"โปรดปราน หมื่นสุกแสง" CMO ไทยรัฐเผยเทรนด์สื่อไทย ชี้สื่ออยู่ยากหากไม่หาตัวตนที่แท้จริง ผนึก 3 พลังกองบ.ก.ไทยรัฐออนไลน์ ทีวี และนสพ. ลุยปี 2567

“ไทยรัฐ” สื่อยักษ์ใหญ่ระดับตำนานที่ยังคงโลดแล่นอยู่ในโลกดิจิทัลซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ในขณะที่สื่อ แพลตฟอร์มสื่อและผู้เสพสื่ออยู่ในสถานการณ์ของ Fragmentation หรือสถานการณ์ที่พฤติกรรมการเสพสื่อแยกย่อยลงไปตามความสนใจและอัลกอริธึม ตลอดจนการแข่งขันกันนำเสนอคอนเทนต์กันอย่างเต็มที่ของทั้งสื่อมวลชนและคอนเทนต์ครีเอเตอร์

“คุณปราง” โปรดปราน หมื่นสุกแสง เจ้าหน้าที่บริหารสานงานกลยุทธ์และการตลาด (Chief Marketing Officer หรือ CMO) ไทยรัฐทีวี (บริษัท ทริปเปิล วี บรอดคาสท์ จำกัด) และไทยรัฐออนไลน์ (บริษัท เทรนด์ วีจี 3 จำกัด) มองเทรนด์สื่อไทยอย่างไร ทีมงานไทยรัฐพัฒนาคอนเทนต์และแพลตฟอร์มอย่างไรให้ “ไทยรัฐ” เป็นสื่อที่มีบทบาทสำคัญ เข้าถึงผู้เสพสื่อที่มีพฤติกรรมแตกต่างกัน ในขณะเดียวกันก็สามารถทำรายได้เข้าองค์กร บทสัมภาษณ์นี้มีคำตอบ

แนวโน้มสื่อปี 2567 ชี้เป็นปีที่ท้าทาย เหตุต้องแข่งขันกับคอนเทนต์ครีเอเตอร์หน้าใหม่

โปรดปราน หมื่นสุกแสง เจ้าหน้าที่บริหารสานงานกลยุทธ์และการตลาด (Chief Marketing Officer หรือ CMO) ไทยรัฐทีวี (บริษัท ทริปเปิล วี บรอดคาสท์ จำกัด) และไทยรัฐออนไลน์ (บริษัท เทรนด์ วีจี 3 จำกัด)

สถานการณ์โควิดที่ผ่านมาทำให้คอนเทนต์ครีเอเตอร์หน้าใหม่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก และอินฟลูเอนเซอร์ทั้งที่เป็นดารานักแสดงและไม่ได้เป็นดาราหรือนักแสดงมาก่อนหันมาทำคอนเทนต์จนได้รับความนิยมเป็นอย่างมากจากผู้เสพสื่อ ซึ่งความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ทำให้แนวโน้มสื่อปี 2567 เผชิญกับความท้าทายในเรื่องของการทำคอนเทนต์ การรับมือกับอัลกอริทึมของโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มต่าง ๆ พฤติกรรมของผู้เสพสื่อ และบทบาทของปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หรือเอไอที่กลายเป็นประเด็นที่ทุกคนให้ความสนใจ

ย้อนกลับไปช่วงโควิดก็มีข้อดีคือทำให้คนหันมาสนใจรับรู้ข่าวสารเยอะขึ้นในมุมของทั้งเรทติ้ง เพจวิวเองหรือทราฟฟิกทั้งหลายดีหมดเลย แต่สิ่งที่ทำให้ต้องระวังตัวอย่างเร่งด่วนเลยคือดาราเซเลบริตี้ รวมถึงคอนเทนต์ครีเอเตอร์ใหม่ ๆ เกิดมากมาย ถ้าก่อนหน้านี้เรื่องส่วนตัวของดาราเราจะไม่เคยเห็นง่ายๆ แต่วันนี้ตัวเขากลายเป็นคอนเทนต์ ส่วนครีเอเตอร์รายใหม่ ๆ ก็ถือว่า Challenge กับเราเหมือนกัน

