"พี่ไก่" กัญจน์รัตน์ เจ้าแม่ติ๊กต๊อก ยืนยัน Live-Commerce ไม่มีทางหายไป แต่ต้องนำเสนอควบคู่กับความบันเทิง
- ธันวาคม 14, 2566
- 15:06 น.
กัญจน์รัตน์ ศักดิ์กรธนาศิริ หรือที่รู้จักกันในชื่อของ “พี่ไก่” ผู้ซึ่งได้รับฉายาว่าเป็นเจ้าแม่ติ๊กต๊อก (TikTok) เจ้าของเสียงละมุนชวนฟังที่ลุยทำคอนเทนต์ผ่านติ๊กต๊อกจนสามารถสร้างฐานแฟนคลับรายการได้เป็นจำนวนมากทั้งกลุ่มที่เป็นทาสน้องหมาน้องแมวและกลุ่มที่ชื่นชมในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดบ้าน หรือเครื่องปรุงรสต่าง ๆ ของแบรนด์รัญจวน, V Clean และ MyDeli ยืนยันว่า ไลฟ์คอมเมิร์ซ (Live-Commerce) ไม่มีทางหายไป เพราะเป็นรูปแบบการนำเสนอที่รวดเร็ว เข้าถึงสินค้าง่าย และมีความชัดเจน แต่ต้องนำเสนอในรูปแบบที่ผสานผสานไปกับ “ความบันเทิง”
จริง ๆ ไลฟ์สดในทัศนะของไก่จะไม่มีวันตายจากไปเลย จะไม่มีทางหายไปจากแพลตฟอร์มเลย และทุกแพลตฟอร์มต้องพยายามทำขึ้นมา ทำให้แพลตฟอร์มตัวเองเนี่ยบริการเรื่องการไลฟ์ให้ได้ เพราะมันคือสิ่งที่เร็วที่สุด ผู้บริโภคเนี่ยสามารถเข้าถึงเจ้าของสินค้า เจ้าของแบรนด์ หรือเจ้าของช่องนั้นๆได้เร็ว ได้ง่าย แล้วก็ชัดเจนสุด
คุณไก่ กล่าว
คุณไก่ยังระบุด้วยว่า การทำ Live-Commerce ต้องเอ็นเตอร์เทนหรือให้ความบันเทิงด้วย และที่สำคัญคือต้องมีคุณค่า หรือ Value ให้กับลูกค้าด้วยเช่นกัน
ปี 2567 ลุยสร้างคอนเทนต์เพื่อนำเสนอในทุกแพลตฟอร์ม
จากมุมมองของอินฟลูเอนเซอร์ผู้ตั้งต้นและประสบความสำเร็จจากการทำคอนเทนต์เผยแพร่ผ่านทางติ๊กต๊อก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า สื่อแพลตฟอร์มอื่น ๆ จะไม่ได้รับความสนใจจากเธอ คุณไก่มองว่า ผู้บริโภคอยู่ที่ใดเราต้องพาตัวเองไปอยู่ตรงจุดที่ผู้บริโภคอยู่ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าธุรกิจไม่ว่าจะขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ต่างก็ไปในจุดหรือแพลตฟอร์มสื่อที่ผู้บริโภคใช้งานอยู่
จริง ๆ แล้วไก่ว่า สื่อออนไลน์เนี่ย ไม่ว่าช่องทางไหนก็มีความจำเป็นกับทุกธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่หรือขนาดเล็กนะคะ เพราะว่า พฤติกรรมของผู้บริโภคทำให้เราต้องไปยืนอยู่ตรงนั้นเป็นหลัก เขาเลิกอ่านหนังสือพิมพ์ เขาเลิกดูทีวี ทุกอย่างก็เกิดขึ้นอยู่บนออนไลน์
คุณไก่ กล่าว
สำหรับแพลตฟอร์มสื่ออื่นที่คุณไก่มองไว้นั้น คุณไก่เล่าว่า เธอพยายามที่จะไปในทุกแพลตฟอร์มให้ได้ เพราะผู้บริโภคมีไลฟ์สไตล์และก็มีรสนิยมที่แตกต่างกันในการเสพสื่อ โดยตั้งเป้าที่จะเผยแพร่คอนเทนต์ไปยังโซเชียลมีเดียทุกแพลตฟอร์มในปี 2567 แต่ก็ยังให้ความสำคัญกับแพลตฟอร์มหลักอย่างติ๊กต๊อก
