นิตยสาร
นิตยสารยังคงปิดตัวลงอย่างต่อเนื่อง เพราะลำพังการทำนิตยสารเป็นธุรกิจหลักไม่สามารถสร้างรายได้ที่งดงามอย่างในอดีตได้อีกต่อไป เมื่อปัจจุบันผู้คนหันมาอ่านสื่อออนไลน์ที่มีทั้งความสดใหม่ รวดเร็ว และหลากหลายกว่า ด้วยเหตุนี้ ในช่วงปลายปี 2562 จนถึงต้นปี 2563 นิตยสารหลายเล่มได้ผันตัวไปทำสื่อออนไลน์อย่างต่อเนื่อง โดยอาศัยฐานกลุ่มผู้อ่านเดิมที่ติดตามกันมาอย่างเหนียวแน่นตั้งแต่สมัยที่ยังมีการตีพิมพ์ ประกอบกับชื่อเสียงที่สั่งสมมานานจนช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้กับคอนเทนต์ของตัวเอง
อำลาแผง
เริ่มต้นจากเครืออมรินทร์ที่ประกาศปิดนิตยสารในเครือ 2 เล่มด้วยกัน ซึ่งได้แก่ “Amarin Baby & Kids” นิตยสารแม่และเด็กที่ปิดตัวไปในฉบับเดือนธ.ค. 2562 – ม.ค. 2563 และ “สุดสัปดาห์” ซึ่งประกาศยุติการตีพิมพ์นิตยสารฉบับกระดาษไว้ที่เดือนธ.ค. 2562 หรือขวบปีที่ 36 ของบริษัท โดยจะหันมาสู้ต่อในโลกออนไลน์ นำเสนอคอนเทนต์ทุกแพลตฟอร์มทั้งเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก ไอจี ทวิตเตอร์ และยูทูป ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในกลยุทธ์ของอมรินทร์ ที่ต้องการปรับโครงสร้างธุรกิจเพื่อสู้กับกระแสดิจิทัลดิสรัปชัน และลดต้นทุนการผลิตกลุ่มนิตยสารและงานพิมพ์ลง ตามมาด้วยนิตยสาร “ไม่ลองไม่รู้เกษตรมือโปร” ที่ประกาศยุติการตีพิมพ์ไว้ในเดือนธันวาคม 2562 หรือปีที่ 19 ของการดำเนินธุรกิจ
ต่อมาในวันที่ 29 ธ.ค. 2562 นิตยสาร “เส้นทางเศรษฐี” จากเครือมติชน ได้ประกาศผ่านทางแฟนเพจเฟซบุ๊กว่า นิตยสารเส้นทางเศรษฐีได้เดินทางมาถึงปลายทางของธุรกิจกระดาษสิ่งพิมพ์แล้ว โดยฉบับวันที่ 1 มกราคม 2563 จะเป็นฉบับสุดท้าย หลังจากที่โลดแล่นอยู่บนแผงหนังสือมานานกว่า 24 ปี และเส้นทางเศรษฐีก็พร้อมจับตลาดออนไลน์อย่างเต็มตัว
นิตยสารเส้นทางเศรษฐี ระบุว่า “ช่องทางเหล่านี้ (โซเชียลมีเดีย) นับเป็นช่องทางมีความสำคัญยิ่งในยุคนี้ ซึ่งทางเราได้ขับเคลื่อนอย่างจริงจังมาตลอด 3-4 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันมีสมาชิกผู้อ่านติดตามเส้นทางเศรษฐีผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์แล้วกว่า 5 แสนคน”
ต่อมาในเดือนมี.ค. 2563 นิตยสาร “เที่ยวรอบโลก” ก็ได้ประกาศยุติการพิมพ์ลงในฉบับที่ 451 (เดือนมี.ค. 2563) และหันมาทำสื่อออนไลน์แทน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19
