ภูมิทัศน์สื่อไทย 2567-2568

ยุคเปลี่ยนผ่านของทีวีไทย ในวันที่ไม่ใช่ “สื่อกระแสหลัก” อีกต่อไป

Highlights:

  • พอดคาสต์เติบโตชัดเจนในช่วง 5 ปี หลังสถานการณ์โควิด ด้วยปัจจัยความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ความหลากหลายของแพลตฟอร์มใหม่ ๆ และอุปกรณ์ราคาถูกลง ทำให้การผลิตและเข้าถึงเนื้อหาง่ายขึ้น
  • คอนเทนต์พอดคาสต์ที่มาแรง ได้แก่ ข่าว วิเคราะห์เชิงลึก สุขภาพ พัฒนาตัวเอง และรายการสำหรับสังคมสูงวัย
  • วิดีโอพอดคาสต์กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น เพราะตอบโจทย์คนไทยที่ชอบทั้ง “ดูและฟัง” ในเวลาเดียวกัน
  • พอดคาสต์ที่มีคุณภาพต้องคำนึงถึงประโยชน์ที่ผู้ฟังจะได้รับเป็นสำคัญ เพราะสื่อในยุคนี้มีอิทธิพลสูง หากผลิตเนื้อหาด้วยรสนิยมที่ดี และใช้ “เสน่ห์ของเสียง” ในการนำเสนอ จะช่วยดึงดูดผู้ฟังที่มีคุณภาพให้ติดตามรายการ

เดิมที “สื่อกระแสหลัก” เป็นคำที่ใช้เรียกโทรทัศน์มาหลายทศวรรษ แต่วันนี้อาจไม่เป็นเช่นนั้นอีกต่อไป ด้วยในปี 2567 คนไทยหันไปรับชมทีวีผ่านสตรีมมิ่งมากกว่าการรับชมแบบดั้งเดิม ส่งผลให้รายได้จากโฆษณาทางทีวีลดลงอย่างต่อเนื่อง กระทั่งสถานีโทรทัศน์หลายแห่งต้องลดจำนวนพนักงานครั้งใหญ่และชะลอการผลิตรายการใหม่ ๆ

ด้านกสทช.พยายามหาทางออกด้วยการเสนอจัดตั้งแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งแห่งชาติ ท่ามกลางอนาคตที่คลุมเครือเมื่อใบอนุญาตทีวีดิจิทัลจะหมดอายุในปี 2572 แต่กระแสความนิยมทีวีไทยที่ร่วงลง โดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่ เป็นสิ่งที่บอกได้ชัดเจนว่า ทีวีที่เคยได้ชื่อว่าเป็น Mainstream Media นั้น ไม่ใช่อีกต่อไป

คนดูทีวีผ่านสตรีมมิ่ง มากกว่าผ่านจอทีวี

การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญนี้เห็นได้ชัดจากตัวเลขเรตติ้งข้ามแพลตฟอร์มของนีลเส็น โดยในเดือนพ.ย. 2566 มีคนดูผ่านทีวี 58% และดูผ่านสตรีมมิ่ง 42% แต่เพียงปีเดียวสถานการณ์พลิกผัน สตรีมมิ่งในปี 2567 พุ่งขึ้นเป็น 53% ทิ้งให้การรับชมผ่านทีวีเหลือเพียง 47%

กระแสการรับชมผ่านสตรีมมิ่งที่เพิ่มขึ้นนี้ส่งผลให้เม็ดเงินโฆษณาทางทีวีร่วงลงเรื่อย ๆ ข้อมูลจากนีลเส็นชี้ว่า ในช่วงม.ค.-ก.ค. 2567 มูลค่าโฆษณาทางทีวีอยู่ที่ 33,875 ล้านบาท คิดเป็น 50.13% ของงบโฆษณาทั้งหมด 67,579 ล้านบาท แม้จะยังครองแชมป์สื่อที่ได้งบโฆษณาสูงสุด แต่กลับหดตัวลง 2% ตรงข้ามกับภาพรวมงบโฆษณาที่เติบโต 2%

Photo credit: Thailand: Media Never Stop Moving, Nielsen. [PowerPoint slides].

เมื่อย้อนดูสถิติตลอด 10 ปี (2557-2566) จากเอจีบี นีลเส็น มีเดีย รีเสิร์ช (AGB Nielsen Media Research) จะเห็นได้ชัดว่างบโฆษณาทีวีร่วงลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะนับจากปี 2559 ที่เริ่มดิ่งลงอย่างเห็นได้ชัด

แม้สัดส่วน 50.13% จะดูเป็นตัวเลขที่สูง แต่คุณรัญชิตา ศรีวรวิไล ผู้อำนวยการธุรกิจมีเดียบริษัท นีลเส็น ประเทศไทย จำกัด ได้ให้มุมมองในงานเสวนา “1 ทศวรรษทีวีดิจิทัล” ว่า

เมื่อ 10 ปีที่แล้วอยู่ที่ 65% แต่ปัจจุบันลดลงมาเหลือ 50% ถึงแม้จะบอกว่าแค่ 15% แต่มันก็เป็นตัวเลขที่มหาศาลเหมือนกันในมุมมองของเม็ดเงินโฆษณาที่เข้ามาทีวี"

