โซเชียลมีเดีย
ติ๊กต็อก (TikTok) โซเชียลมีเดียมาแรงในไทย
คลับเฮาส์ (Clubhouse)
เมื่อ “เฟซบุ๊ก” กลายเป็นที่พึ่งในยามวิกฤต
LINE CALL – LINE MAN มียอดใช้งานโต 200-300% รับอานิสงส์โควิด-19
“ทวิตเตอร์” เปิดบัญชี @TwitterThailand หลังยอดผู้ใช้งานยังเติบโตดี
“อินสตาแกรม” แหล่งโชว์งานอดิเรกของเจนวาย จุดกระแสปลูกต้นไม้ถ่ายลงไอจี
ติ๊กต็อก (TikTok)
หากพูดถึงหนึ่งในโซเชียลมีเดียที่มาแรงในไทย คงหนีไม่พ้นแอปพลิเคชันสัญชาติจีนที่มีชื่อว่า ติ๊กต็อก แพลตฟอร์มสร้างสรรค์วิดีโอสั้นที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด- 19 จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจต่าง ๆ ไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจสื่อ แต่ติ๊กต็อกสามารถดึงดูดความสนใจจากกลุ่มผู้บริโภคและถูกนำมาใช้งาน เพื่อเผยแพร่คอนเทนต์ในรูปแบบต่าง ๆ
ติ๊กต็อกได้เน้นฟังก์ชันการใช้งานเพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถดึงความคิดสร้างสรรค์ และใส่ความสนุกสนานเข้าไปในคลิปวิดีโอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงล็อกดาวน์โควิด-19 ที่รัฐบาลใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดส่งผลให้ผู้ใช้งานที่ต้องกักตัว เรียนออนไลน์ หรือทำงานจากที่บ้าน เผชิญกับสถานการณ์ตึงเครียด ติ๊กต็อกจึงเป็นหนึ่งในช่องทางการเผยแพร่ความบันเทิงและผ่อนคลายความตึงเครียดให้กับผู้ใช้งานที่ไม่สามารถออกไปไหนได้ตามปกติ และยังสามารถเจาะกลุ่มผู้ใช้ได้หลากหลายกลุ่ม
ติ๊กต็อกเริ่มเข้ามาเปิดตัวในไทยตั้งแต่ปี 2561 โดยปี 2563 ถือเป็นปีแห่งการเติบโตอย่างก้าวกระโดด เนื่องจากตัวเลขของผู้ใช้งานติ๊กต็อกในไทยเติบโตขึ้นกว่า 100% เมื่อเทียบกับปี 2561 – 2562 จนไทยสามารถขึ้นแท่น Top 3 ประเทศที่มีจำนวนผู้ใช้งานสูงสุดในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย (ไทย อินโดนีเซีย และเวียดนาม)
ปัจจุบันกลุ่มผู้ใช้งานส่วนใหญ่ของติ๊กต็อกอยู่ในกลุ่ม “นักเรียน/นักศึกษา/วัยทำงานเริ่มต้น” โดยคุณลักศมี จง ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาคอนเทนต์และแคมเปญ TikTok ประเทศไทย กล่าวว่า ในช่วง 2 ปีที่เปิดให้บริการพบว่าผู้ใช้ราว 80% เป็นคนรุ่นใหม่ ได้แก่ Gen Y (อายุ 18-24 ปี) มีสัดส่วน 48% และ Gen Z (อายุ 13-17 ปี) สัดส่วน 36% ส่วนช่วงอายุ 25-34 ปี อยู่ที่ราว 14% และช่วงอายุ 35-44 ปี และ 45-55 ปี อยู่ที่ช่วงละ 1% เท่านั้น
ขณะที่ผู้ใช้ 75% เป็นผู้หญิง 25% เป็นผู้ชาย สำหรับการใช้เวลาบนแพลตฟอร์มโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 4 ครั้ง/วัน และใช้เวลาเฉลี่ยวันละ 35 นาที หรือราว 140 คอนเทนต์/วัน โดยผู้ใช้งานส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ
ด้วยรูปแบบแพลตฟอร์มที่นำเสนอคอนเทนต์ผ่านคลิปวิดีโอสั้น ๆ เป็นเวลา 15 วินาที มีเสียงเพลง ฟิลเตอร์ และเอฟเฟกต์ต่างๆ ประกอบ ทำให้คลิปวิดีโอที่ออกมามีลักษณะเฉพาะตัว สร้างสรรค์ และสนุกสนาน อีกทั้งยังมีการทำชาเลนจ์แคมเปญต่าง ๆ ที่ท้าทายผู้ใช้งานให้ทำตาม ดังนั้นช่วงเริ่มต้นที่มีการให้บริการในไทย กลุ่มผู้ใช้ส่วนใหญ่ของติ๊กต็อกจึงยังเป็นกลุ่มเยาวชนอายุระหว่าง 13 – 17 ปี ที่ชื่นชอบการทดลองสิ่งใหม่ ๆ บวกกับคอนเทนต์ที่เข้าใจง่ายไม่ซับซ้อน และเกิดกระแสชาเลนจ์ขึ้นตามมา
หนึ่งในกระแสไวรัลอย่าง #โรตีสด และ #โรตีดิบ นั้น มียอดวิวรวมกันสูงกว่า 72 ล้านวิว โดยเป็นชาเลนจ์ที่เกิดจากผู้ใช้ ติ๊กต็อกที่ใช้ชื่อว่า “แม่เกดแม่น้องฟอร์จูน” ซึ่งมีผู้ติดตามมากกว่า 5 แสนราย นำเสนอคลิปวิดีโอรีวิวการรับประทานโรตีสดที่ยังไม่ผ่านการทอดให้สุกและมีคนนำไปทดลองทำตามกลายเป็นไวรัลพฤติกรรมการเลียนแบบในกลุ่มเยาวชนจำนวนมาก จนเกิดการถกเถียงในสังคมว่าโรตีสดสามารถรับประทานได้หรือไม่ ทำให้ทางกรมอนามัยต้องออกมาเตือนถึงอันตรายของการรับประทานแป้งโรตีสด และต่อมาผู้ใช้รายดังกล่าวก็ได้โพสต์คลิปขอโทษต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
จากกรณีดังกล่าวนี้เองทำให้แพลตฟอร์มติ๊กต็อกเกิดภาพลักษณ์และภาพจำที่เป็นลบในช่วงต้นปี 2563 รวมทั้งการเป็นแพลตฟอร์มของเด็กวัยรุ่นเท่านั้น จากเหตุการณ์ครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นว่า สื่อโซเชียลมีเดียโดยเฉพาะติ๊กต็อกมีอิทธิพลเป็นอย่างมากต่อกลุ่มเยาวชน
และจากไวรัลโรตีดิบนี้เองที่ทำให้ทางติ๊กต็อกนำ AI มาใช้ในกระบวนการป้องกันและปิดกั้นการมองเห็นคลิปวิดีโอในรูปแบบดังกล่าว และเริ่มปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ของแพลตฟอร์ม ด้วยการสร้างแบรนด์ผ่าน อินฟลูเอ็นเซอร์ต่างๆ โดยชวนคนดัง ดารา นักร้อง มาสร้างแอคเคาท์ พร้อมนำจุดเด่นนี้มาใช้โปรโมท เพื่อดึงผู้ใช้งานจากหลากหลายกลุ่มให้มาลองใช้ติ๊กต็อก และสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับแพลตฟอร์ม
ปรากฏการณ์ไวรัลดังบนติ๊กต็อกในช่วงกักตัวอยู่บ้าน
แม้ว่า ติ๊กต็อก จะเริ่มเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปมากขึ้น หลังจากเหล่าดารา และคนดัง เริ่มเข้ามาใช้แพลตฟอร์ม แต่ปฎิเสธไม่ได้เลยว่าช่วงที่กระแสติ๊กต็อกมาแรงเป็นที่กล่าวถึงอย่างมากในไทย คือช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในเดือน มีนาคม- เมษายน 2563 ผู้บริโภคจำนวนมากต้องกักตัวอยู่บ้านไม่สามารถออกไปทำกิจกรรมข้างนอกได้ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งการที่ต้องอยู่บ้านเป็นเวลานานย่อมทำให้ผู้คนรู้สึกเบื่อหรือเหงาเป็นธรรมดา ดังนั้น ติ๊กต็อก จึงถือเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยตอบโจทย์ความสนุกและคลายความเหงาได้เป็นอย่างดี และในช่วงนี้เองก็มีผู้ใช้หลายคนได้สร้างสรรค์คอนเทนต์ออกมาอย่างหลากหลาย ส่วนใหญ่จะเป็นคลิปวิดีโอที่เน้นความตลกและบันเทิงเป็นหลัก ซึ่งไวรัลที่เป็นกระแสในช่วงกักตัว คงหนีไม่พ้น “เจน นุ่น โบว์” เพลงของวงซูปเปอร์วาเลนไทน์ที่ปล่อยออกมาเมื่อ 10 ปีที่แล้ว กลับมาเป็นกระแสอีกครั้ง มีผู้ใช้จากหลากหลายวงการนำมาเต้นและลิปซิงค์ตาม ด้วยเนื้อร้องของเพลงที่ซ้ำๆ กัน และแปลกใหม่ จึงทำให้เพลงติดหูผู้คนได้ง่ายกลายเป็นไวรัลที่ทุกคนร้องตามได้ อีกทั้งยังทำให้นักร้องเจ้าของเพลงทั้ง 3 คน กลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง
และสุดท้ายอีกหนึ่งไวรัลที่เป็นกระแสในช่วงโควิด-19 นั่นก็คือ กระแสส้มหยุดของสิตางศุ์ บัวทอง ที่มีดารา คนดัง นำมาโคฟเวอร์การเล่าตำนานส้มหยุดตามออกมามากมายบนแพลตฟอร์ม ด้วยน้ำเสียงการเล่าเรื่องของสิตางศุ์ ที่สามารถดึงความสนใจและสร้างเสียงหัวเราะให้ผู้ชมคลิปวิดีโอในช่วงการกักตัวอยู่บ้านได้เป็นอย่างดี ซึ่งกระแสส้มหยุดก็ช่วยทำให้สิตางศุ์ บัวทอง กลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้งในโลกออนไลน์ จากเดิมที่มีคนรู้จักพอสมควรแต่กระแสก็หายไป ให้กลายมาเป็นคนที่ถูกกล่าวถึงในวงกว้างอีกครั้ง จนมีแบรนด์สินค้าดังเลือกให้เธอมาโปรโมทสินค้า
ทั้งนี้ไม่เฉพาะแค่ประเทศไทยเท่านั้นที่ติ๊กต็อกได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในช่วงการกักตัว แต่ยอดดาวน์โหลดทั่วโลกก็เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน โดยระหว่างวันที่ 1-23 มีนาคม 2563 มียอดดาวน์โหลดทั่วโลกประมาณ 84.8 ล้านครั้ง สูงขึ้น 5% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในเดือน กุมภาพันธ์ 2563
จากกระแสความนิยมที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงมีแบรนด์สินค้าหันมาเลือกใช้ติ๊กต็อกในการโปรโมทสินค้าหรือสร้างแบรนด์ ให้เข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เป็นผู้ใช้ส่วนใหญ่ของแพลตฟอร์ม โดยเลือกใช้การโปรโมทผ่านการทำแคมเปญ และชาเลนจ์ต่างๆ เพื่อสร้างการรับรู้ (Awareness) และการปฏิสัมพันธ์ (Engagement) ระหว่างแบรนด์กับกลุ่มเป้าหมายคนรุ่นใหม่ เพื่อให้เกิดเป็นกระแสไวรัลของตัวสินค้า โดยทางติ๊กต็อกได้สำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคที่มีต่อแบรนด์ที่ทำการตลาดบนติ๊กต็อก พบว่า จาก 100% มี 74% มองภาพลักษณ์ของแบรนด์เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีและน่าสนใจมากยิ่งขึ้นหลังทำการตลาดบนติ๊กต็อก โดยแบรนด์ที่มีชื่อเสียงที่เลือกทำการตลาดผ่านติ๊กต็อก ได้แก่ Head&Shoulder, Maybelline, Coca-Cola, Haier และ Dettol
หลังจากที่ติ๊กต็อกประสบความสำเร็จในเรื่องของกลุ่มผู้ใช้ที่มีทั้งจำนวนและความหลากหลายเพิ่มขึ้นแล้วในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 ติ๊กต็อกจึงเริ่มเดินหน้าต่อยอดความสำเร็จด้วยการพัฒนาคอนเทนต์บนแพลตฟอร์มให้มีความหลากหลายสอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้ทุกกลุ่มในช่วงครึ่งปีหลัง ด้วยการชู 3 กลยุทธ์คอนเทนต์ ได้แก่ ความบันเทิง, การศึกษา และ ข่าวสาร
โดยคุณปกรณ์ วัฒนเฉลิมวุฒิกร หัวหน้าฝ่ายการตลาด กล่าวว่า ที่ผ่านมา ติ๊กต็อกได้เดินหน้าขยายฐานผู้ใช้และครีเอเตอร์ในประเทศไทยผ่านการใช้กลยุทธ์ Content Diversification หรือ การเพิ่มความหลากหลายให้กับคอนเทนต์บนแพลตฟอร์ม ซึ่งนับเป็นกลยุทธ์สำคัญที่ทำให้ติ๊กต็อกประสบความสำเร็จอย่างก้าวกระโดด เนื่องจากกลยุทธ์นี้นอกจากจะช่วยสร้างความโดดเด่นและหลากหลายให้กับ UGC (User Generated Content) หรือ คอนเทนต์ที่ถูกสร้างขึ้นโดยผู้ใช้บนแพลตฟอร์มยังมีส่วนช่วยทำให้ Ecosystem ของ ติ๊กต็อก ซึ่งประกอบไปด้วยผู้ใช้ ครีเอเตอร์หรือผู้สร้างสรรค์คอนเทนต์ รวมไปถึงแบรนด์ต่างๆ ที่มาทำการตลาดบนติ๊กต็อกมีความสมบูรณ์และแข็งแรงในเวลาอันรวดเร็ว
TikTok for Business โซลูชันใหม่สำหรับช่วยเหลือธุรกิจ SMB ไทย
นอกจากแบรนด์สินค้าต่างๆ จะหันมาเลือกใช้ติ๊กต็อกในการโปโมทสินค้าแล้ว ยังมีกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (Small and Mid-size Enterprise หรือ SMB) ของไทยเลือกใช้ TikTok For Business หรือโซลูชันการตลาดสำหรับแบรนด์และธุรกิจขนาดต่างๆ ที่ต้องการถ่ายทอดเรื่องราวของแบรนด์ในรูปแบบสร้างสรรค์ แปลกใหม่ และน่าสนใจ ซึ่งที่ผ่านมามีกลุ่มธุรกิจในไทยเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งบนแพลตฟอร์มการตลาดนี้แล้ว เพื่อสร้างการรับรู้และมีส่วนร่วมระหว่างแบรนด์ไปยังกลุ่มเป้าหมาย อีกทั้งจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและเล็กในประเทศไทยเป็นอย่างมาก ดังนั้นการหันมาใช้โซลูชันดังกล่าว เพื่อเป็นเครื่องมือทางการตลาด จึงถือว่าช่วยตอบโจทย์การทำธุรกิจในยุคปัจจุบันด้วยเช่นกัน
คุณชนิสรา วงศ์ดีประสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการร่วม บริษัท บรันช์ไทม์ จำกัด เจ้าของแบรนด์ Diamond Grains ผลิตภัณฑ์กราโนล่าคลีน เจ้าแรกในประเทศไทย กล่าวว่า จุดเริ่มต้นในการใช้แพลตฟอร์มติ๊กต็อกคือ เราไปเจอบทวิเคราะห์การตลาดที่บอกว่า ติ๊กต็อกเป็นแพลตฟอร์มที่มาแรงและมีการเติบโตของผู้ใช้งานอย่างก้าวกระโดด จึงมีความสนใจในการนำแบรนด์ขึ้นมาอยู่บนแพลตฟอร์ม เพื่อจะได้เกิดการขยายโอกาสในการสื่อสารแบรนด์บนแพลตฟอร์มใหม่ๆ โดยหลังจากที่ได้ใช้งาน พบว่า ติ๊กต็อกทำให้ได้ใกล้ชิดลูกค้ามากขึ้น อีกทั้งติ๊กต็อกยังเป็นพื้นที่ในการสร้างเรื่องราวของแบรนด์ที่อาจจะเกิดเป็นกระแสไวรัลได้อีกด้วย
ขณะที่คุณกรณิการ์ นิวัติศัยวงศ์ Head of Client Partnership ของ TikTok ประเทศไทย กล่าวว่า ติ๊กต็อก เป็นแพลตฟอร์มการตลาดที่จะช่วยให้ธุรกิจทุกขนาดสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างตรงจุด โดย TikTok For Business จะเข้ามาช่วยสร้างการเติบโตให้แก่แบรนด์และธุรกิจต่างๆ ตั้งแต่การสร้างการรับรู้และการสร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มเป้าหมายสำหรับองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ ไปถึงการเป็นแพลตฟอร์มการตลาดที่มีประสิทธิภาพสำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก โดยในประเทศไทยได้จัดสัมมนาออนไลน์ TikTok SMB Webinar ไปเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2563 เพื่อให้ธุรกิจทุกขนาดได้เรียนรู้ตั้งแต่พื้นฐานการทำการตลาดบนแพลตฟอร์ม TikTok For Business นอกจากนี้ ยังช่วยสนับสนุนธุรกิจ SME ด้วยการมอบเครดิตโฆษณา 100 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อสนับสนุนให้ธุรกิจและแบรนด์ต่างๆ ได้เริ่มต้นใหม่อีกครั้งหลังต้องเผชิญต่อความเสี่ยงในสถานการณ์โควิด-19 ช่วงที่ผ่านมา
TikTok LIVE ฟีเจอร์ใหม่ ช่วยผู้ใช้ถ่ายทอดสดพูดคุยกับผู้ติดตามได้แบบเรียลไทม์
ด้วยจำนวนผู้ใช้ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และแพลตฟอร์มเป็นที่รู้จักในระดับสาธารณชนมากขึ้นในปี 2563 ทำให้ทาง ติ๊กต็อก เพิ่มฟีเจอร์ TikTok LIVE สำหรับผู้ใช้งานในประเทศไทย เพื่อรองรับการใช้งานที่หลากหลายมากขึ้น โดย TikTok LIVE เป็นฟีเจอร์สำหรับถ่ายทอดสด Live Streaming บนแพลตฟอร์ม ทำให้การสื่อสารระหว่างผู้สร้างสรรค์และผู้รับชมคอนเทนต์เป็นไปในรูปแบบเรียลไทม์ สามารถพูดคุยและสร้างความสัมพันธ์กับผู้ติดตามได้ ซึ่งฟีเจอร์ดังกล่าวจะคล้ายกลับการไลฟ์ในเฟซบุ๊กหรืออินสตราแกรม เพียงแต่ของติ๊กต็อก จะมีการกำหนดเงื่อนไขเล็กน้อย โดยผู้ที่จะสามารถใช้ฟีเจอร์นี้ได้ต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป และมีผู้ติดตาม 1,000 คนขึ้นไป ซึ่งที่ผ่านมาหลังจากเปิดทดลองฟีเจอร์ดังกล่าว พบว่าได้รับกระแสตอบรับที่ดีจากผู้ใช้ ยกตัวอย่างเช่น Live Concert ของเจ้านาย วรรธนะสิน ที่มียอดชมจากทั่วประเทศสูงถึง 25.5 หมื่นวิว นอกจากการรับชม Live จาก ดารา และคนดัง เพื่อความบันเทิงแล้ว ยังมีผู้เชี่ยวชาญสาขาวิชาต่างๆ จากแคมเปญ #TikTokUni มาร่วมไลฟ์คอนเทนต์ที่เป็นสาระความรู้ สามารถสร้างกระแสตอบรับได้เป็นอย่างดี
5 อันดับแฮชแท็กยอดนิยมของติ๊กต็อก
สิ่งสำคัญที่ทำให้ติ๊กต็อกกลายเป็นแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยม และดึงให้ผู้คนเข้ามาใช้และมีส่วนร่วมในแพลตฟอร์มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนมีไวรัลเกิดขึ้นมากมายก็คือ แฮชแท็กแคมเปญ โดยทางติ๊กต็อก ได้เปิดเผย 5 แฮชแท็กยอดฮิตช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563 (ข้อมูล ณ เดือน กรกฎาคม 2563) ดังนี้
อันดับที่ 1 #TikTokUni
#TikTokUni เป็นแคมเปญที่เปิดโอกาสให้ผู้เชี่ยวชาญในแวดวงต่างๆ และนักการศึกษาที่มีชื่อเสียงหลายๆ คน อาทิ พี่ลูกกอล์ฟ อาจารย์อดัม และอีกมากมาย มาร่วมแชร์ไอเดีย คอนเทนต์สาระความรู้ควบคู่ไปกับการนำเสนอให้มีความสนุกและสร้างสรรค์ เพื่อให้คอนเทนต์ที่ดูเป็นเรื่องยากกลายเป็นเรื่องที่เข้าใจง่ายในระยะเวลาสั้นๆ ซึ่งไม่ได้มีแต่เฉพาะคอนเทนต์ที่เป็นสายวิชาการเท่านั้น แต่ยังมีคอนเทนต์อื่นๆ ที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาตนเอง อาทิ การทำอาหาร การพัฒนาบุคลิกภาพ และสอนดนตรี ซึ่งสามารถดึงดูดความสนใจของกล่มผู้ใช้ได้เป็นอย่างดี จนทำให้ #TikTokUni กลายเป็นแฮชแท็กที่มาแรงเป็นอันดับต้นๆ ซึ่งมียอดวิวรวมกว่า 1.7 พันล้านครั้ง
อันดับที่ 2 #เมษาAtHome
เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในช่วงเดือนเมษายน 2563 ทำให้คนส่วนใหญ่ต้องใช้เวลาทำกิจกรรมอยู่กับบ้าน ไม่สามารถออกไปทำกิจกรรมข้างนอกได้ เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อ จึงทำให้เกิด #เมษาAtHome ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ติ๊กต็อกได้ชวนคนไทยมาร่วมส่งต่อความสุขในช่วงเดือนเมษายน 2563 ผ่านกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้การอยู่บ้านมีความสุข สนุกไปกับการทำคอนเทนต์ในแบบของตัวเอง ทั้งการทำอาหาร เต้น ออกกำลังกาย นอกจากนี้ยังมีการชวนดารา และผู้ที่มีชื่อเสียงมาร่วมแชร์ไอเดียไลฟ์สไตล์ในช่วงกักตัวผ่านแคมเปญดังกล่าว ทำให้แคมเปญยิ่งได้รับความสนใจ และมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก ยอดวิวสูงถึง 1.4 พันล้านครั้ง
อันดับที่ 3 #zoommyface
#zoommyface เป็นสติกเกอร์ที่ผู้คนให้ความสนใจเป็นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา ด้วยการเตรียมใบหน้าของเราให้พร้อม เพราะสติกเกอร์ตัวนี้จะจับใบหน้าของเราไม่ว่าจะหันหน้าไปทางทิศใด จนทำให้ที่ผ่านมา #zoommyface เป็นที่นิยมและมียอดวิวรวมอยู่ที่ 1.3 พันล้านครั้ง
อันดับที่ 4 #เมื่อ
#เมื่อ เป็นแฮชแท็กสำหรับความบันเทิงและสร้างเสียงหัวเราะ โดยเป็นการชวนให้คนมาร่วมแชร์ไอเดีย สร้างสรรค์คอนเทนต์เรียกเสียงหัวเราะ ภายใต้การทำโจทย์ “เมื่อ” เช่น เมื่อพรุ่งนี้สอบ เมื่อนักเรียนถูกครูดุ ในแบบตลกๆ สอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้ติ๊กต็อกของกลุ่มผู้ใช้ส่วนใหญ่ ซึ่งเน้นไปที่คอนเทนต์ความบันเทิงและความสนุก จึงเป็นอีกหนึ่งแฮชแท็กที่มียอดวิวถึง 1.2 พันล้านครั้ง
อันดับที่ 5 #ขยับต้านโรค
เป็นแคมเปญที่ชวนให้ผู้คนหันมาออกกำลังกาย สร้างภูมิคุ้มกันให้อยู่ห่างจากโรคภัย ผ่านการสร้างสรรค์คอนเทนต์วิดีโอ โดยเฉพาะในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทางติ๊กต็อกจึงได้เล็งเห็นความสำคัญของการส่งเสริมให้ผู้คนหันมาดูแลใส่ใจสุขภาพด้วยการออกกำลังกายในช่วง Work From Home และการทำกิจกรรมอยู่ที่บ้าน ซึ่งแคมเปญนี้มีผู้ให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก และมียอดวิวรวมถึง 937 ล้านครั้ง
จากผลการจัดอันดับแฮชแท็กแคมเปญทั้ง 5 อันดับที่ออกมาในช่วง 6 เดือนของปี 2563 สะท้อนให้เห็นว่า 2 ใน 5 แฮชแท็ก ได้แก่ #เมษาAtHome และ #ขยับต้านโรค จะเกี่ยวข้องกับสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะ #เมษาAtHome ที่อยู่สูงเป็นอันดับ 2 ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นที่ผู้คนจะให้ความสนใจและตื่นตัวต่อสถานการณ์โควิด-19 เป็นอย่างมาก แม้แต่ในแพลตฟอร์มที่หลายคนอาจมองว่าเป็นเพียงความบันเทิงอย่าง ติ๊กต็อกก็ยังมีคอนเทนต์ที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์โควิด-19 ออกมาได้อย่างสร้างสรรค์อีกด้วย
และในช่วงปลายปี 2563 ที่ผ่านมา ทางติ๊กต็อกก็ได้เปิดเผยข้อมูลการจัดอันดับแฮชแท็กที่มาแรงสูงสุด ได้แก่
- #TikTokUni ซึ่งยังครองอับดับ 1 ไว้ได้จากช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 เนื่องจากเป็นแคมเปญที่รวบรวมคอนเทนต์ด้านการศึกษาที่เป็นประโยชน์จากนักการศึกษา นักวิชาการ ครู อาจารย์ นักศึกษา และผู้คนทั่วไป จึงทำให้มียอดวิวรวมสูงถึง 1.5 หมื่นล้านครั้ง
- #wipeitdown เป็นแคมเปญสนุกๆ ที่ผู้ใช้กำลังเช็ดกระจกแล้วเปลี่ยนลุคเป็นคนใหม่ที่เล่นกันทั่วบ้านทั่วเมือง รวมยอดวิว 1.4 หมื่นล้านครั้ง
- #ล้างมือ40วิ แคมเปญที่เชิญชวนคนไทยมาสร้างสรรค์คอนเทนต์การล้างมือให้ถูกวิธี ซึ่งเข้ากับสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อกระตุ้นให้คนป้องกันและดูแลสุขภาพ รวมยอดวิว 5.4 พันล้านครั้ง
- #อาหารสมอง เป็นแคมเปญที่ TikTok ติวเตอร์ และเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ มานำเสนอเนื้อหาสาระความรู้ที่อัดเน้นไปด้วยคุณภาพ รวมยอดวิว 2.1 พันล้านครั้ง
- #เมษาAtHome แคมเปญที่เชิญชวนคนไทยแชร์มาสร้างสรรค์คอนเทนต์การอยู่บ้านให้มีความสุขในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิค-19 ซึ่งเมื่อช่วงครึ่งปีแรกแคมเปญนี้ก็สามารถขึ้นไปติดอยู่ในอันดับ 2 ส่งผลให้มียอดวิวรวมทั้งปี 1.9 พันล้านครั้ง
จะเห็นได้ว่าการจัดอันดับแฮชแท็กยอดนิยมทั้งในช่วง 6 เดือนแรก หรือยอดรวมตลอดทั้งปี 2563 อันดับความนิยมไม่ได้แตกต่างกันมาก โดยแฮชแท็กที่ติดอันดับยังคงเน้นไปที่ความบันเทิงเป็นหลัก และการทำเนื้อหาสาระความรู้ต่างๆให้สนุกเข้าถึงกลุ่มวัยรุ่น รวมถึงแฮชแท็กที่เกี่ยวข้องกับประเด็นโรคโควิด-19 ก็ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก จนสามารถติดอันดับแห่งปีด้วยเช่นกัน
คลับเฮาส์ (Clubhouse)
การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) มีส่วนทำให้โซเชียลมีเดียได้รับความสนใจมากขึ้น เนื่องจากผู้คนหันมาใช้สื่อโซเชียลเพื่อแบ่งปันเรื่องราว ความคิด และติดต่อพูดคุยกัน ในช่วงเวลาที่รัฐบาลได้ขอความร่วมมือให้ประชาชนช่วยกันรักษาระยะห่างทางสังคม เพื่อควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาด ซึ่งก่อให้เกิดเทรนด์ต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมเพื่อความบันเทิง หรือสุขภาพ เช่น การออกกำลังกายและทำอาหารทานเอง ไปจนถึงการแต่งบ้าน ซื้อเสื้อผ้าและของกินผ่านเพจและกลุ่มต่าง ๆ ตลอดจนการวิดีโอแชตกับเพื่อนฝูง หรือแม้กระทั่งการออกมารวมตัวเพื่อเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงที่เกิดสถานการณ์การเมืองในประเทศ
ในขณะที่โซเชียลมีเดียที่กลุ่มผู้บริโภคคุ้นเคยถูกใช้งานท่ามกลางสถานการณ์ต่างๆนานาที่เกิดขึ้น คลับเฮาส์ (Clubhouse) ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่มาแรงก็ได้เข้ามามีบทบาทและสามารถสร้างกระแสในวงกว้างทั้งในฝั่งของสื่อมวลชน กลุ่มผู้บริโภค และกลุ่มประชาสัมพันธ์
คลับเฮาส์ เป็นโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มใหม่ที่มาแรงตั้งแต่ต้นปี ด้วยรูปแบบการใช้งานผ่านแอปพลิเคชันที่เน้นการพูดคุยกันด้วยเสียง (Audio-only app) โดยผู้ใช้จะเปิดห้องสนทนา สร้างหัวข้อที่ตนเองสนใจ แล้วดึงคนเข้ามารวมตัวกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งผู้ที่เข้ามาอยู่ในห้องสนทนา นอกจากการเข้ามาฟังการพูดคุยจากกลุ่มบุคคลที่ตนเองสนใจแล้ว ยังสามารถแชร์เรื่องราวของตนเองและพูดคุยในประเด็นดังกล่าวได้อีกด้วย
สำหรับในประเทศไทยนั้น Clubhouse โด่งดังจากเป็นแพลตฟอร์มที่เหล่าคนดัง เซเลบริตี้ และผู้เชี่ยวชาญได้มาร่วมแบ่งปันมุมมองในประเด็นต่าง ๆ ในฐานะ Moderator หรือผู้ที่สร้างห้องสนทนาขึ้นมาเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นที่สังคมให้ความสนใจ พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้ฟังสามารถยกมือเพื่อซักถามหรือเล่าเรื่องราวของตัวเองได้ โดยตัวผู้ใช้งานสามารถเข้า-ออก ห้องสนทนาห้องต่างๆ ได้อย่างอิสระตามความชอบของตนเอง และห้องจะหายไปเมื่อกดปิดห้อง (End Room) โดยไม่สามารถฟังย้อนหลังได้
ก่อนหน้าที่ Clubhouse จะได้รับความนิยมในไทย คนดังระดับโลกได้เข้ามาใช้แอปพลิเคชันนี้ในเวลาไล่เรี่ยกันตั้งแต่ช่วงปลายเดือนม.ค. 64 ไม่ว่าจะเป็นอีลอน มัสก์ ซีอีโอของเทสลา, มาร์ก ซัคเคอร์เบิร์ก ซีอีโอของเฟซบุ๊ก หรือวลาด เทเนฟ ซีอีโอของโรบินฮูด จึงสร้างแรงกระเพื่อมให้สังคมบอกต่อเกี่ยวกับแอปพลิเคชันตัวใหม่นี้และผลักดันยอดดาวน์โหลดพุ่งขึ้นนับล้านครั้งในเวลาเพียงไม่กี่วัน
ว่าด้วยเสน่ห์ของ Clubhouse
ดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานที่ปรึกษา บริษัท ดีซี คอนซัลแทนส์ แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง คอมมูนิเคชั่นส์ จำกัด กล่าวว่า Clubhouse เป็นแอปพลิเคชันที่เข้ามาตอบโจทย์ความต้องการของสังคมได้ถูกจังหวะและเวลา เนื่องจากปัจจุบันการจัดงานสัมมนาหรือการประชุมยังไม่สามารถจัดได้ตามปกติ Clubhouse จึงเปรียบเสมือนการประชุมแบบซิมโพเซียม (Symposium) ที่มีผู้เชี่ยวชาญมาบรรยายหัวข้อต่าง ๆ และเปิดโอกาสให้ผู้ฟังสามารถซักถามได้ อีกทั้ง Clubhouse ยังสามารถเลือกห้องสนทนาตามหมวดหัวข้อที่ผู้ฟังสนใจได้อย่างอิสระ และสามารถพูดคุยกับบุคคลที่มีชื่อเสียงได้อย่างใกล้ชิดผ่านการยกมือเพื่อขอโอกาสในการสนทนา
สิ่งที่ทำให้กระแสของ Clubhouse จุดติดนั้น คือความเอ็กซ์คลูซีฟของตัวแอปพลิเคชันที่จะสามารถใช้งานได้ก็ต่อเมื่อถูกเชิญจากผู้ที่เป็นสมาชิกอยู่แล้วเท่านั้น รวมถึงไม่มีการบันทึกเสียงการสนทนา ไม่สามารถย้อนกลับไปฟังได้ ทำให้ผู้ใช้งานมีความกระตือรือร้นที่จะใช้เวลาในห้องสนทนาอยู่หลายชั่วโมง เพราะกลัวว่าถ้าออกจากห้องเร็วเกินไปก็จะพลาดประเด็นสำคัญ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า นี่เป็นเสน่ห์ที่ทำให้แอปพลิเคชันตัวนี้โด่งดังภายในชั่วข้ามคืน
อย่างไรก็ตาม Clubhouse ยังมีเรื่องข้อจำกัดในการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นการที่เปิดให้ใช้ได้แค่ในระบบ iOS เท่านั้น (ข้อมูล ณ วันที่ 24 ก.พ. 64) หรือสิทธิในการเชิญเพื่อนที่ยังมีจำนวนจำกัด ขณะเดียวกัน Clubhouse ยังถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองสำหรับการถกประเด็นที่รุนแรงและอ่อนไหว ซึ่งมีความเสี่ยงในแง่ที่ว่า เราไม่สามารถควบคุมคำพูดของคนในแอปพลิเคชันที่ยกมือเพื่อขอโอกาสพูดได้ เนื่องจากเป็นการสนทนาแบบเรียลไทม์ อาจส่งผลให้ท้ายที่สุดแอปพลิเคชันอาจถูกควบคุมจากรัฐ โดยประเทศจีนก็ได้ประกาศแบน Clubhouse ไปเรียบร้อยแล้ว
ส่องประเด็นร้อนในไทยบน Clubhouse
หนึ่งในประเด็นร้อนที่ทำให้ Clubhouse กลายเป็นกระแสที่พูดถึงในประเทศไทย คือ การเปิดห้องสนทนาทางการเมืองของนายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการและผู้ลี้ภัยทางการเมือง ที่สร้างปรากฎการณ์ให้ Clubhouse มียอดผู้เข้าฟังเต็มถึง 2 ห้อง (จำกัดสูงสุดห้องละ 6 พันคน) เมื่อวันที่ 16 ก.พ. ที่ผ่านมา และอีกกระแสเมื่อนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เข้ามาร่วมในห้องสนทนา “ไทยรักไทย ใครเกิดทัน มากองกันตรงเน้” ภายใต้ชื่อบัญชี Tony Woodsome พร้อมตอบคำถามของประชาชนที่ถามกันเข้ามาอย่างเผ็ดร้อน
เมื่อการสนทนาถูกจำกัดผู้ฟังได้แค่ห้องละไม่กี่พันคน แต่จำนวนผู้ฟังนั้นมีมหาศาล จึงมีผู้ใช้งานบางรายเลือกดูดเสียงจากห้องสนทนาหนึ่งไปถ่ายทอดต่อยังห้องสนทนาอื่น ๆ นอกจากนี้ ยังมีผู้ใช้งานบางกลุ่มที่อัดคลิปเสียงจาก Clubhouse ไปเผยแพร่ข้ามแพลตฟอร์มอื่น ๆ เพื่อหาผลประโยชน์จากความนิยมของแอปพลิเคชันนี้ ซึ่งมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า การกระทำดังกล่าวอาจเป็นการละเมิดข้อกำหนดการใช้งาน รวมถึงความตั้งใจของผู้พัฒนาแอปพลิเคชันที่อยากให้การสนทนาหายไปอย่างเงียบ ๆ ปราศจากการบันทึกไว้ ซึ่งต้องติดตามกันต่อไปว่า ทางผู้พัฒนาจะมีมาตรการใดที่จะแก้ปัญหาดังกล่าว
ช่องโหว่ที่ยังรอการแก้ไข
ด้วยความที่ Clubhouse สามารถตั้งกลุ่มพูดคุยแสดงความคิดเห็นในหัวข้อต่างๆ ได้อย่างอิสระ และมีความเป็นส่วนตัว ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นตามมานั้น คือผู้ใช้บางรายอาจจะพูดแสดงความเห็นในลักษณะที่พาดพิงหรือละเมิดสิทธิของผู้อื่นจนได้รับความเสียหาย และอาจมีการกล่าวข้อมูลที่บิดเบือนจนทำให้ผู้อื่นเข้าใจผิดหรือเกิดความสับสนวุ่นวายได้ รวมถึงกรณีที่อาจมีมิจฉาชีพปลอมแอคเคาท์เป็นบุคคลอื่นและไปหลอกลวงเอาทรัพย์สินจนผู้อื่นได้รับความเสียหายได้
ด้วยเหตุนี้ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) จึงได้ออกมาประชาสัมพันธ์ถึงแนวทางการหลีกเลี่ยงและป้องกันการถูกหลอกลวงในรูปแบบที่อาจจะเกิดขึ้นได้บนแอปพลิเคชั่น Clubhouse ว่า ควรคำนึงถึงสิทธิของผู้อื่นเสมอก่อนจะพูดอะไรออกไป โดยให้ใช้วิจารณญาณในการรับฟังข้อมูลต่างๆจากการสนทนาและไม่ควรเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวให้ผู้อื่นทราบ
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) (ตำแหน่งในขณะนั้น) กล่าวว่า กระทรวงดิจิทัลฯ และเจ้าหน้าที่รัฐได้ติดตาม การใช้งานของแอปพลิเคชัน Clubhouse หลังพบว่ามีผู้ใช้โซเชียลมีเดียได้เริ่มเข้าไปใช้งานแอปพลิเคชัน Clubhouse อย่างแพร่หลาย และมีกลุ่มที่เคลื่อนไหวทางการเมือง และกลุ่มต่าง ๆ ได้ใช้แอปพลิเคชันนี้แสดงความคิดเห็นและให้ข้อมูลที่เข้าข่ายบิดเบือน สร้างความเสียหาย และอาจนำไปสู่การกระทำความผิดกฎหมายได้
พร้อมกันนี้ ฝากเตือนไปยังผู้ใช้แอปพลิเคชันดังกล่าวว่า หากไม่ระมัดระวังใช้ในทางที่ผิด เกิดการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลอื่น สร้างความเสียหาย ถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย ทั้ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2563 และที่แก้ไขเพิ่มเติม รวมถึงกฎหมายอื่น ๆ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้ที่เกี่ยวข้อง พร้อมดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายทันที เช่นเดียวกับที่ได้ติดตามตรวจสอบการใช้งานโซเชียลมีเดียในแพลตฟอร์มอื่น ๆ ด้วย
คงต้องติดตามกันต่อไปว่า หากมีการพัฒนาให้ใช้งานได้บน Android ได้แล้ว สถิติและรูปแบบการใช้งานในไทยและทั่วโลกจะเป็นอย่างไร
เมื่อ "เฟซบุ๊ก" กลายเป็นที่พึ่งในยามวิกฤต
การซื้อสินค้าผ่านโซเชียลมีเดียในกลุ่มผู้บริโภคคนไทยนั้นเป็นเรื่องที่นิยมมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฟซบุ๊กเคยจัดอันดับให้ไทยอยู่ใน Tier 1 เรื่อง Conversational Commerce เพราะมีไม่กี่ประเทศที่ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กแชตคุยกับคนแปลกหน้าและกล้าโอนเงินให้แม้ว่าจะไม่ได้รู้จักตัวตนที่แท้จริง สำหรับในปี 2563 วิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ก่อให้เกิดปรากฏการณ์บนเฟซบุ๊ก ได้แก่ กลุ่ม Facebook Group อาทิ กลุ่มของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ซึ่งเปิดตัวขึ้นเพื่อเป็นแหล่ง “ซื้อขายแลกเปลี่ยน” สินค้าและบริการในการที่จะช่วยเหลือศิษย์เก่าของสถาบันการศึกษาที่ได้รับผลกระทบและความเดือดร้อนจากโควิด-19
"เฟซบุ๊ก ไลฟ์" (Facebook Live) คึกคัก เหตุโควิด-19 ทำคนไทยหันไปมีปฏิสัมพันธ์ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์
ย้อนกลับไปช่วงเดือนมีนาคม 2563 ยอดผู้ป่วยโควิด-19 ในไทยยังคงเพิ่มขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง ส่งผลให้รัฐบาลใช้มาตรการปิดร้านอาหารแบบนั่งทานในร้าน ปิดสถานบันเทิง และต่อมาในเดือนเมษายน 2563 ก็ได้ประกาศเคอร์ฟิวไม่ให้ประชาชนออกจากบ้านเวลาที่กำหนดไว้ในช่วงกลางคืนอีกด้วย รวมทั้งรณรงค์ให้ประชาชนทำงานจากที่บ้าน เพื่อป้องกันไม่ให้โรคระบาดในวงกว้าง
มาตรการเหล่านี้ทำให้ประชาชนไม่มีโอกาสนั่งทานอาหารในร้านโปรดของตัวเอง ไม่ค่อยมีโอกาสได้พบปะกับเพื่อนฝูงและเสพความบันเทิงนอกบ้าน ขณะที่ธุรกิจสถานบันเทิง เช่น ผับ บาร์ ก็ปิดบริการ ส่วนบรรดาค่ายเพลงก็รายได้หดหายเพราะส่งศิลปินไปเปิดการแสดงไม่ได้
Facebook Live ทางรอดของธุรกิจความบันเทิง
ทั้งหมดนี้ทำให้ Facebook Live กลายเป็นหนึ่งในช่องทางที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคและภาคธุรกิจที่ใช้แพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อความบันเทิงและสร้างรายได้ โดยในฝั่งของผู้บริโภคที่ใช้เวลาอยู่กับบ้านนั้นก็จะนิยมคอนเทนต์ประเภทบันเทิง เพื่อผ่อนคลายในช่วงล็อกดาวน์ ขณะที่ธุรกิจสถานบันเทิงและค่ายเพลงก็ได้เลือกใช้แพลตฟอร์มนี้ เพื่อเป็นช่องทางในการสร้างรายได้
วิธีการหนึ่งที่สถานบันเทิงนิยมใช้ คือ การไลฟ์ดนตรีสดผ่านเฟซบุ๊ก เพราะสามารถตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของแฟนเพลงในช่วงที่ต้องกักตัวอยู่บ้าน และยังช่วยขยายฐานลูกค้า ตลอดจนต่อลมหายใจให้กับนักดนตรีในยามวิกฤต
The Cassette Music Bar ร้านอาหารกึ่งบาร์ชื่อดังในย่านเอกมัยที่ได้รับความนิยมอย่างมากก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาด ได้ปรับตัวมาจัดแสดงดนตรีแบบไลฟ์ให้แฟนเพลงได้ดูผ่านเฟซบุ๊ก โดยคุณภา พิณภัสร์ สิริอัครเศรษฐ ผู้ก่อตั้งร้าน The Cassette Music Bar ให้สัมภาษณ์กับ Brand Buffet ว่า หลังดำเนินธุรกิจมากว่า 2 ปี ธุรกิจเติบโตขึ้นตลอด ถึงแม้สถานการณ์ของธุรกิจร้านอาหารกึ่งผับจะเริ่มชะลอตัวมาตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา จากสภาวะเศรษฐกิจที่ทรงตัว แต่ร้านยังคงมีกลุ่มลูกค้าเหนียวแน่น ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงอายุ 30 ปีขึ้นไป ที่ชื่นชอบการฟังเพลงยุคเทปคาสเซ็ตต์
การประกาศปิดธุรกิจสถานบันเทิงชั่วคราวนั้นทำให้นักดนตรีขาดรายได้ไปมาก ทางร้านจึงคิดหารายได้ให้นักดนตรีจนเกิดไอเดีย “ไลฟ์ดนตรีสดผ่าน Facebook Page” ขึ้น แต่ตอนแรกยังไม่ได้ลงมือทำเพราะการนำนักดนตรีมารวมตัวกันอาจไม่ปลอดภัย อย่างไรก็ดี ทางร้านมีสปอนเซอร์ติดต่อเข้ามา ทำให้แนวคิดดังกล่าวกลายเป็นจริงในที่สุด โดยการไลฟ์จะมีการเว้นระยะห่างทางสังคมอย่างถูกต้องตามมาตรฐาน ทางร้านจึงได้ไลฟ์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2563 และได้เปิดไลฟ์ต่อเนื่องหลังจากนั้นอีกหลายครั้ง โดยยอดคนเข้ามาดูขณะไลฟ์สดอยู่ที่ 2,000 คน ขณะที่คนดูต่อคลิปประมาณ 100,000 วิว และมีการเข้าถึงผู้ชมเฉลี่ยกว่า 200,000 คน
นอกจากนี้ ร้านชงเจริญที่เซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งก็เป็นร้านอาหารกึ่งผับอีกแห่งที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน ได้ตัดสินใจปรับตัวเปิดแสดงดนตรีผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ด้วยเช่นกัน โดยคุณกฤษฏา ธนะตระกูลวงศ์ หนึ่งในหุ้นส่วนร้านชงเจริญ ได้ให้สัมภาษณ์กับ Brand Buffet ว่า การที่ภาพลักษณ์ของร้านชงเจริญนั้นเป็นร้านอาหารกึ่งผับ ทางร้านจะทำอาหารส่งแบบเดลิเวอรี่เหมือนเอ็มเคหรือบาร์บีคิวพลาซ่าไม่ได้ จึงได้ตัดสินใจทำไลฟ์ดนตรีผ่านทางเพจแทน จนกลายเป็นที่มาของแคมเปญ ชงเจริญ “โอ-สด” Live Therapy ซึ่งทำการไลฟ์ 14 วัน 14 วงดนตรี และบริจาคให้ 14 โรงพยาบาล โดยรายได้หลักของการไลฟ์ดนตรีผ่านเพจนั้นมาจากสปอนเซอร์
ผลตอบรับออกมาดีมาก โดยเฉพาะวันแรกมียอดผู้เข้าชมเป็นจำนวนมาก และนอกเหนือจากการไลฟ์ดนตรีของนักดนตรีอย่างเดียวแล้ว ทางร้านยังได้ปรับรูปแบบด้วยการจัดสัมภาษณ์คนดังด้วย เพื่อสร้างความแปลกใหม่มากกว่าการดูไลฟ์ดนตรีอย่างเดียว
นอกจากสถานบันเทิงแล้ว ธุรกิจสถานีวิทยุก็ได้เลือกใช้เฟซบุ๊กในการเปิดไลฟ์ด้วยเช่นกัน โดยคลื่นวิทยุกรีนเวฟ 106.5 เอฟเอ็ม ได้จัดไลฟ์ผ่านเฟซบุ๊กเพจของตัวเอง และเชิญศิลปินชื่อดังมาไลฟ์สดจากสตูดิโอ และเปิดโอกาสให้ร่วมสมทบทุนสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ด้วย ซึ่งได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดีเช่นกัน
LINE CALL – LINE MAN มียอดใช้งานโต 200-300% รับอานิสงส์โควิด-19
นอกเหนือจากเฟซบุ๊กแล้ว อีกแพลตฟอร์มหนึ่งที่โดดเด่น คือ ไลน์ (LINE) โดยในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้น เทคโนโลยีได้เข้ามามีผลกับการดำเนินชีวิตเกือบ 100% ทั้งการดำเนินชีวิตประจำวันที่ต้องมีการรักษาระยะห่าง การทำงานแบบ Work From Home การใช้ชีวิตที่ต้องพึ่งพาแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคหันมาใช้ไลน์มากขึ้น เพื่อติดต่อกับที่ทำงานและสานสัมพันธ์กับเพื่อนฝูงในช่วงเวลาที่ออกจากบ้านไปหากันได้ลำบาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลากลางคืนที่จะออกไปสังสรรค์ตามสถานบันเทิงไม่ได้
โดยบริการ LINE Call นั้น มียอดการใช้งานผ่านคอมพิวเตอร์เพิ่มมากขึ้นกว่า 200% เมื่อเทียบระหว่างเดือนมกราคมกับเดือนมีนาคม 2563 ทั้งการโทรปกติและวิดีโอคอล โดยมีสาเหตุจากการที่ผู้ใช้บริการชาวไทยใช้ LINE Call ติดต่องานเมื่อต้องทำงานจากที่บ้าน ขณะที่คนไทยบางส่วนก็ LINE Call กับเพื่อนไม่ว่าจะโทรหาเพื่อนคนเดียวหรือประชุมสายกันเป็นกลุ่มเพื่อชวนคุยแก้เหงา ด้วยเหตุนี้ ไลน์จึงพัฒนาฟีเจอร์และฟังก์ชันเพิ่มเติมเพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมคนไทยบนแพลตฟอร์มไลน์ ไม่ว่าจะเป็นฟีเจอร์ Watch Together ให้แชร์หน้าจอหรือดูวิดีโอยูทูบพร้อมกันใน LINE Group Call และเพิ่มจำนวนคนรองรับ LINE Call ได้มากสุดถึง 500 คน
ขณะเดียวกัน LINE MAN ผู้ช่วยเบอร์หนึ่งที่ทำให้ได้รับประทานของอร่อยโดยไม่ต้องออกจากบ้าน มีการใช้งานเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2563 ยอดการใช้งานเพิ่มขึ้นถึง 300% เมื่อเทียบกับการใช้งานในสถานการณ์ปกติ โดยมีสาเหตุจากมาตรการปิดร้านอาหารแบบนั่งทานในร้าน ทำให้ผู้บริโภคชาวไทยหันมาใช้บริการเดลิเวอรีกันมากขึ้น
"ทวิตเตอร์" เปิดบัญชี @TwitterThailand หลังยอดผู้ใช้งานยังเติบโตดี
หลังจากยอดผู้ใช้งานเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างน่าประทับใจในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ในที่สุดปี 2563 ทวิตเตอร์ก็ได้ตัดสินใจเปิดบัญชีสำหรับผู้ใช้ในไทยอย่างเป็นทางการในชื่อบัญชี @TwitterThailand ในเดือนพฤษภาคม 2563 โดยระบุว่า@TwitterThailand จะเป็นช่องทางเชื่อมทวิตเตอร์เข้ากับผู้ใช้ในไทย หลังจากที่เคยเปิดบัญชีลักษณะดังกล่าวมาแล้วในสหราชอาณาจักร สเปน ฝรั่งเศส ไปจนถึงประเทศแถบเอเชียอย่างญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย และสิงคโปร์
อาร์วินเดอร์ กุจราล กรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของทวิตเตอร์ กล่าวว่า “ประเทศไทยเป็นตลาดที่มีความสำคัญต่อทวิตเตอร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นอย่างมาก วันนี้ทวิตเตอร์ยินดีและรู้สึกตื่นเต้นที่จะได้เปิดตัว @TwitterThailand”
อย่างไรก็ดี หลังจากเปิดตัวได้ไม่นานก็เกิดแฮชแท็ก #ไม่เอาทวิตเตอร์ไทยแลนด์ ติดเทรนด์อันดับ 1 ในไทยทันที เนื่องจากผู้ใช้งานในไทยบางส่วนเกิดความสงสัยเกี่ยวกับจุดประสงค์ของการตั้งบัญชีดังกล่าว เพราะช่วงเวลาที่เปิดบัญชีนั้น ทวิตเตอร์เพิ่งประกาศความร่วมมือกับรัฐบาลไทย จึงก่อให้เกิดความกังวลว่า การที่ทวิตเตอร์เข้ามายกระดับบทบาทในไทยนั้นมีขึ้นเพื่อ “จำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก” ของผู้ใช้งานทวิตเตอร์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นที่มักทวีตข้อความวิจารณ์รัฐบาล
คอนเทนต์บน @TwitterThailand นั้นเป็นภาษาไทยและมีเนื้อหาหลากหลาย ซึ่งนอกเหนือจากการทวีตข้อมูลช่วยเหลือผู้ใช้งานแล้ว ยังมีข้อมูลสถิติที่น่าสนใจจากทวิตเตอร์ เช่น ประเด็นที่ผู้ใช้งานทวีตกันเป็นจำนวนมากในวันนั้น ๆ ชวนผู้ใช้งานพูดคุยเกี่ยวกับเกมที่ชอบ หรือไปจนถึงการทวีตติดตลกรับวันหวยออก โดยเมื่อดูผ่าน ๆ แล้วคอนเทนต์กว่าครึ่งหนึ่งมีความเกี่ยวข้องกับ K-pop หรือศิลปินเกาหลี ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ผู้ใช้งานทวิตเตอร์ส่วนใหญ่ติดตามนั่นเอง
เมื่อ "ทวิตเตอร์" กลายเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักในยุคการเมืองร้อนแรง
ตลอดช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทวิตเตอร์เป็นที่รู้จักว่าเป็นแพลตฟอร์มที่วัยรุ่นไทยนิยมใช้พูดคุยเรื่องดารานักร้องที่ตัวเองชื่นชอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งศิลปินเกาหลี แต่ด้วยสถานการณ์บ้านเมืองที่ร้อนแรงของไทยในปี 2563 ทวิตเตอร์ได้กลายเป็นแพลตฟอร์มที่วัยรุ่นไทยใช้แสดงความคิดเห็นทางการเมืองกันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง
การแสดงความคิดเห็นทางการเมืองบนทวิตเตอร์นั้นค่อนข้างร้อนแรงกว่าแพลตฟอร์มอื่น ๆ ซึ่งปรากฏให้เห็นได้จากแฮชแท็กต่าง ๆ ที่ใช้ถ้อยคำรุนแรงและอาจผิดกฎหมาย โดยสาเหตุที่วัยรุ่นไทยชอบใช้ทวิตเตอร์แสดงความคิดเห็นทางการเมืองนั้นเป็นเพราะข่าวสารบนทวิตเตอร์ไปได้เร็วกว่า และกลุ่มผู้ใช้งานทวิตเตอร์ก็แทบจะเป็นวัยรุ่นด้วยกันเองทั้งหมด ไม่มีผู้ปกครองที่อาจจะมีความเห็นทางการเมืองต่างขั้วกันมาคอยสอดส่องการใช้งาน
การพูดคุยเรื่องการเมืองบนทวิตเตอร์ร้อนแรงเป็นพิเศษเมื่อเกิดเหตุการณ์ชุมนุมเรียกร้องความเป็นประชาธิปไตย โดยผู้ที่ชุมนุมนั้นส่วนใหญ่เป็นนักเรียนนักศึกษา ซึ่งก็คือกลุ่มผู้ใช้งานหลักของทวิตเตอร์ในไทยนั่นเอง
กลุ่มนักเรียนนักศึกษาได้ติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในการชุมนุมทางการเมืองแต่ละวันด้วยแฮชแท็กที่มีคำว่า “ม็อบ” + วันที่ เช่น #ม็อบ18ตุลา #ม็อบ19ตุลา #ม็อบ21ตุลา เมื่อกดดูแฮชแท็กเหล่านี้แล้วก็จะพบข้อความที่นักเรียนนึกศึกษาได้โพสต์ไว้จากสถานที่ชุมนุม ซึ่งอัปเดตแบบเรียลไทม์วินาทีต่อวินาที นอกจากนี้ กลุ่มผู้จัดการชุมนุมยังได้ใช้ทวิตเตอร์เป็นเครื่องมือในการประกาศสถานที่จัดแฟลชม็อบด้วยเช่นกัน ซึ่งผู้ที่อยากไปชุมนุมก็ต้องคอยติดตามข่าวอัปเดตจากแกนนำว่า จะไปแฟลชม็อบที่ใด
