"อาฟเตอร์ช็อกล่าสุด" กำลังเป็นคำค้นหาที่ได้รับความนิยมใน Google Trends ในประเทศไทยวันนี้

เนื่องจากหลังเหตุแผ่นดินไหวขนาด 8.2 ที่เมียนมาเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ได้เกิดอาฟเตอร์ช็อกหลายครั้งต่อเนื่องจนถึงเช้าวันที่ 31 มีนาคม ทำให้ประชาชนโดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในอาคารสูงในกรุงเทพฯ เกิดความวิตกกังวล จึงค้นหาข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับอาฟเตอร์ช็อกเพื่อติดตามสถานการณ์ แม้กรมอุตุนิยมวิทยาจะยืนยันแล้วว่าอาฟเตอร์ช็อกล่าสุดมีขนาดเล็กและไม่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย
ข้อมูลจากสำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา เผยแพร่การปฏิบัติตนเมื่อเกิดแผ่นดินไหวเอาไว้ ดังนี้ ลำดับแรก อย่าตกใจ! และ ต้องมีสติ!
ขณะเกิดแผ่นดินไหว
หากอยู่ในอาคาร:
- มุดใต้โต๊ะ พิงผนังด้านใน หรือหมอบตรงมุมห้อง ป้องกันศีรษะ หลีกเลี่ยงกระจก โคมไฟ และของหนักที่อาจร่วงหล่น
- ถ้านอนอยู่บนเตียง ใช้หมอนปิดบังศีรษะ หลีกเลี่ยงบริเวณที่สิ่งของอาจตกใส่
- อย่าใช้ลิฟต์ ขณะมีการสั่นไหว ถ้าอยู่ในลิฟต์ให้กดทุกปุ่มและออกจากลิฟต์ทันที
- อย่าวิ่งออกจากอาคารทันที ให้อยู่ในที่ปลอดภัยจนกว่าการสั่นสะเทือนจะหยุด
- ไฟฟ้าอาจดับ หรือมีสัญญาณเตือนภัยดังขึ้น ดังนั้นอย่าตกใจ จงตั้งสติ!

หากอยู่นอกอาคาร:
- ยืนในที่โล่ง ห่างจากอาคาร เสาไฟ ป้ายโฆษณา ต้นไม้ และวัตถุที่อาจหล่นใส่
- หากอยู่ในรถ ให้จอดในที่ปลอดภัย ห่างจากสะพานลอย ทางด่วน อาคารสูง และเชิงเขา
- หากติดอยู่ใต้ซากอาคาร อย่าจุดไฟ ใช้ผ้าปิดจมูก ส่งสัญญาณด้วยการเคาะวัตถุแข็ง
หลังแผ่นดินไหว
- เตรียมพร้อมรับมือ อาฟเตอร์ช็อก (Aftershocks) ซึ่งโดยทั่วไปมีความรุนแรงน้อยกว่า Mainshock แต่ก็อาจสร้างความเสียหายเพิ่มเติม จึงควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในอาคารที่เสียหาย
- ฟังข่าวสารจากหน่วยงานภาครัฐ หลีกเลี่ยงการแพร่ข่าวลือ
- ตรวจสอบความปลอดภัยก่อนกลับเข้าอาคาร
- หากอยู่ใกล้ชายฝั่ง รีบขึ้นที่สูง ป้องกันความเสี่ยงจากสึนามิ
สำคัญที่สุด! ขอให้ทุกคนจงตั้งสติ รับฟังข่าวสารจากแหล่งที่เชื่อถือได้ และปฏิบัติตามแนวทางที่ถูกต้องเพื่อความปลอดภัย
ข้อมูลอ้างอิง: กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว