ภูมิทัศน์สื่อไทย 2566-2567
ตลาดอินฟลูเอนเซอร์โตต่อเนื่อง แต่ตัวตนต้องชัดเจนจึงจะอยู่รอด
- มกราคม 31, 2567
- 15:05 น.
ตลาดอินฟลูเอนเซอร์ยังคงเติบโตต่อเนื่องและมีขนาดใหญ่ขึ้น เนื่องจากจำนวนผู้เล่นหน้าใหม่ที่มากขึ้นเรื่อย ๆ ข้อมูลจากนีลเส็น ประเทศไทย พบว่า …
ประเทศไทยมีจำนวนอินฟลูเอนเซอร์มากถึง 2-3 ล้านราย เป็นรองเพียงอินโดนีเซียในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา ผนวกกับความนิยมของโซเชียลมีเดียอย่างติ๊กต๊อกที่เปิดพื้นที่ให้ผู้คนมากหน้าหลายตามาสรรค์สร้างคอนเทนต์ จนได้รับความนิยม และกลายเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง
หรืออาจกล่าวได้ว่าสถานการณ์โควิดเป็นตัวเร่งสำคัญที่ทำให้อินฟลูเอนเซอร์และครีเอเตอร์หน้าใหม่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
สอดคล้องกับความเห็นของคุณปราง โปรดปราน หมื่นสุกแสง เจ้าหน้าที่บริหารประสานงานกลยุทธ์และการตลาดไทยรัฐทีวี และไทยรัฐออนไลน์ ที่ได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับแนวโน้มสื่อไทยปี 67 ว่า …
ช่วงโควิดทำให้คนหันมาสนใจรับรู้ข่าวสารมากขึ้น โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์ ดาราเซเลบริตี้ รวมถึงครีเอเตอร์หน้าใหม่จึงเกิดขึ้นมากมาย อีกทั้ง อินฟลูเอนเซอร์ทั้งที่เป็นดาราและไม่ได้เป็นดารามาก่อนหันมาทำคอนเทนต์จนได้รับความนิยมเป็นอย่างมากจากผู้เสพสื่อ ถ้าก่อนหน้านี้เรื่องส่วนตัวของดาราเราจะไม่เคยเห็นง่ายๆ แต่วันนี้ตัวเขากลายเป็นคอนเทนต์เอง
คุณปราง กล่าว
ด้วยเหตุที่จำนวนอินฟลูเอนเซอร์เพิ่มขึ้นและหลากหลายมากขึ้น อินฟลูเอนเซอร์จึงต้องมีตัวตนที่แตกต่างและแท้จริง (Authenticity) เพื่อจะเฉิดฉายในระยะยาวในวงการ รศ.ดร. สมิทธิ์ บุญชุติมา อาจารย์ประจำภาควิชาการประชาสัมพันธ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองสถานการณ์อินฟลูเอนเซอร์ในไทยในปัจจุบันว่า …
ยิ่งมีอินฟลูเอนเซอร์หลากหลาย มีจำนวนมากยิ่งขึ้น ผู้คนก็จะเริ่มหาอินฟลูเอนเซอร์ที่มีความเป็นตัวเอง เป็นตัวตนที่แตกต่างและเป็นตัวจริงมากขึ้นเรื่อย ๆ อินฟลูเอนเซอร์คนไหน ไม่ใช่ตัวจริงรู้ไม่ลึกก็จะหลุดออกไป เพราะว่าคนรู้จักเลือกมากขึ้น เพราะตัวเลือกมีให้เลือกเยอะ ดังนั้นถ้าเกิดใครจะเป็นอินฟลูเอนเซอร์ก็ต้องเก่งจริง ถ้าเก่งไม่จริงมาแล้วก็ไป
อาจารย์สมิทธิ์ กล่าว
“แตกต่างและไม่เหมือนใคร” เคล็ดลับสร้างคอนเทนต์ออนไลน์ให้ปัง