ในเดือนเม.ย. 2563 นิตยสารหัวนอกอย่าง “Esquire Thailand” ได้ประกาศโบกมือลาแผง ปิดตำนาน 25 ปีในประเทศไทย โดยระบุว่า ทางนิตยสารหมดสัญญากับทางบริษัทแม่ Hearst Magazine, New York และตัดสินใจที่จะไม่ต่อสัญญาอีก
ส่วนในเดือนมิ.ย. 2563 นิตยสาร “daybeds” ซึ่งอยู่คู่สื่อสิ่งพิมพ์มาอย่างยาวนาน 18 ปี ก็ประกาศยุติการผลิตนิตยสาร และเผยโฉมใหม่ในสื่อออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบ
นิตยสารแจกฟรีระงับการตีพิมพ์จากผลกระทบโควิด-19
ที่ผ่านมา นิตยสารแจกฟรี (Free copy) ถูกมองว่าอาจจะเป็นทางรอดให้กับนิตยสาร แต่ท้ายที่สุดก็ไปไม่รอดในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เมื่อนิตยสารในกลุ่มนี้ทยอยปิดตัวลง
ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562 นิตยสารแจกฟรีรายสัปดาห์กลุ่มผู้หญิงและไลฟ์สไตล์อย่าง “The edition” ของเครือบริษัทแอมบิเชียส ที่รีแบรนด์มาจาก DONT ก็ประกาศยุติการพิมพ์ไว้ในฉบับส.ค. 2562 หลังจากที่พิมพ์มาได้เพียง 3 ฉบับ โดยได้เปลี่ยนมาทำ E-magazine และสื่อออนไลน์แทน
อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทระบุว่า The edition ฉบับกระดาษก็ไม่ได้จากไปอย่างถาวร เนื่องจากทางบริษัทจะมีการจัดตีพิมพ์นิตยสารเฉพาะกิจขึ้นเป็นบางครั้งคราว
ขณะที่นิตยสารแจกฟรีรายสัปดาห์อย่าง “Rabbit Today” ก็ประกาศอำลาไปด้วยเช่นกัน โดยแจ้งว่าสำนักพิมพ์สะดวกอัพเดทข่าวสารทางเฟซบุ๊กมากกว่า ฉบับสุดท้ายคือฉบับที่ 279 วันที่ 28 พฤศจิกายน – 4 ธันวาคม 2562
ต่อมาในช่วงต้นปี 2563 ที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ประชาชนไม่สามารถเดินทางออกไปข้างนอกได้ตามปกติ ย่านการค้า รถไฟฟ้า หรือร้านกาแฟที่เคยมีผู้คนพลุกพล่านกลับเงียบเหงา นิตยสารแจกฟรีจึงได้รับผลกระทบไปเต็ม ๆ เพราะไม่สามารถนำไปแจกหรือวางตามร้านได้เช่นเดิม
“247 City Magazine” นิตยสารแจกฟรีของเครือบริษัท จีเอ็ม มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ที่เคยมียอดตีพิมพ์สูงถึง 400,000 ฉบับต่อปักษ์ ก็ระงับการตีพิมพ์ไว้ที่ฉบับวันที่ 16-31 ธ.ค. 2562 โดยทางบริษัทอยู่ในระหว่างพิจารณาทิศทางในอนาคตว่า จะกลับมาตีพิมพ์ได้อีกครั้งหรือไม่และเมื่อใด (ข้อมูล ณ วันที่ 30 ก.ย. 2563)
ด้าน “a day bulletin” นิตยสารแจกฟรีที่เน้นนำเสนอเรื่องราวที่น่าสนใจและไลฟ์สไตล์ของคนเมืองก็ได้ตัดสินใจระงับการตีพิมพ์ด้วยเหตุผลที่ไม่ต่างกัน โดยฉบับสุดท้ายคือฉบับที่ 636 วันที่ 30 มี.ค. 2563
