ภูมิทัศน์สื่อไทย 2566-2567
เฟซบุ๊กยืนหนึ่งโซเชียลมีเดียในไทย ยูทูบ- ติ๊กต๊อกตามมาติด ๆ
- มกราคม 29, 2567
- 13:33 น.
แม้ว่าเฟซบุ๊กจะเปลี่ยนแปลงอัลกอริทึมมาโดยตลอด แต่เฟซบุ๊กก็ยังคงเป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มที่คนไทยนิยมใช้งานมากที่สุด รองลงมาคือ ยูทูบ และติ๊กต๊อก (TikTok) จากข้อมูลของ DataReportal ระบุว่า ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กทั่วโลกมีจำนวนถึง 3.03 พันล้านรายทั่วโลก ซึ่งสอดคล้องกับประเทศไทยที่เฟซบุ๊กยังคงเป็นโซเชียลมีเดียที่มีการใช้งานมากที่สุดเช่นกัน โดยจำนวนผู้ใช้เฟซบุ๊กในไทยมีอยู่ถึง 48.10 ล้านรายในเดือนมกราคม 2566 ในขณะที่ยูทูบตามมาเป็นอันดับสอง ด้วยจำนวนผู้ใช้งานยูทูบที่ 43.90 ล้านราย สำหรับติ๊กต๊อก (TikTok) ติดอันดับสามของโซเชียลมีเดียยอดนิยมในไทย
แม้ว่า ติ๊กต๊อกจะเป็นโซเชียลมีเดียที่มาทีหลัง แต่จำนวนผู้ใช้ติ๊กต๊อกทั้งในไทยและทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นจนแซงหน้าเฟซบุ๊กเมสเซนเจอร์ (Facebook Messenger) ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
จากข้อมูลของ DataReportal ในช่วงต้นปี 2566 ชี้ว่า ยอดผู้ใช้ติ๊กต๊อกทั่วโลกอยู่ที่ 1.218 พันล้านราย ส่วนจำนวนผู้ใช้งานติ๊กต๊อกในไทยอยู่ที่ 40.28 ล้านราย
ขณะที่จำนวนผู้ใช้งานเฟซบุ๊กเมสเซนเจอร์ทั่วโลกอยู่ที่ 1.036 พันล้านราย สำหรับในไทยมีผู้ใช้งานเฟซบุ๊กเมสเซนเจอร์จำนวน 35.05 ล้านราย นอกจากนี้ไทยยังมียอดแอด รีช (Ad Reach) ติดอันดับ 19 ของโลก คิดเป็นสัดส่วน 65.3%
แม้ติ๊กต๊อกจะปังและ TikTok Shop กำลังมา แต่เฟซบุ๊กและยูทูบยังเด่นในแง่ของการสร้างรายได้
หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ติ๊กต๊อกมาแรงก็คือ ประสิทธิภาพในการเข้าถึงและสร้างการรับรู้ เนื่องจากติ๊กต๊อกเป็นแพลตฟอร์มที่มีฟีเจอร์และรูปแบบการนำเสนอคอนเทนต์ที่ตอบรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบันที่นิยมใช้เวลาไม่นานนักในการดูหรืออ่านคอนเทนต์
นอกจากนี้ ติ๊กต๊อกยังเป็นช่องทางที่มีความเหมาะสมสำหรับการนำเสนอคอนเทนต์ที่พ่วงความบันเทิง ซึ่งจุดนี้ถือเป็นอีกคุณสมบัติที่สอดคล้องกับการบริโภคข้อมูลข่าวสารของผู้เสพสื่อในปัจจุบันที่ต้องการคอนเทนต์ที่สามารถให้ทั้งคุณค่าและความบันเทิง ท่ามกลางสถานการณ์แวดล้อมที่มีความตึงเครียด
รศ.ดร. สมิทธิ์ บุญชุติมา อาจารย์ประจำภาควิชาการประชาสัมพันธ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวถึงติ๊กต๊อกในบทสัมภาษณ์เกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของสื่อไทยในปี 2566 และแนวโน้มปี 2567 ว่า สำหรับติ๊กต๊อก (TikTok) ผู้ที่ใช้งานก็มักจะมาในแนวอารมณ์รักอารมณ์ชอบ อารมณ์สนุก แล้วก็นำไปใช้ในเรื่องของการค้าได้ ถือเป็นแหล่งรวมคนอารมณ์ดี เพราะคนอารมณ์ดีก็จะซื้อของ แล้วก็หาข้อมูลหาอินฟลูเอนเซอร์หน้าตาสวย ๆ หล่อ ๆ แล้วก็ซื้อสินค้าตาม เพื่อให้การสนับสนุนแม่ยกพ่อยก
สำหรับข้อสังเกตที่ว่า มีการเสิร์ชข้อมูลผ่านทางติ๊กต๊อกแทนการเสิร์ชในกูเกิลมากขึ้นนั้น อาจารย์สมิทธิ์ มองว่า ติ๊กต๊อกอาจจะเหมาะสมสำหรับการเสิร์ชข้อมูลบางประเภท เช่น เสิร์ชหารีวิวสินค้าใหม่ ๆ เทรนด์ใหม่ แต่การใช้การเสิร์ชบนติ๊กต๊อกแทนกูเกิลนั้น อาจจะไม่เหมาะสม หากเราต้องการข้อมูลในเชิงวิชาการ ที่ต้องการอ้างอิงและมีความน่าเชื่อถือ
ส่วนความเป็นไปได้ที่ว่า ติ๊กต๊อกจะเข้ามาแทนที่แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอย่างช้อปปี้หรือลาซาด้า เพราะการไลฟ์ขายสินค้าบน TikTok Shop ที่ได้รับความนิยมมากขึ้น จะเป็นไปได้หรือไม่ อาจารย์มองว่า คงจะไม่ถึงขนาดเข้ามาแทนที่ คือ ถ้าเรารู้ว่าจะซื้ออะไรอยู่แล้ว ส่วนใหญ่ก็จะไปที่แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเลย แต่ถ้าผู้บริโภคต้องการดูไลฟ์ขายของบนติ๊กต๊อกก็จะได้ในเรื่องของความใหม่ ความเร็ว หรือบางครั้งมีการนำสินค้าราคาถูกมาไลฟ์ขาย ตรงนี้ก็ขึ้นอยู่กับผู้ใช้งานว่าต้องการอะไร (อ่านบทสัมภาษณ์เพิ่มเติม)
ติ๊กต๊อกไม่สามารถแทนการเสิร์ชได้ หากว่าเป็นข้อมูลที่เป็นวิชาการ และถ้าเกิดว่าจะเอามาแทนช้อปปี้หรือลาซาด้าเลยรึเปล่า ก็อาจจะไม่ เพราะว่า ช้อปปี้และลาซาด้าก็เหมาะสำหรับการค้นหาสินค้า เปรียบเทียบร้านค้า และก็อยู่ตรงนั้น รอเราอยู่แล้วที่จะให้เราเข้าไปซื้อ ไม่ต้องยากเลย หาง่าย ไม่รอเวลา
อาจารย์สมิทธิ์ กล่าว
แม้ว่าติ๊กต๊อกจะได้รับความนิยมอย่างสูง แต่เฟซบุ๊กและยูทูบกลับเป็นช่องทางที่สามารถทำรายได้ให้กับผู้ผลิตคอนเทนต์ได้ไม่น้อย “คุณปราง” โปรดปราน หมื่นสุกแสง เจ้าหน้าที่บริหารสานงานกลยุทธ์และการตลาด (Chief Marketing Officer หรือ CMO) ไทยรัฐทีวี (บริษัท ทริปเปิล วี บรอดคาสท์ จำกัด) และไทยรัฐออนไลน์ (บริษัท เทรนด์ วีจี 3 จำกัด) มองว่า หากจะเจาะลงไปในแต่ละประเภทของโซเชียลมีเดียแล้ว ติ๊กต๊อก (TikTok) ยังคงเป็นแพลตฟอร์มที่มาแรงโดยตลอด ขณะที่อินสตาแกรมก็กลับมาได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้น
คุณปราง เปิดเผยว่า ยอดดีทุกแพลตฟอร์ม แต่ถ้าในแง่ของการเติบโต (Growth) ติ๊กต๊อกมี Growth ดี ซึ่งสำหรับทุกพับลิชเชอร์และทุกสถานี ติ๊กต๊อกทำหน้าที่สร้างการรับรู้ (Awareness) และการมีส่วนร่วม (Engagement) สร้างสัมพันธ์กับคอมมูนิตี้ ให้คนในนั้นรู้จักไทยรัฐ ส่วนการ Monetization ยังไม่มีทิศทางที่ชัดเจนจากแพลตฟอร์ม ซึ่งคาดว่าติ๊กต๊อกน่าจะต้องการหารายได้ผ่านคอมเมิร์ซแพลตฟอร์มจริงจัง ไม่เหมือนกับเฟซบุ๊กและยูทูบที่อยู่ตัวแล้ว มี Monetization Model ชัดเจน ดังนั้นเราต้องรู้ Objective เพื่อให้เราทุ่มกับแต่ละแพลตฟอร์มมากน้อยแค่ไหน
ในด้านส่วนแบ่งรายได้จากแพลตฟอร์มที่ไม่นับรวมค่าโฆษณาโดยตรงจากการที่ลูกค้าซื้อกับบริษัทฯ หลัก ๆ ยังคงเป็นยูทูบและเฟซบุ๊ก ส่วนติ๊กต๊อกจะ Growth ในแง่ของยอดวิว แต่ละแพลตฟอร์มมีการเปลี่ยนอัลกอริทึมบ่อย ก็ทำให้เราเป๋ ๆ ไปบ้างเหมือนกัน จึงเป็นเหตุให้ต้องเฝ้า Performance ตลอด
คุณปราง กล่าว
คุณปราง กล่าวต่อไปว่า อินสตาแกรมเป็นแพลตฟอร์มที่เติบโตมากในช่วงนี้ ในขณะที่เฟซบุ๊กนิ่ง ๆ คาดว่าสาเหตุที่มาแรงนั้น นอกจากการปรับอัลกอริทึมแล้ว อีกส่วนคือพฤติกรรมคนเปลี่ยน เด็กรุ่นใหม่จะรู้สึกว่าเฟซบุ๊กมีแต่เจนเอ็กซ์ เบบี้บูมเมอร์ น้อง ๆ ก็เลยจะไปอยู่บนทวิตเตอร์ ติ๊กต๊อก หรืออินสตาแกรมแทนที่ส่วนใหญ่เป็นเจนวาย และเจนซี (อ่านบทสัมภาษณ์เพิ่มเติม)
เราต้องปรับตัวและเฝ้าตลอดเวลา การปรับเปลี่ยนอัลกอริทึมและนโยบายของแพลตฟอร์มทำให้เป็นงานค่อนข้างหนักสำหรับทีมงานในการเฝ้าระวัง พอเห็นว่าตัวเลขเริ่มลดลงทั้ง ๆ ที่คอนเทนต์เหมือนเดิม ทีมต้องตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้น ต้องเจาะ Insight data เพื่อเอามาปรับการทำงาน
คุณปราง กล่าว
คนไทยนิยมใช้โซเชียลมีเดียติดต่อครอบครัวเพื่อนฝูงและติดตามข่าวสารมากที่สุด
นอกจากโซเชียลมีเดียจะเป็นช่องทางในการทำรายได้สำหรับคอนเทนต์ครีเอเตอร์ สื่อมวลชน และอินฟลูเอนเซอร์แล้ว สำหรับผู้บริโภคในไทยนั้น รูปแบบและเป้าหมายในการใช้งานโซเชียลมีเดียที่สูงที่สุด คือ การติดตามชีวิตเพื่อนฝูงและครอบครัวมากที่สุดคิดเป็นสัดส่วน 57.2% ตามมาด้วยการอ่านข่าวสาร 38.5% และฆ่าเวลา 35.8% ขณะที่สัดส่วนการใช้โซเชียลมีเดียในการซื้อสินค้าและหาสินค้าใหม่ ๆ อยู่ที่ 33% และ 29.9% ตามลำดับ
ขณะที่ข้อมูลจาก Oosga ในเดือนตุลาคม 2566 บ่งชี้ว่า โซเชียลมีเดียมีส่วนสำคัญต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค โดยเฉพาะในธุรกิจเสื้อผ้าและรองเท้า โดยผู้บริโภคหนุ่มสาวใช้เวลามากบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เพื่อค้นหาและเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อ
วิดีโอสั้นยังโดนใจผู้บริโภค แต่วิดีโอที่มีเนื้อหายาวยังสามารถเจาะกลุ่มผู้บริโภคบางกลุ่มได้
การนำเสนอคอนเทนต์ในรูปแบบของคลิปวิดีโอสั้น (Short-Form Video) ยังคงได้รับความนิยมจากผู้เสพสื่อ ดังนั้นแบรนด์และธุรกิจต่าง ๆ จึงใช้โซเชียลมีเดียในการนำเสนอวิดีโอสั้นเพื่อโฆษณาสินค้ากันมากขึ้น
โดยข้อมูลจาก Colormatics ระบุว่า คอนเทนต์แบบวิดีโอสั้นเป็นรูปแบบการตลาดยอดนิยมของปี 2566 และ 68% ของผู้ชมยินดีที่จะรับชมวิดีโอเชิงธุรกิจที่มีความยาวไม่เกิน 1 นาที โดยธุรกิจต้องเน้นทำคอนเทนต์วิดีโอสั้นที่สั้นกระชับ น่าสนใจ และมีความบันเทิง
อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าคอนเทนต์ที่มีเนื้อหายาวจะไม่ได้รับความสนใจจากผู้บริโภค
คุณรวิศ หาญอุตสาหะ ซีอีโอบริษัท ศรีจันทร์สหโอสถ จำกัด เจ้าของรายการ Mission To The Moon และอินฟลูเอนเซอร์ที่คว้ารางวัล Public figure Award จากเวที Thailand Influencer Awards 2023 มองว่า สำหรับในไทย วิดีโอที่มีเนื้อหายาวก็ยังคงมีจุดแข็งและกลุ่มเป้าหมาย เนื่องจากยังมีกลุ่มคนที่ต้องการเสพคอนเทนต์ประเภทนี้อยู่พอสมควร
เรื่องบางเรื่องต้องอาศัยเวลาในการเล่า เช่น ภาพยนตร์ ไม่ว่าผู้บริโภคจะอยากจะเสพคอนเทนต์สั้นแค่ไหน มันก็ยังจำเป็นที่จะต้องมีภาพยนตร์ที่มีความยาว 3 ชั่วโมงและภาพยนตร์ก็จะยังคงอยู่ไปอีกนาน เพราะเรื่องบางเรื่องไม่สามารถเล่าสั้น ๆ แล้วจบ แม้ว่าตอนนี้ผู้คนจะไม่ค่อยอ่านอะไรที่มีความยาวสักเท่าไหร่ แต่วันหนึ่งคอนเทนต์แบบเขียนที่มีความยาวอาจจะกลับมาอีกก็ได้
คุณรวิช กล่าว
ทางด้านคุณปราง โปรดปราน จากไทยรัฐ เปิดเผยว่า “ถ้ามองเรื่องกลยุทธ์หลาย ๆ เจ้าอาจจะคล้าย ๆ กัน ก็คือว่าเราต้องเรียนรู้คนดูในแต่ละแพลตฟอร์มจริง ๆ ซึ่งเป็นเหมือนแฮนด์บุ๊กที่ทุกคนก็คงทำตามแบบนั้น ซึ่งแต่ละแพลตฟอร์มจะมีแฟนทาร์เก็ตค่อนข้างชัดเจนและชัดมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วย เมื่อก่อนเรารู้สึกว่าวิดีโอในเฟซบุ๊กหรือยูทูบคงคล้าย ๆ กัน
แต่ตอนนี้ Insights ที่พบคือมีความแตกต่างกันในแง่ของการบริโภค ประเภทของคอนเทนต์ ความสั้นยาว และเทคนิคการเล่าเรื่อง ในเฟซบุ๊กคนชอบแบบหนึ่ง มีนิสัยแบบหนึ่ง ความสนใจสั้น ในขณะที่พอเป็นยูทูบก็จะมีคาแรกเตอร์อีกแบบหนึ่ง ชอบเสพคอนเทนต์อีกลักษณะ มีเวลาให้เรานานกว่าในแต่ละคลิป
พอเรารู้ว่าผู้รับชมต่างกันเราก็จะเลือกหยิบของรสชาติปรุงแต่งที่ต่างกันใส่เข้าไป ส่วนแฮนด์บุ๊กในติ๊กต๊อกคือสั้นและต้องใช้อินฟลูเอนเซอร์เดินเรื่อง จะเป็นผู้ประกาศหรือผู้สื่อข่าวก็แล้วแต่เนื้อหา จะเพอร์ฟอร์มดีบนได้บนติ๊กต๊อก สั้น ๆ คือต้องเป็นแนวตั้ง เห็นหน้าคนเดินเรื่อง Hook ให้อยู่ใน 3 วินาทีแรก”
ติ๊กต๊อกส่ง TikTok Shop ลงสังเวียนโซเชียลคอมเมิร์ซเอาใจผู้บริโภคไทย เหตุนิยมซื้อสินค้าบนโซเชียลมีเดีย
หากมองย้อนกลับไปถึงการมาของติ๊กต๊อกในช่วงแรก ๆ แล้ว เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องของติ๊กต๊อกจากแพลตฟอร์มที่เน้นความบันเทิงสนุกสนานจนได้รับความนิยมจากผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียทั่วโลก และในที่สุดติ๊กต๊อกก็ก้าวเข้าสู่วงการโซเชียลคอมเมิร์ซ (Social commerce) เป็นที่เรียบร้อย
TikTok Shop เป็นโซเชียลคอมเมิร์ซน้องใหม่ที่มาแรงในปี 2566 และสามารถสร้างปรากฏการณ์ครั้งสำคัญกับแคมเปญ 11.11 “ช้อปสุดมันส์วันเลขเบิ้ล” ในเดือนพฤศจิกายน 2566 ด้วยการพาแบรนด์และผู้ขายบนแพลตฟอร์มสร้างยอดขายเติบโตมากขึ้นกว่า 300% เมื่อเทียบกับแคมเปญ 11.11 ในปี 2565 โดยตัวเลขดังกล่าวเป็นสถิติที่เกิดขึ้นภายในระยะเวลาเพียง 1 ปีนับจากการเปิดตัวเข้าสู่สังเวียนโซเชียลคอมเมิร์ซในไทยอย่างเป็นทางการ
ด้วยความสะดวกสบายที่แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียสามารถมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีอย่างต่อเนื่องให้กับผู้ใช้งาน รวมทั้งการจับจ่ายซื้อสินค้า จึงทำให้กระแสของโซเชียลคอมเมิร์ซหรือการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อส่งเสริมการซื้อขายสินค้าหรือบริการทางออนไลน์เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในไทย
วันเดอร์แมน ธอมสัน ได้เปิดเผยในรายงาน “ฟิวเจอร์ ช้อปเปอร์” (Future Shopper) 2566 ว่า ประเทศไทยมีผู้ซื้อสินค้าผ่านโซเชียลคอมเมิร์ซในสัดส่วนสูงที่สุดในโลก ตีคู่มากับโคลอมเบียที่ระดับ 91% เมื่อเทียบกับสถิติปี 2565 ที่ 88% และมีการใช้ไลฟ์สตรีมคอมเมิร์ซในการซื้อ-ขายสินค้าเป็นอันดับ 3 ของโลกที่ระดับ 73%
การ "ทดลอง" ทำและปรับรูปแบบคอนเทนต์เป็นอีกหนึ่งหนทางในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของอัลกอริทึม
จากการที่แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างแข่งขันกันสร้างรายได้ โดยมุ่งเน้นไปที่รายได้จากโฆษณาและรายได้จากการสมัครสมาชิกเพื่อใช้งานแพลตฟอร์ม โซเชียลมีเดียบางแพลตฟอร์มจึงปรับเปลี่ยนอัลกอริทึมครั้งใหญ่จนส่งผลกระทบต่อยอดรีช (Reach) และกลายเป็นประเด็นร้อนในวงการ
ข้อมูลจาก Hootsuite ระบุว่า อัตราเอนเกจเมนต์ของโพสต์แบบออร์แกนิกบนเฟซบุ๊กเฉลี่ยแล้วลดลงจาก 2.58% เหลือเพียง 1.52% ในเดือนกรกฎาคม 2566 การเปลี่ยนแปลงด้านอัลกอริทึมดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการทำงานของคอนเทนต์ครีเอเตอร์และสื่อมวลชนไม่น้อย บรรดาผู้ผลิตคอนเทนต์แต่ละเจ้าจึงต้องหาวิธีการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกันอย่างเต็มที่
เราต้องปรับตัวและเฝ้าตลอดเวลา การปรับเปลี่ยนอัลกอริทึมและนโยบายของแพลตฟอร์มทำให้เป็นงานค่อนข้างหนักสำหรับทีมงานในการเฝ้าระวัง พอเห็นว่าตัวเลขเริ่มลดลงทั้ง ๆ ที่คอนเทนต์เหมือนเดิม ทีมต้องตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้น ต้องเจาะ Insight data เพื่อเอามาปรับการทำงาน
คุณโปรดปราน หมื่นสุกแสง เจ้าหน้าที่บริหารสายงานกลยุทธ์และการตลาดจากบริษัททริปเปิล วี บรอดคาสท์ จำกัด (ไทยรัฐ ทีวี) กล่าวไว้ในบทสัมภาษณ์แนวโน้มสื่อไทยปี 2567
ทางด้าน คุณรวิศ เจ้าของรายการ Mission To The Moon มองว่า คอนเทนต์แต่ละประเภทมีความต่างกัน คอนเทนต์ครีเอเตอร์แต่ละคนเองก็มีลักษณะและรูปแบบการนำเสนอหรือแม้กระทั่งคาแรคเตอร์ส่วนตัวของผู้นำเสนอเองที่อาจจะเหมาะสมกับรูปแบบการนำเสนอแบบหนึ่ง หรือคนที่ทำวิดีโอแบบยาวได้ดีอาจจะทำวิดีโอแบบสั้นไม่ดีก็ได้ หรือบางคนอาจจะทำได้ทั้งสองอย่างก็เป็นไปได้ ดังนั้น คอนเทนต์ครีเอเตอร์จึงจำเป็นต้องทดลองไปเรื่อย ๆ
เอ็กซ์ (X) กับความพยายามในการสร้างรายได้
ขณะที่ เอ็กซ์ (X) หรือชื่อเดิมคือทวิตเตอร์ก็เป็นอีกแพลตฟอร์มที่พยายามหาทางสร้างรายได้ด้วยการเสนอบริการสมัครสมาชิกแบบรายเดือนหรือ “X premium” เพื่อเข้าถึงฟังก์ชันพิเศษต่าง ๆ เช่น เครื่องหมายติ๊กถูกสีฟ้า (Blue Checkmark) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แสดงการยืนยันตัวตนของผู้ใช้งาน รวมถึงการเขียนข้อความความยาวได้สูงสุด 25,000 อักษร เมื่อเทียบกับบริการทั่วไปที่ 280 ตัวอักษร และมีสิทธิ์รับส่วนแบ่งรายได้โฆษณาจากเอ็กซ์