รายได้หด กำไรหาย ทางรอดสุดท้ายคือเลย์ออฟ

เมื่อเม็ดเงินโฆษณาทีวีลดลง ผลประกอบการของผู้เล่นในวงการก็ดิ่งตาม นับจากปี 2557 ที่เริ่มประมูลทีวีดิจิทัล จนถึงปี 2566 พบว่า ส่วนใหญ่ต้องแบกรับการขาดทุน 4-5 ปีแรก ก่อนจะค่อย ๆ พลิกฟื้นมาทำกำไร แต่แล้วในช่วง 2-3 ปีหลัง กำไรก็เริ่มเหือดหาย บางรายแทบไม่เคยได้กำไรเลยจนถึงปัจจุบัน

Photo credit: 1 ทศวรรษทีวีดิจิทัล “สื่อโทรทัศน์เคียงข้างคนไทย”, กสทช. [PowerPoint slides]
Photo credit: 1 ทศวรรษทีวีดิจิทัล “สื่อโทรทัศน์เคียงข้างคนไทย”, กสทช. [PowerPoint slides]

ผลกระทบจากแนวโน้มนี้เองสะท้อนออกมาผ่านสื่อเจ้าใหญ่ในวงการอย่างช่อง 3 โดยมติชนออนไลน์ รายงานเมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2567 ว่า ผู้บริหารระดับสูงของบมจ. บีอีซี เวิลด์ เรียกประชุมด่วน เพื่อแจ้งข่าวการเลย์ออฟพนักงานครั้งใหญ่ ลดค่าใช้จ่าย 30% เพื่อความอยู่รอด สาเหตุมาจากรายได้ในอุตสาหกรรมสื่อที่ร่วงหล่น การแข่งขันผลิตคอนเทนต์ที่ดุเดือด รายได้ที่พลาดเป้า ขณะที่รายจ่ายประจำยังคงสูงลิ่ว

ต่อมาในคืนวันที่ 25 พ.ย. 2567 ช่อง 3 ได้ส่งอีเมลแจ้งเลิกจ้างพนักงานที่ไม่ผ่านการประเมินเป็นรายคน ยอดผู้ได้รับผลกระทบพุ่งเกือบ 300 ชีวิต สะเทือนทุกระดับตั้งแต่บรรณาธิการไปจนถึงพนักงานทั่วไป รวมถึงผู้ประกาศข่าวบางรายที่จะถูกปลดจากการเป็นพนักงานประจำ แต่ยังมีโอกาสได้ค่าอ่านหรือค่าออกอากาศหากยังคงทำงานให้ช่อง 3 ต่อไป ทั้งนี้ บริษัทจะจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายสูงสุด 400 วันสำหรับผู้ที่มีอายุงานเกิน 20 ปี โดยการเลิกจ้างจะมีผลหลังวันที่ 31 ธ.ค. 2567

แม้แต่ “ตีสิบ” รายการในตำนานที่ครองใจผู้ชมทางช่อง 3 มายาวนานถึง 27 ปี ก็ต้องปิดฉากลง เมื่อเพจเฟซบุ๊ก “ตีสิบเดย์ At Ten Day” ประกาศเมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2567 ว่า วิทวัจน์ สุนทรวิเนตร์ จะเกษียณตัวเอง โดยรายการจะออกอากาศตอนสุดท้ายในวันที่ 30 พ.ย. 2567

ท่ามกลางกระแสการปลดพนักงานของช่องต่าง ๆ เครือเนชั่นก็ประกาศพักจ่ายเงินเดือนบางส่วนให้กับผู้บริหารที่มีรายได้ตั้งแต่ 50,000 บาท/เดือนขึ้นไป มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. – 31 ธ.ค. 2567 เพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายและรักษาความยั่งยืนทางธุรกิจ ก่อนที่ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2567 จะประกาศแผนลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายทั้งองค์กรลงประมาณ 10% โดยเฉพาะในส่วนธุรกิจทีวี หลังจากที่หุ้นของบริษัทถูกขึ้นเครื่องหมาย CB (ต้องซื้อด้วยบัญชีแคชบาลานซ์เท่านั้น) จากการมีส่วนของผู้ถือหุ้นน้อยกว่า 50% ของทุนจดทะเบียน

แม้สัดส่วนการปรับลดค่าใช้จ่ายของเนชั่นจะน้อยกว่าช่อง 3 ที่ประกาศลด 30% แต่ก็สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามในการปรับตัวของสื่อดั้งเดิมท่ามกลางสถานการณ์ที่ท้าทาย

PPTV ก็เป็นอีกช่องที่เจอพิษวิกฤตเช่นกัน โดยในเดือนมิ.ย. 2567 ได้ประกาศปลดพนักงานทีมข่าวและฝ่ายผลิตรายการเกือบร้อยคน พร้อมทั้งยุติรายการ “รอบโลกเดลี่” ที่นำเสนอโดยคุณกรุณา บัวคำศรี ตั้งแต่ 1 ก.ค. 2567 เป็นต้นไป สาเหตุเพราะช่องแบกรับต้นทุนคอนเทนต์มหาศาลนับพันล้านต่อปี ขณะที่รายได้โฆษณากลับทำได้เพียงหลักร้อยล้าน และขาดทุนต่อเนื่องเช่นนี้มาตลอด 10 ปีล่าสุด

