เจาะลึกมุมมองแนวโน้มสื่อและคอนเทนต์กับ "รวิศ หาญอุตสาหะ" เจ้าของรายการ Mission To The Moon
- ธันวาคม 15, 2566
- 15:22 น.
หากจะพูดถึงมุมมองที่มีต่อสื่อ การทำคอนเทนต์ จากเจ้าของรายการและพอดแคสต์ชื่อดังที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการพัฒนาทักษะ ไลฟ์โค้ช ที่อยู่ในรูปแบบการสร้างสรรค์ที่ช่วยชุบชูจิตใจอย่าง Mission To The Moon ของคุณแท็ป “รวิศ หาญอุตสาหะ” ซีอีโอบริษัท ศรีจันทร์สหโอสถ จำกัด และอินฟลูเอนเซอร์ที่คว้ารางวัล Public figure Award จากเวที Thailand Influencer Awards 2023 แล้ว วิสัยทัศน์ ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการผลิตคอนเทนต์ของ “คุณรวิศ” น่าจะสะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นและแนวโน้มของภูมิทัศน์สื่อได้เป็นอย่างดี
เทรนด์ Fragmentation มา! ผู้ผลิตคอนเทนต์ต้องนำเสนอให้เหมาะสมและทำคอนเทนต์ที่ตรงความต้องการของผู้บริโภค
“Fragmentation” ในที่นี้ คือ สื่อ รูปแบบการเสพสื่อและคอนเทนต์ของผู้บริโภคที่มีการแบ่งกลุ่มแยกย่อย เฉพาะทางมากยิ่งขึ้น ดังนั้น ผู้ผลิตคอนเทนต์จึงต้องหาแพลตฟอร์มสื่อ ปรับรูปแบบการนำเสนอ และผลิตคอนเทนต์ที่มีรูปแบบเฉพาะตัวซึ่งสามารถตอบสนองกับความต้องการในการเสพคอนเทนต์ของผู้คนที่มีความเฉพาะตัวมากขึ้นให้ได้ นี่คือ มุมมองของคุณรวิศ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ผู้บริโภคในปัจจุบันมีความต้องการและรูปแบบการเสพคอนเทนต์ที่แตกต่างไปจากเดิมมาก
ด้วยเหตุนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ “การทดลอง” ผลิตคอนเทนต์ในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งคำตอบที่ว่า คอนเทนต์หลักที่เป็นจุดแข็งของรายการหรือสื่อ จะต้องผลิตออกมาอย่างไร นำเสนอและเผยแพร่ผ่านแพลตฟอร์มสื่อแบบใดในช่วงเวลานั้น ๆ จึงจะสามารถตรึงความสนใจและเข้าถึงผู้บริโภคได้ท่ามกลางการแข่งขันที่ท้าทายของสื่อ การเปลี่ยนแปลงของอัลกอริทึม และเทคโนโลยีที่เดินหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง
เราทดลองตั้งแต่การทำคอนเทนต์ เพื่อดูว่า คอนเทนต์ประเภทไหนเป็นที่ชื่นชอบ รวมถึงรูปแบบการนำเสนอคอนเทนต์ เช่น วิดีโอสั้น เราก็พยายามทำอะไรที่คนดูชอบ เวิร์กบ้างไม่ดีบ้างปนกันไป การเติบโตของตัวสื่อมันอยู่ที่ว่าคอนเทนต์นั้นสอดคล้องกับสิ่งที่คนตามหาอยู่ตอนนั้นหรือเปล่า
คุณวริศ กล่าว
สื่อกระแสหลักยังคงมีอยู่ ขณะที่สื่อย่อย ๆ จะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น
ด้วยประสบการณ์การทำงานในฐานะครีเอเตอร์ที่คลุกคลีกับการผลิตคอนเทนต์ คุณรวิศมองว่า นอกจากเนื้อหาหรือคอนเทนต์ที่มีความเฉพาะทางมากขึ้นแล้ว สื่อย่อย ๆ รายเล็กรายน้อยจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่สื่อกระแสหลักจะยังคงมีอยู่ต่อไป สถานการณ์ของสื่อไทยจะมีความหลากหลายมากขึ้น
