ภูมิทัศน์สื่อไทย 2567-2568

เจาะปรากฏการณ์ AI กับสื่อไทยในยุคดิจิทัล

Highlights:

  • พอดคาสต์เติบโตชัดเจนในช่วง 5 ปี หลังสถานการณ์โควิด ด้วยปัจจัยความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ความหลากหลายของแพลตฟอร์มใหม่ ๆ และอุปกรณ์ราคาถูกลง ทำให้การผลิตและเข้าถึงเนื้อหาง่ายขึ้น
  • คอนเทนต์พอดคาสต์ที่มาแรง ได้แก่ ข่าว วิเคราะห์เชิงลึก สุขภาพ พัฒนาตัวเอง และรายการสำหรับสังคมสูงวัย
  • วิดีโอพอดคาสต์กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น เพราะตอบโจทย์คนไทยที่ชอบทั้ง “ดูและฟัง” ในเวลาเดียวกัน
  • พอดคาสต์ที่มีคุณภาพต้องคำนึงถึงประโยชน์ที่ผู้ฟังจะได้รับเป็นสำคัญ เพราะสื่อในยุคนี้มีอิทธิพลสูง หากผลิตเนื้อหาด้วยรสนิยมที่ดี และใช้ “เสน่ห์ของเสียง” ในการนำเสนอ จะช่วยดึงดูดผู้ฟังที่มีคุณภาพให้ติดตามรายการ

ปัญญาประดิษฐ์ (AI) สร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญให้กับวงการสื่อไทยในปี 2567 จากผลสำรวจชี้ให้เห็นการเปิดรับเทคโนโลยีนี้อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในวงการโทรทัศน์ที่เริ่มใช้ผู้ประกาศข่าว AI และระบบ Text-to-Speech

การเปลี่ยนแปลงยังครอบคลุมถึงการนำ AI มาใช้ในสื่อสาธารณะ การสร้าง Deepfake ในรายการบันเทิง และการทำ AI Live Streaming เพื่อการพาณิชย์ แต่สิ่งที่ต้องระวังคือความท้าทายด้านข่าวปลอมและจริยธรรมที่กำลังทวีความรุนแรง จนเกิดการถกเถียงเรื่องความรับผิดชอบในการใช้ AI ทั้งในระดับสื่อมืออาชีพและประชาชน

โดยช่วงท้ายของบทความนี้ ดาต้าเซ็ต ขอนำเสนอมุมมองจากผู้เชี่ยวชาญในวงการสื่อต่อแนวทางการใช้ AI อย่างสมดุล ทั้งในด้านจริยธรรม การพัฒนาทักษะ และการรักษาคุณค่าความเป็นมนุษย์ในยุคดิจิทัล ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญในการกำหนดทิศทางสื่อไทยในอนาคต

สื่อไทยเปิดรับ AI มากกว่าประเทศเพื่อนบ้าน

ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของวงการสื่อด้วย AI น่าสนใจว่าสื่อไทยกลับเปิดรับและปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีนี้ได้ค่อนข้างไวกว่าประเทศรอบข้าง ดังจะเห็นได้จากผลสำรวจล่าสุดที่สะท้อนมุมมองในแง่ดีของนักข่าวไทยต่อการนำ AI มาใช้

จากรายงาน “AI and Journalism in Southeast Asia: A Survey of Opportunities and Challenges” โดย Vero ที่สำรวจความคิดเห็นของนักข่าว 70 คนใน 4 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และไทย พบว่า นักข่าวส่วนใหญ่มีทัศนคติเชิงบวกต่อการนำ AI มาใช้ในวงการสื่อ โดยเฉพาะในประเทศไทยที่มีระดับการยอมรับและปรับตัวสูงถึง 95%

Photo credit: White Paper: AI and Journalism in Southeast Asia Survey, August 2024 (https://vero-asean.com)

ผลสำรวจสะท้อนให้เห็นทัศนคติของนักข่าวที่มีต่ออิทธิพลของ AI ในแวดวงสื่อแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดย 84% ของผู้ตอบแบบสอบถามมองว่า AI ส่งผลดีต่องานของตน ขณะที่ 4% มองว่าไม่มีผลใด ๆ และ 12% มองในแง่ลบ โดยนักข่าวไทยมีมุมมองเชิงบวกต่อ AI สูงถึง 95% และมีมุมมองเชิงลบเพียง 5%

