซื้อสิทธิ์ฉายมวยปล้ำ “WWE Raw” เริ่มออกอากาศม.ค. 68. [infoquest.co.th]
- เปิดราคาแพ็กเกจตัวจบ AIS Play Ultimate เท่าไหร่ ดูอะไรได้บ้าง. [prachachat.net]
Part 3: ปีแห่งคอนเทนต์ไทย
- Netflix เปิดศึกสตรีมมิง ทุ่มสร้างหนังไทยและซีรีส์ไทย-อินโด เพิ่ม 2 เท่า สู้คู่แข่งอย่าง Viu. [today.line.me – The Standard]
- iQIYI (อ้ายฉีอี้) ยืนหนึ่งผู้นำแพลตฟอร์มวิดีโอออนไลน์ จับมือช่องใหญ่ บุกตลาดละครไพรม์ไทม์ คว้าสุดยอดซีรีส์คุณภาพ รุดหน้าขยายฐานผู้ชม ยกมาตรฐานคอนเทนต์ ส่งตรงถึงหน้าจอทั่วประเทศ. [thaipr.net]
- The Voice Thailand 2024 รุกแพลตฟอร์มสตรีมมิง ลงรายการย้อนหลังทาง Netflix เริ่ม 8 กันยายนนี้. [ryt9.com]
- มุมมอง 4 ผู้ผลิตคอนเทนต์ ในวันที่ “สตรีมมิ่ง” เปลี่ยนวงการทีวี. [prachachat.net]
- ครั้งแรกของ Viu กับการขนซีรีส์ไปให้ชมกันถึงที่! ขอเชิญชวน “พ่อแม่พี่น้องชาวอีสาน” มาเบิ่งหนัง & ซีรีส์กลางแปลง. [facebook.com/viuthailand]
Topics
- แนวโน้มสื่อไทย 2568
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2568
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2567
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2566
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2565
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2564
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2563
- Thai Media Trends 2025 (English Version)
- Thailand Media Landscape 2024-2025 (English Version)
- Thailand Media Landscape 2023-2024 (English Version)
- Thailand Media Landscape 2022-2023 (English Version)
- Thailand Media Landscape 2021-2022 (English Version)