เจาะลึกการตลาดอินฟลูเอนเซอร์ไทยกับ "ณพัชร รัตนถาวรกิติ" ผู้บริหารแพลตฟอร์ม Buddy Review

แม้ว่า จะมีการใช้การตลาดอินฟลูเอนเซอร์ (Influencer Marketing) ในไทยมาถึง 3-4 ปีแล้ว แต่ตลาดอินฟลูเอนเซอร์ในไทยก็ยังคงอยู่ช่วงเริ่มต้นเท่านั้น ดังนั้น การตลาดอินฟลูเอนซอร์ในไทยจึงยังสามารถเติบโตได้อีกมาก

นี่คือมุมมองที่มีต่อการทำการตลาดอินฟลูเอนเซอร์ของคุณณพัชร รัตนถาวรกิติ ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท Bubblely เจ้าของ Buddy Review แพลตฟอร์มด้านอินฟลูเอนเซอร์ชั้นนำของไทย ที่มาบอกเล่าถึงสถานการณ์ปัจจุบัน และคาดการณ์แนวโน้มของตลาดอินฟลูเอนเซอร์ในไทย

อินฟลูเอนเซอร์มีโอกาสเติบโตต่อเนื่อง

คุณณพัชรกล่าวถึงสถานการณ์อินฟลูเอนเซอร์ไทยในปัจจุบันว่า “ตลาดอินฟลูเอนเซอร์กำลังคึกคักอย่างมาก หลายแบรนด์เริ่มหันมาลองใช้กันเยอะมากขึ้น รวมถึงแบรนด์ที่เคยใช้อยู่ก็แบ่งงบโฆษณามาใช้กับอินฟลูเอนเซอร์เพิ่มขึ้น หากมองในภาพกว้าง ผมคิดว่า แม้ว่าจะผ่านมา 3-4 ปีแล้วก็ตาม อินฟลูเอนเซอร์ก็ยังคงอยู่ในเฟสเริ่มต้น (Early Stage) เท่านั้น และจะยังสามารถเติบโตขึ้นได้อีก ในอนาคตก็จะยิ่งมีการใช้อินฟลูเอนเซอร์ในรูปแบบและช่องทางที่หลากหลายมากขึ้นด้วย”

ด้วยความพร้อมของเทคโนโลยีที่สามารถเชื่อมผู้คนเข้าหากัน อินฟลูเอนเซอร์จึงได้รับความนิยมในการทำการตลาดมากขึ้น คุณณพัชรมองว่า การทำตลาดผ่านอินฟลูเอนเซอร์เป็นการตลาดแบบปากต่อปาก หรือเป็นความเชื่อถือของผู้คนที่บอกต่อสินค้าซึ่งกันและกัน เพียงแค่ก่อนหน้านี้เทคโนโลยียังไปไม่ถึง จึงสามารถบอกกันได้ในมุมแคบ ๆ และไม่สามารถให้คนเพียงคนเดียวกระจายข้อมูลจำนวนมากได้ หรือถ้าจะทำอาจต้องใช้ทุนมหาศาล แบรนด์จึงต้องหันไปใช้สื่ออื่นหรือใช้ดาราที่มีชื่อเสียงเป็นคนมาพูดแทน

แต่ปัจจุบัน โซเชียลมีเดียได้เชื่อมผู้คนเข้าหากันหมดแล้ว ดังนั้น อินฟลูเอนเซอร์จึงสามารถทำการตลาดที่โน้มน้าวคนได้มาก อินฟลูเอนเซอร์จึงได้รับความนิยมและมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง

อินฟลูเอนเซอร์ตัวเล็กจะมีบทบาทมากขึ้น

ปี 2565 และปี 2566 จะยังเป็นยุคเฟื่องฟูของการตลาดดิจิทัลอยู่ ขณะที่การตลาดอินฟลูเอนเซอร์ก็จะเติบโตต่อไปได้อีก และสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นจนเป็นเทรนด์ น่าจะเป็นการใช้อินฟลูเอนเซอร์ตัวเล็กที่มีความใกล้ชิดและมีความสัมพันธ์กับผู้บริโภคมากขึ้น เช่น อินฟลูเอนเซอร์ระดับนาโน (Nano) และ ไมโคร (Micro) หรือแม้แต่การรีวิวของลูกค้า (Customer Review) คุณณพัชรกล่าวว่า

ยิ่งอินฟลูเอนเซอร์ตัวเล็กเท่าไร ความเรียลก็จะเพิ่มขึ้นเท่านั้น ประโยชน์ของอินฟลูเอนเซอร์ตัวเล็กคือความผูกพันของผู้ติดตาม ไม่ใช่จำนวนการมองเห็น (Reach) อีกต่อไป แต่เน้นไปที่การโน้มน้าวหรือสร้างความเชื่อถือที่มีต่อผลิตภัณฑ์หรือแบรนด์มากกว่า

นอกจากนี้ คุณณพัชรยังเสริมด้วยว่า รูปแบบคอนเทนต์ที่ใช้ในการทำตลาดอาจจะมีความเนียนและเป็นธรรมชาติมากขึ้น มองออกว่าเป็นโฆษณายากมากขึ้น นอกจากนี้ อินฟลูเอนเซอร์จะไม่ทำการตลาดกันอย่างโจ่งแจ้งแบบที่ผ่านมา หรือมุ่งเน้นขายของจนเกินไปเหมือนปัจจุบัน 

วิดีโอสั้น (Short-Form Video) มาแรงในกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์

การทำคอนเทนต์ลักษณะวิดีโอสั้น กลายเป็นอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในแวดวงอินฟลูเอนเซอร์ในปัจจุบัน คุณณพัชรเล่าว่า กระแสของอินฟลูเอนเซอร์นั้นไหลไปตามกระแสการเล่นโซเชียลมีเดียของผู้คนในช่วงเวลานั้น ๆ ซึ่งตอนนี้คงหนีไม่พ้นกระแสคลิปวิดีโอสั้น ดังนั้น อินฟลูเอนเซอร์จึงพยายามหันมาทำแนววิดีโอสั้นกันมากขึ้น

แต่กุญแจสำคัญหลักสำหรับอินฟลูเอนเซอร์ไทย คือ ความสนุก เนื่องจากคนไทยชอบเสพคอนเทนต์บันเทิงสนุกสนานที่ทำให้พวกเขามีความสุขโดยไม่ต้องรู้สึกกดดันให้ซื้อสินค้า

ดังนั้น การทำการตลาดอินฟลูเอนเซอร์ในปัจจุบันจึงต้องคำนึงถึงความบันเทิงและความสนุกเป็นอันดับหนึ่ง เพื่อสร้างความประทับใจที่ดีและมอบประสบการณ์แก่ผู้บริโภคระหว่างเส้นทางการซื้อ (Customer journey) 

ธุรกิจใดบ้างที่ควรใช้อินฟลูเอนเซอร์

ท่ามกลางกระแสอินฟลูเอนเซอร์ที่กำลังเฟื่องฟู หลายแบรนด์ต่างก็สนใจที่จะทำการตลาดผ่านอินฟลูเอนเซอร์ แล้วแบรนด์ไหนบ้างที่เหมาะสมกับการใช้อินฟลูเอนเซอร์ คุณณพัชรกล่าวว่า อันที่จริงแล้ว แทบจะทุกแบรนด์ต้องใช้อินฟลูเอนเซอร์ทั้งนั้น เพราะเวลาเราทำการตลาด เราต้องคำนึงแผนการตลาดที่สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภค โดยเฉพาะปัจจุบันที่ผู้บริโภคยุคใหม่เปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิต ช่องทางสื่อ และผูกติดกับโซเชียลมีเดียมากขึ้น แต่สิ่งสำคัญขึ้นอยู่กับเป้าหมายของธุรกิจของแบรนด์ เช่น หากแบรนด์ต้องการสร้างการรับรู้ (Awareness) ก็จะมีการใช้อินฟลูเอนเซอร์ที่มีชื่อเสียงหรือที่มีผู้ติดตามเป็นจำนวนมาก แต่หากต้องการสร้างความเชื่อถือ (Trust) อาจจะต้องใช้อินฟลูเอนเซอร์ระดับตัวเล็กลง เช่น ไมโครอินฟลูเอนเซอร์ เป็นต้น

นอกจากนี้ คุณณพัชรยังได้ยกตัวอย่างธุรกิจที่ยังคงใช้งานและประสบความสำเร็จกับการใช้การตลาดอินฟลูเอนเซอร์ เช่น ธุรกิจบริการ อาหาร ซึ่งจัดเป็นสินค้าที่เห็นแล้วก็ยังไม่สามารถตัดสินใจซื้อได้ในทันที เพราะอาหารไม่ใช่แค่การถ่ายรูปถึงจะรู้ว่าอร่อย จึงต้องอาศัยอินฟลูเอนเซอร์มาช่วยบอกต่อหรือเล่าให้ฟัง หรือแม้กระทั่งอาหารเสริมและเครื่องสำอางค์ ที่ต้องอาศัยคนมาช่วยแนะนำหรือบอกต่อนั่นเอง

สื่อที่เหมาะสมกับการทำการตลาดอินฟลูเอนเซอร์

เมื่อถามว่าหากแบรนด์จะเลือกทำการตลาดผ่านอินฟลูเอนเซอร์ สื่อหรือช่องทางใดที่มีความเหมาะสมนั้น คุณณพัชรกล่าวว่า ถ้าบอกว่าสื่อหรือแพลตฟอร์มไหนเหมาะกับการตลาดอินฟลูเอนเซอร์ ผมคิดว่าไม่ตายตัว เพราะสุดท้ายแล้ว การทำการตลาดที่ดีต้องแฝงอยู่กับการสื่อสารของผู้คนมากกว่า ถ้าช่วงเวลานั้น คนนิยมสื่อสารกันผ่านทางช่องทางไหน เราก็ควรจะแฝงไปในช่องทางนั้น หรือแพลตฟอร์มกำลังผลักดันคอนเทนต์ไปในรูปแบบไหน เราก็ควรจะตามแพลตฟอร์มนั้น ๆ ไปด้วย

นอกจากรูปแบบการสื่อสารที่ได้รับความนิยมในแต่ละช่วงเวลาแล้ว คุณณพัชรเสริมด้วยว่า การเลือกใช้สื่อหรือแพลตฟอร์มล้วนขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของแบรนด์ ทิศทางของการตลาดที่แบรนด์ต้องการ ยกตัวอย่างเช่น เราต้องการทำการตลาดสินค้าหนึ่ง หากต้องการพูดถึงสรรพคุณหรืออธิบายส่วนประกอบโดยละเอียด คอนเทนต์อาจจะเหมาะกับวิดีโอที่มีเนื้อหายาว (Long video) ซึ่งเหมาะกับทั้ง เฟสบุ๊ก เพจ หรือยูทูป แต่หากเป้าหมายของเราเป็นแค่การเปิดตัวสินค้าใหม่ หรืออยากสร้างการรับรู้ของแบรนด์ หรือแม้แต่ทำยอดขายในระยะเวลาสั้น ๆ อาจเน้นไปที่วิดีโอสั้น หรือภาพทั่วไป ก็อาจมุ่งเน้นไปที่ ติ๊กต๊อก (TikTok) หรือ อินสตาแกรม เป็นต้น

ดังนั้น การตลาดอินฟลูเอนเซอร์ที่จะประสบความสำเร็จจึงไม่ได้ขึ้นอยู่การเลือกสื่อที่ถูกต้องเท่านั้น แต่รวมถึงการกำหนดวัตถุประสงค์ของแบรนด์ให้ชัดเจน

ซึ่งสอดคล้องกับบริการของ Buddy review ที่มุ่งมั่นที่จะหากลุ่มคนหรือรูปแบบคอนเทนต์ที่เหมาะสมที่สุดในการทำการตลาดให้กับแบรนด์ โดยไม่ยึดติดกับใครคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะ แต่มีการคัดเลือกผ่านการคัดกรองดาต้าจากกลุ่มคนจำนวนมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

สิ่งที่น่าสนใจของบริการแพลตฟอร์ม Buddy Review คือ เครื่องมือเฉพาะที่บริษัทได้พัฒนาขึ้นเองเพื่อช่วยในการทำการตลาดอินฟลูเอนเซอร์ตั้งแต่เริ่มจนจบให้เป็นระบบ ไม่ว่าจะเป็นวิเคราะห์ จัดการ สรุปผล และเกิดข้อผิดพลาดให้น้อยที่สุด จนนำมาสู่แคมเปญการตลาดอินฟลูเอนเซอร์ที่ประสบความสำเร็จตามที่แบรนด์ต้องการ

ทำไมแบรนด์ยังใช้…ผู้บริโภคยังเชื่อ

แม้ว่าการทำตลาดผ่านอินฟลูเอนเซอร์มักจะถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของผลิตภัณฑ์อยู่บ่อยครั้ง แต่หลายแบรนด์ก็ยังคงใช้อินฟลูเอนเซอร์อย่างต่อเนื่อง คุณณพัชรกล่าวว่า การตลาดอินฟลูเอนเซอร์ส่วนหนึ่งยังอยู่ในช่วงของการลองผิดลองถูก บางแบรนด์ประสบความสำเร็จ แต่บางแบรนด์ก็ยังไม่ได้ตามวัตถุประสงค์ หรือเลือกใช้แพลตฟอร์มที่ยังไม่เหมาะสม คงยังต้องเรียนรู้กันอีกมาก