นอกจากนี้ เอ็กซ์ยังได้เริ่มทดสอบเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการใช้งานแพลตฟอร์มในอัตรา 1 ดอลลาร์สหรัฐต่อปีสำหรับบัญชีใหม่ที่ต้องการโพสต์ข้อความหรือมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้งานรายอื่นในประเทศนิวซีแลนด์และฟิลิปปินส์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกวาดล้างบัญชีบอตและสแปมตั้งแต่ช่วงกลางเดือนตุลาคม 2566
จากการรวบรวมข้อมูลบนเอ็กซ์ (X) ระหว่างวันที่ 19 กันยายน – 9 พฤศจิกายน 2566 ผ่านเครื่องมือ DXT360 โดยบริษัท ดาต้าเซ็ต จำกัด ผู้ให้บริการ Media Intelligence & Social Liseteing Tool เพื่อฟังเสียงในสังคมออนไลน์ ในหัวข้อการเรียกเก็บค่าบริการจากผู้ใช้บริการเอ็กซ์ทุกราย พบว่า…
ผู้ใช้งานเอ็กซ์บางส่วนไม่เห็นด้วยกับกรณีที่เอ็กซ์วางแผนจะเรียกเก็บเงินค่าสมาชิกกับผู้ใช้งานทุกราย โดยผู้ใช้งานบางรายระบุว่าจะเลิกใช้บริการหากถูกเรียกเก็บเงินจริง แต่ผู้ใช้งานบางรายมองว่าตนเองยังมีเหตุผลให้ต้องใช้เอ็กซ์ต่อไป แม้ว่าจะไม่อยากจ่ายค่าสมาชิกก็ตาม
นอกจากนี้ ผู้ใช้งานบางรายได้ตำหนิเกี่ยวกับปัญหาบนระบบและเรียกร้องให้เอ็กซ์จัดการกับปัญหาสแปม ขณะที่บางรายได้กล่าวถึงบริการ X premium
ปี 67 คอนเทนต์แทรกความบันเทิงจะมาแรงบนโซเชียลมีเดีย เหตุผู้บริโภคเครียด
เนื่องจากสังคมในปัจจุบันเต็มไปด้วยความเครียด ทั้งปัญหาเศรษฐกิจและสังคม ดังนั้น ผู้บริโภคจึงต้องการคอนเทนต์ที่ผ่อนคลาย การนำเสนอความบันเทิงในคอนเทนต์จึงเปรียบเสมือนหนทางที่จะนำไปสู่รายได้และกำไร
ข้อมูลจาก Hootsuite ชี้ว่า ในปี 2567 แบรนด์ที่ทำคอนเทนต์สนุกสนานเบาสมองบนโซเชียลมีเดียจะประสบความสำเร็จในการดึงดูดความสนใจ และท้ายที่สุดก็จะสามารถชิงส่วนแบ่งการตลาดมาจากแบรนด์ที่ยังติดอยู่กับคอนเทนต์เดิม ๆ ขณะที่ผู้บริโภค 56% มองว่า แบรนด์ควรหันมาใช้โซเชียลมีเดียในการดำเนินธุรกิจมากยิ่งขึ้น
Topics
- แนวโน้มสื่อไทย 2568
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2568
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2567
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2566
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2565
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2564
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2563
- Thai Media Trends 2025 (English Version)
- Thailand Media Landscape 2024-2025 (English Version)
- Thailand Media Landscape 2023-2024 (English Version)
- Thailand Media Landscape 2022-2023 (English Version)
- Thailand Media Landscape 2021-2022 (English Version)