ภูมิทัศน์สื่อไทย 2567-2568
ยุคทองอินฟลูเอนเซอร์: Niche Influencer รุ่ง คอมมูนิตี้ต้องมา
- ธันวาคม 27, 2567
- 10:23 น.
Highlights:
- พอดคาสต์เติบโตชัดเจนในช่วง 5 ปี หลังสถานการณ์โควิด ด้วยปัจจัยความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ความหลากหลายของแพลตฟอร์มใหม่ ๆ และอุปกรณ์ราคาถูกลง ทำให้การผลิตและเข้าถึงเนื้อหาง่ายขึ้น
- คอนเทนต์พอดคาสต์ที่มาแรง ได้แก่ ข่าว วิเคราะห์เชิงลึก สุขภาพ พัฒนาตัวเอง และรายการสำหรับสังคมสูงวัย
- วิดีโอพอดคาสต์กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น เพราะตอบโจทย์คนไทยที่ชอบทั้ง “ดูและฟัง” ในเวลาเดียวกัน
- พอดคาสต์ที่มีคุณภาพต้องคำนึงถึงประโยชน์ที่ผู้ฟังจะได้รับเป็นสำคัญ เพราะสื่อในยุคนี้มีอิทธิพลสูง หากผลิตเนื้อหาด้วยรสนิยมที่ดี และใช้ “เสน่ห์ของเสียง” ในการนำเสนอ จะช่วยดึงดูดผู้ฟังที่มีคุณภาพให้ติดตามรายการ
ตลาดอินฟลูเอนเซอร์ไทยมีแนวโน้มเติบโตอย่างแข็งแกร่ง
ข้อมูลจาก Statista บริษัทวิจัยการตลาดระดับโลกคาดการณ์ว่า มูลค่าตลาดโฆษณาผ่านอินฟลูเอนเซอร์จะแตะ 2,360 ล้านบาทในปี 2567 และจะเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ 10.24% ในช่วงปี 2567-2572 ส่งผลให้มูลค่าตลาดอาจสูงถึง 3,864 ล้านบาทภายในปี 2572 เนื่องจากกลุ่มภาคเอกชนยังคงทำการตลาดผ่านอินฟลูเอนเซอร์และคอนเทนต์ครีเอเตอร์ในระดับสูง
เนื่องจากกลุ่มภาคเอกชนยังคงทำการตลาดผ่านอินฟลูเอนเซอร์และคอนเทนต์ครีเอเตอร์ในระดับสูง
การเติบโตของตลาดอินฟลูเอนเซอร์ไทยเป็นผลมาจากปัจจัยสำคัญสองประการ
ประการแรก คือการเข้าถึงดิจิทัลที่สูงขึ้นของคนไทย โดยข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ระบุว่า อัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของคนไทยสูงถึง 89.5% ส่งผลให้ผู้บริโภคใช้เวลากับโซเชียลมีเดียมากขึ้น
ประการที่สอง คือความนิยมในการช้อปปิ้งออนไลน์ของคนไทยที่อยู่ในระดับสูง สะท้อนจากข้อมูล DataReportal ที่ระบุว่า คนไทยมีอัตราการซื้อสินค้าออนไลน์รายสัปดาห์สูงที่สุดในโลกที่ 66.9% จึงทำให้แบรนด์ต่างๆ ทุ่มงบประมาณการตลาดผ่านอินฟลูเอนเซอร์อย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดันยอดขายและเพิ่มการรับรู้แบรนด์ทางออนไลน์
อินฟลูเอนเซอร์ตัวเล็กมาแรง แต่คุณภาพต้องมาก่อน
วงการอินฟลูเอนเซอร์ไทยกำลังเข้าสู่ยุคที่ “จำนวนของผู้ติดตาม” ไม่ใช่ตัวชี้วัดความสำเร็จอีกต่อไป โดยกลุ่มไมโครอินฟลูเอนเซอร์ (Micro Influencer) และนาโนอินฟลูเอนเซอร์ (Nano Influencer) ที่มีผู้ติดตามจำนวนไม่มาก กำลังมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนตลาด
ด้วยความสามารถในการสร้างคอนเทนต์ที่มีความเป็นธรรมชาติ เข้าถึงผู้บริโภคได้ดี และมีความใกล้ชิดกับผู้ติดตามสูง สอดคล้องกับความคิดเห็นของคุณศิวัตม์ วิลาสศักดานนท์ กรรมการผู้จัดการ AnyMind Group ประเทศไทยและฟิลิปปินส์ที่ว่า
วงการอินฟลูเอนเซอร์ไทยเข้าสู่ยุค Evolution ที่ 3 หลังผ่านยุคดาราและบล็อกเกอร์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาของไมโครและนาโนอินฟลูเอนเซอร์ แม้คนกลุ่มนี้มียอดผู้ติดตามไม่ถึงหมื่นคน แต่สามารถทำคอนเทนต์รีวิวสินค้าเอง แปะลิงก์ Affiliate ให้สร้างรายได้ ทำคอนเทนต์ที่ค่อนข้างเรียลและทำให้เกิดเอ็นเกจเมนต์กับผู้ติดตาม ส่งผลให้เกิดยอดขาย
การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคของไมโครและนาโนอินฟลูเอนเซอร์ เปิดโอกาสให้คนทั่วไปเข้าสู่วงการอินฟลูเอนเซอร์มากขึ้น ส่งผลให้ปัจจุบันไทยมีอินฟลูเอนเซอร์และคอนเทนต์ครีเอเตอร์มากกว่า 9 ล้านคน โดยกว่า 2 ล้านคนทำอาชีพอินฟลูเอนเซอร์เป็นหลัก
ท่ามกลางจำนวนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนี้ หลายฝ่ายเริ่มกังวลเกี่ยวกับปัญหา “อินฟลูเอนเซอร์ล้นตลาด” แต่คุณศิวัตม์มองว่า …
สิ่งสำคัญไม่ใช่ขนาดหรือปริมาณของผู้ติดตาม แต่คือคุณภาพของคอนเทนต์ที่ต้องโดดเด่น แม้ใคร ๆ ก็สามารถเป็นอินฟลูเอนเซอร์ได้ในยุคนี้ แต่คนที่จะทำอาชีพนี้ได้อย่างยั่งยืนจะต้องสร้างคอนเทนต์ที่มีเอกลักษณ์และแตกต่าง
คุณภาพของคอนเทนต์ก็เป็นสิ่งที่คุณขจร เจียรนัยพานิชย์ Managing Director, Editor in Chief, ผู้ก่อตั้ง Rainmaker / Mango Zero เห็นด้วยเช่นกัน เพราะแบรนด์ต่าง ๆ กำลังปรับกลยุทธ์ในการทำงานกับอินฟลูเอนเซอร์ โดยเน้นคุณภาพเป็นหลัก
แบรนด์เริ่มใช้อินฟลูเอนเซอร์เบอร์ใหญ่น้อยลง ใช้เบอร์เล็กมากขึ้น แต่คําว่าใช้น้อยลง จะใช้น้อยลงแบบที่มีคุณภาพ
เช่น เปลี่ยนจากการเลือกอินฟลูเอนเซอร์รายใหญ่หลายคน มาเป็นการเลือกใช้รายใหญ่เพียงรายเดียวผสมผสานกับอินฟลูเอนเซอร์ขนาดกลางและขนาดเล็กมากขึ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงโอกาสของอินฟลูเอนเซอร์ตัวเล็กที่มีคุณภาพในตลาดปัจจุบัน
Niche Influencer รุ่ง ฐานแฟนแกร่ง เอ็นเกจเมนต์พุ่ง
เนื่องจากผู้คนจากหลากหลายสาขาอาชีพผันตัวเข้าสู่โลกโซเชียลมีเดียมากขึ้น และผู้ติดตามเองก็มีความสนใจเฉพาะทางมากยิ่งขึ้น จึงนำไปสู่กลุ่มอินฟลูเอนเซอร์เฉพาะทาง หรือ Niche Influencer ที่นำเสนอคอนเทนต์เชิงลึกตามความเชี่ยวชาญหรือความถนัด