Photo credit: White Paper: AI and Journalism in Southeast Asia Survey, August 2024 (https://vero-asean.com)

สาเหตุหนึ่งที่นักข่าวไทยมีอัตราการมอง AI ในแง่บวกสูง อาจเป็นเพราะสื่อไทยใช้ภาษาไทยเป็นหลัก จึงเกิดความรู้สึกว่า AI อาจคุกคามการทำงานของตนน้อยกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค สวนทางกับฟิลิปปินส์ที่มีอัตราการมองในแง่บวกต่ำสุดและมองในแง่ลบสูงสุด เนื่องจากสื่อท้องถิ่นใช้ภาษาอังกฤษกันอย่างแพร่หลาย

เครือเนชั่นจัดเต็ม ทั้งผู้ประกาศข่าว AI และ Text-to-Speech

ตัวอย่างที่โดดเด่นของการยอมรับและประยุกต์ใช้ AI ในวงการสื่อไทย คือ เครือเนชั่น กรุ๊ป ที่เปิดตัวผู้ประกาศข่าว AI มากถึง 6 คนด้วยกัน ทางดาต้าเซ็ตได้รวบรวมมาเป็นตารางด้านล่างไว้ดังนี้

นอกจากผู้ประกาศ AI แล้ว เครือเนชั่นจัดเต็มยิ่งกว่านั้น โดยมีให้บริการ Text to Speech ถึง 3 ภาษาคือ ไทย อังกฤษ จีน ฟังได้ทุกข่าวผ่านเว็บไซต์ในเครือ ได้แก่ กรุงเทพธุรกิจ, ฐานเศรษฐกิจ, โพสต์ทูเดย์, คมชัดลึก และไทยนิวส์ ส่วนเว็บข่าวภาษาอังกฤษในเครืออย่าง The Nation จะมีให้เลือก 2 ภาษาคือ อังกฤษและจีน ทั้งหมดนี้มีให้เลือกฟัง 2 เสียง (ชาย-หญิง)

สปริงนิวส์ (SPRiNG) ซึ่งเป็นสำนักข่าวในเครือเนชั่นด้วยนั้น มีความแตกต่างเล็กน้อย คือ มี Text to Speech ให้เลือกเป็นภาษาไทย ญี่ปุ่น เกาหลี แทน โดยให้เหตุผลว่าเพื่อเน้นตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ แต่ก็สามารถฟังได้ทั้งเสียงผู้ชายและผู้หญิงเช่นกัน

Photo credit: https://www.springnews.co.th/digital-tech/technology/850865

กรณีศึกษาไทยพีบีเอส: การบูรณาการ AI ในสื่อสาธารณะไทย

ในขณะที่เครือเนชั่นมุ่งเน้นการใช้ AI ในด้านผู้ประกาศข่าวและ Text to Speech อีกหนึ่งสื่อที่เดินหน้าใช้ AI อย่างจริงจังแต่มีแนวทางที่แตกต่างออกไปคือไทยพีบีเอส ที่ได้วางรากฐานการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอย่างเป็นองค์รวม เพื่อตอบโจทย์ผู้ชมยุคดิจิทัล โดย AI ได้เข้ามาเสริมศักยภาพในการผลิตและการจัดการเนื้อหาในหลายด้าน

ดังเช่นที่คุณชวลิต อภิธรรมนิธิ ผู้ผลิตสารคดี “เยี่ยม-ย่าน” ทางช่องไทยพีบีเอสได้นำนวัตกรรม AI มาใช้ผลิตภาพและเสียงในสารคดีดังกล่าว โดยคุณชวลิตเปิดเผยในงานเสวนา “AI Horizons: The Future of Media” ที่จัดขึ้นโดยไทยพีบีเอสว่า เขาได้ใช้ AI มาแสดงภาพความเป็นไปได้ของเกาะศาลเจ้าในกทม. ในอีกหลายสิบปีข้างหน้า โดยอิงจากภาพฟุตเทจจริงที่ไปถ่ายทำมาได้

