ภูมิทัศน์สื่อไทย 2566-2567
TikTok ดาวรุ่งพุ่งต่อกับ Live-Commerce และ Shoppertainment
- มกราคม 31, 2567
- 15:24 น.
ติ๊กต๊อก (TikTok) เป็นโซเชียลมีเดียที่สามารถพัฒนาจากแพลตฟอร์มวิดีโอสั้นเพื่อความบันเทิงจนได้รับความนิยมและกลายเป็นหนึ่งในแหล่งค้นหาข้อมูลข่าวสารสำหรับผู้ใช้งานในไทย สอดคล้องกับข้อมูลจากบริษัท ดาต้าเซ็ต จำกัด ที่ได้รวบรวมข้อมูลผ่านแพลตฟอร์ม DXT360 และเผยแพร่รายงานเกี่ยวกับติ๊กต๊อกไปเมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 ว่า ติ๊กต๊อกเป็นแพลตฟอร์มที่มียอด Engagement สูงที่สุดจากโซเชียลมีเดียทุกแพลตฟอร์มในช่วงการเลือกตั้ง ปี 2566 ของประเทศไทย ข้อมูลเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า ติ๊กต๊อก ไม่ได้มอบความบันเทิงเพียงอย่างเดียว แต่ยังสามารถต่อยอดความนิยมมาสู่การติดตามข่าวสารต่าง ๆ และเรื่องราวที่สำคัญในชีวิตประจำวัน
นอกจากความนิยมในเรื่องการค้นหาข้อมูลแล้ว ติ๊กต๊อกยังก้าวเข้าสู่วงการอีคอมเมิร์ซและผลักดันให้กระแส Live-Commerce หรือการไลฟ์ขายของออนไลน์ถูกใจผู้ใช้งานติ๊กต๊อกในไทยที่ชื่นชอบการชอปปิงออนไลน์อยู่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
Live-Commerce จึงเป็นเสน่ห์ที่เข้ามาสร้างสีสันให้กับฟีเจอร์ TikTok Shop ที่กำลังมาแรง นอกจากนี้การไลฟ์บนติ๊กต๊อกยังเป็นตัวช่วยในการรักษาความสัมพันธ์ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายไปด้วยในตัว
การพัฒนาฟีเจอร์ต่าง ๆ ให้กับธุรกิจน้อยใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นอัลกอริทึมที่แข็งแกร่งของติ๊กต๊อก รวมถึงขั้นตอนการซื้อขายที่สะดวกสบาย เรียกได้ว่าครบจบในที่เดียวนั้น เมื่อพ่วงกับกระแส Shoppertainment หรือการผสานความบันเทิงควบคู่กับการซื้อขายเข้าไปด้วยแล้ว จึงถือเป็นช่องทางในการสร้างโอกาสและรายได้ให้กับผู้ประกอบการ
นอกจากนี้ จำนวนผู้ใช้งานติ๊กต๊อกในไทยยังถือว่าอยู่ในระดับสูงและอยู่ในอันดับต้น ๆ ของโลก ข้อมูลจาก DataReportal ชี้ว่า ยอดผู้ใช้งานติ๊กต๊อกในประเทศไทยอยู่ที่ 40.28 ล้านรายในช่วงต้นปี 2566 โดยรูปแบบการใช้งานติ๊กต๊อกของคนไทยนั้นดูเหมือนจะขยายวงมากขึ้นในช่วงปี 2566
รายงานจาก Reuters Institute ได้เปิดเผยทิศทางการใช้โซเชียลในด้านการเสพข่าวสารของทั่วโลก พบว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่เสพข่าวสารผ่านช่องทางออนไลน์มากที่สุดในโลก และยิ่งไปกว่านั้น ช่องทางที่คนไทยเลือกใช้ติ๊กต๊อกในการติดตามข่าวสาร
TikTok Shop : ม้ามืดแห่งวงการอีคอมเมิร์ซ
TikTok Shop ถือเป็นฟีเจอร์ซื้อขายออนไลน์ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว หลังจากที่ได้เปิดตัวในไทยอย่างเป็นทางการขึ้นเมื่อปี 2565
โดย TikTok Shop สามารถครองใจนักชอปด้วยคุณสมบัติที่แตกต่างจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเจ้าอื่น ๆ ด้วยระบบอัลกอริทึมที่มาพร้อมกับวิดีโอสั้น ฟีเจอร์ไลฟ์สด และการยิงแอดโฆษณา ทั้งยังสามารถทำการซื้อ-ขาย ติดต่อสอบถามผู้ขาย และเช็คสถานะรายการสินค้าที่เราสั่งซื้อได้ในตัว
อีกทั้งยังมีฟีเจอร์การมอบส่วนลดสำหรับการซื้อขายเฉพาะในช่วงระยะเวลาที่ร้านค้าไลฟ์สดเท่านั้นอีกด้วย เรียกได้ว่า TikTok Shop สามารถให้บริการอีคอมเมิร์ซแบบ ครบ จบ ในที่เดียว
ในช่วงเทศกาล 11.11 ของปี 2566 TikTok Shop ได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ผ่านแคมเปญ “ช้อปสุดมันส์วันเลขเบิ้ล”
โดยทาง TikTok Shop ประเทศไทยได้เปิดเผยสถิติยอดขายจากแบรนด์และผู้ขายต่างๆบนแพลตฟอร์มที่เติบโตมากขึ้น 300% และจำนวนผู้ขายที่เข้าร่วมกว่า 200% ในแคมเปญดังกล่าว ด้วยยอดการไลฟ์ขายสินค้าค้าสูงถึง 400,000 ครั้ง และมีการผลิตวิดีโอเพื่อโปรโมตสินค้ากว่า 2 ล้านคลิป ตลอดจนยอดเข้าชมไลฟ์ของแคมเปญรวมทั้งหมดกว่า 500 ล้านวิว
โดยสถิติที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดนั้นเกิดขึ้นภายในระยะเวลาเพียง 1 ปี เท่านั้
นับเป็นการตอกย้ำถึงความสำเร็จและการเติบโตของแพลตฟอร์มที่น่าประทับใจและเรียกไว้ว่าเขย่าวงการแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในไทยไปพร้อม ๆ กัน
Shoppertainment : เมื่อการขายสินค้าต้องแทรกความบันเทิง
อย่างไรก็ตาม ติ๊กต๊อก และ TikTok Shop แห่งประเทศไทยต่างยึดมั่นในจุดยืนและตัวตนของแพลตฟอร์มในเรื่องของการมอบความบันเทิง โดยได้ผลักดันอีคอมเมิร์ซภายใต้เทรนด์ “Shoppertainment” ที่มาจากคำว่า “Shopping” หรือ การซื้อขายสินค้า ผนวกรวมกับคำว่า “Entertainment” หรือ ความบันเทิง ในภาษาอังกฤษ ผสมกันออกมาเป็นการนำเสนอประสบการณ์ชอปปิงในรูปแบบใหม่ที่มอบทั้งความสนุกสนานและความสะดวกสบายให้กับผู้ใช้งานติ๊กต๊อก
จากรายงานติ๊กต๊อก ประเทศไทยเมื่อเดือนตุลาคม 2566 เปิดเผยว่า Shoppertainment ที่นำคอนเทนต์บันเทิงมาบรรจบกับการซื้อขาย ได้ช่วยสร้างโอกาสให้กับธุรกิจรายเล็กและรายใหญ่ รวมถึงเหล่าครีเอเตอร์และอินฟลูเอนเซอร์จำนวนมาก
โดยเฉพาะแคมเปญ #TikTokMadeMeBuyIt ที่มียอดการรับชมกว่า 73.6 พันล้านครั้ง หรือ #TikTokป้ายยา ที่มียอดการรับชมถึง 4.4 พันล้านครั้ง ยิ่งเป็นการตอกย้ำถึงศักยภาพในการกระตุ้นให้เกิดการซื้อขาย และได้คาดการณ์ว่าในปี 2567 Shoppertainment จะยังคงเป็นเทรนด์ที่มีความนิยมสูงต่อไป
คุณสิรินิธิ์ วิรยศิริ Head of Business Marketing ของติ๊กต๊อก ประเทศไทย กล่าวว่า
ด้วยเทรนด์ของ Shoppertainment แบรนด์จะสามารถเติบโตด้วยพลังแห่งคอนเทนต์ที่ไม่เพียงแต่จะสร้างความบันเทิงเท่านั้น หากแต่ยังสามารถผลักดันไปสู่การขายได้อีกด้วย ซึ่งความคิดสร้างสรรค์จะเป็นกุญแจสำคัญในการปลดล็อกโอกาสที่สามารถสร้างผลลัพธ์ทางธุรกิจได้ต่อไป
คุณสิรินิธิ์ กล่าว
Live-commerce : ตัวช่วยสร้างสีสันและดันยอดขาย
อีกหนึ่งฟีเจอร์สำคัญของติ๊กต๊อกที่จะมองข้ามไปไม่ได้ คือ ฟีเจอร์ TikTok Live ที่เป็นฟันเฟืองหลักของ TikTok Shop ก็ว่าได้ เนื่องจากการซื้อขายสินค้าผ่านไลฟ์สตรีมมิง หรือไลฟ์คอมเมิร์ซ (Live Commerce) ที่มาจากการผสานกันระหว่าง Live จาก ไลฟ์สตรีมมิ่ง (Live Streaming) และ Commerce จากคำว่า Electronic Commerce หรือ ธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เข้าด้วยกัน เกิดเป็นกลยุทธ์ใหม่ในการทำธุรกิจที่ช่วยสร้างยอดขายให้เติบโตกว่าการค้าขายบนโลกออนไลน์แบบดั้งเดิม
การทำธุรกิจในรูปแบบ Live-Commerce จึงช่วยแจ้งเกิดแบรนด์และอินฟลูเอนเซอร์น้อยใหญ่มากมาย หนึ่งในอินฟลูเอนเซอร์ที่มีชื่อเสียงจากติ๊กต๊อกที่ประสบความสำเร็จจาก Live-Commerce คือ คุณกัญจน์รัตน์ ศักดิ์กรธนาศิริ หรือที่รู้จักกันในชื่อ “พี่ไก่” เจ้าของแฮชแท็ก #เลี้ยงหมา17ตัว และซีอีโอผลิตภัณฑ์แบรนด์รัญจวน, V Clean และ MyDeli ที่ทำคอนเทนต์ผ่านติ๊กต๊อกจนสามารถสร้างฐานแฟนคลับและรายได้อย่างมหาศาล
คุณไก่ได้ให้สัมภาษณ์กับทีมงาน Thailand Media Landscape ว่า …
จริง ๆ ไลฟ์สดในทัศนะของไก่จะไม่มีวันตายจากไปเลย จะไม่มีทางหายไปจากแพลตฟอร์มเลย และทุกแพลตฟอร์มต้องพยายามทำขึ้นมา ทำให้แพลตฟอร์มตัวเองเนี่ยบริการเรื่องการไลฟ์ให้ได้ เพราะมันคือสิ่งที่เร็วที่สุด ผู้บริโภคเนี่ยสามารถเข้าถึงเจ้าของสินค้า เจ้าของแบรนด์ หรือเจ้าของช่องนั้นๆได้เร็ว ได้ง่าย แล้วก็ชัดเจนสุด
คุณไก่ กล่าว
อีกทั้งยังเน้นย้ำอีกว่า การทำ Live-Commerce ต้องเอ็นเตอร์เทนหรือให้ความบันเทิงด้วยเช่นกัน แม้ว่าติ๊กต๊อกอาจจะไม่ใช่โซเชียลมีเดียเจ้าแรกที่เปิดฟีเจอร์ไลฟ์สตรีมมิ่ง (อ่านบทสัมภาษณ์เพิ่มเติม)
แต่การที่ติ๊กต๊อกสามารถสร้างปรากฏการณ์และสถิติถล่มทลายสะเทือนวงการโซเชียลมีเดียและแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซได้ภายในระยะเวลาเพียงปีเดียวเท่านั้น ถือได้ว่าเป็น ม้ามืด ที่วิ่งไปข้างหน้าแบบที่ต้องจับตา
Creator House : ศูนย์รวมความคิดสร้างสรรค์รองรับเหล่าครีเอเตอร์
นอกจากฟีเจอร์ใหม่ ๆ บนแพลตฟอร์มแล้ว ติ๊กต๊อกยังเคลื่อนไหวอย่างคึกคักในประเทศไทย ด้วยการเปิด Creator House by TikTok เป็นครั้งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ชั้น 4 ของห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน เพื่อเปิดพื้นที่สาธารณะให้ผู้ใช้งานติ๊กต๊อกทุกคน ได้เข้ามาพบปะสังสรรค์แลกเปลี่ยนความคิดสร้างสรรค์ร่วมกัน
