#ดิจิทัลวอลเล็ต ขึ้นเทรนด์โซเชียล หลังรัฐบาลแถลงรายละเอียดแหล่งที่มาเงินพร้อมแนวทางการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่าน Digital Wallet ยันเงินเข้ากระเป๋าประชาชนรวดเดียวหนึ่งหมื่นบาท พร้อมใช้จ่ายได้ภายในไตรมาส 4/2567 ผ่านระบบ Super App ของรัฐบาล
วันนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วยนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง ตั้งโต๊ะแถลงข่าวเปิดเผยความคืบหน้าและข้อสรุปของโครงการฯ ทำให้แฮชแท็ก #ดิจิทัลวอลเล็ต ขึ้นเทรนด์อันดับ 1 บนแพลตฟอร์มเอ็กซ์ประเทศไทย รวมถึงเป็นที่พูดถึงบนโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มต่าง ๆ
สำหรับแหล่งที่มาของเงินที่หลายฝ่ายตั้งคำถาม และยังรอคำตอบจากรัฐบาล รวมถึงแนวทางการดำเนินโครงการ รายละเอียดและเงื่อนไขต่าง ๆ มีดังนี้
ใครได้บ้าง ?
กลุ่มเป้าหมาย คือ ประชาชนอายุเกิน 16 ปี ณ เดือนที่มีการลงทะเบียน ไม่เป็นผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินเกิน 840,000 บาทต่อปีภาษี และมีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ รวมกันไม่เกิน 500,000 บาท ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนประชาชนประมาณ 50 ล้านคน
เงื่อนไขการใช้จ่าย
- ระหว่างประชาชนกับร้านค้า ใช้จ่ายเชิงพื้นที่ในระดับอำเภอ (878 อำเภอ) โดยกำหนดให้ใช้จ่ายกับร้านค้าขนาดเล็กตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดเท่านั้น
- ระหว่างร้านค้ากับร้านค้า ไม่กำหนดเงื่อนไขการใช้จ่ายเชิงพื้นที่ระหว่างร้านค้ากับร้านค้าในระดับอำเภอและขนาดของร้านค้า
- การใช้จ่ายเงินสามารถใช้จ่ายได้หลายรอบ โดยรอบที่ 1 จะเป็นการใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้าขนาดเล็กเท่านั้น ตามกระทรวงพาณิชย์กำหนด สำหรับการใช้จ่ายตั้งแต่รอบที่ 2 ขึ้นไป จะเป็นการใช้จ่ายระหว่างร้านค้ากับร้านค้าโดยไม่จำกัดขนาดร้านค้า
- ประเภทสินค้า สินค้าทุกประเภทสามารถใช้จ่ายผ่านโครงการฯ ได้ ยกเว้น สินค้าอบายมุข น้ำมัน บริการ และออนไลน์ เป็นต้น และสิ่งที่กระทรวงพาณิชย์จะกำหนดเพิ่มเติม
คุณสมบัติร้านค้า
ร้านค้าที่สามารถถอนเงินสดจากโครงการฯ ต้องเป็นร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี ดังนี้ (1) ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax: VAT) หรือ (2) ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (Personal Income Tax: PIT) เฉพาะผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร หรือ (3) ภาษีเงินได้นิติบุคคล (Corporate Income Tax: CIT)
ทั้งนี้ ร้านค้าไม่สามารถถอนเงินสดได้ทันทีหลังประชาชนใช้จ่าย แต่ร้านค้าจะสามารถถอนเงินสดได้เมื่อมีการใช้จ่ายตั้งแต่ในรอบที่ 2 เป็นต้นไป
ใช้จ่ายผ่านระบบ Super App ของรัฐบาล
รัฐบาลจะจัดทำระบบซึ่งจะเป็นการพัฒนาต่อยอดของรัฐบาลดิจิทัลโดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมีเป้าหมายให้เป็น Super App ของรัฐบาล โดยการใช้งานจะพัฒนาให้สามารถใช้จ่ายได้กับธนาคารอื่น ๆ ในลักษณะ open loop ซึ่งรัฐบาลจะดำเนินโครงการฯ ให้เป็นไปอย่างรอบคอบ โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ตามกฎหมาย
เริ่มใช้เงิน "ดิจิทัลวอลเล็ต" ได้เมื่อไร ?
ประชาชนและร้านค้าจะสามารถเข้าร่วมโครงการฯ ภายในไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 และจะมีการเริ่มใช้จ่ายภายในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567
แหล่งเงินทำโครงการ "ดิจิทัลวอลเล็ต" มาจากไหน ?
รัฐบาลจะใช้เงินจากงบประมาณ 3 แหล่งได้แก่
1) เงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 152,700 ล้านบาท ซึ่งได้ขยายกรอบวงเงินงบประมาณเรียบร้อยแล้ว
2) จากการการดำเนินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐ จำนวน 172,300 ล้านบาท โดยจะใช้มาตรา 28 โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดูแลประชาชนในกลุ่มที่เป็นเกษตรกร จำนวน 11 ล้านคนเศษ ผ่านกลไก มาตรา 28 ของปีงบประมาณฯ 2568
3) การบริหารจัดการเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 175,000 ล้านบาท โดยรัฐบาลจะพิจารณาว่ารายการไหนสามารถใช้หรือปรับเปลี่ยนได้ รวมถึงงบกลางที่อาจนำมาใช้เพิ่มเติมได้หากวงเงินไม่เพียงพอ