ภาพ AI Generated เกาะศาลเจ้า กทม. ในอีก 50 ปีข้างหน้า
Photo credit: YouTube ThaiBPS (การสร้างเนื้อหาสื่อ ด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) | ชวลิต อภิธรรมนิธิ #AIHorizons)

คุณชวลิตยังได้นำเพลงที่ร้องและแต่งทำนองโดย AI มาใช้ในสารคดีเยี่ยม-ย่านอีกด้วย เช่น ย่านเยาวราช ที่ใช้เพลงแนว K-Pop เพื่อให้สอดรับกับช่วงที่ลิซ่า แบล็กพิงก์ มาถ่ายทำ MV ในย่านดังกล่าว เป็นต้น

เพลง AI ดังกล่าวชื่อ “ท่องถิ่น แดนมังกร” ทดลองฟังได้ทาง YouTube

นอกจากงานภาพและเสียงแล้ว ไทยพีบีเอสยังได้พัฒนานวัตกรรมด้าน AI อื่น ๆ อีกหลายด้าน เช่น

AI Voice – เสียงสังเคราะห์อัจฉริยะ พร้อมบริการ “อ่านให้ฟัง” (Text to Speech) บนเว็บไซต์ thaipbs.or.th มีให้เลือก 2 เสียง คือเสียงผู้ชาย “เจษฎา จี้สละ” (ผู้ประกาศข่าวไทยพีบีเอส) และเสียงผู้หญิง “เอวา” ปรับระดับเสียงและความเร็วได้ตามต้องการ มีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้พิการทางสายตา

AI in Brief – ใช้ AI สรุปเนื้อหาบนเว็บไซต์ thaipbs.or.th ผ่านบริการ “ช่วยสรุปให้” โดยสรุปเป็น Bullet Points สั้น ๆ

AI Vertical Live – ชมรายการสดในแนวตั้งด้วย AI ผ่านแอปมือถือ “Thai PBS” โดยในปี 2567 มีให้บริการใน 11 รายการ

VIPA Personalized Content – ระบบแนะนำเนื้อหาตามความสนใจของผู้ชมในแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งของไทยพีบีเอสที่นำเสนอคอนเทนต์ทั้งในและต่างประเทศ พร้อมความคมชัดระดับ 4K และบริการภาษามือ

Photo credit: https://x.com/ThaiPBS/status/1846053336426205214

เมื่อ Deepfake นำมาใช้งานได้จริงในเกมโชว์ไทย

แม้ไทยพีบีเอสจะสะท้อนให้เห็นการนำ AI มาใช้ในวงการสื่อ แต่การประยุกต์ใช้ AI ในสื่อไทยนั้นไม่ได้จำกัดเฉพาะการรายงานข่าวหรือผลิตคอนเทนต์ทั่วไปเท่านั้น หากแต่แผ่ขยายไปสู่วงการบันเทิง โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยี Deepfake ที่กำลังสร้างมิติใหม่ในการผลิตรายการโทรทัศน์

ตัวอย่างที่โดดเด่นคือรายการ “FACE OFF แฝดคนละฝา” ทางช่องเวิร์คพอยท์ 23 รายการวาไรตี้ที่ใช้เทคโนโลยี Deepfake เป็นจุดขาย ด้วยการแปลงหน้าและเสียงให้เหมือนดารารับเชิญ อย่างเช่น น้าเน็ก AI ที่มาเผยเรื่องราวลับเฉพาะที่มีแต่คนวงในเท่านั้นที่รู้ โดยน้าเน็กตัวจริงและดารารับเชิญต้องพยายามทายว่า น้าเน็ก AI ตัวจริงคือใครกันแน่

AI ไลฟ์สตรีมมิ่ง ทางเลือกใหม่ของวงการ Live Commerce

ในขณะที่วงการบันเทิงไทยหันมาใช้ Deepfake อีกหนึ่งวงการที่กำลังปฏิวัติการใช้งาน AI คือธุรกิจ Live Commerce ที่นำเทคโนโลยีนี้มาสร้างประสบการณ์การช้อปปิ้งรูปแบบใหม่ โดยคุณศิวัตม์ วิลาสศักดานนท์ กรรมการผู้จัดการ AnyMind Group ประเทศไทยและฟิลิปปินส์ ให้สัมภาษณ์กับดาต้าเซ็ตเกี่ยวกับการตลาดอินฟลูเอนเซอร์ (Influencer Marketing) ในไทยว่า

