เริ่มต้นปีอย่างคุ้มค่า! กับมาตรการ "Easy E-Receipt 2.0" ชอปลดหย่อนภาษีซึ่งเป็นที่พูดถึงอย่างกว้างขวางในสังคมออนไลน์ โดยเป้าหมายโครงการเพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่าย และเปิดโอกาสให้ประชาชนลดหย่อนภาษีจากการใช้จ่ายสูงสุดถึง 50,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 16 ม.ค. - 28 ก.พ. 2568
สำหรับใครที่อยากใช้สิทธิ์นี้ให้คุ้มค่า! เรามีคำแนะนำง่าย ๆ ที่จะช่วยให้การลดหย่อนภาษีของคุณเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ!
1. เช็ครายได้และฐานภาษี
ก่อนจะเริ่มใช้สิทธิ ลองสำรวจรายได้ของตัวเองและฐานภาษีที่ต้องชำระให้ชัดเจนก่อน หากคุณใช้สิทธิลดหย่อนเต็มจำนวน คุณจะประหยัดภาษีได้เท่าไร? การเริ่มต้นด้วยข้อมูลที่ถูกต้องจะช่วยให้คุณวางแผนได้อย่างแม่นยำและคุ้มค่าที่สุด
ตัวอย่างเช่น หากคุณมีรายได้สุทธิ 200,000 บาทต่อปี อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ต้องจ่ายคือ 5% ในกรณีนี้ หากคุณใช้สิทธิลดหย่อนภาษีจากการซื้อสินค้าในโครงการ Easy E-Receipt 2.0 เต็มจำนวน 50,000 บาท คุณจะสามารถประหยัดภาษีได้เพียง 2,500 บาท
ในทางกลับกัน หากเป็นผู้ที่มีรายได้สุทธิ มากกว่า 5 ล้านบาทต่อปี ซึ่งต้องเสียภาษีในอัตรา 35% การใช้สิทธิเต็มจำนวนเดียวกัน จะช่วยให้ประหยัดภาษีได้ถึง 17,500 บาท ซึ่งแตกต่างกันอย่างชัดเจน
ดังนั้น หากสินค้าที่คุณกำลังพิจารณาซื้อไม่ใช่สิ่งจำเป็น อาจต้องคิดให้รอบคอบก่อนใช้สิทธิลดหย่อนภาษี เพราะในบางกรณี การซื้อสินค้าเพียงเพื่อหวังประหยัดภาษี อาจไม่คุ้มค่าหากเทียบกับอัตราภาษีที่คุณต้องเสีย
สรุปการลดหย่อนภาษีในโครงการนี้จะได้ประโยชน์สูงสุดเมื่อคุณเข้าใจฐานภาษีของตัวเองและวางแผนใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ
ตารางอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
รายได้สุทธิ (บาท)ต่อปี | อัตราภาษี |
ไม่เกิน 150,000 | ยกเว้น |
150,001 – 300,000 | 5% |
300,001 – 500,000 | 10% |
500,001 – 750,000 | 15% |
750,001 – 1,000,000 | 20% |
1,000,001 – 2,000,000 | 25% |
2,000,001 – 5,000,000 | 30% |
มากกว่า 5,000,000 | 35% |
2. ตั้งงบประมาณตามจำนวนภาษีที่ต้องจ่ายจริง
หลังจากคำนวณภาษีคร่าว ๆ ตามข้อ 1 แล้ว การตั้งงบประมาณที่เหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญ อย่าชอปเกินกว่าภาษีที่ต้องจ่าย เพราะการใช้สิทธิ์เกินความจำเป็นไม่ได้ช่วยเพิ่มประโยชน์ทางภาษีแต่อย่างใด วางแผนการใช้เงินให้สมเหตุสมผลและสอดคล้องกับรายจ่ายที่จำเป็นจริง ๆ
