OTT TV
การเติบโตของธุรกิจ OTT TV
LINE TV เผยคนดูช่วงล็อกดาวน์โตเพิ่มกว่า 45% ปักธงเป็นเจ้าแห่งคอนเทนต์ในตลาดไทย
NETFLIX เพิ่มฟังก์ชั่น Top 10 แนะนำคอนเทนต์ที่ได้รับความนิยมมากสุดในแต่ละประเทศ
WeTV จับมือพันธมิตรท้องถิ่นรุกตลาดในภูมิภาค ตั้งเป้าดันผู้ใช้แอปโต 4 เท่าภายในสิ้นปี 63
AIS PLAY โชว์ล้ำ รุกเปิดตลาด VR Content ครั้งแรกในไทย
ความเคลื่อนไหวภาครัฐ
การเติบโตของธุรกิจ OTT TV
ปี 2563 ธุรกิจให้บริการแพร่ภาพกระจายเสียงผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต หรือ “Over-the-Top TV” (OTT TV) ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ทำให้รัฐบาลทั่วโลกรวมถึงรัฐบาลไทยใช้มาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาด โดยรัฐบาลไทยได้ออกมาตรการให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการเดินทางออกไปยังสถานที่สาธารณะ ตลอดจนควบคุมการให้บริการด้านความบันเทิงในโรงภาพยนตร์ สถานบันเทิง ร้านอาหาร สนามกีฬา รวมถึงพื้นที่สันทนาการต่าง ๆ ด้วยเหตุนี้ การรับชมความบันเทิงจากที่บ้านจึงเป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยมในการผ่อนคลายความตึงเครียดท่ามกลางวิกฤตการณ์โรคระบาด ส่งผลให้ OTT TV เป็นช่องทางการรับชมคอนเทนต์ที่ผู้ชมเลือกใช้งาน เนื่องจากสามารถรับชมคอนเทนต์ในเวลาใดและจากที่ใดก็ได้ตามต้องการ เพียงผ่านอุปกรณ์ที่สามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต
จากการสำรวจพฤติกรรมการใช้งานอินเทอร์เน็ตของทั่วโลกโดย We Are Social พบว่า ในช่วงปีครึ่งแรกของปี 2563 ผู้คนทั่วโลกใช้งานบริการวิดีโอสตรีมมิ่งเพื่อรับชมรายการต่าง ๆ เพิ่มขึ้นกว่า 54% เช่นเดียวกับพฤติกรรมการใช้งานเพื่อความบันเทิงต่าง ๆ เช่น การฟังเพลง การใช้งานโซเซียลมีเดีย เล่นเกม และอัดคลิปวิดีโอ ซึ่งล้วนมีอัตราการขยายตัวอยู่ในระดับเลขสองหลัก
ผลสำรวจยังพบอีกว่า 67% ของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทั่วโลกยินดีที่จะจ่ายค่าบริการเพื่อเข้าถึงดิจิทัลคอนเทนต์ประเภทต่าง ๆ ขณะที่ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยที่ยอมจ่ายค่าบริการเพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าวมีถึง 68% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก เป็นรองจากจีน (81%) เวียดนาม (79%) เม็กซิโก (75%) และอินเดีย (74%) เท่านั้น
สำหรับประเภทของดิจิทัลคอนเทนต์ที่สามารถดึงดูดรายได้จากกระเป๋าของผู้บริโภคได้มากที่สุด ได้แก่ การรับชมภาพยนตร์และรายการทีวี (28%) ตามมาด้วยการฟังเพลง (25%) การดาวน์โหลดเพลง (20%) ดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ (17%) เล่นเกมบนสมาร์ทโฟน (17%) เรียนออนไลน์ (12%) อ่านข่าวออนไลน์ (9.5%) ซื้อแพคเกจซอฟต์แวร์ (9.3%) สมัครสมาชิกเพื่อรับคอนเทนต์จากนิตยสารออนไลน์ (7.9%) และใช้บริการหาคู่ (6%)
จากข้อมูลข้างต้น เมื่อพิจารณาควบคู่ไปกับรายงานผลการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ปี 2562 (Thailand Internet User Behavior 2019) ที่สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA เผยแพร่ออกมาในไตรมาสแรกของปี 2563 ซึ่งระบุว่า คนไทยใช้งานอินเทอร์เน็ตเฉลี่ยวันละ 10 ชั่วโมง 22 นาที เพิ่มขึ้น 17 นาทีจากชั่วโมงการใช้งานในปี 2561 โดยกิจกรรมยอดนิยมของคนไทย ได้แก่ การใช้งานโซเซียลมีเดีย, ดูหนังฟังเพลง, ค้นหาข้อมูลออนไลน์, รับ-ส่งอีเมล, ชำระค่าสินค้าและบริการ, อ่านหนังสือออนไลน์ ฯลฯ แล้วนั้น จะเห็นได้ว่าการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งในรูปแบบของอินเทอร์เน็ตที่ใช้งานโดยทั่วไปและการเชื่อมต่อผ่านโทรศัพท์มือถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้บริการ OTT TV ซึ่งเป็นบริการที่ผูกโยงอยู่กับการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในประเทศไทยเติบโตขึ้นอย่างมาก เช่นเดียวกับในตลาดอื่น ๆ ทั่วโลกทั้งในแง่การเติบโตของรายได้ของผู้ให้บริการและจำนวนผู้ใช้บริการ OTT TV
ขณะที่ในรายงานคาดการณ์สภาพกิจการตลาด OTT TV ในประเทศไทยของสำนักนโยบายและวิชาการกระจายเสียงและโทรทัศน์ (วส.) สำนักงาน กสทช. และข้อมูลของ Ovum บริษัทจัดเก็บวิเคราะห์ข้อมูลและที่ปรึกษาทางธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีจากสหราชอาณาจักร
ซึ่งได้ทำการเก็บข้อมูลจากผู้ให้บริการ OTT TV และแบ่งรูปแบบการให้บริการออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่
- Subscription Video on Demand (SVOD) เป็นรูปแบบการหารายได้จากการเก็บค่าบอกรับสมาชิก โดยผู้ใช้สามารถรับชมคอนเทนต์รายการที่ใด เวลาใดก็ได้ตามต้องการ
- Subscription Linear (SLIN) เป็นรูปแบบการหารายได้จากการให้บริการรับชมคอนเทนต์ออนไลน์ แบบมีผังรายการ โดยผู้ใช้จะรับชมคอนเทนต์ได้แบบสด ๆ ตามเวลาที่ออกอากาศตามผังรายการที่กำหนด
- Digital Rental เป็นรูปแบบการหารายได้จากการให้บริการคอนเทนต์แบบครั้งเดียวจบ โดยผู้ใช้จะจ่ายค่าบริการเป็นรายครั้งเมื่อรับชมคอนเทนต์ และ
- Election Sell Through (EST) เป็นรูปแบบการหารายได้จากค่าบริการดาวน์โหลดเนื้อหา โดยผู้ใช้จะจ่ายค่าบริการ 1 ครั้งต่อการดาวน์โหลด 1 เนื้อหา ซึ่งคอนเทนต์ดังกล่าวจะสามารถเก็บไว้รับชมกี่ครั้งก็ได้ ในเวลาใดก็ได้ตามต้องการ
ได้มีการคาดการณ์ไว้ว่า ผู้ให้บริการ OTT TV ในทุกประเภทการให้บริการจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจาก 68,096.55 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2562 มาเป็น 79,215.78 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2563 และจะทะลุ 100 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2566
ขณะที่จำนวนผู้ชม OTT TV ทั่วโลก คาดว่า จะเพิ่มขึ้นจาก 790.65 ล้านรายในปี 2562 มาเป็น 899.21 ล้านรายในปี 2563 และมีแนวโน้มจะเติบโตขึ้นไปถึง 1,284.71 ล้านรายในปี 2567
ในส่วนรายได้ของผู้ให้บริการ OTT TV ในประเทศไทยนั้น Ovum คาดการณ์ว่า รายได้ของผู้ประกอบกิจการ OTT TV มีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยรายได้ในภาพรวมของผู้ให้บริการ OTT TV ประเภท SVOD ในประเทศไทยจะมีมูลค่าแตะ 100 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2563 และอาจก้าวกระโดดถึง 181 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2567 ขณะเดียวกัน คาดว่า จำนวนผู้บอกรับสมาชิก OTT TV ในไทยทั้งประเภท SLIN และ SVOD จะเพิ่มขึ้นจากปี 2562 ราว 200,000 ราย มาอยู่ที่ 1.52 ล้านรายในปี 2563 และอาจพุ่งสูงขึ้นถึง 2.45 ล้านรายในปี 2567 ซึ่งสูงกว่าตัวเลขผู้ใช้บริการ OTT TV ในปี 2558 ถึง 7 เท่าตัว โดยแนวโน้มการเติบโตดังกล่าวเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการเติบโตของจำนวนผู้ชม OTT TV ทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม แม้จำนวนผู้ใช้บริการ OTT TV ในประเทศไทยจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อพิจารณาจำนวนผู้ใช้บริการ OTT TV แยกแต่ละประเภทแล้ว พบว่า ตัวเลขคาดการณ์ของผู้ใช้บริการ OTT TV ในรูปแบบ SVOD นั้นสูงกว่าแบบ SLIN อย่างเห็นได้ชัด และมีแนวโน้มว่า อัตราการเติบโตของจำนวนผู้ใช้จะสูงกว่าด้วยเช่นกัน โดยในปี 2563 คาดว่า ในจำนวนผู้ใช้บริการ OTT TV ทั้งหมด จะแบ่งเป็นผู้ใช้บริการในรูปแบบของ SVOD สูงถึง 1.35 ล้านราย และเป็นผู้ใช้บริการ SLIN เพียง 1.75 แสนรายเท่านั้น หรืออาจกล่าวได้ว่า ในปี 2563 ประเทศไทยมีจำนวนผู้ใช้บริการ OTT TV ในรูปแบบ SVOD คิดเป็นเกือบ 8 เท่าของจำนวนผู้ใช้บริการในรูปแบบ SLIN ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ผู้ใช้บริการ OTT TV ในประเทศไทย ให้ความสำคัญกับการรับชมแบบตามความต้องการ (on-demand service) ซึ่งมีความยืดหยุ่นในการรับชมมากกว่าการรับชมแบบสด
LINE TV เผยคนดูช่วงล็อกดาวน์โตเพิ่มกว่า 45% ปักธงเป็นเจ้าแห่งคอนเทนต์ในตลาดไทย
LINE TV (ไลน์ทีวี) หนึ่งในแพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิ่งยอดนิยมที่ครองตลาดละครรีรันในประเทศไทยมานานกว่า 6 ปี เปิดเผยว่า ในช่วงที่รัฐบาลไทยประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ทั่วประเทศเพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งเริ่มตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมี.ค.ต่อเนื่องมาจนถึงเดือนเม.ย 2563 โดยมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ออกคำสั่งห้ามไม่ให้ประชาชนออกนอกเคหะสถานในยามวิกาล ให้ชะลอการเดินทางข้ามจังหวัด รวมถึงให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจอนุญาตให้พนักงานสามารถทำงานจากที่บ้าน ได้ส่งผลให้จำนวนผู้ชมคอนเทนต์ผ่านแพลตฟอร์มของ LINE TV โตขึ้น 45% โดยมีฐานคนดูกว้างขึ้นตั้งแต่เด็กไปจนถึงอายุ 65 ปีรวมกว่า 40 ล้านราย