อินฟลูเอนเซอร์จะใช้ AI มาช่วยในการทำคอนเทนต์ ไม่ว่าจะเป็น Generate รูปภาพ วิดีโอ หรือแม้แต่การทำโคลนนิ่งตัวเองด้วยเทคโนโลยี AI ขึ้นมา ที่มีส่วนร่วมกับผู้ชมของตัวเองได้ตลอด 24 ชั่วโมง"

คุณศิวัตม์เล่าว่า บริษัทได้พัฒนาระบบไลฟ์สตรีมด้วย AI บนแพลตฟอร์ม AnyLive โดยน้ำแร่เอเวียง (Evian) ซึ่งเป็นลูกค้าของ AnyMind Group ได้นำเทคโนโลยีนี้มาสร้างอวาตาร์พนักงานขายเสมือนจริงที่สามารถไลฟ์ขายของได้ตลอด 24 ชั่วโมง เริ่มจากการสร้างโมเดลให้เหมือนคนจริง ถ่ายทำแบบ 360 องศา แล้วฝึกให้ตัวอวาตาร์พูดตามสคริปต์ที่เราต้องการ

จุดเด่นของการไลฟ์สตรีมด้วย AI คือช่วยให้แบรนด์นำเสนอสินค้าได้ไม่มีสะดุด ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนยุคใหม่ที่ช้อปปิ้งกันตลอดเวลา ทั้งนี้ AnyMind Group มองว่า AI ไม่ได้มาแทนที่นักไลฟ์ แต่มาเสริมในช่วง Off-peak หรือช่วงที่แบรนด์ไม่ได้สร้างรายได้ ทำให้ลูกค้าสามารถช้อปได้ตลอด 24 ชั่วโมง

คุณศิวัตม์เผยผลการทดลองไลฟ์ด้วย AI กว่า 800 ชั่วโมงว่า สร้างรายได้ในช่วง Off-peak ได้อย่างน่าประทับใจ ที่สำคัญคือไม่มีข้อผิดพลาดเลย เพราะ AI พูดตามสคริปต์ที่วางไว้ ช่วยลดความผิดพลาดที่อาจเกิดจากพิธีกรหรือนักไลฟ์ได้ ไม่มีปัญหาเรื่องการตรงต่อเวลา และประหยัดเวลาเตรียมฉาก นอกจากนี้ผลตอบรับยังดีเยี่ยม AI สามารถตอบโต้กับคำถามที่ผู้ชมถามมาได้ เช่น ถ้ามีคนพิมพ์คำว่า “Free shipping” หรือคำว่า “Promotion” เข้าไป AI ก็จะให้ข้อมูลได้ในทันที

ข่าวปลอมกับ AI จะรับมืออย่างไร?

แม้ AI จะสร้างประโยชน์มหาศาลทั้งในวงการสื่อและพาณิชย์ แต่เหรียญย่อมมีสองด้านเสมอ ในขณะที่ด้านหนึ่ง AI ช่วยสร้างสรรค์คอนเทนต์และเพิ่มยอดขาย อีกด้านหนึ่งเทคโนโลยีเดียวกันนี้ก็ถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด โดยเฉพาะการสร้างข่าวปลอมที่สมจริงจนแยกแยะได้ยาก

กรณีศึกษาที่น่าสนใจเกิดขึ้นเมื่อเพจเฟซบุ๊กปลอมแห่งหนึ่งได้ใช้เทคโนโลยี Deepfake และเสียงสังเคราะห์ สร้างคลิปที่แอบอ้างผู้มีชื่อเสียงหลายคน รวมถึงคุณกิตติ สิงหาปัด ผู้ประกาศข่าว และนพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินหายใจ

เนื้อหาของคลิปปลอมดังกล่าวมีการบิดเบือนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับนพ.มนูญ โดยสร้างเรื่องราวว่ารถยนต์ของนพ.มนูญถูกวางระเบิดหลังจากออกมาเปิดโปงบริษัทยา พร้อมกับแทรกการโฆษณาชวนเชื่อเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่อ้างว่าสามารถทำความสะอาดหลอดเลือดได้

ผลกระทบของข่าวปลอมชิ้นนี้สะท้อนให้เห็นพลังของ AI ในการสร้างความเข้าใจผิดในวงกว้าง โดยมียอดการกด Like มากกว่า 25,000 ครั้ง และถูกแชร์ต่อถึง 2,700 ครั้ง ที่น่าวิตกคือผู้ชมจำนวนมากหลงเชื่อและพยายามติดต่อเพื่อซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าว

ความเสียหายจากกรณีนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ชื่อเสียงของนพ.มนูญ แต่ยังส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยด้านสุขภาพของประชาชน เนื่องจากมีการชักจูงให้ผู้ป่วยหยุดการรักษาทางการแพทย์แผนปัจจุบันและหันไปใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้รับการรับรอง ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต

กรณีการใช้ AI ทำข่าวปลอมเช่นนี้เราจะรับมืออย่างไร ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้แนะนำวิธีสังเกต “เสียง AI” ดังนี้

  1. จังหวะการเว้นวรรคคำพูด: เสียง AI จะขาดอารมณ์และความรู้สึก พูดยาวโดยไม่มีจังหวะหยุด ไม่มีช่วงหายใจ
  2. น้ำเสียงราบเรียบ: เสียง AI ที่มิจฉาชีพใช้จะราบเรียบ ไม่มีการเน้นน้ำหนักเสียงตามความสำคัญของคำพูด
  3. คำทับศัพท์: AI มักออกเสียงศัพท์เฉพาะไม่ชัด บางคำฟังดูผิดเพี้ยน เพราะ AI ยังไม่สามารถออกเสียงวรรณยุกต์หรือควบคุมระดับเสียงสูง-ต่ำได้อย่างสมบูรณ์
Photo credit: https://www.antifakenewscenter.com/คลังความรู้/ระวัง-deepfake-สู่-fake-news-นี่คนจริง-หรือ-ai/

ส่วนวิธีสังเกต “ใบหน้า AI” มีดังนี้

  1. สังเกตการขยับริมฝีปาก: ในคลิปที่สร้างจาก AI ปากจะขยับไม่สัมพันธ์กับเสียงพูด ทำให้ดูไม่เป็นธรรมชาติ
  2. ใบหน้า: มีลักษณะผิดสัดส่วนธรรมชาติ โดยเฉพาะเวลาที่หันหน้าไปมาหรือก้มเงย
  3. สีผิวเข้มหรืออ่อนเป็นหย่อม ๆ: แสงเงาบนใบหน้าอาจดูขัด ๆ ไม่สอดคล้องกับการเคลื่อนไหว
  4. การกะพริบตาถี่เกินไปหรือน้อยเกินไป: ดูไม่เป็นธรรมชาติ

นอกเหนือจากการสังเกตด้วยวิธีดังกล่าวข้างต้นแล้ว การพัฒนาของเทคโนโลยีได้นำมาซึ่งเครื่องมือที่ช่วยในการตรวจสอบว่าภาพหรือคลิปเสียงนั้น ๆ สร้างขึ้นด้วย AI หรือไม่ หนึ่งในนั้นคือเว็บไซต์ hivemoderation.com เพียงอัปโหลดภาพหรือคลิปเสียงขึ้นเว็บ ทางเว็บก็จะแสดงผลลัพธ์ว่า ภาพหรือคลิปเสียงนั้นมีแนวโน้มจะสร้างโดย AI กี่เปอร์เซ็นต์

ภาพตัวอย่างการใช้งานบนเว็บ Hive Moderation
Photo Credit: https://hivemoderation.com/ai-generated-content-detection

อย่างไรก็ตาม การใช้เว็บไซต์ลักษณะนี้ไม่ได้การันตีว่าจะแม่นยำ 100% ดังนั้นจึงควรใช้ควบคู่กับวิธีอื่น ๆ เช่น การตรวจสอบย้อนกลับเพื่อหาแหล่งที่มา เป็นต้น

ดราม่าโพสต์ภาพ AI

เหตุรถบัสนักเรียนไฟไหม้ – หรือเราทุกคนก็ควรมีจรรยาบรรณสื่อ?