ส่งผลให้เกิดการแตกแขนงของคอนเทนต์และอินฟลูเอนเซอร์เฉพาะทางในด้านต่าง ๆ เช่น ช่างไฟ เกษตรกร นักมวย แพทย์ กูรูด้านการเงิน หรือแม้แต่ไรเดอร์ส่งอาหาร เป็นต้น
สำหรับอินฟลูเอนเซอร์เฉพาะทางที่ได้รับความนิยมนั้น มีตั้งแต่อินฟลูเอนเซอร์ที่ทำคอนเทนต์เกี่ยวกับชีวิตประจำวัน เช่น คุณหมอกลาง จากช่อง พี่กลาง หอสมุดแห่งชาติ (@d_klang) แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังที่สร้างคอนเทนต์ให้ความรู้เรื่องการดูแลผิว จนมีผู้ติดตามกว่า 2.3 ล้านคน หรือคุณตะวันฉาย พีเค.แสนชัย (@tawanchayyy) ยอดนักมวยระดับโลกที่นำเสนอเรื่องราวทั้งในและนอกสังเวียน การฝึกซ้อม จนถึงไลฟ์สไตล์ส่วนตัว หรือแม้แต่อาชีพที่คาดไม่ถึงอย่างช่างเทคนิค คุณโจ๊ก เจ้าของช่อง ช่างโจ๊ก ลำปาง (@joke_lampang) ที่แบ่งปันความรู้งานช่างและแนะนำเครื่องมือช่างที่ใช้แล้วดี
ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านผนวกกับการนำเสนอคอนเทนต์ที่ลงลึกอย่างตรงไปตรงมา กลายเป็นข้อได้เปรียบสำคัญที่ทำให้กลุ่มอินฟลูเอนเซอร์เฉพาะทางเป็นที่ต้องการมากขึ้น ทั้งจากแบรนด์ที่ต้องการสื่อสารเจาะกลุ่มลูกค้าเฉพาะ และกลุ่มผู้ติดตามที่มีความสนใจในเรื่องนั้น ๆ
อินฟลูเอนเซอร์กลุ่มนี้จึงสามารถสร้างเอ็นเกจเมนต์ (Engagement) และคอนเวอร์ชั่น (Conversion Rate) ในระดับสูง ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของคุณศิวัตม์ ผู้บริหาร AnyMind Group ที่ว่า …
จุดแข็งของอินฟลูเอนเซอร์เฉพาะทาง คือ "การเข้าถึง" กลุ่มคนที่ดาราหรือมาโครอินฟลูเอนเซอร์ "เข้าไม่ถึง" ไม่ว่าจะเป็นระดับอำเภอหรือตำบล กลุ่มคนที่ติดตามจึงอาจเรียกได้ว่าเป็นกลุ่มที่มี High engagement หรือมีความภักดีกับอินฟลูเอนเซอร์สูงด้วย
พร้อมยกตัวอย่างบริษัทด้านเครื่องปรับอากาศเริ่มต้องการเลือกอินฟลูเอนเซอร์ที่เป็นช่างแอร์มากขึ้น เพราะพวกเขาคลุกคลีกับการติดตั้งและซ่อมแซมเครื่องปรับอากาศโดยตรง ทำให้คำแนะนำในการเลือกซื้อแอร์มีความน่าเชื่อถือ
ข้อได้เปรียบอีกประการของอินฟลูเอนเซอร์เฉพาะทาง คือความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับผู้ติดตาม ซึ่งเอื้อต่อการสร้างคอมมูนิตี้และฐานแฟนที่เหนียวแน่น สามารถต่อยอดสู่ธุรกิจอื่นๆ
อย่างกรณีของอินฟลูเอนเซอร์ด้านการเงินที่ประสบความสำเร็จ เช่น คุณพอล ภัทรพล ช่อง Paul Pattarapon ที่เปิดคอร์สเรียนออนไลน์และออกหนังสือด้านการลงทุน หรือคุณหนุ่ม แห่งเพจ Money Coach (@TheMoneyCoachTH) ที่จัดงานทอล์กโชว์ Money Coach on Stage 9 ‘เราทุกคน คือ มันนี่ ฮีโร่’ ร่วมกับธนาคารออมสิน