หลังจากนั้น คุณกรุณา บัวคำศรี ก็ผันตัวไปทำช่องยูทูบและติ๊กต๊อก “รอบโลก by กรุณา บัวคำศรี” ในวันเดียวกับที่อำลาช่อง PPTV เดินตามรอยนักข่าวทีวีคนดังหลายคนที่หันไปลุยสตรีมมิ่งเต็มตัว เช่น คุณจอมขวัญ หลาวเพ็ชร์, คุณแยม-ฐปณีย์ เอียดศรีไชย

อย่างไรก็ตาม การผันตัวจากทีวีไปสตรีมมิ่งไม่ได้การันตีความสำเร็จเสมอไป ดังจะเห็นได้จากกรณีของ Voice TV ที่ประกาศยุติการผลิตรายการทุกแพลตฟอร์มเมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2567 พร้อมปลดพนักงานกว่า 200 คน และออกอากาศวันสุดท้าย 31 พ.ค. 2567 หลังประสบปัญหาขาดทุนสะสมมานาน

Voice TV เริ่มต้นจากการเป็นช่องทีวีดาวเทียมเมื่อปี 2552 ก่อนจะก้าวสู่การเป็นทีวีดิจิทัลในปี 2557 ด้วยเม็ดเงินประมูล 1,338 ล้านบาท แต่แล้วก็ต้องคืนใบอนุญาตในปี 2562 และหันไปทุ่มเทกับสื่อออนไลน์แทน ถึงกระนั้นก็ยังขาดทุนนับร้อยล้านบาทต่อปี จนกระทั่งปี 2567 เมื่อพรรคเพื่อไทยขึ้นเป็นรัฐบาล ทีมงานเก่าของ Voice TV นำโดยคุณธีรัตน์และคุณคำผกา ได้ย้ายไปจัดรายการ “คุยคลายข่าว” ที่ NBT2HD ซึ่งเป็นช่องของรัฐบาล

Photo credit: ช่อง YouTube “Live NBT2HD”

กรณี Voice TV ชี้ให้เห็นว่า ทั้งโมเดลทีวีดิจิทัลและสื่อออนไลน์อาจไม่ยั่งยืนหากขาดแหล่งเงินทุนที่มั่นคง การย้ายไปอยู่ใต้ร่มสื่อของรัฐที่มีงบประมาณแน่นอนและไม่ต้องพะวงกับเรตติ้ง จึงอาจเป็นหนทางรอดทางหนึ่ง

ด้านบริษัท โมโน เน็กซ์ จำกัด (มหาชน) เจ้าของช่อง Mono29 ก็หนีไม่พ้นวิกฤตครั้งนี้ โดยต้องประกาศปลดพนักงาน 80-90 คนจากทุกแผนกของ “โมโน กรุ๊ป” ตั้งแต่ต้นปี 2567 สืบเนื่องจากรายได้โฆษณาที่ลดลงต่อเนื่อง ทำให้ต้องลดขนาดธุรกิจที่ไม่ทำกำไร ลดหน่วยงานซ้ำซ้อน และหันไปใช้บริการเอาท์ซอร์สแทน เพื่อประคองธุรกิจให้อยู่รอด

แต่ท่ามกลางเมฆหมอกในวงการทีวีปีนี้ แสงสว่างก็ส่องมาที่ช่อง Mono29 เมื่อบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ “JAS” คว้าสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีกและเอฟเอคัพอังกฤษ มูลค่า 19,167 ล้านบาท โดย JAS จะได้สิทธิ์ถ่ายทอดยาวถึง 6 ปีหรือ 6 ฤดูกาล เริ่มตั้งแต่ฤดูกาล 2025/26 ในวันที่ 16 ส.ค. 2568 ครอบคลุม 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย ลาว และกัมพูชา

Photo credit: jasmine.com

ความสำเร็จของ JAS ในครั้งนี้ถือเป็นข่าวดีของ Mono29 เพราะอยู่ในเครือเดียวกัน โดยดร.โสรัชย์ อัศวะประภา CEO (รักษาการ) ของ JAS เผยว่า พรีเมียร์ลีกและเอฟเอคัพจะถ่ายทอดสดผ่าน Mono29 สัปดาห์ละ 1 คู่ ซึ่งจะช่วยดันเรตติ้งและรายได้โฆษณาของช่องให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง หลังจากเผชิญช่วงขาลงมาตลอดทั้งปี

ละครไทยเจอวิบากกรรม แต่ช่องวันยืนหยัด ผู้จัดช่อง 3 แห่ซบโมโน

ในภาวะที่วงการทีวีต้องลดคนและรัดเข็มขัด สิ่งที่ได้รับผลกระทบชัดเจนที่สุดอย่างหนึ่งคือการผลิตคอนเทนต์ โดยเฉพาะละคร ซึ่งเป็นรายการที่ลงทุนสูงและเคยเป็นทีเด็ดของทีวีไทยมาตลอด

เมื่อผู้ชมและเม็ดเงินโฆษณาไหลไปสู่สตรีมมิ่ง เรตติ้งและรายได้ทีวีก็ร่วงลง ส่งผลให้ช่องทีวีอย่างช่อง 3 และช่อง 8 ชะลอการผลิตละครใหม่ หันมาฉายรีรันมากขึ้น โดยเฉพาะช่อง 7 ที่เน้นฉายรีรันเป็นหลัก

