ผลการประเมิน PISA 2022 ช็อควงการศึกษาไทย พบเด็กไทยคะแนนเฉลี่ยร่วงลงเป็นประวัติการณ์ทั้ง 3 ด้าน คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และ การอ่าน โดยมีอันดับอยู่ด้านล่างของตารางโลกและอาเซียน โซเชียลถามหาแอ็คชั่นจากรัฐบาล ล่าสุดกระทรวงศึกษาธิการสั่งลุย ตั้งทีมแก้ปัญหา ตั้งเป้าประเมิน PISA อีก 2 ปีข้างหน้าต้องดีขึ้น
ส่องผลสอบ PISA เด็กไทยสาละวันเตี้ยลง!
ผลการประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากลของเด็กไทย PISA 2022 พบว่า นักเรียนไทยมีคะแนนเฉลี่ยด้านคณิตศาสตร์ 394 คะแนน วิทยาศาสตร์ 409 คะแนน และ การอ่าน 379 คะแนน ซึ่งเมื่อเทียบกับ PISA 2018 พบว่า คะแนนเฉลี่ยของประเทศไทยทั้งสามด้านลดลง โดยคณิตศาสตร์มีคะแนนเฉลี่ยลดลง 25 คะแนน วิทยาศาสตร์และการอ่าน มีคะแนนเฉลี่ยลดลง 17 คะแนน และ 14 คะแนน ตามลำดับ
สำหรับผลการประเมินของประเทศอื่น ๆ พบว่า นักเรียนจากสิงคโปร์มีคะแนนยืนหนึ่ง โดยมีคะแนนเฉลี่ยทั้งด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่านสูงกว่าทุกประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่เข้าร่วมการประเมินในครั้งนี้
ประเทศที่มีคะแนนสูงสุดห้าอันดับแรกในด้านคณิตศาสตร์ ซึ่งเป็นด้านที่เน้นในรอบการประเมินนี้ ได้แก่ สิงคโปร์ มาเก๊า จีนไทเป ฮ่องกง และ ญี่ปุ่น ส่วนประเทศสมาชิก OECD มีคะแนนเฉลี่ยด้านคณิตศาสตร์ 472 คะแนน ด้านวิทยาศาสตร์ 485 คะแนน และ ด้านการอ่าน 476 คะแนน
สสวท. วิเคราะห์ว่าจากผลการประเมินของประเทศไทยตั้งแต่ PISA 2000 จนถึง PISA 2022 พบว่า คะแนนเฉลี่ยด้านคณิตศาสตร์และการอ่านมีแนวโน้มลดลง ส่วนด้านวิทยาศาสตร์ถือว่าไม่เปลี่ยนแปลงทางสถิติ แต่หากมองในภาพรวมของผลการประเมินสะท้อนให้เห็นว่าระบบการศึกษาทั่วโลกมีคะแนนเฉลี่ยลดลงเมื่อเทียบกับ PISA 2018 ซึ่งเป็นผลกระทบจากที่ทุกประเทศต้องเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19
"ไอติม" จี้คะแนน PISA สะท้อนวิกฤต ถึงเวลาทำหลักสูตรใหม่
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “พริษฐ์ วัชรสินธุ – ไอติม – Parit Wacharasindhu” ถึงเรื่องผลคะแนนดังกล่าวว่า “ผมเชื่อว่าผลลัพธ์นี้เป็นสิ่งที่หลายคนคาดการณ์ได้เนื่องจากคุณภาพของระบบการศึกษาไทยมีแนวโน้มถดถอยมาอย่างต่อเนื่องตลอด 10-20 ปีที่ผ่านมา แต่ผมหวังว่าผลลัพธ์นี้จะเป็นอีก “สัญญาณเตือนภัย” ที่ทำให้ทุกภาคส่วนเห็นชัดว่าการศึกษาไทยกำลังอยู่ในขั้น “วิกฤต””
นายพริษฐ์ ยังบอกอีกว่า เด็กไทยเรียนหนักไม่แพ้ใครในโลกแต่กลับมีทักษะที่ตามหลังหลายประเทศ สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาของการศึกษาไทย ไม่ใช่เพราะเด็กไทยไม่ขยัน แต่เป็นเพราะ “ระบบการศึกษา” และให้ความเห็นว่า สิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามคือ การจัดทำหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานฉบับใหม่ มาแทนที่หลักสูตรปัจจุบันที่ไม่ได้ปรับปรุงใหญ่มานาน พร้อมทั้งเสนอแนวนโยบายด้านการศึกษาของพรรคก้าวไกล “ควรเป็นการเน้นพัฒนาทักษะ-สมรรถนะที่นำไปใช้ได้จริงในอาชีพการงานและในชีวิต” รวมทั้งการลดภาระงานครูที่ไม่เกี่ยวกับการเรียนการสอน โดยเชื่อว่าการศึกษาจะมีคุณภาพได้ ครูต้องมีเวลาให้กับผู้เรียน
