ภูมิทัศน์สื่อไทย 2567-2568

โซเชียลมีเดีย: ศูนย์รวมการใช้ชีวิตยุคดิจิทัลของคนไทย

Highlights:

  • พอดคาสต์เติบโตชัดเจนในช่วง 5 ปี หลังสถานการณ์โควิด ด้วยปัจจัยความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ความหลากหลายของแพลตฟอร์มใหม่ ๆ และอุปกรณ์ราคาถูกลง ทำให้การผลิตและเข้าถึงเนื้อหาง่ายขึ้น
  • คอนเทนต์พอดคาสต์ที่มาแรง ได้แก่ ข่าว วิเคราะห์เชิงลึก สุขภาพ พัฒนาตัวเอง และรายการสำหรับสังคมสูงวัย
  • วิดีโอพอดคาสต์กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น เพราะตอบโจทย์คนไทยที่ชอบทั้ง “ดูและฟัง” ในเวลาเดียวกัน
  • พอดคาสต์ที่มีคุณภาพต้องคำนึงถึงประโยชน์ที่ผู้ฟังจะได้รับเป็นสำคัญ เพราะสื่อในยุคนี้มีอิทธิพลสูง หากผลิตเนื้อหาด้วยรสนิยมที่ดี และใช้ “เสน่ห์ของเสียง” ในการนำเสนอ จะช่วยดึงดูดผู้ฟังที่มีคุณภาพให้ติดตามรายการ

สังคมไทยกับโซเชียลมีเดียกลายเป็นของคู่กันอย่างปฏิเสธไม่ได้

สะท้อนได้จากข้อมูลล่าสุดในรายงาน Digital 2024: Global Overview Report โดย DataReportal ที่เผยว่า ต้นปี 2567 ประเทศไทยมีผู้ใช้โซเชียลมีเดียถึง 49.1 ล้านคน หรือ 68.3% ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งเพิ่มขึ้น 1 ล้านคน หรือ 2.1% จากปี 2566 นอกจากนี้ยังพบว่า คนไทยใช้เวลาเฉลี่ยบนโซเชียลมีเดีย 2 ชั่วโมง 31 นาทีต่อวัน ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่ 2 ชั่วโมง 23 นาที อีกทั้งยังใช้โซเชียลมีเดียหลากหลายถึง 6.7 แพลตฟอร์มในแต่ละเดือน

Photo credit: digitalmarketingforasia.com (2024-most-popular-social-media-in-thailand)
Photo credit: Digital 2024 Global Overview Report | DataReportal (Jan 2024)

สำหรับปัจจัยที่ส่งผลให้โซเชียลมีเดียได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในไทยนั้น มีสาเหตุสำคัญมาจากการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่ง่ายดายในปัจจุบัน ประกอบกับสมาร์ทโฟนที่กลายเป็นส่วนสำคัญในชีวิตประจำวันของผู้คน ทำให้การใช้งานโซเชียลมีเดียสามารถทำได้ทุกที่ทุกเวลา

นอกจากนี้ ความหลากหลายของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียยังตอบโจทย์ความต้องการที่แตกต่างของผู้ใช้แต่ละกลุ่มได้อย่างครอบคลุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป โซเชียลมีเดียได้พัฒนาจากการเป็นช่องทางติดต่อสื่อสารกับครอบครัวและเพื่อนฝูงในยุคสมัยแรก มาสู่แพลตฟอร์มที่ผู้คนใช้เพื่อความบันเทิง ติดตามอัปเดตข่าวสาร ซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า หรือแม้กระทั่งค้นหาข้อมูล

คนไทยเป็นมนุษย์โซเชียล เราเสพคอนเทนต์ทุกอย่างบนโซเชียลค่ะ"

คำกล่าวนี้ของ ผศ.ดร.สกุลศรี ศรีสารคาม รองคณบดีด้านวิชาการ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย น่าจะตอกย้ำให้เห็นบทบาทของโซเชียลมีเดียที่มีต่อผู้บริโภคในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี

โซเชียลมีเดียครองใจคนไทย

จากการสำรวจพฤติกรรมการใช้งานโซเชียลมีเดียของคนไทยในรายงาน Digital Insights Thailand Report 2024 ซึ่ง Content Shifu จัดทำร่วมกับ YouGov Thailand พบว่า โซเชียลมีเดียที่มีการใช้งานมากที่สุด 5 อันดับแรกในประเทศไทย ได้แก่ ไลน์ (95%) เฟซบุ๊ก (94%) ยูทูบ (93%) ติ๊กต๊อก (76%) และอินสตาแกรม (68%) ตามลำดับ

Photo credit: contentshifu.com/blog/digital-insights-thailand

ส่วนโซเชียลมีเดียที่คนไทยใช้งานบ่อย หรือเปิดทุกครั้งที่หยิบมือถือ เฟซบุ๊กนำมาเป็นอันดับหนึ่ง (36%) ตามด้วยติ๊กต๊อก (32%) และไลน์ (29%)

Photo credit: contentshifu.com/blog/digital-insights-thailand

ข้อมูลข้างต้นสอดคล้องกับงานวิจัยจาก GWI ในรายงาน DataReportal Digital 2024: Thailand ซึ่งสำรวจคนไทยอายุ 16-64 ปีที่ใช้งานโซเชียลมีเดียเป็นประจำ พบว่า ณ เดือนมกราคม 2567 แพลตฟอร์มที่คนไทย “ชื่นชอบ” ที่สุด คือ เฟซบุ๊ก (33.4%) รองลงมาเป็นติ๊กต๊อก (28.5%) และไลน์ (14.4%) เช่นกัน อย่างไรก็ดี ยูทูบไม่ถูกนำมาเป็นตัวเลือกคำตอบ เนื่องจาก GWI จัดให้ยูทูบเป็นแพลตฟอร์มวิดีโอมากกว่าแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย

ส่วนเหตุผลในการใช้โซเชียลมีเดียก็แตกต่างกันไปตามแต่ละแพลตฟอร์ม โดยข้อมูลจาก Digital Insights Thailand Report 2024 พบว่า คนไทยเน้นใช้ติ๊กต๊อกและยูทูบเพื่อความบันเทิง ใช้เอ็กซ์ (ทวิตเตอร์) เพื่อติดตามอัปเดตข่าวสาร ใช้อินสตาแกรมเพื่อติดตามบุคคลที่ชอบ และใช้เฟซบุ๊กเพื่อพูดคุยกับเพื่อน

ในบรรดาแพลตฟอร์มที่กล่าวถึงข้างต้น ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ติ๊กต๊อกเป็นโซเชียลมีเดียที่ยังคงมาแรงอย่างต่อเนื่อง ด้วยความโดดของคอนเทนต์วิดีโอสั้นที่เข้าถึงคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะกลุ่ม Gen Z จนทำให้ติ๊กต๊อกก้าวขึ้นมาเป็นแหล่งกำเนิดเทรนด์ใหม่ ๆ และทำให้แบรนด์ต่าง ๆ หันมาใช้ติ๊กต๊อกในการสร้างแคมเปญไวรัลเพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายรุ่นใหม่มากขึ้น ทั้งนี้ ช่วงต้นปี 2567 ติ๊กต๊อกมีผู้ใช้งานในไทยที่อายุ 18 ปีขึ้นไปมากถึง 44.38 ล้านคน ซึ่ง 76% ใช้งานเป็นประจำทุกเดือน ตามข้อมูลจาก DataReportal

เมื่อโซเชียลมีเดียกลายเป็นขุมทรัพย์ของแบรนด์ในโลกนักช็อปออนไลน์

ในยุคที่การช็อปปิงออนไลน์เฟื่องฟู ข้อมูลจาก GWI ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยครองอันดับ 1 ของโลกในด้านนี้ โดยมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตถึง 66.6% ที่ซื้อของออนไลน์อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่ 54.7% อย่างมีนัยสำคัญ

Photo credit: DataReportal (Digital 2024 - October Global Statshot Report)

ปัจจัยหนึ่งที่ขับเคลื่อนการเติบโตนี้คือโซเชียลมีเดีย ซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากต่อการตัดสินใจซื้อของเหล่านักช็อป ดังผลสำรวจจาก Milieu Insight (Thailand) ที่เผยให้เห็นว่า

“89% ของผู้บริโภคชาวไทยยอมรับว่าโซเชียลมีเดียมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อของตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากแพลตฟอร์มยอดนิยมอย่างติ๊กต๊อก (75%) เฟซบุ๊ก (55%) ยูทูบ (51%) และอินสตาแกรม (30%) ตามลำดับ”

ความนิยมของแพลตฟอร์มเหล่านี้สะท้อนให้เห็นผ่านรูปแบบคอนเทนต์ที่ผู้บริโภคชาวไทยชื่นชอบ ได้แก่ คลิปวิดีโอสั้น (59%) โพสต์แบบมีส่วนร่วม เช่น โพลหรือถามตอบ (34%) และคอนเทนต์ที่ใช้เทคโนโลยี AR (34%)

นอกจากนี้ โซเชียลมีเดียยังเป็นช่องทางหลักที่ผู้บริโภคมากถึง 84% ใช้ในการค้นหาข้อมูลในโลกดิจิทัล ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลจาก GWI ที่พบว่า ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในไทย 44.1% ใช้โซเชียลมีเดียเพื่อค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับแบรนด์และผลิตภัณฑ์ก่อนตัดสินใจซื้อ

Photo credit: DataReportal (Digital 2024 - October Global Statshot Report)

แม้ว่าคนรุ่นใหม่จะเป็นกลุ่มที่ใช้โซเชียลมีเดียในการค้นหาข้อมูลแบรนด์มากที่สุด แต่น่าสนใจว่ากลุ่มผู้บริโภคอายุ 55-64 ปี มากกว่า 1 ใน 3 ก็ใช้แพลตฟอร์มเหล่านี้เช่นกัน สะท้อนให้เห็นถึงการยอมรับเทคโนโลยีที่แพร่หลายในทุกช่วงวัย

Photo credit: DataReportal (Digital 2024 - October Global Statshot Report)

ด้วยพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปนี้เอง ธุรกิจในประเทศไทยจึงได้ปรับตัวเข้าสู่ "โซเชียลคอมเมิร์ซ" ผ่านการขายสินค้าบนเพจและบัญชีโซเชียลมีเดียโดยตรง เพื่อตอบสนองผู้บริโภคชาวไทยที่นิยมซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียกันมากขึ้น

ขณะเดียวกัน แพลตฟอร์มต่าง ๆ ก็เดินหน้าพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อเสิร์ฟความต้องการของผู้ใช้ โดยหลังจากความสำเร็จของฟีเจอร์ “ติดตะกร้า” บนติ๊กต๊อก ซึ่งถือเป็นหนึ่งในผู้นำร่องการตลาดแบบ Affiliate

ล่าสุด เฟซบุ๊กก็ได้พัฒนาฟีเจอร์ใหม่ที่อนุญาตให้ครีเอเตอร์และเจ้าของเพจสามารถแปะลิงก์สินค้าในคลิปวิดีโอได้ ทำให้ผู้ชมสามารถซื้อสินค้าได้ทันทีระหว่างรับชม แม้ว่าในปัจจุบันจะจำกัดเฉพาะการเชื่อมต่อกับแอปช็อปปิงอย่าง ช้อปปี้ (Shopee) และเว็บไซต์บางแห่ง แต่คาดว่าจะมีการขยายบริการให้ครอบคลุมมากขึ้นในอนาคต

ทั้งนี้ ข้อมูลจาก Statista คาดการณ์ว่าจำนวนผู้ใช้โซเชียลคอมเมิร์ซในประเทศไทยจะเติบโตอย่างต่อเนื่องระหว่างปี 2567-2572 โดยจะเพิ่มขึ้น 12.09% จาก 13.23% ในปี 2564 เป็น 14.79 ล้านคนในปี 2572 ส่วนรายได้ของโซเชียลคอมเมิร์ซในไทยคาดว่าจะพุ่งขึ้นถึง 97.22% จาก 720 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงเวลาเดียวกัน

ข้อมูลเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงโอกาสอันสำคัญสำหรับแบรนด์และนักการตลาดในการใช้ประโยชน์จากโซเชียลมีเดียเพื่อสร้างความสัมพันธ์และเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังตอกย้ำว่าการสร้างคอนเทนต์ที่น่าดึงดูดใจ โดยเฉพาะในรูปแบบวิดีโอสั้น ถือเป็นกลยุทธ์สำคัญที่ขาดไม่ได้ในการทำการตลาดดิจิทัลยุคปัจจุบัน

คนไทยเสพข่าวผ่านโซเชียลมีเดียไม่แพ้ชาติใดในโลก

ในยุคดิจิทัลที่ข่าวสารถูกนำเสนออย่างรวดเร็ว สื่อดั้งเดิมที่เคยเป็นช่องทางหลักของคนไทยในการติดตามอัปเดตข่าวสาร เช่น หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์และวิทยุ มีบทบาทน้อยลงเรื่อย ๆ สวนทางกับสื่อสังคมออนไลน์ที่โตขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยังไม่มีทีท่าว่าจะแผ่วลง

ข้อมูลจาก DataRepotal, Statista และ Reuters Institute for the Study of Journalism แสดงให้เห็นว่า คนไทยหันมาเสพข่าวผ่านโซเชียลมีเดียกันมากขึ้น และเป็นเหตุผลหลักอันดับสองในการใช้โซเชียลมีเดียของคนไทย นอกจากนี้ พฤติกรรมของผู้ใช้โซเชียลมีเดียชาวไทยยังสอดคล้องกับเทรนด์โลก 

โดยข้อมูลจาก DataReportal ระบุว่า โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางออนไลน์หลักที่ผู้คนอ่านข่าวสารในปี 2567 มากกว่าช่องทางดิจิทัลของสื่อสำนักต่าง ๆ

เฟซบุ๊กยังคงครองบัลลังก์แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอันดับหนึ่งสำหรับการเข้าถึงข่าวสารของคนไทย โดยมีผู้ใช้งานถึง 64% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่ 37% อย่างมีนัยสำคัญ

Photo credit: DataReportal (July 2024)

ตามมาด้วย ยูทูบ 56% โดยข้อมูลจาก Reuters Institute for the Study of Journalism เผยว่า ยูทูบเป็นแพลตฟอร์มอันดับต้น ๆ ที่สื่อดั้งเดิมใช้ดึงดูดผู้ชม

รวมไปถึงรายการคุยข่าวที่โด่งดัง โหนกระแส ของช่อง 3 เอชดี (Channel 3 HD) ที่มีผู้ชมนับล้านติดตามรายการบนยูทูบแทนการรับชมผ่านหน้าจอทีวีแบบเดิม ๆ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะโซเชียลมีเดียมีการกำกับดูแลน้อยกว่าสื่อกระแสหลัก ผู้ชมจึงสามารถแสดงความคิดเห็นโต้ตอบได้ทันทีในขณะที่รายการกำลังถ่ายทอดสด หรือไลฟ์สตรีมมิง

Photo credit: reutersinstitute.politics.ox.ac.uk/digital-news-report/2024/thailand [June 2024]

แอปพลิเคชัน ไลน์ เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่คนไทยยุคปัจจุบันใช้เสพข่าวสารแทนสื่อดั้งเดิมในสัดส่วน 42% ด้วยบริการ ‘ไลน์ ทูเดย์’ (LINE Today) ที่เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ อีกทั้งในปี 2567 ไลน์ยังเดินหน้าชูจุดขายเรื่องการไลฟ์ด้วยเช่นกัน โดยประกาศดันฟีเจอร์ ‘LIVE Today’ เพื่อยกระดับประสบการณ์การชมการถ่ายทอดสดทางออนไลน์ ช่วยผู้ผลิตคอนเทนต์ข่าวสารขยายกลุ่มเป้าหมาย

อีกหนึ่งแพลตฟอร์มที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้ คือ ติ๊กต๊อก ซึ่งแรกเริ่มเดิมทีเข้าสู่วงการโซเชียลมีเดียด้วยคอนเทนต์บันเทิง แต่ปัจจุบันติ๊กต๊อกกำลังกลายเป็นปรากฏการณ์ในวงการข่าวของไทยด้วยรูปแบบคลิปวิดีโอสั้นที่สื่อสารได้กระชับ อีกทั้งยังไม่ถูกควบคุมเหมือนสื่อแบบดั้งเดิม

โดยผลสำรวจพบว่า ผู้ใช้ 4 ใน 10 คน หรือ 39% ในประเทศไทยใช้ติ๊กต๊อกเป็นแหล่งเสพข่าวเด่นประเด็นร้อนต่าง ๆ ซึ่งตัวเลขดังกลาวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญถึง 9 จุด เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และในบรรดาประเทศที่เข้าถึงข่าวสารผ่านติ๊กต๊อกนั้น ไทยนำโด่งมาเป็นอันดับหนึ่ง สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกซึ่งอยู่ที่เพียง 13% ทั้งยังสูงกว่ามากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในยุโรปและอเมริกา

Photo credit: DataReportal (July 2024)

ที่น่าสังเกตคือการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อติดตามอัปเดตข่าวสารนั้นแตกต่างไปตามช่วงอายุ

ข้อมูลจาก DataReportal แสดงให้เห็นว่า เฟซบุ๊กได้รับความนิยมในกลุ่มอายุ 35-54 ปี โดยมีสัดส่วนมากสุดที่ราว 40% ขณะที่คนรุ่นใหม่อายุ 18-24 ปี รับชมข่าวผ่านติ๊กต๊อกมากที่สุดในสัดส่วน 23% เมื่อเทียบกับกลุ่มผู้ชมอายุ 55 ปีขึ้นไปที่มีอยู่เพียง 7% เท่านั้น ส่วนยูทูบเป็นแพลตฟอร์มที่มีการกระจายตัวของผู้ชมอย่างสมดุลที่สุด โดยมีผู้ชมประมาณ 30-32% ในทุกช่วงอายุ

ทั้งนี้ แม้โซเชียลมีเดียจะเปิดโอกาสให้เข้าถึงข้อมูลได้สะดวกและรวดเร็ว แต่ก็มาพร้อมความท้าทายใหม่ ๆ สื่อต้องรักษาความน่าเชื่อถือและกลั่นกรองข้อมูลท่ามกลางกระแสข่าวสารที่ไหลบ่าอย่างรวดเร็ว ขณะที่ผู้บริโภคเองก็ต้องเรียนรู้รับข่าวสารอย่างมีวิจารณญาณ และตรวจสอบความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูลก่อนนำไปแชร์ต่อ

นอกจากนี้ การเข้าใจธรรมชาติและลักษณะเฉพาะของแต่ละแพลตฟอร์มถือเป็นกุญแจสำคัญสำหรับคอนเทนต์ครีเอเตอร์และนักการตลาดในการใช้ประโยชน์จากโซเชียลมีเดียอย่างมีประสิทธิภาพ ความสำเร็จในยุคนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถในการติดตามเทรนด์และปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

อ้างอิง

Part – สถิติการใช้งานโซเชียลมีเดียในประเทศไทย

 

Part- โซเชียลมีเดียท็อป 3 ครองใจคนไทย

 

Part- โซเชียลมีเดีย: ขุมทรัพย์ของแบรนด์ในโลกนักช็อปออนไลน์

 

Part- คนไทยเสพข่าวผ่านโซเชียลมีเดียไม่แพ้ชาติใดในโลก

 

Topics