ทางเวิร์คพอยท์ก็เปิดเผยผ่านกรุงเทพธุรกิจว่า จะยุติการผลิตละคร พร้อมปิดแผนกละครและปลดพนักงานในส่วนงานดังกล่าว โดยจะทยอยฉายละครที่เหลืออยู่ในคลังอีก “2 เรื่องครึ่ง” ให้จบภายในปลายปี 2567 หลังจากนั้นในปี 2568 จะไม่มีละครออกอากาศในช่องเวิร์คพอยท์อีกต่อไป อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงให้บริการรับผลิตละครให้กับลูกค้าภายนอกเช่นเดิม

ฝั่งผู้จัดก็เจ็บตัวไม่แพ้กัน อย่างบริษัท เมตตาและมหานิยม จำกัด ของนก-ฉัตรชัย เปล่งพาณิชย์ ต้องปิดตัวชั่วคราวหลังดำเนินการมากว่า 20 ปี เพราะคนดูน้อยลงและช่องไม่กล้าลงทุนผลิตละคร

ด้านเว็บไซต์ข่าวหุ้นวิเคราะห์ว่า ละครไทยกำลังเจอทางตัน เพราะขาดดาราแม่เหล็ก อีกทั้งกฎเกณฑ์กสทช. ที่เข้มงวดก็ทำให้สร้างพล็อตแหวกแนวได้ยาก ต่างจากสตรีมมิ่งที่ให้อิสระมากกว่า

แต่ท่ามกลางละครที่กำลังซบเซา ช่อง one31 กลับโดดเด่นสวนกระแส ครองแชมป์ละครเรตติ้งสูงสุดตลอด 11 เดือนแรกของปี 2567 ตามข้อมูลนีลเส็น 

จุดแข็งหนึ่งที่ทำให้ละครช่อง one31 เรตติ้งพุ่งแซงคู่แข่ง คือฝีมือในการปั้นกระแสออนไลน์ แม้แต่ละครที่เรตติ้งทีวีไม่ได้ที่หนึ่งประจำเดือน ก็ยังกลายเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงได้เสมอ โดยเฉพาะละครจากโปรเจกต์ OneD Original อย่าง “บางกอกคณิกา” ที่เคยขึ้นเทรนด์อันดับหนึ่งทั้งในไทยและทั่วโลกบนเอ็กซ์ (ทวิตเตอร์) รวมถึง “แม่หยัว” ที่สร้างปรากฏการณ์ความนิยมสูงสุดในวันออกอากาศ

ทั้งนี้ ม้ามืดที่มาแรงปลายปี 2567 คือเครือโมโน โดยในงาน “MONO OPEN HOUSE 2025” เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 67 ที่จัดขึ้นเพื่อเปิดตัวซีรีส์และภาพยนตร์ที่จะฉายในปี 2568 มีผู้จัดคนสำคัญจากช่อง 3 มาร่วมงานหลายคน อาทิ นก-ฉัตรชัย เปล่งพานิช, นก-จริยา แอนโฟเน่, หน่อง-อรุโณชา ภาณุพันธุ์ เป็นต้น

ผู้จัดเหล่านี้จะหันมาทำคอนเทนต์ “Mono Original” ผลิตซีรีส์และภาพยนตร์ให้กับโมโน เพื่อฉายทางสตรีมมิ่งของโมโนอย่าง MONOMAX และช่อง Mono29 นอกจากนี้ ยังได้นักแสดงชื่อดังจากช่องอื่น ๆ มาร่วมงานได้อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นบอย-ปกรณ์ ฉัตรบริรักษ์, เต้ย-พงศกร เมตตาริกานนท์, เคน-ภูภูมิ พงศ์ภาณุภาค และอีกมากมาย

เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่า โมโนกำลัง “ทุ่มสุดตัว” เพื่อสร้างความแข็งแกร่งด้านคอนเทนต์ และอาจเป็นสัญญาณว่า ทิศทางวงการละครไทยที่เคยอยู่ในมือช่องใหญ่ ๆ กำลังจะเปลี่ยนขั้วมาสู่เครือโมโนในปี 2568

ช่องทีวีเป็นที่นิยมทางโซเชียล

ความสำเร็จของช่อง one31 ที่สร้างกระแสละครบนโซเชียลมีเดียนั้นไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เพราะเมื่อมองภาพรวมแล้ว ช่องทีวีดิจิทัลส่วนใหญ่ยังคงรักษาความนิยมบนแพลตฟอร์มออนไลน์ได้อย่างเหนียวแน่น

ข้อมูลจาก Dataxet ชี้ว่า รายการทีวียังคงเป็นที่นิยมบนโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะบนยูทูบที่มีช่องยอดนิยม 7 ใน 10 อันดับแรกของไทยเป็นของสถานีโทรทัศน์ นำโดย WorkpointOfficial ตามมาด้วยช่อง one31 สะท้อนให้เห็นว่าแบรนด์ช่องทีวียังทรงพลังในโลกดิจิทัล

