จากกรณีกลุ่มเยาวชนรุมทำร้าย "ป้าบัวผัน" จนเสียชีวิต เป็นเหตุการณ์สะเทือนใจสังคม ทำให้แฮชแท็ก #ป้าบัวผัน ติดเทรนด์บนแพลตฟอร์มเอ็กซ์ (X) หรือ ทวิตเตอร์ พร้อมเรียกร้องให้มีการแก้กฎหมายเยาวชน เพิ่มโทษ เพราะถ้าเด็กหรือเยาวชนกระทำการรุนแรงถึงขนาดนี้สมควรได้รับโทษทัณฑ์เช่นเดียวกับผู้ใหญ่
การเสียชีวิตของหญิงวัย 47 ปี ในจังหวัดสระแก้ว ที่ตอนแรกตำรวจจับตัวสามีซึ่งออกมารับสารภาพว่าเป็นผู้ก่อเหตุ แต่สุดท้ายได้ผู้สื่อข่าวช่อง 8 เป็นฮีโร่ในการพลิกคดี คุ้ยเบาะแสจนเจอหลักฐานสำคัญจากกล้องวงจรปิดในพื้นที่ที่บันทึกเหตุการณ์ว่าคนก่อเหตุไม่ใช่สามีแต่เป็นกลุ่มเยาวชน 5 คน อายุ 13-16 ปี โดย 2 คนในกลุ่มมีพ่อเป็นตำรวจ
และทุกครั้งเวลามีเหตุร้ายแรงจากการกระทำของเด็กและเยาวชน ในสังคมมักมีการถกเถียงและวิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะประเด็นเรื่องข้อกฎหมายที่ส่วนใหญ่มองว่าปกป้องเด็กมากเกินไป เสนอให้ต้องมีการปรับปรุงแก้ไข เพิ่มโทษ ยิ่งกรณีกระทำความผิดร้ายแรงเช่นนี้
ในขณะที่อีกมุมหนึ่ง มองว่า กฎหมายควรทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิของเด็กและเยาวชนต่อไป ตามหลักการของกฎหมายฯ ซึ่งมองว่าเด็กอาจจะอยู่ในช่วงวัยที่ยังไม่เจริญเติบโตเต็มที่ ขาดวุฒิภาวะ ขาดความรู้สึกผิดชอบชั่วดี การกระทำของเด็กอาจเกิดจากสิ่งแวดล้อมหรือการสั่งสอนเลี้ยงดูมากกว่าเกิดจากจิตใจของเด็กนั้น ๆ เอง การมุ่งเอาผิดลงโทษจึงอาจไม่เกิดประโยชน์ แต่ต้องมุ่งแก้ไขเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเพื่อให้เรียนรู้ผลของการกระทำและปรับปรุงตัวเติบโตเป็นพลเมืองที่ดีของสังคม
"เด็ก" และ "เยาวชน" ตามกฎหมายแตกต่างกัน
พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 4 นิยามความหมายเอาไว้ตามนี้
“เด็ก” คือ บุคคลอายุยังไม่เกิน 15 ปีบริบูรณ์
“เยาวชน” คือ บุคคลอายุเกิน 15 ปีบริบูรณ์ แต่ยังไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์
ตามประมวลกฎหมายอาญา กรณีเด็ก หรือ เยาวชน กระทำความผิดมีบทลงโทษ ตามมาตรา 73 – 75 โดยแบ่งตามช่วงอายุ ดังนี้
- เด็กอายุยังไม่เกิน 12 ปี ถ้ากระทำความผิด ไม่ต้องรับโทษ
- เด็กอายุ 12-15 ปี ถ้ากระทำความผิด ไม่ต้องรับโทษ แต่ศาลมีอำนาจดำเนินการ เช่น ว่ากล่าวตักเตือนแล้วปล่อยตัวไป ทั้งตัวเด็ก พ่อแม่หรือผู้ปกครอง วางข้อกำหนดให้ผู้ปกครองควบคุมดูแลเด็กไม่ให้ก่อเหตุร้ายตามที่ศาลกำหนด หากเด็กยังฝ่าฝืนให้ผู้ปกครองจ่ายเงินต่อศาลไม่เกิน 10,000 บาท หรือ ส่งตัวเด็กไปยังสถานศึกษาหรือสถานฝึกและอบรม ตลอดระยะเวลาที่ศาลกำหนด แต่ไม่เกินกว่าวันที่เด็กนั้นจะมีอายุครบ 18 ปี
- ผู้ที่อายุ 15-18 ปี ถ้ากระทำความผิด ให้ศาลพิจารณาถึงความรู้ผิดชอบในแต่ละกรณี และอาจไม่สั่งลงโทษแต่ใช้มาตรการพิเศษเช่นเดียวกับเด็กอายุ 12-15 ปีก็ได้ หรือจะสั่งลงโทษก็ได้ แต่ให้ลดโทษลงกึ่งหนึ่ง
อ้างอิง: iLaw, ประมวลกฎหมายอาญา เว็บไซต์กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน