ภูมิทัศน์สื่อไทย 2567-2568

พอดคาสต์ไทยโตต่อเนื่อง สะท้อนเทรนด์คอนเทนต์ยุคใหม่

Highlights:

  • พอดคาสต์เติบโตชัดเจนในช่วง 5 ปี หลังสถานการณ์โควิด ด้วยปัจจัยความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ความหลากหลายของแพลตฟอร์มใหม่ ๆ และอุปกรณ์ราคาถูกลง ทำให้การผลิตและเข้าถึงเนื้อหาง่ายขึ้น
  • คอนเทนต์พอดคาสต์ที่มาแรง ได้แก่ ข่าว วิเคราะห์เชิงลึก สุขภาพ พัฒนาตัวเอง และรายการสำหรับสังคมสูงวัย
  • วิดีโอพอดคาสต์กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น เพราะตอบโจทย์คนไทยที่ชอบทั้ง “ดูและฟัง” ในเวลาเดียวกัน
  • พอดคาสต์ที่มีคุณภาพต้องคำนึงถึงประโยชน์ที่ผู้ฟังจะได้รับเป็นสำคัญ เพราะสื่อในยุคนี้มีอิทธิพลสูง หากผลิตเนื้อหาด้วยรสนิยมที่ดี และใช้ “เสน่ห์ของเสียง” ในการนำเสนอ จะช่วยดึงดูดผู้ฟังที่มีคุณภาพให้ติดตามรายการ

พอดคาสต์กำลังเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของคนไทยมากขึ้น จากปัจจัยสำคัญคือความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีที่ทำให้มีแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชันหลากหลาย สามารถฟังรายการได้โดยไม่จำกัดเวลา จำนวนครั้ง และสถานที่ สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้ฟังในปัจจุบันที่รับข้อมูลออนไลน์มากขึ้น

จากข้อมูลเดือนสิงหาคม 2567 ของแอปสตรีมมิงเพลงยอดนิยมอย่างสปอติฟาย (Spotify) พบว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาจนถึงปี 2567 จำนวนการผลิตรายการพอดคาสต์ในประเทศไทยเติบโตขึ้นถึง 81% สะท้อนให้เห็นถึงความสนใจอย่างมากจากทั้งผู้ผลิตคอนเทนต์และผู้ฟัง โดยอุปกรณ์ที่ใช้ผลิตรายการหรือรับฟังซึ่งมีราคาถูกลงทำให้ผู้ฟังและผู้ผลิตรายการมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น และยิ่งไปกว่านั้น ยังทำให้การเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์เป็นเรื่องง่าย ปัจจัยนี้ช่วยสนับสนุนให้คอนเทนต์ครีเอเตอร์มีจำนวนมากขึ้น การผลิตคอนเทนต์จึงมีจำนวนเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

วิดีโอพอดคาสต์มาแรง

พฤติกรรมการฟังพอดคาสต์ของคนไทยไม่ได้จำกัดอยู่แค่การฟังเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการรับชมวิดีโอพอดคาสต์ด้วย สถิติการรับชมวิดีโอพอดคาสต์บนสปอติฟายในประเทศไทยเติบโตขึ้นถึง 450% ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาจนถึงปี 2567

นอกจากจะเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้ฟังแล้ว วิดีโอพอดคาสต์ยังเป็นที่ชื่นชอบของผู้ผลิตรายการด้วย เพราะมีข้อดีหลายอย่าง ทั้งเรื่องต้นทุนที่ต่ำกว่า ผลิตได้ง่ายและรวดเร็ว ใช้เวลาไม่มาก โดยปกติเมื่อมีผู้เข้าร่วมรายการ 1-2 คนมานั่งพูดคุยกันในสตูดิโอ ใช้กล้องไม่กี่ตัวในการบันทึกภาพและเสียง ตัดต่อไม่ยุ่งยาก ก็ได้รายการวิดีโอพอดคาสต์ขึ้นมาแล้ว เมื่อเทียบกับการทำรายการทีวีทั่วไป

ผู้ฟังพอดคาสต์ไทยชอบคอนเทนต์เจาะลึก ความรู้ และความบันเทิง

อย่างไรก็ดี ประเด็นของคอนเทนต์และแขกรับเชิญที่เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันก็เป็นอีกปัจจัยที่สำคัญสำหรับความสำเร็จของวิดีโอพอดคาสต์

สิ่งที่น่าสนใจคือ 75% ของการฟังพอดคาสต์ในประเทศไทยเป็นรายการที่ผลิตโดยคนไทย โดยรายการยอดนิยมมีหลายประเภท ตั้งแต่รายการเล่าเรื่องผี อย่าง The Ghost Radio และ หลอนตามสั่ง ไปจนถึงรายการให้ความรู้อย่าง 8 Minute History และ คำนี้ดี

อีกปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้พอดคาสต์ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คือ ความหลากหลายของคอนเทนต์ ซึ่งผู้ฟังสามารถเลือกคอนเทนต์ที่ตรงกับความสนใจได้ เพราะปัจจุบันพฤติกรรมการฟังของผู้คนยุคใหม่จะมีความสนใจสั้นลง ไม่ได้จดจ่อกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งนาน ๆ

พอดคาสต์จึงสามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมดังกล่าวได้ ด้วยรูปแบบการนำเสนอรายการที่แบ่งเป็นตอนสั้น ๆ

แนวคิดนี้สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้ฟังยุคใหม่ที่ฟังรายการแบบเฉพาะเจาะจง (Niche) มากขึ้น สนใจหรือเจาะลึกเป็นเรื่อง ๆ ไม่ได้หว่านคอนเทนต์เหมือนสื่ออื่น

ในภาพรวมนั้น คุณโสภิต หวังวิวัฒนา ผู้จัดการฝ่ายสื่อเสียง สำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอสพอดคาสต์ มองว่า คอนเทนต์ข่าว สุขภาพ การพัฒนาตัวเอง เป็นกลุ่มรายการที่มีศักยภาพ นอกจากนี้ กลุ่มพอดคาสต์เกี่ยวกับข่าวเชิงลึกหรือการวิเคราะห์ รายการที่รองรับสังคมสูงวัย ก็ยังเป็นหัวข้อที่น่าสนใจ

“เรามีรายการ โรงหมอ ซึ่งจะมีวิทยากรและแขกรับเชิญเป็นคุณหมอจากหลายโรงพยาบาลมาให้ข้อมูล ทั้งสุขภาพกาย ใจรวมทั้งความสัมพันธ์และเรื่องเซ็กส์ ที่คนมักจะอาย กระมิดกระเมี้ยนจะพูดถึง มีเรื่องขำ ๆ ที่ทีมมาเล่าให้ฟังว่า มีคนถามหลังไมค์มาเยอะมากทั้งปัญหาโรคต่าง ๆ ส่งฟิล์มเอ็กซเรย์มาให้ดูก็มีแล้วขอคำปรึกษาว่าจะทำอย่างไรเหมือนขอปรึกษาหมอออนไลน์ ทีมแอดมินและโปรดิวเซอร์ก็ลำบากใจมากเพราะไม่ใช่หมอ ตอบเองไม่ได้ แต่แนะนำให้ไปพบแพทย์แทน”

คุณโสภิต หวังวิวัฒนา ผู้จัดการฝ่ายสื่อเสียง สำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอสพอดคาสต์

นอกจากนี้ คอนเทนต์เกี่ยวกับการพัฒนาตัวเองก็กำลังมาแรง เพราะโดนใจกลุ่ม First jobber คนที่เพิ่งเรียนจบมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนการฟังพอดคาสต์เพิ่มขึ้น คนกลุ่มนี้อยากรู้ว่าตัวเองควรทำงานแบบไหน พัฒนาตัวเองอย่างไร เก็บออมเงินอย่างไร หรือลงทุนและวางแผนชีวิตอย่างไร เพราะฉะนั้นรายการประเภทนี้จึงน่าจะตอบสนองความต้องการของกลุ่มคนฟังในรุ่นนี้ได้เป็นอย่างดี

ปรากฏการณ์ "Podfluencer"