จากตารางด้านบนพบว่า

  • ช่องที่มียอดผู้ติดตามทาง YouTube สูงสุด: WORKPOINT TV (42 ล้านคน)
  • ช่องที่มียอดไลก์ทาง Facebook สูงสุด: WORKPOINT TV (14 ล้านไลก์)
  • ช่องที่มียอดผู้ติดตามทาง Facebook สูงสุด: ONE31 (25 ล้านคน)
  • ช่องที่มียอดไลก์ทาง TikTok สูงสุด: AMARIN TV (280.6 ล้านไลก์)
  • ช่องที่มียอดผู้ติดตามทาง TikTok สูงสุด: WORKPOINT TV (6.5 ล้านคน)
  • ช่องที่มียอดผู้ติดตามทาง X สูงสุด: Thai PBS (3.2 ล้านคน)
  • ช่องที่มียอดผู้ติดตามทาง Instagram สูงสุด: WORKPOINT TV (1.4 ล้านคน)

ชาวโซเชียลเชื่อข่าวจากแบรนด์ช่องทีวี

แต่สิ่งที่น่าสนใจยิ่งกว่าตัวเลขผู้ติดตามมหาศาลในโลกโซเชียล คือ ความน่าเชื่อถือที่แบรนด์ช่องทีวียังคงรักษาไว้ได้แม้ในยุคดิจิทัล

จากรายงาน “Digital News Report” ประจำปี 2567 ของสถาบันรอยเตอร์เพื่อการศึกษาด้านวารสารศาสตร์ (Reuters Institute for the Study of Journalism) เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 2567 ที่จัดอันดับความน่าเชื่อถือของสื่อไทยตามตารางด้านล่าง พบว่า สื่อที่ได้คะแนนความน่าเชื่อถือสูงสุด 3 อันดับแรกล้วนเป็นช่องทีวีทั้งสิ้น ได้แก่ ช่อง 7 HD, เวิร์คพอยท์ และไทยพีบีเอส

รายงานชี้ว่า แม้คนส่วนใหญ่จะเสพข่าวผ่านช่องทางออนไลน์และโซเชียลมีเดียอย่าง เฟซบุ๊ก, ยูทูบ, ไลน์ และติ๊กต๊อก แต่เมื่อพิจารณาการเข้าถึงข่าวออนไลน์รายสัปดาห์ กลับพบว่า ส่วนใหญ่เป็นสำนักข่าวที่มีช่องทีวีเป็นของตัวเอง โดยไทยรัฐออนไลน์ครองอันดับหนึ่งด้วยยอด Reach 46% ขณะที่ 5 อันดับแรกเกือบทั้งหมดเป็นสำนักข่าวที่มีช่องทีวี มีเพียงข่าวสดออนไลน์เท่านั้นที่เป็นข้อยกเว้น

"Addressable TV" ทางรอดใหม่ของโฆษณาทีวี?

แม้แบรนด์ช่องทีวียังรักษาความน่าเชื่อถือในสายตาผู้ชมไว้ได้ แต่ความท้าทายสำคัญคือทำอย่างไรจึงจะแปรความน่าเชื่อถือนี้ให้กลายเป็นรายได้ ซึ่งนวัตกรรมโฆษณาอย่าง Addressable TV อาจเป็นความหวังใหม่ที่จะช่วยพลิกโฉมวงการทีวีไทย

เมื่อเร็ว ๆ นี้ บริษัทไทยคม ผู้ให้บริการดาวเทียมชั้นนำในเอเชีย จับมือกับบริษัท INVIDI Technologies ผู้นำเทคโนโลยี Addressable Advertising ระดับโลก และบริษัท PSI ผู้ให้บริการทีวีดาวเทียมรายใหญ่ที่สุดของไทย ผนึกกำลังตั้งเป้าเปิดตัวบริการโฆษณาทางทีวีแบบเจาะกลุ่มเป้าหมายหรือ “Addressable TV” ผ่านระบบดาวเทียมในช่วงครึ่งหลังปี 2568 และมีแผนขยายสู่ทีวีภาคพื้นดินในปี 2569

Photo Credit: The next decade of TV advertising: Addressable TV: Buying audiences instead of spots, INVIDI-Telecom. [PowerPoint slides]

Addressable TV เปรียบเสมือนการนำเอารูปแบบโฆษณาออนไลน์มาใช้บนจอทีวี โดยอาศัยข้อมูลผู้ชมที่รวบรวมได้เพื่อนำเสนอโฆษณาที่โดนใจ แทนที่ทุกบ้านจะเห็นโฆษณาเดียวกันในรายการเดียวกัน Addressable TV จะคัดสรรโฆษณาให้เข้ากับรสนิยมของแต่ละครัวเรือน

เช่น ขณะดูรายการเดียวกัน บ้านที่ชื่นชอบกาแฟอาจได้ชมโฆษณากาแฟ ในขณะที่บ้านที่นิยมดื่มน้ำอัดลมก็จะได้เห็นโฆษณาน้ำอัดลมแทน

Media Partners Asia ประเมินว่าโฆษณาแบบเจาะจงกลุ่มเป้าหมายในไทยจะเติบโตปีละ 19% ในอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ให้ทั้งผู้ผลิตคอนเทนต์และผู้ลงโฆษณา พร้อมทั้งมอบประสบการณ์การรับชมที่ตอบโจทย์ผู้ชมมากยิ่งขึ้น

