สำรวจทีวีดิจิทัลไทยและแฟนด้อมปี 2567 ไปกับ "คุณบอย" ถกลเกียรติ วีรวรรณ ซีอีโอกลุ่มเดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์
- มกราคม 9, 2567
- 13:52 น.
เปิดศักราชปี 2567 ด้วยบทสัมภาษณ์เจาะลึกกับ “คุณบอย” ถกลเกียรติ วีรวรรณ ประธานกรรมการบริหารและซีอีโอ กลุ่มบริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) เผยมุมมองด้านสื่อทีวีดิจิทัลที่มีการปรับตัวให้เหมาะกับยุคสมัยที่ผู้ชมเลือกดูคอนเทนต์แบบกระจายไปตามแพลตฟอร์มสื่อต่าง ๆ การผลิตคอนเทนต์จึงต้องทำให้ตอบโจทย์มากกว่าการรับชมแค่หน้าจอทีวี รวมถึงการทำไอดอลหรือแฟนด้อมมาร์เก็ตติ้งให้สอดคล้องกับความต้องการของแต่ละคอมมูนิตี้โดยเฉพาะ
เมื่อผู้ชมกระจายตัว ทีวีดิจิทัลต้องปรับตาม
ผมว่าในยุคปัจจุบันนะครับ นานทีปีหนที่จะมีอะไรออกมาสักเรื่องนึงแล้วแบบ โอ้โห! บ้าคลั่งกันทั้งประเทศ เพราะทุกวันนี้มัน Segmented Target group มากขึ้น
คุณบอย กล่าว
อย่างไรก็ดี คุณบอยมองว่านี่เป็นความโชคดีของกลุ่ม เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ เพราะบริษัทวางตำแหน่งตัวเองเป็น “คอนเทนครีเอเตอร์” ไม่ใช่แค่ช่องทีวี แม้คนจะดูทีวีน้อยลง แต่คนก็ยังดูคอนเทนต์อยู่ ดิจิทัล ดิสรัปชัน จึงเป็นโอกาสให้ทำคอนเทนต์ออกสู่สายตาประชาชนได้หลากหลายช่องทางมากขึ้น
ถามว่าแล้วคนยังดูคอนเทนต์อยู่มั้ย? ...ดู คนยังดูละครอยู่มั้ย?...ดู ดูซีรีส์อยู่มั้ย?...ดู แต่อาจจะไม่ดูผ่านทีวี อาจจะดูผ่านสตรีมมิ่ง ดูย้อนหลังตามเวลาที่เขาอยากจะดูก็ได้นะครับ
คุณบอย กล่าว
ในด้านการผลิตคอนเทนต์นั้น คุณบอยแยกแยะความแตกต่างระหว่างคอนเทนต์ที่ “มีกระแส” กับ “มีคนดูเยอะ” โดยคอนเทนต์ที่มีกระแสไม่ได้แปลว่ามีคนดูเยอะ และคอนเทนต์ที่มีคนดูเยอะก็ไม่ได้แปลว่ามีกระแสเช่นกัน
ดังนั้น คอนเทนต์สองประเภทนี้ต้องใช้แนวทางในการทำคอนเทนต์กันคนละรูปแบบ นอกจากนี้ คุณบอยยังได้ตอกย้ำถึงความสำคัญของการทำคอนเทนต์ให้ตอบโจทย์ผู้ชม โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่คนดูแบ่งกลุ่มแยกย่อยมากขึ้นเรื่อย ๆ
เพราะฉะนั้น ในการดำเนินธุรกิจของเรา เราก็ต้องโฟกัสในสิ่งนี้ เราทำคอนเทนต์ให้ดี แต่ว่าก็ต้องไปฉายอยู่ในช่องทางที่ถูกต้องตรงตามทาร์เก็ตกรุ๊ปด้วย แต่ละกลุ่มเป้าหมายก็จะมีช่องทางในการรับชมของเขาเอง"
ด้วยแนวคิดนี้ ทางช่องวันจึงพยายามเน้นเจาะกลุ่มคนดูย่อย ๆ ให้ได้หลาย ๆ กลุ่ม โดยมีทั้งแบ่งกลุ่มคนดูตามช่วงเวลาออกอากาศ เช่น ทำละครฉายวันจันทร์-ศุกร์ ช่วงหนึ่งทุ่มสำหรับคนดูกลุ่มหนึ่ง และช่วงสองทุ่มครึ่งสำหรับคนดูอีกกลุ่มหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีการแบ่งกลุ่มคนดูระหว่างผู้ที่อยู่ในชนบทกับในเมือง เพื่อทำคอนเทนต์ออกมาให้แตกต่างกัน
เราก็จะมีทั้งละครที่ Super Mass ทั่วประเทศ Rural-based มีเพลงลูกทุ่งเข้ามาอะไรต่าง ๆ ขณะเดียวกันก็จะมีแบบคนเมืองดู มีความโมเดิร์นขึ้นมา มีความ Edgy ขึ้นมาเล็กน้อย
คุณบอย กล่าว
แต่ไม่ว่าจะแบ่งแบบไหน คุณบอยกล่าวว่า ก็ต้องสร้างตัวละครที่คนดูในปีพ.ศ.นี้สามารถเชื่อมโยงด้วยได้ คือดูแล้วเชื่อได้ว่ามีคนแบบนี้อยู่บนโลก
สำหรับอนาคตของทีวีดิจิทัลไทยต่อจากนี้ คุณบอยมองว่า ละครโทรทัศน์ที่ตั้งใจทำมาเพื่อฉายแค่โทรทัศน์จะน้อยลง แต่อาจจะไปแข่งกันในแพลตฟอร์มอื่น ๆ มากขึ้น ส่วนแผนรับมือของช่องวันในกรณีใบอนุญาตทีวีสิ้นสุดในปี 2572 นั้น คุณบอยกล่าวว่าขึ้นอยู่กับกฎกติกาที่กสทช. จะออกมาในภายภาคหน้า แต่ขอให้กฎกติกาดังกล่าวสอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในแต่ละยุค
ผมเรียกทีวีว่าสื่อของชาตินะ เพราะช่องทีวีดิจิทัลแทบจะเป็นสื่อเดียวที่ต้องมีไลเซนส์ ต้องตรวจสอบ ต้องมีการเซ็นเซอร์ตามที่กฎกติกากำหนด เพราะฉะนั้นกฎกติกาที่ออกมา จำเป็นมากที่จะต้องสอดคล้องกับแต่ละยุค ถ้าเกิดพูดถึงในอีก 6-7 ปีข้างหน้า ก็ต้องดูว่ามันจะสอดคล้องกันยังไง
คุณบอย กล่าว
มีคอนเทนต์เป็นตัวตั้ง ไม่ยึดติดแค่ทีวี พัฒนาสู่ oneD Original
เมื่อเม็ดเงินโฆษณา ซึ่งเป็นรายได้หลักของอุตสาหกรรมทีวี ค่อย ๆ หดตัวและมีแนวโน้มจะลดลงต่อไป แผนรับมือของ กลุ่ม เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จึงเป็นการไม่ยึดโยงอยู่แค่ทีวี แต่มีการกระจายธุรกิจโดยยึดคอนเทนต์เป็นแกนกลาง
คุณบอยยืนยันว่า เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ ไม่ใช่แค่ช่องทีวี แต่เป็น “คอนเทนต์ครีเอเตอร์” ที่ทำธุรกิจทีวีด้วย นั่นหมายความว่า บริษัทเน้นสร้างคอนเทนต์ให้คนชื่นชอบเพื่อนำไปต่อยอดสร้างรายได้หลากหลายช่องทาง เมื่อคนชอบคอนเทนต์ ก็มักจะชื่นชอบดารานักแสดงด้วย ซึ่งนำไปสู่รายได้จากการบริหารศิลปิน เช่น การจัดคอนเสิร์ต, อีเวนต์, แฟนมีต เป็นต้น
คือถ้าไปดูสัดส่วนของกำไร-รายได้แรกเริ่มของบริษัทเราเลย เรียกว่า 95% มาจากเม็ดเงินโฆษณาในทีวีเมื่อประมาณปี 2015 แต่พอมาตอนนี้ถ้าตามสัดส่วน 50% มาจากโฆษณาทีวี แต่ทำไมตัวเลขเราโตขึ้นเยอะล่ะ? มันก็คือแปลว่าเราสามารถหารายได้จากหลาย ๆ ช่องทางที่เกิดขึ้นในโลกปัจจุบัน
คุณบอย กล่าว
นอกจากนี้ คอนเทนต์ยังสามารถนำไปต่อยอดหารายได้ด้วยการขายสินค้า (Merchandise) จากคอนเทนต์นั้น ๆ อีกด้วย เช่นในกรณีของ “เป็นต่อ ดริ๊งค์” ที่นำซิตคอมยอดฮิตในเครืออย่างเรื่อง “เป็นต่อ” มาแตกไลน์ธุรกิจเครื่องดื่มฟังก์ชันนัลดริงก์