ผมคิดว่าสื่อจะยังคง fragment มากขึ้นกว่าเดิม เพราะผู้คนอาจจะพยายามหาสิ่งที่มันเฉพาะเจาะจงกับความต้องการของตัวเองมากขึ้น แม้แต่รูปแบบการนำเสนอที่สมัยก่อนอาจจะคล้ายกัน
คุณรวิศ กล่าว
ด้วยเหตุนี้ คนทำสื่อก็คงต้องทดลองหาสิ่งที่เหมาะสม ทั้งประเภทคอนเทนต์ และรูปแบบการนำเสนอ เพราะในช่วงที่ผ่านมา คนมีลักษณะการเสพสื่อที่หลากหลาย เช่น ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่าน วิดีโอสั้น (Short Video) มาแรงที่สุด รวมถึงเทคโนโลยีใหม่ ๆ ก็อาจมีส่วนทำให้มนุษย์มีรูปแบบของการเสพสื่อที่เปลี่ยนไป เช่น หากคนใช้ปัญญาประดิษฐ์หรือ AI มากขึ้นในอนาคต ฯ ก็ต้องมาดูว่า จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรตามมา
กลยุทธ์การทำคอนเทนต์แบบ Mission To The Moon
การทำคอนเทนต์ที่ประสบความสำเร็จต้องอาศัยการวางกลยุทธ์ที่ดี สำหรับ Mission To The Moon นั้น คุณรวิศให้ความสำคัญกับการเลือกคอนเทนต์โดยพิจารณาเสาหลักของเนื้อหา (Content pillar) เป็นอันดับแรก
เราจะดู Content Pillar ของเราว่า คนกำลังสนใจเรื่องอะไรที่มันเกี่ยวกับเราและอยู่ในพื้นที่ที่เราสามารถพูดได้ เราก็จะพยายามเลือกเรื่องพวกนั้นมา โดยเราเองก็มีแหล่งข้อมูลมากมาย ไม่ว่าจะเป็นสื่อต่างประเทศหรือว่าหนังสือ หรือการสัมภาษณ์ผู้คน ข้อมูลจากออนไลน์ก็จะบอกได้ด้วยว่า ผู้คนอยากฟังอะไรช่วงนั้น แล้วเราจะเอาเรื่องพวกนั้นมาดูว่าอันไหนเกี่ยวกับเราบ้าง ถ้าอะไรที่ไม่เกี่ยวเราก็ไม่พูดถึง
คุณรวิศ กล่าว
เมื่อกลยุทธ์ชัดเจน ทิศทางการทำคอนเทนต์ก็จะไม่หลุดกรอบ Mission To The Moon เป็นคอนเทนต์ที่มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะและความคิดให้กับคนทำงาน คอนเทนต์ส่วนใหญ่จึงเป็นไปเพื่อตอบรับการเปลี่ยนแปลงของโลก รวมถึงทักษะที่ผู้ฟังจำเป็นต้องเรียนรู้เพิ่มเติม
คุณรวิศได้ยกตัวอย่างการเลือกคอนเทนต์ว่า ปัจจุบัน เนื่องจากโลกเผชิญการเปลี่ยนแปลงมากมาย มีหลายประเด็นที่สามารถหยิบมาพูดได้ เช่น สภาพเศรษฐกิจที่เงินเฟ้อสูงทำให้คนสร้างตัวยากขึ้น ซื้อบ้านยาก เราก็จะมาคุยกันว่ามันเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นได้ยังไง ในอนาคตมีวิธีการที่คนสามารถจัดการไปในแนวทางไหนได้บ้าง รวมถึงกรณีคนที่เขาทำแล้วมันสำเร็จ หรือคอนเทนต์ที่คนกำลังให้ความสนใจ เช่น เราจะทำอย่างไรกับสังคมสูงวัย (Aging Society) เมื่อคนอายุยืนขึ้น แม้แต่กระทั่งประเด็นเทคโนโลยีที่หลายคนกังวลว่า AI จะเข้ามาทำงานแทนเราหรือไม่
เราก็พยายามจะมองแล้วก็วิเคราะห์สิ่งที่มันเกิดขึ้น โดยเฉพาะในไทย และเราก็จะมองจากมุมของปัจเจกด้วย เช่น สิ่งที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบยังไงกับตัวเราบ้าง
นอกจากกลยุทธ์การเลือกคอนเทนต์ คุณรวิศเสริมว่า การทดลองนำเสนอคอนเทนต์เป็นอีกแนวทางสำคัญเพื่อดูว่าคอนเทนต์แบบไหนได้รับความสนใจ