งบโฆษณาในนิตยสารปี 2563 ร่วง เหตุโควิด-19 ทำยอดขายทรุด
จากเดิมที่สถานการณ์ของสื่อสิ่งพิมพ์ย่ำแย่อยู่แล้วจากกระแสดิสรัปชัน ในปี 2563 ก็ยังได้รับผลกระทบซ้ำจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งถึงแม้สถานการณ์ในไทยจะไม่ถึงขั้นวิกฤตเมื่อเทียบกับหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก แต่การประกาศล็อกดาวน์และปิดห้างสรรพสินค้าในช่วงเดือนมี.ค.-เม.ย.2563 ก็สร้างบาดแผลให้กับนิตยสารอย่างหนักหน่วง เนื่องจากผู้คนไม่ออกไปจับจ่ายใช้สอยตามปกติ ขณะที่แผงหนังสือเองก็ถูกปิดตามไปด้วย ประกอบกับที่แบรนด์หรืออีเวนต์ต่าง ๆ ต้องระงับการโปรโมทโฆษณาไปก่อน ทำให้นิตยสารสูญเสียรายได้หลักที่เป็นท่อน้ำเลี้ยงสำคัญไป
หากพิจารณาข้อมูลจากสมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย (MAAT) ซึ่งได้เปิดเผยตัวเลขงบโฆษณาของสื่อต่าง ๆ ในปี 2563 จะเห็นได้ว่า งบโฆษณาของนิตยสารอยู่ในอันดับเกือบจะสุดท้ายของตาราง (อยู่ในอันดับที่ 9 จากสื่อโฆษณาทั้งหมด 10 ประเภท) และลดต่ำลงเรื่อย ๆ เมื่อเทียบกับสถิติของปี 2562 สอดคล้องกับสถานการณ์ของนิตยสารที่อยู่ในช่วงขาลงต่อเนื่องเป็นระยะเวลาหลายปี เพราะเมื่อมีผู้อ่านน้อยลง แบรนด์จึงหันไปทุ่มงบโฆษณาในสื่อที่มีผู้อ่านเข้าถึงมากกว่า
Vogue ประเทศไทย กับการปรับตัวสู้วิกฤตโควิด-19
แม้ว่า สื่อสิ่งพิมพ์จะต้องเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 แต่นิตยสาร Vogue ประเทศไทย ก็เป็นอีกหนึ่งสื่อที่พยายามปรับตัวรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้อย่างน่าสนใจ หลังจากที่รัฐบาลประกาศล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ประชาชนจึงไม่สามารถเดินทางออกจากบ้านได้โดยสะดวกเหมือนในยามปกติ Vogue เล็งเห็นถึงปัญหาและได้นำเสนอคอนเทนต์ที่จะช่วยคลายความตึงเครียด ด้วยการจัดทำนิตยสารฉบับเดือนเม.ย. 2563 ที่เปิดให้ผู้อ่านสามารถเข้ามาอ่านนิตยสารได้ฟรีเป็นครั้งแรก เพื่อสนับสนุนนโยบายอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ ของรัฐบาล
ทั้งนี้ ผู้อ่านสามารถอ่านนิตยสารฉบับออนไลน์ได้ทั้งบนเว็บไซต์ Vogue.co.th หรือดาวน์โหลดฟรีผ่าน 4 แอปพลิเคชัน e-book ได้แก่ SE-ED, Ookbee, Naiin และ MEB และด้วยกระแสตอบรับที่ดีจากผู้อ่าน ในภายหลัง Vogue จึงได้ตัดสินใจขยายเวลาให้อ่านฟรีได้จนถึงฉบับเดือนส.ค. 2563