นายกณพ ศุภมานพ รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรกิจคอนเทนต์ LINE Thailand ระบุในแถลงการณ์เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2563 ว่า “สิ่งที่ทำให้ LINE TV ครองใจผู้ชมในเมืองไทยได้ในทุกวันนี้ มาจากจุดเริ่มต้นของการเป็นทีวีรีรันยอดฮิตเมื่อ 6 ปีก่อน และต่อมาได้พัฒนาให้กลายเป็น Everyday Enjoyment Hub ที่โดดเด่นด้านเนื้อหาคุณภาพระดับพรีเมียมให้หลากหลายขึ้นทั้งละคร ซีรีส์ ซิทคอม ภาพยนตร์ รายการวาไรตี้บน LINE TV รวมมากกว่า 1,000 รายการ รวมถึง Original Content คุณภาพที่รับชมได้เฉพาะบน LINE TV จนสามารถพูดได้ว่าเราเป็น King of Thai Content เจ้าแห่งคอนเทนต์ไทยในตลาด OTT TV ของเมืองไทยที่ได้รับความเชื่อมั่นจากพันธมิตรด้านคอนเทนต์มากกว่า 250 ราย ซึ่งเรามีความมุ่งมั่นที่จะผลักดันให้วงการคอนเทนต์ไทยเติบโตในยุคดิจิทัล นอกจากนี้ LINE TV ยังเป็นแพลตฟอร์มที่เข้าถึงได้ง่าย ไม่เสียค่าใช้จ่าย ดูได้เกือบทุกอุปกรณ์ พร้อมด้วยภาพและเสียงคุณภาพ สิ่งเหล่านี้ทำให้ LINE TV สามารถยึดฐานคนดูวงกว้างในประเทศได้กว่า 40 ล้านราย ซึ่งเกินครึ่งของจำนวนประชากรทั้งประเทศตลอดเวลาที่ผ่านมา โดยเฉพาะช่วงล็อกดาวน์นี้ มียอดการรับชมเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาปกติถึง 45% พร้อมด้วยการชมผ่านจอใหญ่มากถึง 6 ล้านครั้งในเดือนที่ผ่านมา …
การจะก้าวไปสู่ผู้นำในตลาด OTT TV ในเมืองไทยในระยะยาวได้นั้น หนึ่งในกลยุทธ์ของ LINE TV คือการพัฒนาจุดแข็งด้านความหลากหลายในเชิงลึก ทำให้ตำแหน่ง King of Thai Content ของเราแข็งแกร่งขึ้นไปอีกระดับเพื่อครองใจผู้ชมในยุคออนดีมานด์ที่มีทางเลือกมากมาย
นายกณพ ศุภมานพ กล่าว
ตอกย้ำตำแหน่ง King of Thai Content งัดหมัดเด็ดชูความหลากหลาย ครองใจผู้ชมทุกเพศทุกวัย
เพื่อตอกย้ำความเป็น King of Thai Content หลังจากที่ครองตำแหน่งแพลตฟอร์มละครรีรันยอดฮิตของผู้ชมในไทยตลอด 6 ปีที่ผ่านมา ด้วยยอดวิวรวมกว่า 6 พันล้านวิวในแต่ละปี LINE TV ยังคงเดินหน้าใช้กลยุทธ์การสร้างคอนเทนต์ที่มีความหลากหลายมาเอาใจกลุ่มผู้ชมทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นวัยรุ่นสายวาย แอนิเมชั่นขวัญใจเด็ก หรือแม้แต่เหล่าบรรดาแม่ยกผู้ชื่นชอบละครพื้นบ้าน ด้วยแรงสนับสนุนจากความเชื่อมั่นของพันธมิตรค่ายละครในเรื่องการยึดฐานผู้ชมโทรทัศน์กับผู้ชมออนไลน์เข้าไว้ด้วยกันจากพฤติกรรมการชมคอนเทนต์แบบ MONMO (Missing Out Now is My Option) ซึ่งนอกจากละครดราม่ายอดฮิตจะครองอันดับหนึ่งแล้ว คอนเทนต์ประเภทซีรีส์วายยังถือเป็นคอนเทนต์ที่มีกลุ่มคนดูที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยปัจจุบัน LINE TV มีซีรีส์วายมากที่สุดในไทยถึง 33 เรื่อง ล่าสุดกับซีรีส์เรื่อง เพราะเราคู่กัน 2Gether The Series จาก GMMTV ที่สร้างปรากฏการณ์ #คั่นกู ครองใจแฟนๆไบรท์-วิน หรือจะเป็น En of Love ซึ่งสามารถสร้างยอดชมเพิ่มสูงถึง 142% อีกทั้งยังสามารถขยายฐานไปถึงกลุ่มคนดูอายุ 65 ปี ได้อย่างไม่น่าเชื่อ ขณะเดียวกันก็ได้เพิ่มคอนเทนต์ประเภทละครพื้นบ้านจากค่ายสามเศียรก็มียอดชมเติบโตขึ้นกว่าเท่าตัว จาก แก้วหน้าม้า,ขวานฟ้าหน้าดำ, นางสิบสอง และ พระสุธน มโนราห์ ขณะที่คอนเทนต์ประเภทการ์ตูนแอนิเมชั่นก็ได้รับเสียงตอบรับที่ดีทั้งจากคุณหนู ๆ และเหล่าหนุ่ม ๆ สายแอนิเมชั่น เช่น ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน เดอะซีรีส์, นารูโตะ, ครูพิเศษจอมป่วน รีบอร์น และวันพีซ ฯลฯ ทำให้ยอดวิวเพิ่มสูงสุดถึง 47%
นอกจากนี้ LINE TV ยังเข้าไปจับมือกับ GagaOOLala (กาก้าอูลาล่า) แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งคอนเทนต์ LGBTQ+ และ Boy’s Love จากทั่วเอเชียที่ใหญ่ที่สุดในโลก นำ 12 ภาพยนตร์ LGBTQ+ คุณภาพ การันตีด้วยรางวัลระดับนานาชาติ มาให้รับชมกันแบบฟรี ๆ บน LINE TV เพื่อเป็นการต่อยอดความสำเร็จกระแสซีรีส์วายสุดเปรี้ยง และตอกย้ำการเป็นแพลตฟอร์มวิดีโอพรีเมี่ยมชั้นนำที่มีคอนเทนต์หลากหลายมากที่สุดของไทย นำโดย Tale of the Lost Boys, Gentleman Spa, Present Perfect (แค่นี้ก็ดีแล้ว), Present Still Perfect (แค่นี้ก็ดีแล้ว 2), Handsome Stewardess ฯลฯ มานำเสนอความรักและชีวิตหลากรูปแบบ ทั้งผู้ชายกับผู้ชาย ผู้หญิงกับผู้หญิง พร้อมสารคดีเจาะลึกปรากฏการณ์ Boy’s Love ของเมืองไทยที่ยังคงฮิตอย่างต่อเนื่องอย่าง BL: Broken Fantasy ดำเนินเรื่องโดย “ไบรท์ – วิน” คู่จิ้นแห่งปี จึงกล่าวได้ว่า LINE TV สามารถครองใจผู้ชมทุกวัยทั่วประเทศได้อย่างแท้จริง
“การเดินหน้าตอกย้ำความเป็นผู้นำคอนเทนต์ของไทยของ LINE TV นั้นแสดงให้เห็นว่าการสร้าง “ความหลากหลายของคอนเทนต์” เพื่อเพิ่มทางเลือกให้ผู้ชมเป็นหมัดสำคัญในการขับเคลื่อนให้แพลตฟอร์มสามารถครองใจฐานคนดูในวงกว้าง และสามารถแข่งขันบนตลาด OTT TV ในประเทศได้ด้วยแนวทางที่ชัดเจนในยุคที่ผู้ชมมีทางเลือกมากมายเช่นนี้”
เขย่าวงการวิดีโอสตรีมมิ่ง ด้วยการจับมือ TCL ผลิต Custom TV รุ่น LINE TV ครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นอกจากฐานคนดูจะเติบโตอย่างโดดเด่นในปี 2563 แล้ว LINE TV ยังเปิดเผยอีกว่า ยอดผู้ชมผ่านจอทีวีในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 เติบโตขึ้น 121% เนื่องจากการรับชมภาพและเสียงได้อย่างเต็มอรรถรส และสามารถดูคอนเทนต์ได้พร้อมกันทั้งครอบครัวหรือกลุ่มเพื่อนได้อย่างสะดวกสบาย ผ่าน Smart Device แทบจะทุกอุปกรณ์ ไม่ว่าจะเป็น โทรศัทพ์มือถือ แท็บเล็ต โน้ตบุ๊ค Android TV Apple TV ทาง LINE TV จึงเดินหน้าจับมือ TCL แบรนด์ทีวียอดนิยมและผู้นำตลาดแอนดรอยด์ทีวีของไทย ผลิตทีวีรุ่น “LINE TV” ซึ่งเป็น Custom TV ที่ผลิตขึ้นมาเป็นพิเศษโดยเฉพาะ และให้ดูรายการแบบไม่มีโฆษณาคั่นเป็นเวลานาน 1 ปี ตอกย้ำการเป็นผู้นำตลาดแพลตฟอร์มพรีเมี่ยมวิดีโอของไทยที่มุ่งมั่นยกระดับประสบการณ์ของผู้ชมของ LINE TV ผสานรูปแบบคอนเทนต์ออนไลน์เข้ากับทีวีให้เป็นเรื่องใกล้ตัว ตอบโจทย์พฤติกรรมการรับชมคอนเทนต์ในยุคปัจจุบัน
กณพ ศุภมานพ รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรกิจคอนเทนต์ บริษัท ไลน์ คอมพานี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “การรับชม LINE TV ผ่านทีวี หรือ Second Screen นั้นได้เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะภาพและเสียงที่เต็มอรรถรส ทำให้ใช้เวลาชมได้นานมากขึ้นอย่างสะดวกสบาย มีส่วนช่วยให้ยอดวิวต่อคนเพิ่มขึ้นถึง 55% เมื่อชมผ่านจอใหญ่ โดยเฉพาะช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 การรับชม LINE TV ผ่านจอใหญ่เพิ่มสูงขึ้นถึง 121% และใช้เวลาบนแพลตฟอร์มนานขึ้นถึง 129% (เปรียบเทียบเดือนมิถุนายน 63 กับ มกราคม 63) ตรงนี้แสดงให้เห็นชัดเลยว่า ทีวียังคงเป็นอุปกรณ์สำคัญในการสร้างความบันเทิงเมื่ออยู่บ้านและใช้เวลาร่วมกับครอบครัวหรือกลุ่มเพื่อน
LINE TV ยังมีจุดเด่นที่การใช้งานที่สามารถเข้าโปรแกรมได้ง่ายๆ เพียงกดปุ่ม “LINE TV” บนรีโมท และยังเป็นรุ่นที่สามารถใช้งานแบบ Hands Free Voice Control สั่งงานตรงไปยังทีวีด้วยเสียงภาษาไทย ภาษาอังกฤษและภาษาอื่นๆ เพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงการใช้งาน Google Assistant และใช้งานร่วมกับอุปกรณ์ IoT (Internet of Things) อื่นๆได้ง่ายยิ่งขึ้น โดยทีวีรุ่น LINE TV มีทั้งหมด 5 ขนาด ตั้งแต่ 43 นิ้ว, 50 นิ้ว, 55 นิ้ว, 65 นิ้ว และ 75 นิ้ว
NETFLIX เพิ่มฟังก์ชัน Top 10 แนะนำคอนเทนต์ที่ได้รับความนิยมมากสุดในแต่ละประเทศ
Netflix (เน็ตฟลิกซ์) แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งภาพยนตร์จากสหรัฐ ประกาศผ่านทางหน้าเว็บไซต์เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563 ว่า บริษัทจะให้บริการฟีเจอร์ใหม่ ซึ่งเป็นการแสดงผลอันดับ “Top 10” ภาพยนตร์และซีรีส์ยอดนิยมในแต่ละประเทศ หลังจากที่ได้ทดลองใช้งานฟีเจอร์นี้ในเม็กซิโก สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกามาแล้ว ซึ่งปรากฏว่าได้รับเสียงตอบรับจากผู้ชมเป็นอย่างดี โดย คาเมรอน จอห์นสัน ผู้อำนวยการด้านนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ เปิดเผยในหน้าบล็อกของบริษัทว่า Netflix จะแสดงผล Top 10 หนังและซีรีส์แบบรายวัน โดยมีทั้งการจัดอันดับแบบรวมทุกประเภท และอันดับแยกเป็นหมวดภาพยนตร์ กับ หมวดซีรีส์ ซึ่งรายการที่ได้ยอดเข้าชมสูงสุดจะมีตราสัญลักษณ์ Top 10 ติดอยู่