ด้านนิค ฉั่ว กรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกของ INVIDI มองว่า Addressable TV มีศักยภาพสูง โดยอ้างอิงจากความสำเร็จด้านรายได้โฆษณาแบบเจาะกลุ่มเป้าหมายในสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม เช่นเดียวกับโฆษณาออนไลน์ Addressable TV ก็นำมาซึ่งความกังวลหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการเก็บข้อมูลผู้ชมแต่ละบ้านว่าจะมากน้อยเพียงใด ใช้วิธีการใดในการเก็บ สังคมจะมีปฏิกิริยาอย่างไร และจะสอดคล้องกับกฎระเบียบของกสทช. หรือไม่ ซึ่งคำถามเหล่านี้ยังคงต้องรอคำตอบในวันข้างหน้า

อนาคตที่คลุมเครือ เมื่อใบอนุญาตหมดอายุในปี 2572

แม้ทีวีดิจิทัลจะพยายามปรับตัวด้วยการนำเสนอนวัตกรรมอย่าง Addressable TV แต่คำถามสำคัญที่สุดกลับเป็นเรื่องพื้นฐานอย่างการหมดอายุของใบอนุญาตในปี 2572 เมื่อพิจารณาจากตัวเลขผู้ชมทางสตรีมมิ่งที่มากกว่าทีวีแบบดั้งเดิมในปัจจุบัน ก็ยิ่งทำให้เกิดคำถามว่า การประมูลทีวีดิจิทัลในรูปแบบเดียวกับปี 2557 จะยังมีความจำเป็นอยู่หรือไม่

ผศ.ดร.สกุลศรี ศรีสารคาม อาจารย์ประจำภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นในการสัมภาษณ์กับดาต้าเซ็ต ว่า คงยังมีผู้สนใจแต่จำนวนไม่เท่าเดิม ผู้ประมูลที่เป็นธุรกิจสื่อจริง ๆ ยังมีโอกาสเพราะมีฐานและมีกลุ่มเป้าหมาย หรือมิฉะนั้นต่อไปก็อาจจะไม่ใช่วิธีประมูลแล้ว ขึ้นอยู่กับกสทช.ว่าจะออกวิธีการต่อใบอนุญาตแบบใด ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีสัญญาณจากฝ่ายใด ยังไม่มีใครกล้าตอบในตอนนี้

เพื่อร่วมกันหาทางออกถึงอนาคตของทีวีดิจิทัลไทย สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงานกสทช.) จึงได้จัดงาน “1 ทศวรรษทีวีดิจิทัล” Beyond the Next Step โดยมีข้อเสนอจากฝ่ายต่าง ๆ ดังนี้

1) กสทช. หวั่นทีวีไทยล่มสลาย เสนอทำแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งแห่งชาติ

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์ ได้นำเสนอ 3 ฉากทัศน์อนาคตทีวีไทย ดังนี้

ฉากทัศน์ที่ 1: ทีวีไทยล่มสลาย

  • รัฐไม่แทรกแซงและไม่มีมาตรการควบคุม
  • แพลตฟอร์มต่างชาติครองตลาด ผู้ชมย้ายสู่ OTT
  • ทีวีดั้งเดิมสูญเสียรายได้ค่าโฆษณา จนต้องปิดตัว
  • กลุ่มเปราะบางเสียโอกาสเข้าถึงบริการสาธารณะ

 

ฉากทัศน์ที่ 2: ทีวีไทยพอแข่งขันได้ (ระยะหนึ่ง)

  • มีกฎหมายกำกับ OTT และสนับสนุนทีวีดั้งเดิมให้เข้าสู่ตลาดสตรีมมิ่ง BVOD (Broadcast Video on Demand)
  • ตลาดผสมผสานระหว่างผู้ประกอบการไทย-ต่างชาติ
  • ผู้เล่นรายใหญ่จากสหรัฐฯ-เอเชียแข่งซื้อกิจการไทย

 

ฉากทัศน์ที่ 3: ทีวีไทยสู่แพลตฟอร์มระดับโลก

  • ปฏิรูปองค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ
  • จัดตั้งหน่วยงานกำกับดูแลและส่งเสริมอุตสาหกรรม – Regulatory Authority for Digital Audiovisual Media (RADAM) และ Thai Audiovisual Industry Council (TAVIC)
  • พัฒนาคอนเทนต์ไทยสู่ตลาดโลก เทียบชั้นฝรั่งเศสและเกาหลี

แผนหนึ่งของกสทช. ที่จะ “Save linear (TV)” ตามคำของดร.พิรงรอง คือการทำแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งแห่งชาติ (National OTT Streaming Platform) รวบรวมทุกช่องทีวีดิจิทัลไว้ในที่เดียว เพื่อให้การลงโฆษณาและวัดเรตติ้งทำได้ง่ายขึ้น และยังช่วยรักษาเม็ดเงินโฆษณาให้หมุนเวียนอยู่ในประเทศ ไม่รั่วไหลไปสู่แพลตฟอร์มต่างชาติ

Photo Credit: ทิศทางโทรทัศน์ดิจิทัลหลังสิ้นสุดใบอนุญาต 2572, กสทช. [PowerPoint slides]

แพลตฟอร์มใหม่นี้จะเข้าถึงได้หลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นปุ่มพิเศษบนรีโมตทีวี แอปพลิเคชันบนสมาร์ตทีวีและมือถือ ตลอดจนเว็บไซต์สำหรับรับชมผ่านคอมพิวเตอร์