ส่วนในเดือนมิ.ย. 2563 Vogue ได้ออกนิตยสารฉบับพิเศษที่เชิดชูบุคลากรแนวหน้าในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ของไทย ซึ่งถือเป็นฉบับที่ Vogue ไม่ได้นำรูปนางแบบขึ้นหน้าปก และไม่ได้เน้นนำเสนอเรื่องของแฟชั่นตามธีมของนิตยสาร เพราะ Vogue ต้องการที่จะเป็นหนึ่งในนิตยสารที่บันทึกสถานการณ์ครั้งนี้
พลิกเกมรุก เปิดขายนิตยสารผ่าน Lazada ช่วงโควิด-19 ระบาด
ในช่วงเดือนมี.ค.-เม.ย. 2563 ซึ่งถือเป็นจุดวิกฤตโควิด-19 Vogue ประเทศไทย ได้เลือกพลิกวิกฤตเป็นโอกาส ด้วยการเปิดขายนิตยสารออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มของ Lazada ทั้งฉบับเดือนเม.ย. 2563) และฉบับย้อนหลังบางเล่มในราคา 120 บาท
ทั้ง 2 บริษัทยังได้ต่อยอดความร่วมมือไปสู่การขายสินค้าออนไลน์ โดย Lazada จับมือกับ Vogue ประเทศไทย เพื่อดึงแบรนด์แฟชั่นไทยชื่อดังกว่า 36 แบรนด์มาขายสินค้าบนแพลตฟอร์มของ Lazada โดย Vogue เชื่อว่า “การซื้อของผ่านช่องทางออนไลน์เป็นคำตอบแห่งอนาคตที่ถูกต้องที่สุด” ในยุคนิวนอร์มัลที่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้คนทั่วโลก
Vogue ประเทศไทยได้ดึงแบรนด์เสื้อผ้าและเครื่องประดับชื่อดังอีกมากมายมาร่วมในแคมเปญ Premium Mall 1st Anniversary ประกอบด้วย ร้านแฟล็กชิปของแบรนด์ระดับโลก อาทิ Coach, Furla, Tommy Hilfiger และ Timberland ไปจนถึงเหล่าแบรนด์ดีไซเนอร์ชั้นแนวหน้าของไทย ตั้งแต่ Asava, Vickteerut, Janesuda, Milin, Kemissara, Kwankao และอื่น ๆ อีกคับคั่ง โดยใช้จุดแข็งซึ่งเป็นชื่อเสียงของ Vouge ในการการันตีว่า ผู้ซื้อจะได้รับสินค้าของแท้ 100% บวกกับกลยุทธ์การมอบส่วนลดต่าง ๆ ตามแคมเปญของ Lazada ที่จูงใจผู้ซื้อ
เปลี่ยน “นิตยสาร” สู่ “ของสะสม” กลยุทธ์เพิ่มคุณค่า
ด้วยความที่นิตยสารที่วางจำหน่ายมีจำนวนไม่มากเหมือนในอดีต อีกทั้งยังไม่สามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำได้เช่นเคย นิตยสารที่ยังเหลืออยู่จึงได้ปรับกลยุทธ์การขายใหม่ ด้วยการทำให้นิตยสารมีรูปแบบที่น่าสนใจและเอ็กซ์คลูซีฟมากยิ่งขึ้นผ่านการใช้ “อินฟลูเอนเซอร์” ซึ่งเป็นดาราหรือศิลปินที่กำลังเป็นกระแสอยู่มาขึ้นปก ส่งผลให้นิตยสารกลายเป็นสินค้าที่แฟนคลับจะต้องรีบคว้ามาเก็บสะสม จนถึงกับต้องเปิดพรีออเดอร์ก่อนที่จะวางแผงจริง ถือเป็นจุดแข็งของนิตยสารแบบกระดาษที่ให้ความรู้สึกถึงความเป็นสินค้าที่จับต้องได้ อันเป็นสิ่งที่สื่อดิจิทัลไม่สามารถเข้ามาแทนที่ได้