ด้วยเหตุนี้ การแข่งขันระหว่างสื่อมวลชน คอนเทนต์ครีเอเตอร์หน้าใหม่ และอินฟลูเอนเซอร์จึงทำให้ปี 2567 เป็นปีที่ท้าทายอย่างแท้จริง สื่อจำเป็นต้องปรับตัวอยู่ตลอด มีจุดยืนที่ชัดเจน และทำให้ผู้อ่านจำสื่อของเราให้ได้

ทุกสื่อต้องปรับตัวนะ เรารู้สึกว่า ปี 2566 เห็นผลเยอะมากโดยเฉพาะทีวี ที่เม็ดเงินในตลาดหดลงแล้วและไปเติบโตขึ้นที่ออนไลน์ แต่ออนไลน์เองภาพรวมที่เติบโตก็ไปโตในกลุ่มแพลตฟอร์มต่างประเทศ เฟซบุ๊ก กูเกิล ที่ไม่ใช่พับลิชเชอร์ไทย (Publisher) และอีกจุดที่น่าสนใจคือการเติบโตของอินฟลูเอนเซอร์ ซึ่งพับลิชเชอร์จะอยู่ยากขึ้นถ้าไม่หาตัวตนที่แท้จริง

รับมืออย่างไรเมื่อเม็ดเงินโฆษณาบนสื่อทีวีน้อยลง?

จากข้อมูลของนีลเส็นในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2566 ชี้ให้เห็นว่า งบโฆษณาสำหรับสื่อทีวีนั้น ลดลง 6% และหากดูแนวโน้มปี 2566 จนถึงปัจจุบันก็จะเห็นว่าทีวีดิจิทัลได้รับเม็ดเงินโฆษณาลดลง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความนิยมในการใช้งานหรือเสพสื่อของผู้บริโภคในปัจจุบัน เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้แล้ว ไทยรัฐรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างไร คุณปรางกล่าวว่า

สำหรับไทยรัฐ เราคือแมส (Mass) แล้วไทยรัฐออนไลน์เป็นแมสจริง ๆ ซึ่งคอนเทนต์มีตั้งแต่มหภาคไปจนถึงเฉพาะกลุ่ม แต่สิ่งที่เราปรับตัวคือการทำแบรนด์ย่อยที่สโคปดาวน์เจาะลงไปในกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ เพื่อให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคและในแง่ธุรกิจด้วย เราจะแมสอย่างเดียวไมได้ เพราะฉะนั้นสื่อในวันนี้จะต้องมีจุดยืน (Positioning) ให้ชัดเจนเพื่ออยู่รอดให้ได้ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน

ดังนั้นสิ่งที่ยากคือต้องหาจุดให้คนจำเราให้ได้ว่าเราเป็นใครแล้วเมื่อไรก็ตามที่คนต้องการคอนเทนต์นั้น เค้าจะเข้ามาหาคุณ สำหรับเรานึกถึงข่าวก็นึกถึงไทยรัฐ นั่นคือ Positioning ของเราที่แข็งแรง และการปรับตัวทั้งองค์กรให้ทันกับโลกที่เปลี่ยนเร็วจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ๆ

มอนิเตอร์คอนเทนต์แบบใด Fly หรือไม่ Fly ทุกแพลตฟอร์ม เพื่อปรับรูปแบบการนำเสนอ

นอกจากความชัดเจนในเรื่องของจุดยืนแล้ว คุณปรางยังได้เปิดเผยถึงกลยุทธ์ในการสร้างคอนเทนต์ที่ตอบโจทย์คนดูในแต่ละแพลตฟอร์มสื่อ รวมทั้งการมอนิเตอร์ฟีดแบคของผู้อ่านในแต่ละแพลตฟอร์มว่าเป็นอย่างไร เพื่อที่จะได้นำมาปรับปรุงรูปแบบการนำเสนอและการเขียนคอนเทนต์

เรามีทีมโซเชียลมีเดียที่เฝ้าในแต่ละแพลตฟอร์มโดยเฉพาะแล้วก็ทำคอนเทนต์เพื่อขึ้นแพลตฟอร์มนั้นโดยเฉพาะ ซึ่งต้องคอยมอนิเตอร์ตลอด เช่นปีที่แล้ว (2565) บนเฟซบุ๊กคลิปที่เป็นประเภทไวรัลมาแรง หมาแมวน่ารัก สัตว์แปลก กล้องวงจรปิดต่าง ๆ แต่ในปีนี้ (2566) ความสนใจในส่วนนั้นน้อยลง แต่เปลี่ยนมาเติบโตที่ข่าวการเมืองและสังคมแทน เพราะความเคลื่อนไหวของการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาล เมื่อความสนใจคนเปลี่ยน คอนเทนต์ก็ต้องเปลี่ยนตาม ถ้าเรามัวแต่ไปทำคอนเทนต์ไวรัล สุดท้ายแล้วก็จะสู้คนอื่นไม่ได้

จากนี้ไปกลยุทธ์ในการทำคอนเทนต์จะเป็นอย่างไร?

เมื่อความสนใจของผู้บริโภคเป็นสิ่งที่สำคัญและมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ การผลิตคอนเทนต์ให้เหมาะสมกับรูปแบบการเสพคอนเทนต์ในแต่ละแพลตฟอร์มก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน จากจุดนี้แทบจะทุกสื่อมีแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเป็นของตัวเอง และเรียนรู้ในเรื่องแพลตฟอร์มสื่อเพื่อเอาตัวรอดจากยุคดิสรัปชันกันไปแล้ว จากนี้ไปกลยุทธ์ในการทำคอนเทนต์จะเป็นอย่างไร?

คุณปรางกล่าวว่าถ้ามองเรื่องกลยุทธ์หลาย ๆ เจ้าอาจจะคล้าย ๆ กัน ก็คือว่าเราต้องเรียนรู้คนดูในแต่ละแพลตฟอร์มจริง ๆ ซึ่งเป็นเหมือนแฮนด์บุ๊กที่ทุกคนก็คงทำตามแบบนั้น ซึ่งแต่ละแพลตฟอร์มจะมีแฟนทาร์เก็ตค่อนข้างชัดเจนและชัดมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วย

แต่ตอนนี้ Insights ที่พบคือมีความแตกต่างกันในแง่ของการบริโภค ประเภทของคอนเทนต์ ความสั้นยาว และเทคนิคการเล่าเรื่อง ในเฟซบุ๊กคนชอบแบบหนึ่ง มีนิสัยแบบหนึ่ง ความสนใจสั้น ในขณะที่พอเป็นยูทูบก็จะมีคาแรกเตอร์อีกแบบหนึ่ง ชอบเสพคอนเทนต์อีกลักษณะ มีเวลาให้เรานานกว่าในแต่ละคลิป พอเรารู้ว่าผู้รับชมต่างกันเราก็จะเลือกหยิบของรสชาติปรุงแต่งที่ต่างกันใส่เข้าไป ส่วนแฮนด์บุ๊กในติ๊กต๊อกคือสั้นและต้องใช้อินฟลูเอนเซอร์เดินเรื่อง จะเป็นผู้ประกาศหรือผู้สื่อข่าวก็แล้วแต่เนื้อหา จะเพอร์ฟอร์มดีบนได้บนติ๊กต๊อก สั้นๆ คือต้องเป็นแนวตั้ง เห็นหน้าคนเดินเรื่อง Hook ให้อยู่ใน 3 วินาทีแรก

คุณปราง กล่าวต่อไปถึงเอ็กซ์ (X หรือทวิตเตอร์) ว่า เอ็กซ์ยังคงเป็นคอมมูนิตี้ที่คุยกันในแง่ของไลฟ์คอนเทนต์มาก ๆ เน้นเหตุการณ์สด ๆ ทวีตทันท่วงที อย่างวันนี้ (วันที่สัมภาษณ์) มีหยิ่น-วอร์มาที่ตึกไทยรัฐ เขาก็จะมีคอมมูนิตี้ของเขาผ่านแฮชแท็กแล้วก็ทวิตไปกับกลุ่มคอมมูนิตี้เค้า ซึ่งสำหรับงานข่าวก็คือเร็ว สั้น เมื่อไรที่เกิดกระแสเรื่องใดเรื่องหนึ่งขึ้นมาเราก็จะใช้แฮชแท็กนั้น เอ็กซ์กับติ๊กต๊อกใช้เจาะในแง่คอมมูนิตี้กลุ่มแฟนเพื่อโปรโมต และสร้าง Engagement ให้ไทยรัฐออนไลน์และไทยรัฐทีวี

โปรดักส์เราคือคอนเทนต์ พอเราจะโปรโมตโปรดักส์เราก็ต้องทำคอนเทนต์ใส่เข้าไป เหมือนการทำ A/B Testing เหมือนวิธีการของสายเทค เราจะทดสอบว่าปล่อยคอนเทนต์ลักษณะไหน Fly คอนเทนต์แบบไหนที่ไม่ Fly ต้องทดลองไปเรื่อย ๆ จนเจอ อันไหนดีเราก็จะเริ่มเทสรรพกำลังไปทิศทางนั้น แต่ก็วางใจไม่ได้ ต้องเฝ้าตลอดเหมือนกันเพราะความสนใจคน และอัลกอริทึมเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ดังนั้นต้องเฝ้า data ทุกแพลตฟอร์ม

ติ๊กต๊อก – อินสตาแกรมติดโผแพลตฟอร์มมาแรง แต่เฟซบุ๊กและยูทูบยังสำคัญในแง่ของการสร้างรายได้

หากจะเจาะลงไปในแต่ละประเภทของโซเชียลมีเดียแล้ว ติ๊กต๊อก (TikTok) ยังคงเป็นแพลตฟอร์มที่มาแรงโดยตลอด ขณะที่อินสตาแกรมก็กลับมาได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้น คุณปราง เปิดเผยว่า ยอดดีทุกแพลตฟอร์ม แต่ถ้าในแง่ของการเติบโต (Growth) ติ๊กต๊อกมี Growth ดี ซึ่งสำหรับทุกพับลิชเชอร์และทุกสถานี ติ๊กต๊อกทำหน้าที่สร้างการรับรู้ (Awareness) และการมีส่วนร่วม (Engagement) สร้างสัมพันธ์กับคอมมูนิตี้ ให้คนในนั้นรู้จักไทยรัฐ ส่วนการ Monetization ยังไม่มีทิศทางที่ชัดเจนจากแพลตฟอร์ม ซึ่งคาดว่าติ๊กต๊อกน่าจะต้องการหารายได้ผ่านคอมเมิร์ซแพลตฟอร์มจริงจัง ไม่เหมือนกับเฟซบุ๊กและยูทูบที่อยู่ตัวแล้ว มี Monetization Model ชัดเจน ดังนั้นเราต้องรู้ Objective เพื่อให้เราทุ่มกับแต่ละแพลตฟอร์มมากน้อยแค่ไหน อย่างไร

ในด้านส่วนแบ่งรายได้จากแพลตฟอร์มที่ไม่นับรวมค่าโฆษณาโดยตรงจากการที่ลูกค้าซื้อกับบริษัทฯ หลัก ๆ ยังคงเป็นยูทูบและเฟซบุ๊ก ส่วนติ๊กต๊อกจะ Growth ในแง่ของยอดวิว แต่ละแพลตฟอร์มมีการเปลี่ยนอัลกอริทึมบ่อย ก็ทำให้เราเป๋ ๆ ไปบ้างเหมือนกัน จึงเป็นเหตุให้ต้องเฝ้า Performance ตลอด

โปรดปราน หมื่นสุกแสง เจ้าหน้าที่บริหารสานงานกลยุทธ์และการตลาด (Chief Marketing Officer หรือ CMO) ไทยรัฐทีวี (บริษัท ทริปเปิล วี บรอดคาสท์ จำกัด) และไทยรัฐออนไลน์ (บริษัท เทรนด์ วีจี 3 จำกัด)

คุณปราง กล่าวต่อไปว่า อินสตาแกรมเป็นแพลตฟอร์มที่เติบโตมากในช่วงนี้ ในขณะที่เฟซบุ๊กนิ่ง ๆ คาดว่าสาเหตุที่มาแรงนั้น นอกจากการปรับอัลกอริทึมแล้ว อีกส่วนคือพฤติกรรมคนเปลี่ยน เด็กรุ่นใหม่จะรู้สึกว่าเฟซบุ๊กมีแต่เจนเอ็กซ์ เบบี้บูมเมอร์ น้อง ๆ ก็เลยจะไปอยู่บนทวิตเตอร์ ติ๊กต๊อก หรืออินสตาแกรมแทนที่ส่วนใหญ่เป็นเจนวาย และเจนซี

เราต้องปรับตัวและเฝ้าตลอดเวลา การปรับเปลี่ยนอัลกอริทึมและนโยบายของแพลตฟอร์มทำให้เป็นงานค่อนข้างหนักสำหรับทีมงานในการเฝ้าระวัง พอเห็นว่าตัวเลขเริ่มลดลงทั้ง ๆ ที่คอนเทนต์เหมือนเดิม ทีมต้องตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้น ต้องเจาะ Insights data เพื่อเอามาปรับการทำงาน

