24 ก.พ.นี้ นอกจากจะเป็นวันมาฆบูชาแล้ว ยังเป็นคืนที่เราจะได้เห็น "ดวงจันทร์เต็มดวงที่มีขนาดเล็กกว่าปกติ" เนื่องจากดวงจันทร์โคจรอยู่ในระยะไกลจากโลกที่สุดในรอบปี หรือ เรียกว่า "ไมโครฟูลมูน" (Micro Full Moon) ชวนชาวเน็ตร่วมสังเกตการณ์ได้ตั้งแต่ช่วงเย็นถึงรุ่งเช้า
เพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์เปิดเผยข้อมูลว่า วันเสาร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งตรงกับวันมาฆบูชา เป็นวันที่จะเกิดปรากฏการณ์ “ดวงจันทร์เต็มดวงโคจรอยู่ในระยะไกลโลกที่สุดในรอบปี” หรือเรียกว่า “ไมโครฟูลมูน” (Micro Full Moon) ซึ่งในเวลาประมาณ 19:32 น. จะมีระยะห่างจากโลกประมาณ 405,909 กิโลเมตร ซึ่งเราจะเห็นดวงจันทร์เต็มดวงที่จะมีขนาดเล็กกว่าปกติเพียงเล็กน้อย
เวลาที่เหมาะสมในการสังเกตการณ์ คือ ช่วงเย็นของวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ทางทิศตะวันออก ตั้งแต่เวลาประมาณ 18:22 น. เป็นต้นไป สามารถสังเกตการณ์ได้ตลอดคืน จนถึงรุ่งเช้าของวันที่ 25 กุมภาพันธ์
วันขึ้น 15 ค่ำ หรือ วันเพ็ญ คือวันที่ดวงจันทร์โคจรมาอยู่ด้านตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์หันด้านที่ได้รับแสงอาทิตย์เข้าหาโลก ทำให้เรามองเห็นดวงจันทร์เต็มดวง เมื่อดวงอาทิตย์ลับของฟ้าทางทิศตะวันตก ดวงจันทร์เต็มดวงจะขึ้นทางทิศตะวันออก ดังนั้น ในวันที่ดวงจันทร์เต็มดวง จะไม่สามารถสังเกตดวงอาทิตย์ในเวลาเดียวกันได้ ซึ่งปกติจะใช้เวลาประมาณ 29.5 วัน ดวงจันทร์จึงจะกลับมาเต็มดวงอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ดวงจันทร์โคจรรอบโลกเป็นวงรี 1 รอบ ใช้เวลา 27.3 วัน ส่งผลให้ในแต่ละเดือนจะมีทั้งวันที่ดวงจันทร์ใกล้โลกและไกลโลก แต่ตำแหน่งโคจรที่ใกล้โลก หรือ ไกลโลกที่สุด อาจไม่ใช่วันที่ดวงจันทร์เต็มดวงก็ได้
นักดาราศาสตร์จึงใช้ “ช่วงที่สามารถเห็นดวงจันทร์เต็มดวง” มากำหนดวันเกิดปรากฏการณ์ ที่เกี่ยวกับตำแหน่งการโคจรของดวงจันทร์ใกล้โลก และไกลโลกที่สุดซึ่งตำแหน่งที่ดวงจันทร์ใกล้โลกที่สุด เรียกว่า เปริจี (Perigee) มีระยะห่างเฉลี่ยประมาณ 357,000 กิโลเมตร
และตำแหน่งที่ดวงจันทร์ไกลโลกที่สุด เรียกว่า อะโปจี (Apogee) มีระยะห่างเฉลี่ยประมาณ 406,000 กิโลเมตร การที่ผู้คนบนโลกมองเห็นดวงจันทร์มีขนาดปรากฏเล็กกว่าปกติในคืนไกลโลกนั้น นับเป็นเหตุการณ์ปกติที่สามารถอธิบายได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์
อ้างอิงข้อมูล: เพจเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันดาราศาสตร์แห่งชาติ