คอนเทนต์แบบวิดีโอสั้น (Short Video) มาแรง แต่วิดีโอที่มีเนื้อหายาว (Long Video) ยังสำคัญ
แม้ว่า เราจะมีกลยุทธ์และความชัดเจนเป็นจุดยืนแล้ว แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ท่ามกลางกระแสวิดีโอสั้นที่มาแรง การทำคอนเทนต์ในรูปแบบที่ให้ความรู้และมีความยาวต้องเผชิญกับความท้าทายมากขึ้น
คุณรวิศเองก็ยอมรับถึงความท้าทายดังกล่าว การนำเสนอข้อมูลแบบ Mission To The Moon ให้ออกมาในรูปแบบวิดีโอสั้นที่ได้รับความนิยมและมีระยะเวลาในการนำเสนอที่บางครั้งไม่ถึง 1 นาทีนั้นบางทีก็เป็นเรื่องยาก เพราะว่าคอนเทนต์ส่วนมากของ Mission To The Moon เหมาะกับการนำเสนอในรูปแบบวิดีโอที่มีความยาวมากกว่า
รวมถึงตัวผู้บริโภคคอนเทนต์แบบสั้นเองก็มักจะมีความคาดหวังกับการดูที่แตกต่างจากคอนเทนต์ประเภทที่มีความยาว แต่ทีมงานของ Mission To The Moon ก็ได้พยายามทดลองนำเสนอคอนเทนต์แบบสั้น ๆ ให้น่าสนใจ เช่น พยายามปรับคอนเทนต์ให้สั้นลง หรืออาจจะไม่ได้เป็นเรื่องที่พูดถึงกันโดยทั่วไป และอาจจะเล่าเรื่องโดยไม่ต้องใช้เวลาไม่มาก
แม้ว่า จะยอมรับในเรื่องความนิยมที่มีต่อวิดีโอสั้น คุณรวิศมองว่า คอนเทนต์แต่ละประเภทมีความต่างกัน คอนเทนต์ครีเอเตอร์แต่ละคนเองก็มีลักษณะและรูปแบบการนำเสนอหรือแม้กระทั่งคาแรคเตอร์ส่วนตัวของผู้นำเสนอเองที่อาจจะเหมาะสมกับรูปแบบการนำเสนอแบบหนึ่ง หรือคนที่ทำวิดีโอแบบยาวได้ดีอาจจะทำวีดีโอแบบสั้นไม่ดีก็ได้ หรือบางคนอาจจะทำได้ทั้งสองอย่างก็เป็นไปได้ ดังนั้น คอนเทนต์ครีเอเตอร์จึงจำเป็นต้องทดลองไปเรื่อยๆ
อย่างไรก็ตาม สำหรับในไทย วิดีโอที่มีเนื้อหายาวก็ยังคงมีจุดแข็งและกลุ่มเป้าหมาย เนื่องจากยังมีกลุ่มคนที่ต้องการเสพคอนเทนต์ประเภทนี้อยู่พอสมควร คุณรวิศแสดงความเห็นว่า
เรื่องบางเรื่องต้องอาศัยเวลาในการเล่า เช่น ภาพยนตร์ ไม่ว่าผู้บริโภคจะอยากจะเสพคอนเทนต์สั้นแค่ไหน มันก็ยังจำเป็นที่จะต้องมีภาพยนตร์ที่มีความยาว 3 ชั่วโมงและภาพยนตร์ก็จะยังคงอยู่ไปอีกนาน เพราะเรื่องบางเรื่องไม่สามารถเล่าสั้น ๆ แล้วจบ แม้ว่าตอนนี้ผู้คนจะไม่ค่อยอ่านอะไรที่มีความยาวสักเท่าไหร่ แต่วันหนึ่งคอนเทนต์แบบเขียนที่มีความยาวอาจจะกลับมาอีกก็ได้
คุณวริศ กล่าวเสริม
สื่อต้องกระจายความเสี่ยง ปรับมือรับการเปลี่ยนแปลงของอัลกอริทึม
ที่ผ่านมา การปรับอัลกอริทึมของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียกลายเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับบรรดาคอนเทนต์ครีเอเตอร์อย่างเลี่ยงไม่ได้ คุณรวิศแสดงความเห็นว่า การพึ่งพาสื่อใดสื่อหนึ่งมากเกินไปล้วนแต่มีความเสี่ยง สื่อจำนวนมากรวมถึง Mission To The Moon เองก็พึ่งพาความเมตตาของอัลกอริธึม แต่มันก็มีโอกาสที่จะเกิดเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ดังนั้นครีเอเตอร์เองจึงควรที่จะกระจายความเสี่ยงด้วยการนำเสนอคอนเทนต์ของตนเองไปอยู่ในหลาย ๆ แพลตฟอร์มสื่อมากขึ้น
ขณะเดียวกัน การดึงผู้ฟังหรือฐานแฟนมายังเว็บไซต์โดยตรงก็เป็นอีกแนวทางที่ Mission To The Moon กำลังให้ความสนใจ คุณรวิศมองว่า เว็บไซต์เป็นเหมือนกับพื้นที่ที่เราเป็นเจ้าของจริงๆ บนโลกออนไลน์ เพราะฉะนั้น หากเว็บไซต์ของเราแข็งแรง เหมือนกับเว็บไซต์คอมมูนิตี้ในไทยที่แข็งแรง เราก็จะอาจจะรับมือกับผลกระทบจากการปรับเปลี่ยนอัลกอริทึมของโซเชียลมีเดียได้ในระดับหนึ่ง
นอกจากการกระจายความเสี่ยงแล้ว สื่อเองอาจจะพิจารณาถึงช่องทางการสร้างรายได้จากช่องทางต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน ในปัจจุบัน สื่อจำนวนมากทำกิจกรรมหรืออีเวนต์ต่าง ๆ ทั้งรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ แม้แต่ Mission To The Moon เองก็ต่อยอดการนำเสนอคอนเทนต์ออกมาเป็น Mission Academy คอร์สเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะ
มอง Generative AI เป็นตัวช่วยในการทำคอนเทนต์ ใครนำไปประยุกต์ใช้ได้ดีกว่าก็จะได้เปรียบ
สำหรับบทบาท Generative AI หรือปัญญาประดิษฐ์แบบรู้สร้างที่มาแรงอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่เข้ามาช่วยให้เหล่าคอนเทนต์ครีเอเตอร์สร้างสรรค์ผลงานนั้น เจ้าของ Mission To The Moon กล่าวว่า
ผมคิดว่ายิ่งทำคอนเทนต์สายดิจิทัลก็ต้องใช้ AI เพราะมันช่วยเยอะในเชิงของการทำคอนเทนต์ ตั้งแต่คอนเทนต์ที่เป็นข้อความ ภาพ และวิดีโอเลย รวมถึงเรื่องของการตัดต่อ AI ก็ช่วยทำให้งานเสร็จเร็วขึ้น
คุณรวิศ กล่าว
คุณรวิศอธิบายว่า AI ไม่เพียงช่วยให้คนที่เป็นครีเอเตอร์ทำงานได้เร็วขึ้น แต่ยังสามารถช่วยได้มากยิ่งขึ้นในเชิงมิติ สมมติว่าเราอยากเขียนเรื่องสั้น การคิดโครงเรื่องให้มันสนุกก็อาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายและต้องใช้เวลาพอสมควร แต่ปัจจุบันนี้ ด้วยขีดความสามารถ AI ที่เก่งขึ้น AI สามารถช่วยเขียนเรื่องสั้นแบบหักมุมมาให้เราได้หลายแบบ แล้วเราก็ต้องมาคิดต่อเอาเองว่า เราอยากเลือกเรื่องไหนไปพัฒนาต่อ
สำหรับ Mission To The Moon ก็นำ AI มาปรับแลประยุกต์ใช้ในหลายขั้นตอนการผลิตคอนเทนต์ คุณรวิศเล่าว่า
“ผมคิดว่าเราใช้เยอะสุดก็คงเป็น ChatGPT และ Bard ซึ่งจะช่วยขึ้นโครงเรื่อง ทำสคริปต์ แล้วเรามาดูว่าเราชอบหรือเปล่า หรือบางครั้งเอาไว้ใช้ในการตรวจสอบเอกสารและคำศัพท์ เราก็ใช้ AI ตระกูลที่ใช้ทำรูปเยอะ แล้วก็จะมี AI เช่น Pictory เอาไว้ตัดต่อวิดีโอให้เร็วขึ้นโดยไม่ต้องใช้คนตัด”
ในปัจจุบัน AI เป็นเครื่องมือที่เหมือนช่วงที่เรามีคอมพิวเตอร์หรือว่าเครื่องคิดเลข ทุกคนสามารถเข้าถึงได้เหมือนกันหมด แต่ความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากการนำ AI มาใช้นั้น ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนจะนำไปประยุกต์ใช้อย่างไรให้ดีกว่ากัน
