ภูมิทัศน์สื่อไทย 2566-2567
สำรวจเทรนด์ "Generative AI" และมุมมองสื่อไทย
- มกราคม 23, 2567
- 14:10 น.
ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หรือเอไอ (AI) เป็นเทคโนโลยีที่มาแรงและสร้างแรงสั่นสะเทือนในทุกวงการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจเนอเรทีฟ เอไอ (Generative AI) หรือเจ็น เอไอ (GEN AI) นับตั้งแต่ที่ได้มีการเปิดตัวแชตจีพีที (ChatGPT) เมื่อช่วงปลายปี 2565 เจ็น เอไอ ในรูปแบบต่าง ๆ ก็ได้กลายเป็นประเด็นที่ทุกวงการพูดถึง ไม่เว้นแม้แต่วงการสื่อมวลชน โดยในไตรมาส 2 และ 3 ของปี 2566 หัวข้อของการสัมมนาที่จัดขึ้นโดยองค์กรหรือบริษัทต่าง ๆ ในไทย จึงมีหัวข้อเกี่ยวกับบทบาทและความสำคัญของเอไอให้ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันโดยตลอด และตามมาด้วยคำถามยอดฮิตที่ว่า…
เอไอจะเข้ามาแทนที่การทำงานของมนุษย์จนทำให้สื่อมวลชนตกงานหรือไม่
ส่องกระแสเจ็น เอไอ ในไทย
ก่อนที่จะไปถึงคำตอบกับคำถามดังกล่าว เรามาดูความเคลื่อนไหวและกระแสของเจ็น เอไอ ในไทยว่าเป็นอย่างไรกันบ้าง มีหลายบริษัทและองค์กรในไทยที่ได้นำนำเจ็น เอไอ มาใช้และพัฒนาต่อยอดเอง เช่น บมจ.รุ่งเรืองตลอดไป (GLORY) ได้เปิดตัว Line @Alisa AI ซึ่งเป็นแชตบ็อตเอไอที่ผู้พัฒนาเคลมว่าทำได้มากกว่าแค่ตอบคำถาม และยังโปรยเอาไว้ด้วยว่าทำอะไรได้มากกว่าแชตจีพีที ไม่ว่าจะเป็นการตอบคำถาม สร้างรูปภาพ เขียนบทความ เขียนโค้ด รองรับภาษาไทยและใช้งานฟรี เพียงเพิ่มเพื่อน @Alisa บนโทรศัพท์มือถือ
ด้วยความที่เจ็น เอไอ ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในไทย ทำให้เฟซบุ๊ก กรุ๊ป หลายกลุ่มที่เป็นชุมชนรวมผู้ที่สนใจเรื่องการใช้เจ็น เอไอ ในการสร้างภาพ เช่น กลุ่ม AI CREATIVES THAILAND ซึ่ง ณ วันที่ 15 ธันวาคม 2566 มีสมาชิกกว่า 320,000 คน เมื่อเข้าไปดูแล้วจะพบว่ามีคนไทยนำภาพที่ตนเองใช้เอไอสร้างมานำเสนอกันมากมาย หรือรูปแบบที่นิยมกันก็จะเป็นการให้เอไอวาดภาพเพื่อให้คนในกรุ๊ปเล่นทายคำกัน เช่น ภาพนี้ ทายกันถูกไหมว่าหมายถึงสำนวนใด หรือทายถูกไหมว่ารูปนี้หมายถึงจังหวัดอะไร
การนำเอไอไปสร้างภาพไม่ได้จำกัดอยู่แค่ความสนุกสนานและความบันเทิงเท่านั้น เพราะมีผู้ใช้งานหลายรายนำเอไอไปสร้างภาพเพื่อใช้ในทางธุรกิจด้วย โดยในเฟซบุ๊กกลุ่มเดียวกันนี้ ก็มีสมาชิกในกลุ่มบางรายโพสต์ขอให้สมาชิกรายอื่น ๆ ในกลุ่มช่วยออกแบบโลโก้ให้ เช่น จะเปิดร้านขายหมูปิ้ง ขอให้สมาชิกในกลุ่มใช้เจ็น เอไอ ออกแบบโลโก้ร้านขายหมูปิ้งให้ ซึ่งแรก ๆ ยังมีคนขอให้ช่วยออกแบบโลโก้ไม่มาก และสมาชิกกลุ่มก็ยินดีออกแบบให้ เพราะถือเป็นการลองใช้เอไอออกแบบโลโก้ไปในตัว แต่เมื่อมีผู้ขอให้ออกแบบโลโก้บ่อยครั้งขึ้น ก็เริ่มมีสมาชิกหลายรายที่แสดงความไม่พอใจ เนื่องจากการขอเช่นนี้เป็นการเอาเปรียบบริษัทที่รับออกแบบโลโก้ ทำให้บริษัทเหล่านี้เสียรายได้
นอกจากจะทำให้บริษัทรับออกแบบโลโก้เสียรายได้แล้ว การใช้เอไอออกแบบโลโก้ก็ทำให้คำว่า “ลิขสิทธิ์” กลายเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจขึ้นมาเช่นกัน เนื่องจากเจ็น เอไอ สามารถสร้างผลงานที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับผลงานของผู้อื่นได้ ทำให้เกิดคำถามว่า ภาพที่เอไอทำขึ้นมีลิขสิทธิ์ไหม
ดร.ปริญญา หอมเอนก ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ เคยให้สัมภาษณ์กับไทยพีบีเอสไว้ว่า ผลงานจากเอไอไม่ใช่ผลงานที่รังสรรค์โดยมนุษย์ จึงไม่สามารถจดแจ้งลิขสิทธิ์ได้
ในกรณีที่เป็นการสร้างร่วมกันระหว่างมนุษย์กับเอไอนั้น ก็สามารถจดลิขสิทธิ์ได้ เช่น การทำการ์ตูนสักเรื่องหนึ่ง โดยที่เนื้อหาในเรื่องนั้นมนุษย์เป็นผู้คิด แล้วใช้เอไอวาดภาพประกอบให้ กรณีนี้สามารถจดลิขสิทธิ์ได้ ในทางกลับกัน ถ้าเอไอคิดและทำทั้งหมด ผลงานนั้นก็ไม่สามารถจดลิขสิทธิ์ได้ เช่น ให้เอไอแต่งเพลงรักสักเพลง ลักษณะนี้ก็จดลิขสิทธิ์ไม่ได้ เพราะไม่ใช่ผลงานของมนุษย์ที่คิดค้นขึ้นมา
ความคิดเห็นของดร.ปริญญา สอดคล้องกับที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาโพสต์ลงเฟซบุ๊กโดยยกตัวอย่างกรณีที่เกิดขึ้นในสหรัฐว่า ได้ปฏิเสธการจดแจ้งลิขสิทธิ์รูปภาพการ์ตูนเรื่องหนึ่ง โดยให้เหตุผลว่าภาพดังกล่าวไม่ใช่ผลงานการสร้างสรรค์ของมนุษย์ แต่เป็นผลจากเอไอ และหลังจากนั้นก็ได้เผยแพร่แนวทางการจดแจ้งงานลิขสิทธิ์ที่เกิดจากการสร้างสรรค์ของเอไอ ซึ่งกำหนดว่า งานที่สร้างสรรค์โดยเอไอไม่สามารถจดแจ้งลิขสิทธิ์ได้ ส่วนงานใดมีการสร้างสรรค์ร่วมกันทั้งโดยมนุษย์และเอไอก็จะต้องระบุให้ชัดเจนตอนยื่นขอจดแจ้งลิขสิทธิ์ด้วย
ผลกระทบที่เจ็น เอไอ มีต่อวงการสื่อไทย
หลายฝ่ายมองว่า หนึ่งในวงการที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากเอไอในไทย คือ วงการสื่อมวลชน เพราะเอไอแทบจะทำงานแทนมนุษย์ได้ในหลายส่วน ...
เช่น เขียนข่าว แปลภาษา เขียนโฆษณา รวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ เพื่อนำมาวิเคราะห์ภายในครั้งเดียว หรือจะเป็นการนำเอไอมาอ่านข่าวเหมือนกับที่ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสได้ใช้เอไอมาอ่านคอนเทนต์ประเภทข่าวให้ฟังผ่านทางเว็บไซต์ของสถานี โดยนำเอไอมาใช้งานด้วยการเลือกเสียงผู้ประกาศของทางสถานีมาอ่านข่าววิทยาศาตร์ เทคโนโลยี ไอที และข่าวไลฟ์สไตล์ที่น่าสนใจในรูปแบบไฟล์เสียงเพียงอย่างเดียว และระบุให้ทราบอย่างชัดเจนว่าข่าวชิ้นนี้ใช้เอไออ่านข่าว
แม้เอไอจะมีข้อดีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นตัวช่วยในการเขียนบทความ สร้างรูปภาพ รวบรวมข้อมูล หรือสร้างวิดีโอด้วยการป้อนคำสั่งง่าย ๆ จนกลายเป็นเครื่องมือหรือตัวช่วยในการทำงาน แต่ในวงการสื่อไทยแล้ว ยังเรียกได้ว่า อยู่ในขั้นเริ่มต้น สำนักข่าวหลายแห่งอยู่ในช่วงการทดลองใช้งานว่าเอไอสามารถทำอะไรให้ได้บ้าง
หากจะพูดถึงเอไอยอดนิยมอย่างแชตจีพีทีแล้ว รศ. ดร. มนวิภา วงรุจิระ จากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ได้เปิดเผยผลการศึกษาหัวข้อ “การใช้แชตจีพีทีในห้องข่าวของสำนักข่าวในประเทศไทย” ในงาน Thai PBS World Forum ซึ่งจัดโดย Thai PBS World ในหัวข้อ “AI and the Future of Newsroom” ว่า สื่อมวลชนไทยยังไม่ค่อยนิยมใช้เอไอในการทำงานสักเท่าไหร่นัก แต่เลือกใช้เอไอในรูปแบบของการทดลองใช้มากกว่าการใช้งานจริงจัง เนื่องจากคนส่วนใหญ่มองว่าข้อมูลที่ได้จากเอไอนั้นยังขาดความน่าเชื่อถือ
นอกจากความเสี่ยงในเรื่องความน่าเชื่อถือของข้อมูลแล้ว “ภาษาไทย” ก็กลายเป็นอีกหนึ่งในอุปสรรคหลักของการใช้งานเอไอของคนไทย โดยผลวิจัยชี้ให้เห็นถึงอุปสรรคที่เกิดขึ้นจากกำแพงภาษา เนื่องจากภาษาไทยมีความซับซ้อน หรือเรียกง่าย ๆ ว่า ภาษาไทย “ดิ้นได้” ทำให้การป้อนคำสั่งเอไอมีความยากลำบากกว่าภาษาอังกฤษหลายเท่า หากเว้นวรรคผิดตำแหน่ง ความหมายของประโยคหรือคำสั่งก็ผิดเพี้ยนไปได้
ด้านคุณระวี ตะวันธรงค์ Board Advisor ของเพจ The Modernist และส่องสื่อ เปิดเผยในงานเดียวกันนี้ว่า หลาย ๆ คนเริ่มแสดงความกังวลกับการเข้ามาของเอไอในห้องข่าว เนื่องจากกลัวว่า ตนเองจะถูกแทนที่ด้วยเอไอ ด้วยสภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน องค์กรหลาย ๆ องค์กรมีความจำเป็นที่จะต้องลดต้นทุน ตำแหน่งงานใดที่สามารถใช้เทคโนโลยีเข้ามาแทนได้ สุดท้ายแล้วผู้ที่ทำงานในตำแหน่งนั้น ๆ มักถูกปลดออกในที่สุด โดยตำแหน่งที่มีโอกาสที่จะเผชิญกับสถานการณ์ดังกล่าว ได้แก่ นักแปลและรีไรท์เตอร์
อย่างไรก็ดี คุณสุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้ง COFACT อีกหนึ่งวิทยากรในงานนี้ ก็ได้ร่วมแชร์มุมมองและประสบการณ์ของตนเอง
ถึงแม้กระแสเอไอจะมาแรงในทุกมุมโลก แต่สำหรับประเทศไทยนั้นยังมี “แรงเฉื่อย” ที่รั้งความเร็วของเอไอไว้อยู่ โดยแรงเฉื่อยที่ว่านั้นคือ รูปแบบของสังคมไทย โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงวัย เนื่องจากสังคมไทยชอบการพูดคุยกันและการมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์โดยตรงมากกว่าการพูดคุยโต้ตอบกับ “แชตบ็อต” จึงทำให้กระแสความสนใจในการใช้งานเอไอในไทยนั้นไม่ได้มากเท่าไรนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่น
แล้วคนข่าวควรรับมืออย่างไร
เพื่อให้สื่อมวลชนไทยมีความเท่าทันกับทั่วโลก การเปิดรับประสิทธิภาพของปัญญาประดิษฐ์ด้วยการปรับตัวให้เท่าทันจะเป็นการเดินหน้าสู่อนาคตที่ดีได้ ในการนี้ ผศ. ดร. สกุลศรี ศรีสารคาม จากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้สรุปความถึงการใช้งานเอไอในห้องข่าวจากที่ได้ศึกษาหาข้อมูลว่าเอไอสามารถนำมาใช้งานได้ในขั้นตอนใดบ้าง
ใช้เอไอในการช่วยค้นหาและรวบรวมข้อมูล
ใช้เอไอในการเสนอแนะไอเดียในการเขียน หรือการตัดแต่งรูปภาพและวิดีโอ และ
นำเอไอมาช่วยในการเพิ่มยอดเข้าถึงคอนเทนต์ต่าง ๆ
ผศ. ดร. สกุลศรี ให้ความเห็นว่า การนำเอไอมาใช้งานในส่วนนี้ สามารถลดภาระและประหยัดเวลาทำงานลงไปได้ ซึ่งจะทำให้คนทำงานมีเวลาไปโฟกัสกับการสร้างคอนเทนต์ที่มีคุณภาพและสร้างสรรค์มากยิ่งขึ้น และเสริมสิ่งที่มีแต่มนุษย์ทำได้ เช่น เพิ่มความสร้างสรรค์หรือข้อมูลเชิงลึก เพื่อเพิ่มคุณค่า (Value) เข้าไปในงาน
ขณะเดียวกัน ดร. ปรัชญา บุญขวัญ นักวิจัยจากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ซึ่งดูแลโครงการพัฒนาเอไอสำหรับคนไทย มองว่า …
หน้าที่ของเอไอในห้องข่าวอาจจะแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน คือ “งานนักข่าว” และ “งานบรรณาธิการ” โดยในส่วนของงานนักข่าว เจ็น เอไอ จะช่วยอำนวยความสะดวกในด้านการค้นคว้า กลั่นกรอง และเรียบเรียงเนื้อหา ไปจนถึง “ย่อย” ข้อมูลซับซ้อนให้ออกมาเป็นสำนวนที่เข้าใจง่าย เหมาะสำหรับผู้บริโภคสื่อทั่วไป
นอกจากนี้ งานเขียนที่ผลิตโดยการป้อนข้อมูลให้กับแชตจีพีทียังสามารถใช้เป็นแนวทางตั้งต้นสำหรับนำมาพัฒนาต่อเป็นบทความฉบับสมบูรณ์ได้อีกด้วย
ขณะที่ในส่วนของงานบรรณาธิการ ซึ่งปัจจุบันนี้ยังคงต้องใช้เวลาส่วนมากไปกับการคัดกรองข้อมูลด้วยตัวเอง เจ็น เอไอ ก็สามารถเข้ามาช่วยอ่านเนื้อหา สรุปใจความสำคัญ ตรวจทานความถูกต้องเหมาะสม และแก้ไขงานให้ได้
ดังนั้น การใช้เอไอ นอกจากจะช่วยทุ่นแรงและเวลาในขั้นตอนงานประจำแล้ว ยังเป็นการเปิดโอกาสให้นักข่าวและบุคลากรในสายงานสื่อมวลชนได้ทุ่มเทเวลาและความสามารถไปกับการผลิตงานที่ต้องการความคิดสร้างสรรค์ การคิดวิเคราะห์ และ “ความเป็นมนุษย์” อย่างเต็มที่ เช่น งานเชิงสืบสวน หรือการเจาะลึกประเด็นต่าง ๆ นับว่าเป็นประโยชน์อีกข้อที่น่าสนใจ และควรใช้ประกอบการพิจารณาในห้องข่าวทุกสำนัก สอดคล้องกับความคิดเห็นของผศ. ดร. สกุลศรี ที่ว่า เราต้องรู้จักเสริมสิ่งที่มีแต่มนุษย์ทำได้ เพื่อเพิ่มคุณค่าเข้าไปในงาน
"เจ็น เอไอ" โอกาสสำหรับครีเอเตอร์
ในฐานะครีเอเตอร์ชื่อดังที่คลุกคลีกับวงการผลิตคอนเทนต์มาอย่างโชกโชน คุณหนุ่ย พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โชว์ไร้ขีด จำกัด ผู้ผลิตสื่อ แบไต๋ (Beartai) เปิดเผยในงาน Thailand Influencer Awards 2023 ซึ่งจัดขึ้นโดยเทลสกอร์ (Tellscore) ว่า เจ็น เอไอ เป็นเครื่องมือที่ช่วยประหยัดและย่อระยะเวลาในการทำงาน จากเดิมที่บางงานต้องใช้เวลาในการทำหลายวัน ด้วยการใช้เอไอ งานหนึ่งชิ้นสามารถเสร็จได้ด้วยระยะเวลาที่สั้นลงมาก ทำให้คอนเทนต์ครีเอเตอร์มีเวลามากขึ้นสำหรับการทุ่มเทกับคอนเทนต์เชิงลึกที่ต้องใช้มนุษย์เป็นผู้ทำ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับคอนเทนต์แทน
การประหยัดระยะเวลาในการทำงานนั้นมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งกับธุรกิจ เพราะต้นทุนที่สำคัญและแพงที่สุดของธุรกิจ คือ “เวลา” ธุรกิจสามารถลดขั้นตอนการทำงานที่ไม่จำเป็นต้องใช้คนได้ด้วยการใช้เอไอ แล้วมอบหมายให้คนมาเป็นผู้สั่งและดูแลการสร้างงานด้วยเอไอแทน เพื่อให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด
อย่างไรก็ดี คุณหนุ่ยย้ำเตือนว่าเจ็น เอไอ เป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่สมองของมนุษย์ที่จะสามารถมาแทนคนได้ 100% แต่มนุษย์จำเป็นต้องเรียนรู้ให้เท่าทันเอไอ พร้อมกับเปรียบเทียบให้เห็นภาพว่าเอไอก็เหมือนปุ่มในการทำงานปุ่มหนี่ง ที่ปุ่มนี้จะมีศักยภาพได้ก็ต้องมีมนุษย์เป็นผู้กด และมนุษย์ในวงการคอนเทนต์จึงต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมและอยู่รอดในฐานะ “ผู้ค้าแรงนิ้ว” หรือผู้กดปุ่มสั่งงานเอไอไปกับเทคโนโลยีให้ได้
ผู้บริหารสื่อชั้นนำในไทย มองบทบาทของเอไออย่างไรบ้าง
ไทยรัฐเป็นสื่อยักษ์ใหญ่ระดับตำนานที่ยังคงโลดแล่นอยู่ในโลกดิจิทัลซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาได้ แต่เมื่อเจ็น เอไอ ได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับวงการสื่อ ซึ่งถูกตั้งคำถามว่าเอไอจะเข้ามาทำงานแทนจนทำให้สื่อมวลชนตกงานกันหรือไม่
“คุณปราง” โปรดปราน หมื่นสุกแสง เจ้าหน้าที่บริหารสานงานกลยุทธ์และการตลาด ไทยรัฐทีวี และไทยรัฐออนไลน์ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอินโฟเควสท์เกี่ยวกับการใช้เอไอช่วยในการเขียนข่าวหรือสร้างคอนเทนต์ว่า ไทยรัฐก็มีทดลองใช้เอไอเขียนข่าวอยู่บ้าง แต่การใช้เอไอมีข้อควรระวัง โดยเฉพาะในการเอาเอไอมาทำงานข่าว เราไม่สามารถไว้ใจได้ร้อยเปอร์เซ็นต์
คุณปรางมองบทบาทของเอไอว่า เจ็น เอไอ เกิดมาเพื่อคนทำคอนเทนต์ โดยจะช่วยให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น เอไอช่วยนักข่าวถอดคลิปเสียง ไม่ต้องกลับไปนั่งฟังนั่งพิมพ์ถอดความ ทำให้นักข่าวประหยัดเวลาลงได้อย่างมาก และเอาเวลาไปโฟกัสกับการรีไรต์ ปรับเนื้อหาให้ดีขึ้นไปอีกได้
เอไอจะช่วยย่นย่อประหยัดเวลา ไม่ได้หมายความว่าคนจะตกงาน แต่มันคือโอกาสที่คนจะทำงานเก่งขึ้นด้วยซ้ำ เช่น นักข่าวมีเวลาไปทำอย่างอื่นมากขึ้น หรือครีเอทีฟของไทยรัฐเองทำงานเพื่อไปนำเสนอลูกค้าได้มากขึ้นในเวลาเท่าเดิม
ถ้าคุณไม่เข้าใจเอไอ ก็จะทำให้กลัวว่ามันจะมาแทนที่คน จะอ่านข่าวแทนเรา จะเขียนข่าวแทนเรา แต่ถ้าลองทำความเข้าใจ ศึกษาเครื่องมือต่าง ๆ จะพบว่าเอไอช่วยเรา ให้เราทำงาน Effective & Efficient มากขึ้น ซึ่งก็จะทำให้เราเก่งขึ้นด้วย
คุณปราง กล่าว
ทิศทางเจ็น เอไอ ในอนาคต
ปัจจุบัน เจ็น เอไอ เพิ่งจะอยู่ในช่วงเริ่มต้นเพียงเท่านั้น ซึ่งเมื่อมีการนำข้อมูลมาเทรนเอไอมากขึ้น เจ็น เอไอ ก็จะมีความชาญฉลาด และอาจเทียบกับมนุษย์ได้ในบางเรื่อง สักวันหนึ่งอาจได้เอไอที่สร้างภาพ วิดีโอ คำพูด และข้อความต่าง ๆ แบบที่ดูไม่ออกว่าเอไอสร้างขึ้นก็เป็นได้
สำหรับไทยแล้ว ปัญหาใหญ่ที่ผู้ใช้ส่วนมากพบเจอและเป็นสาเหตุให้เอไอในไทยยังไม่แพร่หลายเท่าที่ควร คือ การที่เจ็น เอไอ ใช้ภาษาไทย “ไม่ถูกต้อง” ผลลัพธ์ที่ออกมามักจะวกวน เข้าใจยาก สำนวนภาษาไม่เป็นธรรมชาติ หรือผิดจากคำสั่งไปอย่างสิ้นเชิง ก่อให้เกิดปัญหาและความล่าช้า
ทั้งหมดนี้ล้วนมีสาเหตุมาจากการที่ปัญญาประดิษฐ์เกือบทุกตัวถูกพัฒนาขึ้นโดยผู้ผลิตหรือธุรกิจที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ และอาศัยอยู่ในบริบททางสังคมแบบตะวันตก ข้อมูลที่มีการป้อนลงใน “ถังข้อมูล” เพื่อพัฒนาเอไอจึงมีจำกัด ไม่เพียงพอที่จะตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ที่มีพื้นเพหลากหลายจากทั่วโลกได้