ส่องดาวรุ่งวงการอินฟลูเอนเซอร์ สายข่าว-ครอบครัว-สัตว์เลี้ยง นำทัพ
ท่ามกลางคลื่นของอินฟลูเอนเซอร์เฉพาะทาง กลุ่มครีเอเตอร์สายข่าว หรือ News Creator ถือเป็นหนึ่งในกลุ่มดาวรุ่งที่น่าจับตามอง สอดรับกับการที่โซเชียลมีเดียเข้ามาพลิกโฉมภูมิทัศน์การนำเสนอข้อมูลข่าวสารของวงการสื่อ คุณขจร ผู้ก่อตั้ง RainMaker / Mango Zero อธิบายปรากฏการณ์นี้ว่า
ผู้ชมยุคใหม่ให้ความสำคัญกับตัวตนของ News Creator มากกว่าสังกัด โดยผู้ชมสนใจที่ตัวบุคคล ไม่ใช่สำนักข่าว จึงเลือกเสพคอนเทนต์จาก News Creator ที่ชื่นชอบ ซึ่งเป็นแนวโน้มเดียวกันกับต่างประเทศ”
เนื่องจากครีเอเตอร์เหล่านี้มีอิสระในการสร้างคอนเทนต์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ชม
หนึ่งในตัวอย่างความสำเร็จที่โดดเด่นคือ คุณธัญญารัตน์ ถาม่อย ผู้ประกาศข่าวของสถานีโทรทัศน์พีพีทีวี และ News Creator ที่มีผู้ติดตามบน TikTok ถึง 8 แสนคน (ข้อมูลเดือน ต.ค. 67) โดยมุ่งเน้นการนำเสนอคอนเทนต์ข่าวที่สื่อสารประเด็นได้อย่างชัดเจน ด้วยกลยุทธ์ “หนึ่งคลิป หนึ่งคอนเทนต์ หนึ่งคีย์เมสเสจ” พร้อมให้ความสำคัญกับการนำเสนอแบบสมดุล ไม่ใช้อารมณ์ และต้องมีข้อมูลรอบด้าน จึงทำให้คอนเทนต์ของเธอผสมผสานความเชี่ยวชาญด้านข่าวสารในแบบนักข่าวเข้ากับรูปแบบการนำเสนอแบบอินฟลูเอนเซอร์ได้อย่างลงตัว
News Creator เจ้าของรางวัล 2nd PRIZE WINNER BEST NEWS CREATOR จาก Tellscore อธิบายว่า การนำเสนอคอนเทนต์ของตัวเองในโซเชียลมีเดียนั้นเป็นนโยบายของสถานีฯ ที่ต้องการให้นักข่าวมีโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มในการกระจายข้อมูลข่าวสารไปยังผู้ชม แต่ยังคงต้องรักษามาตรฐานและจรรยาบรรณวิชาชีพสื่อ พร้อมยึดมั่นการตรวจสอบข้อเท็จจริง (Fact-checking) อย่างเข้มงวด เพื่อคงความน่าเชื่อถือในการนำเสนอข่าว
นอกจากกลุ่มครีเอเตอร์สายข่าวแล้ว ครีเอเตอร์สายครอบครัวยังได้รับความนิยมไม่แพ้กัน สอดคล้องกับค่านิยมเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกและไลฟ์สไตล์ในยุคสมัยใหม่ที่กำลังเปลี่ยนไป
ยกตัวอย่างเช่น คุณตุ๊ก (@tuklittlemonster) จากช่อง Little Monster ที่นำเสนอแง่มุมการเลี้ยงลูกเชิงบวกที่เน้นการพูดคุยอย่างสร้างสรรค์ ผ่านคลิปที่เข้าใจง่าย หรือ คุณหมอแม่และภาวินท์ (@pawindrmom) ที่แบ่งปันมุมมองความสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูกชายอย่างตรงไปตรงมา โดยเฉพาะการพูดคุยเรื่องความรักและการเดท จนมีผู้ติดตามกว่า 8 แสนคน