“เวลาที่ได้รับชมภาพยนตร์หรือซีรีส์ดี ๆ คุณก็มักจะนำไปบอกต่อกับคนในครอบครัวหรือเพื่อน ๆ เพราะอยากให้คนใกล้ตัวได้เพลิดเพลินไปด้วยกัน และเราหวังว่ารายชื่อ 10 อันดับแรกนี้ จะช่วยให้ทุกคนได้แบ่งปันความสุขให้ทั่วถึงยิ่งกว่าเดิม พร้อมยังช่วยให้คุณหารายการที่น่าสนใจได้เร็วขึ้นและง่ายขึ้นอีกด้วย” ข้อความบนบล็อก Netflix ระบุ
การนำผลการจัดอันดับ Top 10 มานำเสนอเพิ่มเติม นับว่าช่วยคลี่คลายสถานการณ์ที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ ซึ่งผู้ชมจำนวนมากมักจะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับพฤติกรรมการตัดสินใจและการเลือกชมคอนเทนต์ เพราะปริมาณคอนเทนต์บนแพลตฟอร์มนั้นมีจำนวนมากจนทำให้ผู้ชมเลือกคอนเทนต์ไม่ถูก
ออกแพ็คเกจราคาประหยัด เจาะกลุ่มผู้บริโภคที่ใช้งานบนสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตเป็นหลัก
ความนิยมใช้บริการแพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิ่งที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย ส่งผลให้การแข่งขันในตลาดนี้มีความดุเดือดมากยิ่งขึ้น นอกจากการแข่งขันในเรื่องการสร้างความแตกต่างให้กับคอนเทนต์แล้ว ยังมีการแข่งขันด้านราคา โดย Netflix หนึ่งในผู้ให้บริการแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งที่มีฐานลูกค้าอยู่ในไทยจำนวนมาก จึงออกแพ็คเกจราคาประหยัดออกมาเมื่อเดือนมี.ค.2563 ซึ่งนับเป็นแพ็คเกจที่ 4 ที่เปิดให้บริการในประเทศไทย เพิ่มเติมจากแพ็คเกจพื้นฐาน มาตรฐาน และพรีเมียมที่มีอยู่เดิม โดยแพ็คเกจดังกล่าวมีให้บริการเฉพาะในประเทศที่มีผู้ใช้สมาร์ทโฟนจำนวนมาก เช่น ไทย ฟิลิปปินส์ อินเดีย และนอร์เวย์
นายแพทริค เฟลมมิง ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ของ Netflix เปิดเผยว่า มีคนไทยกว่า 70% ที่เป็นเจ้าของสมาร์ทโฟน และกว่า 89% ที่เลือกชมภาพยนตร์ ซีรีส์ และวิดีโอต่าง ๆ ในรูปแบบสตรีมมิ่งผ่านสมาร์ทโฟนในแต่ละเดือน ขณะที่สมาชิก Netflix ในประเทศไทยก็เลือกที่จะรับชมภาพยนตร์และซีรีส์ผ่านหน้าจอสมาร์ทโฟนในอัตราส่วนที่มากกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกถึง 2 เท่าตัว
เรายินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เปิดตัวแพ็คเกจมือถือสำหรับสมาชิกในประเทศไทย เพื่อให้ผู้ใช้สมาร์ทโฟนทุกคนได้เพลิดเพลินไปกับ Netflix ได้ง่ายกว่าที่เคย
นายแพทริค เฟลมมิง กล่าว
นอกจากการเปิดตัวแพ็คเกจใหม่สำหรับสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตแล้ว Netflix ยังมีการปรับราคาแพ็คเกจพื้นฐาน แพ็คเกจมาตรฐาน และพรีเมียมลง 1 บาท เพื่อให้ราคาสอดคล้องกันเป็น 279 บาท 349 บาท และ 419 บาทด้วย
ขณะที่บนเว็บไซต์ของ Netflix ระบุว่า “ดู Netflix ได้ทั้งในสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต สมาร์ททีวี แล็บท็อป หรืออุปกรณ์สตรีมมิง ด้วยค่าบริการรายเดือนราคาเดียว ราคาแพ็คเกจเริ่มต้นที่ 99 บาท ถึง 419 บาท ต่อเดือน ไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ไม่มีสัญญาผูกมัด”
เป้าหมายของ Netflix ในปี 2563 คือการเพิ่มอัตราเร่งในการขยายฐานไปยังลูกค้ากลุ่มใหม่ ๆ โดยเฉพาะการเจาะตลาดแมส (Mass) เนื่องจากเป็นกลุ่มสำคัญในการสร้างความได้เปรียบในสถานการณ์ที่คู่แข่งขันรายใหม่ ๆ เร่งจัดทัพเข้ามา เพื่อชิงโอกาสและความได้เปรียบของ Netflix ที่อยู่ในตลาดมานานกว่า
ข้อมูลที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งก็คือ คนไทยที่ใช้สมาร์ทโฟน หรือ แท็บเล็ต ประมาณ 1 ใน 3 ชื่นชอบที่จะดาวน์โหลดภาพยนตร์ หรือซีรีส์โปรดเก็บไว้ในเครื่องก่อน แล้วค่อยเปิดดูในช่วงระหว่างเดินทาง เป็นต้น ด้วยพฤติกรรมดังกล่าว Netflix จึงมีฟีเจอร์ ‘smart download’ เพื่อตอบโจทย์กลุ่มผู้ใช้งานดังกล่าวโดยเฉพาะ โดยสามารถเข้าไปตั้งค่าเปิดใช้งาน ซึ่งฟีเจอร์นี้จะช่วยเข้าไปจัดการพื้นที่บนอุปกรณ์สมาร์ทโฟน และแท็บเล็ตอย่างจำกัด เคลียร์พื้นที่ให้มีที่ว่างสำหรับภาพยนตร์และรายการโปรดตอนใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น เมื่อเราชมภาพยนตร์/ซีรีส์ จบไปแล้ว 1 เรื่อง/ep ระบบจะทำการลบวิดีโอตอนเก่าสุดที่เคยโหลดและชมบนเครื่องแล้ว จากนั้นจะทำการดาวน์โหลดซีรีส์ (ตอนใหม่) ให้เราแบบอัตโนมัติในทันที
WeTV จับมือพันธมิตรท้องถิ่นรุกตลาดในภูมิภาค ตั้งเป้าดันผู้ใช้แอปโต 4 เท่าภายในสิ้นปี 63
WeTV (วีทีวี) เป็นแพลตฟอร์มน้องใหม่จากค่าย Tencent (เทนเซ็นต์) ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีจากจีน ที่เพิ่งเข้ามาเปิดตัวในไทยช่วงกลางปี 2562 และก้าวขึ้นเป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิ่งชั้นนำของไทยอย่างรวดเร็ว ด้วยการวางตำแหน่งทางการตลาดไว้ที่การเป็น “ศูนย์รวมความบันเทิงแห่งเอเชีย” โดยมีกลยุทธ์ในการสร้างความแตกต่างผ่านคอนเทนต์ ซึ่งปัจจุบันกำหนดสัดส่วนบนแพลตฟอร์มไว้ที่ออริจินัลคอนเทนต์ 70% และเอ็กซ์คลูซีฟคอนเทนต์ 30% โดยส่วนใหญ่เป็นคอนเทนต์ที่ส่งตรงจาก Tencent Picture ทำให้มีจุดเด่นอยู่ที่คอนเทนต์ซีรีส์และละครจีน
ในปี 2563 Tencent และ WeTV ได้ตัดสินใจเพิ่มสัดส่วนการเผยแพร่คอนเทนต์จากเกาหลีใต้และไทยบนแพลตฟอร์ม โดยเข้าไปจับมือเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับบริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ผู้ดำเนินงานสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 และผู้ผลิตคอนเทนต์ประเภทละครชั้นนำของไทย เพื่อนำผลงานละครมาออกอากาศแบบคู่ขนานบนแพลตฟอร์ม และรีรันละครยอดนิยม
หลังจากที่ประสบความสำเร็จจากการนำละครเรื่อง ลิขิตรัก ไปออกอากาศแบบคู่ขนานบน Tencent Video ให้แฟน ๆ ชาวจีนได้รับชมไปพร้อมกับผู้ชมในไทยมาแล้ว ซึ่งสามารถดึงดูดผู้เข้าชมได้มากกว่า 280 ล้านครั้ง จนขึ้นแท่นติด 1 ใน 5 ละครไทยที่มีคนดูมากที่สุดบน Tencent Video และล่าสุด 2 ค่ายใหญ่จากไทยและจีนก็บรรลุข้อตกลงร่วมกันอีกครั้ง เพื่อนำละครกระแสแรง “ร้อยเล่ห์มารยา” มาออกอากาศแบบคู่ขนานในประเทศไทยผ่านทาง แอปพลิเคชั่น WeTV และอีก 4 พื้นที่ให้บริการ คือ อินโดนีเซีย อินเดีย จีน (ไต้หวัน) และ เวียดนาม พร้อมกันในวันที่ 5 ตุลาคม 2563 ควบคู่ไปกับการออกอากาศทางโทรทัศน์
ซึ่งเป็นการเดินหน้าสร้างกลยุทธ์ที่สำคัญในการขยายฐานผู้ชมให้เพิ่มมากขึ้น ผ่านการตอบสนองไลฟ์สไตล์การรับชมในยุคปัจจุบัน ที่ผู้ชมสามารถชมคอนเทนต์ได้จากหลายแพลตฟอร์ม ขณะเดียวกัน WeTV ยังร่วมมือกับผู้ผลิตคอนเทนต์ชั้นนำในประเทศไทยอย่าง “จีเอ็มเอ็ม ทีวี” “ทีวี ธันเดอร์” และ “สตูดิโอ วาบิ ซาบิ” ผลิตคอนเทนต์ป้อนตลาดแฟนคลับคอนเทนต์สายวาย โดยตั้งเป้าที่จะเป้าขยายฐานผู้ใช้แอปพลิเคชัน WeTV เพิ่มขึ้น 4 เท่าให้ได้ภายในสิ้นปี 2563 เล็งเจาะกลุ่มเป้าหมายหลักคือ ผู้หญิง อายุ 13 – 34 ปี รวมถึงการขยายฐานไปยังกลุ่มผู้ชมใหม่ ๆ ซึ่งปัจจุบันมีแนวโน้มเปิดรับคอนเทนต์สายวายมากขึ้น
นอกจาก WeTV จะใช้กลยุทธ์สร้างความแตกต่างผ่านคอนเทนต์ที่ตอกย้ำถึงความเป็นเอเชียแล้ว WeTV ยังได้เปิดประสบการณ์ใหม่ให้กับสมาชิก ด้วยการทำให้การรับชมวิดีโอสตรีมมิ่งเป็นการสื่อสารสองทิศทางในแบบ OO (Online Only) โดยให้ความสำคัญกับช่องทางออนไลน์ ผ่านการใช้จุดเด่นของแพลตฟอร์มและความพร้อมด้านเทคโนโลยีของบริษัทแม่ เริ่มจากการเพิ่มฟีเจอร์พิเศษอย่าง “Flying Comment” เข้ามาใช้เป็นรายแรก เพื่อให้ผู้ชมสามารถคอมเมนต์ขณะชมซีรีส์ได้แบบเรียลไทม์ โดยผู้ชมจะเห็นคอมเมนต์ของผู้ชมรายอื่น ๆ ที่รับชมคอนเทนต์เดียวกันบนแพลตฟอร์มของ WeTV ซึ่งจะให้ความรู้สึกเหมือนมีเพื่อนนั่งดูอยู่ด้วยกัน โดยปัจจุบันมีการใช้ฟีเจอร์นี้มากกว่า 4 ล้านครั้งแล้ว
AIS PLAY โชว์ล้ำ รุกเปิดตลาด VR Content ครั้งแรกในไทย
AIS PLAY (เอไอเอส เพลย์) แพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิ่งจากผู้ให้บริการเครือข่ายรายใหญ่ของไทย ได้ออกมาประกาศยุทธศาสตร์ ‘Co-Creation’ โดยจะเปิดกว้างรับความร่วมมือกับพันธมิตรในวงการ ทั้งค่ายผลิตคอนเทนต์ชื่อดัง พันธมิตรชั้นนำ และเหล่าผู้ผลิตคอนเทนต์อิสระรุ่นใหม่ มาร่วมสร้างสรรค์ VR Content เพื่อมอบความบันเทิงในมิติใหม่ผ่านเครือข่าย 5G และเทคโนโลยี Virtual Reality หรือ VR ภายใต้ชื่อ AIS VR Originals พร้อมพัฒนาแอปพลิเคชั่น AIS PLAY VR และแว่น AIS VR 4K มารองรับการใช้งานที่สามารถตอบโจทย์การรับชมด้วยประสบการณ์แบบเสมือนจริงจากทุกที่ ทุกเวลา ประกาศตัวขึ้นเป็นฮับแห่งคอนเทนต์ VR ที่แรกและที่เดียวในประเทศไทย ตอบรับไลฟ์สไตล์ความบันเทิงและกิจกรรมแห่งยุค New Normal