3. วางแผนซื้อของที่จำเป็นในช่วง 3-6 เดือนข้างหน้า
การใช้สิทธิลดหย่อนภาษีจะคุ้มค่าที่สุดเมื่อคุณซื้อสินค้าที่จำเป็นและต้องใช้อยู่แล้ว ลองเขียนลิสต์รายการซื้อแยกเป็น 2 หมวดหมู่ ได้แก่ “จำเป็นต้องซื้อ” และ “อยากซื้อ” เพื่อช่วยให้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น
- สินค้าจำเป็นที่ใช้เป็นประจำ: เช่น สบู่ แชมพู น้ำยาซักผ้า น้ำยาทำความสะอาด ซึ่งสามารถซื้อตุนไว้ได้ แต่ควรตรวจสอบวันหมดอายุด้วย
- เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ต้องเปลี่ยน: เช่น เครื่องฟอกอากาศ เครื่องทำน้ำอุ่น หรืออุปกรณ์ที่คุณวางแผนจะเปลี่ยนในอนาคต
- อุปกรณ์ทำงานหรือเรียน: เช่น โน้ตบุ๊ก แท็บเล็ต หรือเครื่องพิมพ์ หากมีความจำเป็นต้องใช้งาน
- เฟอร์นิเจอร์ที่จำเป็น: สำหรับปรับปรุงบ้านหรือพื้นที่ทำงาน เช่น เก้าอี้ทำงาน โต๊ะ หรือชั้นวางของ
การวางแผนล่วงหน้าจะช่วยให้คุณใช้สิทธิ์ได้อย่างคุ้มค่า โดยไม่ต้องซื้อสิ่งที่ไม่จำเป็น
4. ตรวจสอบร้านค้าและผู้ให้บริการ
เลือกซื้อสินค้าหรือบริการจากร้านค้าที่จดทะเบียน VAT และสามารถออก ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) หรือ ใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) ได้อย่างถูกต้อง เพื่อให้แน่ใจว่าคุณจะสามารถนำใบเสร็จมาใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ รวมถึงร้านค้าท้องถิ่น เช่น สินค้า OTOP หรือ บริการจากวิสาหกิจชุมชนและวิสาหกิจเพื่อสังคม ที่จดทะเบียนอย่างถูกต้อง และสามารถออก e-Tax Invoice หรือ e-Receipt ตามเงื่อนไขโครงการฯ
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง: อย่าลืม! 16 ม.ค. เริ่มใช้สิทธิ “Easy E-Receipt 2.0” ลดหย่อนภาษีหลังช้อป | อินโฟเควสท์
5. จัดการ e-Tax Invoice หรือ e-Receipt ให้เป็นระบบ
การเก็บใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ใบรับอิเล็กทรอนิกส์ ให้เป็นระเบียบจะช่วยอำนวยความสะดวกในขั้นตอนการยื่นภาษี:
- สร้างโฟลเดอร์เก็บเอกสาร: แยกเป็นหมวดหมู่ เช่น สินค้าอุปโภคบริโภค อุปกรณ์ทำงาน หรือเฟอร์นิเจอร์
- ตั้งชื่อไฟล์ให้ค้นหาง่าย: ใช้รูปแบบที่เข้าใจง่าย เช่น วันที่_ร้านค้า_จำนวนเงิน เพื่อการค้นหาอย่างรวดเร็ว
- หากเป็นใบกำกับภาษีที่ต้องพิมพ์ออกมา ให้ถ่ายสำเนาเก็บไว้ในรูปแบบดิจิทัลเสมอ
หัวใจสำคัญของมาตรการนี้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับผู้เสียภาษีฯ คือ เน้นว่า อย่าซื้อ! เพราะอยากได้ลดหย่อนภาษีเพียงอย่างเดียว แต่ให้วางแผนซื้อของที่จำเป็นและใช้ได้จริง จะได้ประโยชน์สูงสุดทั้งประหยัดภาษีและไม่สิ้นเปลืองเกินจำเป็น