เคล็ดลับสร้างคอนเทนต์ให้ปังจาก "พี่ไก่" ต้องอิงพฤติกรรมและแก้ Pain Point ให้ผู้บริโภค
ในฐานะที่เป็นทั้งนักธุรกิจเจ้าของแบรนด์สินค้าถึง 3 แบรนด์และอินฟลูเอนเซอร์ผู้โด่งดังบนโลกโซเชียลมีเดีย เจ้าแม่ติ๊กต๊อกรายนี้มีเคล็ดลับในการสร้างคอนเทนต์อย่างไร คุณไก่ได้เปิดเผยถึงเคล็ดลับว่า เธอใช้พฤติกรรมของผู้บริโภคเป็นตัวชี้นำ และแก้เพนพอยท์ (Pain Point) ให้กับลูกค้า
พี่ไก่ใช้พฤติกรรมผู้บริโภคเป็นตัวชี้นำ เราจะต้องประมวลผลว่าจะ แพลตฟอร์มติ๊กต๊อกเนี่ย การเข้าถึงง่ายของสื่อ ถูกใจเขาอย่างไร ถึงทำยอดขายให้เราได้มากขนาดนี้ ฉะนั้นการเข้าถึงง่ายในแพลตฟอร์มอื่น ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก ถึงแม้ว่าวิธีการสื่อสารมันจะแตกต่างกัน อาจจะไม่เหมือนกันเป๊ะ แต่ว่าไก่ก็ยังมองว่าพฤติกรรมผู้บริโภค ณ แพลตฟอร์มนั้นๆ ยังต้องการสิ่งที่คล้ายกับติ๊กต๊อก คือ ดูง่าย เข้าใจง่าย ภาพสวย สื่อสารชัดเจน มีบริการที่ชัดเจน
คุณไก่ กล่าว
นอกจากจะสื่อสารชัดเจนและนำเสนอคอนเทนต์ผ่านแพลตฟอร์มที่สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคแล้ว “ความเป็นธรรมชาติ” ก็เป็นอีกกลยุทธ์ที่สำคัญในการทำคอนเทนต์ เนื่องจากผู้บริโภคสามารถแยกแยะได้ว่า คอนเทนต์นี้เป็นการรีวิวสินค้าที่อินฟลูเอนเซอร์ได้รับค่าจ้างมารีวิวหรือไม่ การเป็นอินฟลูเอนเซอร์ที่มีความเป็นธรรมชาติมากที่สุด จะทำให้เกิดความรู้สึกที่ดีกับผู้บริโภคหรือผู้เสพสื่อ
อินฟลูเอนเซอร์เดี๋ยวนี้นะคะ ถ้าเป็นการจ้างอินฟลูเอนเซอร์โดยปกติเขาก็จะรู้แล้วแหละว่าจ้าง ถูกไหมคะ อย่างเนี่ย เดินมา คุณไก่ช่วยทำรีวิวนี้หน่อย แล้วไก่รับเงินค่าจ้าง ไก่ถ่ายทอดออกไป ก็ต้องรู้ว่าไก่รับเงินค่าจ้าง ทีนี้พฤติกรรมผู้บริโภค เขาอยากเจอตัวจริงเสียงจริง ทำยังไงอ่ะ ให้การเป็นอินฟลูเอนเซอร์นั้นเป็นธรรมชาติมากที่สุด การเป็นอินฟลูเอนเซอร์มันแตกต่างกับทางอีคอมเมิร์ซ (E-Commerce) โดยการไลฟ์สด ไลฟ์สดเนี่ยเป็นการขายชัดเจนว่าขาย แต่การเป็นอินฟลูฯเนี่ย สำคัญก็คือ ผู้เสพสื่อเราเนี่ย ต้องไม่รู้สึกว่าตัวเองกำลังถูกขาย
คุณไก่ กล่าว
อีกกลยุทธ์ที่สำคัญของการนำมาซึ่งความสำเร็จของคอนเทนต์ของคุณไก่ คือ การแก้เพนพอยท์ให้กับลูกค้า ด้วยการเติมเต็มความสุข ความสะดวก ให้กับชีวิตประจำวันที่ผู้ใช้สื่อส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับการมีสังคม การโชว์ความสำเร็จของตนเองผ่านทางสินค้าแบรนด์เนม แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับชีวิตของตนเอง
“ดูจากความสำเร็จที่มันถูกฉาบไว้ภายนอก แต่ในจิตในใจเนี่ย มันเห็นกันไม่หมด มันไม่ถึง ถ้าเขามาแก้ตรงนี้ปั๊บเนี่ย ไก่คิดว่า การดำรงชีวิตของมนุษย์ทุกคนมันจะสมบูรณ์ขึ้น ไก่รู้สึกแบบนี้นะคะ จะไม่สมบูรณ์ได้ไง ภรรยาอยู่บ้าน สามีทำงาน เหนื่อย ๆ เข้ามามีอาหารให้ทาน อุ่น ๆ ร้อน ๆ พูดจาเพราะ ๆ บ้านสะอาดเรียบร้อย หรือคุณแม่เหนื่อย ๆ ซิงเกิ้ลมัม ลูกดูแลให้หมด ห้องน้ำสะอาด คุณว่าชีวิตคุณดีขึ้นไหม ไก่มองแบบนี้นะคะ” คุณไก่ กล่าว
ดังนั้น จะเห็นได้ว่า จากผลิตภัณฑ์ที่ได้มีการนำเสนอผ่านทางติ๊กต๊อกนั้น เป็นผลิตภัณฑ์ที่เข้ามาแก้เพนพอยท์ของผู้คนในสังคม และที่สำคัญสำหรับการทำคอนเทนต์ที่ช่วยสนับสนุนธุรกิจหรือแบรนด์ของตนเอง คือ อย่าปล่อยให้กระแสของสังคมพาเราออกไป ซึ่งในที่นี้ คุณไก่หมายถึงจุดยืนในการทำธุรกิจด้วยเช่นกัน
ส่องหลักการบริหารธุรกิจและช่องติ๊กต๊อกของ "พี่ไก่"
นอกจากความสำเร็จในการคอนเทนต์แล้ว หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้คุณไก่ประสบความสำเร็จจากการบริหารธุรกิจและช่องติ๊กต๊อกนั้น คือ การให้ความสำคัญกับการบริหารลูกค้า ยิ่งคุณไก่เป็นอินฟลูเอนเซอร์ชื่อดัง การบริหารกิจการและลูกค้าด้วยนั้นถือเป็นเรื่องที่ท้าทาย ซึ่งลูกค้าในที่นี้หมายถึงกลุ่มลูกค้าที่ซื้อผลิตภัณฑ์และผู้จัดจำหน่ายสินค้า
พี่ไก่เป็นอย่างนี้แต่ไหนแต่ไร มนุษย์เนี่ย มีผู้ซื้อและผู้ขาย และทุกคนก็จะเป็นทั้งผู้ขายและผู้ซื้อในขณะเดียวกันโดยที่ไม่รู้ตัว ถ้าเราจะบริหาร เราต้องบริหารทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย นั่นหมายถึงบริหารลูกค้า และบริหารฝ่ายขาย ถ้าเราคิดว่าจะเป็นอย่างนี้ พอเราคิดได้แบบนี้ปั๊บเนี่ย เราจะต้องรู้ว่าเราจะต้องทำอะไร แต่คนส่วนใหญ่มักจะบริหารผู้ขาย มักจะบริหารเซลส์ มักจะบริหารตัวเลขเป็นก้อน แต่ลืมบริหารลูกค้า ในวงจรธุรกิจมันมีสองส่วน นี่เป็นหัวใจหลักตรงนี้นะคะ
คุณไก่ กล่าว
นอกจากการให้ความสำคัญกับลูกค้าแล้ว คุณไก่ยังไม่ละเลยในเรื่องของคอนเนคชั่นหรือความสัมพันธ์ด้วยเช่นกัน เพราะบทบาทอินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังของเธอทำให้คุณไก่ต้องบริหารความเสี่ยง ซึ่งหลักการในการบริหารความเสี่ยงนั้น คุณไก่ เล่าให้ฟังว่า
“…คุณอยู่บนออนไลน์เนี่ย มันสุ่มเสี่ยงมากเลยนะ แต่เมื่อไหร่ที่คุณดัง ความเสี่ยงจะมาเยอะมากเลยนะ คุณก็จำเป็นที่ต้องมีคอนเนคชั่นที่ดี การที่มีคอนเนคชั่นที่ดีเนี่ย มันมีสองทาง คุณจะเอาเงินไปซื้อมา หรือจะทำให้่่เขาเดินมาหาเรา พี่เลือกให้เขาเดินมาหาเรา แล้วก็ทำให้เขาเข้มแข็ง
การทำให้เขาเข้มแข็งคือการทำให้เขามีรายได้ มันก็เป็นไปตามหลักธรรมชาติแหละ แต่คนสมัยนี้ลืม ลืมเท่านั้นเอง จริงไหมคะ เขาแค่ลืม เขาทำได้ทุกคน แต่เขาแค่ลืม ไปโฟกัสว่าไตรมาสนี้ต้องจบตัวเลขเท่านี้ ไตรมาสนี้ต้องแบบนี้ ไม่ทันดูเลยว่าปีที่แล้วทำอะไรมาบ้าง บางทีของปีที่แล้วยังไม่สำเร็จดีเลย ปีหน้าฟุ้งอีกแล้ว จะเอาแบบนี้ ๆ อย่างนี้ค่ะ”