แต่หากเทียบกับสื่อแบบดั้งเดิมที่เป็นการสื่อสารแบบด้านเดียวแล้ว อินฟลูเอนเซอร์เป็นสื่อเดียวที่มีความสัมพันธ์กับผู้รับสารที่สามารถโต้ตอบกับคนดูหรือคนอ่านได้ 

ส่วนเหตุผลที่ว่าทำไมผู้บริโภคยังคงเชื่ออินฟลูเอนเซอร์ ทั้งที่รู้ว่าเป็นการตลาด คุณณพัชรมองว่า เรื่องนี้อาจเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นลักษณะคอนเทนต์ หรือรูปแบบการนำเสนอที่มีวิธีการเล่าเรื่องตรงกับความชอบของผู้บริโภค นอกจากนี้ ผู้บริโภคบางกลุ่มอาจเป็นแฟนตัวยงหรือชอบโดยไม่มีเหตุผล เช่น แฟนตัวยงของอินฟลูเอนเซอร์สายเซเลบ จึงทำให้เกิดความอยากใช้ตามหรือซื้อสินค้าตาม 

กระแสเวอร์ชวล อินฟลูเอนเซอร์ จะอยู่หรือจะไป

ช่วงปลายปี 2564 ถึง 2565 หลายแบรนด์เริ่มหันมาใช้เวอร์ชวล อินฟลูเอนเซอร์ (Virtual Influencer) กันมากขึ้น เพื่อสร้างภาพลักษณ์และตอกย้ำความเป็นผู้นำในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น AIS ปลุกเทรนด์เมตาเวิร์ส คว้า “ไอรีน” ขึ้นเป็นเวอร์ชวล แบรนด์แอมบาสเดอร์ คนแรก หรือ True 5G ก็ดึง “อิมมะ” เวอร์ชวล อินฟลูเอนเซอร์จากเกาะญี่ปุ่น มาเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์รายล่าสุด

คุณณพัชรมองว่า เวอร์ชวล อินฟลูเอนเซอร์ มีความน่าสนใจมาก เพราะมีข้อดีในแง่ของการสร้างตัวตนและคาแรกเตอร์ที่ชัดเจน รวมถึงสร้างไลฟ์สไตล์เฉพาะ ซึ่งจะสามารถสร้างกลุ่มเป้าหมายหรือผู้ติดตามได้อย่างเฉพาะเจาะจงมากขึ้น และสามารถทำคอนเทนต์ได้โดยไม่มีเงื่อนไข ค่อนข้างอิสระในการผลิตคอนเทนต์ ดังนั้น การทำการตลาดกับเวอร์ชวลอินฟลูเอนเซอร์จึงน่าจะมีบทบาทมากขึ้นในอนาคต

อย่างไรก็ตาม คุณณพัชรมองว่า สำหรับประเทศไทยแล้ว เรากำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่าน ดังนั้น อาจจะต้องอาศัยเวลาที่จะทำให้ผู้คนยอมรับ ปรับตัว และเรียนรู้เกี่ยวกับเวอร์ชวล อินฟลูเอนเซอร์ ตลอดจนมีกรณีศึกษา (Case studies) มากกว่านี้ เพื่อทำการตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมเน้นย้ำว่า การที่แบรนด์ยักษ์ใหญ่ของไทยโดดลงมาเล่นในตลาดเวอร์ชวล อินฟลูเอนเซอร์ ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะช่วยทำให้ผู้บริโภคไทยได้เรียนรู้และคุ้นชินมากยิ่งขึ้น

ปิดท้ายด้วยประเด็นถกเถียงและสงสัยกันว่า เวอร์ชวล อินฟลูเอนเซอร์ จะสามารถมาแทนอินฟลูเอนเซอร์ที่เป็นคนได้ไหม คุณณพัชรตอบว่า คงไม่สามารถแทนกันได้ แค่อินฟลูเอนเซอร์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะสาขาใดสาขาหนึ่งเองก็ยังมีจำนวนมาก ผมคิดว่า สุดท้ายแล้ว คนจะเลือกตามอินฟลูเอนเซอร์ไม่ว่าจะเป็นคนจริง หรือเวอร์ชวล จากไลฟ์สไตล์หรือการนำเสนอที่ตัวเองชอบมากกว่า ไม่ได้ขึ้นอยู่ว่าเป็นใคร แต่ปัจจุบัน เวอร์ชวล อินฟลูเอนเซอร์ยังไงก็ยังเป็นเรื่องของการลงทุนที่ค่อนข้างสูงอยู่ ทั้งต้นทุนการผลิต หรือการทุ่มเทด้านการออกแบบคาแรกเตอร์ ไลฟ์สไตล์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องมีการลงทุนตรงนี้ด้วย