โพสต์นี้มีชาวเน็ตเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นและแชร์โพสต์เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ บนแพลตฟอร์มเอ็กซ์ (ทวิตเตอร์) ข่าวเกี่ยวกับผลสอบ PISA สร้างการมีส่วนร่วมจากสังคมออนไลน์ หลายคนถามหาแอ็คชั่นจากรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงวิธีแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง
แอ็คชั่น ศธ. สั่งตั้งทีมแก้ปัญหาฯ ตั้งเป้า PISA 2025 ต้องกระเตื้อง
พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ หารือร่วมกับหน่วยงานในสังกัด รวมถึง สสวท. เร่งแต่งตั้งคณะทำงานร่วมกันแก้ปัญหา ตั้งเป้า! ทำอย่างไร ? ให้ลำดับผลประเมินของเด็กไทยกลับมาเท่าเดิม และคาดหวังการสอบ PISA 2025 คะแนนของเด็กไทยต้องดีขึ้น โดยมีแผนพัฒนาสมรรถนะครู สนับสนุนทรัพยากรและสื่อการเรียนรู้ให้กับสถานศึกษาอย่างเหมาะสมและเป็นธรรมเพื่อลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำในการเรียนรู้
PISA คืออะไร
PISA ย่อมาจาก Programme for International Student Assessment เป็นโปรแกรมการประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล ดำเนินการโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD (Organisation for Economic Co-operation and Development) มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินคุณภาพของระบบการศึกษาในการเตรียมความพร้อมให้เยาวชนมีศักยภาพหรือความสามารถพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลง โดยสำรวจและประเมินทักษะพื้นฐานของนักเรียนที่อายุ 15 ปีในหลายประเทศทั่วโลก
PISA จะทำการประเมินทุก 3 ปี อย่างต่อเนื่อง เน้นการประเมินสมรรถนะของนักเรียนเกี่ยวกับการใช้ความรู้และทักษะในชีวิตจริงมากกว่าการเรียนรู้ตามหลักสูตรในโรงเรียน หรือ เรียกว่า “ความฉลาดรู้” (Literacy) ใน 3 ด้าน ได้แก่ การอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ การประเมินนักเรียนจะวัดทั้ง 3 ด้านดังกล่าวไปพร้อมกัน แต่จะเน้นหนักที่ด้านใดด้านหนึ่ง ในแต่ละรอบการประเมิน ซึ่งความฉลาดรู้ทั้งสามด้านนี้ถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต และ เป็นสิ่งที่ประชากรจำเป็นต้องมีเพื่อการพัฒนาและการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ
สำหรับ PISA 2022 เน้นการประเมินด้านคณิตศาสตร์ โดย PISA มองว่าในปัจจุบันบุคคลที่มีความสามารถทางคณิตศาสตร์จะต้องเป็นบุคคลที่สามารถให้เหตุผลทางคณิตศาสตร์ในการแก้ปัญหาในชีวิตจริงที่ซับซ้อนร่วมกับการหาวิธีแก้ปัญหาโดยการคิดหรือแปลงปัญหาในเชิงคณิตศาสตร์ ใช้คณิตศาสตร์ และตีความและประเมินผลลัพธ์ทางคณิตศาสตร์ได้
การประเมิน PISA 2022 มีนักเรียนเข้าร่วมการประเมินประมาณ 690,000 คน ซึ่งถือว่าเป็นตัวแทนของนักเรียนอายุ 15 ปี ประมาณ 29 ล้านคน จาก 81 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ สำหรับในประเทศไทย สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ทำหน้าที่เป็นศูนย์แห่งชาติ (National Center) ได้ดำเนินการจัดสอบเมื่อเดือนสิงหาคม 2565 ซึ่งมีนักเรียนกลุ่มตัวอย่างเข้าร่วมการประเมินจาก 279 โรงเรียน ในทุกสังกัดการศึกษา รวม 8,495 คน โดยสอบผ่านคอมพิวเตอร์
อ้างอิงข้อมูล: เฟซบุ๊กพริษฐ์ วัชรสินธุ – ไอติม – Parit Wacharasindhu, เฟซบุ๊กสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร