ข่าวการจากไปของ "ต้าเอส" สวีซีหยวน นักแสดงสาวชื่อดังจากบท “ซันไช่” ซีรีส์ F4 เวอร์ชั่นไต้หวัน สร้างความสะเทือนใจให้กับแฟนๆ ทั่วเอเชีย โดยเฉพาะในไทยที่มีแฟนคลับจำนวนมาก สาเหตุการเสียชีวิตที่เริ่มจากไข้หวัดใหญ่ระหว่างทริปท่องเที่ยวญี่ปุ่น ก่อนจะมีภาวะแทรกซ้อนลุกลามที่ปอด ทำให้ผู้คนในโซเชียลต่างแชร์ประสบการณ์และข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับการรับมือเมื่อเจ็บป่วยในต่างแดน แม้ญี่ปุ่นจะขึ้นชื่อเรื่องการแพทย์ที่ทันสมัย แต่นักท่องเที่ยวก็ควรรู้วิธีเอาตัวรอดยามฉุกเฉิน เพื่อให้ได้รับการรักษาที่ทันท่วงที
องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่น (JNTO) ได้รวบรวมข้อมูลสำคัญสำหรับนักท่องเที่ยวเกี่ยวกับการขอความช่วยเหลือเมื่อเจ็บป่วยในญี่ปุ่น โดยมีช่องทางหลักดังนี้
การขอความช่วยเหลือเมื่อเจ็บป่วยในญี่ปุ่น หากเกิดอาการเจ็บป่วยหรือได้รับบาดเจ็บระหว่างท่องเที่ยว สามารถขอความช่วยเหลือได้จากหลายช่องทาง:
- แผนกต้อนรับหรือแผนกบริการของโรงแรม – พนักงานสามารถช่วยแนะนำสถานพยาบาลใกล้เคียงและประสานงานให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น
- จุดบริการข้อมูลนักท่องเที่ยว (Tourist Information) หรือสถานีตำรวจ (Koban) – เจ้าหน้าที่สามารถแนะนำสถานพยาบาลในพื้นที่และให้ความช่วยเหลือในการติดต่อประสานงาน
- บริษัทประกันการเดินทาง – หากทำประกันไว้ สามารถติดต่อบริษัทเพื่อขอคำแนะนำเกี่ยวกับโรงพยาบาลในเครือและขั้นตอนการเคลมประกัน
- Japan Visitor Hotline (050-3816-2787) – ศูนย์บริการให้ความช่วยเหลือนักท่องเที่ยว เปิดบริการ 24 ชั่วโมง มีเจ้าหน้าที่สื่อสารได้ 4 ภาษา ได้แก่ อังกฤษ จีน เกาหลี และญี่ปุ่น
ประเภทของการบริการทางการแพทย์
ระบบการแพทย์ในญี่ปุ่นแบ่งตามความรุนแรงของอาการ:
- กรณีฉุกเฉิน – โทร 119 เพื่อเรียกรถพยาบาล โรงพยาบาลฉุกเฉินเปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง
- กรณีเจ็บป่วยทั่วไป – สามารถเข้ารับการรักษาที่คลินิกหรือโรงพยาบาล ในช่วงเวลาทำการปกติ
- กรณีอาการไม่รุนแรง – ไม่จำเป็นต้องพบแพทย์ สามารถปรึกษาเภสัชกรและซื้อยาจากร้านขายยาทั่วไป
ขั้นตอนการเข้ารับบริการทางการแพทย์
- ลงทะเบียน – เจ้าหน้าที่จะสอบถามข้อมูล และอาการก่อนเข้ารับการรักษา
- กรอกประวัติและข้อมูลในแบบฟอร์ม
- พบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย
- ชำระค่ารักษาพยาบาล
- รับยาตามใบสั่ง หรือนำใบสั่งยาไปซื้อที่ร้านขายยา
การเตรียมความพร้อม
สิ่งที่ควรพกติดตัว:
– เอกสารแสดงตัวตน เช่น พาสปอร์ต
– ประวัติการรักษาและการแพ้ยา
– เอกสารประกันสุขภาพ (ถ้ามี)
– เงินสดหรือบัตรเครดิตสำหรับค่ารักษา
ข้อแนะนำเพิ่มเติม:
– ศึกษาตำแหน่งสถานพยาบาลใกล้ที่พัก
– เตรียมภาพหรือแอพพลิเคชันช่วยสื่อสารอาการกับแพทย์
– สอบถามเรื่องบริการล่ามในสถานพยาบาลที่จะใช้บริการ
การเตรียมพร้อมและทราบข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพหากเกิดเหตุฉุกเฉินระหว่างท่องเที่ยวในญี่ปุ่น
ข้อมูลอ้างอิง:
- องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่น