อาศัยศาสตร์และศิลป์ผสานรวมวิทยาศาสตร์วิเคราะห์กระแสความสนใจผู้บริโภค

อีกกลยุทธ์ที่ไทยรัฐให้ความสำคัญ คือ การใช้ดาต้า การมอนิเตอร์และวิเคราะห์ข้อมูล คุณปรางกล่าวว่า ในทุกโซเชียลมีเดียจะมีศาสตร์และศิลป์ของมันอยู่ ต้องมีคนที่เป็นนักวิเคราะห์ข้อมูล คอยเฝ้าดู และต้องเข้าใจคอนเทนต์ด้วย เราแบ่งประเภทคอนเทนต์ละเอียด เพื่อให้สามารถจัดการ อ่านข้อมูลตัวเลข แปลผลได้ชัดเจน ไทยรัฐฟอร์มทีม Data Analysis ขึ้นมาทำหน้าที่วิเคราะห์ความสัมพันธ์ของคอนเทนต์ Performance และรายได้ ประเภทไหนคนดูเยอะ ประเภทไหนสร้างรายได้ดี คนดูสั้นหรือยาว ต้องผลิตวีดีโอกี่นาทีจึงจะเหมาะสม เป็นต้น ตัวเลขพวกนี้เราต้องนำไปคิดวิเคราะห์หมด

คุณปรางเล่าว่า Data Team จะใช้ API ดึงข้อมูลหลังบ้านจากแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น เฟซบุ๊กกับยูทูบ ซึ่งจะวิเคราะห์ได้ค่อนข้างละเอียด เห็นเป็นรายนาทีว่าคนดูมากขึ้น-ลดลงตรงไหน เหมือนที่เราดูเรทติ้งทีวี คนดูปิดทีวี คนดูเปลี่ยนช่อง หรือคนดูไต่ระดับขึ้น แล้วย้ายจากช่องโน้นช่องนี้มาดูในนาทีนั้นนาทีนี้…

ในทุกวันนี้ เราทำงานโดยใช้ใจใช้อารมณ์อย่างเดียวไม่ได้ ต้องมี Data เข้ามาประกอบ แต่ก็ต้องมีสมดุลที่ดี ซึ่งกลยุทธ์นี้ส่งผลดีมาก เราสามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์ คนดูเราแล้วไถผ่านไปเลยก็ต้องรู้ว่าเพราะอะไร วิธีการตัดวิดีโอต้องแก้ยังไง หน้าปกต้องปรับหรือเปล่า เหล่านี้เป็นการ Learning By Doing ที่ใช้ข้อมูลมาประกอบการเปลี่ยนแปลง

ส่องกลยุทธ์การทำคอนเทนต์ในปี 2567

ด้วยความที่ไทยรัฐมีจุดแข็งของ Brand Positioning และกองบรรณาธิการที่สำคัญมาก ๆ ทั้งสื่อหนังสือพิมพ์ ออนไลน์ โซเชียลมีเดีย และทีวี จากกระแสคลื่นคอนเทนต์ครีเอเตอร์หน้าใหม่ที่ดาหน้าเข้ามาในวงการสื่อและคอนเทนต์แล้วไทยรัฐปรับตัวกับเรื่องนี้อย่างไร

คุณปราง กล่าวว่า ทีมงานก็หนักหนาสาหัสเหมือนกันในการคิดว่าจะไปต่อกับเรื่องนี้ยังไง สำหรับการทำวิดีโอ นอกจากทำเรื่องข่าวแล้ว คอนเทนต์อื่น ๆ เราจะสู้ด้วยกระบวนไหน ผนวกกับอีกโจทย์ใหญ่คือการรวมกันทำงานของทั้งกองทีวี กองหนังสือพิมพ์แล้วก็กองออนไลน์ เราต้องไปด้วยกันแล้ว ณ วันนี้ เพราะนั่นคือจุดแข็งของเราคือเรามีครบทั้ง 3 สื่อ

ทุกวันนี้ผู้บริโภคยังอ่านหนังสือพิมพ์อยู่ การลงหนังสือพิมพ์ตอบความน่าเชื่อถือ เพราะผ่านการกระบวนการเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาข่าวหรือโฆษณาก็ตาม และกระจายทั่วประเทศ ดังนั้น หนังสือพิมพ์จึงมีจุดแข็ง แต่ก็มีจุดอ่อนคือเข้าถึงคนรุ่นใหม่ ๆ น้อยลง ซึ่งไทยรัฐมีสื่อทีวีและออนไลน์ที่เข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ สร้างการรับรู้และรีช (Reach) ไปทั่วประเทศ ถ้าวิเคราะห์กันตามหลักการว่าเราแกร่งอะไร เราด้อยอะไรในแต่ละสื่อแล้วเอามาเติมเต็มซึ่งกันและกัน ไทยรัฐคือสื่อที่แข็งแกร่งขึ้นมาทันทีเมื่อเราพบว่าจุดอ่อนไหนปิดได้ด้วยจุดแข็งของอีกสื่อหนึ่งหรืออีกวิธีการหนึ่งนั่นเอง

คุณปรางกล่าวต่อไปว่า ปีหน้าชาเลนจ์ (Challenge) ใหญ่ของไทยรัฐคือการเดินทางไปเป็นไทยรัฐกรุ๊ป เราจะทำโปรเจกต์ใหม่ ๆ ในนามของกรุ๊ปเพิ่มขึ้น จะได้เห็นการทำงานที่ทีมทีวีทำงานร่วมกับกองบรรณาธิการออนไลน์และร่วมกันกับพี่ ๆ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ โปรเจกต์แบบนี้จะเกิดขึ้นเยอะขึ้นในปีหน้า รวมถึงอีกโฟกัสของเราคือเรื่องของความยั่งยืน (Sustainability) ที่ไทยรัฐกรุ๊ปเดินหน้าเต็มตัวในคอนเซ็ปต์ “Future Perfect”

ไทยรัฐมองอย่างไรกับบทบาทของ AI

ปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ (AI) ได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับวงการสื่อ ซึ่งถูกตั้งคำถามว่า เอไอจะเข้ามาทำงานแทนจนทำให้สื่อมวลชนตกงานกันหรือไม่ “ไทยรัฐ” ในฐานะสื่อชั้นนำของไทยมีมุมมองอย่างไรต่อเอไอ คุณปรางเปิดเผยว่า จุดเริ่มต้นที่ทำให้ไทยรัฐเริ่มให้ความสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีนั้นเกิดขึ้นเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยตอนนั้นไม่ได้เป็นเอไอ แต่เป็น Machine Learning ที่ทำหน้าที่แนะนำคอนเทนต์สำหรับผู้ที่เข้ามาอ่านข่าวบนเว็บไซต์

โดยในช่วงแรก ๆ ของการใช้งานอัลกอริทึมนั้นไทยรัฐใช้โซลูชัน (Solution) จากต่างชาติรายใหญ่ ๆ ซึ่งมีทั้งที่สร้าง CTR Performance ได้ดีและไม่ดี เมื่อเราต้องการให้ Performance ดีขึ้น แต่โซลูชันต่างชาติไม่ตอบโจทย์ ไทยรัฐจึงเลือกที่จะพัฒนาอัลกอริทึม Recommendation ใช้งานภายในเครือกันเอง เพราะไทยรัฐมีทีมโปรดักต์ที่ติดตามเทรนด์เทคโนโลยีโลกอยู่แล้ว

เรามีทีมเทคกับทีมโปรดักต์ที่ทำงานเหมือนบริษัทเทคอื่น ๆ เขาใช้ Collaboration Tools ทำงาน ออกฟีเจอร์เป็นรอบสปรินต์ ทำ A/B test มีทีม UI/UX รวมถึง Research ที่จะทำให้เราสามารถปรับเปลี่ยน Web Product Features ได้ทันท่วงที

เมื่อทางทีมได้ลองรันระบบที่ไทยรัฐพัฒนาขึ้นเองแล้วเปรียบเทียบกับระบบของต่างประเทศ เพื่อดูว่าอัลกอริทึมใดแนะนำคอนเทนต์ได้ดีกว่าโดยวัดจากอัตราการคลิก ซึ่งปรากฏผลลัพธ์ค่อนข้างชัดว่าระบบที่ไทยรัฐพัฒนาเองดีกว่า ไทยรัฐจึงเริ่มพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ ๆ ไปจนถึงเอไอด้วย

“เราก็ต้องก็เรียนรู้ไปพักนึงแบบปล่อยไปสักเดือนสองเดือนก็จะเห็นความต่างค่อนข้างชัด ก็เลยบอกว่างั้นเลิกใช้ของฝรั่งไม่ต้องไปจ่ายเงินเขาแล้ว” คุณปราง กล่าว

ความคิดเห็นเกี่ยวกับการใช้ AI ช่วยเขียนข่าวหรือสร้างคอนเทนต์

เมื่อไทยรัฐให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีขนาดนี้แล้ว คุณปรางมีความคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับการใช้เอไอช่วยในการเขียนข่าวหรือสร้างคอนเทนต์ คุณปราง กล่าวว่า ไทยรัฐก็มีทดลองใช้เอไอเขียนข่าวอยู่บ้าง

การใช้ AI มีข้อควรระวัง โดยเฉพาะในการเอาเอไอมาทำงานข่าว เราไม่สามารถไว้ใจได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ มันอยู่ที่การ tuning ค่า Chaos

… สมมุติเอไอโมเดลที่หนึ่งทำหน้าที่เขียนข่าวบันเทิง เอไอก็สามารถใส่สีสันอะไรเข้าไปได้ ใส่คาแรกเตอร์ของน้ำเสียงการเขียนข่าวเข้าไปได้ เช่น สมมุติเราต้องการให้เขียนข่าวออกมาเหมือนวิธีการที่พี่แจ็คเกอรีนพูด แปลว่าเราต้องสอนเอไอก่อนว่าพี่แจ็คเกอรีนมีคำสร้อยอะไร พูดประโยคแบบไหน จังหวะเป็นยังไง แล้วเราเพียงใส่ข้อมูล Fact เข้าไปให้มัน Generate ออกมาเป็นข่าว ซึ่งเป็นเรื่องที่กำลังศึกษาและทดลองกันอยู่” คุณปรางกล่าว

หากเจาะไปที่ Generative AI (GEN AI) หรือปัญญาประดิษฐ์แบบรู้สร้างด้วยแล้ว มุมมองของคุณปรางที่มีต่อเจ็น เอไอ สะท้อนให้เห็นถึงประโยชน์จากการใช้เอไอภายใต้การควบคุมดูแลของมนุษย์  

จริงๆ แล้วเจ็น เอไอ (GEN AI) เหมาะกับคอนเทนต์โพรไวเดอร์ คอนเทนต์ครีเอเตอร์นะ โดยเอไอจะมา serve ให้เราทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น เอไอช่วยนักข่าวถอดคลิปเสียงได้ ไม่ต้องกลับไปนั่งฟังนั่งพิมพ์ถอดความ ทำให้นักข่าวประหยัดเวลาลงได้อย่างมาก และเอาเวลาไปโฟกัสกับการรีไรท์ ปรับเนื้อหาให้ดีขึ้นไปอีก

ปัจจุบันไทยรัฐได้พัฒนาตัวช่วยในการถอดคลิปเสียงเพื่อใช้งานกันเองภายใน โดยคลิปหนึ่งชั่วโมงเอไอสามารถประมวลเสร็จได้ภายในระยะเวลาไม่กี่วินาที ออกมาเป็นทรานสคริปต์พร้อมไทม์สแตมป์ (Time Stamp) นักข่าวแค่รีเช็คเท่านั้น ไม่ต้องเสียเวลาพิมพ์ใหม่

“กำลังอยู่ในช่วงทดลองกันอยู่ว่าจะทำออกมาได้เปอร์เซ็นต์ความถูกต้องกี่มากน้อย เพื่อเริ่มเอามาใช้จริงกับกองบรรณาธิการ” คุณปราง กล่าว

นอกจากเอไอจะเป็นประโยชน์กับผู้ใช้งานแล้ว ในมุมของลูกค้าอย่างแอดเวอร์ไทเซอร์ เองก็ได้ประโยชน์ด้วย โดยคุณปรางได้ให้แง่มุมที่น่าสนใจไว้ว่า

