สื่อไทยยังคงมีโอกาสเติบโตท่ามกลางการแข่งขันกับกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์และคอนเทนต์ครีเอเตอร์ กุญแจสู่ความสำเร็จคือการปรับการผลิตคอนเทนต์ให้ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายและอัลกอริทึมของแพลตฟอร์ม ซึ่งจะนำไปสู่โมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่ อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมของผู้บริโภคและสภาพเศรษฐกิจของประเทศยังคงเป็นความท้าทายสำคัญ แล้วแนวโน้มสื่อในปี 2568 จะเป็นอย่างไร 7 กูรูจากหลากหลายวงการพร้อมแล้วที่จะมาแบ่งปันมุมมองในเรื่องนี้
ผศ.ดร.สกุลศรี ศรีสารคาม รองคณบดีด้านวิชาการ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า สื่อดั้งเดิมอย่างทีวี หนังสือพิมพ์ คงจะยังไม่หายไปภายในระยะเวลา 5 ปี แต่ว่าคนดูจะลดลง เม็ดเงินที่จะเกิดขึ้นที่สื่อเหล่านั้นก็จะน้อยลง นอกจากนี้ Ecosystem ของไทยมี Creator Economy เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการแข่งขันและตัวเลือกของผู้รับสารหรือผู้บริโภคด้วย
“เพราะฉะนั้นความยากของคนทําสื่อในบ้านเราคือ ไม่ใช่แค่ทะลุอัลกอริทึมอย่างเดียวแล้ว คุณจะทะลุ Personalization ของคนได้ยังไง เราตั้งคําถามเสมอว่าเราจะทําให้คนกลับมาเข้าหน้าเว็บไซต์สื่อได้ยังไง ซึ่งทุกคนพยายามแต่มันก็ยากมาก แต่ถามว่าสุดท้ายเราต้องทําแพลตฟอร์มที่เป็นของเราเองไหม เพื่อลดความพึ่งพิงโซเชียลมีเดียลง เราก็ต้องทำค่ะ เพราะถ้าไม่ทําสุดท้ายเราก็จะถูกโซเชียลมีเดียกินไปหมด Audience ก็จะหายไปอย่างสิ้นเชิง”
ความเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับมุมมองของคุณนวมินทร์ ประสพเนตร ประธานกรรมการ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.โมโน เน็กซ์ ที่มองว่า ทีวีดิจิทัลอยู่ในช่วงขาลง เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ทางเลือกในการรับชมที่หลากหลาย ตลอดจนบทบาทของเทคโนโลยีและสภาพเศรษฐกิจ โมโน เน็กซ์จึงได้ปรับทิศทางการทำธุรกิจด้วยการชูแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง “MONOMAX”
ในขณะที่ คุณอคิรากร อิกิติสิริ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ Viu (วิว) ประเทศไทย มองแนวโน้มตลาดธุรกิจสตรีมมิ่งและคอนเทนต์ในไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปี 2568 ว่า จะมีความดุเดือดและสนุกสนานมากขึ้น เพราะมีทั้งผู้ให้บริการรายใหม่ที่เข้ามา ตลอดจนคอนเทนต์ที่พัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด สอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนจากการดูทีวีมาสู่สตรีมมิ่ง
ทั้งนี้ เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่า คอนเทนต์ครีเอเตอร์และอินฟลูเอนเซอร์ยังคงเป็นความท้าทายที่สำคัญสำหรับสื่อ ในเรื่องนี้ คุณธัญญารัตน์ ถาม่อย ผู้ประกาศข่าวของสถานีโทรทัศน์พีพีทีวี และ News Content Creator เล่าว่า สถานีฯ มีนโยบายให้นักข่าวมีโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มในการกระจายข้อมูลข่าวสารไปยังผู้ชม เพราะเป็นช่องทางที่สามารถสื่อสารแบบเปิดหน้าคุยได้ ทำให้คนรู้จักมากขึ้น และยังเป็นช่องทางสร้างรายได้
ในฝั่งของผู้บริหารแพลตฟอร์มอินฟลูเอนเซอร์นั้น คุณศิวัตม์ วิลาสศักดานนท์ กรรมการผู้จัดการ AnyMind Group ประเทศไทยและฟิลิปปินส์ เผยปัจจุบันการตลาดอินฟลูเอนเซอร์ (Influencer Marketing) ไทยอยู่ใน Evolution ที่ 3 ซึ่งเป็นช่วงเวลาของนาโนและไมโครอินฟลูเอนเซอร์ โดยช่วง Evolution ที่ 1 (ก่อนปี 2553) ส่วนใหญ่อินฟลูเอนเซอร์จะเป็นดารา นักแสดง หรือนักกีฬาที่ถูกนำมาใช้ในโฆษณา ตามด้วย Evolution ที่ 2 (หลังปี 2553) เป็นเทรนด์ของโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็นบล็อกเกอร์ด้านอาหารหรือด้านความงาม คนที่ไม่ได้เป็นดาราแต่ว่าดังมาจากโซเชียลมีเดียช่องทางต่าง ๆ
นอกเหนือจากตัวครีเอเตอร์แล้ว อีกปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนวงการคือ อัลกอริทึม โดยเฉพาะติ๊กต๊อก (TikTok) ที่คุณขจร เจียรนัยพานิชย์ Managing Director, Editor in Chief, ผู้ก่อตั้ง RainMaker / Mango Zero มองว่า ติ๊กต๊อกได้เปลี่ยนบทบาทจาก “แอปจริตจีน” สู่แพลตฟอร์มโซเชียลคอมเมิร์ซที่มียอดขายเทียบเท่าอีคอมเมิร์ซชั้นนำ ความสำเร็จในการสร้างกระแส “ปักตะกร้าขายสินค้า” เกิดจากการเป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเดียวที่มีคอนเทนต์มากที่สุด ผู้ใช้งานทั่วไปเปิดแอปอีคอมเมิร์ซเพื่อซื้อสินค้าอย่างเดียว แต่การเปิดติ๊กต๊อกคือการเสพคอนเทนต์ ซึ่งมีการขายสินค้าแทรกอยู่ภายใน
ขณะที่สื่อหลักต่างปรับตัวรับความท้าทาย ยังมีสื่อหนึ่งที่สามารถเติบโตและมีแนวโน้มว่าจะได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง นั่นก็คือ พอดคาสต์ (Podcast) โดยคุณโสภิต หวังวิวัฒนา ผู้จัดการฝ่ายสื่อเสียง สำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอสพอดคาสต์ มองว่า ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีทำให้มีแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชันที่ฟังได้โดยไม่จำกัดเวลา สอดคล้องกับพฤติกรรมของคนฟังที่รับข้อมูลทางออนไลน์เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม พอดคาสต์ในไทยยังต้องแข่งกับวิดีโอทั้งจากยูทูบหรือเฟซบุ๊ก เพราะว่าผู้คนนิยม “ดูและฟัง” มากกว่า “ฟัง” อย่างเดียว ด้วยเหตุนี้ จึงมีการคาดการณ์ว่า วิดีโอพอดคาสต์ จะเป็นสื่อที่มีการผลิตมากยิ่งขึ้นเพื่อจับกลุ่มเป้าหมายนี้
ในภาพรวม สื่อไทยปี 2568 ยังคงต้องปรับตัวตามเทคโนโลยีและพฤติกรรมของผู้บริโภค เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและอยู่รอดในตลาดที่เต็มไปด้วยความท้าทาย
อ่านบทสัมภาษณ์ชิ้นเต็มและแนวโน้มสื่อไทยกันได้แล้วที่ https://www.dataxet.co/media-landscape/2025-th/thai-media-trends
Editorial Team