"เลอทัด ศุภดิลก" ผู้บริหาร LINE ประเทศไทย ฟันธงโซเชียลคอมเมิร์ซในไทยมาแรงต่อเนื่อง เตรียมเปิดตัวฟีเจอร์ Live Commerce ปี 66
- ธันวาคม 15, 2565
- 23:30 น.
ผู้บริโภคไทยนิยมซื้อขายสินค้าผ่านสื่อสังคมออนไลน์เป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของวันเดอร์แมน ธอมสัน (Wunderman Thompson) ที่ชี้ว่า 80% ของผู้บริโภคซื้อขายสินค้าผ่านทางโซเชียลมีเดีย และกว่า 60% ปิดการขายในโซเชียลมีเดีย ด้วยเหตุนี้การใช้โซเชียลมีเดียเพื่อการติดต่อสื่อสารและติดตามความเคลื่อนไหวต่าง ๆ จึงขยายขอบเขตสู่การซื้อสินค้าและบริการมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะหลังการระบาดของโควิด-19 ที่ผู้บริโภคคุ้นเคยและหันมาซื้อสินค้าโดยให้ความสำคัญกับความสะดวกสบายใช้เวลาเพียงชั่วพริบตาและไร้การสัมผัส การซื้อขายที่เรียกกันว่าโซเชียลคอมเมิร์ซจึงมาแรงไม่มีแผ่ว
ฝั่งพ่อค้าแม่ขายเองจึงหันมาใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียที่สะดวกและรวดเร็วในการแนะนำและขายสินค้า ตั้งแต่ข้าวของราคาหลักสิบไปจนถึงหลักหมื่นหลักแสน เมื่อกระแสการซื้อขายสินค้าผ่านโซเชียลมีเดียเฟื่องฟู LINE ประเทศไทย จึงไม่พลาดที่จะเข้ามาอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า และอนาคตของโซเชียลคอมเมิร์ซในไทยจะเป็นอย่างไร คุณทอม เลอทัด ศุภดิลก ผู้อำนวยการฝ่ายอีคอมเมิร์ซ บริษัท LINE (ประเทศไทย) จำกัด พร้อมให้ข้อมูลและมุมมอง
เมื่อพิจารณาจากตัวเลขสถิติพบว่า การซื้อขายสินค้าในโซเชียลมีเดียในประเทศไทยนั้น สูงที่สุดของโลก แล้วการปิดการซื้อขายในโซเชียลมีเดียก็สูงสุดของโลกด้วยเช่นกัน ตัวเลขล่าสุดของวันเดอร์แมน ธอมสัน พบว่า กว่า 80% ผู้คนซื้อขายสินค้ากันจากโซเชียลมีเดีย และกว่า 60% ปิดการขายในโซเชียลมีเดีย พูดง่าย ๆ ก็ใช้ไลน์เนี่ยแหละ จริง ๆ แล้วการซื้อขายออนไลน์ของประเทศไทยเกิดขึ้นมาได้ เพราะโซเชียลมีเดียด้วยซ้ำ
ปัจจุบันไลน์มีผู้ใช้งานประมาณ 53 ล้านราย โดยผู้ใช้งานนิยมใช้ไลน์ในการติดต่อธุรกิจ และที่มีจำนวนมากที่สุดคือการซื้อขายสินค้า ทั้งที่ที่ผ่านมาไลน์เป็นเพียงเครื่องมือติดต่อสื่อสาร ไม่ได้มีฟีเจอร์เกี่ยวกับการซื้อขายมาก่อน แต่ผู้บริโภคก็ยังเลือกที่จะใช้ไลน์เพื่อซื้อขาย
โซเชียลคอมเมิร์ซคือตลาดที่ใหญ่ที่สุดของไทย แม้กระทั่งตอนที่ไลน์ยังไม่เคยทำฟีเจอร์อะไรบางอย่างขึ้นมา เราจึงคิดว่าถึงเวลาที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาและอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้งานผ่านบริการไลน์ชอปปิง (LINE SHOPPING)
คุณทอม กล่าว
เพราะเมื่อร้านค้าในไลน์มีลูกค้าเพิ่มมากขึ้นก็จะเริ่มประสบปัญหาด้านการจัดการหลังบ้าน ปัจจุบันไลน์ชอปปิงจึงให้บริการแบบครบวงจร ทั้งในแง่ปิดการขาย หรือการสนับสนุนธุรกิจผ่านการโฆษณา
โซเชียลคอมเมิร์ซเป็นมากกว่าแค่ช่องทางการค้าปลีก
ที่ผ่านมา ผู้บริโภคจะคุ้นเคยกับการซื้อขายสินค้าผ่าน LINE SHOPPING แต่ปัจจุบันรูปแบบของสินค้าและบริการที่ผู้บริโภคต้องการใช้งานนั้นมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้ โซเชียลคอมเมิร์ซจึงสามารถเข้ามาตอบสนองความต้องการและเป็นมากกว่าช่องทางการค้าปลีก เราจึงเห็นรูปแบบบริการใหม่ ๆ ที่มีเข้ามา เพื่อตอบโจทย์ชีวิตในยุคปัจจุบันแม้กระทั่งอย่างบริการรับจูงน้องหมาก็มีให้ได้ใช้บริการกันผ่านโซเชียลมีเดียอย่างไลน์
สาเหตุที่โซเชียลมีเดียเป็นมากกว่าช่องทางการค้าปลีกนั้น คุณทอมมองว่า เพราะโซเชียลมีเดียมีเรื่องของความสัมพันธ์เข้ามาเกี่ยวข้อง ความสัมพันธ์เป็นเรื่องที่สำคัญ หากดูเผิน ๆ โซเชียลมีเดียอาจจะดูเป็นเรื่องของโลกออนไลน์ แต่กลายเป็นว่า ผู้บริโภคนั้นแสวงหาความคุ้นเคยเพิ่มขึ้น ผู้บริโภคต้องการความสัมพันธ์ระหว่างกันมากยิ่งขึ้นกับกลุ่มคนที่ตนเองเชื่อและไว้ใจ
โซเชียลมีเดียฟังดูเหมือนการท่องโลกอินเทอร์เน็ตในวงกว้าง แต่จริง ๆ ผมอาจจะไม่ได้อยากเจอคนเยอะ ผมอยากเจอเฉพาะคนที่ผมเคยฟอลโลว์อยู่แล้ว เชื่อใจ เป็นกลุ่มที่คุ้นเคยและไว้ใจ ผมคิดว่านั่นน่าจะเป็นสิ่งที่โดดเด่นของไลน์
คุณทอม กล่าว
ดังนั้น โซเชียลคอมเมิร์ซจึงเป็นตลาดที่มีโอกาสและได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องในไทย จากเดิมที่เมื่อพูดถึงโซเชียลมีเดีย เราจะนึกถึงเรื่องเอนเตอร์เทนเมนต์ นึกถึงอะไรที่ไม่ใช่แค่สินค้าอุปโภคบริโภค แต่ปัจจุบัน โซเชียลคอมเมิร์ซมีความหลากหลาย ไม่ใช่แค่เรื่องของการค้าปลีก แต่มีฝั่งของบริการพ่วงเข้ามาด้วย
สินค้ายอดนิยมซื้อขายผ่านแพลตฟอร์ม LINE SHOPPING สูงสุดปี 65
คุณเลอทัด กล่าวถึงสินค้ายอดนิยมที่มีการซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มไลน์ว่า…
อันดับต้น ๆ คือ สินค้าหมวดแฟชั่น เสื้อผ้า สินค้าหมวดนี้จะเกี่ยวพันกับเรื่องของอารมณ์ และแบรนด์ที่เราติดตาม แล้วก็เป็นสินค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงบ่อย
อันดับสองคือ สินค้าหมวดเฮลธ์และบิวตี้ (Health and Beauty)
อันดับสาม จะเป็นหมวดไลฟ์สไตล์และท่องเที่ยว ซึ่งจะครอบคลุมถึงเรื่องสัตว์เลี้ยง บริการที่เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง ไม่ใช่แค่ผลิตภัณฑ์อาหารสุนัขหรือแมว แต่รวมถึงบริการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ถ้าไลฟ์สไตล์ก็ต้องพูดถึงการเดินทางท่องเที่ยว โรงแรมต่าง ๆ ก็จะมาเปิดขายเวาเชอร์ หรือบริการสปา ขายเวาเชอร์ร้านอาหาร ที่ผ่านมาเวลาเรานึกถึงโรงแรมก็จะนึกถึงแค่การจองห้องพักเพื่อการพักผ่อน แต่จริง ๆ แล้วโรงแรมแต่ละโรงแรมที่เปิดให้บริการนั้น ยังมีบริการต่าง ๆ อีกมากมาย
อันดับถัดไปคือ กลุ่มสินค้าแม่และเด็ก ซึ่งกลุ่มสินค้าหมวดนี้ถือว่ามีความโดดเด่นในโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในไลน์ เพราะคุณสมบัติหนึ่งของคุณแม่ก็คือจะไม่ค่อยมีเวลาเป็นของตัวเอง ดังนั้นสินค้าที่จะเลือกให้ลูก แน่นอนว่า บรรดาคุณแม่จะต้องใส่ใจมาก
ดังนั้นจึงเป็นโอกาสสำหรับแบรนด์เล็ก ๆ ที่อาจจะไม่ได้เป็นแบรนด์ที่อยู่มานาน หรือแบรนด์ระดับโลก ด้วยความที่คุณแม่สามารถคุยกับเจ้าของแบรนด์ได้ทันทีผ่านทางไลน์ แล้วก็เป็นเสน่ห์ของร้านค้าที่จำหน่ายสินค้าสำหรับเด็กและคุณแม่ เพราะแบรนด์เล็ก ๆ มักจะจำได้ว่าคุณแม่ชื่ออะไร ลูกกี่ขวบ เมื่อเวลาผ่านไปแบรนด์ก็สามารถนำเสนอสินค้าที่เกี่ยวกับเด็ก ๆ ซึ่งเติบโตขึ้นมาในแต่ละช่วงวัยได้ จากการพูดคุยกับคุณแม่ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของแบรนด์ได้ว่า ลูก ๆ เป็นยังไงบ้าง หรือแนะนำสินค้าลูก ๆ ให้กับคุณแม่ได้ว่า เมื่อลูกอายุเท่านี้แล้ว จะมีสินค้าใดบ้างที่เหมาะกับวัย ซึ่งช่องทางการพูดคุยถามไถ่สารทุกข์สุขดิบระหว่างเจ้าของสินค้ากับลูกค้าเช่นนี้ถือเป็นเสน่ห์ที่มัดใจลูกค้าในกลุ่มนี้
Search – Discovery Base – Direct Recall 3 พฤติกรรมผู้ซื้อสินค้า
คุณเลอทัด กล่าวต่อไปถึงพฤติกรรมของกลุ่มผู้ซื้อสินค้าบนแพลตฟอร์มไลน์ว่า มีอยู่ 3 แบบด้วยกัน
พฤติกรรมแบบแรก จะเป็นกลุ่มลูกค้าที่เสิร์ช (Search) หรือค้นหาสินค้าก่อนที่จะซื้อ พูดง่าย ๆ ว่าวันนี้อยากจะซื้อรองเท้า แต่ไม่ได้นึกถึงแบรนด์อะไรเป็นพิเศษ ก็จะเสิร์ชหารองเท้า ส่วนใหญ่ก็ใช้กูเกิลหรืออีมาร์เก็ตเพลซ ซึ่งรูปแบบนี้คือพฤติกรรมหลัก ๆ ของการเสิร์ชหาสินค้าทั่วไป
พฤติกรรมที่สอง เรียกว่าเป็นแบบ Discovery Base โดยผู้ซื้อจะไถฟีดไปเรื่อย ๆ แล้วก็เจอสินค้าที่น่าสนใจปรากฎขึ้นมา ซึ่งการดูมีเดียไปเรื่อย ๆ แบบนี้ หากจะเปรียบเทียบก็เหมือนกับสมัยก่อนที่ผู้บริโภคดูทีวีแล้วเจอรายการทีวีชอปปิง พอดูทีวีไปเรื่อย ๆ ซึ่งตรงนี้ก็คล้าย ๆ กับที่เราดูโซเชียลมีเดียไปเรื่อย ๆ บางทีก็มีสินค้าหรือคอนเทนต์ที่เราสนใจแทรกเข้ามา
สำหรับพฤติกรรมที่สามของผู้ใช้บริการ LINE นั้น ผู้บริโภคอาจจะไม่ได้นึกถึงรองเท้าหรือสินค้าอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เมื่อต้องการซื้อสินค้าใดก็ตาม ผู้บริโภคก็จะนึกถึงแบรนด์ที่ตัวเองเคยซื้อสินค้าขึ้นมา เหมือน Direct recall กับแบรนด์นั้น ๆ
LINE SHOPPING เตรียมทยอยเปิดตัวฟีเจอร์ใหม่หวังเพิ่มประสบการณ์ซื้อขายแบบเรียลไทม์
การรีวิวสินค้าและการไลฟ์ถือเป็นกิจกรรมที่ได้รับความนิยมจากทั้งฝั่งผู้ขายและผู้ซื้อ ดังจะเห็นได้จากความนิยมในการไลฟ์บนโซเชียลมีเดียต่าง ๆ คุณทอม เปิดเผยว่า “ไลน์เตรียมเปิดฟีเจอร์ใหม่ในต้นปี 2566 ฟีเจอร์แรกคือ ไลฟ์ คอมเมิร์ซ (Live Commerce) โดยเน้นให้ร้านค้าคุยกับฐานลูกค้ากลุ่มเดิม ขณะที่แพลตฟอร์มอื่น ๆ จะเน้นไปที่การหากลุ่มคนดูใหม่ ๆ ให้เข้ามาดูเป็นจำนวนมาก แต่ในไลน์จะเน้นที่กลุ่มผู้ติดตามคนเดิม ประโยชน์ของการไลฟ์คือ “ความเรียลไทม์” การได้คุย การได้เห็นการรีวิวผลิตภัณฑ์ แทนที่จะสื่อสารด้วยกราฟิกเพียงอย่างเดียว ก็เปลี่ยนมาเปิดตัวผลิตภัณฑ์แบบนั่งรีวิวคุยเลย
นอกจากนี้ยังมีฟีเจอร์ Share & Earn ฟีเจอร์สำหรับผู้ซื้อที่ต้องการบอกต่อสินค้าแก่คนรอบข้างให้ไปซื้อใช้ตามๆ กัน โดยผู้ที่บอกต่อจะได้โบนัสเป็น LINE POINTS เมื่อเพื่อนที่เราแชร์สั่งซื้อสินค้า ซึ่งฟีเจอร์นี้จะช่วยดึงคนเข้าร้านและทำให้ร้านค้าเป็นที่รู้จักมากขึ้น
และอีกฟีเจอร์ คือ กิฟท์ติง (Gifting) เราเห็นว่า สิ่งที่แพลตฟอร์มของไลน์มีแต่ที่อื่นไม่มีคือความเป็นเพื่อน บางทีมีของขวัญวันเกิดหรือบางทีเทศกาลต่าง ๆ ฉลองวาเลนไทน์ ตรุษจีน ถ้าเราอยากซื้อของขวัญให้ใคร เราก็สามารถซื้อของขวัญให้ได้ในไลน์ เช่น วันนี้เป็นวันเกิดของเพื่อนก็สามารถซื้อและให้ของขวัญจบในไลน์ได้เลย ส่งของขวัญไปปุ๊ปคนรับก็สามารถเลือกรับหรือไม่รับก็ได้ ข้อดีอีกอย่างคือคนซื้อไม่ต้องรู้ที่อยู่ของคนรับ คนรับไม่ต้องแจ้งที่อยู่โจ่งแจ้งจนเกินไป” คุณทอม กล่าว
- แนวโน้มสื่อไทย 2568
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2568
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2567
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2566
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2565
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2564
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2563
- Thai Media Trends 2025 (English Version)
- Thailand Media Landscape 2024-2025 (English Version)
- Thailand Media Landscape 2023-2024 (English Version)
- Thailand Media Landscape 2022-2023 (English Version)
- Thailand Media Landscape 2021-2022 (English Version)