ในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อวิถีการดำเนินชีวิต และเริ่มขยายไปสู่วิถีแห่งธรรม เมื่อใกล้ถึงวันสำคัญทางศาสนา หลายคนอาจกำลังคิดถึงวิธีการทำบุญและการปฏิบัติธรรมที่เหมาะสมกับยุคสมัย โดยไม่ทิ้งแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา เพราะในโลกดิจิทัลวันนี้ “การทำบุญและการปฏิบัติธรรม” อาจไม่จำเป็นต้องอยู่ในวัดเสมอไป
“วันอาสาฬหบูชา” วันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่เวียนมาบรรจบอีกครั้ง ในปีนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ 20 กรกฎาคม 2567 ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ซึ่งเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา คือ “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” แก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 คือ โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ โดยเหล่าสาวกเกิดความเลื่อมใสในพระธรรมของพระพุทธเจ้าจึงขออุปสมบท ทำให้ในวันนั้นมีพระรัตนตรัยครบสมบูรณ์ ทั้งพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ นับเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
สำหรับกิจกรรมที่เหล่าพุทธศาสนิกชนนิยมทำกันใน “วันอาสาฬหบูชา” คือ ไปวัดทำบุญตักบาตรในตอนเช้า รับศีลรับพรจากพระสงฆ์ ถวายสังฆทาน การปล่อยนก ปล่อยปลา ฟังเทศน์ ฟังธรรม ตกเย็นก็ไปเวียนเทียนรอบโบสถ์ที่วัดใกล้ ๆ บ้าน
แต่ปัจจุบันเข้าสู่ยุคดิจิทัล วิถีแห่งธรรมกำลังเปลี่ยนรูปแบบไป จากการทำบุญตักบาตรหน้าบ้าน สู่การทำบุญตักบาตรออนไลน์ผ่านการไลฟ์สดของพ่อค้าแม่ค้าร้านแกงถุง
จากการไปทำบุญบริจาคที่วัด สู่การโอนเงินผ่านโมบายแบงก์กิ้งเพื่อทำบุญบริจาคให้วัดหรือมูลนิธิต่าง ๆ รวมถึง จากที่เคยนั่งฟังเทศน์อยู่ในวัด ตอนนี้เราสามารถฟังธรรมะออนไลน์ได้ทุกที่ทุกเวลาผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย
และนอกจากช่องทางออนไลน์จะเป็นการเข้าถึงบุญของสายบุญรุ่นใหม่แล้ว ยังเป็นช่องทางให้พระนักเทศน์ใช้ประโยชน์ในการสื่อสารธรรมะกับบรรดาพุทธศาสนิกชนอีกทางหนึ่งด้วย
ปัจจุบันมีพระสงฆ์ซึ่งเป็นที่รู้จักหลายรูปใช้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียในการเทศนาธรรม เช่น รายการ “กัลยาโณโอเค” บน Youtube ของพระพยอม กลฺยาโณ พระนักเทศน์ เจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว ปัจจุบันมีผู้ติดตาม 436K และ Facebook “พระเมธีวชิโรดม – ว.วชิรเมธี” พระนักเขียนชื่อดัง ที่ใช้เฟซบุ๊กในการสื่อสารกับชาวพุทธบนโลกออนไลน์ มีการเปิดสอนหลักสูตร “ฝึกสมาธิภาวนา” ออนไลน์ผ่านระบบ Zoom Meeting และโพสต์หลักธรรมคำสอนที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริงในชีวิตประจำวันผ่านทาง Facebook อีกด้วย ปัจจุบันมีผู้ติดตามมากถึง 6.1 ล้านคน
เห็นได้ว่า วิถีของพุทธศาสนิกชนในยุคดิจิทัลนี้กำลังเปิดมิติใหม่แห่งการเข้าถึงธรรมะแบบไร้ขีดจำกัดทั้งด้านเวลาและสถานที่ และแม้การทำบุญและปฏิบัติธรรมในยุคดิจิทัลจะสะดวกและไร้ขีดจำกัด แต่ก็อาจเป็นช่องทางให้มิจฉาชีพฉวยใช้ศรัทธาเป็นเครื่องมือ การมีสติและยึดมั่นในเจตนาที่ดีจึงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้การทำบุญเกิดอานิสงส์อย่างแท้จริง