ตัวอย่างนิตยสารที่ประสบความสำเร็จจากกลยุทธ์ดังกล่าวคือ “Kazz Magazine” นิตยสารบันเทิงสำหรับคนรุ่นใหม่ โดยในฉบับที่ 165 ทางนิตยสารได้นำดาราขวัญใจวัยรุ่นอย่างไบร์ท-วชิรวิชญ์ ชีวอารี และวิน-เมธวิน โอภาสเอี่ยมขจร ที่โด่งดังจากซีรีย์ “เพราะเราคู่กัน” มาขึ้นปก โดยกระแสความดังของดาราทั้งสองทำให้ Kazz ถึงกับต้องเปิดให้สั่งจองหนังสือล่วงหน้าถึง 2 เดือน และนิตยสารก็ขายหมดอย่างรวดเร็ว ซึ่งไม่ได้ทำยอดขายแค่กับกลุ่มแฟนคลับชาวไทยเท่านั้น แต่กระแสความโด่งดังของ 2 นักแสดงยังทำให้มีชาวต่างชาติสั่งซื้อนิตยสารกับ Kazz ด้วย
อีกหนึ่งกลยุทธ์ที่เพิ่มมูลค่าให้กับนิตยสารได้อย่างน่าสนใจคือ Kazz เลือกพิมพ์ปกเป็น 2 แบบ และแถมโฟโต้การ์ดที่มีลวดลายไม่ซ้ำกันแนบไปด้วย ซึ่งหากแฟนคลับอยากเก็บสะสมให้ครบทุกแบบ ก็ต้องซื้อ Special Package เป็นชุด 6 เล่มที่สุดท้ายก็ขายได้หมดในเวลาไม่นาน จนกลายเป็นของหายากที่ถึงขั้นที่มีการนำไปเพิ่มราคาขายต่อในกลุ่มแฟนคลับ ถือเป็นปรากฎการณ์ที่ไม่ค่อยได้เห็นในแวดวงนิตยสารมานาน
นอกจากนี้ยังมีนิตยสารเล่มอื่น ๆ ที่ได้เชิญดาราหนุ่มทั้งสองมาขึ้นปกด้วยเช่นกัน อาทิ แพรว Posh และ สุดสัปดาห์ โดยมีจุดขายเดียวกันคือจัดทำเป็นฉบับพิเศษสำหรับนักสะสม เพิ่มแฟชั่นเซ็ตเอ็กซ์คลูซีฟ และ แถมโปสการ์ดพิเศษสำหรับแฟน ๆ
5 อันดับนิตยสารยอดนิยมปี 2563
สำหรับนิตยสารที่ได้รับความนิยมในปี 2563 เมื่อพิจารณาจากยอดตีพิมพ์นั้น จะเห็นได้ว่า นิตยสารที่นำเสนอเนื้อหาประเภทไลฟ์สไตล์ และสุขภาพยังคงเป็นนิตยสารที่ได้รับความนิยมจากกลุ่มผู้อ่าน
อ้างอิง
เส้นทางเศรษฐี. 2563. “นิตยสารเส้นทางเศรษฐี” ได้เดินทางมาถึง “ปลายทาง” ของธุรกิจกระดาษสิ่งพิมพ์แล้ว โดยฉบับวันที่ 1 มกราคม 2563 จะตีพิมพ์เป็นฉบับสุดท้าย [ออนไลน์] จาก https://www.facebook.com/SentangSedtee.matichon/posts/1633672286775976
โว้ก. 2563. ประกาศ! Vogue เปิดร้านใน Lazada แล้ว สายแฟไปช็อปฉบับใหม่ได้เลย [ออนไลน์] จาก https://www.vogue.co.th/fashion/article/voguethailandonlineshoppinglazada
โว้ก. 2563. Vogue จับมือกับ Lazada เปิดทางตลาดแฟชั่นพรีเมียมบนแอปพลิเคชั่นช็อปปิ้งที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย [ออนไลน์] จาก https://vogue.co.th/voguexlazada
เอสไควร์ไทยแลนด์. 2563. Esquire Thailand ขอใช้พื้นที่ตรงนี้ขอบคุณผู้อ่านตลอด 25 ปีที่ผ่านมาจากใจจริง [ออนไลน์] จาก https://www.facebook.com/esquirethailand/posts/2987261774685870