“คือด้วยซิตคอม ‘เป็นต่อ’ มันอยู่มานานแล้ว พอเราทำการรีเสิร์ชว่า พอพูดถึง ‘เป็นต่อ’ นึกถึงอะไร หลายคนก็จะพูดว่านึกถึงปาร์ตี้ นึกถึงออฟฟิศ เพราะฉะนั้นเราก็เลยคิดว่า เอ๊ะ! มันมีสินค้าอะไรที่จะสามารถตอบโจทย์ทั้งคนที่อาจจะ Work hard, Play harder แล้วชื่อมันก็คือเป็นต่อนะฮะ เวลาปาร์ตี้ เวลาเที่ยวเล่น เขามีความเป็นต่อยังไง กับสาว ๆ กับกลุ่มเพื่อน หรือเวลาทำงานเขามีความเป็นต่อยังไง เราก็เลยนึกถึงเครื่องดื่มที่ดื่มแล้วมันสดชื่น ให้ความเป็นต่อ แต่เราไม่ได้จะทำเครื่องดื่มชูกำลังนะครับ เราก็คิดกันประมาณว่า ‘ไปต่อได้ด้วยเป็นต่อ’ “
แผนรับมือล่าสุดเมื่องเม็ดเงินโฆษณาทีวีลดลง
นอกจากที่กล่าวมาแล้ว แผนรับมือล่าสุดกับประเด็นเรื่องเม็ดเงินโฆษณาทีวีลดลงก็คือ คือการเปิดตัว “oneD Original”
ถ้าตรงทีวีเม็ดเงินมันน้อยลง ผมว่าเราก็ต้องคิดคอนเทนต์ที่มันสามารถไปอยู่ในตรงอื่นได้ ปัจจุบันเรามีแอปพลิเคชันoneD ซึ่งเป็นสตรีมมิ่งแพลตฟอร์ม ที่สามารถดูรายการของทั้งช่องone31 และ GMM25 หรือเอาละครที่เราฉายไปแล้วมาให้ดูย้อนหลัง ซึ่งมีผู้ใช้งานที่มีอยู่ประมาณ 18 ล้านราย หรือคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 4 ของประชากรไทยทั้งประเทศ โดยในปี 2567 เราจะโฟกัสเรื่องของแอปพลิเคชันoneD มากขึ้น สร้างให้เป็นแอปพลิเคชันที่มีคอนเทนต์ที่คนจะอยากมาดูกันมากขึ้น เราจะมีคอนเทนต์ซีรีส์ที่เรียกว่า oneD Original
คุณบอย กล่าว
“คือก่อนหน้านี้ เราทำละครโทรทัศน์มุ่งเน้นโฟกัสให้คนมาดูที่โทรทัศน์ ถ้าดูไม่ทันก็ไปดูย้อนหลัง แต่ oneD Original ก็มีฉายในโทรทัศน์เหมือนกัน แต่เราจะมุ่งเน้นโฟกัสให้คนมาดูที่แอปพลิเคชันแบบ Anytime, anywhere” คุณบอย กล่าว
แฟนด้อม 2567 – ด้อมใคร ด้อมมัน "ไม่รู้จักก็ไม่ผิด รู้จักก็ไม่ผิด"
คุณบอยกล่าวว่า บริษัทได้อาศัยพลังของแฟนด้อมในการทำธุรกิจ โดยเฉพาะซีรีส์วัยรุ่นของทาง GMMTV ที่ได้กลุ่มแฟนคลับนักแสดงที่ช่วยกันส่งเสียงทางโซเชียล เพื่อให้ซีรีส์นั้น ๆ เป็นที่รู้จักในวงกว้าง
อย่างไรก็ดี เช่นเดียวกับปรากฏการณ์คนดูกระจายตัวตามสื่อต่าง ๆ วงการแฟนด้อมเองก็มีการกระจายตัวเช่นกัน โดยแต่ละด้อมก็จะมีกลุ่มเป้าหมายของใครของมันอย่างชัดเจน จึงเป็นไปได้ว่าดารานักแสดงที่ดังมากในหมู่คนกลุ่มหนึ่ง อาจจะไม่เป็นที่รู้จักของคนอีกกลุ่มก็ได้
วันก่อนผมไปงานงานหนึ่งนะครับ ก็โอ้โห เซเลบริตีเต็มไปหมด คนไปงานก็ประมาณเกือบ 500 คน แล้วก็มีนักแสดงเกาหลีคนหนึ่งไป ก็จะมีกลุ่มคนที่กรี๊ดกร๊าดมาก แบบแทบจะเป็นลม แต่อีกกลุ่มก็ ‘เค้าคือใครอะ? ไม่รู้จัก’ มันชัดมากเลย คือ Target segmented มันแบ่งแยกกันมาก เพราะฉะนั้นไม่รู้จักก็ไม่ผิด รู้จักก็ไม่ผิด
คุณบอย กล่าว
แนวทางด้านไอดอล มาร์เก็ตติ้ง ของทางช่อง one31 คือ การปั้นศิลปินนักแสดงหน้าใหม่ ๆ ให้เป็นไอดอล โดยคอยป้อนบท ป้อนเรื่อง ป้อนคอนเทนต์ที่เหมาะสมกับความสามารถและความสมัครใจของไอดอลคนนั้น ไม่มีการบังคับ เก่งด้านไหนก็สร้างคอมมูนิตี้ในด้านนั้น ส่วนไอดอลที่มีอยู่แล้วก็จะพยายามต่อยอดไปเรื่อย ๆ
ในปี 2566 ที่ผ่านมา คุณบอยกล่าวว่า สุดยอดไอดอล มาร์เก็ตติ้งของทางเครือฯ ก็คือ แจม-ฟิล์ม โดยต่อยอดความดังมาจากละครเรื่อง “คุณชาย” เมื่อปี 2565 ด้วยการจัดแฟนมีต อีเวนต์ คอนเสิร์ต ตลอดจนเล่นซีรีส์ “กฎแห่งรักดึงดูด” (Laws of Attraction) เพื่อให้แฟนด้อมได้ฟิน-จิ้นกันต่อ อีกคนที่โดดเด่นในปีที่ผ่านมาก็คือ ไบร์ท นรภัทร ที่ได้เป็นพรีเซนเตอร์หลากหลายสินค้า
สำหรับแฟนด้อมปี 2567 นี้ คุณบอยเล็งว่า ต้าห์อู๋-ออฟโรด กับไดร์ม่อน-บอส จะเป็นด้อมที่สร้างฐานให้แข็งแรงขึ้นได้ โดยเฉพาะไดร์ม่อนจากเรื่อง “Across the Sky ลัดฟ้าล่าฝัน” ที่เก่งทั้งด้านร้อง เต้น และเป็นเอนเตอร์เทนเนอร์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
ทั้งนี้ ในมุมของคุณบอย แฟนด้อมไม่ได้มีแค่เฉพาะสำหรับซีรีส์วายหรือดาราวัยรุ่นเท่านั้น แต่รวมถึงด้อมผู้สูงวัยในรายการประกวดร้องเพลงลูกกรุง “The Golden Song เวทีเพลงเพราะ” ด้วยเช่นกัน
ปี 66 ที่ผ่านมาเราทำ Senior Marketing นะครับ เรามี The Golden Song Concert ซึ่งโอ้โห! ผู้ใหญ่มาดูมีความสุขมาก แฮปปี้มาก ลูก ๆ ที่พาพ่อแม่มาดูก็มีความสุขมาก
…อันนี้ผมก็ถือว่าเป็นอีกแฟนด้อมนึงนะครับ โอเคอาจจะไม่ได้เสียงดังหรือว่าลงเป็นเทรนด์ในโซเชียลมากมายนัก แต่อันนี้แหละครับเป็นคอมมูนิตี้ที่แข็งแรงมาก เพราะท้ายที่สุดมันกลับมาถึงครอบครัว Relationship ในครอบครัว อันนี้ครับผมว่าเรามาถูกทาง” คุณบอย กล่าว
ทั้งนี้ มุมมองของคุณบอย – ถกลเกียรติ วีรวรรณ ฉายให้เห็นภาพรวมด้านกลยุทธ์ของเดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ ในการเดินหน้าฝ่ากระแสความเปลี่ยนแปลงในวงการสื่อทีวีดิจิทัลและวัฒนธรรมแฟนด้อม แนวคิดที่ยึดความเป็น “คอนเทนต์ครีเอเตอร์” ช่วยให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ชมบนแพลตฟอร์มสื่อต่าง ๆ ได้ไม่ใช่แค่คนดูทีวี และยังตามทันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอีกด้วย
Topics
- แนวโน้มสื่อไทย 2568
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2567
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2566
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2565
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2564
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2563
- Thai Media Trends 2025 (English Version)
- Thailand Media Landscape 2023-2024 (English Version)
- Thailand Media Landscape 2022-2023 (English Version)
- Thailand Media Landscape 2021-2022 (English Version)