ปรากฏการณ์ที่น่าสนใจของวงการพอดคาสต์ คือ การเกิดขึ้นของกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์รูปแบบใหม่ที่เรียกว่า “Podfluencer” โดยมีตัวอย่างผู้จัดรายการที่ทรงอิทธิพลที่โดดเด่น เช่น FAROSE podcast, เคน นครินทร์ (The Secret Sauce), ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน (8 Minute History) และ WOODY โดย Podfluencer เหล่านี้นำเสนอเนื้อหาที่มีคุณภาพและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งนอกจากจะสร้างฐานผู้ฟังที่แข็งแกร่งแล้ว ยังสร้างอิทธิพลต่อความคิดและพฤติกรรมของผู้ฟังได้อย่างมีนัยสำคัญอีกด้วย

การสร้างคอนเทนต์เฉพาะทางของ Podfluencer แต่ละรายมีความโดดเด่นแตกต่างกันไป FAROSE podcast โดดเด่นในการนำเสนอเรื่องราวบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ ขณะที่ The Secret Sauce ถ่ายทอดประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการทำธุรกิจและการพัฒนาตนเอง ส่วน 8 Minute History เป็นพอดคาสต์สำหรับผู้ที่ชื่นชอบความเป็นมาของประวัติศาสตร์จากทุกมุมโลก และ WOODY นำเสนอคอนเทนต์ถ่ายทอดประสบการณ์ Life Learning ของคนดัง เพื่อเป็นแรงบันดาลใจและแนวทางในการใช้ชีวิต

ผู้ฟังพอดคาสต์ส่วนหนึ่งจึงมีความผูกพันกับ Podfluencer เพราะได้ฟังเสียงและความคิดเห็นแบบเจาะลึก ทั้งยังมีปฏิสัมพันธ์กับ Podfluencer ผ่านช่องทางอื่น ๆ เช่น เฟซบุ๊กและเอ็กซ์ (ทวิตเตอร์) ได้ด้วย

รวมถึงความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนที่มีความสนใจคล้ายกัน ด้วยเหตุนี้ Podfluencer บางรายจึงประสบความสำเร็จในการต่อยอดธุรกิจโดยอาศัยฐานผู้ฟังที่เหนียวแน่นด้วยการจัดอีเวนต์ เวิร์กช็อป เขียนหนังสือ รับงานพูดในที่สาธารณะ ให้คำปรึกษาด้านธุรกิจ และจัดทำคอร์สออนไลน์

ความสำเร็จจากออนไลน์สู่ออฟไลน์

ความสำเร็จของพอดคาสต์ไทยไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในโลกออนไลน์ แต่ยังขยายตัวสู่โลกออฟไลน์ด้วย โดยมีตัวอย่างความสำเร็จที่น่าสนใจของ Podfluencer เช่น

“8 Minute History on Stage” โดย ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน ผู้เป็นโฮสต์รายการ 8 Minute History งานนี้นำเสนอเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ในรูปแบบ Edutainment บนเวที และได้รับการตอบรับอย่างล้นหลามจากแฟนคลับที่ติดตามรายการพอดคาสต์ของดร.วิทย์อยู่แล้ว จนต้องเพิ่มรอบการแสดงเป็น 3 รอบ นับเป็นปรากฏการณ์ที่สามารถสร้างสีสันและความคึกคักให้กับผู้ที่ชื่นชอบการฟังพอดคาสต์เป็นอย่างยิ่ง

ปรากฏการณ์นี้สะท้อนให้เห็นถึงพลังของสื่อพอดคาสต์ที่สามารถสร้างชุมชนผู้ฟังที่เหนียวแน่น และพร้อมจะสนับสนุนคอนเทนต์ที่ตนเองชื่นชอบในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการรับฟังผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ หรือการเข้าร่วมกิจกรรมออฟไลน์

นอกจากนี้ ยังมีพอดคาสต์อื่น ๆ ที่ประสบความสำเร็จในการจัดกิจกรรมออฟไลน์ด้วยเช่นกัน เช่น The Secret Sauce Summit ซึ่งมีที่มาจากพอดคาสต์ยอดนิยมในชื่อเดียวกันอย่าง The Secret Sauce ของ The Standard อีเวนต์เหล่านี้แสดงให้เห็นว่าพอดคาสต์ไทยได้พัฒนาจากการเป็นคอนเทนต์ดิจิทัล จนกลายเป็นสื่อที่สามารถสร้างประสบการณ์แบบองค์รวมให้กับผู้ฟังได้