ทวิตเตอร์ได้กลายเป็นแหล่งข่าวแรกของกลุ่มผู้ชุมนุมไปแล้ว และสำหรับผู้ติดตามสถานการณ์การชุมนุมนั้นก็เป็นที่รู้กันว่า ถ้าอยากได้ข่าวเกี่ยวกับการชุมนุม ให้ไปหาดูในทวิตเตอร์เป็นอย่างแรก โดยข่าวการชุมนุมที่ปรากฏบนแพลตฟอร์มอื่น เช่น เฟซบุ๊ก แทบจะทั้งหมดก็เป็นการแคปหน้าจอมาจากทวิตเตอร์อีกที ทั้งหมดนี้สอดคล้องกับสิ่งที่ทวิตเตอร์ประกาศไว้เสมอมาว่าเป็นแพลตฟอร์มที่สะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้น หรือ What’s happening ได้อย่างแท้จริง
"อินสตาแกรม" แหล่งโชว์งานอดิเรกของเจนวาย จุดกระแสปลูกต้นไม้ถ่ายลงไอจี
การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ผู้คนอยู่กับบ้านมากขึ้น และต้องหากิจกรรมทำเพื่อแก้เบื่อจนกลายเป็นงานอดิเรกและแชร์สิ่งที่ตัวเองทำในแต่ละวันลงไอจีสตอรี ไม่ว่าจะเป็นการฝึกทำอาหาร ออกกำลังกาย งานฝีมือ ไปจนถึงการปลูกต้นไม้ซึ่งกลายเป็นงานอดิเรกที่ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงล็อกดาวน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนเจนวาย
การปลูกต้นไม้ในบ้านกลายเป็นเทรนด์ยอดนิยม โดยได้รับอานิสงส์จากการกักตัวอยู่บ้านเพื่อเลี่ยงโรคระบาด ทำให้ผู้บริโภคจำนวนมากหันมาสนใจกับการทำบ้านให้น่าอยู่ หนึ่งในนั้นคือดาราสาว ญาญ่า อุรัสยา สเปอร์บันด์ ซึ่งหันมาทำกิจกรรมยามว่างด้วยการปลูกต้นไม้ และพอถ่ายรูปลงอินสตาแกรมส่วนตัว ก็มีคนสนใจเป็นจำนวนมาก และด้วยความที่ญาญ่าเป็นดาราระดับแถวหน้าของไทยที่มีผู้ติดตามกว่า 10 ล้านคน ทุกครั้งที่ญาญ่าลงภาพต้นไม้ของตัวเอง ตลาดต้นไม้ก็จะคึกคักตามไปด้วย ทำให้ต้นไม้แบบที่เธอปลูกบางต้นราคาพุ่งแรงกว่าราคาปกติ โดยทีมข่าวพีพีทีวีได้สำรวจที่ตลาดต้นไม้ และพบว่าภาพที่ญาญ่าโพสต์รูปคู่กับต้นชวนชมทำให้ราคาต้นชวนชมที่เดิมต้นละ 80-100 บาท มีราคาพุ่งสูงขายอยู่ที่ต้นละ 200 บาทเลยทีเดียว(3) ทำให้เกิดกระแสสนุกสนาน เพื่อเรียกร้องให้ญาญ่าเลิกโพสต์รูปคู่กับต้นไม้เพราะเธอทำให้ราคาต้นไม้พุ่ง ขณะที่คนบางส่วนก็เรียกร้องให้ญาญ่าโพสต์รูปกับของอย่างอื่นบ้าง เช่น มันสำปะหลัง ยางพารา เพื่อดันให้ราคาสินค้าเหล่านี้พุ่งสูงขึ้นและเป็นการช่วยเกษตรกร
ด้านดาราสาวก็รับรู้กระแสดังกล่าว จนทำให้เธอตัดสินใจเปิดอินสตาแกรมใหม่ในชื่อ yayanbarrysplants ไว้โพสต์ภาพต้นไม้ที่เธอปลูกโดยเฉพาะ และยังมีต้นไม้ของแฟนหนุ่มอย่างแบรี่ ณเดชน์ คูกิมิยะ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อไอจีดังกล่าว
อ้างอิง
- Positioning Magazine. 2563. เจาะลึก ‘TikTok’ แพลตฟอร์มสร้าง ‘ไวรัล’ ของวัยโจ๋ ที่โตกว่า 100% ในปีเดียว [ออนไลน์] จาก https://positioningmag.com/1265673.
- เดอะ โมเมนตัม. 2563. เพราะต้องอยู่บ้านกักตัวในช่วงโควิด-19 คนดังทั่วโลกหันมาเล่น TikTok จนยอดดาวน์โหลดพุ่งพรวด [ออนไลน์] จาก https://themomentum.co/coronavirus-quarantine-appears-to-be-driving-a-global-tiktok-download-boom/.
- Brand Buffet. 2563. เปิดกลยุทธ์ 5 แบรนด์ดัง ปั้นคอนเทนต์ให้ปังบน TikTok [ออนไลน์] จาก https://www.brandbuffet.in.th/2020/05/5-brand-build-content-on-tiktok/.
- BrandAge. 2563. TikTok เผยกลยุทธ์คอนเทนต์ครึ่งปีหลัง ต่อยอดความสำเร็จผู้นำแพลตฟอร์มวิดีโอสั้นระดับโลก [ออนไลน์] จาก https://www.brandage.com/article/20267/TikTok.
- ผู้จัดการออนไลน์. 2563. TikTok เผยเทคนิคแบรนด์สื่อสารถึงผู้ใช้ผ่าน TikTok For Business [ออนไลน์] จาก https://mgronline.com/cyberbiz/detail/9630000078161.
- TechOffside. 2563. TikTok LIVE ฟีเจอร์ใหม่ ถ่ายทอดสด พูดคุยกับผู้ติดตามได้แบบเรียลไทม์ [ออนไลน์] จาก https://www.techoffside.com/2020/09/tiktok-live-live-streaming/
- ผู้จัดการออนไลน์. 2563. ส่อง 5 แฮชแท็กฮิต TikTok ครึ่งแรกปี 2020 [ออนไลน์] จาก https://mgronline.com/cyberbiz/detail/9630000073490.
- ThaiPR.net. 2563. TikTok จัดอันดับ “Year On TikTok 2020” [ออนไลน์] จาก https://www.thaipr.net/it/3013495
- BRAND BUFFET. 2563. The Cassette – ชงเจริญ พลิกเกมส์แก้วิกฤติโควิด 19 ส่ง FB Live Music เชื่อมลูกค้าเก่า-สร้างลูกค้าใหม่ [ออนไลน์] จาก https://www.brandbuffet.in.th/2020/04/pub-restaurant-adjust-covid-19-live-music-online/.
- อินโฟเควสท์. 2563. LINE เผยผู้ใช้งานใหม่เพิ่มกว่า 2 ล้านคนใน 1 ปี LINE Call-LINE MAN มียอดใช้งานโต 200-300% [ออนไลน์] จาก https://www.infoquest.co.th/news/2020-f3ad70c594ac85f5819fbb04dc47e570.
- พีพีทีวี. 2563. กระแสปลูกต้นไม้ตาม “ญาญ่า” แรงไม่หยุด ส่งราคาพุ่ง [ออนไลน์] จาก https://www.pptvhd36.com/news/ประเด็นร้อน/128264.
รายงานภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2564
- แนวโน้มสื่อไทย 2568
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2567
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2566
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2565
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2564
- ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2563
- Thai Media Trends 2025 (English Version)
- Thailand Media Landscape 2023-2024 (English Version)
- Thailand Media Landscape 2022-2023 (English Version)
- Thailand Media Landscape 2021-2022 (English Version)