"เป็นตัวเอง" เพื่อรักษาคอมมูนิตี้หรือฐานแฟนคลับ
เมื่อเป็นอินฟลูเอนเซอร์ที่มีชื่อเสียงแล้ว แฟนคลับหรือคอมมูนิตี้มักจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามมา แล้วคุณไก่มีเคล็ดลับอย่างไรในการรักษาคอมมูนิตี้และทำให้แฟนคลับยังอยู่กับเธอ
เป็นตัวเองนี่แหละค่ะ ไม่มีใครชอบเราทั้งหมด แล้วก็ไม่มีใครเกลียดเราทั้งหมด แต่ความโชคดีของไก่คือ ตัวจริงกับสิ่งที่อยู่ในแพลตฟอร์มมันคือคนเดียวกัน มันคือชีวิตจริง ๆ ของไก่ แล้วไก่ก็ คำถามนี้ เกิดขึ้นบ่อยมากเลยนะคะ เวลาเกิดการสัมภาษณ์ แล้วทำให้ไก่ต้องหยุดแล้วก็มองตัวเองกลับไป เพราะตอนที่เราเดินมาเนี่ย เราไม่ได้คิดหรอกค่ะว่า ไก่เนี่ยจะต้องไว้ผมทรงนี้ เขียนคิ้วทาปากสีนี้ แต่งตัวแบบนี้ ไม่มี ไม่ได้คิดเอาไว้ เพราะว่ามันเป็นตัวตนของเราจริง ๆ แต่พอมันเกิดคำถามเราจะมองย้อนกลับไปว่าในอดีตเราทำอะไรมาบ้าง
คุณไก่ กล่าว
นอกจากนี้ ความแตกต่างที่คุณไก่มี คือ การแก้เพนพอยท์ของลูกค้าได้ ด้วยการนำจุดที่เล็กที่สุดในสังคมมาตอบโจทย์ คุณไก่ กล่าวว่า
“ใครจะคิดว่าถูบ้านจนดังไปทั้งประเทศขนาดนี้ ใช่ไหมคะ นั่นแหละค่ะ ใครจะคิดแค่พี่ก้มถูบ้านแล้วทำยอดขายหลายร้อยล้านบาท …
แต่มันเป็นจุดเล็ก ๆ ที่คนโดยส่วนใหญ่มองข้าม เพราะคนในส่วนใหญ่ในปัจจุบันมักจะไปเอาจุดใหญ่ ๆ เพราะจุดใหญ่ ๆ เนี่ยมันบอกคนอื่นได้ชัดว่าฉันสำเร็จ มันอวดได้ชัดเจนว่าฉันสำเร็จ แล้วสุดท้ายจะเจ็บกลับมา เพราะมันจะมีแผลลึก ๆ ในใจว่า จริง ๆ แล้วเราไม่ได้สำเร็จอย่างที่คนอื่นเขาให้เรา มันจะมีบางอย่างที่เรารู้สึกว่า ฉันยังแก้ไขตรงนี้ไม่เสร็จ ยังแก้เพนพอยท์ตรงนี้ไม่ได้
ทุกวันนี้เวลาไก่เดินออกจากออฟฟิศมาแล้วเจอผู้คน จะมีคนมาขอบคุณทุกวันเลยค่ะ พี่หนูทำตามพี่แล้วชีวิตหนูดีขึ้นนะ หนูเอาต้นไม้ไปวางไว้ในห้องน้ำหนูรู้สึกดี จริง ๆ มันอาจจะเป็นความรู้สึกของเขาที่จอยกับชีวิตมากขึ้น ไม่นั่งห่อเหี่ยว เป็นการแก้เพนพอยท์เล็ก ๆ ที่คนมองข้าม มันก็ทำให้ไก่เนี่ย เข้าถึงผู้คนได้ง่าย เวลามองย้อนกลับไปนะ จะมองแบบนี้”
Topics
- แนวโน้มสื่อไทย 2568
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2567
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2566
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2565
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2564
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2563
- Thai Media Trends 2025 (English Version)
- Thailand Media Landscape 2023-2024 (English Version)
- Thailand Media Landscape 2022-2023 (English Version)
- Thailand Media Landscape 2021-2022 (English Version)