คุณพิสุทธิ์ โรจน์เลิศจรรยา Heads of Operations จากติ๊กต๊อก ประเทศไทย เปิดเผยว่า
TikTok ต้องการเดินหน้าสร้างความแข็งแกร่งระหว่างครีเอเตอร์และคอมมูนิตี้ เราตั้งใจให้ Creator House by TikTok เป็นจุดศูนย์กลางที่รวบรวมครีเอเตอร์เข้าไว้ด้วยกัน และในขณะเดียวกันก็เป็นพื้นที่แห่งการจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ที่ก้าวข้ามขีดจำกัดของโลกดิจิทัลไปอีกขั้น”
คุณพิสุทธิ์ กล่าว
แรงขับเคลื่อนหลักของติ๊กต๊อกจะเป็นใครไปไม่ได้นอกเสียจากผู้ใช้งานทุกคน โดยเฉพาะเหล่าครีเอเตอร์และอินฟลูเอนเซอร์ทั้งหลาย การเปิดตัว Creator House by TikTok นี้ยังถือเป็นการผลักดันและสนับสนุนพวกเขาอีกด้วย อีกทั้งยังเป็นการเน้นย้ำถึงการมอบความบันเทิงให้กับสังคม ซึ่งเป็นแกนหลักของตัวแพลตฟอร์มติ๊กต๊อก
Tiktok Creative Assistant : ตัวช่วยของเหล่าครีเอเตอร์
ไม่ว่าจะแพลตฟอร์มสื่อใด ๆ ก็คงจะหนีกระแสของปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หรือเอไอไม่พ้น ทางด้านติ๊กต๊อกเองก็เช่นกัน โดยติ๊กต๊อกได้ประกาศเปิดตัวเอไอใหม่อย่าง “TikTok Creative Assistant” ขึ้นมาบนแพลตฟอร์ม เพื่อคอยทำหน้าที่เป็นเพื่อนคู่คิดให้กับแบรนด์ หรือครีเอเตอร์ต่างๆที่ต้องการสร้างคอนเทนต์ หรือทำโฆษณา แต่ยังไม่มีไอเดียหรือยังจับแนวเทรนด์ที่กำลังเป็นที่นิยมได้
โดยตัว TikTok Creative Assistant ได้รวบรวมเครื่องมือช่วยในการค้นหา เช่น ประเภทโฆษณายอดฮิต (Top Ads), เทรนด์ที่แมส (What’s hot on TikTok) หรือทิปในการครีเอทคอนเทนต์ (Creative Guidance) ด้วยกาารป้อน คำสั่ง หรือ “Prompt” เหมือนกับ ChatGPT แล้วเอไอจะเสนอไอเดียและไกด์แนวทางกลับมาให้เรา เพื่อนำข้อมูลไปต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ต่อด้วยตนเอง
Topics
- แนวโน้มสื่อไทย 2568
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2568
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2567
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2566
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2565
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2564
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2563
- Thai Media Trends 2025 (English Version)
- Thailand Media Landscape 2024-2025 (English Version)
- Thailand Media Landscape 2023-2024 (English Version)
- Thailand Media Landscape 2022-2023 (English Version)
- Thailand Media Landscape 2021-2022 (English Version)