ท่ามกลางคลื่นคอนเทนต์และครีเอเตอร์ ผู้คนมองหาและติดตามอินฟลูเอนเซอร์ที่นำเสนอคอนเทนต์ที่มีเอกลักษณ์และแตกต่าง ไม่ซ้ำใครมากขึ้น สอดคล้องกับข้อมูลจาก Tiktok Thailand ที่เปิดเผยในงาน TIKTOK CONNECT 360 ว่า
ผู้ใช้แพลตฟอร์มมีแนวโน้มที่จะติตตามครีเอเตอร์ที่มีคอนเทนต์และไลฟ์สไตล์ที่ไม่เหมือนใคร
และหนึ่งในครีเอเตอร์ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากคงหนีไม่พ้นคุณกัญจน์รัตน์ ศักดิ์กรธนาศิริ หรือ “พี่ไก่” ผู้ซึ่งได้รับฉายาว่าเป็นเจ้าแม่ติ๊กต๊อก นักธุรกิจหญิงแกร่งที่ผันตัวมาเป็นครีเอเตอร์ทำคลิปทำความสะอาดบ้านและทำอาหารจนกวาดรายได้ให้แก่ธุรกิจของเธอหลายร้อยล้านบาท
การเลือกนำเสนอคอนเทนต์ที่สังคมมองข้ามและมักไม่ค่อยมีใครทำ เช่น การทำความสะอาดบ้าน ล้างจาน หรือแม้แต่ขัดห้องน้ำ ทำให้คุณไก่เตะตาและแตกต่างจากผู้เล่นส่วนใหญ่บนแพลตฟอร์ม ประกอบกับเทคนิคการเล่าเรื่องที่เป็นกันเองด้วยน้ำเสียงละมุนชวนฟังก่อนจะเข้าช่วงนำเสนอสินค้าอย่างเนียน ๆ ที่สอดแทรกสาระยิ่งทำให้เธอโดดเด่น
ยกตัวอย่างเช่น คลิปทำความสะอาดบ้าน คุณไก่เลือกนำสัตว์เลี้ยงสุดรัก #เลี้ยงหมา17ตัว มาเป็นจุดสร้างความสนใจแรก โดยบอกเล่าความผูกพันหรือปัญหาที่พบจากการเลี้ยงสุนัขในแต่ละวัน เพื่อสร้างสตอรี่ที่น่าสนใจและตกผู้ชมได้เพียงไม่กี่วินาที ก่อนจะขายผลิตภัณฑ์ของเธออย่างเนียน ๆ เช่น V Clean หรือ Mixneral ด้วยการสาธิตการใช้งานจริง คอนเทนต์ที่ได้จึงมีความเป็นธรรมชาติ ไม่รู้สึกยัดเยียด แถมยังสร้างความรู้สึกเชิงบวกต่อผู้บริโภคหรือผู้เสพสื่อ
Photo Credit: ตัวอย่างการสร้างคอนเทนต์แบบ “พี่ไก่” (https://www.tiktok.com/@kanjaratsakdikorn)
การผลิตคอนเทนต์ที่เข้าใจและเข้าถึงผู้ชมต้องอาศัยการวางกลยุทธ์ที่ดี สำหรับคุณไก่นั้น เธอให้ความสำคัญกับรูปแบบคอนเทนต์ที่เข้าใจง่าย สื่อสารชัดเจน ภาพสวย เป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งสะท้อนให้เห็นผ่านคอนเทนต์อื่น ๆ เช่นกัน โดยเฉพาะคลิปการทำอาหารในบ้าน ที่ต้องอาศัยรูปและเสียงที่ดีเพื่อถ่ายทอดหน้าตาอาหารที่น่ารับประทานให้คนดูที่ชมผ่านทางออนไลน์
อีกทั้ง วิธีการบรรยายภาพอาหารที่ไม่ซับซ้อนคลอไปกับเสียงดนตรี และน้ำเสียงชวนฟังของพี่ไก่ทำให้ผู้ชมเพลิดเพลินและผ่อนคลายไปในช่วงเวลาสั้น ๆ ถึงขนาดเกิดความรู้สึกอยากชิมฝีมือกับการทำอาหารจากผลิตภัณฑ์อาหารแบรนด์รัญจวนของเธอ เช่น น้ำแกงส้ม หรือน้ำปลาร้า ที่ถูกนำเสนออยู่ในคลิป
ความสำเร็จในการนำเสนอคอนเทนต์ที่มาจากการเข้าใจพฤติกรรมผู้เสพสื่อเป็นอย่างดีไม่เพียงแต่สร้างยอดขายธุรกิจอย่างถล่มถลาย แต่ยังทำให้เกิดคอมมูนิตี้หรือฐานแฟนรายการได้เป็นจำนวนมาก
ไม่ว่าจะเป็นบรรดาทาสน้องหมาหรือกลุ่มที่ชื่นชมในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดบ้าน เครื่องปรุงอาหาร หรือแม้แต่ในความเป็นตัวตนของเธอเอง
“การทดลอง” กลยุทธ์สำคัญในการทำคอนเทนต์ยุคเสพสื่อกระจายตัว
การทดลองผลิตคอนเทนต์ในรูปแบบใหม่ ๆ ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นประเภทคอนเทนต์ รูปแบบการนำเสนอ หรือแพลตฟอร์มสื่อ กลายเป็นกลยุทธ์สำคัญของเหล่าครีเอเตอร์ยุคใหม่ เพื่อตอบรับกับพฤติกรรมการเสพสื่อและคอนเทนต์ของผู้บริโภคที่มีการแบ่งกลุ่มแยกย่อยและเฉพาะทางมากขึ้น คุณแท็ป รวิศ หาญอุตสาหะ ซีอีโอบริษัท ศรีจันทร์สหโอสถ จำกัด และเจ้าของรายการ Mission To The Moon ตอกย้ำกลยุทธ์นี้ว่า
เราทดลองตั้งแต่การทำคอนเทนต์ เพื่อดูว่า คอนเทนต์ประเภทไหนเป็นที่ชื่นชอบ รวมถึงรูปแบบการนำเสนอคอนเทนต์ เช่น วิดีโอสั้น เราก็พยายามทำอะไรที่คนดูชอบ เวิร์กบ้างไม่ดีบ้างปนกันไป การเติบโตของตัวสื่อมันอยู่ที่ว่าคอนเทนต์นั้นสอดคล้องกับสิ่งที่คนตามหาอยู่ตอนนั้นหรือเปล่า และสิ่งสำคัญคือต้องไม่หลุดกรอบของเสาหลักของเนื้อหา (Content pillar)
คุณวริศ กล่าว
ทั้งนี้ คุณรวิศและทีมงานยังให้ความสำคัญกับแพลตฟอร์มสื่อ และรูปแบบการนำเสนอ สำหรับ Mission To The Moon ซึ่งถนัดทำคอนเทนต์เชิงความรู้ที่เหมาะกับการนำเสนอในรูปแบบวิดีโอที่มีความยาวนั้น ก็พยายามทดลองนำเสนอคอนเทนต์ออกมาในรูปแบบใหม่ ๆ อย่างวิดีโอสั้น พยายามปรับคอนเทนต์ให้สั้นลง บางครั้งไม่ถึง 1 นาที หรือเล่าเรื่องที่ไม่ต้องใช้เวลามาก ในขณะเดียวกันก็ปรับลักษณะคอนเทนต์ให้สอดคล้องกับแต่ละแพลตฟอร์มสื่อที่ผู้บริโภคมีรูปแบบการเสพคอนเทนต์ไม่เหมือนกัน
ไม่ใช่เพียงทีมงานของ Mission To The Moon จะให้ความสำคัญกับ “การทดลอง” ทำคอนเทนต์ในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้ตอบโจทย์เทรนด์ Fragmentation เพียงเจ้าเดียว “คุณปราง” โปรดปราน หมื่นสุกแสง เจ้าหน้าที่บริหารสานงานกลยุทธ์และการตลาดไทยรัฐทีวี และไทยรัฐออนไลน์ เองก็มีมุมมองที่สอดคล้องกันในเรื่องนี้ คุณปราง กล่าวว่า
ครีเอเตอร์ต้องเรียนรู้คนดูและมอนิเตอร์ฟีดแบคของผู้อ่านอย่างสม่ำเสมอในแต่ละแพลตฟอร์ม เพื่อปรับรูปแบบการนำเสนอ โดยแต่ละแพลตฟอร์มจะมีความแตกต่างกันในแง่ของการบริโภค ประเภทของคอนเทนต์ ความสั้นยาว และเทคนิคการเล่าเรื่อง
ยกตัวอย่างเช่น พฤติกรรมของผู้เสพสื่อในเฟซบุ๊กก็จะแตกต่างจากผู้เสพคอนเทนต์จากยูทูบที่เต็มใจจะดูคลิปที่มีระยะเวลานานมากกว่า เป็นต้น
ดังนั้น เมื่อเข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภค คอนเทนต์ครีเอเตอร์ควรต้องผลิตคอนเทนต์ให้เหมาะสมในแต่ละแพลตฟอร์มสื่อด้วยการทดลองเพื่อหาว่าคอนเทนต์แบบใดใช่หรือไม่ใช่ สำหรับไทยรัฐ คุณปรางอธิบายว่า
เราจะทดสอบว่าปล่อยคอนเทนต์ลักษณะไหน Fly คอนเทนต์แบบไหนที่ไม่ Fly ต้องทดลองไปเรื่อย ๆ จนเจอ อันไหนดีเราก็จะเริ่มเทสรรพกำลังไปทิศทางนั้น แต่ก็วางใจไม่ได้ ต้องเฝ้าตลอดเหมือนกันเพราะความสนใจคน และอัลกอริทึมเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ
คุณปราง กล่าว
Generative AI ตัวช่วยทรงประสิทธิภาพของครีเอเตอร์
ในปัจจุบัน อินฟลูเอนเซอร์และคอนเทนต์ครีเอเตอร์หลายรายได้ใช้ตัวช่วยอย่างปัญญาประดิษฐ์แบบรู้สร้าง (Generative AI) หรือเจน เอไอ (Gen AI) เข้ามาสร้างคอนเทนต์ทั้งที่เป็นข้อความ ภาพ และวิดีโอ รวมถึงเรื่องของการตัดต่อ
คุณรวิศ หาญอุตสาหะ เจ้าของรายการและพอดแคสต์ Mission To The Moon มองว่า เอไอเป็นตัวช่วยในการทำคอนเทนต์ที่ดีโดยเฉพาะคอนเทนต์ดิจิทัล ช่วยทำให้งานเสร็จเร็วขึ้น โดยเปรียบเป็นเครื่องมือที่เหมือนช่วงที่เรามีคอมพิวเตอร์หรือว่าเครื่องคิดเลข ทุกคนสามารถเข้าถึงได้เหมือนกันหมด
แต่ความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากการนำเอไอมาใช้นั้น ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนจะนำไปประยุกต์ใช้อย่างไรให้ดีกว่ากัน สำหรับการผลิตคอนเทนต์ของ Mission to the moon เอง AI ถูกผนวกและประยุกต์ใช้ในเกือบทุกขั้นตอนการผลิต คุณรวิศกล่าวว่า
ผมคิดว่าเราใช้เยอะสุดก็คงเป็น ChatGPT และ Bard ซึ่งจะช่วยขึ้นโครงเรื่อง ทำสคริปต์ หรือบางครั้งเอาไว้ใช้ในการตรวจสอบเอกสารและคำศัพท์ เราก็ใช้ AI ตระกูลที่ใช้ทำรูป แล้วก็จะมี AI เช่น Pictory เอาไว้ตัดต่อวิดีโอให้เร็วขึ้นโดยไม่ต้องใช้คนตัด
คุณรวิศ กล่าว
ขณะเดียวกัน “คุณหนุ่ย” พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โชว์ไร้ขีด จำกัด ผู้ผลิตสื่อ แบไต๋ (Beartai) อินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังที่คลุกคลีกับวงการผลิตคอนเทนต์ ยอมรับว่า ปัญญาประดิษฐ์แบบรู้สร้างกลายมาเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่สำคัญของแบไต๋ในการช่วยผลิตคอนเทนต์ เพื่อขยายตลาดคอนเทนต์สู่ประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ด้วยการใช้เอไอแปลงคลิปจากต้นฉบับภาษาไทยเป็นภาษาท้องถิ่นของ 4 ประเทศ โดยที่ตัวครีเอเตอร์ไม่ต้องพากษ์เสียงหรือมีความรู้ในภาษานั้น ๆ เพียงแต่แปลงข้อความเป็นเสียงพูดด้วยเครื่องมือสร้างเสียงพากย์แทน
นอกจากนี้ แบไต๋ยังวางแผนจะนำปัญญาประดิษฐ์แบบรู้สร้างมาพัฒนาคอนเทนต์ในประเทศ โดยได้รับความร่วมมือจากบอทน้อย (BOTNOI) บริษัทเทคโนโลยีแปลงข้อความเป็นเสียงชั้นนำ ในการอัดเสียงภาษาไทยและภาษาอังกฤษอย่างละ 2,000 คำ ซึ่งจะกลายเป็นคลังคำศัพท์มากพอให้เอไอสามารถเรียนรู้และนำมา “สร้างใหม่” สำหรับพากษ์เสียงคลิปในอนาคตได้ กลยุทธ์นี้ไม่เพียงแต่จะช่วยประหยัดเวลา แต่จะทำให้ครีเอเตอร์มีเวลามากขึ้นไปทุ่มเทกับคอนเทนต์เชิงลึกที่ต้องใช้คนทำเท่านั้น เช่น การสัมภาษณ์ เพื่อทำให้คอนเทนต์มีมูลค่าเพิ่มขึ้น
ชิงสร้างคอมมูนิตี้หรือฐานแฟนคลับ หมากเด็ดของครีเอเตอร์
อีกหัวใจหลักที่จะทำให้เหล่าอินฟลูเอนเซอร์สามารถต่อยอดไปได้ก็คือ การสร้างคอมมูนิตี้หรือฐานคนดู ซึ่งมีโอกาสที่จะพัฒนาไปสู่แฟนด้อมหรือกลุ่มแฟนคลับที่คลั่งไคล้ในอินฟลูเอนเซอร์ จนนำไปสู่การให้การสนับสนุนอย่างเต็มพิกัด
สำหรับในเรื่องนี้ รศ.ดร. สมิทธิ์ บุญชุติมา อาจารย์ประจำภาควิชาการประชาสัมพันธ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า ฐานแฟนคลับเป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญสำหรับครีเอเตอร์ แม้แต่กระทั่งดาราเองจะต้องพยายามสร้างคอมมูนิตี้ของตนเองมาในลักษณะแบบแฟนด้อมของครีเอเตอร์ เพื่อรักษาความนิยม ซึ่งจะไม่เป็นแค่ดารา แต่ต้องมีความเป็นอินฟลูเอนเซอร์ในตัวด้วย (อ่านบทความ >> Fandom Marketing)
การสร้างคอมมูนิตี้สำหรับอินฟลูเอนเซอร์หรือครีเอเตอร์หน้าใหม่จึงกลายเป็นกลยุทธ์ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะกลุ่มนางงาม ซึ่งใช้ประโยชน์จากวัฒนธรรมฐานแฟนคลับเพื่อสร้างความผูกพันที่ใกล้ชิดกับฐานแฟน จนทำให้เกิดแรงสนับสนุนในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งผ่านการเปย์ โหวต หรือการอุดหนุนสินค้า/บริการ
สอดคล้องกับข้อมูลของ LINE OpenChat ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่นิยมใช้รวมตัวฐานแฟนคลับเพื่อพูดคุย แบ่งปัน อัปเดตข่าวสารกันแบบเรียลไทม์ ที่ระบุว่า จำนวนสมาชิกแฟนคลับกลุ่มนางงาม เติบโตเป็นอันดับหนึ่งเฉลี่ย 153% สูงกว่ากลุ่มอื่น ๆ ในช่วงหลังสถานการณ์โควิด-19