ด้านผศ.ดร.สกุลศรีแสดงความเห็นต่อฉากทัศน์ที่ 3 และประเด็นแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งแห่งชาติว่า “เราก็ต้องสามารถทำได้แม้กระทั่งเจรจาต่อรองกับ OTT เราจะมี OTT แห่งชาติมั้ย หรือถ้าเราไม่มี เราจะสามารถรวมกันในระดับอาเซียนเพื่อมีข้อต่อรองกับ OTT ระดับโลกเพิ่มขึ้นได้มั้ย นั่นก็จะเป็น scenario ที่เข้มแข็งมาก ๆ”

2) ผู้ประกอบการอยากให้ต่อใบอนุญาต ไม่อยากให้คุม OTT

ขณะเดียวกัน สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) เสนอให้กสทช. ยกเลิกการประมูลทีวีดิจิทัลปี 2572 และให้แก้พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ปี 2553 เพื่อเปลี่ยนไปใช้วิธีคัดเลือกผู้ประกอบการโดยเปรียบเทียบคุณสมบัติ (Beauty contest) แทน

สมาคมฯ ให้เหตุผลว่า การประมูลสร้างภาระทางการเงินอย่างหนักแก่ผู้ประกอบการ จนหลายรายต้องยอมคืนใบอนุญาต นอกจากนี้ ต่างประเทศส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ใช้วิธีการประมูล อย่างไรก็ตาม ต้องมีการกำหนดหลักเกณฑ์การต่อใบอนุญาตและอัตราค่าตอบแทนให้ภาครัฐที่เป็นธรรมด้วย

ด้านนายถกลเกียรติ วีรวรรณ ซีอีโอ บมจ.เดอะวันเอ็นเตอร์ไพรส์ ผู้บริหารช่อง one31 และ GMM25 กล่าวภายในงาน “1 ทศวรรษทีวีดิจิทัล” ว่า ไม่ได้ต้องการให้ภาครัฐเข้าไปควบคุมสตรีมมิ่ง แต่ต้องการให้ภาครัฐมอบความเป็นธรรมให้กับผู้ประกอบการทีวีที่ลงทุนมหาศาลกับการประมูลใบอนุญาตไปแล้ว

เราไม่ได้ปฏิเสธเทคโนโลยี แต่ว่าเราต้องหาทางออก อย่างซีรีส์วายที่ออกอากาศ คนก็ยังดูผ่านทีวีเพราะว่ามันคือระดับชาติที่ดูพร้อมกันและเกิดกระแสและเขาเอาไปต่อยอดได้ ส่วนตัวเราไม่ได้อยากไปควบคุมแต่เราอยากได้คำตอบว่าคนที่ลงทุนไปมหาศาลจะทำอย่างไรให้ยุติธรรม"

อีกมุมมองหนึ่งมาจากนายนวมินทร์ ประสพเนตร ประธานกรรมการ ประธานกรรมการบริหาร รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และรักษาการประธานเจ้าหน้าที่การเงิน ของบมจ.โมโน เน็กซ์ (MONO) ที่ให้สัมภาษณ์กับดาต้าเซ็ต ว่า ถ้าทั้งประเทศไทยจะไม่มี National TV อีกเลย บริษัทก็ยังมีสตรีมมิ่ง MONOMAX รองรับอยู่

นายนวมินทร์ ประสพเนตร ประธานกรรมการ ประธานกรรมการบริหาร รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และรักษาการประธานเจ้าหน้าที่การเงิน บมจ.โมโน เน็กซ์ (MONO)

หากทางรัฐบาลยังเปิดให้ประมูลต่อแบบเดิม นายนวมินทร์กล่าวว่า โมโน เน็กซ์ก็คงเข้าร่วมประมูล แต่ถ้าราคาสูงเกินก็คงไม่มีใครเข้าประมูลเพราะถือเป็นการฆ่าตัวตายทางธุรกิจ อีกทั้งผู้ประกอบการก็ยังมีทางเลือกในการหันไปเล่นบน OTT อีกด้วย เพราะฉะนั้น ต่อให้มีประมูลก็เชื่อว่าราคาจะไม่สูง เพราะถ้าสูงก็คงไม่มีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาในธุรกิจสื่อทีวี

ใครดูทีวี? แล้วดูอะไร?

ขณะที่อนาคตของทีวีดิจิทัลไทยยังคลุมเครือ การทำความเข้าใจภูมิทัศน์สื่อในปัจจุบันอาจเป็นกุญแจสำคัญ ใครคือผู้ชมทีวีจริง ๆ แล้วคนกลุ่มนี้ดูอะไร เพราะพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงนี้เองที่จะเป็นตัวชี้วัดอนาคตของวงการโทรทัศน์

เมื่อมองในแง่ช่วงวัย ยิ่งอายุน้อยเท่าไร ก็ยิ่งห่างไกลจอทีวีมากขึ้นเท่านั้น โดยนีลเส็นระบุไว้ดังนี้

  • คนส่วนใหญ่ 57% บอกว่ายังคงดูทีวี
  • คนรุ่น Gen Z ดูทีวี 47%
  • คนรุ่น Gen Y ดูทีวี 54%
  • คนรุ่น Gen X ดูทีวี 61%
  • คนรุ่น Mature (อายุ55 ปีขึ้นไป) ดูทีวี 62%
Photo credit: Thailand: Media Never Stop Moving, Nielsen. [PowerPoint slides]