เมื่อลูกค้าบรีฟทีมครีเอทีฟมา ปกติแล้วเราก็ต้องคิดเลย์เอาต์ออปชันให้ลูกค้าเพื่อให้ลูกค้าไปเลือกไดเร็กชันต้องการ ปกติแล้วต้องออกแบบเองทั้งหมด ซึ่งใช้เวลามาก เมื่อเราเอา เอไอมาปรับใช้ ก็จะสามารถสร้างออปชันได้มากขึ้นและเร็วขึ้นนั่นเอง เช่น ออกแบบไดเร็กชันสนุก ไดเร็กชันการ์ตูน หรือไดเร็กชันแอ็บสแตร็ก ทั้งหมดนี้จะสะดวกรวดเร็วขึ้น และยังมีความหลากหลายให้ลูกค้าได้มากขึ้นอีกด้วย ซึ่งหลังจากเลือกแล้วเราก็นำไปพัฒนาต่อ

ทำงานได้มากขึ้นในเวลาเท่าเดิม

คุณปรางเปิดเผยว่า เอไอจะช่วยย่นย่อประหยัดเวลา แต่ไม่ได้หมายความว่าครีเอทีฟจะไม่มีหน้าที่แล้ว เพราะในกรณีนี้ เอไอมาเป็นเครื่องมือให้สร้างออปชันได้เยอะขึ้น ส่วนคนก็มีหน้าที่เอาไปพัฒนาต่อให้เป๊ะขึ้น

“ไม่ได้หมายความว่าจะตกงาน แต่มันคือโอกาสที่คุณจะทำงานเก่งขึ้นด้วยซ้ำ ครีเอทีฟจะได้มีทางเลือกให้ลูกค้ามากขึ้น จากเดิมด้วยเวลาที่จำกัดอาจจะสร้างได้ 3 ออปชัน ซึ่งถ้าใช้เอไอ ก็อาจจะกลายเป็น 10 ออปชันได้ ซึ่งเมื่อเลือกไดเรกชันแล้ว ก็จะมาถึงหน้าของหน้าที่ของคนแล้ว เรียกว่า AI draft. Human craft. เอไอจะดราฟต์ขึ้นมาให้คนไปคราฟต์งานออกมาให้มันดีที่สุด” คุณปราง กล่าว

คุณปราง กล่าวต่อไปว่า ดังนั้นถ้าคุณไม่เข้าใจเอไอ ก็จะทำให้กลัวว่ามันจะมาแทนที่คน จะอ่านข่าวแทนเรา จะเขียนข่าวแทนเรา แต่ถ้าลองทำความเข้าใจ ศึกษาเครื่องมือ (Tools) ต่าง ๆ ซึ่งจริง ๆ แล้วจะพบว่าเอไอมาช่วยเราให้เราทำงาน Effective & Efficient มากขึ้นต่างๆ ซึ่งก็จะทำให้เราเก่งขึ้นด้วย

เอไอที่กำลังซุ่มพัฒนา

นอกเหนือจากตัวไทยรัฐเองและลูกค้าแล้ว ผู้อ่านก็ควรต้องได้ประสบการณ์ที่ดีขึ้นเมื่อไทยรัฐหยิบเอไอมาใช้ด้วย ปัจจุบันไทยรัฐกำลังพัฒนาเอไอที่จะเป็นผู้ช่วยเรื่องข่าวให้กับผู้บริโภค ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงทดสอบ (Proof Of Concept) โดยร่วมมือกับค่ายเทคยักษ์ใหญ่ทางเอไอ

โปรดปราน หมื่นสุกแสง เจ้าหน้าที่บริหารสานงานกลยุทธ์และการตลาด (Chief Marketing Officer หรือ CMO) ไทยรัฐทีวี (บริษัท ทริปเปิล วี บรอดคาสท์ จำกัด) และไทยรัฐออนไลน์ (บริษัท เทรนด์ วีจี 3 จำกัด)

ตอนนี้เวิร์คกับพาร์ทเนอร์ว่าเราจะทำยังไงเพื่อให้มันมีเซอร์วิสเอไอดี ๆ สำหรับยูสเซอร์หรือคนอ่านของเรา

นอกจากนี้ ไทยรัฐยังมีแผนที่จะใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อช่วยเรื่อง User Experience ให้ครอบคลุมไปถึงคนตาบอดหรือมีปัญหาในการมองเห็น รวมไปถึงการสร้างฟีเจอร์ใหม่ ๆ ที่จะตอบโจทย์ผู้บริโภคที่หลากหลาย ผ่านการวิเคราะห์ Data Insights เพื่อนำเสนอให้คนไทยได้เสพคอนเทนต์อย่างสะดวกสบายอีกด้วย

Topics