แม้การตรวจจับและรับมือกับข่าวปลอมจะเป็นเรื่องสำคัญ แต่บางครั้งปัญหาการใช้ AI ในสื่อไม่ได้อยู่ที่ความจริงหรือเท็จ หากแต่เป็นเรื่องของความเหมาะสมและจริยธรรม ดังเช่นกรณีที่จุดประเด็นถกเถียงอย่างกว้างขวางเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2567 เมื่อรถบัสทัศนศึกษาของโรงเรียนวัดเขาพระยาสังฆารามเกิดเพลิงไหม้ บนถนนวิภาวดีรังสิต กทม. ทำให้มีผู้เสียชีวิต 23 ราย บาดเจ็บอีก 3 ราย

หลังเกิดเหตุ ผู้ใช้โซเชียลมีเดียบางส่วนได้แสดงความไว้อาลัยด้วยการโพสต์ภาพที่ใช้ AI สร้างขึ้น แสดงภาพเด็ก ๆ ผู้เสียชีวิตยืนอยู่รอบรถบัส หรือกำลังลอยขึ้นสวรรค์ ภาพเหล่านี้ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางถึงความเหมาะสม จนกรมสุขภาพจิตต้องออกมาขอความร่วมมือให้หลีกเลี่ยงการสร้างภาพ AI ที่อาจเร้าอารมณ์ผู้สูญเสีย

Photo Credit: https://www.thaipbs.ai/wp-content/uploads/2024/11/AI-policy-Pirongrong.pdf

ข้อน่าสังเกตคือ ภาพ AI เหล่านี้ไม่ได้มาจากสื่อมืออาชีพ หากแต่มาจากชาวโซเชียลมีเดียทั่วไป เพราะสื่อมืออาชีพต้องยึดมั่นใน “จรรยาบรรณ” กรณีนี้จึงทำให้เกิดคำถามว่า ถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่เราทุกคนควรมีจรรยาบรรณสื่อด้วยเช่นกัน?

แต่เดิมนั้น จรรยาบรรณสื่อถูกมองว่าเป็นเรื่องของนักข่าวและสื่อมืออาชีพเท่านั้น แต่ในยุคที่ใคร ๆ ก็หยิบสมาร์ตโฟนมาเขียนข่าวหรือสร้างภาพ AI ประกอบข่าวได้อย่างง่ายดาย เราทุกคนจึงกลายเป็น “สื่อ” ที่มีอิทธิพลต่อสังคมอย่างกว้างขวาง

น่าสนใจว่า เสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการใช้ภาพ AI นี้ สะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของจรรยาบรรณในการสื่อสารมากขึ้น ซึ่งนับเป็นพัฒนาการที่น่ายินดี

ในยุคที่ใครก็เป็นสื่อได้ จรรยาบรรณสื่อจึงไม่ใช่หน้าที่ของสื่อมืออาชีพอีกต่อไป หากแต่เป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทุกคนในสังคม เพื่อสร้างพื้นที่ออนไลน์ที่เคารพซึ่งกันและกัน และใส่ใจถึงผลกระทบที่มีต่อผู้อื่นมากขึ้น

3 กูรูชี้ จริยธรรมและการใช้ Prompt สำคัญสำหรับอนาคตสื่อไทยกับ AI

กรณีรถบัสนักเรียนสะท้อนให้เห็นว่า การสร้างสมดุลระหว่างประโยชน์ของเทคโนโลยีกับความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นความท้าทายที่สำคัญยิ่ง ประเด็นนี้สอดคล้องกับมุมมองของผู้เชี่ยวชาญในวงการสื่อที่ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในงานสัมมนา “AI Horizons: The Future of Media” ซึ่งจัดโดยไทยพีบีเอส โดยมีการนำเสนอแนวทางที่จะช่วยให้วงการสื่อไทยก้าวข้ามความท้าทายเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Photo credit: https://www.infoquest.co.th/2024/449900

ผศ.ดร.สกุลศรี ศรีสารคาม รองคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ด้านวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่าการใช้ AI ในวงการสื่อเป็นดาบสองคม ในด้านบวก AI ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตเนื้อหาและสร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจ แต่ในขณะเดียวกัน ความท้าทายสำคัญคือการรักษาสมดุลระหว่างประสิทธิภาพทางเทคโนโลยีและความเป็นมนุษย์ โดยเฉพาะในแง่ของ Empathy หรือความเข้าอกเข้าใจที่ AI ไม่สามารถทดแทนได้

ด้านดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ที่ปรึกษาอาวุโส ETDA เน้นย้ำว่าไม่ควรให้ความกลัวเป็นอุปสรรคในการใช้เทคโนโลยี เพราะ “ข้อดีของ AI มีมากกว่าข้อเสีย” สิ่งสำคัญคือการพัฒนาทักษะการใช้งาน AI โดยเฉพาะความสามารถในการเขียน Prompt ที่ซับซ้อนเพื่อสร้างความแตกต่างและมูลค่าเพิ่มให้กับผลงาน นอกจากนี้ ผู้บริโภคสื่อเองก็ต้องมีวิจารณญาณในการรับข้อมูลที่ถูกปรับแต่งด้วย AI เพื่อไม่ให้เกิดการเบี่ยงเบนจากความจริง

คุณอนุพงษ์ ไชยฤทธิ์ รองผู้อำนวยการ ส.ส.ท. ด้านเทคโนโลยีกระจายเสียงสื่อ ได้ยกตัวอย่างความสำเร็จในการนำ AI มาใช้ในไทยพีบีเอส ทั้ง AI Vertical LIVE ที่ตอบโจทย์การรับชมบนมือถือ และ AI in Brief ที่ช่วยสรุปข่าวให้กระชับ พร้อมเน้นย้ำว่าความท้าทายที่สำคัญที่สุดคือการ “ทำลายความกลัว” ต่อการเปลี่ยนแปลง เพราะบุคลากรในวงการสื่อจำเป็นต้องปรับตัวให้ทันกับการทำงานร่วมกับ AI

ผู้เชี่ยวชาญทั้งสามท่านเห็นพ้องกันว่า ทักษะสำคัญสำหรับการทำงานในวงการสื่อยุค AI ประกอบด้วยการตรวจสอบข้อมูล (verification) ความสามารถในการปรับตัว (adaptability) และการใช้งาน AI อย่างมีจริยธรรมและความรับผิดชอบ โดยต้องคำนึงถึงทั้งประสิทธิภาพในการผลิตสื่อและผลกระทบต่อสังคมควบคู่กันไป

การเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์สื่อไทยในปี 2567 ชี้ให้เห็นว่า AI มิได้เป็นเพียงเครื่องมือเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน หากแต่เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาที่กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาด้านจริยธรรมและความรับผิดชอบในการสื่อสารของทุกภาคส่วน ทั้งสื่อวิชาชีพและสาธารณชน ความท้าทายในวันข้างหน้าจึงไม่ใช่เพียงการไล่ตามเทคโนโลยี แต่คือการผสานความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเข้ากับคุณค่าความเป็นมนุษย์ซึ่งยังคงเป็นหัวใจสำคัญที่ขาดไม่ได้

อ้างอิง

Part – สื่อไทยเปิดรับ AI มากกว่าประเทศเพื่อนบ้าน

 

Part – เครือเนชั่นจัดเต็ม ทั้งผู้ประกาศข่าว AI และ Text-to-Speech

 

Part – กรณีศึกษาไทยพีบีเอส: การบูรณาการ AI ในสื่อสาธารณะไทย

 

Part – เมื่อ Deepfake นำมาใช้งานได้จริงในเกมโชว์ไทย

 

Part – AI ไลฟ์สตรีมมิ่ง ทางเลือกใหม่ของวงการ Live Commerce

 

Part – ข่าวปลอมกับ AI จะรับมืออย่างไร?

 

Part – ดราม่าโพสต์ภาพ AI เหตุรถบัสนักเรียนไฟไหม้ – หรือเราทุกคนก็ควรมีจรรยาบรรณสื่อ?

 

Part – 3 กูรูชี้ จริยธรรมและการใช้ Prompt สำคัญสำหรับอนาคตสื่อไทยกับเอไอ

Topics