ส่องวิถีพีอาร์ยุคดิจิทัลไปกับ "ดีดี้" ณัฏฐณิชา สังขะทรัพย์ เอ็มดี Solister PR: ทำงานพีอาร์ต้องเร็ว ชี้ปี 66 อินฟลูเอ็นเซอร์ยังฮ็อต
- ธันวาคม 16, 2565
- 11:04 น.
การทำพีอาร์ในปัจจุบันต้องอัปเดตข่าวสารความรู้แทบจะตลอด 24 ชั่วโมง จากทุกสื่อทั้งสิ่งพิมพ์ สื่อออนไลน์ และโซเชียลมีเดีย รวมถึงการพูดคุยกันภายในทีมว่าตอนนี้มีเทรนด์อะไรเกิดขึ้นบ้างและจะแนะนำลูกค้าอย่างไร เรียกได้ว่าการทำงานพีอาร์ต้องรวดเร็ว การทำงานในวงการนี้เป็นการทำงานที่หนักกว่าเมื่อก่อนมาก
คุณดีดี้ ณัฏฐณิชา สังขะทรัพย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โซลิสเตอร์ พีอาร์ จำกัด ซึ่งมีประสบการณ์ในการทำงานพีอาร์มากว่า 20 ปี ได้บอกเล่าถึงวิถีพีอาร์ในยุคดิจิทัล
นอกจากนี้การทำงานในวงการพีอาร์ ไอเดียต้องสดใหม่ตลอดเวลา จะใช้ไอเดียเมื่อ 10 ปี หรือ 6 เดือนที่แล้วอาจจะไม่ได้ อย่างวันนี้เราใช้วิธีเชิญสื่อแบบนี้ แต่พรุ่งนี้วิธีเดียวกันนี้อาจจะไม่เวิร์คสำหรับเราแล้วก็ได้ ดังนั้นจึงต้องมีวิธีในการจัดการ
โดยคุณดีดี้ได้ยกตัวอย่างของการจัดงานเพื่อรีวิวอาหารในระดับมิชลินสตาร์ว่า การจัดไฟน์ ไดนิ่ง (Fine Dining) เพื่อรีวิวอาหารระดับมิชลินสตาร์นั้น เราอาจจะต้องจัดการรีวิวให้สื่อเป็นรอบ ๆ เช่น กลุ่มสื่อที่เป็นสำนักข่าวและสื่อนิตยสาร อีกกลุ่มก็จะเป็นกลุ่ม KOL (Key Opinion Leader) หรือบล็อกเกอร์ (Blogger) เพราะความสนใจในการทำคอนเทนต์ของสื่อแต่ละประเภทมีความแตกต่างกัน บางสื่ออาจจะต้องการรายละเอียดข้อมูลของอาหารมากกว่า ขณะที่กลุ่ม KOL บล็อกเกอร์ ก็จะเน้นการถ่ายรูปสวย ๆ ถ่ายรีวิวให้คนเห็นแล้วอยากมาทานอาหารตาม นี่ก็เป็นอีกหนึ่งเทรนด์ของการทำพีอาร์ในปัจจุบัน
ซึ่งสิ่งสำคัญคือ เราจะต้องมีวิธีการจัดการหรือคิดกลยุทธ์ให้แมทช์กับคอนเทนต์และช่องทางที่จะสื่อออกไป
คุณดีดี้ กล่าว
สื่อสิ่งพิมพ์ยังได้ไปต่อ เหตุธุรกิจแฟชั่นยังใช้เพื่อนำเสนอภาพลักษณ์
คุณดีดี้ ยังได้กล่าวถึงสถานการณ์สื่อในปัจจุบันว่า ต้องยอมรับว่าสื่อสิ่งพิมพ์ในปัจจุบันได้รับความนิยมน้อยลง แต่ว่ายังมีความสำคัญอยู่ในแง่ของการนำเสนอภาพลักษณ์ให้กับแบรนด์แฟชั่นลักซ์ชัวรีที่ส่วนใหญ่ยังมีความต้องการที่จะลงคอนเทนต์ในสิ่งพิมพ์ที่เป็นนิตยสารอยู่ เนื่องจากเป็นโปรโตคอลจากบริษัทแม่ในต่างประเทศที่ยังต้องใช้นิตยสารในการนำเสนออิมเมจและภาพของสินค้าอยู่ แต่อย่างไรก็ตาม การใช้สื่อสิ่งพิมพ์อย่างนิตยสารในธุรกิจอื่น ๆ นั้น ขึ้นอยู่กับเป้าหมายของธุรกิจแต่ละประเภท
ส่วนสื่อออนไลน์ และโซเชียลมีเดีย ถือว่าเป็นสื่อที่ได้รับความนิยมมากอยู่แล้ว และได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ตามพฤติกรรมของคนที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย โดยเฉพาะโซเชียลมีเดีย ทำให้การทำพีอาร์เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ปัจจุบันลูกค้าต้องการลงคอนเทนต์บนเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมมากกว่าเว็บไซต์ แต่โดยส่วนตัวแล้ว คุณดีดี้จะแนะนำลูกค้าว่าการลงคอนเทนต์บนเว็บไซต์เปรียบเสมือนการนำเสนอภาพลักษณ์ขององค์กรหรือบริษัทที่เสิร์ชเมื่อไรก็ยังเจอข่าวและรูปภาพที่ต้องการนำเสนอ
ในขณะเดียวกัน แม้ว่าเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมจะมีข้อได้เปรียบในเรื่องของความรวดเร็ว แต่พรุ่งนี้เราอาจจะไม่เห็นข่าวของเราในหน้าฟีดบนโซเชียลมีเดียเหล่านี้แล้วก็เป็นได้
คุณดีดี้ กล่าว
ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญในการทำพีอาร์ คือ การเลือกใช้สื่อให้เหมาะกับแบรนด์หรือสินค้า เช่น หากเป็นแบรนด์ที่แมสมาก ๆ ก็ยังต้องเลือกใช้สื่อที่เข้าถึงกลุ่มคนจำนวนมากอยู่ แต่ถ้าเป็นแบรนด์เฉพาะกลุ่ม (Niche) หรือแบรนด์ไฮเอนด์ ก็ยังมีการเลือกใช้สื่อที่เป็นนิตยสารให้เหมาะกับกลุ่มเป้าหมาย ทั้งนี้ คุณดีดี้ยังเสริมด้วยว่า นอกเหนือจากสื่อเดิมที่ลูกค้าใช้อยู่แล้ว ลูกค้ายังมีเลือกใช้อินฟลูเอ็นเซอร์เป็นจำนวนมากด้วยเช่นกัน เพราะใช้แล้วให้ผลลัพธ์กลับมาในรูปแบบที่สามารถจับต้องได้ คือ ผู้บริโภคเข้ามาซื้อสินค้าจริง
การทำพีอาร์ผ่านอินฟลูเอ็นเซอร์และ KOL ยังได้รับความนิยมอยู่
คุณดีดี้ มองว่า ปี 2565 การใช้อินฟลูเอ็นเซอร์และ KOL เป็นเทรนด์ในการทำพีอาร์ที่ยังได้รับความนิยมและไปได้ต่อ เพราะลูกค้าบางกลุ่มต้องการใช้แต่อินฟลูเอ็นเซอร์ในการทำพีอาร์เท่านั้น ตัวอย่างเช่น สินค้ากลุ่มความงาม (Beauty) ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยใช้จ่ายงบประมาณในสื่อดั้งเดิมแล้ว แต่จะเลือกใช้บิวตี้บล็อกเกอร์ หรือ KOL แทนมากกว่า
อย่างไรก็ตาม คุณดีดี้ยังมองว่า สื่อดั้งเดิมอย่างนิตยสาร หรือสำนักข่าว ก็ยังมีความจำเป็นต่อการทำงานพีอาร์อยู่เช่นกัน ในแง่ของการสร้างภาพลักษณ์ของบริษัทหรือองค์กรของแบรนด์ต่าง ๆ ซึ่งถือว่ามีความสำคัญมาก แต่การเลือกทำการตลาดผ่านอินฟลูเอ็นเซอร์และ KOL จะช่วยได้ในเรื่องของการนำเสนอภาพลักษณ์ของแบรนด์ พร้อมๆ กับจุดขายและคุณประโยชน์ของสินค้าที่ตรงกลุ่มเป้าหมายมากยิ่งขึ้น สร้างความเชื่อเกี่ยวกับสินค้าที่เรียลกว่าช่องทางอื่น ดังนั้นจึงช่วยเสริมในเรื่องของการขายสินค้าได้เป็นอย่างดี ดังนั้นในยุคนี้การทำให้สินค้ามีภาพลักษณ์ที่ดูดีและคนสนใจอยากจะซื้อสินค้านั้นถือว่ามีความสำคัญมากกว่าการบอกเล่าหรือนำเสนอข้อมูลข่าวสาร
สำหรับอินฟลูเอ็นเซอร์ในกลุ่มที่เป็นเวอร์ชวล อินฟลูเอ็นเซอร์นั้น ( Virtual Influencer) ก็ยังเป็นกลุ่มที่ถูกพูดถึงเช่นกันแม้ว่าจะดูเงียบ ๆ ไปหลังกระแสเมตาเวิร์ส คุณดีดี้มองว่า เวอร์ชวลอินฟลูเอ็นเซอร์มีความเพอร์เฟกต์ในแง่ที่เราสามารถกำหนดรูปร่าง หน้าตา การแต่งตัวของเวอร์ชวล อินฟลูเอ็นเซอร์ให้ออกมาในรูปแบบใดก็ได้ตามที่เราต้องการ ส่วนกลุ่มธุรกิจที่เลือกใช้เวอร์ชวลอินฟลูเอ็นเซอร์ในการทำพีอาร์หรือการตลาดนั้น ก็น่าจะเป็นกลุ่มสินค้าไลฟ์สไตล์ หรือแฟชั่น เพราะช่วยเสริมเรื่องภาพลักษณ์ของแบรนด์และยังถือเป็นเรื่องที่แปลกใหม่ในไทย
บทบาทของอินฟลูเอ็นเซอร์และกลยุทธ์ในการเลือกอินฟลูเอ็นเซอร์ให้เหมาะกับสินค้า
การเลือกอินฟลูเอ็นเซอร์ให้กับแบรนด์แต่ละแบรนด์นั้นมีความแตกต่างกัน ในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 คุณดี้ได้มีโอกาสทำพีอาร์ให้กับแบรนด์เครื่องประดับไฮเอนด์ ซึ่งเชิญดาราไปร่วมงานแฟชั่นวีคในต่างประเทศ ซึ่งมีดาราไทยเดินทางไปไปร่วมงานแฟชั่นวีคเป็นจำนวนมาก
สิ่งแรกที่เราต้องคิดเลยคือทำอย่างไรให้แบรนด์แตกต่างและจะแย่งชิงพื้นที่ข่าวมาได้อย่างไร เราต้องคุยกับลูกค้าก่อนเป็นอันดับแรกว่า สินค้าที่ต้องการนำเสนอคืออะไร มีความ Unique หรือความพิเศษอย่างไร เพราะเราจะต้องหาประเด็นหรือคอนเทนต์ในการทำพีอาร์
สิ่งที่สำคัญอีกอย่างคือการวางกลยุทธ์ในเรื่องคอนเทนต์ ซึ่งงานแฟชั่นวีคนี้ Solister PR วางแผนไว้ว่า จะเป็นการทำพีอาร์ที่เน้นคอนเทนต์ในเรื่องของตัวแบรนด์และจุดเด่นของสินค้าควบคู่ไปกับตัว KOL ดังนั้นเวลาเราเขียนข่าวส่งออกไปก็จะเขียนข่าวทั้งในสไตล์ข่าวแฟชั่นและข่าวบันเทิง และเลือกใช้สื่อบันเทิงให้เหมาะกับ KOL ที่เป็นดารา และสื่อแฟชั่นให้เหมาะกับแบรนด์สินค้าเป็นหลัก เพื่อให้ข่าวแพร่กระจายออกไปในทุกสื่อ ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งแคมเปญที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก
อีกแคมเปญที่คุณดีดี้ได้ยกตัวอย่าง คือ การใช้ KOL ให้กับธุรกิจด้านการลงทุนในระดับไฮเอนด์ ซึ่งกลุ่มเป้าหมายคือผู้มีรายได้สูง ดังนั้น KOL ที่ใช้จะต้องมีความน่าเชื่อถือและมีไลฟ์สไตล์ที่เหมาะสมกับสินค้า เพราะกลยุทธ์ของการทำ KOL คือการเลือก KOL ให้แมทช์กับแบรนด์หรือสินค้า แต่ก็ต้องไม่ทิ้งเรื่องคอนเทนต์ที่ต้องการนำเสนอด้วยเช่นกัน
ด้วยเหตุนี้เวลาที่ KOL ที่เชิญมาร่วมแคมเปญเพื่อโพสต์โปรโมทบนสื่อ เราก็จะให้อิสระในการโพสต์ให้เป็นสไตล์ของตัว KOL เอง เพราะการที่ KOL นำเสนอคอนเทนต์หรือประเด็นในรูปแบบของตนเอง จะสามารถสร้างการรับรู้ได้มากกว่า โดยให้ความรู้สึกว่าขายของแต่ก็เหมือนไม่ได้ขาย แต่เราก็อาจจะแนะนำประเด็นที่ต้องการสื่อสารให้ด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ Solister PR ยังได้มีโอกาสทำพีอาร์ให้กับคอร์สเรียนด้านการลงทุนสำหรับผู้บริหาร ซึ่งในสายธุรกิจการเงินก็จะมีวิธีการเลือกหรือการทำงานพีอาร์ที่ต่างออกไป โดยแคมเปญนี้ไม่ได้มีการจ้างอินฟลูเอ็นเซอร์ แต่จะใช้กลุ่มบุคคลที่มาเรียนในคอร์ส เช่น ผู้บริหารระดับสูง เจ้าของบริษัท และผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน มาช่วยในการทำข่าวพีอาร์โปรโมตคอร์ส เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ เพราะโลกของการเงิน การตลาด ความน่าเชื่อถือเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เรียกได้ว่าเป็นการใช้ KOL ทางอ้อมเลยก็ว่าได้
คอนเทนต์วิดีโอจะได้รับความนิยมมากขึ้น เหตุผู้คนอ่านข้อความน้อยลง
คุณดีดี้ ได้กล่าวถึงเทรนด์ของสื่อและผู้บริโภคว่า …
คอนเทนต์ในรูปแบบวิดีโอจะได้รับความนิยมมากขึ้น การทำคอนเทนต์ให้น่าสนใจจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะปัจจุบันพฤติกรรมผู้บริโภคอ่านข้อความน้อยลง และชอบความสะดวกรวดเร็ว
เช่น หากเราต้องการหาข้อมูลเพื่อที่จะซื้อรถยนต์ 1 คัน เราก็จะไม่มานั่งอ่านข้อมูลมากมาย แต่อาจจะเลือกดูวิดีโอรีวิวรถ หรือ เทสต์ไดรฟ์แทนมากกว่า อีกทั้งสื่อออนไลน์ที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันก็ทำคอนเทนต์ที่เป็นวิดีโอได้อย่างน่าสนใจและเผยแพร่ในช่องทางของตนเองมากขึ้น ผู้บริโภคก็สามารถรับชมผ่านช่องทางออนไลน์ได้เลย สอดคล้องกับปัจจุบันที่ผู้บริโภคเปิดหรือดูทีวีน้อยลง เพราะความสนใจของคนในการเสพสื่อจะเสพเฉพาะสิ่งที่ตัวเองสนใจ แต่สำหรับงานพีอาร์เราต้องเสพทุกสื่อ
ผู้บริโภคโหยหาการออกมามี Experience หลังอัดอั้นช่วงโควิด ชี้ปี 66 อีเวนต์คึกคัก
หลังจากสถานการณ์โควิดคลี่คลายลง การทำกิจกรรมเพื่อพีอาร์ก็กลับมาคึกคักอีกครั้ง คุณดีดี้ กล่าวว่า เราเริ่มเห็นแล้วว่าช่วงครึ่งปีหลัง (2565) มานี้ แบรนด์สินค้าต่าง ๆ มีการจัดกิจกรรม จัดอีเวนต์เยอะมากขึ้น หลังจากที่งานเหล่านี้หายไปประมาณ 2 ปีกว่า ๆ เพราะสถานการณ์โควิด ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ผู้คนต่างโหยหาการออกมามี Experience ร่วมกับงานนั้นๆ เช่น หากต้องการที่จะซื้อกระเป๋า หลายคนก็อยากจะออกมาดู มาสัมผัสสินค้าจริง แน่นอนว่าผู้บริโภคอาจจะคุ้นเคยและชินกับการซื้อของออนไลน์ไปแล้วก็ตาม แต่ผู้คนก็ยังโหยหาการออกมาใช้ชีวิตและออกมาทำกิจกรรมอยู่ ปี 2566 พฤติกรรมผู้คนก็ยังจะเป็นเช่นนี้ต่อไป นอกจากนี้ ผู้คนจะเดินทางกันเยอะมากขึ้นด้วยในปี 2566
ในมุมของการทำอีเวนต์ การทำพีอาร์ปี 2566 นั้น ก็จะได้รับความนิยมและคึกคักมาก ส่วนแบรนด์เองก็จะเน้นอินฟลูเอ็นเซอร์และ KOL เป็นจำนวนมาก โดยรูปแบบการใช้อินฟลูเอ็นเซอร์เพื่อทำตลาดหรือโปรโมตสินค้านั้น จะมีการใช้ดาราเยอะขึ้นมาก ๆ รวมทั้งอินฟลูเอ็นเซอร์ระดับนาโนหรือไมโครก็จะมีการดึงมาใช้ในการสื่อสาร เพื่อกระจายการรับรู้เป็นจำนวนมากด้วยเช่นกัน ซึ่งกลุ่มอินฟลูเอ็นเซอร์ระดับนาโนและไมโครเหล่านี้ มีส่วนทำให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าตามได้เป็นอย่างดี ดังนั้นจึงต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับสินค้า แบรนด์จึงจะประสบความสำเร็จในการใช้อินฟลูเอ็นเซอร์และ KOL อย่างไรก็ดี แบรนด์ต่าง ๆ ยังไม่ได้ทิ้งสื่อดั้งเดิม ยังมีการใช้สื่อประเภทนี้อยู่ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ขององค์กรหรือบริษัท
การจัดอีเวนต์แบบออฟไลน์และออนไลน์ปี 2566 ยังปัง
คุณดีดี้ มองว่า แม้สถานการณ์โควิดจะดีขึ้นแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถพูดได้เต็มปากว่าปี 2566 ทุกอย่างจะกลับไปเหมือนเดิม 100% เหมือนก่อนที่จะเกิดโควิด เพราะก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโควิดนั้น ผู้คนยังไม่นิยมใช้สื่อหรือทำกิจกรรมแบบออนไลน์เท่าไรนัก เทรนด์การขายของออนไลน์ยังไม่ได้เยอะเท่าปัจจุบัน ส่วนตัวจึงคิดว่าปี 2566 การจัดอีเวนต์ การทำพีอาร์จึงจะยังอยู่ในรูปแบบไฮบริด คือ การผสมผสานระหว่างออนไลน์และออฟไลน์อยู่
แต่ทั้งนี้การจัดงานแบบผสมผสานก็อาจจะไม่ได้เหมาะกับทุกสินค้าหรือกิจกรรมเสมอไป มองว่าการจัดงานแบบผสมผสานกันจะเหมาะกับข่าวการตลาดมากกว่า หากเป็นสายแฟชั่น รูปแบบการเปิดตัวสินค้าการจัดงานออนไลน์อาจจะได้รับความนิยมน้อยลงเพราะเป็นสินค้าที่ลูกค้าและนักข่าวต้องมาสัมผัสและดูด้วยตัวเอง
งบโฆษณาปี 2566 คาดเทไปที่สื่อออนไลน์สูงสุด
เอ็มดี Solister PR ได้ให้ความเห็นปิดท้ายว่า งบโฆษณา หรือการทำพีอาร์ในปี 2566 จะถูกนำไปใช้กับสื่อออนไลน์เป็นอันดับหนึ่งอยู่แล้ว รวมถึงอินฟลูเอ็นเซอร์และ KOL ก็จะได้รับงบในลำดับต้น ๆ เช่นกัน เพราะจากการพูดคุยกับลูกค้าที่ผ่านมาไม่มีแบรนด์ใดที่ไม่อยากใช้อินฟลูเอ็นเซอร์และ KOL เพียงแต่บางบริษัทอาจจะยังไม่มีโอกาสหรือยังเข้าไม่ถึงการใช้เท่านั้น แต่เราในฐานะคนทำพีอาร์ต้องนำเสนอทุกสื่อให้กับลูกค้า แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับสินค้าด้วยเช่นกัน เพราะไม่ใช่ทุกแพลตฟอร์มจะเหมาะสมกับทุกแบรนด์หรือสินค้า
- แนวโน้มสื่อไทย 2568
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2567
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2566
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2565
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2564
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2563
- Thai Media Trends 2025 (English Version)
- Thailand Media Landscape 2023-2024 (English Version)
- Thailand Media Landscape 2022-2023 (English Version)
- Thailand Media Landscape 2021-2022 (English Version)