การขยายตัวสู่พื้นที่ออฟไลน์นี้ยังช่วยสร้างรายได้เพิ่มเติมให้กับผู้ผลิตพอดคาสต์ นอกเหนือจากรายได้จากการโฆษณาหรือการสนับสนุนในแพลตฟอร์มออนไลน์ ทำให้อาชีพนักจัดรายการพอดคาสต์มีความยั่งยืนมากขึ้น และเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตคอนเทนต์สามารถสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพได้อย่างต่อเนื่อง

คนฟังยังน้อย ส่งสัญญาณตลาดยังโตได้อีก

รายงาน Digital 2024 โดยวี อาร์ โซเชียล (We Are Social) เผยข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับพอดคาสต์ในประเทศไทย

โดยในเดือนตุลาคม 2567 ไทยอยู่อันดับ 7 ของโลกในแง่เวลาที่ใช้ฟังพอดคาสต์ เฉลี่ย 1 ชั่วโมง 1 นาทีต่อวัน

Photo credit: รายงาน Digital 2024 | We Are Social (ตุลาคม 2567)

อย่างไรก็ตาม แม้จะใช้เวลาฟังมาก แต่จำนวนผู้ฟังในไทยยังค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ โดยมีคนไทยในการสำรวจดังกล่าวเพียง 22.0% ที่ฟังพอดคาสต์ทุกสัปดาห์ เมื่อเทียบกับอันดับหนึ่งอย่างอินโดนีเซียที่ 40.6% สะท้อนว่าตลาดไทยยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก

Photo credit: รายงาน Digital 2024 | We Are Social (ตุลาคม 2567)

อนาคตของวงการพอดคาสต์ไทยจึงมีแนวโน้มที่สดใส ด้วยการสนับสนุนจากแพลตฟอร์มออนไลน์และฐานแฟนที่เหนียวแน่น ประกอบกับการผสมผสานระหว่างคอนเทนต์คุณภาพ รูปแบบการนำเสนอที่หลากหลาย และการขยายขอบเขตสู่โลกออฟไลน์ ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้วงการเติบโตอย่างยั่งยืน

แม้จำนวนผู้ฟังในปัจจุบันอาจยังไม่สูงนัก แต่ความเหนียวแน่นของแฟนพอดคาสต์ไทยที่ทุ่มเทเวลาให้กับการฟังอย่างมาก บ่งชี้ว่า พอดคาสต์เป็นสื่อที่มีพลังในการดึงดูดผู้ฟังไทยได้อย่างดี หากผู้ผลิตสามารถสร้างเนื้อหาที่ตรงใจ การเติบโตของจำนวนผู้ฟังในอนาคตจึงเป็นเรื่องที่มีโอกาสเป็นไปได้

อ้างอิง

Part 1: พอดคาสต์ไทยโตต่อเนื่อง สะท้อนเทรนด์คอนเทนต์ยุคใหม่ 

  • Spotify บอกคนไทยไม่ได้แค่ฟัง แต่ดู ‘พอดแคสต์’ ท่วมๆ โต 450% ในสองปี ‘รายการผี’ ฮอตสุด (brandinside.asia)

 

Part 2: วิดีโอพอดคาสต์มาแรง

  • Spotify บอกคนไทยไม่ได้แค่ฟัง แต่ดู ‘พอดแคสต์’ ท่วมๆ โต 450% ในสองปี ‘รายการผี’ ฮอตสุด (brandinside.asia)

 

Part 3: ผู้ฟังพอดคาสต์ไทยชอบคอนเทนต์เจาะลึก ความรู้ และความบันเทิง

  • “โสภิต หวังวิวัฒนา” ผู้จัดการฝ่ายสื่อเสียง Thai PBS Podcast เผยเทรนด์ปี 68 ชี้วิดีโอพอดคาสต์มาแรง (dataxet.co)

 

Part 4: คนฟังยังน้อย ส่งสัญญาณตลาดยังโตได้อีก

Topics