ยิ่งไปกว่านั้น นีลเส็นยังชี้ว่าในปี 2566 ฐานผู้ชมส่วนใหญ่อยู่ในชนบท (58%) รองลงมาคือในเมือง (25%) และกรุงเทพฯ-ปริมณฑล (15%) เมื่อนำตัวเลขเหล่านี้มาปะติดปะต่อ ภาพที่ชัดเจนคือ ผู้ชมทีวีส่วนใหญ่เป็นคน Gen X ขึ้นไป และอาศัยอยู่ในชนบท

เมื่อเทียบกับทั่วโลก คนไทยใช้เวลากับหน้าจอทีวีน้อยกว่าเล็กน้อย DataReportal ประจำเดือนต.ค. 2567 ระบุว่า คนไทยใช้เวลาดูทีวีเฉลี่ย 3 ชั่วโมง 5 นาทีต่อวัน ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่ 3 ชั่วโมง 8 นาที

Photo Credit: https://datareportal.com/reports/digital-2024-october-global-statshot

ยิ่งไปกว่านั้น นีลเส็นยังชี้ว่าในปี 2566 ฐานผู้ชมส่วนใหญ่อยู่ในชนบท (58%) รองลงมาคือในเมือง (25%) และกรุงเทพฯ-ปริมณฑล (15%) เมื่อนำตัวเลขเหล่านี้มาปะติดปะต่อ ภาพที่ชัดเจนคือ ผู้ชมทีวีส่วนใหญ่เป็นคน Gen X ขึ้นไป และอาศัยอยู่ในชนบท

เมื่อเทียบกับทั่วโลก คนไทยใช้เวลากับหน้าจอทีวีน้อยกว่าเล็กน้อย DataReportal ประจำเดือนต.ค. 2567 ระบุว่า คนไทยใช้เวลาดูทีวีเฉลี่ย 3 ชั่วโมง 5 นาทีต่อวัน ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่ 3 ชั่วโมง 8 นาที

แล้วคนดูทีวีดูอะไร? …

ข้อมูลของนีลเส็นในช่วงม.ค.-ต.ค. 2567 สะท้อนให้เห็นถึงความนิยมที่โดดเด่นของรายการประเภทละคร ด้วยเรตติ้งเฉลี่ยที่ 0.584 ขณะที่รายการประเภทภาพยนตร์ครองอันดับที่สอง ด้วยเรตติ้งเฉลี่ย 0.4702

หากมองในแง่แพลตฟอร์มการรับชม ตัวเลขเดือนพ.ย. 2567 จากกลุ่มตัวอย่างคนไทยอายุ 4 ปีขึ้นไป (61.5 ล้านคน) พบว่า การรับชมผ่านจอทีวีแบบดั้งเดิมอยู่ที่ 5.629% ขณะที่การรับชมผ่านสตรีมมิ่งรวมกันแซงขึ้นมาที่ 6.307% โดยยูทูบครองสัดส่วนมากที่สุดที่ 2.247%

ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนภาพที่ชัดเจนว่า พฤติกรรมการรับชมของคนไทยได้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่หันไปรับชมผ่านแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งมากขึ้น ขณะที่ฐานผู้ชมทีวีที่เหลืออยู่ส่วนใหญ่เป็นผู้ชมสูงวัยในต่างจังหวัด 

สะท้อนให้เห็นว่าทีวีที่เคยเป็น “สื่อกระแสหลัก” (Mainstream Media) กำลังกลายเป็นเพียง “สื่อทางเลือก” (Niche Media) สำหรับคนบางกลุ่มเท่านั้น

ความท้าทายของทีวีดิจิทัลไทยจึงไม่ใช่แค่การปรับตัวด้วยเทคโนโลยีหรือการหารูปแบบธุรกิจใหม่ แต่เป็นการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงพื้นฐานของพฤติกรรมผู้บริโภค ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดว่าหลังปี 2572 เมื่อใบอนุญาตหมดอายุ “ทีวี” ในรูปแบบที่เรารู้จักจะยังมีที่ยืนในสังคมไทยหรือไม่

อ้างอิง

Part – คนดูทีวีผ่านสตรีมมิ่ง มากกว่าผ่านจอทีวี

  • รายงานข้อมูล การวัดเรตติ้งข้ามแพลตฟอร์ม (Cross-Platform Ratings) – ADTEB Report Nov 23
  • broadcast.nbtc.go.th 
  • “1 ทศวรรษทีวีดิจิทัล” | Thai PBS – YouTube

 

Part – รายได้หด กำไรหาย ทางรอดสุดท้ายคือเลย์ออฟ

 

Part – ละครไทยเจอวิบากกรรม แต่ช่องวันยืนหยัด ผู้จัดช่อง 3 แห่ซบโมโน

 

Part – ชาวโซเชียลเชื่อข่าวจากแบรนด์ช่องทีวี

 

Part – “Addressable TV” ทางรอดใหม่ของโฆษณาทีวี?

 

Part – อนาคตที่คลุมเครือ เมื่อใบอนุญาตหมดอายุในปี 2572

 

Part – ใครดูทีวี? แล้วดูอะไร?

Topics