ส่วนประเด็นถกเถียงและสงสัยกันว่า AI จะสามารถผลิตคอนเทนต์ได้ดีกว่ามนุษย์หรือไม่ คุณรวิศมองว่า ขึ้นอยู่กับรูปแบบ ถ้าเป็นอะไรที่สั้นๆ ไม่ต้องเขียนอะไรเยอะ ก็อาจจะพอเกือบจะได้อยู่ แต่ถ้าเป็นคอนเทนต์ที่มีความยาวก็ยังคิดว่าจะต้องใช้มนุษย์ อย่างน้อยก็เรียบเรียงสิ่งที่ AI เขียนมาหรือว่าหรือว่าตรวจดูตรรกะ (Logic) ต่าง ๆ ซึ่งบางครั้งเนื้อหาจาก AI โดยตรงอาจสร้างความสับสนได้ งานพวกนี้เป็นเหมือนสิ่งต้องใช้ Logic ถ้า AI เรียนรู้และเข้าใจ Logic แล้วสามารถถอด Logic ออกมาเป็นกฎได้ ต่อให้คอนเทนต์ซับซ้อนแค่ไหน ในอนาคตมันก็สามารถทำได้
ตลาดอินฟลูเอนเซอร์ยังเติบโตต่อเนื่อง แต่จุดยืนต้องชัด
ในฐานะที่เป็น Public Figure Influencer ปี 2566 จากเวที Thailand Influencer Awards 2023 นั้น มุมมองของคุณรวิศที่มีต่อสถานการณ์ในแวดวงอินฟลูเอนเซอร์นั้น สะท้อนให้เห็นว่า จำนวนอินฟลูเอนเซอร์จะเพิ่มมากขึ้นไปเรื่อย ๆ ตลาดอินฟลูเอนเซอร์จึงมีขนาดใหญ่ขึ้น
ด้วยจำนวนครีเอเตอร์ที่เพิ่มมากขึ้นนี้ คุณรวิศมองอินฟลูเอนเซอร์ไทยว่า ตลาดอินฟลูเอนเซอร์จะยังคงเติบโตต่อไป ตลาดมีขนาดใหญ่ขึ้น ผู้เล่นหน้าใหม่มากขึ้น แต่สิ่งที่สำคัญในฐานะสื่อที่ทำคอนเทนต์หรืออินฟลูเอนเซอร์เอง อินฟลูเอนเซอร์ต้องหาจุดยืนที่ชัดเจนว่าเราอยากจะเป็นอินฟลูเอนเซอร์แบบใด ใครเป็นกลุ่มเป้าหมายของเรา กลุ่มเป้าหมายของเราเขาฟังเราในรูปแบบใดบ้าง
ขณะเดียวกัน แบรนด์ต่าง ๆ ก็ยังเลือกใช้อินฟลูเอนเซอร์ในการทำการตลาดหรือแคมเปญต่อไป เพราะอินฟลูเอนเซอร์ยังสามารถช่วยให้แบรนด์เข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่ต้องการ คุณรวิศย้ำว่า การเลือกอินฟลูเอนเซอร์นั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวเลขของจำนวนผู้ติดตามแต่เพียงอย่างเดียว แต่แบรนด์ควรมองกลุ่มเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ของแคมเปญด้วยเช่นกัน โดยพิจารณาเรื่องความเหมาะสมและตอบโจทย์ของแบรนด์
มุมมองที่มีต่อสถานการณ์สื่อ ผู้เสพสื่อ AI จาก คุณแท็ป “รวิศ หาญอุตสาหะ” ซีอีโอบริษัท ศรีจันทร์สหโอสถ จำกัด และอินฟลูเอนเซอร์ชื่อดัง น่าจะช่วยชี้ให้เห็นถึงความท้าทายในด้านต่าง ๆ ที่สื่อและคอนเทนต์ครีเอเตอร์ว่า จะสามารถปรับตัวและประยุกต์เพื่อที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้อย่างไร
Topics
- แนวโน้มสื่อไทย 2568
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2567
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2566
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2565
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2564
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2563
- Thai Media Trends 2025 (English Version)
- Thailand Media Landscape 2023-2024 (English Version)
- Thailand Media Landscape 2022-2023 (English Version)
- Thailand Media Landscape 2021-2022 (English Version)