อีกกลุ่มที่กำลังได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วคืออินฟลูเอนเซอร์สายสัตว์เลี้ยง จากการวิเคราะห์ของ บริษัท ดาต้าเซ็ต จำกัด ระบุว่า การเพิ่มขึ้นของครอบครัวเดี่ยวและคนโสด ประกอบแนวโน้มการมีลูกน้อยลงส่งผลให้ผู้คนนิยมเลี้ยงสัตว์เสมือนลูก (Pet Parenting) มากขึ้น จนสัตว์เลี้ยงบางตัวได้รับความนิยมจนกลายเป็นอินฟลูเอนเซอร์ที่มีชื่อเสียง เช่น นปโปะ (@staywithnoppo) สุนัขแสนรู้ เจ้าของเพลงสุดไวรัล “นปโปะหม่ำ ๆ หม่ำ ๆ กู๊ดบอย” หรือน้องแมว “ไข่ขาว” จากช่องคุณพลอย (@ployy_chuek) อดีตแมวจรที่ผันตัวมาเป็นแมวขวัญใจชาวเน็ต
วิดีโอ-ไลฟ์สตรีมผงาด: โฉมหน้าคอนเทนต์ยุคใหม่
วิดีโอคอนเทนต์ได้กลายมาเป็นกระแสหลักของครีเอเตอร์ไทย ไม่ว่าจะเป็นวิดีโอสั้น (Short-form) หรือวิดีโอที่มีเนื้อหายาว (Long-form) โดยมีแรงขับเคลื่อนจากความนิยมของแพลตฟอร์มอย่างยูทูบและติ๊กต๊อกที่เปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคคอนเทนต์ของผู้คน ครีเอเตอร์สายวิดีโอมีบทบาทเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดย MD แห่ง RainMaker/Mango Zero ให้ความเห็นว่า
ตอนนี้ถนนทุกสายปรับตัวมาทำวิดีโอกันเยอะ สังเกตว่าครีเอเตอร์ที่โตช่วงหลังก็จะเป็นสายที่ทำวิดีโอเก่งเป็นส่วนใหญ่ เราจะเริ่มจำครีเอเตอร์สายเขียนไม่ค่อยได้แล้ว บล็อกเกอร์เริ่มหายไป"
พร้อมยกตัวอย่างวิดีโอคอนเทนต์ เช่น การรีวิวสินค้า มีอัตราการเข้าถึงและการแชร์ที่สูงกว่าบทความมาก เช่น การรีวิว iPhone 16 Pro Max หากทำเป็นวิดีโอจะได้รับความนิยมมากกว่าการเขียนบทความ
การเติบโตของวิดีโอคอนเทนต์ยังเปิดโอกาสให้ครีเอเตอร์หันมาสร้างรายได้จากการขายสินค้าผ่านคอนเทนต์ (Content Commerce) กันมากขึ้น
โดยเฉพาะบนแพลตฟอร์มอย่างติ๊กต๊อกที่ครีเอเตอร์สามารถรับส่วนแบ่งจากการปักตะกร้าขายของบนคลิปได้โดยตรง คอนเทนต์ที่ผสมผสานความบันเทิงเข้ากับการขายสินค้าจึงเพิ่มมากขึ้น เช่น การทำคลิปแต่งหน้าพร้อมแนะนำเครื่องสำอางที่มีลิงก์สินค้าให้ผู้ชมกดซื้อตามได้ทันทีขณะรับชม
อีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่กำลังมาแรง คือ การเติบโตของการไลฟ์สตรีมมิ่ง (Live Streaming) ที่ครีเอเตอร์จำนวนมากนิยมใช้เป็นช่องทางสื่อสารและสร้างรายได้