คุณกิตติพงศ์ ผู้บริหารบริษัท โพรเมซส์ จำกัด ได้เสนอให้ผู้ใช้งานเอไอ ไม่ว่าจะเป็นองค์กร สำนักข่าว หรือบริษัทช่วยกันป้อนข้อมูลภาษาไทยให้กับเอไอ เพื่อค่อย ๆ พัฒนาให้ระบบมีความคุ้นเคยกับคำศัพท์ โครงสร้างภาษา และบริบททางสังคมมากขึ้น โดยคัดเลือกข้อมูลที่มีคุณภาพ น่าเชื่อถือ ปราศจากอคติหรือความเกลียดชัง ซึ่งจะช่วยสร้างรากฐานที่ดีให้เจ็น เอไอ นำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตงานได้
กระบวนการป้อนข้อมูลให้ “โอเพนเอไอ” เวอร์ชันภาษาไทย จะประสบความสำเร็จได้อย่างรวดเร็วก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากวงการสื่อมวลชน หากสำนักข่าวทั้งหลายในไทย ซึ่งมีข้อมูลหรือข่าวที่ผ่านการกลั่นกรองจากกองบรรณาธิการมาแล้วและมีข้อมูลข่าวอยู่ในครอบครองเป็นจำนวนมากได้มารวมตัวกันเพื่อสร้าง
ยิ่งไปกว่านั้น ถังข้อมูลดังกล่าวยังสามารถนำมาพัฒนาต่อยอดให้เป็นโอเพนเอไอที่อำนวยความสะดวกต่องานสื่อสารมวลชนโดยเฉพาะได้อีกด้วย
แต่ข้อเสนอนี้ก็ยังมีแนวโน้มว่าจะก่อให้เกิดปัญหาตามมา ทั้งปัญหาในเชิงกฎหมาย ข้อบังคับต่าง ๆ เกี่ยวกับการเผยแพร่ข้อมูลสาธารณะ รวมไปถึงปัญหาด้านจริยธรรม จรรยาบรรณสื่อ และปัญหาลิขสิทธิ์ เนื่องจากห้องข่าวหรือสื่อที่ตกลงให้ความร่วมมืออาจจะต้องสละสิทธิ์ในชิ้นงานและข้อมูลที่มีให้เป็นของส่วนกลาง นำมาซึ่งการสูญเสีย “Exclusivity” หรือความพิเศษ เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของแต่ละสำนัก
ถึงจุดนี้ อาจกล่าวได้ว่า เราคงจะไม่สามารถเมินเฉยหรือปฏิเสธบทบาทของเอไอได้อีกต่อไปแล้ว การพัฒนาตนเองให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะมาถึงในอนาคตอันใกล้ การเปิดใจยอมรับ และยอมเสียสละค่านิยมเก่า ๆ บางส่วนไป อาจนำมาซึ่งประโยชน์ในระยะยาวที่จะช่วยให้ข้อมูลข่าวสารสามารถพัฒนาไปได้ไกลกว่าเดิม
Topics
- แนวโน้มสื่อไทย 2568
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2568
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2567
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2566
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2565
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2564
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2563
- Thai Media Trends 2025 (English Version)
- Thailand Media Landscape 2024-2025 (English Version)
- Thailand Media Landscape 2023-2024 (English Version)
- Thailand Media Landscape 2022-2023 (English Version)
- Thailand Media Landscape 2021-2022 (English Version)