การสร้างคอมมูนิตี้ที่แข็งแกร่งและประสบความสำเร็จ ต้องเริ่มจากการมีแพลตฟอร์มหรือพื้นที่ส่วนกลางที่ดี ซึ่งเอื้อให้แฟนคลับสามารถทำกิจกรรมสนับสนุนครีเอเตอร์ที่ชื่นชอบ รวมถึงเป็นพื้นที่สำหรับครีเอเตอร์หน้าใหม่ในการสร้างคอมมูนิตี้
คุณปัฐกรณ์ หุ่นดี Head of B2C Marketing ของบริษัท LINE (ไลน์) ประเทศไทย ได้เปิดเผยในงาน Thailand Influencer Awards 2023 ซึ่งจัดโดย Tellscore ว่า ไลน์กำลังพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมเพื่อรองรับการรวมตัวกันของกลุ่มคนที่มีความหลงใหลในสิ่งเดียวกัน โดยเป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้เหล่าแฟนด้อมได้มารวมพลและพูดคุยกัน ผ่านกลยุทธ์ 4c ได้แก่
- Conversation (การพูดคุย)
- Connection (การเชื่อมต่อ)
- Content (คอนเทนต์) และ
- Commerce (การค้า)
นอกจากนี้ LINE ยังจัดแคมเปญอย่างต่อเนื่องเพื่อส่งเสริมครีเอเตอร์และอินฟลูเอนเซอร์หน้าใหม่ได้มีพื้นที่ในการสร้างคอมมูนิตี้ เมื่อเดือนสิงหาคม 2566 LINE จับมือกับการประกวดมิสยูเวิร์สไทยแลนด์ 2023 (MUT 2023) [4] เปิดพื้นที่พูดคุยผ่านทาง LINE OpenChat ระหว่างผู้เข้าประกวดแต่ละท่านและแฟนคลับ รวมถึงติดตามความเคลื่อนไหวของนางงามคนโปรด เพื่อต่อยอดไปสู่การสร้างฐานแฟนคลับหรือคอมมูนิตี้ที่แข็งแกร่งสำหรับนางงามแต่ละคน
โดยสรุปแล้ว อินฟลูเอนเซอร์ถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ยังได้รับความนิยมจากทั้งผู้บริโภค แบรนด์ และบริษัทต่าง ๆ แต่ด้วยจำนวนอินฟลูเอนเซอร์ที่เพิ่มขึ้นมากมาย จึงทำให้เกิดการแข่งขันกันสูง ซึ่งผู้บริโภคและแบรนด์น่าจะได้ประโยชน์จากการแข่งขัน ขณะที่ฝั่งอินฟลูเอนเซอร์ก็ต้องใช้กลยุทธ์ในการทดลองทำคอนเทนต์ในรูปแบบต่าง ๆ ให้ดึงดูดความสนใจผู้อ่านอยู่เสมอ รวมทั้งการสร้างฐานแฟนคลับด้วยเช่นกัน
อ้างอิง
- 10 เทรนด์มีเดีย ‘โฆษณา’ ยังทรงพลังทุกแพลตฟอร์ม. [ออนไลน์]. จาก https://www.bangkokbiznews.com/business/business/1050814
- เปิดจักรวาล “ชาวด้อม” บน LINE OpenChat เผยอินไซต์ในยุคที่การ “เข้าด้อม” เป็นมากกว่าเรื่องแฟนคลับไอดอล [ออนไลน์]. จาก https://www.ryt9.com/s/prg/3471027
- Media Talk: เจาะพลังของ”แบรนด์แฟนด้อม”ไปกับ 3 ยักษ์ใหญ่”อ้ายฉีอี้-ไลน์-Dek-D”. [ออนไลน์]. จาก https://www.infoquest.co.th/2023/335480
- LINE ชูจุดแข็ง “คอนเทนต์ – คอมมูนิตี้” เสริมแกร่ง. [ออนไลน์]. จาก https://www.thaipr.net/business/3371313