แฮชแท็ก #Saveทับลาน ขึ้นเทรนด์อันดับ 1 หลังโซเชียลพร้อมใจโพสต์ทวงคืนผืนป่ากว่า 2.6 แสนไร่ของอุทยานแห่งชาติทับลาน คัดค้านการเพิกถอนออกจากการเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ หวั่นอาจส่งผลเสียต่อระบบนิเวศของสัตว์ป่า ล่าสุดโซเชียลแห่แชร์ลิงก์กรมอุทยานฯ ชวนลงชื่อแสดงความเห็นและคัดค้าน
#Saveทับลาน และ #saveอุทยานแห่งชาติทับลาน เป็นกระแสอยู่บนโซเชียลมีเดีย ตลอดวันนี้ จากกรณีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เปิดรับฟังความคิดเห็นการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานจำนวน 265,286.58 ไร่ ออกจาการเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยจะเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านระบบออนไลน์ถึงวันที่ 12 กรกฎาคม 2567 ในเรื่องการใช้เส้นแนวเขตสำรวจอุทยานแห่งชาติทับลาน ปี 2543 ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 โดยการปรับปรุงแผนที่ตามแนวเขตใหม่ในโครงการวันแมป (One Map) ซึ่งจะทำให้พื้นที่ “อุทยานแห่งชาติทับลาน” ลดลง 265,286.58 ไร่
เรื่องนี้ทำให้เกิดกระแสร้อนแรงบนโลกออนไลน์ผ่านแฮชแท็ก #Saveทับลาน มีการแสดงความคิดเห็นกันอย่างมากมาย รวมทั้งเรียกร้องและเชิญชวนให้เข้าไปลงชื่อแสดงความเห็นพร้อมลงชื่อคัดค้านผ่านลิงก์ที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ เป็นผู้จัดทำ รวมทั้ง “อุทยานแห่งชาติทับลาน” ติดคำค้นหาประจำวันบน Google Trends อีกด้วย
เปิด 6 ผลกระทบหากเพิกถอนผืนป่าทับลาน
มูลนิธิสืบนาคะเสถียร โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก เปิด 6 ผลกระทบหากมีการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน กว่า 265,000 ไร่ โดยแสดงความกังวลอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุนจากการซื้อขายเปลี่ยนมือของที่ดินไปแล้ว และจะกลายเป็นบรรทัดฐานที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่อนุรักษ์อื่น ๆ ที่มีปัญหาการทับซ้อนในลักษณะเดียวกันนี้ทั่วประเทศ
- หากใช้เส้นแนวเขตสำรวจอุทยานแห่งชาติทับลาน ปี 2543 ตามมติ ครม. เป็นแนวเขตทับลาน อุทยานแห่งชาติทับลาน จะเป็นการบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติกว่า 164,960 ไร่ ผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ
- กระทบต่อรูปคดีที่กล่าวโทษดำเนินคดีไว้แล้วตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ 2504 และอยู่ระหว่างดำเนินการ เป็นนายทุน/ผู้ครอบครองรายใหม่ 470 ราย และเปลี่ยนแปลงพื้นที่ใช้ประโยชน์ 23 ราย เนื้อที่กว่า 11,083-3-20 ไร่
- เอื้อประโยชน์ต่อนายทุนให้มีการเข้ามาซื้อขายแลกเปลี่ยนมือเพื่อสร้างโรงแรม รีสอร์ท และบ้านพักตากอากาศเพิ่มมากขึ้น
- ลดคุณค่าความเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ: ผืนป่าแห่งนี้เป็นต้นน้ำลำธารที่ไหลหล่อเลี้ยงชุมชนโดยรอบ และเป็นพื้นที่ความหวังในการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง
- เปิดโอกาสให้การใช้ประโยชน์ที่ดิน ขุด ถม อัด ตัดไม้ ทำลายสภาพพืชพรรณบริเวณนั้น ผิวดินขาดสิ่งปกคลุมในการรักษาความชุ่มชื้น และช่วยดูดซึมน้ำ จนส่งผลต่อการระบายน้ำตามธรรมชาติและอาจเกิดปัญหาน้ำท่วมอย่างฉับพลันในบริเวณพื้นที่ราบทางตอนล่างตอนช่วงฤดูฝน
- แหล่งที่อยู่อาศัย หากิน หรือเส้นทางอพยพเคลื่อนย้ายของสัตว์ป่า เนื่องจากกิจกรรมมนุษย์เข้าไปรบกวนสัตว์ป่าตามแนวเขตเกินความสามารถในการควบคุมในพื้นที่
One Map คืออะไร
โครงการวันแมป (One Map) หรือ การปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 เกิดขึ้นในสมัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้จัดตั้งคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) และจัดทำแผนที่ One Map โดยมีเป้าหมายการนำเอาเส้นแบ่งเขตแผนที่ที่ไม่ตรงกันของหน่วยงานรัฐมาทำให้เป็นเส้นเดียวกัน เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งเรื่องที่ดินทับซ้อน การทุจริต ผลประโยชน์ การใช้พื้นที่ผิดวัตถุประสงค์