เนื่องจากสามารถมีปฏิสัมพันธ์แบบเรียลไทม์กับผู้ชม พร้อมสร้างรายได้ผ่านการรับของขวัญเสมือนจริง (Virtual Gift) หรือการขายสินค้าในระหว่างไลฟ์สด ประสิทธิภาพของช่องทางนี้เห็นได้จากกรณีของแน็ก ชาลี และกามิน ที่ไลฟ์ขายน้ำพริกปลาสลิด ทำยอดขายทะลุ 7 ล้านบาทในเวลาเพียง 1 ชั่วโมง พร้อมยอดผู้ชม 1.6 แสนคน หรือกรณีของสงกรานต์ เตชะณรงค์ และมายด์ ณภศศิ ที่ไลฟ์ขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร กวาดยอดขายสูงถึง 24 ล้านบาทในวันเดียว
ความนิยมที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนี้บ่งชี้ว่าการไลฟ์สตรีมมิ่งจะยังคงเป็นเทรนด์สำคัญในปี 2568
Gen AI พลิกเกมคอนเทนต์ ปฏิวัติวงการครีเอเตอร์
ปัญญาประดิษฐ์เชิงรู้สร้าง (Generative AI หรือ Gen AI) กำลังพลิกโฉมวงการครีเอเตอร์และอินฟลูเอนเซอร์อย่างรวดเร็ว ไม่เพียงแค่การมี AI แต่ยังต้องสามารถใช้งานได้อย่างคล่องแคล่ว เพื่อยกระดับคุณภาพคอนเทนต์ ด้วยความสามารถที่ครอบคลุมตั้งแต่การระดมไอเดีย การตัดต่อ จนถึงการผลิตหรือปรับแต่งคอนเทนต์ให้ตรงใจกลุ่มเป้าหมาย
คุณศิวัตม์ ผู้บริหาร AnyMind Group Thailand คาดการณ์ว่า ในปี 2568 Gen AI จะเข้ามาปฏิวัติวงการอินฟลูเอนเซอร์และครีเอเตอร์อย่างเต็มรูปแบบ โดยอินฟลูเอนเซอร์จะนำ AI มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพคอนเทนต์ในทุกขั้นตอนการทำงาน ตั้งแต่การสร้างเนื้อหาไปจนถึงการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ชมตลอด 24 ชั่วโมงผ่านเทคโนโลยีการทำอวาตาร์ของตัวเอง
คุณศิวัตม์ เผยว่า การทำเอไออวาตาร์ไลฟ์สตรีมมิ่ง หรือ AI Avatar Livestreaming เป็นนวัตกรรมล่าสุดที่นำมาใช้ในวงการอินฟลูเอนเซอร์ โดยน้ำแร่เอเวียง (Evian) ซึ่งเป็นลูกค้าของ AnyMind Group ได้ใช้เทคโนโลยีนี้ในการสร้างอวาตาร์เสมือนจริงสำหรับไลฟ์สตรีมเพื่อขายสินค้า เริ่มจากการสร้างโมเดล 3 มิติและถ่ายทำแบบ 360 องศา ก่อนจะฝึกสอนอวาตาร์ให้พูดตามสคริปต์ที่กำหนด ซึ่งช่วยให้แบรนด์สามารถนำเสนอสินค้าได้อย่างต่อเนื่อง ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่มองหาความยืดหยุ่นในการเลือกซื้อสินค้า
ความสำเร็จจากการใช้ AI ในการไลฟ์สตรีมมิ่งดังกล่าวสร้างผลลัพธ์ที่น่าทึ่ง โดยน้ำแร่ Evian สามารถเพิ่มยอดขายได้ถึง 3.5 เท่าในเวลาเพียง 9 สัปดาห์ ผ่านการไลฟ์สตรีมบน Shopee รวมกว่า 865 ชั่วโมง แบ่งเป็น 820 ชั่วโมงจาก AI Live Streaming และ 45 ชั่วโมงจากการไลฟ์สดโดยคนจริง นอกจากนี้ยังช่วยลดต้นทุนการไลฟ์สตรีมได้ถึง 90%
พลังคอมมูนิตี้ หัวใจความสำเร็จของครีเอเตอร์
นอกเหนือจากคอนเทนต์คุณภาพ การสร้างและรักษาคอมมูนิตี้หรือฐานคนดูที่เหนียวแน่นกลายเป็นหัวใจสำคัญที่จะกำหนดความสำเร็จในระยะยาวของครีเอเตอร์ คอมมูนิตี้ที่แข็งแรงไม่เพียงแต่สร้างยอดเอ็นเกจเมนต์กับคอนเทนต์ แต่ยังเปิดโอกาสให้อินฟลูเอนเซอร์สามารถต่อยอดธุรกิจในรูปแบบที่หลากหลาย
พลังของการสร้างคอมมูนิตี้สะท้อนให้เห็นชัดเจนผ่านความสำเร็จในการจัดงานแฟนมีตและทอล์กโชว์ของเหล่าอินฟลูเอนเซอร์มากมาย
เช่น แก๊งหิ้วหวี (@Hiwwhee Official) กลุ่มอินฟลูเอนเซอร์ระดับแถวหน้าที่สามารถต่อยอดสู่การทำผลงานเพลงและจัดคอนเสิร์ต “หวีหวีด HALLOWEEN PARTY” คุณฟาโรส ณัฏฐ์ กลิ่นมาลี (@farose) จากช่องยูทูบ FAROSE กับงาน “Fara Talk — Tell Me ‘Y’” และ ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน หรือ เฮียวิทย์ กับงาน “8 Minute History on Stage” ทอล์กโชว์ประวัติศาสตร์รูปแบบ Edutainment เวทีแรกของไทย ที่สามารถเปลี่ยนพลังคอมมูนิตี้จากความสัมพันธ์ในโลกออนไลน์สู่โอกาสทางออฟไลน์
ข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ อินฟลูเอนเซอร์ที่ประสบความสำเร็จในการจัดแฟนมีตและสร้างคอมมูนิตี้เหล่านี้ส่วนใหญ่มาจากยูทูบ
ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่เอื้อต่อการสร้างความสัมพันธ์เชิงลึกด้วยรูปแบบคอนเทนต์ที่มีความยาวกว่า ทำให้ครีเอเตอร์สามารถพัฒนาความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับฐานแฟนคลับ ต่างจากแพลตฟอร์มวิดีโอสั้นที่แม้จะได้รับความนิยมสูง แต่อาจจะเป็นความท้าทายสำหรับการสร้างและรักษาฐานแฟนคลับในระยะยาว
ด้วยเหตุนี้ ครีเอเตอร์หน้าใหม่จำนวนมากจึงเลือกเริ่มต้นสร้างตัวตนบนติ๊กต๊อก ก่อนขยายฐานมาสู่ยูทูบเพื่อสร้างความมั่นคงในระยะยาว
ดังที่คุณขจร เจียรนัยพานิชย์ ผู้ก่อตั้ง Mango Zero และผู้จัดงาน iCreator Conference ได้อธิบายว่า แม้อัลกอริทึมของติ๊กต๊อกจะช่วยให้ครีเอเตอร์หน้าใหม่เติบโตได้เร็ว แต่การสร้างความผูกพันระยะยาวกับผู้ชมทำได้ยากกว่ายูทูบที่คนดูใช้เวลาอยู่กับคอนเทนต์นานกว่า
นั่นคือเหตุผลว่าทำไมสุดท้ายเราจำชื่อติ๊กต๊อกเกอร์ที่มีคนตาม 5 ล้านคนไม่ค่อยได้ แต่เราจำยูทูบเบอร์คนตาม 5-6 ล้านได้ เพราะว่าเราอยู่กับเขานาน เรากินข้าวกับ BoomTharis แต่เราไม่แบบดูคลิปติ๊กต๊อกน้องคนนี้ 20 คลิปแล้วกินข้าวไปด้วยแน่นอน"
การสร้างและรักษาคอมมูนิตี้ที่เหนียวแน่นจึงเป็นรากฐานสำคัญสู่ความสำเร็จระยะยาวของเหล่าคอนเทนต์ครีเอเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นการจัดงานอีเวนต์ การต่อยอดสู่ธุรกิจใหม่ หรือการสร้างแบรนด์ของตัวเอง ล้วนเกิดขึ้นได้จากพลังของคอมมูนิตี้ที่พร้อมสนับสนุนและเติบโตไปด้วยกัน
อ้างอิง
Part 1: ยุคทองอินฟลูเอนเซอร์: Niche Influencer รุ่ง คอมมูนิตี้ต้องมา
- Influencer Advertising , Statista Market Insights (Statista)
- อัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของคนไทย (ผู้จัดการออนไลน์ )
- Digital 2024 | Global Overview Report (DataReportal)
Part 2: อินฟลูเอนเซอร์ตัวเล็กมาแรง แต่คุณภาพต้องมาก่อน
- อินฟลูฯไทยมีกว่า 2 ล.คน ยุคขาขึ้น‘แบรนด์เล็ก/ใหญ่’ เรียกใช้ แต่ปีหน้าอาจ ‘ขาลง’ หลังรู้แล้วว่า ’ชวนเชื่อ’ (thebetter.co.th)
Part 3: Niche Influencer รุ่ง ฐานแฟนแกร่ง เอ็นเกจเมนต์พุ่ง
- คุยเรื่อง “เทรนด์การตลาดดิจิทัลและอินฟลูเอนเซอร์” กับ Buddy Review และคุณหมู Ookbee (peerpower.co.th)
Part 4: ส่องดาวรุ่งวงการอินฟลูเอนเซอร์ สายข่าว-ครอบครัว-สัตว์เลี้ยง นำทัพ
- “Pet Parent” บูม! เจ้าของเปย์หนัก! ดันตลาดสัตว์เลี้ยงพุ่ง (dataxet.co)
- คนไทย 70 ล้านคนเป็น Content Creator ไปแล้ว 9 ล้านคน แข่งขันสูง จะอยู่ให้รอดยิ่งต้องแตกต่าง (thairath.co.th)
Part 5: วิดีโอ-ไลฟ์สตรีมผงาด: โฉมหน้าคอนเทนต์ยุคใหม่
- ย้อนดูยอดขาย ‘แน็ก – กามิน’ ไลฟ์ขายน้ำพริก หลัง ‘ณวัฒน์’ ฟาดจ่ายครั้งละล้าน ควรสำนึกคนไทยบ้าง (ch3plus.com)
- “มายด์ ณภศศิ” น้ำตาแตก “สงกรานต์” ช่วยไลฟ์ขายของ โกย 24 ล้าน วันเดียว! (mgronline.com)
Part 6: Gen AI พลิกเกมคอนเทนต์ ปฏิวัติวงการครีเอเตอร์
- Sino Pacific ประสบความสำเร็จในการใช้ AnyLive เอไอไลฟ์สตรีมมิ่ง เพิ่มยอดขายให้กับแบรนด์น้ำแร่ Evian ทำรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 3.5 เท่า (thaipr.net)
Topics
- แนวโน้มสื่อไทย 2568
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2568
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2567
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2566
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2565
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2564
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2563
- Thai Media Trends 2025 (English Version)
- Thailand Media Landscape 2024-2025 (English Version)
- Thailand Media Landscape 2023-2024 (English Version)
- Thailand Media Landscape 2022-2023 (English Version)
- Thailand Media Landscape 2021-2022 (English Version)