หนึ่งในพันธมิตรที่มาร่วมผลิต VR Content กับเอไอเอส ได้แก่ นาดาว บางกอก ซึ่งนำศิลปินมาร่วมสร้างสรรค์ VR Content นำโดย บิวกิ้น-พีพี กับคอนเทนต์ชุด #BilkinPP Closer Than Ever และ สกาย วงศ์รวี กับคอนเทนต์ชุด Touch of Sky ที่พาทุกคนออกไปท่องเที่ยวด้วยกันในมุมมองที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ถือเป็นการต่อยอดความสำเร็จของ VR Content ชุด Star Dating และ Palit’s Moment ซึ่งได้พรีเซ็นเตอร์ของเอไอเอสอย่าง เป๊ก ผลิตโชค มาร่วมงานก่อนหน้านี้
นอกจากคอนเทนต์สุดฟินแล้วยังมีเนื้อหาประเภทอื่น ๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไปจับมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ผลิตคอนเทนต์นำร่องเชิญชวนไปรับชมความงดงามของ 5 จังหวัดในประเทศไทย ได้แก่ บึงกาฬ พัทลุง ลำปาง ราชบุรี และตราด ในรูปแบบ VR 360 องศา รวมถึงการเข้าไปร่วมมือกับ Absolute You ผู้นำเทรนด์ไลฟ์สไตล์การออกกำลังกายชั้นนำของไทย เพื่อสร้างประสบการณ์การออกกำลังกายที่บ้านในรูปแบบของ VR ทั้งคลาสพิลาทีส, โยคะ, และ Body Weight รวมถึงเกม VR กว่า 175 เกมและไลฟ์สไตล์คอนเทนต์อีกกว่า 5,000 คอนเทนต์ให้ได้รับชม
การนำเทคโนโลยี VR มาต่อยอดคอนเทนต์ดังกล่าว ทำให้คอนเทนต์ของเอไอเอสมีความแตกต่างจากผู้ให้บริการรายอื่น ๆ และยังสอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุค New Normal ที่การระมัดระวังโควิด-19 ยังคงเป็นเรื่องที่สำคัญ แต่ในขณะเดียวกันผู้บริโภคก็ยังสามารถทำกิจกรรมที่ตนเองคุ้นเคยต่อไปได้
ความเคลื่อนไหวภาครัฐ
นอกเหนือไปจากความเคลื่อนไหวด้านธุรกิจ เทคโนโลยี และคอนเทนต์แล้ว ในส่วนของภาครัฐก็ออกมาเคลื่อนไหวด้วยเช่นกัน ซึ่งความเคลื่อนไวในภาครัฐนั้น ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไปว่า จะส่งผลอย่างเป็นรูปธรรมอย่างไรบ้าง
ครม.เคาะร่างกฎหมาย e-Service เก็บภาษีแพลตฟอร์มดิจิทัลจากต่างประเทศ
เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลรัษฎากรฯ จัดเก็บภาษี e-Service หรือเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากแพลตฟอร์มดิจิทัลจากต่างประเทศที่ไม่มีบริษัทลูกในประเทศไทย จากจำนวนผู้ลงมติ 358 เสียง เห็นด้วย 354 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง และไม่ลงคะแนน 1 เสียง ซึ่งหลังจากที่ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะเป็นการนำเสนอเข้าที่ประชุมวุฒิสภา ก่อนจะมีการนำเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาเพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป
ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ระบุให้ “การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร โดยผู้ใช้ซึ่งมิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียน” อันเป็นผลสืบเนื่องจากภาษี e-Business ที่ ครม.ได้อนุมัติหลักการไว้ในปี 2561 โดยมีวัตถุประสงค์ในการแก้ไขประมวลรัษฎากรเพื่อจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในต่างประเทศ
การออกกฎหมาย e-Service ฉบับนี้ ทาง รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อธิบายว่า เป็นเพราะปัจจุบันมีทั้งเว็บไซต์ แอปพลิเคชัน ดาวน์โหลดหนัง เพลง เกม การจองโรงแรม จากแพลตฟอร์มต่างประเทศที่ให้บริการในประเทศโดยไม่เสียมูลค่าเพิ่ม และยืนยันว่า กฎหมายดังกล่าวจะไม่ได้เป็นการเพิ่มภาระให้กับผู้ใช้บริการ
กระทรวงดิจิทัลฯ ผุดไอเดียพัฒนาแพลตฟอร์ม “Thaiflix” หวังดึงฐานคนดูในไทย ดูดเม็ดเงินโฆษณากลับเข้าประเทศ
นอกจากความพยายามในการผลักดันร่างกฎหมายเก็บภาษีแพลตฟอร์มดิจิทัลจากบริษัทต่างประเทศแล้ว ในการประชุมทางไกล RoLD Virtual Forum : Living with COVID-19 ตอน “How to Empower Digital Citizenship in COVID-19 Era” ซึ่งจัดโดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ตำแหน่งในขณะนั้น) ได้เสนอแนวคิดการสร้างแพลตฟอร์ม Thaiflix วิดีโอสตรีมมิ่งของไทยเพื่อช่วยเหลืออุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยให้มีความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกมากยิ่งขึ้น
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้เปิดเผยแนวคิดในการสร้าง “แพลตฟอร์มไทย” ขึ้นมาแข่งขันกับแพลตฟอร์มต่างประเทศที่คนไทยนิยมใช้อยู่ในปัจจุบัน ระหว่างในการประชุมทางไกล RoLD Virtual Forum : Living with COVID-19 ตอน “How to Empower Digital Citizenship in COVID-19 Era” ซึ่งจัดโดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ว่า ทำไมประเทศไทยถึงไม่มีแพลตฟอร์มของคนไทย ทั้งโซเซียลมีเดียและบริการทางออนไลน์ต่าง ๆ เราต้องไปใช้แพลตฟอร์มของต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ทำให้เม็ดเงินจากอุตสาหกรรมโฆษณา หรือ การค้าขายทางออนไลน์ไหลไปต่างประเทศหมด
อย่างไรก็ดี ในเวลาต่อมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลได้ออกมาชี้แจงถึงแนวคิดดังกล่าวอีกครั้งผ่านทางเพจเฟซบุ๊ก “พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ว่า “เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.63 จากใน live สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ที่ผมได้พูดถึงแนวคิดเรื่องการสร้างแพลทฟอร์มสตรีมมิ่ง “Thaiflix” แบบเดียวกับ Netflix และมีการขยายประเด็นไปในสื่อต่างๆ จนอาจเข้าใจผิด ผมจึงอยากชี้แจงให้ทุกท่านได้เข้าใจอย่างถูกต้องครับ ตอนนี้สื่อโทรทัศน์ถูก disruption หรือโดนสื่อออนไลน์แย่งคนดูไปมากมาย จนย่ำแย่ไปตามๆ กัน ทั้งผู้ผลิตละคร ผู้ผลิตรายการต่างๆ พยายามหาทางออก โดยใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ต่างชาติเผยแพร่เนื้อหาให้เข้าถึงผู้ชม ส่งผลให้เม็ดเงินโฆษณามหาศาลออกไปสู่เจ้าของแพลตฟอร์มต่างประเทศ อุตสาหกรรมโฆษณาของไทยแทบไม่ได้ประโยชน์อะไร”
“สำหรับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย เป็นที่ทราบดีอยู่แล้วว่ามีฝีมือขนาดไหน ได้รับรางวัลระดับโลกมาก็บ่อย นอกจากการสนับสนุนด้านอื่นๆ แล้ว การพัฒนาช่องทางดิจิทัลที่เป็นของไทยเองยังจะช่วยให้ผู้ผลิตเผยแพร่ผลงานได้ง่ายขึ้น ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย แต่ประเทศกลุ่ม CLMV อย่างกัมพูชา ลาว มาเลเซีย เวียดนาม ก็สนใจหนังไทย รวมถึงตลาดที่ใหญ่มากอย่างจีน ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแนวคิดเริ่มต้น คงต้องรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนทุกๆ ฝ่าย เราไม่ได้จะทำแข่งกับใครเลย แต่จะสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้มารวมกัน สร้างเนื้อหาดีๆ ให้ถึงประชาชน และได้ลูกค้าใหม่ๆ ภาครัฐจะสนับสนุนอย่างเต็มที่ โดยมีภาคเอกชนเป็นผู้ขับเคลื่อน ทั้งวงการ production ภาพยนตร์ สื่อโฆษณา บุคลากรวงการดิจิทัล ร่วมเป็นทีมประเทศไทย เสนอแนะแนวทาง ถกปัญหา เริ่มจากโพสต์นี้เลยครับ เชิญคอมเม้นต์เสนอแนะได้เลย”
ข้อความบนเฟซบุ๊ก www.facebook.com/BeePunnakanta ระบุ
อ้างอิง
- we are social. 2020. DIGITAL USE AROUND THE WORLD IN JULY 2020. [online] from https://wearesocial.com/blog/2020/07/digital-use-around-the-world-in-july-2020
- สพธอ. 2563. สำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ปี 2562. [ออนไลน์] จาก https://www.etda.or.th/publishing-detail/thailand-internet-user-behavior-2019-slides.html
- กสทช. 2563. คาดการณ์สภาพตลาดกิจการ OTT TV ในประเทศไทยและความท้าทายของการกำกับดูแล. [ออนไลน์] จาก http://broadcast.nbtc.go.th/bcj/index.php
- สมาร์ทเอสเอ็มอี. 2563. จับตา VDO Streaming War เมื่อ “Netflix – We TV” เปิดเกมไล่ล่าผู้ชมทุกมิติ [ออนไลน์] จาก https://www.smartsme.co.th/content/239517
- มาร์เก็ตติ้ง อุปส์. 2563. ศึกสตรีมมิ่งเดือด! Netflix ถล่มราคาเดือนละ 99 บาท ตอบโจทย์คนไทยชอบดูผ่านมือถือ-แท็บเล็ต [ออนไลน์] จาก https://www.marketingoops.com/exclusive/trending-exclusive/netflix-launch-new-package-for-mobile-phone-99-baht-per-month/
- แบงคอกแบงก์ เอสเอ็มอี. 2563. Netflix – WeTV เปิดศึกชิงเจ้าแห่งวีดิโอสตรีมมิ่ง [ออนไลน์] จาก https://www.bangkokbanksme.com/en/netflix-wetv-video-streaming
- มาร์เก็ตติ้ง อุปส์. 2563. ครม. เห็นชอบเก็บ ‘ภาษี’ จาก ‘แพลตฟอร์มดิจิทัลต่างชาติ’ คาดเพิ่มรายได้ให้ 3,000 ล้านบาทต่อปี [ออนไลน์] จาก https://www.marketingoops.com/news/tax-e-service-digital-platform/
- ฐานเศรษฐกิจ. 2563. ผุดไอเดีย “Thaiflix” สู้ “Netflix” ดันไทย ผู้นำดิจิทัลในภูมิภาค. [ออนไลน์] จาก https://www.thansettakij.com/content/tech/437021
- กรุงเทพธุรกิจ. 2563. ‘พุทธิพงษ์’ แจงแนวคิด ‘Thaiflix’ หวังหนุนไทยสู่ผู้นำตลาดดิจิทัลในภูมิภาค. [ออนไลน์] จาก https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/883646